fbpx
เส้นทางยอกย้อนของ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘สาธารณรัฐ’ ในการเมืองไทย

เส้นทางยอกย้อนของ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘สาธารณรัฐ’ ในการเมืองไทย

ธนาพล  อิ๋วสกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

 

“ประเทศไทยไม่ใช่สาธารณรัฐ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

8 ธันวาคม 2563

 

‘ประชาธิปไตย’ ก่อน 2475 คือ ‘สาธารณรัฐ’ (ในความหมายปัจจุบัน)

 

 

ประชาธิปไตย [—ปะไต]  ส. น. รัฐบาลที่มีชาวเมืองเป็นใหญ่. เป็นชื่อรัฐบาลที่มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า คู่กับราชาธิปไตย รัฐบาลที่มีพระราชาเป็นใหญ่

ปทานุกรมสำหรับนักเรียน, 2470[1]

 

ก่อนการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 ชนชั้นนำชาวสยามล้วนแล้วแต่เกลียดกลัว ‘ประชาธิปไตย’ เพราะจินตนาการของพวกเขา ประชาธิปไตย คือ การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789, การปฏิวัติซินไฮ่ 1911, การปฏิวัติบอลเชวิค 1917

เพราะประชาธิปไตย = การล้มเจ้าเพื่อสร้าง ‘รีพับลิก’ หรือ ‘สาธารณรัฐ’ ในความหมายปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากนั้น ความคิดที่จะเปลี่ยนให้เป็น ‘ประชาธิปไตย’ ในความหมายว่าเป็น ‘สาธารณรัฐ’ นั้นมีมาตั้งแต่คณะ ร.ศ. 130 แล้ว ดังความเห็นของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์- หัวหน้า ‘คณะ ร.ศ.130’) ที่กล่าวไว้ว่า “หากสนับสนุนการปกครองแบบ ‘ลีมิตเต็ดมอนากี้’ กษัตริย์อาจกลับไปอยู่เหนือกฎหมายแบบเดิมได้อีก” [2] เพียงแต่ว่าในคณะผู้ก่อการส่วนใหญ่หยุดไว้เพียง ‘ลีมิตเต็ดมอนากี้’ เท่านั้น แต่กระนั้น ความพยายามของคณะ ร.ศ. 130 ก็ล้มเหลวดังที่ทราบกันดี

กลับมาที่นิยามประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่ในปทานุกรมนักเรียน ทัศนะทางกฎหมายของปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งบรรยายวิชากฎหมายปกครองก่อนการปฏิวัติสยาม ได้แบ่งรัฐบาลออกเป็น 2 ชนิด โดยดูจากผู้เป็นประมุข ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมุขก็เรียกว่ารัฐบาลราชาธิปไตย ถ้าเป็นบุคคลอื่นซึ่งมิใช่พระเจ้าแผ่นดินก็เรียกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ปรีดีอธิบายพร้อมแจกแจงรัฐบาลราชาธิปไตยเป็น 5 ประเภท

 

ตามลัทธินี้อำนาจบริหาร บัญญัติให้ตกอยู่แก่บุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและอำนาจนี้เป็นพระราชมฤดกตกทอดกันมา ได้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์เดียวกัน รัฐบาลราชาธิปตัยอาจแยกออกได้เป็น 5 ชนิด

1. รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจไม่จำกัด (monarchie absolute) คือพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจทำการใดๆ โดยไม่จำกัด และใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เอง เช่น ประเทศสยาม

2. รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจจำกัด (monarchie limiteé) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่มีอำนาจในการแผ่นดินนอกจากอำนาจในพิธีและการลงนาม และยอมให้อ้างพระนามในกิจกรรมต่างๆ แต่พระองค์มิได้ใช้อำนาจด้วยตนเอง อำนาจทั้งหลายเป็นการบริหารตกอยู่แก่คณะเสนาบดี เช่น ในประเทศอังกฤษ

3. รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจจำกัดฉะเพาะพระเจ้าแผ่นดิน แต่อัครเสนาบดีมีอำนาจเกือบเต็มที่ในทางบริหาร เว้นไว้แต่ในบางกรณีต้องได้รับการปรึกษาจากสภาการแผ่นดิน …

