fbpx
ความเป็นประชาธิปไตยในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับ ศรัญญู เทพสงเคราะห์

ความเป็นประชาธิปไตยในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับ ศรัญญู เทพสงเคราะห์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

 

เริ่มต้นตั้งแต่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนวันนี้กลายเป็นที่วนรถที่มีรั้วล้อมตลอดเวลา – อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไหลเวียนความหมายมาแบบนั้น

ท่ามกลางกลุ่มซีเมนต์สีขาวสูงมุ่งสู่ฟ้า กาลเวลากว่า 80 ปีที่อนุสาวรีย์นี้ตั้งตระหง่านอยู่ มีกลุ่มคนเข้ามาใช้พื้นที่ ให้ความหมาย ส่งเสียงเรียกร้องตะโกนเพื่อขอความเป็นธรรมทั้งในทางการเมืองและเรื่องปากท้อง – อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทำหน้าที่มาแบบนั้น

อนุสาวรีย์แห่งนี้อยู่นิ่งคล้ายไม่รู้หนาวร้อน นิ่งท่ามกลางการยื้อยุดช่วงชิงความหมายของผู้คนที่หลากหลาย ไม่ว่าจากชนชั้นปกครองหรือสามัญชน จนขับเน้นให้ความเป็นประชาธิปไตยในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเด่นชัดขึ้น

101 นัดคุยกับ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ผู้เขียนหนังสือราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร’ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อสถาปนาความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เรื่องราวเบื้องหลังของกลุ่มซีเมนต์ที่มีรั้วล้อมอยู่ตลอดเวลาเป็นอย่างไร การเมืองไทยดำเนินมาอย่างไรในห้วงเวลาของการก่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์

 


ความหมายแรกเริ่มของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอย่างไร

รัฐบาลจอมพล ป. มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ เพื่อรำลึกถึงวันที่ 24 มิถุนายนปี 2475 สะท้อนจากตัวเลขต่างๆ ที่อยู่ในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เช่น เลข 24 แทนด้วยปีก 4 ด้าน สูง 24 เมตร แล้วรัศมีจากตัวอนุสาวรีย์ตรงกลางไปจนถึงปีกยาว 24 เมตรพอดี ขณะที่เดือนมิถุนายนก็คือตัวเลข 3 ตามปฏิทินเก่า สะท้อนจากตัวพานรัฐธรรมนูญสูง 3 เมตร ส่วนปี 2475 เขาก็เอาเลข 75 มาเป็นตัวเลขที่แทรกอยู่ในกระบอกปืนใหญ่ที่ฝังอยู่บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเป็นรั้ว 75 กระบอก

มีประตูเป็นรูปพระขรรค์ 6 ด้าม สะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งเป็นแนวนโยบายของคณะราษฎรที่ประกาศในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีหลักเรื่องเอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่คณะราษฎรจะต้องทำ

แต่เดิมตอนที่สร้าง พานรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการปิดทองแบบนี้ แต่มีลักษณะเป็นโลหะสีดำ ไม่ได้ขับเน้นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์แบบพระพุทธรูปปิดทอง กว่าที่เขาจะไปปิดทองจริงๆ ก็คือหลัง 14 ตุลาฯ ปี 2516 นอกจากนี้แล้วยังมีประติมากรรมประดับที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีภาพประชาชน การประกอบอาชีพต่างๆ ทหาร ตำรวจ สอดแทรกอยู่ในประติมากรรมบริเวณฐานของปีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้ง 4 ปีก ซึ่งในส่วนนี้ก็มีการตีความว่านี่แหละคือเรื่องของสามัญชนที่ปรากฏอยู่ในตัวอนุสาวรีย์ ถ้าเราดูแค่ตัวอนุสาวรีย์ แต่ไม่ได้ดูองค์ประกอบทั้งหมด เราอาจจะเห็นว่าเป็นแค่รัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือบอกว่า นี่แหละคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

