fbpx
'สิ่งเก่าไปสิ่งใหม่ยังไม่เกิด' : ประชาธิปไตยและเผด็จการในยุโรป จากศตวรรษที่ 18 ถึง 21

‘สิ่งเก่าไปสิ่งใหม่ยังไม่เกิด’ : ประชาธิปไตยและเผด็จการในยุโรป จากศตวรรษที่ 18 ถึง 21

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ประชาชนจากประเทศซีกโลกใต้อย่างเราๆ มักเข้าใจพัฒนาการของเสรีนิยมประชาธิปไตยในยุโรปแบบอุดมคติ คือมันสวยหรูดูดีอย่างที่เราเห็นมาแต่ไหนแต่ไร หนังสือ Democracy and Dictatorship in Europe (Oxford: Oxford University Press, 2019) เขียนโดยนักรัฐศาสตร์หญิงแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย Sheri Berman เผยให้เห็นว่าความเชื่อเช่นนี้ไม่สะท้อนเส้นทางประวัติศาสตร์ของเสรีนิยมประชาธิปไตยในยุโรปเท่าใดนัก

Berman เริ่มต้นหนังสือโดยเสนอว่าหลายประเทศที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (democratic transition) ตั้งแต่คลื่นลูกที่หนึ่ง (ศตวรรษที่ 18-19 เช่นในฝรั่งเศสและสหรัฐฯ) คลื่นลูกที่สอง (ต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 เช่นในยุโรปตะวันตก) คลื่นลูกที่สาม (ทศวรรษที่ 1970 ถึง 1990 เช่นในเอเชีย ยุโรปตะวันออก ลาตินอเมริกาและแอฟริกา) จนถึงคลื่นลูกที่สี่ (ช่วงปี 2000 ถึงต้นทศวรรษที่ 2010 เช่นในพื้นที่ของโซเวียตเก่าและโลกอาหรับ)[1] มักเผชิญโจทย์ร่วมกันสองข้อ 1. จะทำอย่างไรกับมรดกเผด็จการ รวมถึงชนชั้นนำเก่า และ 2. อะไรเป็นระเบียบการเมืองใหม่ที่ผู้คนในสังคมเห็นพ้องต้องกัน

โจทย์สองข้อนี้กลายเป็นแกนกลางของพัฒนาประชาธิปไตยในทวีปยุโรป ซึ่งมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่กลับเต็มไปด้วยขวากหนามและแลกมาด้วยชีวิตประชาชนเรือนล้าน

 

มรดกเผด็จการ

 

ยุโรปในศตวรรษที่ 18 เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยสองด้าน หนึ่งกระบวนสร้างรัฐสมัยใหม่ และสองสถาบันกษัตริย์พยายามรวบอำนาจเหนือขุนนางและสร้างตนเป็นองค์อธิปัตย์แห่งรัฐสมัยใหม่ ในประเทศเช่นฝรั่งเศส กระบวนการที่สองไม่ราบรื่นนักเพราะขุนน้ำขุนนางที่เคยมีเอกสิทธิ์เหนืออาณาจักรและนครของตนแข็งขืนต่อความพยายามรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางของสถาบันกษัตริย์ ในท้ายที่สุดฝ่ายหลังเจรจาต่อรองให้บรรดาขุนนางมอบอำนาจทางการเมืองให้ตนได้ โดยสัญญาว่าจะคงอภิสิทธิ์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจไว้ (โดยเฉพาะการครอบครองที่ดินจำนวนมากของขุนนางและชนชั้น)

Berman ชี้ว่านี่เป็นต้นตอของมรดกเผด็จการอันสำคัญ เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ (เช่นฝรั่งเศส ค.ศ. 1789) หรือสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy เช่นใน ปรัสเซีย/เยอรมนีหลัง ค.ศ.1848) ตัวบุคคลซึ่งเป็นเผด็จการอาจถูกขับออกจากอำนาจ แต่ ‘ระบบอภิสิทธิ์’ และชนชั้นนำที่ได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวยังคงอยู่แบบ alive and well ชนชั้นนำเก่าเหล่านี้ไม่เพียงแต่ขาดความภักดีต่อระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น (democratic loyalty)[2] แต่ยังขัดขวางบั่นทอนกระบวนการใดๆ ภายใต้ระบอบใหม่ที่มุ่งลดอภิสิทธิ์ตน เช่นในสเปน ชนชั้นนำเก่าขัดขวางโครงการปฏิรูปที่ดินของรัฐบาลฝ่ายซ้ายและผนึกกำลังกับกองทัพในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ความขัดแย้งบานปลายเป็นสงครามกลางเมืองในช่วงรุ่งสางของสงครามโลกครั้งที่สอง

