fbpx
ความเข้มแข็งและคุณภาพประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

ความเข้มแข็งและคุณภาพประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ถ้าประชาธิปไตยหมายถึงการเลือกตั้ง เราจะพบว่าในลาตินอเมริกานั้นการเลือกตั้งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญนับตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา การออกมาออกเสียงของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และแทบทุกครั้งมีประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี อาทิ การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2015 ที่อาร์เจนตินา มีผู้มาลงคะแนนถึงร้อยละ 81 ขณะที่การเลือกตั้งของเฮติในปีเดียวกันกลับมีผู้มาออกเสียงเพียงแค่ร้อยละ 18[1]

ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 มีเพียงไม่กี่ครั้งที่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกรัฐประหารโดยกองทัพ หรือจากการเดินขบวนประท้วงขับไล่ของประชาชน โดยระหว่างปี ค.ศ. 2000 ถึงปี ค.ศ. 2016 มีความพยายามที่จะถอดถอนประธานาธิบดีในลาตินอเมริกาผ่านขบวนการทางรัฐสภาประมาณ 17 ครั้ง ผลลัพธ์โดยส่วนใหญ่ลงเอยด้วยวิธีทางประชาธิปไตย ยกเว้นเพียงสามครั้งที่เกิดการรัฐประหาร (ปารากวัยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2000 เวเนซุเอลาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2002 และฮอนดูรัสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2009) โดยในกรณีของปารากวัยและเวเนซุเอลานั้นการรัฐประหารล้มเหลว ส่วนฮอนดูรัสแม้การรัฐประหารจะสำเร็จ แต่ถูกประณามจากประชาคมโลกเป็นอย่างมาก เกิดแรงกดดันจนนำไปสู่การเลือกตั้งโดยไม่ชักช้า[2]

และแม้จะมีความขัดแย้งทางรัฐสภาเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ แต่น้อยครั้งที่จะเกิดการแทรกแซงโดยกองทัพ ยกตัวอย่างในปี ค.ศ. 2016 ประธานาธิบดีจิลมา ฆุสเซฟ ของบราซิล ถูกรัฐสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง เกิดความวุ่นวายทางการเมืองตามมา มีการเดินขบวนประท้วง แต่ท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์ก็คลี่คลายลงได้ด้วยกระบวนการทางรัฐสภา จนนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในปี ค.ศ. 2018[3]

จากอดีตที่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาเคยถูกแทรกแซงโดยกองทัพมาเป็นระยะ ทำให้นักรัฐศาสตร์ที่สนใจศึกษาภูมิภาคนี้ใคร่รู้ว่า เพราะเหตุใดลาตินอเมริกาถึงได้มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา แนวความคิดเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยสามารถอธิบายได้หลายรูปแบบ และเป็นข้อถกเถียงมากกว่าประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังไม่เน้นความสำคัญของชนชั้นนำ แต่ให้ความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างระเบียบทางการปกครองใหม่กับสังคม

นักวิชาการหลายสำนักมีความเห็นว่าประชาธิปไตยจะถูกทำให้เข้มแข็งได้ เมื่อทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่ารูปแบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นหนทางเดียวที่มีความชอบธรรมในทางการเมือง เป็นกติกาเดียวที่ทุกฝ่ายจะต้องให้การยอมรับและปฏิบัติตาม[4] ระเบียบทางประชาธิปไตยนี้จะค่อยๆ กลายเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ทำให้การแทรกแซงของกองทัพกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคม

ในทางปฏิบัติแล้ว การที่ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง ก็เพราะคนในสังคมมีการเคารพในกฎ กติกา และกระบวนการทางประชาธิปไตยนั่นเอง Linz และ Stepan[5] เห็นว่าประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรม ความคิด อุดมการณ์ และกติกาในการดำเนินชีวิตของประชาชน ทั้งคู่สรุปว่าเงื่อนไขที่จำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย จะต้องประกอบไปด้วยประชาสังคมที่มีจิตสำนึก การเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม ระบอบนิติรัฐ บทบาทของรัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด และระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่คำนึงถึงสวัสดิการของประชาชน

