fbpx

กามนิต-วาสิฏฐี: อ่านตะวันตก ตื่นตะวันออก ในภาษาไทยก่อนเกิดปฏิวัติ

กามนิต-วาสิฏฐี เป็นวรรณกรรมชื่อคุ้นหูของคนไทยยุคก่อนเป็นอย่างดีเนื่องจากว่ามันมิได้เป็นเพียงบทอ่านในโรงเรียน แต่ยังอยู่ในวัฒนธรรมบันเทิงในรูปแบบดนตรี และละคร ซึ่งเพลงบางส่วนถูกดัดแปลงมาเป็นเพลงสันทนาการที่มีท่อนที่คุ้นหูกันว่า “กามนิตยอดชาย จะไปค้าขายที่โกสัมพี”

หลายคนไม่ทราบว่ากามนิตฯ เป็นวรรณกรรมแปลที่แต่งโดยชาวตะวันตก หากแปลชื่อวรรณกรรมนี้อย่างตรงไปตรงมาจาก Der Pilger Kamanita-Ein Legendenroman จะได้ว่า ‘กามนิต-ผู้แสวงบุณย์-นวนิยายตำนาน’ วรรณกรรมนี้ถูกแต่งขึ้นเมื่อปี 1906 หากพอจะเทียบได้กับห้วงเวลาไทยๆ ก็คือก่อน ร.5 จะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เพียง 1 ปี กามนิตฯ ประพันธ์ขึ้นโดยคาร์ล แกร์เลอรุพ (Karl Gjellerup  1857-1919) นักเขียนโนเบลสาขาวรรณกรรมชาวเดนมาร์ก

บทประพันธ์นี้ก็ได้ผ่านกาลเวลาและข้ามน้ำข้ามทะเลจากยุโรปมาสู่สยามใช้เวลา 24 ปี ถึงจะได้มีการแปลและตีพิมพ์ในเวอร์ชันภาษาไทย นั่นคือในปี 1930 ก่อนปฏิวัติ 1932 ไม่นาน

พุทธสยาม: ยามสมบูรณาญาสิทธิราชย์อัสดง

ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วงการพุทธศาสนาเกิดอะไรขึ้นบ้าง พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (ค.ศ.1902) เกิดขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบคณะสงฆ์ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน หากพอจำกันได้ปีเดียวกันนั้นเกิดจลาจลขึ้นทั่วราชอาณาจักร ที่เรารู้จักกันดีคือ ‘กบฏเงี้ยว’ ในมณฑลพายัพ ‘กบฏผีบุญ’ ในเขตอีสาน และ ‘กบฏแขกเจ็ดหัวเมือง’ แถบหัวเมืองมลายู อนึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความคล้ายกับ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 (ค.ศ.1897) ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างระบบควบคุมการเมืองทางโลก พ.ร.บ.คณะสงฆ์จึงเกิดขึ้นเพื่อควบคุมการเมืองของคณะสงฆ์โดยทำให้พระกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการที่รวมศูนย์นั่นเอง อีกประเด็นที่ซ้อนอยู่คือในคณะสงฆ์ก็มีความขัดแย้งทางการเมืองระดับบนหลังจากเกิดธรรมยุกตินิกายแยกตัวออกมาจากมหานิกาย เพราะฝ่ายแรกเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างเข้มข้น โดยตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชฯ ก็ถูกผูกขาดโดยสายธรรมยุติกนิกาย จนกว่าจะเปลี่ยนมาทางมหานิกายบ้างก็หลังปฏิวัติแล้ว 

