fbpx
จุดประกาย Soul

จุดประกาย Soul

‘นรา’ เรื่อง

 

ก่อนจะเล่าสู่กันฟังถึงอนิเมชันเรื่อง Soul ผมขออนุญาตเถลไถลออกนอกเรื่องสักเล็กน้อยนะครับ

เมื่อครั้งโบราณนานมากแล้ว ผมไปเจอหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง ชื่อเรื่องมีใจความแปลเป็นไทยได้ประมาณว่า ‘เขียนหนังสืออย่างไรให้มีอารมณ์ขัน’ เนื้อหาภายในรวบรวมคำชี้แนะจากนักเขียนหลายๆ ท่าน บอกเล่าถึงเคล็ดลับ หลักการ ตลอดจนเทคนิควิธีต่างๆ ในการสร้างอารมณ์ขัน ซึ่งเข้าอีหรอบของงานเขียนจำพวกฮาว ทูทั่วๆ ไป

อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำหนึ่งซึ่งผมจำได้และชอบมากในความแปลกผ่าเหล่าผ่ากอจากส่วนรวม นักเขียนท่านนั้น (ซึ่งผมลืมชื่อไปเรียบร้อยแล้ว) มอบคำแนะนำง่ายๆ สั้นๆ ว่า ให้ใช้ชีวิตตามปกติในสภาพแวดล้อมเดิมๆ แต่ลองแกล้งๆ สมมติให้ตัวเราเองเป็นชาวต่างชาติ และมองสารพันสิ่งอันคุ้นเคยจนไม่เหลือความน่าสนใจอีกต่อไป ด้วยสายตาของนักท่องเที่ยวที่เพิ่งพบเห็นอะไรต่อมิอะไรราวกับเจอะเจอเป็นครั้งแรกในชีวิต

นักเขียนท่านนั้นสรุปว่า มีอารมณ์ขันซ่อนอยู่ในความปกติสามัญที่เห็นจนเจนตา การมองด้วยมุมมองแปลกเปลี่ยนไปเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยค้นหาแง่มุมชวนขัน

ผมไม่แน่ใจว่าคำแนะนำดังกล่าวส่งผลต่อการเขียนหนังสือของผมมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ มันทำให้ผมติดนิสัยชอบมองดูรายละเอียดจุกจิกปลีกย่อยต่างๆ ในชีวิตประจำวันคล้ายๆ เดิม สถานที่เดิมๆ ผู้คนหน้าเดิมๆ กิจวัตรเดิมๆ

เป็นความเพลิดเพลินรื่นรมย์เล็กๆ น้อยๆ สอดคล้องตรงกับนิสัยแบบวินนี เดอะ พูห์ ซึ่งผมรับอิทธิพลมาเยอะ

นี่ยังไม่นับรวมความรู้สึกว่าได้เที่ยวเมืองนอกโดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา หลังจากดูหนังเรื่อง Soul จบลง อาจจะเกี่ยวข้องพ้องพานหรือไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับตัวหนังเลยก็ได้ แค่รำลึกนึกออกเลยถือโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังเพลินๆ เท่านั้นนะครับ

กลับมาที่หนังเรื่อง Soul

Soul มีพล็อตคร่าวๆ ว่าด้วยหนุ่มผิวสีวัยกลางคนชื่อ โจ การ์ดเนอร์ ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักดนตรีแจซ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ลงท้ายก็มาจมปลักอยู่กับการเป็นครูสอนดนตรีในโรงเรียนมัธยม

โจทำงานเป็นครูแบบไม่เต็มเวลา เป็นเพียงงานชั่วคราว พอมีรายได้ประทังชีวิต เพื่อรอโอกาสให้ฝันเกี่ยวกับนักดนตรีกลายเป็นจริง

 

 

เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อโจได้รับข้อเสนอให้ทำงานเป็นครูเต็มเวลา มีเงินเดือน มีสวัสดิการ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต พร้อมๆ กันนั้น ‘โอกาสทอง’ ก็มาถึง อดีตลูกศิษย์โทรศัพท์มาแจ้งให้เขาไปทดสอบฝีมือเพื่อร่วมแสดงกับนักดนตรีแจซชื่อดัง โดโรเธีย วิลเลียมส์ เป็นการแสดงแก้ขัดเพียงหนึ่งค่ำคืนแทนมือเปียโนที่หายตัวไปดื้อๆ ปราศจากการบอกกล่าว