นอกจากปัจจัยดังกล่าว Diamond[6] ยังเสริมว่าพฤติกรรมและการแสดงออก ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย เช่นเดียวกับงานศึกษาของ Mainwaring และ Pérez-Liñan[7] ที่แสดงให้เห็นว่าความเข้มแข็งของประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนา แต่ขึ้นอยู่กับความจริงใจในการดำรงอยู่ในกติกาประชาธิปไตยของทุกฝ่ายมากกว่า

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการบางท่านเห็นว่ามีข้อบกพร่องในการเหมารวมว่าการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบเช่นไรบ้าง กระทั่งตั้งข้อสังเกตว่าความเข้มแข็งของประชาธิปไตยนั้นมีจริงหรือไม่[8] และองค์ประกอบของการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยบางอย่างก็มีปัญหาในตัวของมันเอง

ดังนั้นนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา จึงมีการใช้คำว่า ‘ความอ่อนไหวของระบอบประชาธิปไตย’ (Unconsolidated) สำหรับบางประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในขั้นก่อร่างสร้างตัว หรือไม่ได้มีองค์ประกอบที่ชัดเจนของการเป็นประชาธิปไตย หรืออย่างที่ O’Donnell[9] ใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบทำแทน’ (Delegative Democracy) ในการอธิบายถึงประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ในลาตินอเมริกาที่ยังไม่ถึงขั้นมีความเข้มแข็งพอ แต่สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้

ในช่วงเวลาไม่นานนี้ The International Institute for Democracy and Electoral Assistance (IDEA) ได้พยายามศึกษาถึงคุณภาพของประชาธิปไตยที่เหมาะสมในลาตินอเมริกาว่าควรจะมีลักษณะเช่นไร โดยอาศัยแนวความคิดของนักวิชาการชาวอิตาเลียน Leonardo Morlino ที่ชี้ว่าคุณภาพของประชาธิปไตยที่ดีจะต้องประกอบไปด้วย “โครงสร้างทางสถาบันที่เข้มแข็งในการการันตีถึงอิสรภาพและความเท่าเทียม โดยอาศัยกระบวนการที่ชอบธรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน”[10] จากคำนิยามดังกล่าว ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีคุณภาพในผลลัพธ์  รัฐบาลมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับของประชาชน
  • มีคุณภาพในสาระ  ประชาชน องค์กร หรือภาคประชาสังคมมีเสรีภาพและความเท่าเทียม
  • มีคุณภาพในกระบวนการ  ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่าได้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในการประกันเสรีภาพและความเท่าเทียมของประชาชนภายใต้กรอบกฎหมาย

ถึงแม้การพัฒนาประชาธิปไตยของลาตินอเมริกา จะไม่สามารถเข้าใจได้โดยอาศัยกรอบความคิดใดความคิดหนึ่งแต่เพียงลำพัง แต่การมีแนวทางการวิเคราะห์ที่พยายามสร้างแนวทางในการศึกษาก็นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับการเปรียบเทียบกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ช่วยชี้ให้เห็นถึงส่วนที่ขาดหายไปของแต่ละทฤษฎี

สำหรับการเลือกตั้งในลาตินอเมริกาที่มีมาอย่างเข้มข้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 แม้จะสร้างความประทับใจในพัฒนาการของประชาธิปไตยในภูมิภาค แต่ในเรื่องความเข้มแข็งและคุณภาพของประชาธิปไตยนั้นยังเป็นที่ตั้งคำถามอยู่ การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาในปัจจุบันเน้นการศึกษาอยู่สามประการคือ

  • การศึกษาเรื่องสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นประสิทธิภาพและความรับผิดชอบ
  • การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วม
  • การศึกษาเรื่องบทบาทของอัตลักษณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ เชื้อชาติและชาติพันธุ์[11]

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลอีกหลายประการที่นักวิชาการให้ความสนใจ เมื่อศึกษาถึงคุณภาพและอุปสรรคที่ท้าทายต่อประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา[12] อาทิ ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน ปัญหาความรุนแรงทางการเมือง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเมืองและเศรษฐกิจ[13] เช่นในกัวเตมาลาที่แม้จะมีกระบวนการทางประชาธิปไตยในการเลือกรัฐบาล มีการมีส่วนร่วมทางการเมืองจากประชาชนทุกระดับ และมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด มีสถาบันทางการเมืองตามโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประเทศก็ยังประสบปัญหาความรุนแรงจากอาชญากรรมในระดับสูง พรรคการเมืองเกิดความระส่ำระสายจนก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม[14]

