fbpx

ชะตากรรมของ นาจิบ ราซัก – ชะตากรรมของพรรคอัมโน

World Economic Forum ภาพประกอบ

คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา การเมืองมาเลเซียได้เปลี่ยนจากท่วงทำนองที่คาดเดาได้มาเป็นวิถีที่ไม่แน่นอน ซึ่งหลายครั้งมาพร้อมกับละครการเมืองที่ชวนอ้าปากค้าง 

ละครการเมืองฉากล่าสุดคือการเดินเข้าคุกของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก (Najib Razak) สมาชิกตระกูลชั้นนำทางการเมืองผู้ถูกฟูมฟักให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจในพรรคอัมโน (United Malays Nasional Organisation – UMNO) ที่มีอำนาจล้นฟ้ามากว่า 60 ปี ชะรอยชะตากรรมของนาจิบจะผูกพันกับอัมโนอย่างตัดไม่ขาด และการดิ่งลงเหวของเขาอาจเป็นการดิ่งลงเหวของอัมโนไปพร้อมๆ กัน  หากไม่มีฉากการเมืองชวนตะลึงฉากใหม่เข้ามาช่วย

ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 คณะผู้พิพากษา 5 คนของศาลแห่งรัฐบาลกลาง (Federal Court) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของมาเลเซีย ตัดสินยืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ปี 2563 ให้นาจิบ ราซัก มีความผิดฐานทุจริต ฟอกเงิน และใช้อำนาจในทางที่ผิดในกรณียักยอกเงินจากบริษัท SRC International Sdn Bhd โดยต้องโทษจำคุก 12 ปี พร้อมโดนปรับเป็นเงิน 210 ล้านริงกิตมาเลเซีย (1,680 ล้านบาท) อีกทั้งต้องเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งและรับตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี

ไม่กี่วันให้หลัง ชาวมาเลเซียได้ฮือฮากันอีกครั้งเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินให้รอสมาห์ มันโซร์ (Rosmah Munsor) ภรรยาของนาจิบ มีความผิดฐานทุจริตในโครงการจัดซื้อแผงโซลาร์เซลล์ที่รัฐซาราวัก โดยต้องโทษจำคุก 10 ปี ถูกปรับ 970 ล้านริงกิตมาเลเซีย (7,760 ล้านบาท) แม้ว่าเธอยังมีเวลาสู้คดีอีกนาน แต่ข่าวนี้ก็เพียงพอให้ชาวมาเลเซียบางคนที่ขุ่นข้องเรื่องพฤติกรรมทุจริตของทั้งคู่มานับปี เรียกผลการตัดสินของศาลว่า “ความสุขที่มาเป็นแพ็กคู่” (double happiness)

ก่อนวันชี้ชะตา นาจิบและคณะทนายความงัดกลเม็ดเด็ดพรายเข้าสู้ทั้งในและนอกศาล แต่อาจเป็นเพราะความจนต่อหลักฐาน คณะของเขาเลือกใช้สารพัดวิธีที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีเริ่มจากเทคนิคการถ่วงเวลา เช่นการอ้างว่าทนายความในคณะติดภารกิจ หรือการปลดทนายความของตน 1 เดือนก่อนวันนัดหมายของศาลเพื่อเป็นข้ออ้างขอยืดเวลาให้ทนายคนใหม่ศึกษาข้อมูลคดี หรือแม้แต่การขอปลดตัวเองออกจากการเป็นทนายความคนใหม่ระหว่างการดำเนินคดี แต่ทั้งหมดก็ลงเอยด้วยการปฏิเสธของศาล

