fbpx
อย่างไรจึงจะเรียกว่า “ตาย”

อย่างไรจึงจะเรียกว่า “ตาย”

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

“เพื่อนผมตกเขาอาการหนักมาก สงสัยจะไม่รอด จะให้ผมทำไงดีครับ”

นักปีนเขาละล่ำละลักบอกผ่านวิทยุถึงเจ้าหน้าที่อุทยาน

“คุณไปดูให้แน่ใจว่าเขาตายจริงๆ ผมจะได้ตัดสินใจได้” เจ้าหน้าที่ตอบ

เสียงเงียบไปพักหนึ่ง เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด และได้ยินเสียงตอบมาว่า

“ตอนนี้ผมแน่ใจว่าเขาตายแล้วครับ”

เรื่องนี้เป็นโจ๊กที่ได้รับรางวัลที่หนึ่งของโลกจากการส่งประกวดบนเว็บเมื่อหลายปีก่อน ฟังแล้วเราอาจหัวเราะ แต่หากคิดแบบกวนๆ ว่ารู้ได้ไงว่าตายแล้ว … หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ หรือสมองไม่ทำงาน … เรื่องง่ายๆ เช่นนี้ ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องยากไปเสียแล้ว

แต่ดั้งเดิมมา “ตาย” ก็คือ “ตาย” กล่าวคือหัวใจ (ชีพจรคือตัวชี้) ปอด (การหายใจคือตัวชี้) หยุดทำงานไปพร้อมกับสมองซึ่งเป็นตัวสั่งงานให้ระบบหัวใจและระบบการหายใจทำงาน เมื่อชีพจรไม่เต้นพร้อมกับไม่มีลมหายใจก็คือตายอย่างไม่ต้องสงสัย พร้อมกับการตายทางสมอง (brain death) ด้วย ไม่ใช่เลือกเอาอันใดอันหนึ่ง

การขาดชีพจรและลมหายใจเป็นคำจำกัดความมาตรฐานของ “การตาย” มานานนม จนกระทั่งเกิดปัญหาในทศวรรษ 1950 และ 1960 เมื่อเกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องจักรสามารถปั๊มเลือดผ่านเส้นเลือดและเป่าลมเข้าไปในปอดให้หายใจได้ ทั้งที่เจ้าของร่างกายไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองเพราะสมองตายไปแล้ว สิ่งปวดหัวที่เกิดขึ้นก็คืออวัยวะทั้งหมดอาจมิได้หยุดทำงานพร้อมกันอีกต่อไป

กล่าวง่ายๆ ว่า ร่างกายยังสามารถหายใจ ชีพจรยังเต้น แม้ว่าสมองได้ตายไปแล้ว หากปิดสวิตซ์ไฟฟ้า ระบบทั้งสองก็จะหยุดทำงาน ซึ่งเป็นการหยุดทำงานพร้อมกันของระบบต่างๆ ในร่างกายเหมือนคำจำกัดความของ “ความตาย” ที่เคยเป็นมา

คำถามง่ายๆ ก็คือ มนุษย์ตายเมื่อใด (ก) เมื่อสมองตาย คือสั่งงานไม่ได้ (ข) เมื่อหัวใจและปอดหยุดทำงาน อย่างไรก็ดีคำตอบไม่ง่าย ขึ้นอยู่กับความต้องการ ความเชื่อส่วนตัว ความเชื่อทางศาสนาของญาติ เหตุผลทางกฎหมาย เหตุผลความจำเป็นอื่นๆ

และที่น่ากลัวที่สุดคือเหตุผลทางธุรกิจ

การตัดสินว่าตายเมื่อใดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวพันกับการหาผู้นำใหม่มาทำงานแทน สถานการณ์เป็นหม้ายของสามีหรือภรรยา การรับมรดก การจ่ายเงินประกันชีวิต ฯลฯ สังคมไม่อาจทำให้เกิดความกังขาโดยบุคคลต่างๆ ได้ว่าตายแล้วหรือยัง ประเด็นว่าตายเมื่อใดจึงเป็นเรื่องที่ผู้คนเถียงกันไม่จบในปัจจุบัน

สิ่งที่เรียกว่าสัญญาณชีพ (vital signs) ทางการแพทย์ของมนุษย์ประกอบด้วย 4 อย่างด้วยกัน คือ (ก) ลมหายใจ (ข) การเต้นของหัวใจ (ค) ความดันโลหิต และ (ง) อุณหภูมิของร่างกาย ทั้ง 4 สิ่งนี้ต้องมีการทำงานสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ ทั้งหมดนี้สมองเป็นผู้สั่งการ ถ้าสมองตาย กล่าวคือ ไม่สามารถสั่งให้มีปฏิบัติการในร่างกายใดๆ ได้ สัญญาณชีพเหล่านี้ก็หยุดไปด้วยตามธรรมชาติ แต่เมื่อมนุษย์สามารถฝืนธรรมชาติได้ โดยถึงแม้สมองจะสั่งการไม่ได้แล้ว แต่คนอื่นก็สามารถสั่งการแทนได้โดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์การแพทย์ให้ทำงานแทนสมอง

