fbpx
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพ

 

ขณะที่ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งผ่านมาเดือนกว่าแล้วก็ยังไม่รู้ผลการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งจัดทีหลังกลับทราบผลกันไปแล้ว ท่ามกลางความรู้สึกของหลายคนว่า การเมืองแบบไทยๆ จะอะไรกันนักกันหนา ผมก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึก ‘อบอ้าว’ กับการเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ ในคราวที่แล้วผมจึงได้นำเสนอเรื่องประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา เพื่อหวังจะดึงสติตัวเองว่าอย่าได้หมดหวังกับระบอบประชาธิปไตย

ในคราวนี้ ผมจะนำเสนอการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา รวมถึงปัจจัยทั้งหลายที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

 

แนวคิดเรื่องคลื่นลูกที่สามของการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นความพยายามที่จะอธิบายการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปแบบเผด็จการทหารไปสู่ระบอบการเมืองที่มีการแข่งขันอย่างเสรี ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดระบอบอำนาจนิยมถึงล่มสลาย การพัฒนาประชาธิปไตยเกิดขึ้นในลักษณะใด อะไรเป็นปัจจัยของความสำเร็จในการก่อเกิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตย

การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา ได้รับความสนใจจากนักวิชาการเป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาองค์ความรู้ในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด[1] อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นที่สนใจคือเรื่องจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และผลลัพธ์ของการที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง

การวิเคราะห์ในประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ได้รับอิทธิพลจากงานศึกษาระบอบการเมืองการปกครองเปรียบเทียบของ Dankwart A. Rustow ที่ปฏิเสธความเชื่อเดิมที่ว่า การที่ประชาธิปไตยจะเฟื่องฟูได้นั้น ประชาชนจะต้องมีความอยู่ดีมีสุขและยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยมเสียก่อน แต่ Rustow กลับเห็นว่าพลวัตทางสังคมโดยเฉพาะการต่อรองทางอำนาจ เป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาประชาธิปไตย[2]

แนวคิดของเขาได้รับการยอมรับเป็นอย่างยิ่งในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ในหมู่นักวิชาการที่ศึกษาในประเด็นดังกล่าว มีการศึกษาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มหัวรุนแรง กับกลุ่มที่เป็นกลางทางเมืองในระบอบอำนาจนิยม เปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มในระบอบประชาธิปไตย เพื่อดูขั้นตอนของการล่มสลาย การเปลี่ยนผ่าน และการลงหลักปักฐานของระบอบการเมืองนั้นๆ

ODonnell, Schmitter และ Whitehead ได้รวบรวมงานวิจัยที่ศึกษาการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยตามแนวทางของ Rustow และชี้ให้เห็นถึงความเป็นพลวัตของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีงานของนักวิชาการอื่นๆ ที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันในบริบทของภูมิภาคต่างๆ นอกเหนือไปจากลาตินอเมริกา[3]

การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นกระบวนการที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับการแข่งขันและการต่อรองทางการเมือง ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะแปรผันตามโดยไม่มีรูปแบบที่ตายตัว อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอาจจำแนกเป็นสองลักษณะกว้างๆ ลักษณะแรกเกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของระบอบเผด็จการ เช่น ที่นิคารากัวในปี ค.ศ. 1979 และอาร์เจนตินาในปี ค.ศ. 1982 ลักษณะที่สองเกิดขึ้นหลังจากที่ทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้ามาเจรจากันจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดังเช่นในกรณีของบราซิล เปรู และชิลี

ในกรณีของอาร์เจนตินานั้น ระบอบเผด็จการทหารล่มสลายโดยเฉพาะหลังจากที่กองทัพพ่ายแพ้ในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ต่ออังกฤษ ส่งผลให้กองทัพต้องถอยออกไปจากการเมือง การปฏิวัติโดยเนื้อหานั้นเป็นการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม

การปฏิวัตินิคารากัวในปี ค.ศ. 1979 ไม่ได้ก่อให้เกิดประชาธิปไตยที่มีการแข่งขันเพราะรัฐบาลที่ขึ้นมาใหม่ คือ Sandinista มีลักษณะเป็นสังคมนิยม ต่อมาเมื่อรัฐบาล Sandinista พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1990 การแข่งขันทางการเมืองจึงเกิดขึ้นในนิคารากัว แม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม

Levitsky และ Way[4] เสนอว่าระบอบเผด็จการที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติ มักจะอยู่ในอำนาจได้เป็นเวลานานกว่าระบอบเผด็จการประเภทอื่นๆ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เกิดจากการล่มสลายของระบอบเผด็จการนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝ่ายอำนาจเก่าไม่สามารถที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงนั้น ดังนั้นรัฐบาลประชาธิปไตยที่ก่อร่างขึ้นมาใหม่ จึงค่อนข้างมีอิสระทางอำนาจในการกำหนดนโยบาย ปลอดจากการแทรกแซงของขั้วอำนาจเดิม

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในบางประเทศ เกิดขึ้นเพราะกองทัพได้ผ่อนปรนให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ส่วนใหญ่มักเกิดขี้นเพราะกองทัพมีความมั่นใจว่าจะสามารถบริหารเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นในกรณีของบราซิลในปี ค.ศ. 1985 และชิลีในปี ค.ศ. 1989 อันเกิดจากการเจรจากันระหว่างชนชั้นนำ กองทัพ และฝ่ายเสรีนิยม ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะสำเร็จ โดยกองทัพจะคอยดูแลและสอดส่องกระบวนการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงเป็นผู้ที่กำหนดกติกาและผู้เล่นว่าใครจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนั้น

ระบบการเลือกตั้งแบบพหุพรรคนอกจากถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่งของจุดเริ่มต้นของการเป็นประชาธิปไตย ยังถือเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย[5] การเปลี่ยนผ่านในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป จะมีความมั่นคงกว่าการเปลี่ยนผ่านที่เกิดจากการล่มสลายอย่างเฉียบพลันของระบอบเดิม เพราะกลุ่มผู้ครองอำนาจเดิมเช่นกองทัพยังคงสามารถที่จะรักษาบทบาทของตนไว้ได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่กองทัพจะเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้งได้ อาทิ ในปี ค.ศ. 2009 กองทัพในฮอนดูรัสได้เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดี Manuel Zelaya (ค.ศ. 2005-2009) หลังจากรัฐสภาและศาลสูงสุดคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำเสนอโดยประธานาธิบดี กองทัพกล่าวหาว่าประธานาธิบดี Zelaya กระทำผิดกฎหมาย ในการเรียกร้องให้มีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ขณะเดียวกันถ้าการเจรจาของฝ่ายต่างๆ ขาดความจริงใจ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยก็มักจะสะดุดอยู่เสมอๆ ดังเช่นในกรณีโบลิเวีย ถึงแม้จะสิ้นสุดของระบอบเผด็จการ Hugo Banzer Suárez (ค.ศ. 1971-1978) แล้วก็ตาม แต่รัฐบาลใหม่ก็ยังประสบปัญหาความแตกแยกระหว่างพรรคการเมืองกับกองทัพมาโดยตลอด ส่งผลให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพไปไม่น้อย

 

ปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

 

ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านได้รับการวิพากษ์ว่ามีข้อสันนิษฐานไว้ล่วงหน้าแล้วว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนั้นจะต้องเกิดขึ้นโดยแน่แท้[6] ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของพลวัตรทางสังคม ที่ทำให้ปัจเจกรวมตัวกันขึ้นเป็นพลังที่เข้มแข็งและมีบทบาททางการเมือง[7] ส่วนทฤษฎีอื่นได้เน้นย้ำความสำคัญของพลวัตรทางสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการประชาสังคมและสหภาพแรงงาน[8]

ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านยังถูกมองว่าเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่จะนำไปสู่ระบอบทุนนิยม[9] อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความคิดที่แตกต่างกันว่าวิธีไหนจะเป็นการศึกษาที่เหมาะสมที่สุดในเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่การศึกษาถึงปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจและแรงผลักดันจากภายนอกยังมีความสำคัญต่อความเข้าใจถึงการเปลี่ยนผ่านและการก่อตัวของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น

 

