fbpx
Design Thinking กับชุดนักเรียนไทย : ใส่หรือไม่ใส่ดี

Design Thinking กับชุดนักเรียนไทย : ใส่หรือไม่ใส่ดี

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ปัญหาเรื่องชุดนักเรียนทำให้ผมนึกถึงปัญหายูนิฟอร์มในโรงงาน หรือในบางบริษัท บางธุรกิจที่ต้องใช้เครื่องแบบเพื่อใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบริหารงานบุคคล เช่นงานบริการต่างๆ

คราวนี้หากว่าเด็กๆ นักเรียนเขาอยากจะยกเลิกจริงๆ ไม่อยากใส่แล้วเครื่องแบบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าเชย หรือดูเป็นเบี้ยล่างของอำนาจนิยม แต่ปฎิเสธไม่ได้ครับว่า น้องหนีวันนี้ วันหน้าก็ต้องเจอ ในฐานะที่เราก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมและองค์กรที่พนักงานบางส่วนก็ต้องใส่ยูนิฟอร์ม ผมสมมติสถานการณ์ว่า ถ้าหากพนักงานของผมลุกขึ้นประท้วงยหยุดงานเรื่องชึดยูนิฟอร์มที่เขาใส่ ผมจะจัดการอย่างไร เพื่อหาทางออกที่สวยที่สุด ที่ทุกคนจะได้มีชุดเหมาะเหม็งๆ ใส่มาทำงาน

เช่นกันกับเรื่องชุดนักเรียน อย่างแรก เราไม่ควรตั้งต้นที่ว่าเราควรมีหรือว่าไม่ควรมี แต่ต้องลองถามกันก่อนว่า การเรียกร้องที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร เขารู้สึกอย่างไร และหากมองว่านักเรียน ผู้ปกครองคือกลุ่มลูกค้าหรือพนักงานในองค์กร ชุดนักเรียน ณ เวลานี้ตอบโจทย์เขาหรือไม่ หรือปัญหาของ ‘ชุด’ นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาเกิด โดยพื้นฐานที่สุดคือ มันไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ ในกรณีของชุดนักเรียน ก็น่าจะไปดูว่าในแง่การใช้งาน ชุดนักเรียนในโรงเรียนทั่วไปเหมาะสมกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ซึ่งหากถามผม ผมก็ตอบได้ว่าไม่เหมาะเลย เพราะชุดนักเรียนที่ประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสีเข้ม มีเข็มขัด มีถุงเท้าสีขาว รองเท้าสองสามคู่เพื่อสลับสับเปลี่ยนกันใส่ตามวาระโอกาส เพื่อให้เข้ากับชุดอื่นๆ เช่น ชุดลูกเสือ เนตรนารี ชุดพละ ตามแต่ที่แต่ละโรงเรียนจะกำหนดให้นักเรียนของตัวเองใส่ หมายความว่า นักเรียนหนึ่งคน จริงๆ อาจต้องมีชุดที่ใส่ไปโรงเรียนมากกว่าหนึ่งชุด ซึ่งนั่นเป็นภาระของผู้ปกครองที่ต้องจ่ายมากขึ้นสำหรับชุดนักเรียน ทั้งดูแลกระดุมให้แน่น ต้องรีดให้เรียบร้อย ฯลฯ

