fbpx
ประชาธิปไตยในขั้วโลก พริษบ์ ชิวารักษ์

“ประชาธิปไตยในขั้วโลก” กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

จากนักเรียนถึงนักศึกษา ชื่อ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์’ ปรากฏอยู่ในหลายสื่อ บนโปสเตอร์งานเสวนาการเมืองและการศึกษา บนสนามประท้วง และอีกหลายแคมเปญที่เขาตั้งคำถามกับสังคมไทย

วิชาหน้าที่พลเมือง ระบบการศึกษาภาพใหญ่ ความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร การเมืองในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เหล่านี้คือประเด็นคำถามสั่นสะเทือนที่เขาโยนใส่สังคมไทย ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามของเขาแหลมคมและชวนคิดอย่างยิ่ง

สำรวจ ชีวิต-ตัวตน-ความคิด ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ เพื่อรู้จัก ‘เพนกวิน’ และสังคมไทยมากขึ้น

 

 

 

:: ขาขึ้นของขบวนการนักศึกษา ::

 

 

ช่วงชีวิต 4 ปีในมหาวิทยาลัยของผมเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการนักศึกษา เราได้เห็นช่วงที่ขบวนการกำลังฟุบ และมีโอกาสเห็นมันอยู่ในขาขึ้นเช่นตอนนี้ ตอนที่ฟุบคือช่วงที่เราแพ้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทำให้พี่ๆ หลายคนและกลุ่มหลายๆ กลุ่มเสียขวัญกำลังใจ ตอนที่ผมเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ก็เป็นช่วงที่การเมืองอึมครึมมาก

ผมเคยคุยกับรุ่นพี่ เช่น จ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) พี่โรม (รังสิมันต์ โรม) และได้คำตอบตรงกันว่าในยุคนั้นใครที่ออกมาเรียกร้องการเมืองจะถูกมองเป็นตัวประหลาด เป็นพวกหัวรุนแรงบ้าง สร้างความวุ่นวายบ้าง พอมาถึงยุคที่ผมอยู่ปี 1 บรรยากาศก็เริ่มดีขึ้น คือไม่ได้ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดแต่ถูกต้อนรับด้วยความไม่สนใจ เขารู้แหละว่ารัฐบาลประยุทธไม่โอเค แต่คุณจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ฉันตั้งใจเรียนดีกว่า

พออยู่ปี 2 ผมได้รับสมัครรุ่นน้องมาทำกิจกรรมด้วยกัน บรรยากาศเริ่มเปลี่ยนไป การเคลื่อนไหวของเราเริ่มถูกเพื่อนๆ จับจ้องด้วยความสนใจ เขาอาจจะยังไม่ได้มาร่วมกับเราเต็มที่ แต่เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำถูกต้อง น่าสนับสนุน

พอผมอยู่ปี 3 เริ่มมีรุ่นน้องที่เข้ามาทำงานกับเรา กระทั่งเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เห็นสถานการณ์บ้านเมืองกำลังแย่ลง เขาก็อยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง

จนถึงปีนี้เวลาเรารับสมัครสมาชิกครั้งหนึ่ง ก็ได้คราวละ 50 – 100 คน กระแสเปลี่ยนไปมากจากวันที่เราต่อสู้อย่างเดียวดาย จนตอนนี้การต่อสู้กลายเป็นเทรนด์หลักของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว เพื่อนผมสมัยมัธยมที่เคยเป็น กปปส. เคยปะทะกันทางความคิด มาถึงยุคนี้ผมเจอเขาทุกม็อบเลย กระแสประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักที่กำลังไหลเชี่ยวกรากในหมู่คนรุ่นใหม่ และใครที่ไม่ได้อยู่ในกระแสนี้กำลังจะตกขบวน

 

:: แตะสถาบันฯ เร็วไปไหม? ::

 

 

ในการเปลี่ยนแปลง มันไม่แฟร์ที่จะบอกว่าอะไรช้าไป อะไรเร็วไป คุณไม่มีทางวัดได้อย่างแท้จริง แต่ที่รู้ๆ ถ้าคุณไม่เริ่มนับหนึ่งในการพูดความจริง คุณจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงๆ

การพูดถึงปัญหาโครงสร้างสังคมที่เป็นศักดินาหรือปัญหาของสถาบันกษัตริย์ แม้เราจะพูดกันอย่างเปรี้ยงปร้างในยุคนี้ แต่ผมให้เกียรติและเคารพคนรุ่นก่อนที่เขาพูดมาก่อน เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกพูดถึงในยุคผม สิบปีที่แล้วเราก็มีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือย้อนกลับไปไกลสมัยเดือนตุลา นักศึกษาในยุคก่อนก็วิเคราะห์โครงสร้างสังคมว่าสังคมไทยเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ผมเข้าใจว่าพวกเขาคงจะมีทฤษฎีในการเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้า น่าจะอ่านหนังสือเล่มเดียวกันกับผมนี่แหละ คำว่า ‘ศักดินา’ ที่พี่ๆ เขาพูดกันเมื่อ 40 ปีที่แล้วจะหมายถึงอะไรได้ล่ะ ถ้าไม่ใช่สถาบันฯ หรือโครงข่ายสังคมที่กดขี่ขูดรีดคนด้วยชาติกำเนิดเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำไม่ใช่การเปิดประเด็นใหม่ แต่เป็นการรับไม้ต่อจากคนรุ่นก่อนที่เสียสละพูดถึงแก่นใจกลางปัญหา เราไม่สามารถทำให้การเสียสละของเขาเป็นเรื่องสูญเปล่าได้ เราต้องรับไม้ต่อเพื่อสืบทอดเจตนารมย์ของเขา

ในวันที่ 19 กันยายน คนต้องรู้อยู่แล้วว่าจะมีการพูดเรื่องสถาบันฯ แต่คนก็มากันเรือนแสน ในทางตรงกันข้ามเมื่อบางเวทีเลือกที่จะไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำว่าทำไมถึงลดเพดาน มีแฮชแท็กในทวิตเตอร์สนับสนุน 10 ข้อเรียกร้อง คือทุกคนมองเห็นชัดว่าปัญหาที่แท้จริงของการเมืองไทยคืออะไร ทุกคนมองไปไกลกว่าพลเอกประยุทธ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงไม่กี่เดือนนี้มีการพูดเรื่องสถาบันฯ จนเป็นประเด็นสังคมหลายครั้ง แฮชแท็กในทวิตเตอร์ทั้ง #ขบวนเสด็จ #ยกเลิก112 #กษัตริย์มีไว้ทำไม ถ้าดูแฟลชม็อบในช่วงแรกๆ จะเห็นว่าป้ายต่างๆ ที่คนเอามาชูในม็อบ ก็เป็นป้ายที่พูดถึงเรื่องสถาบันฯ ทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นเครื่องยืนยันว่าสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ตื่นแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ต้องตั้งคำถามว่าในเมื่อผู้ชุมนุมกล้าหาญที่จะพูดเรื่องสถาบันฯ อย่างตรงไปตรงมา แล้วทำไมแกนนำจะไม่กล้าพูดเจตจำนงของผู้ชุมนุม

 

:: ไต่เส้นความปกติใหม่ ในการพูดถึงสถาบันฯ ::

 

 

แนวคิดในการเคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผมคือ คนไทยไม่ใช่ไม่รู้เรื่องสถาบันฯ ส่วนใหญ่เป็นความจริงที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว แต่พวกเราแค่เอามาพูดบนเวที พวกเราแค่เป็นปากเป็นเสียงแต่ไม่ได้ชี้นำทางความคิด เพราะทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว

สิ่งที่เราทำไม่ใช่การเอาข้อมูลใหม่มาเปิดเผย แต่เป็นการแสดงตัวอย่างให้สังคมเห็นว่าเราสามารถดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้เราพูดถึงประเด็นปัญหาของบ้านเมืองในเรื่องสถาบันฯ อย่างตรงไปตรงมา จนเราต้องแอบไปนินทากันในวงกินข้าว วงเหล้า เราแค่เป็นกลุ่มแรกที่พูดออกมาบนเวทีปราศรัย และผมเชื่อว่าเมื่อมีคนเปิด ต้องมีคนตาม แน่นอนว่าคนที่พูดคนแรกต้องเจอแรงเสียดทานมากกว่าอยู่แล้ว แต่เราก็ยินดีจะรับความเสี่ยงตรงนั้นไว้ เพราะถ้าไม่มีคนแรก ก็ไม่มีคนที่สอง