ปัจจัยทางด้านการเมือง

  • ชนชั้นนำ 

การศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในลาตินอเมริกามักให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของชนชั้นนำในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือหรือความขัดแย้ง การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่เกิดการตกลงกันระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจที่อาจจะออกมาทั้งในรูปแบบที่เป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย โดย O’Donnell ชี้ให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในระบอบเผด็จการจะค่อยๆ ผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองเมื่อได้มีการเจรจาต่อรองกับขั้วตรงข้าม[10]

ส่วน Przeworski เสนอว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านจะมาถึง เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองตัดสินใจที่จะตีตัวออกห่างจากการครอบงำของกองทัพ และเห็นพ้องกันในการจัดระเบีบบทางการเมืองใหม่จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญดัง เช่นในเปรู (ค.ศ. 1979) และในบราซิล (ค.ศ. 1988)[11] แต่ระบอบประชาธิปไตยในลักษณะนี้ มักจะสงวนพื้นที่ทางการเมืองบางส่วนให้กับกองทัพ  Burton, Gunther และ Higley เรียกรูปแบบนี้ว่า ‘การผสานผลประโยชน์ของชนชั้นนำ’ เพื่ออธิบายการที่แต่ละฝ่ายหันมาร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองแบบสันติในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้[12]

  • ความชอบธรรม 

ระบอบอำนาจนิยมมักประสบปัญหาเรื่องความชอบธรรม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและการสืบทอดอำนาจ พรรค Institutional Revolutionary Party (PRI) สูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 จนนำไปสู่ชัยชนะของพรรคคู่แข่ง (National Action Party – PAN) ความรุนแรงสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลเผด็จการในอเมริกากลางต่อการแก้ไขปัญหาจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

รัฐบาลเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจมักถูกตั้งคำถามในประเด็นความชอบธรรมกับการกดขี่ผู้เห็นต่าง การปราบปรามสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในระยะยาวมักนำปัญหามาสู่รัฐบาลอำนาจนิยม แต่ถ้าผู้นำเผด็จการจะยกเลิกการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าว พวกเขาจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในสังคมเพื่อให้ดำรงอยู่ในอำนาจได้ต่อไป

ประสบการณ์จากลาตินอเมริกาแสดงให้เห็นว่าผู้นำเผด็จการส่วนใหญ่พยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเองเพื่อให้เกิดการยอมรับ หลังจากผ่านช่วงเวลาแห่งการกดขี่มาเป็นเวลานาน

  • พรรคการเมือง 

กระบวนการในการก่อตั้งพรรคการเมืองในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ถือเป็นจุดสำคัญเพราะมีผลโดยตรงต่อลักษณะและความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่เข้มแข็งสามารถจะใช้ช่องทางต่างๆ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และต่อรองจนนำมาสู่ระบอบการเมืองใหม่ได้ ขณะที่การมีพรรคการเมืองที่อ่อนแอ จะส่งผลต่อการรวมตัวกันและเป็นปัญหาต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

พรรคการเมืองในชิลีกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งหนี่งในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และประสบความสำเร็จในการท้าทายอำนาจของนายพล Augusto Pinochet ส่งผลให้การทำประชามติเพื่อสืบทอดอำนาจของนายพล Pinochet ต้องพ่ายแพ้ Boas พบว่าเมื่อพรรคการเมืองได้รับอนุญาตให้หาเสียงในการเลือกตั้งหลังจากระบอบเผด็จการนี้ พบว่าพรรคการเมืองมักได้รับโอกาสมากกว่าระบอบเดิมที่อยู่ในอำนาจ[13]

  • สามัญชนและประชาสังคม 

บทบาทของประชาชนและประชาสังคมในการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบเผด็จการนั้น เป็นที่ยอมรับกันมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง นักธุรกิจ ข้าราชการ แรงงาน เกษตรกร หรือแม้กระทั่งชนชั้นล่างต่างก็มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น ในบางสถานการณ์กลุ่มประชาสังคมต่างๆ เหล่านี้ อาจรวมตัวกันเพื่อเรียงร้องประชาธิปไตยจนนำไปสู่การล่มสลายของระบอบเผด็จการ

ในบราซิล ชนชั้นกลางเป็นแกนนำต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐเผด็จการทหาร ได้รวมพลกันเดินขบวนประท้วงสร้างแรงกดดันต่อกองทัพเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่การต่อต้านผลการเลือกตั้งที่ฉ้อโกงในเม็กซิโกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของพรรค Institutional Revolutionary Party