4. รัฐบาลราชาธิปตัยซึ่งพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจร่วมกับอัครมหาเสนาบดีซึ่งเป็นคณะทหาร

5. รัฐบาลราชาธิปตัยมีอำนาจจำกัดเล็กน้อย[3]

 

ในทัศนะของปรีดีและคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม รูปแบบรัฐก่อนปฏิวัติ  2475 คือ ราชาธิปไตยอำนาจไม่จำกัด (monarchie absolute) นั่นเอง

 

แล้วการปฏิวัติ 2475 นำไปสู่อะไร? ประชาธิปไตยหรือราชาธิปไตยแบบใด?

 

ปรีดีเขียนเล่าถึงความมุ่งหมายในการปฏิวัติสยามไว้ใน “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร” ว่าในการประชุมเพื่อก่อตั้งคณะราษฎร กุมภาพันธ์ 2469 (ปีปฏิทินเดิม) พวกเขาได้ตกลงสาระสำคัญดังต่อไปนี้

 

วัตถุประสงค์ของคณะราษฎรคือเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและการดำเนินการเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการคือ 1. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายเช่นเอกราชในทางการเมืองในทางศาลในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง 2. รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก 3. บำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจโดยเริ่มงานใหม่ จะให้งานราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 4. ให้ราษฎรมีสิทธิ์เสมอภาคกัน 5. ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดกับหลัก 4 ประการข้างต้นดังกล่าวแล้ว 6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร[4]

 

ในประกาศคณะราษฎรในอีก 5 ปีต่อมา คณะราษฎรก็ยังแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าจะยังคงอยู่ในระบอบราชาธิปไตย ทว่าในแบบที่กษัตริย์มีอำนาจจำกัด

 

ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร[5]

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนเป็นการปกครองแบบ ‘ประชาธิปไตย’ ในความหมาย ‘สาธารณรัฐ’ หากกษัตริย์ไม่ยินยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

 

คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา[6]

 

ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กลายสภาพจากกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชาธิปตัยอำนาจไม่จำกัด (monarchie absolute) มาเป็นกษัตริย์องค์แรกของรัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจจำกัด (monarchie limiteé)

 

ชัยชนะของระบอบเก่าคือขีดวงล้อมให้ประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่การปกครองแบบเสียงข้างมาก

 

หลังการปฏิวัติสยามไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ต้องการประนีประนอมกับฝ่ายนิยมเจ้า หรือไม่มีบุคลากรที่จะมาช่วยระบอบใหม่ ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรต้องไปเอาคนของระบอบเดิมมาทำงาน เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่มาเป็นประธานคณะราษฎร/นายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบใหม่ ก็เคยเป็นผู้พิพากษาในระบอบเดิม ซึ่งต่อมาได้สร้างความเสียหายให้แก่ระบอบใหม่ จากการรัฐประหารโดยการประกาศพระราชกฤษฎีกา[7]

ส่วนคนของระบอบเดิมที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (ยศในขณะนั้น) ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมและข้าราชการของระบอบเก่า ได้มาช่วยงานรัฐบาลหลังการปฏิวัติ ความสามารถอันยิ่งยวดของพระองค์วรรณไม่เพียงแต่คลังคำในการบัญญัติศัพท์เท่านั้น แต่ยังแฝงนัยยะ ‘การเมือง’ ในการบัญญัติด้วย ท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการคุมคำเพราะมีผลอย่างสำคัญต่อการคุมความคิด ดังปรากฏในตอนหนึ่งของปาฐกถาเรื่องสยามพากย์ว่า

 

ภาษาไทยนี่แหละจะเป็นหลักประกันแห่งความมั่นคงของประชาชาติไทยต่อไป เพราะว่าถ้าเรานิยมใช้คำฝรั่งทับศัพท์ในคำที่เกี่ยวกับความคิดเห็นแล้ว เราอาจเดินเร็วเกินไปก็ได้ กล่าวคือเราอาจถ่ายแบบของเขามาโดยตรง แทนที่จะดัดแปลงเสียก่อนให้เข้ารูปทำนองความคิด