ในประเทศพัฒนาแล้ว คำจำกัดความของความตายตามกฎหมายก็คือ brain death เพราะถือว่าสมองเป็นต้นเหตุของการควบคุมปฏิกิริยาและการทำงานของระบบต่างๆ ในปี 1968 คณะกรรมการของ Harvard Medical School ให้คำแนะนำต่อทางการสหรัฐอเมริกาว่า brain death เป็นคำจำกัดความมาตรฐานของความตาย พร้อมเสนอแนะเกณฑ์เพื่อการประเมิน  ต่อมาในปี 1981 รัฐบาลอเมริกาได้ออกกฎหมายแนะให้รัฐต่างๆ ใช้ brain death เป็นคำจำกัดความ การพิจารณาความตายให้อาศัยกรณีหัวใจหยุดเต้นและไม่มีลมหายใจ หรือ ความเสียหายอย่างถาวรต่อสมองทั้งหมด ต่อมาประเทศในโลกตะวันตกทั้งหลายก็ใช้ตาม

พูดง่ายๆ ก็คือแทงกั๊ก ถึงแม้ brain death จะเป็นคำจำกัดความ แต่ก็ให้ดูจากอันใดอันหนึ่งได้ คือหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจ หรือ สมองถูกทำลายทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นการเปิดช่องให้มีการพิจารณาเป็นกรณีๆ แม้ในทางกฎหมายจะมีคำจำกัดความแล้วก็ตาม

บางศาสนา เช่น Orthodox Jews ชีวิตจบลงก็ต่อเมื่อหมดลมหายใจและหัวใจหยุดเต้น ดังนั้นจึงไม่ยอมรับ brain death ไม่ยอมให้ถอดปลั๊กเครื่องมือช่วยหายใจจนกว่าถึงลมหายใจสุดท้าย ทุกครอบครัวที่เผชิญกับสภาวการณ์เช่นนี้ต่างรอคอยเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่จะพลิกผันให้สมองซึ่งตายแล้วและไม่สามารถกลับฟื้นคืนมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจอย่างยิ่

ผู้กำหนดนโยบายของประเทศและวงการแพทย์ในโลกตะวันตกมี 3 เหตุผลที่มักเน้นคำจำกัดความของความตายจาก brain death คือ (ก) โลกตะวันตกเน้นความสำคัญของจิตใจหรือความรู้สึกอันเกิดจากการทำงานของสมองมากกว่าการทำงานของร่างกาย การใช้ brain death เป็นคำจำกัดความ สะท้อนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เพราะสัตว์อื่นๆ ขาดมิติในเรื่องจิตใจ (ข) ค่าใช้จ่ายอันมหาศาลจากการใช้อุปกรณ์แพทย์สนับสนุนไปจนกว่าจะถึงลมหายใจสุดท้าย (ค) เพื่อสนับสนุนการปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งขาดแคลนอย่างยิ่ง อวัยวะเหล่านี้จะนำไปใช้ได้ก็จากคนไข้ที่ตายเพราะ brain death

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ brain death เป็นคำจำกัดความที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ญี่ปุ่นออกกฎหมายระบุให้ใช้คำจำกัดความ brain death สำหรับผู้ได้แสดงความประสงค์จะบริจาคอวัยวะ เช่นเดียวกับอินเดีย (ปัญหาก็คือจะใช้คำจำกัดความใดกับคนที่มิได้แสดงความประสงค์จะบริจาคอวัยวะ)

ท่ามกลางความนิยมของคำจำกัดความ “ความตายเท่ากับ brain death” มีผู้วิจารณ์ไม่น้อยว่า (ก) เปิดช่องให้แพทย์ใช้วิจารณญาณได้อย่างกว้างขวางมาก (ข) ขอบเขตที่ว่าสมองถูกทำลายนั้นมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด (ค) การแสดงความประสงค์จะบริจาคอวัยวะของผู้ป่วยมีผลต่อการตัดสินใจของแพทย์ในการใช้ brain death เป็นคำจำกัดความของการตายหรือไม่

อย่างไรก็ดี ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากยังคงใช้ชีพจรและการหายใจ (cardio-respiratory definitions) เป็นคำจำกัดความของความตาย สังคมแอฟริกันไม่ยอมรับคำจำกัดความอื่น เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ มิใช่เพราะความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น หากแต่ขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ในการทำให้ชีพจรเต้นและหายใจต่อไป ถึงแม้ว่าจะมี brain death ก็ตาม การปล่อยให้เสียชีวิตตามธรรมชาติกล่าวคือให้ทุกสัญญาณชีพดับไปพร้อมกันจึงเป็นเกณฑ์ปกติ

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหลายประเทศได้คำตอบว่าประชาชนไม่เข้าใจว่า brain death คืออะไร แต่เมื่อเข้าใจแล้ว คนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ brain death เป็นคำจำกัดความของความตาย เพราะตระหนักถึงการไม่สามารถกลับมาอยู่ในสภาพเดิมของตนเองได้อีกต่อไป อีกทั้งค่าใช้จ่ายอันมหาศาลของรัฐและครอบครัว เมื่อโลกเรามีทางโน้มในการเคารพสิทธิของมนุษย์ในการกำหนดบั้นปลายชีวิตของตนเองมากขึ้น ดังนั้นคำจำกัดความของความตายดูจะมีความชัดเจนมากขึ้นทุกที

มนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร หากมีความละเอียดอ่อนของจิตใจ มีความอ่อนไหวต่อหน้าตาอันสดใสของคนที่ตนรัก เพราะเครื่องมือแพทย์ปั๊มเลือดและอากาศ แต่เมื่อมีคนบอกว่าเสียชีวิตแล้วตามกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากยิ่ง

อย่างไรก็ดี การอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่ในโลกเพื่อตนเองและคนอื่น สี่คำที่ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้และสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความสุขตามสมควรก็คือ “Life must go on.” (ชีวิตต้องดำเนินต่อไป)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save