แม้ว่ารัฐพยายามจะกุมอำนาจและพยายามสร้างหน่วยการปกครองผ่านพุทธศาสนา ก็ยังพบความเคลื่อนไหวทางศาสนาผ่านคนนอกอำนาจรัฐ เช่น นรินทร์กลึงที่พยายามจะบวชลูกสาวให้เป็นสามเณรี จนถูกสมเด็จพระสังฆราชฯ ห้ามปรามไว้เมื่อปี 1928 หรือการที่พระหนุ่มอย่างเงื่อม อินทปัญโญ (ต่อมาจะเรียกตัวเองว่า ‘พุทธทาส’) จะกลับบ้านไปสร้างสวนโมกข์ที่บ้านเกิดเมื่อช่วงปีใหม่ของปี 1932 ขณะที่ในทางโลกช่วงทศวรรษ 1930 ก็เต็มไปด้วยความปั่นป่วนเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกจาก Great Depression ส่งผลต่อสยามจนนำมาสู่ความไม่พอใจทางการเมืองที่มีเชื้อมูลมาอยู่แล้วตั้งแต่ความพยายามของ ขบถ ร.ศ.130 (ค.ศ.1911) ที่ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกชั่ววูบแต่มาพร้อมกับความรู้และอุดมการณ์ปฏิวัติโดยเฉพาะจากการปฏิวัติซินไฮ่ที่จีน[1] กระทั่งในข้อสอบไล่ของกรมศุลากากรราวปี 1929 ยังมีคำถามเกี่ยวกับทรอตสกี้ ซุนยัดเซน เอช. จี. เวลส์ที่เป็นตัวแทนของการปฏิวัติและพวกสังคมนิยมจนเป็นประเด็นลงในหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม[2] คำสั่งสอนทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธกระแสหลักช่วงดังกล่าว นอกจากจะแห้งแล้งแล้ว ยังไม่สนทนากับอุดมการณ์ทางโลกใหม่ๆ ที่ท้าทายผู้คนในสังคมยุคนั้นเลย

ตะวันตกเขียนตะวันออก: พุทธในฐานะปรัชญาโรแมนติก

กามนิตฯ ดำเนินเรื่องผ่านพุทธศาสนาทั้งในฉากหลังที่เป็นยุคพุทธกาล และแสดงให้เห็นการมุ่งแสวงหา ‘ความจริง’ ประเภทหนึ่ง ในโลกตะวันตกการตั้งคำถามและการแสวงหาคำตอบให้กับชีวิตถือเป็นเรื่องที่นักปรัชญาครุ่นคิดกันอย่างจริงจัง พุทธศาสนาก็ถือเป็นหนึ่งในตัวแบบที่ถูกใช้เป็นตัวบทในการคิดและถกเถียงด้วย อันที่จริงยุโรปทำความรู้จักพุทธศาสนาอย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุคกลางราวศตวรรษที่ 13 มาก่อนแล้ว ผ่านการบันทึกของวิลเฮล์ม ฟอน บูรุค นักบวชคริสต์นิกายฟรานซิสกัน (หากไม่นับการรู้จักผ่านกองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราช) การสร้างชุดความรู้ดังกล่าวมีจุดหมายคือการนำความรู้มาดัดแปลงว่าพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งในนักบุญของคริสตศาสนาเพื่อนำไปโน้มน้าวให้กับกษัตริย์และชาวมองโกลมานับถือ ซึ่งพวกนี้จะเป็นพันธมิตรร่วมรบต่อชาวอาหรับมุสลิมด้วย ความสนใจต่ออินเดียและพุทธศาสนากลับมาอีกครั้งในช่วงศตวรรษที่ 18 หลังจากที่ชาวยุโรปประสบวิกฤตศรัทธาในคริสตศาสนา อาทัว โชเปนเฮาเออร์ (1788-1860) เป็นคนแรกๆ ที่ยกย่องพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาที่เน้นการแสวงหาความจริงมากกว่าศาสนาอื่นๆ เขาเขียนหนังสือที่ส่งอิทธิพลไปยังงานศิลปะแขนงต่างๆ อย่างเช่น ดนตรี กวีนิพนธ์ และวรรณกรรม ช่วงรอยต่อของศตวรรษที่ 19-20 ยังมีการแปลงานเขียนภาษาบาลีและสันสกฤตออกมาเป็นภาษาเยอรมันอีกมาก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อมายังนักเขียนชื่อก้องอย่าง แฮร์มัน เฮสเส โธมัส มันน์ และคาร์ล แกร์เลอรุพ คนหลังนี้เองที่เป็นผู้ประพันธ์กามนิตฯ[3]