การทดสอบผ่านไปด้วยดี ความฝันอันนานไกลของโจใกล้จะเป็นจริง อารามดีใจจนเกินควบคุม โจประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต วิญญาณล่องลอยไปปรากฏยังดินแดนที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือโลกหลังความตายและโลกก่อนการถือกำเนิด

วิญญาณของโจควรเดินทางผ่านเข้าสู่โลกหลังความตาย แต่เรื่องค้างคาใจเกี่ยวกับความฝันอยากเป็นนักดนตรีแจซยังไม่ลุล่วง ทำให้เขาดิ้นรนหลบหนี กระทั่งพลัดเข้าสู่โลกก่อนการถือกำเนิด

ที่นั่น โจถูกผู้ควบคุม (ซึ่งทั้งหมดที่เป็นเพศหญิงมีชื่อว่าเจอร์รีเหมือนกันหมด ส่วนเพศชายชื่อว่าเทอร์รีเหมือนกันหมด) เข้าใจผิดคิดว่า เป็น ‘พี่เลี้ยง’ ซึ่งทำหน้าที่ ‘จุดประกาย’ ให้แก่วิญญาณที่เตรียมไปเกิด

บรรดา ‘พี่เลี้ยง’ ทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพการงานเมื่อครั้งยังมีชีวิต โจจับพลัดจับผลูขณะหลบหนีเอาตัวรอดจากโลกหลังความตาย จนต้องสวมรอยเป็นนักจิตวิทยาเด็กเจ้าของรางวัลโนเบล และได้รับมอบหมายให้ดูแล 22 (วิญญาณลำดับต้นๆ ในประวัติมนุษยชาติ ขณะที่ในปัจจุบันลำดับหมายเลขมาถึงจำนวนหลักล้านล้านไปแล้ว)

22 เป็นวิญญาณที่ไม่ปรารถนาจะไปเกิด แม้จะเจอบรรดาพี่เลี้ยงซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลชั้นนำ เช่น แม่ชีเทเรซา, มหาตมะคานธี, มูฮำหมัด อาลี, อับราฮัม ลิงคอล์น ฯลฯ มามากมาย แต่ทุกรายก็ล้มเหลวในการ ‘จุดประกาย’

เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้นว่าด้วย 2 วิญญาณที่ตรงกันข้าม ‘ไม่อยากตาย-ไม่อยากเกิด’ โคจรมาเจอกัน จนกระทั่งค้นพบ ‘รูโหว่’ เป็นข้อแลกเปลี่ยนสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือ โจได้กลับไปมีชีวิตอีกครั้ง ขณะที่ 22 สามารถหลบเลี่ยงจากการเกิด

แต่แล้วก็มีข้อผิดพลาด ทำให้เรื่องราวบานปลาย นำไปสู่การผจญภัยโลดโผนอลวนอลเวงขนานใหญ่ ยังผลให้โจและ 22 ได้เรียนรู้สิ่งสำคัญ นั่นคือ ความหมายของการมีชีวิต

 

 

ความดีงามเบื้องต้นของ Soul คือการผูกเรื่องในแนวแฟนตาซีได้อย่างสนุกสนาน ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ครบรสความบันเทิงทุกด้าน ทั้งอารมณ์ขัน การผจญภัย ความซาบซึ้งประทับใจ แต่ที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือ การนำพาผู้ชมไปสู่เนื้อหาลึกซึ้งที่ปลายทาง พูดเรื่องยากและลึกให้เข้าอกเข้าใจกันอย่างง่ายๆ

เพื่อหลีกเลี่ยงจากการเผยใจความสำคัญของหนัง ผมอยากขยายความสาระสำคัญของ Soul ด้วยวิธีทางอ้อมผ่านผลงานอื่น 2 เรื่อง นั่นคือ It’s a Wonderful Life หนังปี 1946 ผลงานกำกับของแฟรงค์ คาปรา และ Wings of Desire หนังปี 1987 ผลงานกำกับของวิม เวนเดอร์ส (เรื่องนี้เพิ่งเข้าฉายในบ้านเราเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา)

