fbpx
เมื่อทาสไม่อยากเป็นทาส : ปฏิบัติการถอดกรงเล็บแมว

เมื่อทาสไม่อยากเป็นทาส : ปฏิบัติการถอดกรงเล็บแมว

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของ ‘ทาสแมว’ ทั้งหลาย ก็คือแมวไม่ได้เป็นสัตว์ที่มีแต่ขนนุ่มฟูน่ารักเท่านั้น มันยังเป็น ‘นักล่า’ ที่เต็มไปด้วยอาวุธรอบตัวด้วย และอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากเขี้ยวก็คือกรงเล็บ

ดังนั้น ปฏิบัติการถอดกรงเล็บแมว หรือที่เรียกกันแบบบ้านๆ ว่า Declawing และเรียกเป็นภาษาแพทย์ว่า Onychectomy จึงเกิดขึ้น และเกิดขึ้นเป็นปกติในหลายส่วนของโลก เพื่อไม่ให้แมวสามารถใช้กรงเล็บในการขีดข่วน ทั้งทำร้ายข้าวของ เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงการทำร้ายผู้คนได้

หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะคิดว่ามันก็คงคล้ายๆ กับการ ‘ตัดเล็บ’ นั่นแหละ เพียงแต่เป็นการตัดเล็บถาวรเท่านั้นเอง และการถอดเล็บก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้ได้มากมาย โดยทำให้เจ้าเหมียวกลายเป็นสัตว์น่ารักที่ไม่มีพิษมีภัยใดๆ อีกต่อไป

แต่ที่จริงแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

การขีดข่วนโดยใช้เล็บ (รวมไปถึงการลับเล็บด้วย) คือธรรมชาติหรือพฤติกรรมปกติของแมว มันไม่ได้ทำเพื่อจะทำร้ายใคร (ยกเว้นกรณีข่วนคนที่ไปทำร้ายมันหรือมันไม่ชอบหน้าน่ะนะครับ) แต่การขีดข่วนหรือลับเล็บ เกิดขึ้นเพื่อ ‘ลอก’ เซลล์ที่ตายแล้วออกจากกรงเล็บของมัน

หลายคนอาจไม่รู้ว่า กรงเล็บแมวมีลักษณะเป็นชั้นๆ คล้ายๆ แมลงลอกคราบเหมือนกัน นั่นคือพอเล็บเจริญเติบโตไประยะหนึ่ง มันก็จะหลุดลอกออกมา แมวต้องลับเล็บเพื่อให้เปลือกเล็บเก่า (เรียกว่า Dead Husk) หลุดออกมา นอกจากนี้ มันยังขีดข่วนเพื่อแสดงอาณาเขต และเป็นการออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อด้วย

แล้วการถอดเล็บหรือ Onychectomy คืออะไร?

หลายคนคิดว่าการถอดเล็บก็คือแค่เอาเล็บออกมาเท่านั้น บางคนบอกว่าก็เหมือนการ ‘ทำเล็บ’ (Manicure) แบบถาวร เหมือนไปตัดแต่งเล็บนั่นแหละ แต่ที่จริงแล้ว การ Declaw ก็คือการ ‘ตัด’ กระดูกข้อสุดท้าย (End Bones) ของนิ้วแมวแต่ละนิ้วออก ถ้าเทียบกับมนุษย์ ก็คือการตัดข้อสุดท้ายของนิ้วทุกนิ้วทิ้งนั่นแหละครับ โดยกระดูกข้อสุดท้ายนี้เรียกว่า Distal Phalanges เนื่องจากกรงเล็บของแมวงอกออกมาจากกระดูกนี้ ดังนั้นการตัดกระดูกส่วนนี้ออกจึงเป็นเรื่องจำเป็นถ้าจะทำให้แมว ‘ไร้กรงเล็บ’

ถ้าดูรากศัพท์ Onychectomy ซึ่งมาจากภาษากรีก เราจะพบว่าแปลว่า Nail Excision หรือการตัดเล็บธรรมดาๆ ดังนั้นจึงมีคนเสนอว่าควรจะเรียกกระบวนการนี้เสียใหม่ว่า Phalangectomy หรือการตัดกระดูกปลายนิ้วออกไปต่างหาก

วิธีทำก็คือการใช้มีดหรือคลิปเปอร์ตัดกระดูกออก แล้วปิดแผล จากนั้นก็พันเท้าด้วยผ้าพันแผลเอาไว้ระยะหนึ่ง ถ้าเป็นวิธีสมัยใหม่หน่อย ก็สามารถใช้การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ได้ โดยแสงเลเซอร์จะไปตัดผ่านเนื้อเยื่อโดยใช้ความร้อน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ก็คือการตัดกระดูกข้อสุดท้ายเหมือนกัน

อีกวิธีหนึ่งที่แตกต่างออกไปแต่ฟังดูโหดร้ายไม่แพ้กัน ก็คือวิธีที่เรียกว่า Tnedonectomy หรือการ ‘ตัดเอ็น’ วิธีนี้จะทำให้แมวยังคงมีเล็บอยู่ แต่เป็นการตัดเส้นเอ็นที่แมวใช้ในการควบคุมกรงเล็บ