พื้นหลังของผู้เขียนสะท้อนผลงานในอนาคตของเขาได้ดี บิดาของเขาเป็นหมอสอนศาสนา และได้เข้าศึกษาเทววิทยาที่กรุงโคเปนเฮเกน อย่างไรก็ตามแกร์เลอรุพมีชีวิตทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับโลกภาษาเยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส ว่ากันว่าเขามีเกอเธ่ ชิลเลอร์ ฮายเนอร์ และอิมมานูเอล คานท์ โชเปนเฮาเออร์ ฟรีดริช นีทเชอ เป็นต้นแบบ[4]

ไม่แน่ใจว่าเหตุใดเขาถึงหันเหมาสู่โลกพุทธศาสนา แต่เขาให้ความสนใจกับปรัชญาอินเดียและพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากงานเขียนและงานแปลของชาวตะวันตกอย่าง อุปนิษัทแห่งพระเวท, เวทานตสูตร, พระวจนะแห่งสมณโคดม, หนังสือรวมคำสอนพุทธศาสนา, ชาดก, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ปูมาสู่งานเขียนสำคัญอย่างกามนิตฯในเวลาต่อมา ความลุ่มหลงในปรัชญาอินเดียของผู้เขียนยังปรากฏในโน้ตตอนท้ายเรื่องว่า “ในอินเดียนั้น เป็นดินแดนที่แม้นกระทั่งขอทานยังคิดและถกเถียงอย่างนักปรัชญา” [5]

กามนิตฯ เวอร์ชันนี้จึงเป็นตัวบทว่าด้วยการแสวงหาความรู้ในพรมแดนที่พวกเขาไม่รู้จัก โดยใช้นิยายที่สร้างขึ้นจากฐานความรู้ที่ชาวตะวันตกเรียนรู้จากภูมิปัญญาตะวันออก

ตัวบทที่ไม่ได้กล่าวถึงพุทธศาสนาในลักษณะพุทธแท้ เท่ากับสายธารปรัชญาอินเดียที่เชื่อมต่อกันและส่งมาถึงพุทธศาสนา ผู้เขียนเองระบุว่าบางส่วนลอกโคว้ทคำแปลจากคัมภีร์อุปนิษัท[6] ตัวบทของกามนิตแบ่งเป็น 45 บท และแบ่งหยาบๆ เป็นภาคพื้นดินกับภาคสวรรค์ เป็นเรื่องราวของคู่รักกามนิต-วาสิฏฐีที่ผูกพันกันข้ามภพข้ามชาติ มีวาสนาต่อกันมาจนมาถึงชาติที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า สมณโคม

เรื่องราวเกิดขึ้นบนแผ่นดินอินเดียในสองเมือง นั่นคืออุชเชนีและโกสัมพี หากวัดจาก google map ทั้งสองเมืองห่างกันราว 720 กิโลเมตร เทียบเท่าได้กับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงราย ในเรื่องกามนิตใช้เวลา 1 เดือนเศษ บริเวณโกสัมพียังเป็นแหล่งที่แม่น้ำยมุนากับคงคามา มหานทีมาบรรจบกัน ดังที่บรรยายไว้ในนิยาย[7] นำมาซึ่งการสวมใส่จินตนาการคงคาสวรรค์เข้าไปในตัวบทอีกด้วย

ตัวบทได้กล่าวถึงบทบาทของคนในประวัติศาสตร์อย่างสมณโคดมและองคุลิมาล และเล่าถึงพวกเขาอย่างเป็นมนุษย์ที่เป็นเลือดเนื้อ กามนิตพบเจอพระพุทธเจ้าในบ้านแห่งหนึ่ง ก็ยังนึกว่าเป็นภิกษุชรารูปหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกฉัพพรรณรังสีที่เกินมนุษย์ใดๆ ส่วนองคุลิมาลก็เป็นตัวละครที่เป็นจอมโจรที่เติบโตมาพร้อมกับความเชื่อในฐานะผู้ศรัทธาในพระแม่กาลี และยึดมั่นในจรรยาบรรณความเป็นโจรของตน ถือความสัตย์อย่างเคร่งครัด เส้นทางของกามนิตนั้น เป็นร่องรอยการเติบใหญ่ของบุรุษเพศชายที่ประสบความสำเร็จในชีวิตตั้งแต่การร่ำเรียนศิลปะวิทยาการ การเรียนรู้ที่จะประกอบอาชีพพ่อค้า การครองเรือน อันนำมาซึ่งความเบื่อหน่ายหลังจากที่เมียทั้งสองของเขาทำให้บ้านร้อนเป็นไฟ  

