fbpx

“A Bedroom is not a studio” เมื่อนักเรียนศิลปะส่งสาส์นประท้วงการเรียนออนไลน์แบบแสบและสร้างสรรค์

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคนผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

นอกจากการล็อกดาวน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่มีมาตรการเยียวยาจะส่งผลกระทบกับคนทำงานหาเช้ากินค่ำ คนอีกกลุ่มที่ดูจะได้รับผลกระทบหนักหน่วงไม่แพ้กัน เห็นจะเป็นเหล่านักเรียนนักศึกษาที่ต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ ทุกเช้าเด็กต้องแหกขี้ตาขึ้นมานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเปิดโปรแกรมซูม ทักทายครูและเพื่อนผ่านช่องหน้าต่างเล็กๆ ไม่มีโรงอาหารและสนามฟุตบอลให้วิ่งเล่นในเวลาพักกลางวัน ไม่มีกิจกรรมหลังเลิกเรียนรอพ่อแม่มารับ ไม่แม้แต่จะต้องลุกออกจากเก้าอี้ตัวเดิม บางคนนั่งทำการบ้านตรงนั้น เข้านอน และตื่นมาเจอกับลูปซ้ำๆ สิ่งที่น่าสะพรึงที่สุดคือวิถีการเรียนรู้ที่ตรงข้ามกับคำว่า ‘มีความสุข’ นี้ อยู่กับเด็กๆ มาเป็นเวลาเกือบสองปี

เด็กทุกคนที่ต้องอยู่ในวงจรนี้ต่างได้รับผลกระทบ ทั้งในมิติของการเรียนรู้ การเข้าสังคม และการเติบโต แต่กลุ่มที่หนักเป็นพิเศษดูเหมือนจะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในสาขาการเรียนที่ต้องอาศัยการลงมือทำ และต้องอาศัยพื้นที่เฉพาะสำหรับการเรียนรู้ หนึ่งในนั้นคือ ‘นักเรียนศิลปะ’

“Online art school is not art school” 

ข้อความตัวใหญ่พิมพ์ด้วยแบบอักษรโมเดิร์นถูกโพสต์เป็นภาพบนอินสตาแกรม @rcavisualcomm แอคเคาท์อย่างเป็นทางการของภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ Royal College of Art หรือ RCA มหาวิทยาลัยศิลปะอันดับต้นๆ ของประเทศอังกฤษ หลังจากมหาวิทยาลัยประกาศปิดและปรับการเรียนการสอนของนักศึกษาทั้งหมดเป็นออนไลน์ในช่วงเริ่มต้นของการล็อกดาวน์เมื่อกลางปี 2020 

ข้อความที่ตามมาในโพสต์เล่าว่า การเรียนการสอนแบบออนไลน์ไม่ได้เวิร์กสำหรับนักศึกษาทุกหลักสูตร ห้องเรียนศิลปะออนไลน์ไม่สามารถมอบพื้นที่สตูดิโอ เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์เฉพาะทาง ซึ่งนักศึกษาศิลปะจำเป็นต้องมีและมีเฉพาะในสตูดิโอเท่านั้น อย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ เตาเผาเซรามิก เครื่องจักรสำหรับทำงานไม้ อุปกรณ์สตูดิโอถ่ายภาพ ฯลฯ, พื้นที่หาข้อมูลอย่างห้องสมุด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่คอยช่วยให้คำปรึกษาในการทำงานก็หายไปด้วย ไปจนถึงการตรวจงานและโชว์ผลงานสุดท้ายปลายเทอม ที่หลายชิ้นต้องการการหยิบจับ เห็นด้วยตา และมีประสบการณ์ตรงกับผลงาน ก็ต้องตรวจกันผ่านออนไลน์ 

เท่ากับว่าค่าเทอมแสนแพงที่จ่ายไป คืนกลับมาในรูปแบบของวิดีโอผ่านโปรแกรมซูมเพียงแค่อาทิตย์ละครั้ง ยังไม่รวมวิถีชีวิตที่เหล่านักศึกษาศิลปะกลุ่มนี้ใช้คำว่า ‘wake and make’ คือตื่นขึ้นมาก็เจอกับงานทันที (และเผลอๆ ก็หลับไปพร้อมกับงาน) โดยไม่ได้มีเวลาไปแฮงก์เอาท์หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในเวลาว่าง ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาเหล่านั้นถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีของความคิดสร้างสรรค์

