fbpx
โรคซึมเศร้า รายได้ และความเหลื่อมล้ำ: ใครว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคคนรวย

โรคซึมเศร้า รายได้ และความเหลื่อมล้ำ: ใครว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคคนรวย

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้า (depression) กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมโลกมากที่สุดประเด็นหนึ่ง เช่นเดียวกับในสังคมไทย คนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มพบว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นเรื่องใกล้ตัว ทั้งผู้ที่พบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า มีคนรู้จักเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีคนรู้จักที่รู้จักคนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก หากพิจารณาจากจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลการประเมินขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่า ในปี 2015 มีผู้ที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าจำนวนมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 4 ของประชากรโลกทั้งหมด นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 18.4 ภายในระยะเวลาสิบปี

เหตุผลที่ทำให้โรคซึมเศร้าเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจนั้น ไม่ใช่เพราะจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความเข้าใจผิดและ ‘ตราบาป’ (stigma) เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและผู้ป่วยที่มีอยู่ไม่น้อยด้วย หนึ่งในมายาคติที่เห็นได้บ่อยครั้งคือ “โรคซึมเศร้าเป็นโรคของคนรวย” หรือ “คนรวยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนจน” ด้วยความเชื่อที่ว่า เงินจำนวนมากไม่ได้นำไปสู่ความสุขเสมอไป หรือคนฐานะดีไม่ต้องทำงานหนัก มีเวลาอยู่กับความทุกข์และจุดด้อยของตัวเองมากกว่า ในขณะที่คนฐานะไม่ดีต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาใส่ใจกับความเศร้าโศกมากนัก จึงเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่า

บทความนี้จะพาไปสำรวจข้อมูลและงานวิจัยจำนวนหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ‘ความรวย’ หรือฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับโรคซึมเศร้าอย่างตรงไปตรงมา ดังเช่นที่หลายคนเข้าใจ

 

ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไม่สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า

 

ในเบื้องต้น เมื่อพิจารณารายงานการประเมินเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่นๆ ขององค์การอนามัยโลก ควบคู่ไปกับรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) แล้ว ไม่พบความสัมพันธ์เชิงบวกที่ชัดเจนระหว่างฐานะทางการเงินระหว่างประเทศกับโรคซึมเศร้าแต่อย่างใด

กลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนประชากรเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุดสิบประเทศแรก (top-10) นั้นส่วนใหญ่เป็นประเทศรายได้สูง แต่ไม่ใช่ทุกประเทศ เพราะมีประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ และรายได้ปานกลางระดับสูงรวมอยู่ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ยูเครน ซึ่งมีสัดส่วนของประชากรเป็นโรคซึมเศร้าสูงที่สุดในโลก ยูเครนมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 2,310 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับต่ำเท่านั้น

 

 

ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนประชากรเป็นโรคซึมเศร้าน้อยที่สุดสิบประเทศ (bottom-10) มีประเทศรายได้ต่ำเพียงประเทศเดียว คือ เนปาล ส่วนประเทศที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยแบ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ 7 ประเทศ และรายได้ปานกลางระดับสูง 2 ประเทศ

 

 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศในกลุ่มรายได้สูงพบว่า ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีการแพร่หลายของโรคซึมเศร้ามาก ตัวอย่างเช่น ไอซ์แลนด์ และบรูไน ที่มีสัดส่วนของประชากรเป็นโรคซึมเศร้าคิดเป็นร้อยละ 4.1 และ 4.0 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 4.4

ในทำนองเดียวกัน ประเทศรายได้ต่ำจำนวนไม่น้อย ก็มีสัดส่วนของประชากรเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เช่น เอธิโอเปีย (ร้อยละ 4.7) ยูกานดา (ร้อยละ 4.6) และเซียร์ราลีโอน (ร้อยละ 4.6) หรือในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางเอง ก็มีทั้งประเทศที่มีสัดส่วนประชากรเป็นโรคซึมเศร้ามาก และที่มีสัดส่วนประชากรเป็นโรคซึมเศร้าน้อย ตัวอย่างเช่น ปารากวัยและซามัว ซึ่งมีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน ที่ 4,070 และ 4,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ แต่ปารากวัยกลับมีสัดส่วนประชากรเป็นโรคซึมเศร้าที่ร้อยละ 5.2 ขณะที่สัดส่วนผู้เป็นโรคซึมเศร้าของซามัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ว่าในภาพรวม สัดส่วนของประชากรที่เป็นโรคซึมเศร้าของประเทศที่มีรายได้สูง จะมากกว่าสัดส่วนของประชากรที่เป็นโรคซึมเศร้าของประเทศที่มีรายได้ต่ำ แต่การเปรียบเทียบในลักษณะข้างต้นไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า ฐานะทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับโรคซึมเศร้า เพราะสัดส่วนของผู้เป็นโรคซึมเศร้าที่ต่างกันในแต่ละประเทศ ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยด้านรายได้เพียงปัจจัยเดียว