อันที่จริงก่อนหน้าเขาจะแต่งงาน เขาได้เดินทางจากอุชเชนีไปยังโกสัมพีเพื่อทำการค้าขาย แต่ก็ได้เจอกับเนื้อคู่ข้ามชาติอย่างวาสิฏฐี ทั้งคู่ต่างตกหลุมรักซึ่งกันและกัน แต่ก็ถูกพรากจากกันด้วยจอมโจรองคุลิมาลที่จับกามนิตและกองเกวียนได้ เขาถูกนำไปเรียกค่าไถ่ ส่วนวาสิฏฐีถูกหลอกว่า องคุลิมาลฆ่ากามนิต ทิ้งเสียแล้ว จนถูกบีบให้จำยอมแต่งงานกับสาตาเคียร กามนิตเดินทางกลับมาที่โกสัมพีก็พบว่าวาสิฏฐีแต่งงานกับสาตาเคียรจึงกลับบ้านไป

โครงเรื่องยังวางให้เห็นว่าความเชื่อแบบฮินดูที่ดูลึกล้ำซับซ้อนอาจนำไปสู่ความหลงผิดได้ เช่นการที่องคุลิมาลเชื่อคำสอนของวาชศรพผู้ยึดมั่นคำสอนจากกาลีสูตรโบราณ ที่เชื่อว่าการฆ่าฟันกันนั้นอันที่จริงไม่มีใครเลยที่ถูกฆ่าหรือผู้ฆ่า แล้วก็ยกเอาคำสอนของพระกฤษณะที่มีต่อพระอรชุนให้ออกรบ เมื่อครั้งพระอรชุนลังเลที่จะรบกับญาติของตนในภควทคีตามาเป็นตัวอย่าง หรือการยกตำนานพระพรหมที่นอกจากจะเป็นผู้สร้างโลกแล้ว ยังเป็นผู้ทำลายและกินสรรพสัตว์ โจรทั้งหลายนั้นใช้ชีวิตแบบพรหม เป็นผู้ทำลายและกิน จึงอยู่ในภาวะสูง ส่วนใครที่เชื่อว่าผู้ฆ่าจะต้องตกนรกนั้นถือว่าเป็นผู้เชื่อในลัทธิที่คนอ่อนแอประดิษฐ์ขึ้น[8] ส่วนกามนิตเองแม้จะสละเรือนแต่ก็เต็มไปด้วยอวิชชา การที่เขาพบพระพุทธเจ้าและได้รับฟังคำสอน ก็ไม่ทำให้เขาเข้าถึงธรรม แถมยังไม่นึกว่านั่นคือคนที่เขาอยากพบ สุดท้ายเขาจากไปโดยไม่รู้อรรถและธรรมอะไร แต่เขาก็ได้ไปจุติในสวรรค์สุขาวดีแดนตะวันตก

นิยายฉบับนี้ไม่ได้เล่าเรื่องตามลำดับเวลา แต่มีการย้อนกลับไปมาโดยปากคำของกามนิตบ้าง วาสิฏฐีบ้าง โดยเฉพาะเรื่องราวของกามนิตที่เป็นผู้พูด ขณะที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฟัง กามนิตพร่ำบ่นอยู่เสมอว่า มีความต้องการจะเจอพระพุทธเจ้า ‘ตัวเป็นๆ’ เพื่อหวังจะกราบไหว้และได้รับพรจนกระทั่งถึงฆาต เขายังไม่รู้ตัวว่าเขาได้ใช้เวลาคืนหนึ่งแล้วกับองค์ศาสดา ในทางกลับกันกามนิตเป็นผู้ฟังเรื่องเล่าของวาสิฏฐี ผู้ได้พบพานมหาบุรุษที่เขาไม่คิดว่าไม่เคยพบ วาสิฏฐีใกล้ชิดจนกระทั่งได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณี เธอถึงกับได้รับโอวาทสั่งสอนเป็นการส่วนตัวว่า “ที่ใดมีความรัก ที่นั้นมีความทุกข์” [9] นอกจากนั้นตัวละครทางประวัติศาสตร์อย่างองคุลิมาลก็เป็นตัวเชื่อมร้อยคนทั้งสองเข้าด้วยกันในทั้งสองสถานะ นั่นคือองคุลิมาลที่เป็นโจร กับองคุลิมาลผู้เป็นพระภิกษุในสำนักพุทธศาสนา อันเป็นตัวแทนถึงคนร้ายนอกศาสนาก็สามารถกลับตัวกลับใจมาเป็นสาวกของพระพุทธองค์ได้