ในที่นี้ คนแรกที่พูดคือทนายอานนท์ (นำภา) ผมยังเคยคุยกับพี่อานนท์เลยว่า เราจะแข่งกันว่าใครจะหาโอกาสเปิดเรื่องสถาบันได้ก่อน จริงๆ ตัวผมพูดทีหลังมากครับ ชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. ผมก็ไม่ได้ขึ้นเวที ผมทำงานอยู่ข้างหลัง เพียงแต่อำนวยการให้มีผู้ปราศรัยพูดเรื่องนี้ ผมได้มีโอกาสพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาที่เวทีขอนแก่น ผมนับถือพี่อานนท์มากที่แกช่วยรับแรงเสียดทานก่อนที่ผมจะต้องมารับ

สัญญาณหนึ่งที่ทำให้ผมคิดว่าขบวนการเราพร้อมแล้วที่จะพูดเรื่องนี้คือ คนที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดเรื่องนี้ ส่วนมากไม่ใช่เพราะเขาเห็นต่าง แต่เป็นเพราะเขากลัว เขาคิดว่าพูดไปแล้วจะเป็นยังไง มองว่าเร็วเกินไป นั่นก็แปลว่าเขาเห็นด้วยแต่อาจไม่กล้าที่จะเปิด ซึ่งเรื่องความพร้อมทางจิตใจ ผมเชื่อว่าถ้ามีคนเปิด จะมีคนตามครับ

ในสมัยก่อนที่ผมทำกิจกรรม ลำพังแค่ชูป้ายธรรมดาๆ ยังถูกมองเป็นเรื่องก้าวร้าวและหยาบคาย แต่พอเรายืนหยัดรับคำวิพากษ์วิจารณ์และยืนหยัดในการชุมนุมมาเรื่อยๆ วันนี้การชูป้ายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำ หรือเรื่องการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนขององค์กรนักศึกษาในช่วงหนึ่งก็เป็นเรื่องที่หลายองค์กรพากันเกรงกลัว แต่พอเรายืนยันทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องปกติ ชวนเพื่อนออกแถลงการณ์บ่อยๆ พอมีฉบับที่หนึ่งสองสาม ก็มีฉบับที่สี่ห้าหกตามมา ทุกวันนี้ใครๆ ก็ออกแถลงการณ์ ผมก็อยากจะทำให้การพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติบ้าง เพื่อปลุกคนที่ยังไม่พร้อมในวันนี้ให้พร้อมในวันรุ่นขึ้น

 

:: รัฐธรรมนูญในอุดมคติ ::

 

 

ในสามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร (1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ต้องลาออก 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย) ผมคิดว่าข้อเรียกร้องข้อที่ 3 จะทำให้ข้อ 1-2 เกิด ด้วยซ้ำ

สังเกตว่าก่อนที่เราจะเสนอ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ รัฐบาลก็ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งเลยว่าจะไม่เอาด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แก้ไม่ได้ เรื่องยุบสภายิ่งไปกันใหญ่ แต่พอเราเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ เห็นได้ชัดว่าเริ่มมีการเปลี่ยนท่าที ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายอำนาจนิยมดูจะยอมฟังม็อบมากขึ้น ดูจะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่าจะได้รีบตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญไปเสีย ม็อบพวกนี้จะได้จบก่อนที่จะพูดถึงสถาบันฯ มากกว่านี้

ผมมักจะคุยกับเพื่อนที่รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกันบ่อยๆ ว่า ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ อาจจะได้แก้รัฐธรรมนูญ แต่คำถามคือถ้าแก้ไม่ถึงแก่น ถ้าแก้แบบลูบหน้าปะจมูก แก้นิดแก้หน่อยเพื่อให้ได้ชื่อว่าแก้แล้ว และที่สำคัญคือถ้าไม่แก้หมวด 2 หมวดสถาบันฯ คำถามคือ เราจะถือว่าเป็นชัยชนะได้หรือไม่