Berman เสนอว่ามีสองปัจจัยที่ส่งให้อิทธิพลของชนชั้นนำเก่าในยุโรปเจือจางลงและกรุยทางให้ประชาธิปไตยหยั่งราก ประการแรกเป็นเหตุเชิงโครงสร้าง อันได้แก่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ฐานความชอบธรรมทางการเมืองของชนชั้นนำเก่าอย่างมาก ในปรัสเซีย/เยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการี สถาบันกษัตริย์ล่มสลายลงเพราะถูกตราหน้าว่านำคนไปแพ้สงคราม นอกจากนี้ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รวมถึงการเกิดขึ้นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ยังทำให้ชนชั้นนำเก่าสูญเสียทรัพย์สินและรายได้ จนไม่อาจทัดทานชนชั้นนำเศรษฐกิจใหม่ได้

สาเหตุประการที่สองเป็นเหตุเชิงพฤติกรรม กล่าวคือชนชั้นนำในอังกฤษต่างจากชนชั้นนำที่อื่นในยุโรป โดยยอมต่อรองกับกลุ่มอำนาจใหม่ ซึ่งพยายามผลักดันการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมอันส่งผลให้ชนชั้นนำเสียประโยชน์ ชนชั้นนำในอังกฤษยอมประนีประนอมเพราะเห็นว่าถ้ายอมถอยหนึ่งก้าว ก็อาจรักษาอำนาจตนบางส่วนได้ ดีกว่าถูกปฏิวัติโค่นล้ม กระนั้นก็ดีการปฏิรูปหลายระลอกได้เปลี่ยนแปลงสังคมอังกฤษอย่างไม่มีวันถอยกลับ และบั่นทอนอำนาจของชนชั้นนำในที่สุด

 

ระเบียบการเมืองใหม่ (new political order)

 

ขณะที่ผู้คนในยุโรปช่วงศตวรรษที่18 ถึง 20 รู้ว่าตน ‘ไม่ต้องการ’ ระบอบเผด็จการ แต่ก็ไม่ได้เห็นพ้องต้องกันว่าจะสร้างระเบียบการเมืองใหม่แบบใดมาแทน การขาดฉันทามติร่วมกันนี้เป็นเงื่อนไขให้ยุโรปทดลองระบอบการเมืองหลายรูปแบบทั้งที่มีลักษณะประชาธิปไตยและไม่ใช่ เช่นในฝรั่งเศส ประชาชนสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารของ Napoleon Bonaparte ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เพราะอึดอัดกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติปี 1789 รวมถึงยังต้องการให้ฝรั่งเศสกลายเป็นจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่

Berman ชี้ว่าระบอบ Napoleon ถือเป็น ‘ขวาประชานิยม’ ยุคแรกซึ่งผู้นำเผด็จการมาจากการสนับสนุนอันล้นหลามของประชาชน

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลในเยอรมนี อิตาลี และออสเตรีย (หลังจากแยกทางกับฮังการี) ถูกขับเคลื่อนโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (social democrat) ซึ่งเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา ทว่าชนชั้นกลางและชนชั้นนำบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทางพรรคที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นแรงงาน ดังนั้นจึงเริ่มสนับสนุนพรรคฝ่ายขวา ขณะเดียวกันขบวนการแรงงานก็เห็นว่าพรรคประนีประนอมกับชนชั้นกลางและชนชั้นนำมากเกินไป และเริ่มหันเหไปสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนอุดมการณ์ซ้ายและขวาแบ่งสังคมเป็นสองฝักฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายเชื่อว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของตนถูกต้องที่สุด และต้องการขจัดฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก พรรคกลางอย่างสังคมนิยมประชาธิปไตยขาดความน่าเชื่อเพราะถูกกล่าวหาว่าไร้จุดยืนทางการเมือง ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ความเชื่อมั่นของชาวยุโรปต่อระบอบประชาธิปไตยตกต่ำถึงขั้นวิกฤต

ความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองทำลายความน่าเชื่อถึงของบรรดาพรรคฝ่ายขวา ในยุโรปตะวันตก ชนชั้นนำและสาธารณชนเริ่มเห็นพ้องว่าระเบียบการเมืองแบบสังคมประชาธิปไตย (social democratic order) เป็นที่พึ่งปรารถนาที่สุด เพราะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง

ขณะเดียวกันในยุโรปตะวันออก ระบอบคอมมิวนิสต์ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบทบาทของโซเวียตช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและการแทรกแซงช่วงหลังสงคราม) ความเชื่อมั่นต่อระบอบดังกล่าวเริ่มถดถอยเมื่อกองกำลังโซเวียตเข้าปราบปรามผู้ประท้วงในฮังการี (1957) และในเชคโกสโลวาเกีย (1968) และถึงจุดตกต่ำเมื่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงกระแสสังคมที่เอนเอียงสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดขบวนการประชาชนรากหญ้านำยุโรปตะวันออกเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยใน ค.ศ. 1989

กระนั้นก็ดี Berman แย้งว่าประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกยังไม่หยั่งรากนัก เพราะยังคงต้องจัดการกับมรดกเผด็จการ ซึ่งตกทอดมาจากระบอบคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันผู้คนในยุโรปตะวันออกรู้สึกผิดหวังกับระบอบประชาธิปไตยที่แม้จะผ่านมาเป็นเกือบสามสิบปีแล้ว ชีวิตทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็มิได้ดีขึ้นมากนัก ที่สำคัญคือรัฐทั้งหลายในยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็คถือเป็นรัฐใหม่ (เมื่อเทียบกับยุโรปตะวันตก) และล้มลุกคลุกคลานกับกระบวนการสร้างชาติจนกระทั่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง

ดังนั้นแม้ประเทศเหล่านี้มิได้ปฏิเสธฐานความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็กำลังต่อต้านการผสานระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันและคุณค่าแบบเสรีนิยม โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวคิดพหุวัฒนธรรมและนโยบายเปิดรับผู้อพยพของสหภาพยุโรป นักวิเคราะห์หลายฝ่ายชี้ว่ายุโรปตะวันออกกำลังเผชิญภัยผู้นำ ‘ขวาประชานิยม’ [3] ทว่า Berman กลับเห็นว่ายุโรปตะวันออกกำลังทดลองใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น ซึ่งยุโรปตะวันตกได้ทำเช่นเดียวกันมาแล้วในวัฏจักรเผด็จการ-ประชาธิปไตยของตน

ขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าอดคิดเปรียบเทียบประสบการณ์ในยุโรปกับไทยและเอเชียไม่ได้ หากเส้นทางเดินของประชาธิปไตยคดเคี้ยวบิดเบี้ยว ภาวะถดถอยของประชาธิปไตยในภูมิภาคตอนนี้อาจเป็นเพียงห้วงชั่วครู่ทางประวัติศาสตร์ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะฉกฉวยช่วงเวลานี้จัดการกับมรดกเผด็จการ ขณะเดียวกันก็สร้างฐานความชอบธรรมให้ประชาธิปไตยเป็นระเบียบทางการเมือง ซึ่งผู้คนหลายฝ่ายในสังคมปรารถนาร่วมกันได้หรือไม่

 


[1] ดู Samuel Huntington, The Third Wave: Democratization in the Late-Twentieth Century (Oklahoma: University of Oklahoma Press, 2001).

[2] Juan Linz, The Breakdown of Democratic Regimes: Crisis, Breakdown, and Reequilibration (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1978), 28-38.

[3] Benjamin Moffitt, The Global Rise of Populism: Performance, Political Style, and Representation (Stanford: Stanford University Press, 2016); Gabriella Lazaridis et al., The Rise of the Far Right in Europe: Populist Shift and ‘Othering’ (London: Palgrave Macmillan, 2016); and Brigitte Mral et al., eds., Right-Wing Populism in Europe: Politics and Discourse (London & New York: Bloomsbury, 2013).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save