คำถามของพวกเขาคือ จะคาดหวังการเรียนรู้และผลลัพธ์ทางการศึกษาคุณภาพเหมือนเดิมจากนักศึกษาได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาจำต้องอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้ นอกจากนั้นผลประโยชน์ที่หายไปของนักศึกษาไปตกอยู่กับใครกันแน่ และนี่คือมีมที่พวกเขาทำออกมาเพื่อสื่อสารสิ่งนี้

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นักศึกษาศิลปะจากมหาวิทยาลัย Kingston School of Art ก็ปล่อยแคมเปญออนไลน์ What’s happening KSA? (มาจากตัวย่อของชื่อมหาวิทยาลัย) ผ่านอินสตาแกรม @whats_happening_ksa  เพื่อตะโกนว่าการเรียนศิลปะแบบออนไลน์มันไม่เวิร์ก และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยคืนเงินค่าเทอมสำหรับคุณภาพการศึกษาที่สูญเสียไป โดยเสียดสีแบบสุดแสบด้วยการแปะภาพเกมแกะสลักประติมากรรมและเกมเย็บเสื้อผ้าในมือถือ เหมือนกำลังถามว่าจะให้เราเรียนศิลปะกันแบบนี้จริงดิ?

พร้อมๆ กันได้เกิดแคมเปญที่ใหญ่และขยายวงกว้างขึ้นอย่าง @pauseorpayuk การรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาชาวอังกฤษที่เรียนในหลักสูตรแบบ Studio-based หรือเรียนรู้ผ่านการลงมือทำในสตูดิโอ พวกเขาผลักดันข้อเรียกร้องที่ว่า มหาวิทยาลัยต้องพักการเรียนการสอนจนกว่าจะสามารถกลับมาใช้สตูดิโอได้ตามปกติ หรือไม่ก็จ่ายเงินชดเชยในสิ่งที่นักศึกษาสูญเสียไปอย่างเป็นธรรม เรียกว่าอะไรก็ได้แต่ไม่ใช่การเรียนออนไลน์! 

ในช่องทางหลักของแคมเปญอย่างอินสตาแกรม มีการโพสต์ภาพงานศิลปะที่สะท้อนวิถีชีวิตการเรียนจากที่บ้านเพื่อตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น นักศึกษาวิชาออกแบบเฟอร์นิเจอร์คนหนึ่งต้องเปลี่ยนครัวที่บ้านให้กลายเป็นช็อปสำหรับทำงานไม้  ซึ่งแน่นอนว่าไม่เวิร์ก หรือนักศึกษาอีกคนที่ถ่ายรูปโฮมสตูดิโอของตัวเองที่เป็นทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่ห้องสมุด สต็อกเก็บวัสดุ โต๊ะทำงาน เวิร์กช็อป คาเฟ่ ไปจนถึงเตียงนอน ต้องอัดรวมกันอยู่ในมุมเล็กๆ ในบ้าน

ท่ามกลางการประท้วงของเหล่านักศึกษาทั่วอังกฤษ Ruby Betts และ Ellis Tree สองนักศึกษาจาก Kingston School of Art อยากจะส่งเสียงเหล่านี้ให้ดังขึ้นเพื่อไปให้ถึงผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสองเลยชวนเพื่อนนักศึกษาจากทั่วทุกมุมของอังกฤษออกมา ‘call out’ ด้วยการส่งภาพงานศิลปะหนึ่งชิ้นที่พูดถึงความรู้สึกของการต้องเรียนศิลปะแบบออนไลน์ โดยใช้พื้นที่สตูดิโอจำเป็นและข้าวของที่มีอยู่จำกัดภายในบ้านนั่นแหละมาทำเป็นงานศิลปะ