เราไม่อาจทราบได้ว่า ผู้แปลภาษาไทยต้องการแปลกามนิตฯ เพื่อสื่อให้เห็นถึงประเด็นกลับตัวกลับใจของผู้คนผู้หลงผิดยุคปลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องทางการเมือง และความเปลี่ยนแปลงและควันปืนปฏิวัติในจีนกับโซเวียต

กามนิตฯ สู่ ภาษาไทย อย่ารบเลยอรชุน: อลังการงานแปลของขุนน้ำขุนนางท้ายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป แปลตัวบทจากภาษาอังกฤษมาเป็นไทย[10] จนกลายเป็นบทประพันธ์ที่สละสลวยราวกับต้นฉบับโบราณ เดิมนั้นกามนิต ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงนิตยสารไทยเขษม ตั้งแต่ปี 1930-1931 อันเป็นโค้งสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนที่จะไปข้างหน้าเราอาจจะต้องเข้าใจภูมิหลังของผู้แปลเสียก่อน

เสฐียรโกเศศ เป็นนามปากกาของ พระยาอนุมานราชธน (ยง) บรรดาศักดิ์ของเขาบ่งบอกความสำคัญในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้เป็นอย่างดี เขามีความรู้ภาษาอังกฤษอันยอดเยี่ยมทั้งจากการศึกษาและประสบการณ์การทำงานในโรงแรมและกรมศุลากากร ไต่เต้าจากขุนจนได้บรรดาศักดิ์พระยาในปี 2467 ขณะที่อายุเพียง 36 ปี[11]

ขณะที่นาคะประทีป เป็นนามปากกาของ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ประวัติของเขาน่าสนใจมากคือเขาเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และเข้าเรียนโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนมหาดไทยในพระบรมมหาราชวัง และย้ายไปเรียนโรงเรียนมัธยมสวนกุหลาบ และสอบไล่ได้ประโยคมัธยมบริบูรณ์ถือว่าเป็นรุ่นแรก แต่หลังจากนั้นก็ได้บวชถึง 15 ปี ณ วัดเทพศิรินทราวาส ระหว่างนั้นก็สามารถสอบได้เปรียญ 7 ประโยค ช่วงบวชได้เรียนภาษาสันสกฤตด้วยตัวเอง ก่อนจะสึกออกมาเมื่อปี 1918 [12] ในช่วงสั้นๆ ได้ทำงานโรงพิมพ์ก่อนจะไปเป็นอนุศาสนาจารย์ประจำกรมตำรา กระทรวงกลาโหม เมื่อปี 1919 ด้วยความสามารถ ทำให้เขาถูกโอนไปทำงานกระทรวงศึกษาธิการในปี 1922 ในตำแหน่งผู้ช่วยแผนกอภิธานสยามในกรมตำรา ปีต่อมาได้รับโปรดเกล้าให้ตามเสด็จไปมฤคทายวัน เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานแปล มัทนพาธา ของรัชกาลที่ 6 เมื่อหมดหน้าที่ตามเสด็จก็กลับมาทำงานกรมตำราเช่นเดิม ในปี 1926 ได้ย้ายไปอยู่กับกรมราชเลขาธิการในตำแหน่งปลัดกรมพระอาลักษณ์ ทำหน้าที่ร่างประกาศพระบรมราชโองการและงานในหนังสือภาษาไทย สันสกฤต เทวนาครี สิงหล รวมไปถึงตั้งชื่อและถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องศัพท์ต่างๆ จนกระทั่งปี 1928 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระสารประเสริฐ

คนระดับพระและพระยา ที่นับว่าเป็นข้าราชการทั้งสูงเป็นส่วนผสมของการแปลอังกฤษเป็นไทย และการขัดเกลาสำนวนไทยให้สละสลวย กามนิตในเวอร์ชันนี้จึงว่าด้วยการประพันธ์ทางโวหารไม่ใช่แนวคิด หรือการเสาะแสวงหาอะไรเมื่อเทียบกับกลิ่นอายของฉบับตะวันตก แต่ถือเอากามนิตเป็นการย้อนกลับไปนำคุณค่าแบบเดิมมารับใช้ยุคสมัยที่กระแสการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงสังคมกำลังไหลเชี่ยวกราก ดังเห็นได้ว่า เมื่อแรกเริ่มแปล ผู้แปลใช้วลีที่ว่า “บัดนี้ พบพระสูตรใหม่อีกเรื่องหนึ่ง” ที่พวกเขาถือว่าเป็นพระสูตรในมหายานที่มักกล่าวถึง “พระพุทธเจ้าแปลกๆ” ดังเรื่อง ไคเภ็ก, ไซอิ๋ว  กระทั่ง ลังกาวตารสูตร[13]

ยังมีคำกล่าวว่าในช่วงก่อนปฏิวัตินั้น ปัญญาชนรู้สึกว่าไม่มีหนังสือสมัยใหม่สอนพุทธศาสนาให้แก่คนรุ่นใหม่ รัชกาลที่ 7 โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาจัดประกวดหนังสือพุทธศาสนาสอนเด็กขึ้น[14] แต่ดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่ใช่เพียงขาดแคลนหนังสือเกี่ยวกับพุทธ แต่พุทธศาสนาแบบเดิมทั้งในคำสอน วิธีการสอน รวมไปถึงระบบการปกครองสงฆ์นั้น ถูกตั้งคำถามกับความไม่เมกเซนส์เมื่อยุคสมัยกำลังเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อเป็นงานแปล ภาษาอังกฤษที่ไม่ได้มีสำเนียงที่ระบุชนชั้นทางสังคมมากนัก กลับปรากฏในฉบับภาษาไทยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า เทพเจ้าอินเดีย ตัวละครในวรรณะกษัตริย์ที่ถูกเอ่ยถึง ไม่ว่าจะเป็นพระศิวะ พระแม่กาลี พระพรหม พระกฤษณะ พระอรชุน

ที่น่าสนใจก็คือผู้แปลยกตัวบทบาทส่วนจากวรรณกรรมแปลเข้ามาเช่น โคว้ท พระนลคำหลวง[15]  อันเป็นโศลกภาษาสันสกฤตมาแต่เดิม ต่อมาโมเนียร์ วิลเลียมส์ได้แปลมาเป็นภาษาอังกฤษ มาถึงสยามก็เพราะรัชกาลที่ 6 แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษมาอีกทอด และพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1914[16] ผลงานนี้ก็ถือว่าสะท้อนให้เห็นถึงความโหยหาตะวันออกผ่านงานแปลของตะวันตกในยุคนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการหันไปสู่อินเดียอีกครั้งของชนชั้นนำสยาม แต่เป็นอินเดียในแว่นของชาวตะวันตก ในเชิงการเมืองเราอาจเห็นได้จากการตั้งชื่อบ้านนามเมืองที่คล้ายคลึงกับอินเดีย เช่น สุราษฎร์ธานีที่มาจากเมืองสุรัต และอาจรวมไปถึงมณฑลมหาราษฎร์ (ที่แยกมาจากมณฑลพายัพ) ที่มาจากรัฐมหาราษฎระ

ในทางกลับกันเนื้อหาบางส่วน ผู้แปลเลือกที่จะแปลอย่างกระชับมากกว่าจะทำให้ตัวบทมีสำนวนสละสลวย เช่นในบท ‘รหัสยลัทธิ’ (Esoteric Doctrine) อันว่าด้วยส่วนหนึ่งของภควัทคีตาและพระพรหม[17] อาจเป็นเพราะเป็นส่วนที่สร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าและประหัตประหาร หรือความรุนแรงอื่นซึ่งในยามที่นิยายนี้แปลขึ้น ความไม่พอใจของผู้คนในสังคมสยามนั้นทวีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฝีมือการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และความชอบธรรมของระบอบที่น้อยลงทุกที เมื่อพวกเขาว่าการปฏิวัติมีความเป็นไปได้จากกรณีประเทศอื่นๆ ดังโคว้ทในหน้าหนังสือพิมพ์ ไทยหนุ่ม ฉบับวันที่ 1 เมษายน 1929 ดังนี้

