fbpx
ไบเดน v แซนเดอร์ส : การเลือกตั้งขั้นต้นกับประชาธิปไตยสหรัฐ

ไบเดน v แซนเดอร์ส : การเลือกตั้งขั้นต้นกับประชาธิปไตยสหรัฐ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งขั้นต้นหรือไพรมารี่ในรัฐเซาท์แคโรไลนา และที่สำคัญยิ่งกว่าคือในวัน “อังคารใหญ่” (Super Tuesday) ซึ่งรวมการเลือกตั้งขั้นต้นถึง 14 รัฐ มีจำนวนตัวแทน (delegates) ของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงถึงหนึ่งในสาม ผลปรากฏว่า โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสมัยประธานาธิบดีโอบามาได้รับเสียงข้างมาก เอาชนะเบอร์นี แซนเดอร์สไปได้หลายขุม ทำให้บรรยากาศของความคลุมเครือและไม่มั่นใจว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้แทนของพรรคเดโมแครตในการลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนปีนี้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะลงเลือกตั้งกลับมาเป็นเจ้าของทำเนียบขาวอีกวาระหนึ่งคลี่คลายลงไป บัดนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า โจ ไบเดน คงจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการประชุมสมัชชาพรรคเดโมแครตในเดือนกรกฎาคม

สัญญาณหลังวันอังคารใหญ่คือการที่ผู้สมัครแข่งขันตำแหน่งประธานาธิบดีจะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 ผู้อาวุโสที่เป็นชายผิวขาว อันเป็นการเมืองกระแสหลักที่ถูกวิพากษ์ว่าไม่ทันสมัยและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของภูมิทัศน์ทางการเมืองในสหรัฐฯอีกต่อไป

ทางฝ่ายแซนเดอร์สที่มีขบวนการ (movement) ในการรณรงค์หาเสียงอย่างแข็งขัน มีการจัดการและระดมทุนสนับสนุนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ คงจะไม่ยอมพ่ายแพ้อย่างง่ายๆ ทั้งยังมีฐานเสียงที่แน่นหนาพอควรจากคนรุ่นใหม่ คงต้องตามไปดูว่าระหว่างการประชุมสมัชชาพรรคเดโมแครตจะมีปาฏิหาริย์ถึงขนาดทำให้แกนนำและขาใหญ่ภายในพรรคเดโมแครตไม่สามารถคุมการตัดสินใจได้หรือไม่ เนื่องจากคะแนนของผู้สนับสนุนแซนเดอร์สก็มีไม่น้อยเหมือนกัน และเป็นพลังใหม่ของคนหนุ่มสาวและคนเมืองที่มีคุณวุฒิ กลุ่มผู้สนับสนุนแซนเดอร์สมองปรากฏการณ์ของการเลือกตั้งไพรมารี่และสมัชชาพรรคว่าเป็นความไม่เป็นธรรมและเป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของแกนนำและสมาชิกพรรคเดโมแครตในคองเกรสที่ต้องการตัวแทนที่ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในรัฐสภาและในรัฐบาลมากเกินไป อย่างที่เรียกว่าเป็นแบบ “ซ้าย” หรือ “สังคมนิยม” อันเป็นศัพท์ที่ฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยมไม่ค่อยปลื้มเท่าไรนัก

นั่นคือมองว่าขบวนการของแซนเดอร์สจะนำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งเป็นแนวคิดการเมืองที่หมดยุคหมดสมัยไปแล้ว แต่ยังเอากลับมาใช้เล่นงานคู่ต่อสู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามได้เสมอๆ