คนที่ออกแบบคือหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ซึ่งตอนนั้นเป็นสถาปนิกของโยธาธิการ กรมโยธาเทศบาล คนที่ออกแบบประติมากรรมคืออาจารย์ศิลป์ พีระศรี มีลูกศิษย์มาปั้นประติมากรรม ซึ่งประติมากรรมต้นแบบบางส่วนก็ยังเหลืออยู่บริเวณหอประติมากรรมต้นแบบ ซึ่งจะมีประติมากรรมบางอันที่ไม่ถูกนำมาไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้นแบบเฉยๆ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวางศิลาฤกษ์วันที่ 24 มิถุนายน ปี 2482 เปิดในวันที่ 24 มิถุนายนปี 2483 ใช้เวลาสร้าง 1 ปี สร้างเร็วมาก สร้างเสร็จวันที่ 22 มิถุนายน ปี 2483 ก่อนวันเปิด 2 วัน

 

นอกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนินแล้ว ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีอนุสาวรีย์เกิดขึ้นที่อื่นอีกไหม

อนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญปรากฏอยู่ก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนานมากแล้ว โดยอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกก็ปรากฏอยู่ที่อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม เปิดวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ไม่กี่ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในส่วนนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนมหาสารคามมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก เราจะพบอนุสาวรีย์แบบนี้กระจายไปตามพื้นที่อื่นๆ อีกมากมาย เช่น อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่สมุทรสาคร ซึ่งสร้างปี 2478 และตอนนี้ก็เป็นวงเวียนน้ำพุกลางเมืองสมุทรสาคร

ประเด็นที่น่าสนใจคือคนต่างจังหวัดแอคทีฟมากที่จะเอาตัวเขามาปฏิสัมพันธ์กับระบอบใหม่ แสดงออกผ่านการสร้างแลนด์มาร์กที่เชื่อมโยงท้องที่ ด้วยการนำสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญไปวางบนพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ทางอำนาจ เช่น หน้าศาลากลาง ซึ่งก็สะท้อนมุมมองวิธีคิดของคนต่างจังหวัดในช่วงเวลานั้น

พร้อมๆ กันนั้น เมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์แล้ว อนุสาวรีย์ไม่ได้ดำรงอยู่เฉยๆ แต่มีการประกอบพิธี มีการให้ความหมายของอนุสาวรีย์ เช่น เชื่อมโยงคนท้องถิ่นกับอนุสาวรีย์ผ่านงานฉลองรัฐธรรมนูญ งานฉลองวันชาติ ซึ่งก็ทำให้อนุสาวรีย์ผูกพันกับคนในท้องถิ่น ในกรณีของกรุงเทพฯ อนุสาวรีย์แห่งแรกที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญปรากฏอยู่ คืออนุสาวรีย์ปราบกบฏที่บางเขน คณะราษฎรสร้างเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดช ในปี 2476 ที่มีทหารและตำรวจฝั่งคณะราษฎรเสียชีวิต 17 นาย ฟังก์ชันของอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับบรรจุอัฐิทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิต สละชีพเพื่อชาติ และรักษาระบอบรัฐธรรมนูญ

แต่อนุสาวรีย์แห่งนี้แตกต่างต่างจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ราชดำเนิน ตัวอนุสาวรีย์มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญก็จริง แต่ก็มีคำจารึกระบุชัดเจนว่าสร้างเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่เสียชีวิต ปรากฏชื่อทหารตำรวจ 17 นายบริเวณแผ่นจารึกด้านหน้า แล้วด้านหลังก็จารึกโคลงสยามานุสสติเพื่อสะท้อนว่าบ้านเมืองควรมีความสามัคคีปรองดอง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่มีคำจารึก คนยุคสมัยตอนแรกสร้าง เขาก็รู้อยู่แล้ว มีการเผยแพร่ระบบสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับ 24 มิถุนายน 2475 ผ่านในสื่อ ผ่านทางเอกสารของกรมโฆษณาการ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป คนรุ่นหลังอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมัน เพราะไม่มีจารึกมากำกับความหมายของอนุสาวรีย์ ดังนั้นคนหลายกลุ่มที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงให้ความหมายกับอนุสาวรีย์แห่งนี้แตกต่างจากความหมายดั้งเดิม