ถ้าใครเคยเลี้ยงแมว น่าจะพอรู้ว่ากรงเล็บแมวไม่เหมือนกรงเล็บหมา นั่นคือมันยืดหดได้เหมือนอาวุธ ยามปกติก็หุบเก็บเข้าไปได้ ยามต้องสู้รบปรบมือถึงจะแผ่กางกรงเล็บออกมา แมวใช้เส้นเอ็นนี้แหละครับในการแผ่กรงเล็บออกมาตะปบหรือขีดข่วน เมื่อเส้นเอ็นนี้ถูกตัด มันจึงกางเล็บไม่ได้ แต่ยังคงมีกรงเล็บอยู่ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างที่บอกไว้ข้างต้น นั่นคือเปลือกเล็บจะพอกพูนหนาขึ้น เพราะมันไม่ได้ลับเล็บเอาเนื้อเยื่อตายแล้วชั้นนอกออกไป จึงอาจทำให้เล็บงอกจิกเข้าไปในอุ้งเท้าแมวจนเป็นอันตรายได้

หลายคนอาจคิดว่า การถอดเล็บแมวไม่น่าจะส่งผลอะไรกับแมวนักหนา แต่มีการศึกษาหลายชิ้นที่บอกว่า การถอดเล็บแมวทำให้แมวมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป มีการศึกษาในแมว 274 ตัว (ดูรายละเอียดที่นี่) ซึ่งครึ่งหนึ่งถูกถอดเล็บ พบว่าแมวแสดงอาการเจ็บปวดหลายอย่าง และพบว่าแมวที่ถูกถอดเล็บจะฉี่ในที่ที่ไม่ได้จัดไว้ให้ (คือฉี่เรี่ยราด) มากกว่าแมวที่ไม่ได้ถอดเล็บถึง 7 เท่า และมีแนวโน้มจะกัดคนมากกว่าถึง 4 เท่า เป็นแมวที่ก้าวร้าวมากกว่าแมวทั่วไป 3 เท่า และมักจะเลียตัวเองมากเกินเหตุ (ทำให้ก้อนขนเข้าไปติดอยู่ในกระเพาะ) มากกว่าแมวทั่วไป 3 เท่า

นอกจากนี้ แมวที่ถูกถอดเล็บยังได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการปวดหลัง (สัตวแพทย์บอกว่าอาจเกิดจากการที่มันต้องเปลี่ยนท่าเดินเพราะกระดูกปลายนิ้วถูกตัดออก) มากกว่าแมวทั่วไป 3 เท่านั้น และมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังที่อุ้งเท้า

ส่วนการที่มันชอบไปฉี่ในที่ที่ไม่เหมาะสม ก็เพราะมันจะเลือกฉี่บนพื้นนุ่มๆ เนื่องจากพื้นนุ่มเจ็บปวดน้อยกว่า แมวพวกนี้จะเลือกกัดมากกว่าข่วน เพราะอาวุธจากการข่วนไม่เหลือแล้ว ไม่มีวิธีป้องกันตัวแบบอื่น ซึ่งการกัดจะทำให้มนุษย์เจอกับน้ำลายแมวด้วย ในขณะที่การข่วนไม่มีน้ำลาย และน้ำลายก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าการข่วน

หลายประเทศ (เช่นในสหภาพยุโรป) เห็นว่าการถอดเล็บแมวเป็นเรื่องที่โหดร้าย จึงมีการสั่งห้าม แต่ในอเมริกา การถอดเล็บแมวยังทำกันเป็นเรื่องปกติในหลายรัฐ ทว่าเริ่มมีเสียงค้านกันมากขึ้น ปัจจุบันนี้ในเดนเวอร์ โคโลราโด และหลายเมืองในแคลิฟอร์เนีย ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในอีกหลายแห่งก็ยังทำได้อยู่

ในรัฐนิวยอร์ค มีการเสนอกฎหมายสั่งห้ามการถอดเล็บแมวเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ โดยกฎหมายนี้บอกว่า สัตวแพทย์ยังสามารถถอดเล็บแมวได้ถ้ามีเหตุผลทางการแพทย์ แต่ในกรณีอื่นๆ การฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับหนึ่งพันเหรียญ

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มที่คัดค้านการแบนอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า New York Veterinary Medical Society หรือสมาคมสัตวแพทย์แห่งรัฐนิวยอร์ค ซึ่งเห็นว่าถ้ามีการดูแลดีๆ การถอดเล็บไม่ใช่ต้นตอของปัญหา และคนจำนวนมากก็อยากเลี้ยงสัตว์ที่ทำร้ายตัวเองไม่ได้ เช่น คนชราที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าได้เลี้ยงแมวจะช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้น แต่คนชราไม่สามารถรับมือกับอารมณ์แปรปรวนของเจ้าเหมียวได้ ดังนั้นถ้าได้ถอดเล็บเอาไว้ก่อนน่าจะดีกว่า

เมื่อทาสแมวไม่อยากเป็นทาสอีกต่อไป ปฏิบัติการถอดกรงเล็บแมวจึงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน

อย่างไรก็ตาม สิทธิของสัตว์ (ในที่นี้คือแมว) ดูท่าว่าจะเป็นฝ่ายชนะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save