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ[8]

 

ดังนั้นหลัง 2475 พระองค์วรรณได้จับคู่คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ให้ตรงกับคำว่า ‘democracy’ ทั้งๆ ที่ท่านก็ทราบดีว่าคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ก่อนหน้านั้นเท่ากับคำว่า ‘republic’ ที่หมายถึงประชาชนเป็นใหญ่ ซึ่งตรงกันข้ามกับ ‘ราชาธิปไตย’ ที่พระราชาเป็นใหญ่  หลังจากนั้นพระองค์วรรณก็แปลคำว่า ‘republic’ เสียใหม่ให้เท่ากับคำไทยว่า ‘สาธารณรัฐ’[9]

นับแต่นั้นเป็นต้นมานิยาม ประชาธิปไตย = democracy ก็ได้ลงหลักปักฐานในพจนานุกรมทุกฉบับ

 

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ. 2493 “ประชาธิปไตย น. แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่. (ส.).”[10]

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2542 บัญญัติเหมือนกัน “ประชาธิปไตย [ประชาทิปะไต,ประชาทิบปะไต] น. ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่, (ส. ประชา+ป. อธิปเตยย).”

พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ. 2547 “ประชาธิปไตย [ประ-ชา-ทิ-ปะ-ไต, ประ-ชา-ทิบ-ปะ-ไต] น. ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่, โดยปริยายหมายถึงการรับฟังเสียงของคนอื่น (ประชา+อธิปไตย).”

แม้แต่ปรีดีเองเมื่อเขียนถึงประชาธิปไตยก็ไม่ได้หมายถึงสาธารณรัฐอีกต่อไป เช่น หลังชัยชนะของพลังประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ปรีดีได้กล่าวปาฐกถาในงานชุมนุมชาวธรรมศาสตร์ในอังกฤษในปีเดียวกันหัวข้อ “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลา”[11]

ณ เวลานั้นปรีดี คงไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐอย่างแน่นอน

 

ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา vs ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

 

ขบวนการเคลื่อนไหว 14 ตุลานั้นเชื่อมโยงกับอดีตหลากหลายอุดมการณ์ ทั้งชาตินิยม กษัตริย์นิยม ซ้ายใหม่จากนักเรียนนอก ซ้ายเก่าจาก พคท.[12] ดอกผลนอกจากการล้มลงของเผด็จการทหาร และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว สถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ก็โดดเด่นขึ้นมาจากการรับสั่งให้สามทรราชออกจากประเทศไทยเป็นการชั่วคราวและพระราชทานสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี ให้เป็นนายกรัฐมนตรี จนพระองค์สามารถครองอำนาจนำได้ในเวลาต่อมา[13]

แต่อีกด้านหนึ่ง 14 ตุลาก็ยืนยันว่าพลังประชาชนสามารถโค่นล้มเผด็จการ ภาพการเดินขบวนของประชาชนเต็มท้องถนนราชดำเนินเป็นแรงบันดาลใจให้ศรีบูรพาเขียนกวีชิ้นสุดท้ายก่อนเสียชีวิตชื่อ ‘พลังประชาชน’

 

หยดฝนย้อย หยาดฟ้า มาสู่ดิน

ประมวลสิ้น เป็นมหา สาครใหญ่

แผดเสียงซัด ปฐพี อึงมี่ไป

พลังไหล แรงรุด สุดต้านทาน

อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง

เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล

แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล

ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน[14]

 

หลัง 14 ตุลาเกิดการตื่นตัวทั้งทางการเมืองความคิดอย่างขนานใหญ่ในสังคมไทย พลังที่ถูกกดทับไว้ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จหลังรัฐประหาร 2500 ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ระเบิดขึ้นพร้อมกับขบวนการนักศึกษา ชาวนา กรรมกร ที่ยึดถืออุดมการณ์สังคมนิยม

วิสา คัญทัพ 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญได้เขียนบทกวีในโอกาส 1 ปี 14 ตุลา จนเป็นวรรคทองเมื่อพูดถึงอุดมการณ์ 14 ตุลา

