fbpx
‘เสรีภาพ’ มาตรวัดการพัฒนาในทรรศนะ ‘อมาตยา เซน’

‘เสรีภาพ’ มาตรวัดการพัฒนาในทรรศนะ ‘อมาตยา เซน’

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

ในการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 หนึ่งในไฮไลท์สำคัญที่คนให้ความสนใจคือ การกล่าวนำของ อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์และปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่าด้วยความเสมอภาคทางการศึกษาในโลกอันผันผวนจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 (Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID19 Pandemic?) โดยเซนกล่าวถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางการศึกษาในการป้องกันและรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

อมาตยา เซน
อมาตยา เซน

เซนเชื่อว่าการเข้าถึงการศึกษานั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมทั้งในระดับมหภาคและระดับบุคคล โดยนอกจากเป็นพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคม สังคมที่มีความเข้มแข็งเช่นนั้นย่อมเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองมากกว่า ดังนั้น พื้นที่ที่รับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้ดีกว่า จึงมีแนวโน้มเป็นพื้นที่ที่มีความเสมอภาคทางการศึกษาด้วย อาทิ รัฐเกรละในอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุด

แม้เซนจะใช้เวลาในการพูดไม่นาน เนื่องจากข้อจำกัดด้านเส้นแบ่งเวลาและระยะทาง แต่สารอันกระชับที่เขาสื่อกับที่ประชุมก็ชวนให้เรากลับไปครุ่นคิดถึงปรัชญาพื้นฐานของการพัฒนา ซึ่งอยู่เบื้องหลังความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลผู้นี้

เพราะเหตุใดเซนจึงเชื่อว่าความเสมอภาคทางการศึกษาจะนำมาซึ่งความสามารถในการรับมือและแก้ไขปัญหาของสังคมนั้นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างความสำเร็จในการรับมือโรคอุบัติใหม่และการเข้าถึงการศึกษาย่อมเลือนลางกว่าระหว่างการพัฒนาระบบสุขภาพและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกอธิบายอย่างครอบคลุมใน Development as Freedom (การพัฒนาคือการสร้างเสรีภาพ) หนึ่งในงานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา

อาจกล่าวได้ว่า อมาตยา เซนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้พัฒนาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญแก่การยกระดับทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยอาจเป็นผลของความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง เซนเติบโตในรัฐเบงกอลตะวันตกอันเป็นหนึ่งในรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด และนำมาซึ่งความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม โดยในรัฐเบงกอลตะวันตกนั้นมีประชากรผู้นับถือศาสนาฮินดู อิสลาม พุทธ คริสต์ เชน และซิกข์ รวมถึงผู้พูดภาษาเบงกาลี ฮินดี สันถาลี อูรดู ฯลฯ ประชากรส่วนใหญ่ในรัฐเบงกอลตะวันตกอาศัยในชุมชนเล็กๆ และมากกว่าครึ่งของจำนวนที่เหลืออาศัยในเมืองหลวงคือโกลกาตา[1] ประสบการณ์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งผูกพันกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมของเซนจึงให้กำเนิดงานเขียนและงานวิจัยที่สำคัญด้านความยากจนและการพัฒนาเป็นจำนวนมาก โดย Development as Freedom เป็นหนึ่งในงานเขียนเหล่านั้น

แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวของเซนคือการกระทำความรุนแรงต่อชายชาวมุสลิมระหว่างการแบ่งอินเดีย (Partition of India) ในละแวกที่เขาเติบโต โดยเซนเห็นชายชาวมุสลิมผู้เป็นลูกจ้างรายวันซวดเซด้วยบาดแผลฉกรรจ์บนหลังจากการถูกแทงด้วยมีด เซนเชื่อว่าหากครอบครัวของชายคนดังกล่าวมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เขาจะไม่ต้องดั้นด้นหางานในพื้นที่อาศัยของชาวฮินดูขณะที่ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมทวีความรุนแรง และถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต

การจลาจลในโกลกาตา ค.ศ. 1946 อันเป็นการปะทะกันระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม ก่อนการแบ่งอินเดีย 1 ปี มีผู้เสียชีวิตราว 4,000 คน

การจลาจลในโกลกาตา ค.ศ. 1946 อันเป็นการปะทะกันระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม
ก่อนการแบ่งอินเดีย 1 ปี มีผู้เสียชีวิตราว 4,000 คน[2]

 