กล่าวได้ว่า ชัยชนะของโจ ไบเดนเป็นอะไรที่น่าประหลาดใจและคาดไม่ถึงเหมือนกัน นับแต่วันแรกที่เขาประกาศเปิดตัวว่าจะเป็นผู้สมัครในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยอีกคน ผู้คนซึ่งกำลังตื่นเต้นและติดตามบรรดาผู้สมัครหน้าใหม่ๆ ก็หันกลับมาฟังว่าไบเดนมีอะไรใหม่ที่จะมาแข่งกับบรรดาผู้สมัครหลายสิบคนในตอนนั้นบ้าง ปรากฏว่าน้ำเสียงและเนื้อความที่ไบเดนพูดออกมาในการหาเสียงและการโต้วาทีกับผู้สมัครคนอื่นๆ นั้น ไม่มีอะไรโดดเด่น ไม่มีวาทศิลป์ ไม่มีความลุ่มลึกและญาณทรรศนะที่จะเสนอภาพของคนและสังคมอเมริกันในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร นอกจากประโยคทองอันเดียวว่า “ข้าพเจ้าจะเอาชนะทรัมป์ได้”

ตลอดเวลากว่า 2 เดือน โจ ไบเดนตกเป็นเป้าของการโจมตี วิพากษ์วิจารณ์และกระแนะกระแหนจากบรรดาผู้สมัครคนอื่นมาตลอด เช่นในการโต้วาทีครั้งแรกๆ ถูกกามาลา แฮร์ริส สมาชิกวุฒิสภา โจมตีว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่สร้างกฎหมายที่สร้างความลำบากให้แก่เด็กนักเรียนผิวดำที่ต้องขึ้นรถโรงเรียนเพื่อไปโรงเรียนที่อยู่ไกลบ้าน ส่วนแซนเดอร์สก็โจมตีว่าไบเดนร่วมลงคะแนนเสียงในสภาให้บุกอิรัก สนับสนุนการทำสัญญาการค้าต่างประเทศ ลดเงินประกันสังคม และช่วยเหลือบริษัทเครดิตการ์ด “นั่นคือการเมืองแบบเก่า” เขาโจมตีไบเดนว่าคุณไม่อาจเอาการเมืองเก่าไปเอาชนะทรัมป์ได้

เมื่อวิเคราะห์ให้ถึงที่สุด ปัจจัยที่ทำให้ไบเดนชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นในเซาท์แคโรไลนามาจากคะแนนเสียงของคนแอฟริกันอเมริกันซึ่งเป็นคะแนนเสียงบล็อกใหญ่ในภาคใต้ ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐไอโอวา ซึ่งเป็นรัฐแรกของการเปิดไพรมารี่และคอคัส ตามมาด้วยนิวแฮมเชียร์ ซึ่งในอดีตเคยเป็นรัฐแรกที่ทำการเลือกตั้งขั้นต้นแต่มาถูกไอโอว่าแย่งตำแหน่งไปในปี 1988 และตามมาด้วยเนวาดา ทั้งสามแห่งนี้ไบเดนพ่ายแพ้อย่างหลุดลุ่ย ให้แก่แซนเดอร์สและพีท บูติจัจ นายกเทศมนตรีหนุ่มไฟแรงแห่งอินเดียนา ทั้ง 3 รัฐนี้ว่าไปแล้วก็ไม่ค่อยเป็นตัวแทนของสังคมอเมริกันปัจจุบัน เพราะมีคนผิวดำและคนกลุ่มน้อยไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาววัยกลางคนและไม่เป็นคนเมือง ปรากฏการณ์การลงคะแนนเสียงของบล็อกคนผิวดำทำให้น้ำหนักของไบเดนเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ ชัยชนะอย่างถล่มทลายในเซาท์แคโรไลนาทำให้ไบเดนสามารถสร้างโมเมนตัมได้