 

ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า

ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ

ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน

ประชาชนสมบูรณ์-นิรันดร์ไป

เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่

ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ

ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน[15]

 

นอกจากการเมืองบนท้องถนนแล้ว การเมืองในระบอบรัฐสภาก็มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2517 ก็มีการเลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 เพื่อชิงชัย ส.ส. 269 คน ในการเลือกตั้งครั้งนั้นมี 3 พรรคการเมืองที่ประกาศตัวว่าถืออุดมการณ์สังคมนิยม ได้แก่ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้ประกาศคำขวัญของพรรคว่า “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา 3 พรรคดังกล่าวได้ 15, 12, 10 ที่นั่งตามลำดับ รวมแล้วพรรคที่ประกาศตัวว่าถืออุดมการณ์สังคมนิยมมีที่นั่งรวม 37 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 13.75 %

 

 

การล้อมปราบ 6 ตุลากับความตกต่ำของ 14 ตุลา 

 

การเติบโตขึ้นของขบวนการนักศึกษา ชาวนา กรรมกร ภายใต้อุดมการณ์สังคมนิยม พร้อมๆ กับชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ อินโดจีนในปี 2518  สร้างผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อพันธมิตรเดิมที่ประกอบด้วยนายทุน ขุนศึก ศักดินา ซึ่งสืบทอดอำนาจกันมาอย่างยาวนาน พวกเขาจึงร่วมกันปลุกขบวนการฝ่ายขวาและด้อยค่าวีรชน 14 ตุลาลงกลายเป็นแค่ความวุ่นวายทางการเมือง ก่อนที่จะจบด้วยการล้อมปราบและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 พร้อมด้วย ‘นายกพระราชทาน’ ขวาจัดที่ชื่อธานินทร์ กรัยวิเชียร

แต่กลายเป็นว่า ผลของการล้อมปราบและนโยบายขวาจัดทำให้ความแตกแยกทางสังคมพุ่งสูงขึ้นมาก ผลักให้นักศึกษาต้องจับอาวุธและไปเข้ากับ พคท. จนกลายเป็นสงครามประชาชน ส่งผลให้ต่อมารัฐไทยเองก็ต้องยอมประนีประนอมด้วยการรัฐประหารซ้อน 20 ตุลาคม 2520 เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจา ประกอบกับเมื่อความขัดแย้งในหมู่ประเทศคอมมิวนิสต์อินโดจีนทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาในหมู่นักศึกษา รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษา ‘คืนเมือง’ กลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

ทั้งหมดนี้ก็ยิ่งทำให้วีรกรรมของวีรชน 14 ตุลาที่เคยยิ่งใหญ่จำกัดอยู่ในวงแคบ และความคิดที่ว่าประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดินกลายเป็นบทกวีที่ไร้ความหมายความสำคัญ ขณะที่ประวัติศาสตร์ 6 ตุลากลายเป็นสิ่งแปลกปลอมของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่เพียงเพราะความพ่ายแพ้ซ้ำซาก แต่เพราะเกี่ยวพันกับบทบาทสถาบันกษัตริย์ได้ครองอำนาจนำไปแล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลา จึงไม่เข้ากับพล็อตของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระแสหลัก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ด้อยค่า 14 ตุลามากที่สุดกลับไม่ใช่การกระทำของฝ่ายขวา แต่คือคนเดือนตุลาจำนวนมากที่ไปสนับสนุนรัฐประหาร ทั้ง 2549 และ 2557 ที่เรียกกันว่ารัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งบทบาทของสถาบันกษัตริย์ผูกติดกับการรัฐประหารอย่างแนบแน่น

ผลที่ไม่คาดคิดก็คือ เมื่อสถาบันกษัตริย์เข้ามาสู่ปริมณฑลทางการเมืองมากขึ้นก็เกิดการตั้งคำถามมากขึ้นเช่นกัน ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ที่เดิมอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ ลืมไม่ได้จำไม่ลง[16] กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่คนอีกรุ่น ‘ไถ่ถามอยากเรียนรู้’ พร้อมๆ กับปรากฏการณ์การเกิดใหม่ของ 2475[17] เพราะทั้ง 2 เหตุการณ์เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับสถาบันกษัตริย์นั่นเอง