 

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ

ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจะไม่ยังไม่กระจ่างชัดเท่าไรนัก แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลกระทบโดยตรงต่อระยะเวลาและรูปแบบของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย รวมถึงรูปแบบของประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นตามมา

González แสดงให้เห็นถึงระดับความสัมพันธ์นับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยระหว่างปฏิกิริยาเคลื่อนไหวทางการเมืองในลาตินอเมริกาบางประเทศกับความล้มเหลวของรัฐบาลเผด็จการต่อความคาดหวังของประชาชนในการบริหารเศรษฐกิจ[14] วิกฤตเศรษฐกิจอาจทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนเผด็จการตีตัวออกห่างจนกระทั่งเกิดการเดินขบวนขับไล่[15]

ยังมีความแตกต่างที่น่าสังเกตระหว่างประเทศที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นหลังจากประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างอาร์เจนตินา และประเทศที่เกิดหลังจากประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เช่น ชิลี

ในกรณีของอาร์เจนตินานั้น วิกฤตเศรษฐกิจผสานกับความล้มเหลวของรัฐบาลทหารในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ต่ออังกฤษ ส่งผลต่อการล่มสลายของอำนาจเผด็จการ ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมที่หนุนหลังกองทัพก็ประสบความยากลำบากในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจยังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลพลเรือนของพรรค Radical Party ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Raúl Alfonsín (1983-1989)

ในชิลีการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นในช่วงปลายของรัฐบาลนายพล Augusto Pinochet ที่มีการผ่อนคลายการกดทับทางการเมือง หลังจากนายพล Augusto Pinochet ลงจากอำนาจในปี ค.ศ. 1989 แล้วกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาถือแต้มต่อทางการเมืองเหนือฝ่ายซ้าย

จะเห็นได้ชัดว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลต่อผลลัพธ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งระหว่างปี ค.ศ. 1998 ถึง 2008 ที่กระแสความคิดแบบเสรีนิยมใหม่อยู่ในช่วงขาลง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 มีประธานาธิบดีเป็นจำนวนมากรวมทั้งผู้สมัครชิงตำแหน่งเดียวกันที่วิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดทางเศรษฐกิจแบบอ้างอิงกลไกตลาดหรือต้องการขยายบทบาทของรัฐในภาคเศรษฐกิจ รวมทั้งเน้นการใช้จ่ายทางสังคม ต่างก็ชนะการเลือกตั้งหรือได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะระบอบการเมืองแบบใหม่ ที่ให้อำนาจแก่ชนชั้นที่เคยถูกกดทับภายใต้ระบอบเผด็จการได้มีปากมีเสียง การเมืองระบอบประชาธิปไตยมักจะถูกเรียกร้องให้ตอบสนองต่อความต้องการในการกระจายรายได้ที่เสมอภาคกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้อยู่ชายขอบแห่งอำนาจ โดยในลาตินอเมริกานั้น ประเทศที่ประชาธิปไตยค่อนข้างมั่นคง อาทิ คอสตาริกา อุรุกวัย และชิลี นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐถูกวางโครงสร้างมาอย่างดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ประชาธิปไตยยังง่อนแง่น[16] ก่อให้เกิดคำถามในวงวิชาการว่า ภายใต้ระบอบเผด็จการนั้นจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นหรือไม่[17] ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามของรัฐบาลเผด็จการในการที่จะขยายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มที่สนับสนุนตัวเองก็ตาม

 

ปัจจัยภายนอก

แรงผลักดันจากภายนอกมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านในลาตินอเมริกา[18] ปัจจัยภายนอกมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนผ่านโดยทำให้ฝ่ายอำนาจนิยมไม่สามารถที่จะอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนฝ่ายที่มีความเป็นกลาง ในบางกรณีต่างชาติอาจเข้าไปแทรกแซงโดยตรงในกระบวนการทางการเมือง โดยการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย[19]

นับตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970 สภาวการณ์ทางการเมืองโลกดูมีทีท่าไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงอยู่ของระบอบเผด็จการ ในลาตินอเมริกาเองก็ได้รับแรงกดดันจากประชาคมโลก ส่งผลให้ประเทศต่างๆ จำนวนไม่น้อยกลับไปสู่เส้นทางประชาธิปไตย พร้อมส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน

Whitehead[20] เสนอกรอบการวิเคราะห์สำหรับการศึกษาถึงปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตย โดยชี้ให้เห็นถึงสี่ขั้นตอนที่สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ดังนี้

  • การควบคุม คือ ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยโดยส่งกองกำลังเข้ายึด อย่างเช่นในกรณีของเฮติ (ค.ศ. 1994) ในนามของ Operation Uphold Democracy
  • การยื่นเงื่อนไข คือ การยื่นข้อเสนอให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยโดยการแลกกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศหรือขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
  • การแพร่กระจาย คือ การที่สื่อได้นำเสนอข่าวสารการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประชาชนในประเทศเกิดจิตสำนึกของการเปลี่ยนแปลง
  • การยอมรับ คือ การที่ประเทศนั้นๆ ยอมเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ต่อไปนี้คือกรณีตัวอย่างของแรงกดดันจากภายนอก ที่มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา ไล่ตั้งแต่แรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา, องค์การรัฐอเมริกัน ไปจนถึงสหภาพยุโรป

 

สหรัฐอเมริกา 

การเปลี่ยนผ่านของบางประเทศในลาตินอเมริกา เป็นเพราะแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี Jimmy Carter (ค.ศ. 1976-1981) ได้กดดันประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่เคยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้แสดงความคิดเห็นในการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในลาตินอเมริกา[21]

ประธานาธิบดี Barack Obama (ค.ศ. 2009-2016) พยายามที่จะเปลี่ยนแผนการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีคนก่อนๆ จากเดิมที่พยายามกดดันให้ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย เป็นการเจรจาหารือและสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อนำพาไปสู่การเปลี่ยนผ่าน

นับตั้งแต่อดีต สหรัฐอเมริกามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา โดยอาศัยรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งอาศัยความสัมพันธ์ทางการทูต การสอดส่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อยไปจนถึงการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ

ในเม็กซิโกระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1990 สหรัฐอเมริกากดดันให้เกิดการปรับปรุงในกระบวนการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็พยายามอย่างยิ่งยวดในการรักษาระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยง อาทิ เวเนซุเอลาหลังปี ค.ศ. 1990 กัวเตมาลาในปี ค.ศ. 1993 และปารากวัยในปี ค.ศ. 1996[22] สหรัฐอเมริกาทำแม้กระทั่งส่งกองทัพเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองในลาตินอเมริกา โดยอ้างว่าเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ อาทิ การโค่นล้มระบอบเผด็จการของนายพล Manuel Antonio Noriega (ค.ศ. 1981-1989) ของปานามา การแทรกแซงในเฮติในปี ค.ศ. 1994 และ 2004 ภายใต้การนำขององค์การสหประชาชาติ ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ทุ่มเททรัพยากรจำนวนไม่น้อยในการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาผ่านงานองค์กรทางด้านวิชาการอีกด้วย อาทิ The Freedom House หรือโปรแกรม The National Endowment for Democracy

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาถูกวิจารณ์ว่ามีความไม่แน่นอนในทัศนคติที่มีต่อประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา รวมไปถึงการสนับสนุนบุคคลที่มีคุณลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย อาทิ ในปี ค.ศ. 1982 ประธานาธิบดี Ronald Reagan เรียกร้องให้นานาชาติเร่งส่งเสริมประชาธิปไตย หรือในปี ค.ศ. 1984 Kissinger Commission ได้เสนอมาตรการระยะยาวในการส่งเสริมประชาธิปไตยในอเมริกากลาง แต่ทว่ารัฐบาลของ Ronald Reagan กลับเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองในอเมริกากลาง โดยหนุนหลังรัฐบาลฝ่ายขวาทำการปราบปรามผู้เห็นต่าง