กระนั้นก็ตาม คำถามคือทำไมคนผิวดำในภาคใต้ถึงมีความผูกพันกับไบเดนมากขนาดนั้น ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เกิดและโต หรือทำงานในภาคใต้เลย เขาเกิดในเมืองสแครนตัน รัฐเพนซิลเวเนีย เริ่มอาชีพด้วยการเป็นอัยการ แล้วหันไปเล่นการเมือง สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาในรัฐเดลาแวร์ ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกที่หนุ่มสุดคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์และเป็นสมาชิกวุฒิสภาของเดลาแวร์ยาวนานที่สุด ตอบอย่างสั้นๆ คือเขาได้รับการสนับสนุนจากแกนนำและสมาชิกคองเกรสของเดโมแครตโดยเฉพาะที่เป็นคนแอฟริกันอเมริกันในเซาท์แคโรไลนา ที่สำคัญคือ เจมส์ ไคลเบิร์น ส.ส. แห่งเซาท์แคโรไลนา ผู้เป็นสมาชิกอาวุโสและมีบารมีในสภาคองเกรสและในรัฐ ตามมาด้วยการออกมาให้การสนับสนุนของนักแสดงหนังคนดำและอื่นๆ รวมถึงสมาชิกเดโมแครตในรัฐเวอร์จิเนีย นั่นหมายความว่าแกนนำของพรรคเดโมแครตตัดสินใจในการสนับสนุนไบเดนเหนือแซนเดอร์ส ก่อนวัน “อังคารใหญ่”

นักวิเคราะห์การเมืองอธิบายว่า การเลือกไบเดนเหนือแซนเดอร์สเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคเดโมแครตได้เคยใช้มาก่อนแล้วในการเลือกตัวผู้สมัครแข่งขันตำแหน่งประธานาธิบดี ถ้าหากมีผู้สมัครของพรรคหลายคนและไม่มีใครโดดเด่นกว่าใคร นั่นคือเลือกผู้สมัครที่ “ปลอดภัยที่สุด” ในอดีตได้แก่ จอห์น แครี่ อัล กอร์ และท้ายสุด ฮิลลารี่ คลินตัน ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงของการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่ายุทธศาสตร์ที่ว่านี้พ่ายแพ้ทุกครั้ง จึงต้องมาดูกันต่อไปว่า ครั้งนี้การเลือกไบเดนจะทำให้พรรคเดโมแครตสมปรารถนาหรือไม่

นโยบายที่รองรับการคัดเลือกผู้สมัครดังกล่าวมาจากแนวทางในการสร้างแนวร่วม (coalition) อันกว้างใหญ่ไพศาลในหมู่ผู้ลงคะแนนเสียงทั้งประเทศ หลักๆ คือการนำเอาคนที่อยู่ฝ่ายไม่เอียงไปข้างหนึ่งข้างใด (moderates) คนผิวดำและคนกลุ่มน้อยอื่นๆ กับคนชานเมืองเข้ามารวมกันให้ได้ เพื่อเอาชนะคะแนนเสียงของทรัมป์ ซึ่งจะเน้นหนักไปที่คนชั้นล่างในชนบทและเมืองเล็กๆ ที่เป็นคนผิวขาว แต่หลังๆ มาทรัมป์ก็พยายามหาเสียงชักจูงคนผิวดำและลาตินอเมริกันให้มาเป็นฝ่ายเขามากขึ้นด้วยเช่นกัน ชัยชนะของไบเดนในเซาท์แคโรไลนาและวันอังคารใหญ่เป็นดัชนีว่า โจ ไบเดนตีโจทย์การเมืองนี้แตก และเริ่มประสบความสำเร็จในการสร้างแนวร่วมอันกว้างใหญ่ไพศาลขึ้นมาได้แล้ว อย่างน้อยเริ่มแรกในภาคใต้และตะวันตก เช่น การเอาชนะการเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐมินนิโซตา ที่เอมี โคลบูชาร์ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้สมัคร แต่เธอประกาศถอนตัวหลังทราบผลการเลือกตั้งในเซาท์แคโรไลนา และหันมาสนับสนุนไบเดนแทน และในแมสซาชูเสตส์ ซึ่งเป็นรัฐของผู้สมัครเอลิซาเบธ วอร์เรนที่ยังไม่ประกาศถอนตัว แต่กลับพ่ายแพ้คะแนนให้แก่ไบเดนไปอย่างไม่อาจคาดคิดได้ ทั้งๆ ที่ไบเดนก็ไม่เคยไปเดินหาเสียงในรัฐนั้นสักครั้งเดียว