ดูเหมือนว่านาจิบจะเชื่อมั่นเรื่องการนำอัตลักษณ์ทางศาสนามาใช้ในการต่อสู้ เหมือนกับที่เขาใช้อัตลักษณ์มลายูเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพียง 2 วันก่อนการพิจารณาคดี เขาเดินทางไปที่มัสยิดกัมปง บารู (Masjid Kampung Baru) กลางนครกัวลาลัมเปอร์ เพื่อสาบานยืนยันความบริสุทธิ์ของตนด้วยการเอ่ยพระนามของอัลเลาะห์ ซึ่งตามหลักการพิจารณาคดีในศาลอิสลามของมาเลเซีย สามารถนำมาใช้ในยามที่หลักฐานที่มีอยู่ไม่สามารถพิสูจน์คดีได้ (the oath of Mubahalah) นอกจากนี้นาจิบยังให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การสาบานนี้เป็นการล้างมลทินจากการกล่าวหาที่แปดเปื้อนตัวเขาและครอบครัว 

คืนก่อนวันพิจารณาคดี ทนายความของเขายื่นเรื่องขอถอดถอนเติงกู มัยมุน ตวน มาท (Tengu Maimun Tuan Mat) ประธานศาลแห่งรัฐบาลกลางหญิง (Chief Judge) หนึ่งในคณะผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์ในคดีนี้ โดยนาจิบกล่าวในศาลว่า เติงกู มัยมุน ไม่เหมาะสมในการร่วมพิจารณาคดี เพราะสามีของเธอเคยเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ตนเองในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาเมื่อปี 2561 ซึ่งตนเองเห็นว่าความเห็นของสามีย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้พิพากษาซึ่งเป็นภรรยา

วิธีของนาจิบและคณะดูไปก็คล้ายคนหลังชนฝา ในวันพิพากษา ราชา เภตรา กามารูดดีน (Raja Petra Kamaruddin) บล็อกเกอร์ชาวมาเลเซียผู้อาศัยในประเทศอังกฤษ ตีพิมพ์เอกสารความยาว 15 หน้าที่อ้างว่าเป็นคำพิพากษาที่เขียนไว้ล่วงหน้าและลงวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ระบุว่านาจิบมีความผิด

ราชา เภตรา เป็นบล็อกเกอร์การเมืองที่โด่งดังในมาเลเซียจนต้องลี้ภัยหนีคดีความจากการฟ้องร้องของนักการเมืองอัมโนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาเปลี่ยนจุดยืนไปสนับสนุนนาจิบเพื่อแลกกับการให้พรรคอัมโนถอนฟ้อง 

ยากจะเข้าใจว่าอะไรคือจุดประสงค์ในการแพร่เอกสารชิ้นนี้ออกไปในวันพิจารณาคดี แต่ผลที่ตามมาคือคณะผู้พิพากษาตัดสินใจอ่านคำพิพากษาในวันที่ 23 คือวันนั้นในทันที แทนที่จะเป็นวันที่ 26 ตามเอกสาร โดยผู้พิพากษาคนหนึ่งชี้แจงในภายหลังว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงฉบับร่างที่ได้รับการแก้ไขภายหลัง เย็นวันนั้นชาวมาเลเซียจึงเห็นการถ่ายทอดสดขบวนรถตำรวจที่นำตัวเขาส่งเรือนจำคาจาง (Kajang) ในรัฐสลังงอร์ ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีรอสมาห์ ยืนโบกมือส่งอยู่ข้างศาล

นาจิบเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง 2 สมัย โดยอยู่ในอำนาจระหว่าง พ.ศ. 2552-2561 รับตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรู้กันในมาเลเซียว่าเป็น ‘กระทรวงทำเงิน’ เนื่องจากมีเครือข่ายกองทุนและบริษัทของรัฐจำนวนหลายบริษัทที่เป็นบริษัทข้ามชาติภายใต้ความดูแลของบริษัท Minister of Finance (MoF) Incorporated ที่กระทรวงเป็นเจ้าของ 

ในปีแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง บริษัท Minister of Finance (MoF) Incorporated เข้าควบคุมกองทุนเพื่อการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐตรังกานูที่ชื่อ Terengganu Investment Authority (TNA) แล้วเปลี่ยนจากกองทุนระดับรัฐเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ในชื่อ 1 Malaysia Development Berhad หรือ 1MDB ที่ไม่นานก็ได้กลายเป็นต้นตอมหากาพย์ทุจริตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย 1MDB มีกองทุนและบริษัทลูกในสังกัดจำนวนหนึ่ง  หนึ่งในนั้นคือ SRC International บริษัทเอกชนด้านพลังงานทางเลือกที่ 1MDB เข้าถือหุ้นใหญ่ในปี 2554

ใน พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ของธนาคารชาติมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) เข้าตรวจค้นธนาคาร Ambank สาขาหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมฟอกเงินของผู้ถือบัญชี Ambank หลายราย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีนาจิบเวลานั้น นายอาซีซุล อัดซานี อับดุล กาฟาร์ (Azizul Adzani Abdul Ghafar) เจ้าหน้าที่ธนาคารชาติผู้นำคณะตรวจค้น  ให้การต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้จัดการสาขา Ambank ได้จัดหาเอกสารให้ตามคำร้องของอย่างเป็นทางการ รวมถึงเอกสารการเปิดบัญชีธนาคารส่วนตัวของนายนาจิบ ราซัก 4 บัญชี บัญชีของ SRC International อีก 4 บัญชี และบัญชีของบริษัทลูกบริษัทหนึ่งของ SRC International อีก 1 บัญชี โดยหลักฐานที่พบคือเอกสารการโอนเงินยอดรวม 42 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือกว่า 336 ล้านบาท เข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ 2 บัญชีระหว่างเดือนธันวาคม 2557 ถึงมกราคม 2558

การทุจริตนี้เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เมื่อกองทุน 1MDB ถอนหุ้นจาก SRC International สื่อมวลชนมาเลเซียอธิบายสาเหตุเรื่องนี้ว่า เพื่อให้ SRC International มีคุณสมบัติครบถ้วนในการสามารถกู้เงินจากกองทุนบำนาญราชการ (Retirement Fund Incorporated – KWAP) ของรัฐบาลได้ SRC International ได้รับเงินกู้รวม 2,000 ล้านริงกิตมาเลเซีย (16,000 ล้านบาท) จาก KWAP ระหว่างกลางปี 2554 – ต้นปี 2555 เจ้าหน้าที่ของบริษัทในเวลานั้นให้เหตุผลในการกู้ว่า  เพื่อในการลงทุนในอินโดนีเซีย มองโกเลีย และประเทศอื่น ๆ  

ชะรอยนาจิบผู้มีอำนาจล้นมือจะทะนงตนจนพลาดท่าเสียทีไม่พยายามกลบเกลื่อนการทำธุรกรรมครั้งนั้นให้แนบเนียนพอ เงินกู้จากกองทุนบำนาญราชการไหลเข้าบัญชีส่วนตัวของเขา โดยผ่านบริษัทลูกในมาเลเซีย 2 บริษัทของ SRC International และ 1MDB แล้วไปนอนนิ่งในบัญชีส่วนตัวของเขา ทั้งหมดนี้เป็นการทำธุรกรรมในประเทศ เป็นเส้นทางการเงินที่ตรงๆ ทื่อ จนหน่วยงานต่อต้านการทุจริตสามารถติดตามได้โดยไม่ต้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลต่างประเทศ ถือเป็นคดีที่เล็กที่สุดและง่ายในการตรวจสอบที่สุดในบรรดาคดีทุจริตหลายสิบคดีที่เขาต้องเผชิญ แต่ก็เป็นคดีประวัติศาสตร์ในฐานะที่สามารถส่งอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าคุกเป็นครั้งแรกในมาเลเซีย 