ดังนั้นเราจึงต้องดันไปพร้อมกันทุกข้อเสนอ พวกเราเป็นประชาชน การเรียกร้องของเรามีลักษณะต่างจากนักการเมือง นักการเมืองต้องอยู่กับความเป็นจริงทางการเมือง อยู่กับการต่อรอง เขาจะผลักไปที่ละก็อก แต่เราในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศควรนำเสนอสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ สิ่งที่อาจจะฟังดูเป็นอุดมคติ แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากจะเห็น แล้วให้เป็นโจทย์ของนักการเมืองที่จะรับฟังเราและผลักดันต่อในรัฐสภา

 

:: อนาคตเพนกวิน #ถ้าการเมืองไม่ดี  ::

 

 

ผมต่อสู้มาตั้งแต่มัธยม ถ้าละทิ้งการต่อสู้ตอนขึ้นมหาวิทยาลัยก็ดูจะเป็นการทอดทิ้งคนที่เคยสนับสนุนเรา และในเมื่อเราต้องทุ่มเทให้การต่อสู้ ผมในตอนนั้นจึงคิดว่ารัฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่ช่วยให้ผมหาคำตอบได้เหมาะสมที่สุด อย่างน้อยก็พยายามหาคำตอบว่า การเมืองที่ดีเป็นอย่างไร

#ถ้าการเมืองดี ผมคงไม่เรียนรัฐศาสตร์แน่ๆ ละ จริงๆ ผมชอบวิชาประวัติศาสตร์มากเป็นชีวิตจิตใจ ตั้งแต่อ่านหนังสือออกผมก็อ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาตลอด ตอนอนุบาลผมก็ชอบอ่านนิทานและการ์ตูนที่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ คนจะชอบเข้าใจว่าผมชอบประวัติศาสตร์การเมือง อย่าง 2475 แต่จริงๆ ผมไม่ได้สนใจอะไรอย่างนั้นเลยฮะ ผมสนใจประวัติศาสตร์ยุคโบราณด้วยซ้ำ เช่น สมัยกรุงศรีอยุธยา สุโขทัย โดยเฉพาะล้านนา สมัยเรียนมัธยมที่ผมมีเวลามากกว่านี้ ถ้าผมว่างก็จะซื้อพระราชพงศาวดารมาอ่าน

ส่วนหนึ่ง เรารักประวัติศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ แต่อีกส่วนเราก็รู้สึกว่ากำลังแบกภาระอันหนักอึ้งของประวัติศาสตร์ ผมเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้คือการหมุนกงล้อประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงจังหวะของสังคมที่จะมีการเปลี่ยนแปลง และไม่ว่าใครก็ตามที่ก้าวเข้ามาอยู่ในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ก็จะต้องรับภาระในการเปลี่ยนแปลง เราเป็นแค่คนๆ หนึ่ง ไม่ใช่ส่วนใหญ่ในการผลักดันกงล้อนี้ แต่เราก็รู้สึกมีความสุข รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เราไม่อยากละทิ้งการต่อสู้จนกว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงตามที่ฝันถึง จนกว่าเราจะได้เห็นมัน

เคยมีคนถามผมหลายคนว่าเรียนจบแล้วจะวางแผนชีวิตยังไง ผมคิดว่าก็คงจะพยายามหาที่หาทางให้สามารถต่อสู้ได้ต่อไป เราทำมา 6 ปีแล้ว และรู้สึกว่าตราบใดที่ยังมีลมหายใจ มีชีวิต และมีศักดิ์ศรีความเป็นพลเมืองอยู่ เราก็ไม่ควรนิ่งดูดายเมื่อเห็นเผด็จการกดขี่ประเทศของเรา

 

:: เบื้องหลังขบวนการอันหลากหลาย ::

 

 