ทั้งหมดจึงยกประโยชน์ให้แก่การที่ไบเดนบัดนี้มีค่าตัวและน้ำหนักในการเดินหน้าต่อไปได้แล้ว

มองจากภาพรวมของการเลือกตั้งขั้นปฐมดังกล่าวนี้  พอจะมองเห็นข้อดีและข้อด้อยของระบบเลือกตั้งนี้ว่ามีผลอะไรต่อระบบประชาธิปไตยในอเมริกาและหากจะมีใครนำไปใช้ในประเทศอื่น เช่นไทยซึ่งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งอยากให้นำมาใช้ด้วย จะใช้ได้ดีไหม

อันที่จริงหน้าที่และการเกิดขึ้นของ “การเลือกตั้งขั้นต้น” (primary election) ในการเมืองอเมริกันนั้น เกิดมาจากพัฒนาการภายในระบบเลือกตั้งที่ทำกันมาหลายปีก่อนแล้ว ไม่ได้เกิดเพราะมีคณะบุคคลผู้มีอำนาจ สร้างกฎหมายออกมาเพื่อบังคับให้นักการเมืองและประชาชนทำตามความต้องการของผู้เขียนกฎหมาย เนื่องจากระบบอะไรก็ตาม เมื่อลงมือทำก็ต้องเจอปัญหาและความผิดพลาดไปถึงข้อบกพร่องอันมาจากธรรมชาติมนุษย์ที่มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ทางออกจึงต้องมีการหันหน้าเข้าปรึกษาทำข้อตกลงที่ทุกฝ่ายเห็นชอบและร่วมทำอย่างจริงใจ

ระยะแรกของการเลือกตัวแทนผู้สมัครของพรรคไปแข่งขันตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในสภาคองเกรสก่อนแล้ว และรวมกลุ่มกันเป็นคอคัสหรือมุ้งต่างๆ ต่อมาพวกนักการเมืองและพรรคเล็กๆ ที่ไม่มีสมาชิกนั่งอยู่ในคองเกรสก็ร้องเรียนว่าพวกเขาไม่อาจเสนอชื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เพราะไม่มีสมาชิกในรัฐสภาเลย เป็นการตัดโอกาสของพวกเขาไป จึงนำไปสู่การเปิดให้มีการเลือกผู้สมัครในการประชุมสมัชชาแห่งชาติแทน แรกๆ ในที่ประชุมสมัชชาก็ยังมาจากแกนนำและผู้มีอิทธิพลภายในพรรคครอบงำอยู่ ในยุคก้าวหน้า (Progressive Era) ในต้นศตวรรษที่ 20 เกิดคลื่นของคนชั้นกลางและนักวิชาชีพในเมืองที่ต้องการปฏิรูประบบการเมือง จึงนำไปสู่การเกิดระบบการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองอย่างเปิดกว้างกว่าแต่ก่อน โดยให้สมาชิกและคนในรัฐสามารถจัดการการลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้อย่างเสรี เป็นที่มาของระบบเลือกตั้งขั้นต้นที่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน

ส่วนข้อด้อยและปัญหาของระบบไพรมารี่และคอคัสดังที่เห็นจากการเลือกตั้งในไอโอวาปีนี้ว่าเกิดเหตุขัดข้องจนทำให้ไม่สามารถประกาศผลคะแนนการเลือกตั้ง ต้องเลื่อนออกไปเป็นวันและหลายวัน จนคนล้อเลียนว่าคงได้รับอิทธิพลจากคณะกรรมการเลือกตั้งของประเทศไทยที่ไม่อาจประกาศผลการเลือกตั้งได้ทันเวลา สาเหตุระบุว่ามาจากการใช้ระบบรายงานผลผ่านโซเชียลมีเดียและโทรศัพท์มือถือ แต่ระบบปฏิบัติงานหรือ app ที่จ้างบริษัทสร้างขึ้นมามีความบกพร่องในวันเลือกตั้ง เรื่องจึงลงเอยด้วยความโกลาหลและสร้างความผิดหวังให้แก่คนจำนวนมาก การเลือกตั้งไพรมารี่ในไอโอว่าเป็นแบบคอคัส ที่สมาชิกพรรคทำกันเอง ไม่อาศัยกลไกและระบบของรัฐ ความจริงเป็นเรื่องดี แต่จุดอ่อนคือประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับบรรดาหัวหน้าและทีมงานว่าทำงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพโดยไม่มีอคติและความเอนเอียงจริงหรือไม่

ข้อดีอีกอย่างของการเปิดให้มีระบบการเลือกตั้งขั้นต้นคือการเปิดกว้างอย่างเสรี ลักษณะของระบบไพรมารี่แบ่งออกกว้างๆ ได้เป็นแบบแรกคือระบบปิด หมายความว่าผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกของพรรคและลงทะเบียน แบบที่สองเป็นแบบเปิดคือไม่ต้องเป็นสมาชิกของพรรคใดก็ได้ เพียงแค่มาลงทะเบียนในวันเลือกตั้งก็มีสิทธิเลือกผู้สมัครได้ แบบเปิดยังมีอีกประเภทคือให้ผู้ลงคะแนนจากพรรคใดก็ได้มาลงคะแนนให้แก่อีกพรรคก็ได้ แบบหลังนี้ค่อนข้างมีปัญหา เพราะเกิดมีการวางแผนให้สมาชิกของตนไปช่วยลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครอีกพรรคหนึ่งซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอนาคตที่สุด จะได้ไม่เจอผู้สมัครที่แข็งแรงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

จึงมีข่าวลือว่าทีมงานหาเสียงของทรัมป์ ช่วยหาเสียงและลงคะแนนให้แก่แซนเดอร์สเพราะคิดว่าการสู้กับแซนเดอร์สผู้ประกาศว่าเป็นสังคมนิยม จะทำให้ทรัมป์สามารถเล่นงานได้ง่ายกว่าไบเดน และจะทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้อย่างง่ายดาย รวมถึงข่าวกรองสหรัฐฯก็รายงานว่า ฝ่ายจารกรรมของรัสเซียก็พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกาด้วยเหมือนกัน โดยมุ่งสร้างข่าวปลอมช่วยเหลือทรัมป์และแซนเดอร์ส

บทเรียนสำคัญของการมีระบบเลือกตั้งขั้นต้นจึงได้แก่การตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในประเทศว่าสามารถคัดเลือกและกลั่นกรองตัวผู้สมัครของพรรคการเมืองในการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลและผู้แทนในรัฐสภาได้ การซื้อเสียงก็ดี การหาว่าไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีคุณวุฒิอะไรต่างๆ นานาที่ทำให้พลเมืองไม่มีความชอบธรรมในการเลือกคนที่จะมาเป็นผู้ปกครองของเขานั้น จะต้องกวาดทิ้งไปให้หมดจากความคิดของทุกคนในสังคม นั่นคือการยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนทุกคนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

อีกข้อที่เสริมการทำให้พลเมืองของรัฐมีบทบาทในเชิงรุกก็คือการที่รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่มีการระบุและกำหนดอย่างแน่นอนในรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง พูดนิดหน่อยเป็นหลักๆ ที่เหลือปล่อยให้ทุกคนไปคิดค้นหาวิธีการและกฎระเบียบร่วมกันในการสร้างระบบการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือกันขึ้นกันเอง อย่าปล่อยให้ผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมี และข้าราชการของรัฐมาเขียนกฎหมายการเลือกตั้ง เพราะไม่มีทางที่อำนาจรัฐจะยอมให้สร้างระบบการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมแก่คนส่วนข้างมากได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save