 

เยาวชนปลดแอก ปลดแอกประวัติศาสตร์ไทย

 

ปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือการลุกขึ้นสู้ของเหล่านักเรียนนักศึกษาและเยาวชนต่อระบอบเผด็จการที่เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 และที่เหลือเชื่อยิ่งกว่านั้นคือปัญหาสถาบันกษัตริย์กลายมาเป็นประเด็นใจกลางของการชุมนุม ซึ่งสรุปรวบยอดออกมาเป็น 10 ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต[18] ท่ามกลางผู้เข้าร่วมนับหมื่นก่อนที่จะย้ายมาจัดกลางท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ท่ามกลางผู้ชุมนุมเรือนแสน

น่าสังเกตด้วยว่าในการชุมนุมทั้งสองครั้งดังกล่าวมีการฉายวีดิทัศน์เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 และ เมษา-พฤษภา 2553 ตามลำดับ โดยนำเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประกอบ

มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้คนเหล่านี้ออกมา ทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาก็ถูกครอบงำด้วยระบอบอำนาจนิยม แบบเรียนก็ล้าสมัย  ในงานวิจัยของของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่ไปสัมภาษณ์กลุ่มเยาวชน พบว่ามีชุดหนังสือ 4 ชุดที่วัยรุ่นไทยกำลังสนใจ ประกอบด้วยชุดประวัติศาสตร์ไทย, ชุดวิพากษ์กลไกรัฐ, ชุดกษัตริย์ศึกษา, ชุดประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ [19] ประกอบกับการเปลี่ยนรัชสมัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้ท่าทีต่อคณะราษฎรนั้นแตกต่างกัน

ดังจะเห็นจากการทุบทำลายมรดกทางสถาปัตยกรรมคณะราษฎรอย่างต่อเนื่องและรุนแรงโดยหาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้ แน่นอนว่าคนจำนวนไม่น้อยชี้นิ้วไปยัง ‘มือที่มองไม่เห็น’

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อเห็นกระแสการอ่านหนังสือ #ประวัติศาสตร์ปลดแอก เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และการถือหนังสือหรือโคว้ทข้อความจากหนังสือในที่ชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นนี้คือภาพที่เราเห็นจนชินตา

 

การกลับมาของ “ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

 

เช้าวันที่ 20 กันยายน 2519 ‘คณะราษฎร 2563′ ได้ทำการฝังหมุดคณะราษฎร 2653 กลางสนามหลวง (สนามราษฎร์) ก่อนที่จะประกาศยุติการชุมนุมและนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม 2563  ซึ่งจะมีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาลและค้างคืน น่าสังเกตว่าแกนนำเลือกเอา ’14 ตุลา’ กลับมาเป็นหมุดหมายสำคัญด้วยแม้ว่าจะตรงกับวันพุธซึ่งถือเป็นวันทำงานและอาจจะไม่มีคนมาร่วมมากพอก็ตาม

วันที่ 10 ตุลาคม 2563 ทางเพจเยาวชนแปลดแอก ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎร 2563 ได้นำบทกวีของวิสา คัญทัพ มาเผยแพร่อีกครั้งพร้อมกับคำบรรยายว่า

 

 

“เราไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าการที่ประชาชนทุกคนในประเทศนี้จะเท่าเทียมกัน เสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมายเดียวกัน ปราศจากซึ่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูง โปรดจำกลอนนี้ให้ขึ้นใจ 14 ตุลาคมนี้ เรามาอ่านไปพร้อมกัน”[20]

 

การชุมนุมและเดินขบวนวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นไปด้วยความคึกคัก ประชาชนนับแสนเข้าร่วมแม้ว่าต่อมาจะเกิดปัญหาเรื่องขบวนเสด็จก็ตาม หลังจากนั้นบทกวีชิ้นดังกล่าวถูกอ่านซ้ำหลายครั้งในทุกการชุมนุม พร้อมกับข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ให้ขัดกับหลักการประชาธิปไตย

ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ชุมนุมไม่ยอมรับ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ แบบที่ใช้เป็นข้ออ้างในการลบล้างอำนาจอธิปไตยของประชาชนดังรูปธรรมจากการรัฐประหาร 19 กันยา[21] อีกต่อไป

 

กลับไปหาความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย หรือจะเป็นราชาธิปไตยแบบจำกัด

 

นับตั้งแต่สนธิ ลิ้มทองกุล หยิบยกเรื่องพระราชอำนาจมาโจมตีทักษิณ ชินวัตร เพื่อปูทางไปสู่รัฐประหาร 19 กันยา 2549 ประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็กลายเป็นปัญหาใจกลางของการเมืองไทยที่พูดกันในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันที่พุ่งสูงระดับที่เรียกกันว่า ‘ทะลุเพดาน’

เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า ปัจจุบันเราสามารถแยกคนออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก มองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ห้ามแตะต้อง ห้ามปฏิรูป และพร้อมที่จะใช้ทุกวิธีการเพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในรูปแบบเดิม

คนกลุ่มนี้คนที่ออกมาในเฉดเดียว และยึดมั่นถือมั่นมาตั้งแต่การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของ สนธิ ลิ้มทองกุล  มาจนถึง กลุ่มกปปส.ของสุเทพ เทือกสุบรรณ จุดร่วมของคนกลุ่มนี้คือ รังเกียจนักการเมือง สนับสนุนรัฐประหารและถวายคืนพระราชอำนาจไปให้สถาบันกษัตริย์พร้อม ๆ กับมองว่าการปฏิวัติ  2475 ที่เปลี่ยนจาก รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจไม่จำกัด (monarchie absolute) เป็น รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจจำกัด (monarchie limiteé) เป็นสิ่งชั่วร้าย

คณะราษฎรคือโจรที่ปล้นพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ของกษัตริย์ไป

คนกลุ่มนี้ยังสนับสนุนการขยายพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์

กลุ่มที่สอง มองว่าสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์รวมของปัญหาของคนไทย จนต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

คนกลุ่มนี้มีความหลากหลายมาก บางคนคือคนที่เคยไปร่วมกับกลุ่มแรก หรือไม่ก็ไปช่วยงานรัฐบาลรัฐประหารมาก่อน แต่คนกลุ่มนี้มองว่าปัจจุบันพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์นั้นล้นเกิน ส่วนทางก็แตกตางกันไป

บางคนมองว่าแค่กลับไปก่อนวันที่ 13 ตุลาคม 2559 คือไปตั้งหลักที่รัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะที่บางคนต้องกลับไปก่อนรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เพราะรัฐประหารครั้งนั้นเป็นการบิดผันหลักการกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

บางคนยืนยันข้อเสนอ  10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นจุดต่ำสุด บางคนรับได้เพียงบางข้อ

จุดร่วมเดียวของคนกลุ่มนี้คือ ยังเป็นรัฐบาลราชาธิปไตยในความหมายอย่างเคร่งครัด เพียงแต่ว่าจะจัดวางสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน และถ้าไม่มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เลยก็จะนำมาสู่ความตึงเครียดทางสังคม การเมืองไทย

 

เมื่อการปฏิรูปกษัตริย์ไร้เสียงตอบรับ สาธารณรัฐกลายเป็นข้อถกเถียงทางการเมืองอีกครั้ง

 

ถึงแม้ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่พูดกันอย่างกว้างขวาง แม้แต่หนังสือพิมพ์หัวสีอย่างไทยรัฐยังเอาขึ้นไปพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งได้ แต่เมื่อประชาชนได้เขียนจดหมายถึงกษัตริย์ และเดินทางไปยื่นที่สำนักราชวังเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 จดหมายเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความใส่ใจ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนร่วมกันเสนอชื่อมากกว่า 1 แสนคนที่เปิดโอกาสให้แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ก็ถูกเพิกเฉย ขณะที่การคุกคามกลับมากขึ้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เคยบอกว่าจะไม่นำมาใช้ในรัชสมัยในหลวง ร.10 รัฐบาลประยุทธ์ก็นำกลับมาใช้อีกครั้งและใช้อย่างเหวี่ยงแหมากขึ้น