ในปี ค.ศ. 2002 สหรัฐอเมริกาให้การรับรองประธานสภาหอการค้าของเวเนซุเอลา ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี Hugo Chávez ที่ถูกรัฐประหาร ส่งผลให้มีการตั้งคำถามต่อพฤติการณ์ดังกล่าวว่าสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้หรือไม่ ขณะที่อดีตประธานาธิบดี Jean-Bertrand Aristide ของเฮติ (ค.ศ. 1991, 1993-1993, 1994-1996, 2001-2004) ก็ประณามว่าสหรัฐอเมริกาบีบให้เขาต้องลงจากตำแหน่งอย่างไม่เต็มใจ

ปฏิกิริยาของสหรัฐอเมริกาต่อการรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดี Manuel Zelaya ของฮอนดูรัสในปี ค.ศ. 2009 ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การลี้ภัยออกนอกประเทศของประธานาธิบดี Manuel Zelaya ขณะเดียวกัน The National Endowment for Democracy ก็ถูกโจมตีว่าเป็นเครื่องมือทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในภูมิภาค[23]

สหรัฐอเมริกาถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่ามีสองมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 9/11 และ War on Terror ที่เน้นการปราบปรามผู้ก่อการร้ายขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการละเมิดในเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมากด้วยเช่นเดียวกัน[24]

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าจากเหตุการณ์สงครามในตะวันออกกลางและวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2008 ส่งผลให้การส่งเสริมประชาธิปไตยโดยสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศโลกตะวันตกดูจะอ่อนแรงลงไป[25] นอกจากนี้การส่งเสริมประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาของสหรัฐอเมริกามักจะมาพร้อมๆ กับการเรียกร้องให้ลาตินอเมริกาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่รู้จักกันในนาม ‘เสรีนิยมใหม่’ อีกด้วย[26]

 

องค์การรัฐอเมริกัน (The Organization of American States, OAS) 

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา องค์การรัฐอเมริกันมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการส่งเสริมประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภายใต้การนำของเลขาธิการ José Miguel Insulza (ค.ศ. 2005-2015) หลักการประชาธิปไตยถือเป็นเอกลักษณที่สำคัญขององค์การ ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิก ได้มีการลงนามกันในหมู่ประเทศสมาชิกเมื่อเดือนกันยายน 2001 ในการยึดหลักประชาธิปไตยให้เป็นเสาหลักในการปกครองทั้งภูมิภาค รวมทั้งปกป้องความเป็นประชาธิปไตยให้ธำรงอยู่ตลอดไป มีการส่งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานย่อยขององค์การไปทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในประเทศสมาชิก อาทิ ในปี ค.ศ. 2005 โบลิเวีย เอกวาดอร์ เฮติ และนิคารากัว ได้ร้องขอให้ผู้แทนองค์การรัฐอเมริกันเข้าไปช่วยแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย

ในกรณีของเอกวาดอร์นั้น องค์การได้เข้าไปช่วยในการคัดสรรผู้พิพากษาศาลสูงสุดของประเทศ ในปี ค.ศ. 2008 ประธานาธิบดี Evo Morales ของโบลิเวีย ได้ร้องขอให้องค์การรัฐอเมริกันเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างเขากับฝ่ายค้านในปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยภาพรวมมาตรการต่างๆ ขององค์การรัฐอเมริกัน พอจะสรุปได้ดังนี้

  • ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง  ถึงแม้ว่าจะมีการทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1962 แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 2005 ถึงปี ค.ศ. 2016 การสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยองค์การมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พร้อมๆ กับมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีการสังเกตการณ์ทั้งก่อนหน้าและหลังวันเลือกตั้ง
  • การเข้าร่วมในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง  นอกจากทำหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งแล้ว นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา องค์การรัฐอเมริกันได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศสมาชิกอาทิการจัดการอบรมเรื่องขั้นตอนการเลือกตั้ง ในเอกวาดอร์องค์การได้เข้าไปช่วยอบรมคณะกรรมการเลือกตั้งท้องถิ่น เข้าไปช่วยโบลิเวียและกัวเตมาลาในการติดตั้งการลงคะแนนเสียงแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • การประกันคุณภาพ  จากประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนานขององค์การรัฐอเมริกัน นำไปสู่การจัดทำมาตรฐานเชิงคุณภาพของการเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกของโลก เรียกว่า ISO/TS 17582:2014 ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วโลก ไม่แต่จำเพาะในลาตินอเมริกา
  • การเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์  นอกจากจะช่วยในเรื่องการยืนยันสิทธิในการเลือกตั้งแล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถยืนยันสิทธิต่างๆ ของประชาชนในแต่ละประเทศว่าเขามีสิทธิอะไรในการรับบริการจากรัฐตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต
  • การส่งเสริมการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ องค์การรัฐอเมริกันมีแนวคิดที่ว่าการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะที่ดีจะช่วยให้ระบอบ ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ในทางกลับกันถ้าความต้องการของประชาชนไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมก็จะเกิดการบั่นทอนความเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐ ส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว ดังนั้นองค์การรัฐอเมริกันจึงเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะในภูมิภาค

 

สหภาพยุโรป 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตอนใต้ อาทิ สเปน ระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ส่งผลให้สหภาพยุโรปมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแพร่กระจายแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตย เช่นการที่สหภาพยุโรปเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับประชาธิปไตยของ The United Nations Development Program ในปี ค.ศ. 2004 รวมถึงการจัดทำรายงานสำรวจคุณภาพประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา Latinobarómetro ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในลาตินอเมริกา ความสนใจของสหภาพยุโรปในประเด็นการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็น มักจะอยู่ในรูปของการเปรียบเทียบกับพัฒนาการของประเทศในลาตินอเมริกา

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังใช้การแทรกแซงเพื่อกดดันให้ประเทศในลาตินอเมริกากลับสู่หนทางประชาธิปไตย อาทิ ในปี ค.ศ. 2008 สหภาพยุโรปยกเลิกการกดดันคิวบาที่มีมานับตั้งแต่ ค.ศ. 2003 หลังจากรัฐบาลคิวบาได้ทำการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองกว่า 70 คน ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 มีการเปิดการเจรจรกันระหว่างสหภาพยุโรปกับคิวบาเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันในทุกมิติ โดยตัวแทนของสหภาพยุโรปกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเผยแพร่ความคิดเสรีนิยมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคิวบา

ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารในฮอนดูรัสปี ค.ศ. 2009 สหภาพยุโรปมีการเรียกตัวทูตกลับเพื่อเป็นการประท้วงสถานการณ์ดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับลาตินอเมริกายังมีลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์เชิงทวิภาคี อาทิมีการประชุมระหว่างสหภาพยุโรปและสหภาพรัฐลาตินอเมริกาและคาริบเบียน (The Community of Latin America and Caribbean States, CELAC) เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2013

อย่างไรก็ดี ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปหลังปี ค.ศ. 2009 รวมถึงการที่สหราชอาณาจักรลงประชามติที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในปี ค.ศ. 2016 ส่งผลให้บทบาทของสหภาพยุโรปในลาตินอเมริกาลดลง โดย Gratius[27] เห็นว่าการที่บทบาทของสหภาพยุโรปลดลง รวมถึงมีความแตกแยกภายในสหภาพยุโรปเอง กอปรกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์การเมืองในบราซิลและเม็กซิโกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล น่าจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปและลาตินอเมริกามีทิศทางที่เปลี่ยนไป

 


 

[1] Guillermo O’Donnell et al (eds.), New Voices in the Study of Democracy in Latin America (Washington D.C.: Woodrow Wilson International Center for Scholars, 2008).

[2] Dankwart A. Rustow, “Transitions to Democracy: Toward a Dynamic Model,” Comparative Politics 2, no. 3 (1970): 337-363.

[3] Francis Fukuyama et al, “Reconsidering the ‘Transition Paradigm’,” Journal of Democracy 25, no. 1 (2014): 86-100 และ Marc F. Plattner, “The End of the Transitions Era?,” Journal of Democracy 25, no. 3 (2014): 5-16.

[4] Steven Levitsky, and Lucan A. Way, “The Myth of Democratic Recession,” Journal of Democracy 26, no. 1 (2015): 45-58.

[5] Staffan I. Lindberg, Democratization by Elections: A New Mode of Transition (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 2009).

[6] Thomas Carothers, “The End of the Transition Paradigm,” Journal of Democracy 13, no. 1 (2002): 5-21.

[7] Graeme Gill, The Dynamics of Democratization: Elites, Civil Society and the Transition Process (Basingstoke: Macmillan, 2000).