“เมื่อเร็วๆ นี้เราได้เห็นข้อสอบไล่ของกรมศุลกากร มีคำถามว่า ตรอตสกี, ซุนยัดเซน และ เอช. ยี เวลล์ซ คือใคร?… ควรจักเปนที่เข้าใจว่าประวัติของตรอตสกีย่อมเปนอยู่กับประวัติแห่งการบอลเชวิก และประวัติแห่งท่านหมอซุนผู้บันลือนามก็เปนอยู่กับการโค่นราชบัลลังก์ ประวัติแห่ง เอช. ยี. เวลล์ซ ย่อมเปนอยู่กับลัทธิโซเชียลิสต์…ถ้าหมั่นตั้งข้องสอบกันดังนี้ ผู้ที่สนใจใครทำงานรัฐบาลก็จะพากันหาหนังสือเกี่ยวกับท่านเหล่านี้เข้ามาอ่าน…ถ้าเจ้าน่าที่ทุกๆ กระทรวงตั้งข้อสอบดังนี้ อาจเป็นเหตุหนุนข้ารัฐการรุ่นใหม่เป็นคนหัวสมัยใหม่ กล่าวคือ มีนิสสัยเอนไปทางริปับลิกัน, แรดิกัลป์, ลิเบอรัล, เดโมแครต ฯลฯ ไปก็ได้” [18]

กามนิต-วาสิฏฐี ในป็อปคัลเจอร์

คำว่า “รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม” [19] น่าจะเป็นวลีที่รู้จักกันดีที่สุดจากนิยายเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกามนิต ถูกบรรจุให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในวิชาภาษาไทย และอีกส่วนหนึ่ง กามนิตถูกผลิตซ้ำอยู่ในตลาดความบันเทิงไทยอยู่ในหลายช่องทาง ด้วยเนื้อหาที่มีใจกลางอยู่ที่คู่รักและความรักอันสูงส่ง ทำให้มีเสน่ห์มากพอที่จะเป็นพล็อตที่ขายได้ ดังเห็นได้จากเพลง กามนิต วาสิฏฐี แต่งและร้องโดย พยงค์ มุกดา เพลง กามนิต ร้องโดย มีศักดิ์ นาครัตน์ (แต่งโดย  พยงค์ มุกดา) ต่อมา เพลิน พรหมแดน นำมาขับร้องอีกครั้ง เพลงหลังนี่เองที่ถูกนำมาใช้เพลงสันทนาการและในกิจกรรมรับน้อง “กามนิตยอดชาย จะไปค้าขายที่โกสัมพี” ยังมีเพลง วาสิฏฐีจำแลง ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง คำร้อง ไพบูลย์ บุตรขัน ส่วนเพลง วาสิฏฐี (1995) ในอัลบั้ม ในทรรศนะของข้าพเจ้า โดยมาโนช พุฒตาล ก็เป็นการเล่าเรื่องพระเจ้า สวรรค์ ในมุมมองของวาสิฏฐี

ความน่าตื่นใจของวัฒนธรรมแต่งกายแบบอินเดียยังปรากฏออกมาในรูปแบบนิยายภาพโดยเหม เวชกร ไม่เพียงเท่านั้นยังมีภาพยนตร์ กามนิต วาสิฏฐี (1981) ที่นำแสดงโดยสรพงษ์ ชาตรี และเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เช่นเดียวกับละครโทรทัศน์ช่อง 3  (1986) ที่นำแสดงโดยศรัณยู วงศ์กระจ่าง และจริยา สรณะคม