หากพิจารณาว่าก่อนที่จะสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีแนวคิดการรำลึกถึง 24 มิถุนายน 2475 หรือคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปแบบการสร้างอนุสาวรีย์ไหม ก็ปรากฏหลักฐานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในสมัยรัชกาลที่ 8 ก็คือเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน เสนอขอให้มีการสร้างอนุสาวรีย์สำหรับรำลึกถึงคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือมี ส.ส. เสนอในสภา ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ขอให้มีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงคณะราษฎรในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แต่สุดท้ายแล้ว รัฐบาลของพระยาพหลฯ กลับปฏิเสธหมด ใครจะมาสร้างอนุสาวรีย์ประมาณร้อยคนนึกออกไหม ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า อุดมการณ์มันข้ามพ้นตัวบุคคลไป ไม่ใช่การชูตัวบุคคลขึ้นมาสูงเด่น เพราะฉะนั้นคณะราษฎรจึงปฏิเสธการสร้างรูปตัวบุคคลสำหรับการรำลึกถึงคณะราษฎร แต่มาสร้างในลักษณะระบบสัญลักษณ์แทน

 

 

คณะราษฎรมียุครุ่งเรืองจนกระทั่งปี 2490 ก็เกิดการพลิกขั้วทางการเมือง ซึ่งทำให้สิ่งที่คณะราษฎรสร้างมาตอนแรกถูกช่วงชิงความหมายไปอีกฝั่ง ในช่วงเวลานี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ในยุครุ่งโรจน์ของคณะราษฎรคือ รัฐบาลพระยาพหลฯ และรัฐบาลจอมพล ป. ดำเนินนโยบายตามหลัก 6 ประการ นับตั้งแต่การแก้ไขสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศจนสามารถทำให้ประเทศสยามได้รับเอกราชสมบูรณ์ ในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่พลเมือง มีการปราบปรามโจรผู้ร้าย จัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง จัดการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและจัดสรรทรัพยากรในท้องถิ่นของตน มีการปรับปรุงกิจการราชทัณฑ์

ด้านเศรษฐกิจ มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ มีการตั้งรัฐวิสาหกิจต่างๆ ด้านความเสมอภาคและเสรีภาพ รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติตามชาติกำเนิด รวมถึงมีความพยายามสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นมาแทนที่วัฒนธรรมศักดินา

สุดท้ายคณะราษฎรส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษา ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการจัดการศึกษาภาคบังคับทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ มีการตั้งโรงเรียนจำนวนมาก มีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร มีการตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู มีการส่งเสริมอาชีวศึกษา

คณะราษฎรเริ่มมีความขัดแย้งกันตั้งแต่ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แตกเป็นสองปีก ปีกหนึ่งสนับสนุนญี่ปุ่นนำโดยจอมพล ป. อีกปีกหนึ่งต่อต้านญี่ปุ่นนำโดยปรีดี ซึ่งในส่วนนี้ก็มีการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองด้วย แต่สุดท้ายแล้วเราก็จะพบว่าในช่วงหลังสงครามโลกยุติก็มีความพยายามที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา มีการสร้างบรรยากาศปรองดองให้สอดคล้องกับการสร้างประชาธิปไตย คือมีการนิรโทษกรรมบรรดากบฏที่เคยเป็นฝั่งปฏิปักษ์ปฏิวัติกับคณะราษฎร เช่น กบฏบวรเดช กบฏนายสิบ กบฏ 2481 มีการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประกาศใช้ในปี 2489