ส่วนในบราซิลซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ประชาชนกลับเบื่อหน่ายในปัญหาการคอร์รัปชันที่แพร่ขยายเป็นวงกว้างในสังคม กลายเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การถอดถอนประธานาธิบดีจิลมา ฆุสเซฟ [15] ขณะที่การคืนอำนาจของพรรค Institutional Revolutionary Party ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเม็กซิโกเมื่อปี ค.ศ. 2012 ถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นการหวนคืนอำนาจของการเมืองแบบพรรคเดียวหรือไม่ เหมือนที่เคยเป็นในอดีตนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 ถึงปี ค.ศ. 2000[16]

มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ศึกษาและวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยใดบ้าง ที่จะเป็นตัวตัดสินว่าประชาธิปไตยลักษณะนี้จะมีความเข้มแข็งหรือไม่ และได้จำแนกรายประเทศในลาตินอเมริกาตามลำดับของความเข้มแข็งของประชาธิปไตย อาทิ

  • Mꬾller และ Skaaning[17] จำแนกระบอบการเมืองแบบ ‘คลื่นลูกที่สาม’ ในลาตินอเมริกาออกเป็นประชาธิปไตย 4 ลักษณะ ได้แก่ ประชาธิปไตยที่เบาบาง (Minimalist Democracy) ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง (Electoral Democracy) ประชาธิปไตยของเสียงส่วนใหญ่ (Polyarchy) และเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ควบคู่ไปกับการจำแนกออกเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ (Closed Autocracies) กับเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง (Electoral Autocracies) เมื่อนำมาจำแนกกับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา จะมีลักษณะดังนี้ ชิลี คอสตาริกา และอุรุกวัย มีรูปแบบการเมืองการปกครองเป็นแบบเสรีประชาธิปไตย  บราซิล สาธารณรัฐโดมินิกัน และปานามา มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยของเสียงส่วนใหญ่  เอลซัลวาดอร์ เปรู เป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ขณะที่โบลิเวีย โคลอมเบีย กัวเตมาลา เม็กซิโก และปารากวัย เป็นระบอบประชาธิปไตยที่เบาบาง ส่วนเฮติ ฮอนดูรัส นิคารากัว และเวเนซุเอลา เป็นเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง ส่วนคิวบานั้นเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ
  • Mainwaring และ Pérez-Liñán[18] วิเคราะห์ความหลากหลายของประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาและแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้ ประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีคุณภาพ ประกอบด้วยชิลี คอสตาริกา และอุรุกวัย  ประชาธิปไตยที่มั่นคงแต่ยังมีจุดบกพร่อง ประกอบด้วยบราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา เปรู สาธารณรัฐโดมินิกัน เอลซัลวาดอร์ และปานามา  ประชาธิปไตยคุณภาพต่ำและมีลักษณะหยุดนิ่ง ประกอบด้วยโคลอมเบีย กัวเตมาลา เฮติ และปารากวัย ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือประชาธิปไตยที่กำลังถูกบ่อนเซาะและมีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการ ประกอบด้วยเวเนซุเอลา โบลิเวีย เอกวาดอร์ ฮอนดูรัส และนิคารากัว
  • The Economist Intelligence Unit (The EIU) [19] จัดให้อุรุกวัยเพียงประเทศเดียวที่เป็นประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ (Full Democracies) ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเป็นประชาธิปไตยที่มีจุดบกพร่อง (Flawed Democracies) ขณะที่กัวเตมาลา เอกวาดอร์ ฮอนดูรัส โบลิเวีย นิคารากัว และเวเนซุเอลา เป็นการเมืองแบบลูกผสม (Hybrid Regimes) คือผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ ส่วนเฮติและคิวบาถูกจัดเป็นระบอบการเมืองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ (Full Authoritarian)
  • The BTI Status Index[20] จัดอันดับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพของประชาธิปไตยทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2016 ได้จำแนกลักษณะของประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาดังนี้ ประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็ง (Democracy in Consolidation) ได้แก่ อุรุกวัย ชิลี คอสตาริกา และบราซิล  ประชาธิปไตยที่มีจุดบกพร่อง (Defective Democracy) ได้แก่ ปานามา เอลซัลวาดอร์ เปรู อาร์เจนตินา โคลอมเบีย โบลิเวีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เม็กซิโก ปารากวัย ฮอนดูรัส เอกวาดอร์ นิคารากัว และกัวเตมาลา  เผด็จการอย่างอ่อน (Moderate Autocracy) ได้แก่ เวเนซุเอลา และเผด็จการเต็มรูปแบบ (Hardline Autocracy) ได้แก่ คิวบา และเฮติ