ชะตากรรมของนาจิบ ราซัก อาจแยกไม่ออกจากชะตากรรมของพรรคอัมโนมาตั้งต้น นาจิบคือทายาททางการเมืองของบิดา อับดุล ราซัก ฮุสเซ็น (Abdul Razak Hussein) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซียระหว่าง พ.ศ. 2513-2519 ผู้วางรากฐานความแข็งแกร่งอันยาวนานให้พรรคอัมโน อับดุล ราซัก เป็นนายกรัฐมนตรีผู้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy – NEP)  ที่ให้สิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจและสังคมประชากรมาเลเซียเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลามหรือกลุ่มภูมิบุตรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่พรรคอัมโนภายใต้การนำของเขาชูอุดมการณ์มลายูเป็นใหญ่ในฐานะอุดมการณ์ของพรรค ส่งผลให้มีฐานเสียงที่มั่นคงในกลุ่มภูมิบุตร สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลตลอดนับแต่ก่อตั้งประเทศเป็นเวลา 60 ปี

ถ้าหาก อับดุล ราซัก ฮุสเซ็น ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างความเข้มแข็งให้พรรคอัมโน นาจิบ ราซัก บุตรชายของเขาก็อาจได้ชื่อว่าทำตรงข้าม เพราะนอกจากจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ต้องเข้าคุกด้วยคดีทุจริตแล้ว นาจิบยังเป็นผู้นำพาพรรคอัมโนพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2561 จนตกเป็นฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยสาเหตุหนึ่งของความพ่ายแพ้คือความโกรธแค้นของชาวมาเลเซียต่อกรณีทุจริต 1MDB ที่เขาเป็นศูนย์กลาง 

พรรคอัมโนไม่อาจกลับมาเป็นเหมือนเดิม แม้ว่าในปี 2563 จะกลับมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งจากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งนำเอาพรรคเบอร์ซาตู (Bersatu) ของนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ย้ายมุ้งไปจัดตั้งรัฐบาลกับอัมโนภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรี มูยีดดีน ยาสซีน (Muyiddin Yassin) แห่งเบอร์ซาตู ก่อนที่อัมโนจะจัดการผลักดันให้ อิสมาอิล ซาบรี ยาโคป (Ismail Sabri Yacob) นักการเมืองของตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่นั่นก็ยังไม่ใช่คำตอบ

หลังความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งปี 2561 พรรคอัมโนสั่นคลอนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สาเหตุหนึ่งมาจากการเสื่อมความนิยมในหมู่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งกลุ่มภูมิบุตร ที่บางส่วนถูกช่วงชิงไปโดยอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้กระหน่ำโจมตีนาจิบในประเด็นทุจริต 1MDB อย่างหนัก แต่สาเหตุที่สำคัญกว่านั้นที่ทำให้พรรคอัมโนอ่อนแอลงทุกที ก็คือความแตกแยกกันเองภายในพรรคระหว่างกลุ่มผู้นำพรรค 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ถูกฟ้องร้องในคดีทุจริต ที่เรียกกันในมาเลเซียว่า Court Cluster นำโดยนาจิบและอาห์หมัด ซาฮีด ฮามีดี (Ahmad Zahid Hamidi) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและประธานพรรคอัมโนคนปัจจุบัน กับกลุ่มนักการเมืองอัมโนที่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีหรือ Cabinet Cluster  นำโดยคนที่ไม่ใช่ใครอื่นไกล นอกจากนายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี

ในช่วง 23 เดือนที่รัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน  (Pakatan Harapan) ของมหาเธร์อยู่ในอำนาจหลังการเลือกตั้งปี 2561  นายกฯ มหาเธร์แต่งตั้งอัยการสูงสุดและประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (Malaysia Anti-corruption Commission) คนใหม่ ที่ไม่ต้องบอกก็เข้าใจโดยทั่วกันว่าเพื่อจัดการกับนาจิบและผู้สนับสนุนโดยเฉพาะ การสอบสวนคดี 1MDB เป็นหนึ่งในภารกิจที่มหาเธร์ลงมือเป็นเรื่องแรกๆ โดยนาจิบและภรรยาตกเป็นเป้าก่อนใครเพื่อน ในขณะเดียวกันก็เปิดคดีทุจริตอื่นๆ ของแกนนำคนสำคัญของพรรคอัมโน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานพรรค อาห์หมัด ซาฮีด ทำให้บัญชีเงินฝากของอัมโนถูกแช่แข็ง ทรัพย์สินบางส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตถูกยึดชั่วคราว จนสถานการณ์คลี่คลายลงเมื่ออัมโนกลับเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง

แต่เมื่อกระบวนการทางศาลเริ่มต้นก็ยากจะหยุดยั้ง กรณี SRC International ทำให้นาจิบต้องย้ายนิวาสถานเข้าเป็นสมาชิกเรือนจำ รอสมาห์ภรรยาของเขาก็ถูกศาลชั้นต้นพิพากษามีความผิด และคดีทุจริตคดีแรกของซาฮีดก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น คนทั้งสามยังมีคดีอีกหลายคดียาวเหยียดเป็นบัญชีหางว่าวรออยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการขึ้นโรงขึ้นศาลหลายปีนับแต่นี้  

อย่างไรก็ตาม สมาชิก Court Cluster ทั้งสามไม่ยอมแพ้ง่ายๆ นาจิบ ราซัก ผู้ได้ฉายาว่า ‘บอสกู’ (Bossku – ในภาษามลายูผสมภาษาอังกฤษ หมายความว่า ‘นายฉัน’) จากฐานะแหล่งเงินทุนผู้ควักกระเป๋าจ่ายเงินให้นักการเมืองพรรคอัมโน ได้ถวายหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษต่อสมเด็จพระราชาธิบดีอย่างเงียบๆ ไม่กี่วันหลังการตัดสินของศาล และยังยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดขอให้ตั้งคณะผู้พิพากษาใหม่เพื่อทบทวนคำพิพากษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำได้ตามกฎหมายมาเลเซีย 

ความหวังของเขาและประธานพรรคอย่างซาฮีดอยู่ที่การเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ข่าวที่กระเซ็นกระสายเข้าหูสื่อมวลชนมาเลเซียข่าวหนึ่งระบุว่า หนึ่งวันหลังคำตัดสินของ Federal Court ซาฮีดเรียกประชุมฝ่ายบริหารพรรคอัมโนที่รวมถึงนายกฯ อิสมาอิล ซาบรีเป็นการด่วน ในที่ประชุมมีการกดดันให้ซาบรีใช้อำนาจยุบสภาฯ แล้วจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดภายในปีนี้ หาไม่ เขาอาจถูกขับออกจากพรรค แม้นักการเมืองพรรคอัมโนจะปฏิเสธเรื่องนี้ แต่การที่ซาบรีตัดสินใจเลื่อนวาระการพิจารณางบประมาณประจำปีของสภาฯ จากปลายเดือนมาเป็นต้นเดือนกันยายน ก็ส่อสัญญานความเร่งรีบก่อนยุบสภาฯ

เห็นได้ชัดว่านาจิบและซาฮีดหวังชนะการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคอัมโนกลับเข้าครองอำนาจเบ็ดเสร็จ และเพื่อให้นักการเมืองในปีกของตนนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นในอดีต ก่อนเข้ามีอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรมด้วยการใช้อำนาจปลดและแต่งตั้งข้าราชการประจำระดับสูงที่มีบทบาทในการดำเนินคดีของพวกเขา เช่น อัยการสูงสุด และผู้พิพากษา Federal Court เพื่อยับยั้งอำนาจของศาลในการตัดสินคดีทุจริตต่างๆ ของกลุ่มตน ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะหวังการใช้อิทธิพลทางการเมืองเหนือระบบยุติธรรม และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมาเลเซีย แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอัมโนทำมาทุกยุคทุกสมัย