ชุดนักเรียนของไทยจึงดูไม่ค่อยเหมาะสมกับความเป็นจริง เอาแค่สีเสื้อก็มีคำถามแล้ว เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าวัยเด็กนั้นเป็นวัยที่เต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย กลางวันเตะฟุตบอล เรียนวิชาพละ ไหนจะต้องทำแปลงเกษตร หรือมีเวรทำความสะอาดในตอนเย็น ผู้หญิงก็อาจเล่นกีฬาอย่างอื่น การประเปื้อนเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องพยายามให้เสื้อนักเรียนของลูกๆ ดูขาวอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการแสดงออกว่า ครอบครัวนี้ ดูแลเด็กๆ ดี หรือว่ามีเงินมากพอที่จะให้ลูกๆ ใส่เสื้อสีขาวมากกว่าคนอื่น (ไป-กลับโรงเรียนทุกวัน เราก็ยังเห็นโฆษณาผงซักฟอกที่เอาเสื้อนักเรียนขาวสะอาดมาเป็นจุดขายเสมอ) ไหนจะกระดุมที่มากมายหลายเม็ดนั่นอีกที่พร้อมจะหลุดได้ทุกเมื่อที่เด็กๆ ฉุดกระชากรากทึ้งกันเวลาเล่นกีฬา เสียดายที่ไม่มีใครเก็บสถิติว่าปีๆ หนึ่ง พ่อแม่ต้องเปลี่ยนกระดุมที่หลุดจากเสื้อนักเรียน มากน้อยแค่ไหน

ชุดนักเรียนของไทยจึงไม่ได้คิดถึงเรื่องของการใช้งาน แต่จำลองภาพลักษณ์บางอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการเอามาไว้ในเด็กและเชื่อกันมาตลอดว่าชุดนักเรียนจะสามารถชุบตัวเด็กคนหนึ่งให้ดูดี ดูน่าสนใจขึ้นมาได้ กรณีนี้ หากเราไปดูอย่างเด็กๆ ที่ใส่ชุดนักเรียนมาขายนมเปรี้ยวตามสี่แยก จะพบว่าการใส่ชุดนักเรียนเพิ่มยอดขายได้อย่างมหาศาล

งั้นถามต่อว่า ถ้าหากเราจะยกเลิกชุดนักเรียน แล้วให้ใส่แต่ชุดไปรเวทดีไหม เราลองมาคิดกันก่อนว่าที่เด็กๆ เขาอยากเปลี่ยนเป็นชุดไปรเวทนั้นเพราะอะไร และเอาเข้าจริง มันจะเหมาะกับสังคมของเราหรือไม่

ประเด็นที่เด็กๆ บอกว่า การใส่ชุดไปรเวทจะลดความเหลื่อมล้ำได้ในสังคมโรงเรียน หากคิดดีๆ ก็จะเห็นเหมือนกับที่คุณคำ ผกา เคยพูดไว้ว่า ความเหลื่อมล้ำมันเริ่มมาตั้งแต่ว่าเราเลือกจุติมาเกิดไม่ได้แล้ว ไม่ว่าเราจะใส่ชุดอะไรอยู่ ความเหลื่อมล้ำมันก็ไม่ได้ลดลงเลย และไม่สามารถถูกแก้ไขให้หมดไปได้เลย

ในอีกมุมหนึ่งการให้เสรีภาพกับเด็กๆ ในช่วงวัยที่ไม่เหมาะสม ผมก็ไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนจากเครื่องแบบที่เราใส่อยู่มาเป็นชุดอะไรก็ได้อาจสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เพราะลำพังแค่ชุดนักเรียน เด็กๆ ก็แข่งขันกันด้วยแอกเซสซอรี่อื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋านักเรียน โบว์ผูกผม ยี่ห้อรองเท้า กล่องดินสอซาริโอ และอื่นๆ อีกมากมายที่พ่อแม่จะตามใจลูก ยิ่งในยุคเจเนอเรชชันอัลฟ่า การมีลูกเป็นการเติมเต็มความพึงพอใจมากกว่าการเพิ่มแรงงานในครัวเรือ แนวโน้มของการปรนเปรอลูกจนเกินขอบเขตจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หากมองว่าการไม่มีเครื่องแบบจะลดความเหลื่อมล้ำได้อาจไม่ตอบโจทย์

แต่หากเด็กๆ คิดว่าการ ‘ไม่ใส่’ เครื่องแบบ อาจเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ในการต่อต้านอำนายนิยมในสังคม ก็เป็นอีกนัยยะหนึ่งนะครับ

อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่าในระยะยาวแล้ว การไม่ใส่เครื่องแบบของนักเรียนอาจสร้างผลกระทบทางลบกับสังคมมากกว่า อะไรที่ไม่มีกรอบเสียเลยอาจสร้างปัญหาใหม่ มากกว่าแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม

ทีนี้หากลองไปเทียบกับโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยเรา เมื่อคิดว่าโรงเรียนเหล่านี้อาจเป็นแม่แบบของเสรีภาพในโรงเรียนที่หลายๆ คนคิดไว้ โรงเรียนนานาชาติในไทยก็มีการกำหนดเรื่องเครื่องไว้เช่นเดียวกัน แต่คำนึงการใช้งานในชีวิตประจำวันของเด็กค่อนข้างมาก คือออกแบบชุดนักเรียนที่ดูแลรักษาง่าย คล่องตัว ไม่เสียเวลาในการแต่งตัวในตอนเช้า มีความยืดหยุ่นกับกิจกรรมของนักเรียน หลายโรงเรียนใช้เสื้อยืดโปโลสีเข้ม รองเท้าผ้าใบคู่เดียวเป็นยูนิฟอร์มสำหรับนักเรียน และห้ามการใช้ของบางอย่างที่แตกต่างกันมากๆ เช่น กระเป๋านักเรียน เป็นต้น ส่วนกางเกงและกระโปรงนั้น เกือบโรงเรียนเปิดกว้างให้ครอบครัวและเด็กๆ สามารถตกลงกันเองได้เลยว่าอยากใส่อะไร เด็กชายจะใส่กระโปรงมาโรงเรียนก็ได้ หรือเด็กผู้หญิงต้องการใส่กางเกง ก็สามารถทำได้ และเด็กๆ สามารถแสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง ผ่านทรงผม คุณสามารถทำสีผมอย่างไรก็ได้ อยากทาเล็บก็ทำได้ และเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มากจนเกินพอดี ฯลฯ

ผมมีหลานๆ กลุ่มหนึ่งที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติหลากหลายแห่ง พบว่าหลานๆ เข้าใจถึงการใส่ยูนิฟอร์ม เห็นประโยชน์และเข้าใจตรรกะว่า การใส่นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ใส่เพื่อความเป็นกลุ่มก้อนเวลาไปแข่งกีฬากับคนอื่น ใส่เพื่อให้ทำกิจกรรมได้หลากหลายและเสื้อผ้าไม่เปื้อนง่าย ใส่เพื่อที่ว่าเช้าๆ พ่อแม่พี่น้องจะได้ไม่เสียเวลาไปกับการเลือกชุดแต่งตัวให้วุ่นวาย และใส่เพื่อความปลอดภัย ฯลฯ มากกว่าคำอธิบายว่าต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นธรรมเนียมปฎิบัติแต่เพียงอย่างเดียว

บทสรุปของการจะใส่ไม่ใส่ เอาไม่เอาชุดนักเรียน ผมคิดว่าการเปิดพื้นที่นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เวทีของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งจากมุมของผู้ใหญ่ จากมุมของเด็กๆ และอาจต้องรวมไปถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจเครื่องแบบนักเรียนด้วยว่า เราจะร่วมกันสร้างนวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ และเห็นภาพที่ใกล้เคียงกันมากขึ้นได้อย่างไร

จริงๆ กลยุทธ์แบบนี้ เป็นกลยุทธ์ปกติที่นักสังคมศาสตร์มักใช้ในการหาจุดร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เริ่มจากปัญหาเล็กๆ แล้ว ค่อยๆ นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น อย่างเช่น มีความพยามให้เกาหลีเหนือและใต้มาร่วมกันช่วยเรื่องเส้นทางอพยพของนกอะไรแบบนี้

ผมเชื่อว่ายูนิฟอร์มยังมีความจำเป็นในสังคม แต่ก็ไม่ปฎิเสธว่ายูนิฟอร์มแบบที่ไม่จำเป็นกับสังคมก็มีอยู่มากเช่นเดียวกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save