ข้อความประท้วงจากนักศึกษาที่ประสบชะตากรรมเดียวกันหลั่งไหลเข้ามา มีตั้งแต่บอกว่า “บ้านของเราไม่มีอุปกรณ์” , “ผมไม่ต้องการใบปริญญาที่ว่างเปล่า” , “คืนสตูดิโอให้เรา” , “เรามีห้องสมุด แต่เราเข้าไปใช้ไม่ได้” , “ห้องผมไม่ใช่เวิร์กช็อป” , “ไวไฟแย่มันทำให้ไม่มีสมาธิ” , “ง่ายๆ นะ คือบ้านเราไม่มีที่” , “นักเรียนหรือถุงเงินให้คุณถลุง” ฯลฯ แม้งานศิลปะแต่ละชิ้นจะออกมาบ้านๆ เนื่องจากใช้ข้าวของที่มีอยู่อย่างจำกัดภายในบ้านในการทำ (ส่วนหนึ่งเป็นการบอกว่างานออกมาได้เท่านี้เพราะไม่มีสตูดิโอให้ใช้) แต่ทุกชิ้นกลับเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ชิ้นที่แสบมากๆ และถูกใจเราเป็นพิเศษคือชิ้นที่เป็นหน้ากระดาษเปล่าๆ พร้อมเขียนลงท้ายว่า “นี่คือจดหมายขอโทษจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยของเรา”

หลังจากนั้น Ruby และ Ellis รวบรวมงานศิลปะประท้วงทุกชิ้นไว้ในหนังสือ ชื่อ A Message of Protest ซึ่งเมื่อพิมพ์แล้วเสร็จ มันจะถูกส่งไปยัง Michelle Donelan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาวิทยาลัยของอังกฤษ เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ยินเสียงและความรู้สึกของนักศึกษาเหล่านี้

ในฝั่งของ Royal College of Art หรือ RCA จะไม่วายเกิดเรื่องวุ่นๆ ตามมา อย่างการที่มหาวิทยาลัยเก็บกวาดและเคลียร์ของในสตูดิโอระหว่างช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ผลงานศิลปะและงานออกแบบของนักศึกษาร่วมร้อยคนสูญหาย จนนักศึกษาต้องรวมตัวกันฟ้องมหาวิทยาลัย แต่ทางด้านของ Kingston School of Art จากอินสตาแกรมของแคมเปญทำให้เราเห็นข่าวคราวอัปเดตว่า นักศึกษาทุกคนสามารถกลับเข้าไปใช้สตูดิโอได้ตามปกติแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดจากการที่เสียงเหล่านี้ถูกส่งไปถึงผู้มีอำนาจ หรืออาจเพราะสถานการณ์คลี่คลายขึ้นพอดิบพอดี ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักศึกษาเหล่านี้ได้พื้นที่ที่เป็นเสมือนเรือนเพาะชำทางทักษะอย่างสตูดิโอกลับคืนมา

แม้ในหลายประเทศสถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลายและทุกอย่างค่อยๆ ทยอยกลับมาอยู่ในสภาพปกติ แต่บทสนทนาเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ของนักศึกษาในรูปแบบ Studio – based ยังคงดำเนินต่อไป ในบทความ “Online art school is not art school”: The future of creative higher education in the age of Covid-19 เปิดบทสนทนาที่ว่าไหนๆ ในอนาคต เราคงต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งโรคระบาด ภัยธรรมชาติ สถานการณ์ทางการเมือง ฯลฯ จะดีไหมหากสเต็ปต่อจากนี้ เราจะมาลองหาข้อดีทั้งจากการเรียนออนไลน์และการเรียนในสตูดิโอ และนำมาประยุกต์รวมกันเป็นรูปแบบการเรียนลูกผสม (hybrid model) เพื่อให้รูปแบบการเรียนในอนาคตมีความยืดหยุ่นพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้น ในบทความเล่าความคิดเห็นของนักศึกษาสถาปัตย์คนหนึ่งว่า สำหรับเขา แม้ว่าการเรียนออนไลน์จะทำให้โอกาสในการลงมือทำสร้างสรรค์และทดลองในสตูดิโอลดน้อยลงไป แต่ก็เป็นโอกาสดีที่ได้โฟกัสกับการศึกษาทฤษฎีและได้ฝึกฝนการใช้โปรแกรมใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็มองเป็นข้อดีได้เหมือนกัน

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าการออกแบบห้องเรียนในอนาคตที่ควบรวมข้อดีของการเรียนออนไลน์และการเรียนสตูดิโอเข้าหากันได้จะหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่แน่อาจจะกลายเป็นการเรียนที่สนุกและสร้างสรรค์กว่าเดิม

อ้างอิง :

What’s Happening KSA?
PAUSE OR PAY UK
How Coronavirus Ate the Art School
“Online art school is not art school”: The future of creative higher education in the age of Covid-19
Design students protest online art school with a book of protest signs

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save