ขณะที่นิยาย เราลิขิต (1947) บนหลุมศพวาสิฏฐี (1951) ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องกามนิตโดยตรง แต่เป็นชื่อที่พ้องกับตัวละครอย่างวาสิฏฐี เป็นการนำชื่อมาสะท้อนให้เห็นอุปลักษณ์ของความเป็นหญิงและความรัก ดังที่ ร.จันทรพิมพะระบุไว้ในคำนำว่า “ถึงกระนั้น หญิงก็ยังยึดถือ ‘ความรัก’ เป็นสิ่งบังคับบัญชา ชีวิตผู้ใหญ่ยิ่งอยู่เสมอ หญิงจึงมักจะเขียนโชคชะตาตัวเองบนหลุมศพอันมืดมัวเหมือนเก่า” [20]

แม้แต่งานวิจัยที่รู้จักกันในนาม ‘หนังสือดีร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน’ ช่วงปี 1998 ก็ยังยกย่องว่ากามนิตเป็นหนึ่งในร้อยหนังสือดีในรอบร้อยปีนั้น[21] ขณะที่ ส.ศิวรักษ์เห็นว่า เป็นความบกพร่องของกรรมการที่ไม่รู้ว่ากามนิตเป็นหนังสือแปล[22]

กามนิตจึงเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ที่ไม่เพียงจะเลื่อนไหลจากยุคสมัยของผู้แต่ง และผู้แปลในเวลานับร้อยปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้ให้ความหมายและถูกผลิตซ้ำสร้างความหมายใหม่ๆ มาเสมอ น่าสนใจว่าในยุคที่วัฒนธรรมอินเดียกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง กามนิตจะมีตำแหน่งแห่งที่หรือจะถูกนำกลับมาสร้างสรรค์ในฐานะของอะไรได้บ้าง?


[1]ดูใน เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ.130, ณัฐพล ใจจริง, บรรณาธิการ (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2564)

[2] สายชล สัตยานุรักษ์, 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 2 ปัญญาชนหลังการปฏิวัติ 2475 (กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊คส์, 2557), หน้า 76

[3]พรสรรค์ วัฒนางกูร, “ตะวันออกในตะวันตก – การรับพุทธศาสนาในวรรณกรรมและดนตรีเยอรมันช่วงต้นยุคสมัยใหม่”, วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 6 :1 (มกราคม – มิถุนายน 2557) : 149-174

[4] พรสวรรค์ วัฒนางกูร, “การรับแนวคิดพุทธศาสนาในงานประพันธ์ของคาร์ล แกร์เลอรุพ โธมัส มันน์และแฮร์มัน เฮสเซอ”, วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย, 31 : 1 (2554)

[5] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป, กามนิต, เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป (นามแฝง), แปล, (พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป), หน้า 406

[6] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า 406

[7] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า 19

[8] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า 83-84

[9] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า 356

[10] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า (12)

[11] สำนักพิมพ์ประพันธสาส์น. “พระยาอนุมานราชธน”. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จากhttps://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/166 และ สายชล สัตยานุรักษ์, 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 2 ปัญญาชนหลังการปฏิวัติ 2475 (กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊คส์, 2557), หน้า 76-77

[12]“แนะนำครูภาษาไทย พระสารประเสริฐ”, วารสารและวรรณคดีไทย, 1 : 3 (ธันวาคม 2527)

[13] “กามนิต”, ไทยเขษม, 7 : 5 (กันยายน 2473) : 741

[14] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า (14)

[15] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า 50 เทียบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ หน้า 44

[16] มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. “พระนลคำหลวง”. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://vajirayana.org/พระนลคำหลวง/คำนำ

[17] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า 77-84

[18] สายชล สัตยานุรักษ์, 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 2 ปัญญาชนหลังการปฏิวัติ 2475 (กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊คส์, 2557), หน้า 76

[19] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า 111

[20] ร.จันทพิมพะ (นามแฝง). “เราลิขิต-บนหลุมศพวาสิฏฐี”. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://vajirayana.org/เราลิขิต-บนหลุมศพวาสิฏฐี/จากสยามสมัย-พศ-๒๔๙๔

[21] มหาวิทยาลัยรังสิต. “หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน”. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://www.rsu.ac.th/soc/corner1.html

[22] คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป,เรื่องเดียวกัน, หน้า (6)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save