แต่จากภาวะหลังสงคราม เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ขณะเดียวกันก็มีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองอย่างเข้มข้น มีพรรคการเมืองสองขั้ว ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนปรีดีอันประกอบด้วยพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญ กับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกอบด้วยกลุ่มอนุรักษนิยม รวมถึงกลุ่มคนที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร ประกอบกับเกิดเหตุการณ์กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ดังนั้นทหารราชการจำนวนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าคณะรัฐประหารจึงได้ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 นำไปสู่จุดสิ้นสุดของคณะราษฎรและบรรดานายทหารจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

 

ณ ตอนนั้น คณะราษฎรจัดวางที่ทางของกองทัพไว้อย่างไรบ้าง ทำไมจึงเกิดรัฐประหารได้

การออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2489 พยายามกันกองทัพออกจากการเมือง ด้วยการกำหนดให้ข้าราชการประจำไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งเป็นฉันทามติร่วมกันในคณะผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน และบรรดากลุ่มเจ้านายบางส่วนที่เข้ามามีบทบาททางการเมือง หัวใจหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 2489 คือกันทหารออกจากการเมือง และการยกเลิกบทบัญญัติที่ว่าด้วยเจ้านายอยู่เหนือการเมือง

ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งระบบ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร กับ พฤฒสภา แม้รัฐธรรมนูญจะออกแบบระบบมาดี แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญก็โดนฉีกในปี 2490

 

ในช่วงปี 2494 มีการริเริ่มแนวคิดว่าจะสร้างอนุสาวรีย์ ร.7 ทับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย สถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร

ผมต้องพูดย้อนกลับไปหน่อย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแสดงออกถึงความเป็น modernity คือความเป็นสมัยใหม่ในยุคคณะราษฎร กลายเป็นแลนด์มาร์กที่อยู่กลางถนนราชดำเนิน เป็นเมกะโปรเจ็กต์สมัยคณะราษฎรที่ต้องการทำให้ถนนราชดำเนินกลางเป็นฉากของความเป็นสมัยใหม่ มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตรงกลาง สองฟากฝั่งมีอาคารสมัยใหม่ บริเวณต้นถนนมีโรงแรม 5 ดาวอย่างโรงแรมรัตนโกสินทร์ บริเวณสะพานผ่านฟ้ามีโรงมหรสพ เช่น ศาลาเฉลิมไทย ทัดเทียมความเป็นอารยะ ความเป็นศิวิไลซ์ ที่ประเทศเจริญแล้วเขามี

ขณะเดียวกัน คณะราษฎรก็กำหนดให้จุดนี้เป็นเป็นหลักหมุดของระบอบประชาธิปไตย มีการตัดถนนประชาธิปไตยผ่านหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ข้ามสะพานวันชาติ ซึ่งเปิดถนนวันเดียวกันกับที่เปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2483 เพราะฉะนั้นในช่วงสมัยยุคคณะราษฎร เวลาจะกำหนดหมุดหมายเกี่ยวกับเส้นทางหลวง เขาก็กำหนดว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือหลักกิโลเมตรที่ 0 หมายความประชาธิปไตยเริ่มจากที่นี่แหละ แล้วก็พุ่งไปที่อื่น สะท้อนให้เห็นว่า นี่คือหมุดหมายหลักในความเจริญของประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือช่วงสมัยคณะราษฎร มีการประกอบพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับอนุสาวรีย์ เช่น ประกอบพิธีงานวันชาติ ประกอบพิธีเดินสวนสนามของยุวชนทหาร ในตอนที่จอมพล ป. หมดอำนาจแล้ว ก็ยังมีพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เช่น การเดินขบวนสวนสนามของสมาชิกขบวนการเสรีไทย การเดินขบวนของกองทหารสัมพันธมิตรที่มีรัชกาลที่ 8 เป็นประธาน ซึ่งก็จัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หลังปี 2490 การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือฝ่ายอนุรักษนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง เริ่มฟื้นฟูอำนาจของพวกเขา เริ่มมีการสร้างความหมาย พยายามดิสเครดิตคณะราษฎร ซึ่งเราก็สังเกตได้จากงานเขียนที่มีการโจมตีคณะราษฎรมากขึ้น มีการสร้างวาทกรรมว่า 2475 คือการชิงสุกก่อนห่าม นำไปสู่การเกิดระบบเผด็จการที่นำโดยจอมพล ป. หรือบอกว่า 2475 เป็นการแย่งอำนาจจากรัชกาลที่ 7 จนนำไปสู่การเกิดกษัตริย์หลายพระองค์ ฝ่ายอนุรักษนิยมเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ถึงแม้ว่าจอมพล ป. จะยังเป็นนายกฯ ในช่วงปี 2491 แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนในสมัยแรกแล้ว มีการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. หลายครั้งในรูปแบบของกบฏ เช่น กบฏเสนาธิการ กบฏวังหลวง และกบฏแมนฮัตตัน แต่รัฐบาลก็สามารถปราบปรามฝ่ายกบฏได้หมด และเมื่อรัฐบาลมีอำนาจมั่นคงแล้วจึงกระชับอำนาจของตนด้วยการยุติบทบาทของกลุ่มอนุรักษนิยมผ่านการทำรัฐประหารตัวเองในปี 2494