It’s a Wonderful Life เป็นเรื่องของชายหนุ่มชื่อจอร์จ ไบลีย์ ซึ่งใฝ่ฝันอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ออกไปเผชิญโลกกว้าง สร้างวีรกรรมใหญ่โต แต่กลับต้องติดขัดดักดานอยู่ในบ้านเกิดซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ เติบโต แต่งงานมีครอบครัว ทำงานในบริษัทออกเงินกู้ โดนคดโกง จนกระทั่งสิ้นเนื้อประดาตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นชีวิตจืดชืด ลงเอยด้วยความล้มเหลวพ่ายแพ้ทุกๆ ด้าน

จอร์จตัดสินใจฆ่าตัวตาย เนื่องจากรู้สึกว่าทุกสิ่งที่กระทำมาตลอดชีวิตล้วนไร้ค่าปราศจากความหมาย ถึงขั้นปักใจเชื่อว่าหากเขาไม่ต้องเกิดมามีชีวิตเลยจะเป็นการดีเสียกว่า

ในช่วงกำลังตกต่ำย่ำแย่สุดขีดและเตรียมจบชีวิตตนเอง เทวดาไร้ปีกตนหนึ่ง (ซึ่งดูไม่น่าเลื่อมใสและกระเดียดไปทางไม่เอาไหน) ก็ได้รับคำบัญชาจากสรวงสวรรค์ให้ลงมาช่วยเหลือ เริ่มจากชิงฆ่าตัวตายตัดหน้า จนจอร์จต้องเปลี่ยนจากผู้เตรียมจบชีวิตมาเป็นผู้ช่วยชีวิต จากนั้นเทวดาก็ชักชวนพูดคุยสอบถาม จนกระทั่งสะดุดใจกับคำพูดว่า ‘ในเมื่อชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ผิดหวังและความพ่ายแพ้ หากเขาไม่ต้องเกิดมามีชีวิตเลยจะเป็นการดีเสียกว่า’

เทวดาสารรูปกระจอกงอกง่อยจึงเกิดความคิดฉับพลัน ดลบันดาลให้จอร์จได้เห็นว่า หากตัวเขาไม่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้จะส่งผลเช่นไรต่อชีวิตของผู้คนรอบข้างที่เขาเคยรู้จักและถิ่นย่านบ้านเกิด ผลก็คือ เมืองเล็กๆ ที่เงียบเหงาสงบสุขกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมด้วยอบายมุขและอาชญากรรม ผู้คนต่างประสบเหตุหายนะหนักหนาสาหัส (อาทิ ภรรยาของเขากลายเป็นสาวใหญ่ขึ้นคาน ไม่มีใครแต่งงานด้วย และอมทุกข์อยู่กับชีวิตเงียบเปล่าเปลี่ยว หวาดกลัวผู้คน ฯลฯ)

สาระสำคัญของ It’s a Wonderful Life พูดถึงความหมายของการมีชีวิตในแง่ที่ว่า ทุกการกระทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญสักเพียงไร แท้จริงแล้วเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อชีวิตรอบข้างอย่างใหญ่หลวง และเมื่อบวกรวมทุกการกระทำ สิ่งเล็กๆ จำนวนมากสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตมหาศาลได้เช่นไร

โดยนัยนี้ ชีวิตราบเรียบปกติที่ดูเหมือนจะล้มเหลวมาตลอดของจอร์จจึงแฝงไว้ด้วยวีรกรรมมากมายโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว และไม่ได้ไร้คุณค่าแต่อย่างไร ตรงกันข้ามกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายดีงามที่น่าจำจด

แง่มุมคล้ายๆ กับ It’s a Wonderful Life ปรากฎใน Soul ผ่านเหตุการณ์ที่ 22 ได้เห็นภาพสรุปรวบรัดตลอดทั้งชีวิตของโจ ซึ่งล้มเหลวและผิดหวังแบบเดียวกัน และอีกครั้งในช่วงท้าย เมื่อโจได้ทบทวนอดีตทั้งหมดที่ผ่านมา และพบเจอความสุขมากมายหลายครั้งแฝงซ่อนอยู่ในชีวิตอันเต็มไปด้วยความพ่ายแพ้สารพัดสารพัน รวมทั้งตัวละครรองลงมาอย่างช่างตัดผม หรือนิทานอุปมาอุปไมยที่โดโรเธีย วิลเลียมส์ เล่าให้โจฟัง ถึงลูกปลาที่มีชีวิตอยู่ในท้องทะเล และใฝ่ฝันพยายามมุ่งสู่มหาสมุทรอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ได้ตระหนักว่าแท้ที่จริงมันดำรงชีวิตอยู่ในมหาสมุทรแล้ว