ถามว่าขบวนการนักศึกษามีเอกภาพมากน้อยขนาดไหน ก็ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าอาจจะไม่ได้มีเอกภาพมากนักเมื่อเทียบกับม็อบอื่นๆ เช่น กปปส. นปช. พันธมิตรฯ การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในตอนนี้ไม่ได้ทำงานบนความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และเราไม่ใช่ม็อบจัดตั้ง แต่เราทำงานทางความคิด นำด้วยความคิด แต่ละกลุ่มแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีสิ่งที่ต้องการทำ มีกิจกรรมในรูปแบบของเขาเอง แต่สุดท้ายเรามีเอกภาพทางความคิด เราอาจจะไม่ได้มีเอกภาพในเชิงคำสั่ง ไม่ได้มีใครใหญ่พอจะมาสั่งมวลชนหันซ้ายหันขวาได้ ขนาดสั่งกันเองยังทำไม่ได้เลย แต่เราไม่ได้นำด้วยการชี้นิ้ว เรานำด้วยความคิด

ในเมื่อทุกคนเชื่อแบบเดียวกัน มีอุดมคติแบบเดียวกัน ทิศทางของขบวนการก็จะไปในทางเดียวกันถึงแม้จะมีกลิ่น สี และรูปแบบที่หลากหลาย อาจจะดูไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายทุกอย่างไหลไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างเวลาจะจัดม็อบ ก็ต้องดูว่าใครรับเป็นเจ้าภาพ งานนี้ใครออกตัวว่าอยากจัด ใครประกาศจัด พอกลุ่มหนึ่งประกาศว่าจะจัดปุ๊ป กลุ่มที่เหลือก็จะเฮกันไปสนับสนุน กลุ่มที่เป็นเจ้าภาพก็ต้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ส่วนมากก็ไม่ค่อยมีอะไรขัดแย้งกันมากนักหรอกครับ เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน สุดท้ายมักเป็นความแตกต่างเชิงวิธีการไม่ใช่เชิงเป้าหมาย

วิธีการที่เราทำงานกัน แม้จะไม่ใช่ขบวนการที่แข็งเหมือนค้อนที่ทุบทีเดียวแตก แต่เป็นขบวนการที่เหนียวเหมือนเส้นใยที่รวมกันเป็นเชือก ไม่แข็ง แต่เหนียวและทนทาน เรากำลังสู้กับทั้งองคาพยพและคงไม่จบในวันสองวัน เราจึงต้องการขบวนการที่ยืดหยุ่น หนักแน่น อดทน สามารถยืนระยะและปรับตัวกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนไปในระหว่างการต่อสู้ได้

 

:: ชุมนุม 14 ตุลา จะนำไปสู่อะไร ::

 

 

การชุมนุมแต่ละครั้งเราก็ยกระดับไปเรื่อยๆ 14 ตุลานี้ เราชุมนุมในวันธรรมดา เราชวนให้พี่น้องหยุดงานหยุดเรียนมาม็อบ ผมคิดว่ามันจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการชุมนุมวันธรรมดา ที่ผ่านมาเราพยายามไต่เส้นสะสมชัยชนะเพื่อให้ขบวนการของเราแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เรากำลังต่อสู้กับเผด็จการที่ยิ่งใหญ่และมีเพดานสูง เราก็ต้องค่อยๆ สะสมชัยชนะเหมือนก่ออิฐต่อหอคอย

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือของพี่น้องประชาชนด้วย ถ้าพี่น้องมาสมทบและมีความยืดเยื้อ ผมคิดว่ารัฐบาลนั่งไม่ติดแน่นอน เราสะสมชัยชนะมาระดับหนึ่งแล้ว ผมเชื่อว่าจะจบในวันที่ 14 ตุลา และต่อให้ยังไม่จบ นี่จะเป็นการสะสมชัยชนะครั้งใหญ่ วันที่ 14 ตุลา ไม่มีคำว่ากลับบ้านมือเปล่าแน่ๆ

ประเด็นหลักในการต่อสู้ยุคสมัยนี้ไม่ได้อยู่แค่การออกมาร่วมชุมนุมใหญ่เพียงอย่างเดียว การชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการขยายแนวร่วม การสร้างแรงกระเพื่อมจากการชุมนุมในกรุงเทพฯ และในเวทีใหญ่ตามจังหวัดต่างๆ ให้ไปถึงละแวกบ้านของท่าน ไปถึงคนรอบตัวของท่าน การต่อสู้ต้องอยู่ในชีวิตประจำวันด้วย