 

รัฐประหาร 2494 มีความน่าสนใจอย่างไร

การเมืองในช่วงหลังปี 2490 กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมือง มีคณะรัฐประหาร มีกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีบทบาททางการเมืองในสภา มีบทบาทผ่านทางพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกฯ แต่สุดท้ายแล้วนายควงเป็นนายกฯ ไม่ถึงปี คณะรัฐประหารจี้นายควงออก แล้วตั้งให้จอมพล ป. มาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกรอบหนึ่ง แต่การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของจอมพล ป. รอบสองไม่สามารถคุมรัฐสภาได้ เพราะในสภาเต็มไปด้วยกลุ่มอนุรักษนิยมที่เข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ในขณะเดียวกันก็ยังมี ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงตัวเป็นฝ่ายค้านอยู่

เพราะฉะนั้นเมื่อจอมพล ป. ปราบปรามฝ่ายกบฏเรียบร้อย เราก็จะพบว่า จอมพล ป. พยายามสร้างอำนาจให้ตัวเองด้วยการทำรัฐประหารอีกรอบหนึ่ง ในปี 2494 ซึ่งการรัฐประหาร 2494 หัวใจสำคัญคือพยายามกันบรรดาพวกอนุรักษนิยมออกไปจากเวทีทางการเมือง ด้วยการเปิดทางให้บรรดานายทหารในคณะรัฐประหารเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ด้วยวิธีการนำเอารัฐธรรมนูญปี 2475 กลับมาใช้ใหม่

อย่างไรก็ตามจอมพล ป. ก็ต้องกลับมาประนีประนอมกับกลุ่มอนุรักษนิยม จนนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2475 ซึ่งรัฐธรรมนูญออกมาก็เป็นฉบับ 2495 เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้กองทัพเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ผ่านการเป็น ส.ส. ประเภทสอง ที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะฉะนั้นคณะรัฐประหารก็สามารถตั้งคนของตัวเองเข้ามานั่งในสภา ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มพระราชอำนาจแบบรัฐธรรมนูญของกลุ่มอนุรักษนิยมในปี 2492 มาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2495 ด้วย