ในหนังเรื่องต่อมาคือ Wings of Desire เล่าถึงเทวดาประจำเมืองเบอร์ลินชื่อแดเมียล ผู้เป็นอมตะ เฝ้าดูและรู้เห็นความเป็นไป ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานาของเมืองทุกช่วงประวัติศาสตร์ และที่สำคัญกว่านั้น เป็นการเฝ้าสังเกตชีวิตผู้คนที่เกิดดับนานนับนาน ได้เห็นและได้ยินความคิดภายในใจทั้งทุกข์และสุขของทุกผู้คน

เป็นการรับรู้ แต่ไม่สามารถสัมผัสจับต้อง ไม่รู้รส ไม่รู้กลิ่น จนวันหนึ่งแดเมียลได้พบกับหญิงสาวนักเล่นกายกรรมในคณะละครสัตว์ เกิดความสนใจในตัวเธอ กระทั่งเกิดความกระหายใคร่รู้อื่นๆ อย่างเช่น รสชาติของความผิดหวัง ความรัก ความสุข, กลิ่นและรสของสิ่งต่างๆ, ผิวสัมผัสต่อวัตถุทั้งหลายทั้งปวง จนนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญคือ การยอมละทิ้งความเป็นอมตะและความสามารถในการเหาะบินไปได้ทุกที่ดังใจปรารถนา มาสู่การมีชีวิตธรรมดาสามัญของมนุษย์ เพื่อจะได้ซึมซับจับต้องทุกสิ่ง สามารถ ‘รู้สึก’ และ ‘เข้าถึง’ ถึงอารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ แม้กระทั่งรสชาติของความเจ็บปวด

ข้างต้นนี้ สอดคล้องตรงกันกับเรื่องราวของ 22 ซึ่งตลอดเวลาอันยาวนาน เธอได้แต่เพียงรับรู้ในระยะห่าง มองเห็นความเป็นไปของสรรพสิ่ง แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงใดๆ เลย การผจญภัยร่วมกับโจชักนำให้ 22 มีโอกาสสัมผัสคลุกคลีทุกสิ่งอย่างใกล้ชิด

 

 

นอกจากจะดีงามทั้งความบันเทิงและเนื้อหาสาระแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากใน Soul ก็คือระเบียบแบบแผนในทางศิลปะ ตรงนี้ผมหมายถึงการสร้างรายละเอียดต่างๆ มากมายในลักษณะตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นโลกหลังความตายกับโลกก่อนการถือกำเนิด, ตัวละครผู้ควบคุมอย่างเทอร์รีกับเจอร์รี (ซึ่งออกแบบรูปร่างหน้าตาเหมือนภาพเขียนแบบคิวบิสม์ ซึ่งมีสองร่างสองบุคลิกเหลื่อมซ้อนกันอยู่) และที่สำคัญคือตัวเอกทั้งสอง

โจกับ 22 แตกต่างตรงข้ามในทุกด้าน ตั้งแต่เพศชายกับหญิง, ผิวดำกับผิวขาว, สถานะคนตายกับวิญญาณที่ไม่ยอมไปเกิด, ความใฝ่ฝันอันแรงกล้ากับการไร้จุดหมายใดๆ โดยสิ้นเชิง

เงื่อนไขตรงข้ามเหล่านี้เป็นเหมือนการปูพื้นเพื่อนำไปสู่ระเบียบแบบแผนต่อมา คือการเปลี่ยนสลับ ทั้งในทางกายภาพ (ซึ่งอยู่ในส่วน ‘ความลับทางภาพยนตร์’ ที่ผมเลี่ยงไม่พูดถึงรายละเอียด) และบทบาทหน้าที่

ในช่วงต้นโจรับหน้าที่เป็น ‘พี่เลี้ยง’ ให้ 22 ช่วยเหลือเธอในการค้นหาสิ่งที่เป็นการ ‘จุดประกาย’ ด้วยการยื่นเสนอ ‘เป้าหมายและความใฝ่ฝัน’ จำนวนมากให้เธอเลือกสรร ซึ่งไม่มีสิ่งใดดึงดูดความสนใจของ 22 ได้เลย ยกเว้นสิ่งเดียว นั่นคือความสนใจใคร่รู้ว่า ทำไมคนที่มีชีวิตย่ำแย่ห่วยแตกทุกด้านอย่างโจจึงดิ้นรนกระเสือกกระสนทำทุกวิถีทางเพื่อจะกลับไปมีชีวิตอีกครั้ง