ตัวอย่างเช่น การที่คนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น ทำให้สัดส่วนของผู้เป็นโรคซึมเศร้าของประเทศในแอฟริกา ซึ่งส่วนมากมีฐานะยากจน และมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเด็กและหนุ่มสาว ต่ำกว่าสัดส่วนของผู้เป็นโรคซึมเศร้าของประเทศในยุโรป หรือในกรณีของประเทศในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งมีวัฒนธรรมมองผู้ป่วยทางจิตเวชในแง่ลบ ผู้เป็นโรคซึมเศร้าจึงมีแนวโน้มจะปิดบังภาวะซึมเศร้าของตนเอง และทำให้สัดส่วนของผู้เป็นโรคซึมเศร้าในประเทศเหล่านั้นต่ำกว่าความเป็นจริง ในแง่นี้ สัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นด้วยเช่นกัน การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศกับโรคซึมเศร้า จึงต้องอาศัยการศึกษาเชิงลึกร่วมด้วย

 

รายได้และระดับการพัฒนาประเทศที่สูงขึ้นไม่ได้ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น

 

ผลจากงานวิจัยทั้งในระดับบุคคลและในระดับประเทศไม่พบว่า รายได้และโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก ดังเช่นที่หลายคนเข้าใจ โดยในระดับบุคคลนั้น งานวิจัยจำนวนมากเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า บุคคลจะมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าลดลง เมื่อรายได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ในระดับประเทศนั้น งานศึกษาโรคซึมเศร้าที่ครอบคลุมทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา มีจำนวนไม่มากนัก เพราะความจำกัดของข้อมูล หนึ่งในงานที่น่าสนใจคืองานของ Manuel Cifuentes และคณะ (2008) ที่ศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า (major depressive episode: MDE) ใน 65 ประเทศทั่วโลก

งานวิจัยดังกล่าวไม่พบความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงอย่างมีนัยยะสำคัญ ระหว่างระดับการพัฒนาประเทศกับภาวะซึมเศร้า พูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง ไม่ได้มีสัดส่วนผู้อยู่ในภาวะซึมเศร้ามากกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำ แต่กลับพบว่ากลุ่มประเทศที่มีการแพร่หลายของภาวะซึมเศร้ามากที่สุด คือกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำ ตามมาด้วยกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง ส่วนประเทศที่มีระดับการพัฒนาปานกลาง เป็นกลุ่มที่มีการแพร่หลายของภาวะซึมเศร้าน้อยที่สุด

คณะผู้วิจัยเสนอว่า รูปแบบการแพร่หลายของโรคซึมเศร้าในลักษณะดังกล่าว เป็นเพราะประเทศยากจนต้องเผชิญกับความขาดแคลนสัมบูรณ์ (absolute deprivation) ประชากรในประเทศจึงประสบปัญหาด้านความกินดีอยู่ดี (well-being) และมีมาตรฐานในการดำรงชีวิตต่ำ ส่วนประเทศร่ำรวยนั้น ในระหว่างที่พัฒนาไปสู่สังคมแห่งผลิตภาพ (productive society) ก็ต้องเผชิญกับการให้คุณค่าทางสังคม จังหวะการดำเนินชีวิต ประเพณี และเครือข่ายทางสังคม ที่เปลี่ยนไปในทิศทางอันจะทำให้สังคมได้รับผลประโยชน์จากความมั่งคั่งได้มากขึ้น ผลก็คือการบูรณาการทางสังคม (social integration) อ่อนแอลง และนำไปสู่สุขภาพจิตของประชาชนที่แย่ลงในที่สุด

เมื่อฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงกับโรคซึมเศร้าอย่างมีนัยยะสำคัญ งานวิจัยจำนวนหนึ่งจึงหันไปศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความเหลื่อมล้ำทางรายได้’ (income inequality) ในฐานะปัจจัยเอื้อของโรคซึมเศร้า

 

‘ความเหลื่อมล้ำทางรายได้’ มีแนวโน้มให้เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้นในกลุ่มคนที่อยู่บนสุดของสังคมร่ำรวย

 

Erick Messias, William Eaton และ Amy Grooms (2011) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับการแพร่หลายของโรคซึมเศร้าในรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ข้อมูลช่วงปี 2006-2008 พบว่า โรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเมื่อสมมติให้รัฐต่างๆ มีรายได้ต่อหัว สัดส่วนของผู้จบปริญญาตรี และสัดส่วนของผู้สูงอายุเท่ากันแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่กว้างขึ้น จะสัมพันธ์กับสัดส่วนผู้เป็นโรคซึมเศร้าที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม งานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้ระบุว่า คนกลุ่มใดมีความเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ถ่างกว้างขึ้น