พวกฝ่ายอนุรักษนิยมมีความพยายามในการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ซึ่งไอเดียที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงการรัฐประหารปี 2494 รัฐบาลจอมพล ป. พยายามที่จะอ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2475 ว่าเกิดมาจากการพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 ซึ่งในส่วนนี้ก็มีข้อเสนอว่า ควรจะมีการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 พยายามหาพื้นที่ในการสร้าง จนสุดท้ายคณะกรรมการหาพื้นที่ก็เลือกมาสองที่ คือบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งตอนนั้นเป็นที่ประชุมของรัฐสภา และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สุดท้ายแล้วคณะกรรมาธิการที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยม ก็เสนอให้สร้างที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้อนุสาวรีย์ ร.7 ไปแทนที่ ซึ่งในส่วนนี้ก็คือการพยายามรื้อความหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพวกเขามองว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิต เป็นแค่วัตถุ เพราะฉะนั้นควรสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปบุคคลมากกว่า นี่คือการกลับไปดูอนุสาวรีย์แบบไทยๆ มากเลย คือต้องมีการสร้างในรูปของบุคคล ไม่เอาลักษณะนามธรรมเพราะความหมายลื่นไหลเกินไป

แต่สุดท้าย ถึงมีแบบออกมาเรียบร้อย แต่เมื่อถึงขั้นตอนอนุมัติโครงการของบประมาณ จอมพล ป. กับ ประยูร ภมรมนตรีก็ปฏิเสธ คัดค้านไม่ให้สร้าง ด้วยการบอกว่าไม่มีงบประมาณในการสร้าง โครงการนี้ก็พับไป แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าในด้านหนึ่งก็เป็นความพยายามรื้อความหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็จะสัมพันธ์กับการนิยามประชาธิปไตยอีกแบบหนี่ง คือในช่วงหลังปี 2490 มีประชาธิปไตยคนละแบบกับคณะราษฎรแล้ว คณะราษฎรให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญในการปกครองประเทศ ซึ่งการมีรัฐธรรมนูญคือการจำกัดอำนาจ ในขณะที่หลังปี 2490 เราจะพบคำใหม่ขึ้นมาคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้เห็นว่าในด้านหนึ่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เป็นพื้นที่ต่อสู้ช่วงชิงความหมายด้วย

 

เราคุยกันถึงการช่วงชิงความหมายของชนชั้นปกครองมาแล้ว แล้วเมื่อไหร่ที่สามัญชนคนทั่วไปเริ่มฉวยใช้ความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในการต่อสู้ทางการเมือง 

ผมว่าน่าจะประมาณช่วงปี 2516 การกำหนดนิยามอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การให้ความสำคัญ ให้คุณค่าสัมพันธ์กับเรื่องของมวลชน เริ่มตั้งแต่การใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่การชุมนุมช่วงก่อน 14 ตุลาฯ จากบรรดาพวกนักศึกษา แล้วหลังจากนั้นเราก็จะเห็นชัดเจนในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เมื่อพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นหมุดหมายสำคัญของบรรดานักศึกษาในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นภาพมวลชนจำนวนมาก มีการชุมนุมครั้งใหญ่ที่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นฉากหลัง

เวลารำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เขาก็จะไปรำลึกกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะมีการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เพราะเขาก็มองว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้สัมพันธ์กับการเรียกร้องประชาธิปไตย ในขณะที่ความหมายแบบดั้งเดิมหายไปแล้ว เพราะเอาเข้าจริง ถ้าพูดตรงๆ บรรดานักศึกษาเขามอง 2475 ในแง่ลบด้วยซ้ำ บรรดาคณะราษฎรถูกให้ความหมายในเชิงลบมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่หลัง 2490 เห็นได้ชัดเจนในสมัยสฤษดิ์ คณะราษฎรกลายเป็นผู้ร้ายแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนักศึกษา ประชาชน ลุกฮือขึ้นมาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เกิดการชุมนุม ก็มีการสร้างความหมายใหม่ให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่แบบเดิมกับ 24 มิถุนายน 2475 แต่นี่คืออนุสาวรีย์ที่เป็นการรำลึกถึงการเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ถามว่าไอเดียเกี่ยวกับการรื้ออนุสาวรีย์หายไปไหม ก็ยังไม่หาย ยังมีการบอกว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ไม่มีคุณค่าอะไร เหมือนเป็นกองซีเมนต์ที่วางอยู่กลางถนนราชดำเนิน รถติด เห็นควรว่าควรจะรื้อ บางครั้งก็คือมีความพยายามที่จะรื้อป้อมตรงกลาง แล้วสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 มาแทนที่