ดังนั้นเราจึงไม่ต้องแปลกใจว่าสาธารณรัฐ (republic) ได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาสาธารณะอีกครั้ง แม้ว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกมาย้ำเตือนว่า “ประเทศไทยไม่ใช่สาธารณรัฐ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว” แต่การอยู่โดยไม่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เลยก็อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

ทั้งหมดนี้คงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะจบลงที่ไหน แต่ประวัติศาสตร์ได้บอกว่า

คนที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด แต่เพราะมีการปรับตัวได้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

 

 


เชิงอรรถ

[1] กรมตำรา กระทรวงธรรมการ. ปทานุกรมสำหรับนักเรียน. โรงพิมพ์กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, 2470.

[2] วรางคณา จรัณยานนท์. คณะ ร.ศ.130: ชีวิต อุดมการณ์และการจัดตั้ง .วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ไทยศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2549, หน้า 126. อ้างจาก ณัฐพล ใจจริง. ‘ลีมิตเต็ด มอนากี้’ กับ ‘รีปับบลิ๊ก’สำนึกทางประชาธิปไตยของทหารใหม่ ร.ศ.130. ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-ธันวาคม 2554, หน้า 203.

[3] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม. คำอธิบายกฎหมายปกครอง, 2476. อ้างจาก ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล. ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544, หน้า 95.

[4] ปรีดี  พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร, 2515. อ้างจาก ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, เพิ่งอ้าง, หน้า 35.

[5]  “ประกาศคณะราษฎร” ใน ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). กรุงเทพฯ: กลุ่มรัฐกิจเสรี, 2517. หน้า 6-8.

[6] ประกาศคณะราษฎร, เพิ่งอ้าง.

[7] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.

[8] วรรณไวทยากร วรวรรณ. ปาฐกถาพิเศษเรื่องสยามพากย์. วิทยาจารย์. ฉบับพิเศษปีที่ 33 ฉบับที่ 1, 2475. อ้างจากนครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553, หน้า 221.

[9] ศัพท์บัญญัติของพระองค์วรรณฯ . สำนักงานราชบัณฑิตสภา, 2560.

[10] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิต พ.ศ. 2493

[11] ปรีดี พนมยงค์. จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม.

[12] ประจักษ์ ก้องกีรติ. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556.

[13] ธงชัย วินิจจะกูล. ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง : ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556.

[14] รำลึก 100 ปี ศรีบูรพา : เมื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นกวี (1)-รายงานพิเศษ

[15] บทกวีฉบับเต็ม มีชื่อว่า ‘สิบสี่ตุลา’ วิสาเขียนเพื่ออ่านออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เพื่อสดุดีวีรกรรมของวีรชน 14 ตุลาคม 2516 ก่อนการแสดงละครเรื่อง ‘พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม’ บทละครของสุวัฒน์ วรดิลก เมื่อปี 2517 ดู วิสา คัญทัพ. รวมบทกวีวิสา คัญทัพ ยุคเราจะฝ่าข้ามไป. สำนักพิมพ์พิราบ, 2532.

[16] ธงชัย วินิจจะกูล. 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558.

[17] ธนาพล อิ๋วสกุล. การเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร?.

[18] ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า หนังสือเล่มนี้รวมคำปราศรัยและข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม  2563 จัดทำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หนังสือเล่มดังกล่าวถูกตำรวจยึดไปตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2563 และยังไม่ได้คืนมาจนถึงทุกวันนี้ ดู ตร.ยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา” 40,000 เล่ม

[19] มารู้จักหนังสือแนวการเมือง 4 ชุด ที่นักเรียนนักศึกษากำลังนิยมอ่าน

[20] เฟซบุ๊กเยาวชนปลดแอก - Free YOUTH

[21] ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ). รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save