  • The IDD-Lat Indice de Desarrollo Democrático de América Latina หรือ The Democratic Development Index (DDI)[21] วัดประสิทธิภาพของประชาธิปไตย รวมทั้งสิทธิเสรีภาพ คุณภาพของสถาบันทางการเมืองและรัฐบาล มีการแบ่งระดับการพัฒนาประชาธิปไตยออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้  ประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาอย่างมาก ได้แก่ อุรุกวัย คอสตาริกา ชิลี และปานามา  ประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาในระดับปานกลาง ได้แก่ เปรู อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ โบลิเวีย และบราซิล  ประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาในระดับน้อย ได้แก่ เม็กซิโก เอลซัลวาดอร์ โบลิเวีย และบราซิล ส่วนกลุ่มสุดท้ายอันประกอบด้วยฮอนดูรัส นิคารากัว เวเนซุเอลา และกัวเตมาลา มีการพัฒนาประชาธิปไตยที่น้อยที่สุด
  • นักวิชาการอเมริกันยังให้ความสนใจกับระบอบประชาธิปไตยในเวเนซุเอลาและเอกวาดอร์ โดยจัดว่าทั้งสองประเทศมีลักษณะการเมืองแบบลูกผสม (Hybrid Systems) ระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ หรือเรียกว่า ‘เผด็จการแบบที่มีการแข่งขัน’ (Competitive Authoritarian)[22] ดังที่ González[23] มองว่าทั้งสองประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยในระดับที่น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นอื่นที่ว่า ทั้งสองประเทศอาจเป็นตัวอย่างของระบอบประชาธิปไตยที่ง่อนแง่น เนื่องจากมีลักษณะของการเมืองแบบประชานิยมเข้ามามีบทบาทในระดับที่สูงมากนับตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ดังที่ Corrales[24] ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมการเมืองแบบลูกผสมในบางประเทศยังมีลักษณะผสมผสานกันของทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ ขณะที่ในบางประเทศมีความโน้มเอียงไปสู่เผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ในเวเนซุเอลา ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบอบพรรคการเมืองแบบเดิมนั้นค่อยๆ หมดความสำคัญลงไป ขณะที่อำนาจของประธานาธิบดีกลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขยายอำนาจประธานาธิบดีออกไปอย่างกว้างขวาง และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่จำกัดสมัย
  • นอกจากนี้ The EIU ยังตั้งข้อสังเกตว่าระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันของลาตินอเมริกา เผชิญปัญหากับการเมืองที่เน้นความสำคัญของตัวบุคคล ปัญหาการคอร์รัปชัน ปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ระบอบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยสั่นคลอน ไม่อาจต้านทานอำนาจของการเมืองแบบประชานิยมดังที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา[25]

 

จากการจำแนกที่ว่ามา แม้จะมีความแตกต่างกันในระเบียบวิธีวิจัย แต่ในภาพรวมต่างมีข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันว่าปัจจุบันประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา ยังมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่ในระดับที่ต่ำ มีแค่ไม่กี่ประเทศที่การพัฒนาประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง ที่น่ากังวลคือการถดถอยของประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้ อาทิ เม็กซิโก ฮอนดูรัส กัวเตมาลา นิคารากัว และเวเนซุเอลา

 


 

เชิงอรรถ

[1] IDEA, “Databases, Voter Turnout,” Online: www.idea.int/vt [เข้าถึง 28 กันยายน 2561].

[2] Nancy Bermeo, “On Democratic Backsliding,” Journal of Democracy 27, no. 1 (2016): 5-19.

[3] Marcus André Melo, “Latin America’s New Turbulence: Crisis and Integrity in Brazil,” Journal of Democracy 27, no. 2 (2016): 50-65.