งานศึกษาระดับภายในประเทศอีกชิ้น คืองานของ Scott Weich, Glyn Lewis และ Stephen Jenkins (2001) ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับโรคทางจิตเวชในบริเตน และพบว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับระดับของรายได้ กล่าวคือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่กว้างขึ้น จะเชื่อมโยงกับโอกาสเป็นโรคทางจิตเวชที่มากขึ้น เฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดเท่านั้น

ผลจากงานศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับงานศึกษาในระดับระหว่างประเทศ ของ Cifuentes และคณะ (2008) และงานของ Kate Pickett และ Richard Wilkinson (2010) โดย Cifuentes และคณะ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับโรคซึมเศร้า ในประเทศที่มีระดับการพัฒนาแตกต่างกัน และพบว่า ในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง ความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นจะส่งผลให้สัดส่วนผู้เป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวกลับไม่ชัดเจนในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่า ส่วนงานของ Pickett และ Wilkinson ซึ่งศึกษาเฉพาะประเทศร่ำรวย พบว่า ประเทศที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากกว่า จะมีสัดส่วนของผู้เป็นโรคทางจิตเวชสูงกว่าประเทศที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อยกว่า

คำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับผลดังกล่าวก็คือ คนที่อยู่ด้านบนสุดของฐานรายได้ในสังคมร่ำรวยนั้น มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และสถานะทางสังคม มากกว่าคนกลุ่มอื่นและคนในสังคมอื่น ดังนั้น เมื่อความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้นและการแข่งขันเพื่อสถานะทางสังคมเข้มข้นขึ้น คนเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับความไม่มั่นคง ความกังวล และความเครียด เนื่องจากความพยายามที่จะรักษาสถานะทางสังคมให้อยู่ในระดับบนเสมอ ในทางตรงกันข้าม ความเหลื่อมล้ำทางรายได้กลับไม่มีผลต่อคนกลุ่มอื่นหรือคนในสังคมประเภทอื่น เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการเป็นโรคซึมเศร้าของคนกลุ่มหลังมากกว่า คือความขาดแคลนสัมบูรณ์นั่นเอง

 

ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเอื้ออันหลากหลายกับโรคซึมเศร้า เป็นไปอย่างซับซ้อนและไม่มีรูปแบบตายตัว

 

ผลจากงานศึกษาที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่า ความเข้าใจว่า “โรคซึมเศร้าเป็นโรคของคนรวย” นั้นไม่ถูกต้องนัก เพราะในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่างฐานะทางการเงินและโรคซึมเศร้าซับซ้อนกว่านั้น

ภาพคร่าวๆ ที่เราพอจะบอกได้จากงานศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ กลุ่มคนทุกระดับอาจเผชิญกับโรคซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น แต่ด้วยปัจจัยเอื้อที่แตกต่างกัน โดยความขาดแคลนสัมบูรณ์มีส่วนทำให้ผู้มีฐานะยากจน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ในขณะเดียวกัน ความขาดแคลนโดยเปรียบเทียบ (relative deprivation) ก็ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ด้านบนสุดของสังคมร่ำรวย มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น เมื่อความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น

ความหลากหลายของปัจจัยที่เอื้อให้เกิดโรคซึมเศร้า ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม ชีวภาพ และจิตใจ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เหตุ’ กับโรคซึมเศร้า เป็นไปอย่างซับซ้อนและไม่มีรูปแบบตายตัว ในทางหนึ่ง ความซับซ้อนนี้ชี้ให้เห็นถึงพื้นที่สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ในอีกทางหนึ่ง ความซับซ้อนก็เตือนให้เราระมัดระวังการแสดงความคิดเห็น และการสร้างข้อโต้แย้งที่ตื้นเขินจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่สื่อสารออกไป อาจทำให้ความเข้าใจผิดและตราบาปเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่มีอยู่แล้ว ติดแน่นในสังคมไทยมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

อ้างอิง

  • Cifuentes, Manuel et al. 2008. “The association of major depressive episodes with income inequality and the human development index”. Social Science & Medicine, 67, pp. 529-539.
  • Hong, Jihyung., Knapp, Martin and McGuire, Alistair. 2011. “Income-related inequalities in the prevalence of depression and suicidal behaviour: a 10-year trend following economic crisis”. World Psychiatry, 10, pp. 40-44.
  • Messias, Eric., Eaton, William and Grooms, Amy. 2011. “Income Inequality and Depression Prevalence Across the United States: An Ecological Study”. Psychiatric Services, 62 (7), pp. 710-712.
  • Pickett, Kate and Wilkinson, Richard. 2010. “Inequality: an underacknowledged source of mental illness and distress”. The British Journal of Psychiatry, 197, pp. 426-428.
  • Weich, Scott., Lewis, Glyn and Jenkins, Stephen. 2001. “Income inequality and the prevalence of common mental disorders in Britain”. British Journal of Psychiatry, 178, pp. 222-227.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save