มีตัวอย่างการต่อสู้ในประเทศเซอร์เบียที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ แน่นอนว่าชุมนุมบ่อยๆ ไม่ได้ เขาจึงใช้วิธีการนัดทุกบ้านเปิดไฟปิดไฟ ให้ไฟกระพริบพร้อมกันทั้งประเทศ พอมีผู้ที่กล้าเปิดเผยว่าไม่เอาเผด็จการ พอไฟกระพริบเกินครึ่งประเทศ ก็ทำให้อีกครึ่งซึ่งไม่ชอบเผด็จการเหมือนกันได้เห็นว่า จริงๆ แล้วเรามีพวกมากขนาดนี้เลยนะ

ผมคิดว่าการต่อสู้ของเราก็เหมือนกัน ต้องคิดว่าจะปลุกหัวจิตหัวใจของพี่น้องยังไงให้มีคนกล้าเปิดหน้าว่าไม่นิยมเผด็จการมากขึ้น นอกจากมาร่วมชุมนุมใหญ่แล้ว จะเป็นอย่างไรถ้ากลับบ้านไปพี่น้องยังผูกโบว์ขาวไว้ที่หน้าบ้าน มีโบว์ขาวเกินล้านหลังคาเรือน ถ้าพี่น้องไปโรงหนังแล้วไม่ยืนขึ้น ถ้าพี่น้องไปจ่ายตลาด ได้ยินเสียงเพลงชาติแล้วชูสามนิ้ว ผมคิดว่าส่งผลสะเทือนแน่นอน

 

:: จะแบ่งที่ยืนกับคนรักสถาบันฯ อย่างไร ::

 

 

ถ้าถามว่าจะแบ่งที่ยืนกับคนที่รักสถาบันฯ แบบสุดๆ อย่างไร ก็ต้องถามกลับว่ากลุ่มคนที่รักสถาบันฯ แบบสุดๆ จะแบ่งที่ยืนให้เราได้อย่างไร เพราะ 80 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นพวกคุณเองไม่ใช่หรือที่ผูดขาดพื้นที่ทั้งหมดไว้ วันนี้ความคิดแบบพวกเราอาจจะเป็นที่แพร่หลาย แต่ในครั้งหนึ่งเมื่อมีคนแบบอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ที่แค่นำเสนอความคิด ก็มีคนเอาปืนไปยิงบ้านเขา

การจะแบ่งพื้นที่กันได้คุณก็ต้องยอมรับในกฎกติการ่วมกันเสียก่อนว่า เราต่างคนต่างมีเสรีภาพทางความคิด ถ้าทุกคนยอมรับในสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าใครจะพูดอะไร จะอวยสถาบันฯ สุดๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์สุดๆ เราก็ไม่มีสิทธิตีหัวซึ่งกันและกัน ถ้าคุณยอมรับในจุดนี้เราทุกคนก็มีที่ยืน ส่วนแนวคิดของคุณจะแพร่หลายขนาดไหนก็ต้องให้สังคมตัดสิน แต่เราต้องอยู่บนกฎกติกาที่แฟร์สำหรับทุกคน

อย่าลืมนะครับว่าในประวัติศาสตร์ เมื่อฝ่ายอำนาจเก่าเริ่มสูญเสียที่ยืน เริ่มสั่นคลอน ก็จะใช้บทขอที่ยืนเป็นปกติ เกิดขึ้นในทุกประเทศ เราก็ต้องยืนบนหลักว่าทุกคนมีที่ยืน แต่เคารพที่ยืนของคนอื่นด้วย ในทางกลับกันถ้าคุณจะใช้เสรีภาพของคุณในการทำลายเสรีภาพของคนอื่น ถ้าคุณมีเสรีภาพในการรักสถาบันฯ แต่ใช้เสรีภาพนั้นมาปลุกปั่นให้เกิดการทำร้ายคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ก็ถือว่าคุณใช้เสรีภาพเกินขอบเขต เสรีภาพจะต้องไม่ถูกใช้เพื่อทำลายเสรีภาพครับ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save