แต่ครั้งนี้ เงื่อนไขเวลาสร้างความตึงเครียดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซาฮีดต้องคอยระแวงระวังไม่ให้ศาลตัดสินในเร็ววัน แม้จะเป็นเพียงศาลชั้นต้น เพราะหากพบว่าเขามีความผิดแม้ยังไม่ถึงศาลชั้นสูงสุด ก็อาจกระทบโอกาสในการขึ้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากอัมโนชนะเลือกตั้ง ส่วนนาจิบเอง แม้จะเริ่มติดคุกจากคดี SRC International แล้ว แต่ยังมีคดีทุจริต 1MDB ที่ใหญ่กว่าหลายเท่ารออยู่ โดยเขาถูกกล่าวหาว่าผ่องถ่ายเงินจากกองทุน 1MDB ไม่ต่ำกว่า 2,600 ล้านริงกิตมาเลเซีย (กว่า 20,800 ล้านบาท) เข้าบัญชีส่วนตัวในต่างประเทศ หากศาลตัดสินว่าเขามีความผิด บทลงโทษย่อมร้ายแรงกว่าคดีแรงที่เขาได้รับแน่นอน ความหวังของคนทั้งสองจะยิ่งริบหรี่หากการเลือกตั้งมาถึงล่าช้ากว่าการพิจารณาคดีของศาล 

ยุทธศาสตร์ทางรอดของ Court Cluster นำไปสู่ความขัดแย้งที่แบ่งพรรคอัมโนออกเป็นสองขั้ว สำหรับฝั่งของนายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี แล้ว การอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดย่อมเป็นประโยชน์ด้วยประการทั้งปวง เพราะถ้ากลุ่ม Court Cluster ออกจากเวทีการเมืองไป อิสมาอิล ซาบรี ผู้กุมอำนาจการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี ย่อมมีหนทางเข้าครองอำนาจสูงสุดภายในพรรคของตนที่ปัจจุบันยังอยู่ในมือของนาจิบและซาฮีดซี่งกำลังคัดง้างกับอำนาจนายกรัฐมนตรีของเขา แต่ซาบรีก็ถือไพ่ใบสำคัญอยู่ในมือแต่เพียงผู้เดียว นั่นคืออำนาจของนายกรัฐมนตรีในการกราบถวายบังคมทูลต่อสมเด็จพระราชาธิบดีขอพระบรมราชานุญาตในการยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ 

ชะตากรรมของนาจิบ ราซัก จากกรณี SRC International สะกิดให้ความขัดแย้งภายในอัมโนเข้มข้นขึ้น นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลบางคนเริ่มคาดคะเนว่ารูปแบบของการเมืองของมาเลเซียในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร หลายคนเชื่อว่าชะตากรรมของนาจิบ คือสัญลักษณ์ว่ายุคสมัยของการครองอำนาจชี้เป็นชี้ตายแบบยุคทองของพรรคอัมโนหมดไปแล้ว ไม่แน่ว่านับแต่นี้เป็นต้นไป นักการเมืองพรรคอัมโนจะอยู่รอดได้ด้วยการต่อรองและประนีประนอมทั้งภายในพรรคและกับพรรคการเมืองอื่นๆ

แต่เวลานี้ นักการเมืองอย่าง นาจิบ ราซัก ‘บอสกู’ และคณะ คงไม่มีทางเลือกนอกจากจะใช้กลยุทธ์ทุกอย่างที่มีอยู่สู้เพื่อให้ได้อำนาจคืนมา ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องลาโรงด้วยจุดจบที่ไม่มีใครปรารถนา


อ้างอิง

Prepared for divine retribution, Najib swears his innocence in mosque

Najib guilty of all seven charges related to SRC International

Court confirms leaked Najib judgment a ‘modified’ draft

https://fulcrum.sg/najib-razaks-political-career-the-end-of-the-beginning-or-the-end-of-the-end/

Najib Razak’s Political Career: The End of the Beginning or the End of the End?

Bank Negara man reveals 2015 raid to get Najib’s Ambank account info

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save