[8] Joe Foweraker, Todd Landman, and Neil Harvey, Governing Latin America (Cambridge: Polity Press, 2003).

[9] Paul Cammack, Capitalism and Democracy in the Third World: The Doctrine for Political Development (London: Leicester University Press, and Cassell, 1997).

[10] Guillermo O’Donnell, “Introduction to the Latin American Cases,” in Guillermo O’Donnell, Philippe C. Schmitter, and Laurence Whitehead (eds.), Transitions from Authoritarian Rule: Latin America (Baltimore: Woodrow Wilson International Center for Scholars, and The Johns Hopkins University Press, 1986).

[11] Adam Przeworski, Democracy and the Market: Political and Economic Reforms in Eastern Europe and Latin America (Cambridge: Cambridge University Press, 1991) และ Arend Lijphart, “Constitutional Choices for New Democracies,” in Larry Diamond, and Marc F. Plattner (eds.), The Global Resurgence of Democracy (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 1993).

[12] Michael Burton, Richard Gunther, and John Higley, “Introduction: Elite Transformations and Democratic Regimes,” in John Higley, and Richard Gunther (eds.), Elites and Democratic Consolidation in Latin America and Southern Europe (Cambridge: Cambridge University Press, 1992).

[13] Taylor C. Boas, “Voting for Democracy: Campaign Effects in Chile’s Democratic Transition,” Latin American Politics and Society 57, no. 2 (2015): 67-90.

[14] Luis E. González, “Political Crises and Democracy in Latin America Since the End of Cold War Era,” Kellogg Institute for International Studies, Working Paper no. 353 (2018).

[15] Francisco E. González, Creative Destruction? Economic Crises and Democracy in Latin America (Baltimore: John Hopkins University Press, 2012).

[16] IDEA, The Quality of Democracies on Latin America (Stockholm: IDEA, 2016).

[17] Stephan Haggard, and Robert R. Kaufman, Development, Democracy, and Welfare States: Latin America, East Asia, and Eastern Europe (Princeton: Princeton University Press, 2008).

[18] Laurence Whitehead, “The Fading Regional Consensus on Democratic Convergence,” in Jorge I. Domínquez and Michael Shifter (eds.), Constructing Democratic Governance in Latin America, 3rd ed. (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 2008) และ Laurence Whitehead, The International Dimensions of Democratization: Europe and the Americas (Oxford: Oxford University Press, 1996).

[19] Thomas Legler, Sharon F. Lean, and Dexter S. Boniface (eds.), Promoting Democracy in the Americas (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 2007).

[20] Laurence Whitehead, “The Fading Regional Consensus on Democratic Convergence,” in Jorge I. Domínquez and Michael Shifter (eds.), Constructing Democratic Governance in Latin America, 3rd ed. (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 2008).

[21] Alberto van Klaveren, “Political Globalization and Latin America,” in Joseph Tulchin, and Ralph Espach (eds.), Latin America in the New International System (Boulder: Lynne Renner, and Woodrow Wilson International Center, 2001).

[22] Victor Bulmer-Thomas, and James Dunkerley, “Conclusions,” in Victor Bulmer-Thomas, and James Dunkerley (eds.), The United States and Latin America: The New Agenda (London: ILAS, and Harvard: David Rockefeller Center for Latin American Studies, 1999).

[23] Eva Golinger, “The Dirty Hand of the National Endowment for Democracy in Venezuela,” Counterpunch, 25 April 2014, online: www.counterpunch.org/2014/04/25/the-dirty-hand-of-the-national-endowment-for-democracy-in-venezuela [เข้าถึง 20 กันยายน 2561].

[24] Grace Livingstone, America’s Backyard: The United States and Latin America from the Monroe Doctrine to the War on Terror (London: Zed Books, 2009).

[25] EIU (Economist Intelligence Unit), Index of Democracy 2008 (London: EIU, 2008).

[26] Neil A. Burron, The New Democracy Wars: The Politics of North American Democracy Promotion in the Americas (Farnham: Ashgate, 2012).

[27] Susanne Gratius, “Europe and Latin America: In Need of a New Paradigm,” Working Paper no. 116 (Madrid: Fundación para las Relaciones Internacionales y el Diálogo Exterior, 2013).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save