พูดง่ายๆ ผ่านมุมมอง 22 คือในเมื่อชีวิตเต็มไปด้วยความเลวร้ายไม่เหลืออะไรดี ทำไมจึงยังมีคนโหยหาอยากมีชีวิต

ท่ามกลางเหตุผจญภัยต่อมา โดยที่ผู้ชมและตัวละครไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว บทบาทการเป็น ‘พี่เลี้ยง’ ก็เกิดการสลับสับเปลี่ยนไปจนถึงช่วงท้ายของหนัง

22 กลายมาเป็นผู้ชี้แนะและ ‘จุดประกาย’ ให้กับโจ

การที่หนังเลือกใช้คำว่า ‘จุดประกาย’ (หรือคำว่า spark) แฝงนัยยะสำคัญอยู่นะครับ เบื้องต้นตัวละครอย่างโจ (รวมถึงพี่เลี้ยงในอดีตมากมายนับไม่ถ้วนของ 22) ตีความคำนี้ในความหมายถึงการสร้างแรงบันดาลใจ ความใฝ่ฝัน เป้าหมายในชีวิต (นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บรรดาพี่เลี้ยงทุกรายล้มเหลวกับ 22 จนทำให้เธอไม่อยากและไม่ยอมไปเกิด)

ผมขออนุญาตไม่เล่านะครับว่า ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘จุดประกาย’ ที่หนังนำเสนอต่อผู้ชมคืออะไร แต่ที่เปิดเผยได้คือ ในบั้นปลายท้ายสุด โจคือตัวละครที่ได้รับการ ‘จุดประกาย’ จาก 22

และการ ‘จุดประกาย’ ที่โจได้รับ ก็นำไปสู่การเรียนรู้ชีวิตอีกขั้นหนึ่งซึ่งพ้นเลยไปไกลกว่าการไล่ล่าเดินตามความใฝ่ฝัน แต่เป็นการค้นหาความหมายของการมีชีวิตให้พบ

ตรงนี้ก็เป็นความแยบยลและชั้นเชิงอีกอย่างหนึ่งของหนัง นั่นคือมีการนำเสนอแบบชี้แนะกว้างๆ ผ่านตัวอย่างสาธิตแบบหนึ่ง (คือประสบการณ์ต่างๆ ที่ 22 เจอะเจอ) แต่ไม่ได้สรุปเอาไว้แน่ชัดตายตัวว่า สิ่งสำคัญทรงความหมายสำหรับคนหนึ่งจะต้องเป็นสิ่งเดียวกันสำหรับทุกคน เป็นเรื่องที่แต่ละคนจำต้องค้นหาด้วยตนเอง ตัวหนังเพียงแค่หยิบยื่นเครื่องมืออย่างหนึ่งให้แก่ผู้ชมเท่านั้น

มีแง่มุมสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมไม่ได้เล่าผ่านเนื้อเรื่องย่อ (เนื่องจากเล่าค่อนข้างยาก และเปิดเผยความลับของหนังมากเกินไป) นั่นคือเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘วิญญาณหลงทาง’ ซึ่งเป็นบุคคลที่หมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เป็นต้นว่า ความอยากได้ใคร่มีทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง และความสำเร็จ) จนเกินเหตุ กระทั่งละเลยมองข้ามส่วนปลีกย่อยละเอียดอ่อนอื่นๆ ในชีวิต เมื่อเกิดการสั่งสมนานวันเข้าและเพิ่มทวีพอกหนา ก็บดบังทุกสิ่งจนเกิดทัศนะมืดบอด มองเห็นแต่ด้านลบล้วนๆ  ดำรงอยู่แบบซังกะตาย ปราศจากความมีชีวิตชีวา กลายเป็นวิญญาณสิ้นสุขสมบูรณ์แบบ

ผมคิดว่าการผจญภัยที่สำคัญสุดในหนังเรื่อง Soul คือ นอกจากการที่ตัวเอกทั้งคู่ โจกับ 22 แสวงหาคุณค่าความหมายของการมีชีวิตแล้ว อีกสิ่งที่มีน้ำหนักเข้มข้นไม่แพ้กัน เป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นจากสภาพตกเป็น ‘วิญญาณหลงทาง’ นะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save