แต่สุดท้าย เมื่อนักศึกษาใช้พื้นที่ตรงนี้แล้วถูกให้ความหมายใหม่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็จะถูกกำหนดนิยาม ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทั้งบรรดาพวกชนชั้นนำหรือมวลชนที่มาเคลื่อนไหว

 

ความพิเศษของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคืออะไร ทำไมความหมายถึงเลื่อนไหลเข้าได้กับคนทุกกลุ่ม

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่มีคำจารึก ไม่มีอะไรมากำหนดความหมายที่ตายตัวของอนุสาวรีย์ แตกต่างจากอนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรืออนุสาวรีย์ที่เป็นรูปบุคคล อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นนามธรรม ความหมายลื่นไหลไปได้ตามยุคสมัย ตามบริบททางการเมือง หรือผู้ที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับอนุสาวรีย์ เพราะฉะนั้นจึงเปิดทางให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ มาประกอบพิธี มาทำกิจกรรมทางการเมือง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ได้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชื่อก็เป็นชื่อแบบกว้างๆ ที่ทำให้คนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมกับอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้

 

หลังการรัฐประหาร 2549 ทำให้คนกลับมาพูดคำว่าประชาธิปไตยกันมากขึ้น ในขณะที่ก็มีการถกเถียงว่าประชาธิปไตยของแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน บทบาทของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงวิกฤตการเมืองหลังปี 2549 เป็นอย่างไร

หลังปี 2549 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอีกพื้นที่ทางการเมืองที่เราแสดงออกได้ แต่ก็มีพื้นที่ทางการเมืองอื่นๆ อยู่ เช่น สนามหลวง ลานพระบรมรูปทรงม้า ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มพยายามเอาตัวเองเข้าไปยึดโยงกับตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อย่างน้อยชื่อกลุ่มต้องมีคำว่าประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าแนวทางการเคลื่อนไหวและอุดมการณ์อาจจะไม่เป็นประชาธิปไตยก็ได้ แต่เหมือนเป็นหมุดหมายบางอย่างที่คนทุกกลุ่มต้องพยายามเข้าไปเชื่อมโยงกับอนุสาวรีย์แห่งนี้

แต่ถ้าพูดถึงกรณีหลังปี 2549 ผมอยากพูดถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏมากกว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏแทบจะไม่มีความหมายทางการเมืองแล้ว ตายสนิทไปเรียบร้อยแล้ว แต่ไปๆ มาๆ อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งโดยกลุ่มคนเสื้อแดงที่เข้าไปประกอบพิธีกรรม พยายามที่จะยึดโยงคณะราษฎร 2475 กับการเคลื่อนไหวของพวกเขาในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย มีการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รื้อฟื้นคณะราษฎรในความหมายใหม่ ซึ่งทำให้อนุสาวรีย์ปราบกบฏกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่งที่มีชีวิตชีวามาก ซึ่งผมก็ยังทันเห็นอยู่ มีการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงบริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏด้วย

ด้านหนึ่งเราก็จะพบว่า จากการรื้อฟื้นแล้วมีความหมายที่ยึดโยงกับการเมืองร่วมสมัยมากขึ้น ทำให้อนุสาวรีย์แห่งนั้นเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างจะอันตรายมากๆ หลังการรัฐประหาร 2557 เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เมื่อกลุ่มอนุรักษนิยมมีอำนาจ มีอิทธิพลมากขึ้นหลังปี 2557 แลนด์มาร์กต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรที่ยึดโยงอยู่กับกลุ่มเสื้อแดงจึงถูกทำให้หายไป ซึ่งอันนี้ก็จะเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวร่วมสมัยด้วย

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่างหรือมีความพิเศษกว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏอย่างไร ทำไมจึงยังไม่โดนอะไรจนถึงวันนี้