ในงานเขียนข้างต้น เซนกล่าวถึงการพัฒนาว่าเป็นกระบวนการเพิ่มพูนเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ดังนั้น ขอบเขตของเสรีภาพจึงเป็น ‘มาตรวัด’ หรือเครื่องบ่งชี้ระดับการพัฒนาในสังคมนั้นๆ ไม่ใช่สถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร โดยเสรีภาพของเซนหมายถึงการไม่ถูกกีดกันจากทางเลือกที่หลากหลาย มีอิสระและความปลอดภัยในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของตนเอง หรือปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการมีความเป็นอยู่ที่ดีนั่นเอง[3]

เสรีภาพของเซนจึงครอบคลุมเสรีภาพทางการเมือง อันหมายถึงความสามารถในการตรวจสอบและสังเกตการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการมีผู้แทนของตนในรัฐสภา การได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจอันครอบคลุมการได้รับจัดสรรทรัพยากรและการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะบริการสาธารณสุขและการศึกษา รวมถึงมีความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการดำเนินชีวิต

ก่อนการตีพิมพ์งานเขียนดังกล่าว ‘เสรีภาพ’ ข้างต้นมักถูกพิจารณาเป็น ‘เส้นชัย’ ของการพัฒนา ทว่าใน Development as Freedom นั้น เซนแย้งว่าเสรีภาพในงานเขียนของเขาเป็นทั้งเส้นชัยและแนวทางการพัฒนาสังคม เพราะเสรีภาพในมิติที่แตกต่างกันเหล่านี้จะเกื้อกูลกัน เป็น ‘ต้นสาย’ และ ‘ปลายเหตุ’ อันไม่รู้จบของกันและกัน โดยการเพิ่มพูนเสรีภาพหรือ ‘ความสามารถของปัจเจกบุคคลอันนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี’ ในมิติหนึ่ง ย่อมนำไปสู่การส่งเสริมเสรีภาพในมิติอื่นๆ อาทิ การพัฒนาระบบสุขภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาย่อมส่งเสริมเสรีภาพทางการเมืองและโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะประชากรที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจะมีการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ที่รอบคอบกว่า เข้าใจสิทธิพลเมืองและการเมืองของตนเองมากกว่า

จากแนวความคิดดังกล่าว ความเสมอภาคทางการศึกษาจึงไม่เพียงยกระดับทรัพยากรมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ให้สามารถรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสุขภาพ การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสม และการมีรายได้ที่มั่นคง ทว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ระดับการพัฒนาในมิติอื่นๆ ของสังคมนั้นๆ ที่นำมาซึ่งประสิทธิภาพในการรับมือโรคอุบัติใหม่นี้ด้วย ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ผู้เรียนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีจนสามารถเข้าถึงการศึกษาและบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันหรือไม่ ประชากรได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาหรือไม่ อย่างไร มีความตระหนักในสิทธิพลเมือง และความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด เป็นต้น

แม้การวิพากษ์ปัญหาอันเกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใน Development as Freedom จะถูกวิจารณ์ว่าไม่ครอบคลุมนัก อย่างไรก็ตาม งานเขียนและงานวิจัยของเซนที่เน้นการลดปัญหาความยากจนด้วยการปฏิรูปสังคมโดยเชื่อว่าความก้าวหน้าและเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขจะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนยังได้รับความสนใจจากประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่ประสบปัญหาการจัดสรรทรัพยากรจำนวนมาก

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และงานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญาผู้นี้ จึงควรแก่การศึกษาทั้งในฐานะ ‘เส้นชัย’ ของการพัฒนาสังคมอย่างครอบคลุม และ ‘แนวทาง’ ของการพัฒนาในมิติต่างๆ เพื่อนำมาซึ่งสังคมเปี่ยมคุณภาพ พร้อมรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน

อ้างอิง

[1] ที่มา: West Bengal – Britannica

[2] ที่มา: India’s Muslims and the Price of Partition

[3] David Seddon, “Book Review: Development as Freedom,” Global Social Policy 1, no. 2 (August 2001): 240, doi:10.1177/146801810100100209.


หมายเหตุ

ความเห็นของอมาตยา เซนว่าด้วยความเสมอภาคทางการศึกษากับการจัดการปัญหาโรคระบาดมาจากงานประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา หัวข้อ “Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID19 Pandemic? ความเสมอภาคทางการศึกษา: หมายถึงอะไร ในโลกที่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางการระบาดโควิด-19” โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วันที่ 10 กรกฎาคม 2563

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save