[4] Adam Przeworski, Democracy and the Market: Political and Economic Reforms in Eastern Europe and Latin America (Cambridge: Cambridge University Press, 1991).

[5] Juan Linz, and Alfred Stepan (eds.), Problems of Democratic Transition and Consolidation: Southern Europe, South America, and PostCommunist Europe (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 1996).

[6] Larry Diamond, Developing Democracy: Toward Consolidation (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 1999).

[7] Scott Mainwaring, and Aníbal Pérez-Liñan, “Lessons from Latin America,” Journal of Democracy 24, no. 2 (2013): 123-137.

[8] Ben Ross Schneider, “Democratic Consolidations: Some Broad Comparisons and Sweeping Arguments,” Latin American Research Review 30, no. 2 (1995): 215-234; Adam Przeworski et al, “What Makes Democracies Endure?” Journal of Democracy 7, no. 1 (1996): 39-55; Felipe Agüero, “Conflicting Assessments of Democratization: Exploring the Fault Lines,” in Felipe Agüero, and Jeffrey Stark (eds.), Fault Lines of Democracy in Post-Transition Latin America (Coral Gables, Florida: North-South Center Press, 1998) และ Laurence Whitehead, “The Viability of Democracy,” in John Crabtree, and Laurence Whitehead (eds.), Towards Democratic Viability: the Bolivian Experience (Basingstoke: Palgrave, 2001).

[9] Guillermo O’Donnell, “Delegative Democracy,” Journal of Democracy 5, no. 1 (1994): 55-70.

[10] IDEA, The Quality of Democracies on Latin America (Stockholm: IDEA, 2016).

[11] Guillermo O’Donnell et al (eds.), New Voices in the Study of Democracy in Latin America (Washington D.C.: Woodrow Wilson International Center for Scholars, 2008) และ IDEA, The Quality of Democracies on Latin America (Stockholm: IDEA, 2016).

[12] Larry Diamond, and Marc F. Plattner (eds.), Democracy in Decline? (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 2015) และ IDEA, The Quality of Democracies on Latin America (Stockholm: IDEA, 2016).

[13] Stephen D. Morris, and Charles H. Blake (eds.), Corruption and Politics in Latin America: National and Regional Dynamics (Boulder: Lynne Rienner).

[14] Anita Isaacs, “Trouble in Central America: Guatemala on the Brink,” Journal of Democracy 21, no. 2 (2010): 108-122.

[15] Marcus André Melo, “Latin America’s New Turbulence: Crisis and Integrity in Brazil,” Journal of Democracy 27, no. 2 (2016): 50-65.

[16] Gustavo Flores-Macías, “Mexico’s 2012 Elections: The Return of the PRI,” Journal of Democracy 24, no. 1 (2013): 128-141.

[17] Jꬾrgen Mꬾller, and Svend-Erik Skaaning, “The Third Wave: Inside the Numbers,” Journal of Democracy 24, no. 4 (2013): 97-109.

[18] Scott Mainwaring, and Aníbal Pérez-Liñan, “Cross-Currents in Latin America,” Journal of Democracy 26, no. 1 (2015): 114-127.

[19] EIU (Economist Intelligence Unit), Democracy Index 2015: Democracy in an Age of Anxiety (London: EIU, 2016).

[20] BTI (Bertelsmann Transformation Index), “Status Index: Political Transformation,” Online: www.bti-project.org/en/index/status-index [เข้าถึง 30 กันยายน 2561].

[21] IDD-Lat, “Indice de Desarrollo Democrático de América Latina 2015: Informe Regional,” (Montevideo: Fundación Konrad Adenauer/Politat.com). Online: www.idd-lat.org/2015 [เข้าถึง 2 ตุลาคม 2561].

[22] Steven Levitsky, and Lucan A. Way, Competitive Authoritarianism: Hybrid Regimes After the Cold War (Cambridge: Cambridge University Press, 2011).

[23] Luis E. González, “Political Crises and Democracy in Latin America Since the End of Cold War Era,” Kellogg Institute for International Studies, Working Paper no. 353 (2018).

[24] Javier Corrales, “The Authoritarian Resurgence: Autocratic Legalism in Venezuela,” Journal of Democracy 22, no. 1 (2015): 37-51.

[25] EIU (Economist Intelligence Unit), Democracy Index 2015: Democracy in an Age of Anxiety (London: EIU, 2016).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save