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีคนหลายกลุ่มไปแชร์พื้นที่และสร้างความหมาย ไม่ว่าจะเป็นคนเดือนตุลาฯ คนพฤษภาฯ 35 คนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง คนเสื้อหลากสี กปปส. ไม่ได้ยึดโยงอะไรกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นการไปยุ่งกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอาจจะทำให้คนหลายๆ กลุ่มตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหว ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเปิดให้คนทุกกลุ่มเข้ามาแชร์ความหมาย ขณะเดียวกันความหมายแบบดั้งเดิม ก็ยังมีคนรู้ แต่ความหมายใหม่มันเยอะมาก เพราะฉะนั้นการจะทำอะไรกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

 

ณ ตอนนี้ ใครเป็นฝ่ายที่ช่วงชิงความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้มากกว่า

ตอนนี้ผมว่าไม่สามารถยึดกุมความหมายได้แล้วนะ มันมีความหมายที่หลากหลาย อย่างผมอาจจะมองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในฐานะนักประวัติศาสตร์ก็คือ 24 มิถุนายน 2475 แต่คนอื่นอาจจะมองไม่เหมือนผมก็ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราไม่สามารถผูกขาดความหมายให้กับอนุสาวรีย์ไว้ได้เพียงความหมายเดียว อาจจะเป็นผลดีสำหรับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยซ้ำ ตรงที่ไม่ได้มีการผูกขาดความหมายใดความหมายหนึ่งโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้อยู่รอดปลอดภัย แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทำให้ความหมายตายตัว แข็งทื่อ เชื่อมโยงกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สุดท้ายแล้ว การอยู่รอดปลอดภัยอาจจะไม่นาน เมื่อการเมืองเปลี่ยน มีจุดพลิกผันทางการเมือง ก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ หรือเปลี่ยนแปลงอนุสาวรีย์ได้

ปรากฏการณ์เหล่านี้เห็นได้ชัดเจนในกรณีของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจแล้ว เมื่อพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญขาดหายไป ไม่ได้จัดงานฉลองวันชาติแล้ว คนท้องถิ่นก็ไม่ได้ยึดโยงกับอนุสาวรีย์ เพราะฉะนั้นอนุสาวรีย์พวกนี้จึงค่อยๆ ลดทอนความหมายลงไป จนบางครั้งถูกทุบทิ้งไปก็มี ถูกเคลื่อนย้ายไปก็มี บางครั้งอาจจะตั้งไว้อย่างนั้น แต่ก็ไม่รู้ความหมายจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นอนุสาวรีย์จะอยู่รอดปลอดภัยไหมขึ้นอยู่กับว่ามันมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างไร ขณะเดียวกันก็จะสัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไข บริบทของสังคม การเมือง เพราะจุดมุ่งหมายของอนุสาวรีย์แต่ละที่ก็คือการรำลึกถึง อยู่ที่ว่าพวกเขาจะรำลึกถึงในความหมายแบบไหน

 

มีคนบอกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นได้แค่ที่วนรถ ถ้าให้คุณนิยามอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คุณจะนิยามอย่างไร

ไม่ใช่แค่ที่วนรถแน่ๆ อย่างน้อยถ้าเข้าไปในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องเดินตามแน่ เผลอๆ อาจจะโดนจับ เพราะตำรวจอาจคิดว่ามาแสดงสัญลักษณ์หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ อนุสาวรีย์ยังคงเป็นพื้นที่ทางการเมือง ตัวอย่างที่ใกล้ๆ คือ การรำลึกเหตุการณ์ประหารชีวิตครูครอง จันดาวงศ์ หรือการรำลึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 ที่เพิ่งผ่านมา นักกิจกรรมยังออกมาเคลื่อนไหวที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในการแสดงออกทางการเมือง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพบกับป้ายข้อความว่าปิดปรับปรุงบริเวณอนุสาวรีย์ในทุกครั้งเมื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save