fbpx
เดชรัต สุขกำเนิด

“เราต้องรักการเรียนรู้ไม่แพ้ลูก” เดชรัต สุขกำเนิด พ่อแม่โฮมสคูลในโลกการเรียนไม่รู้จบ

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

นับแต่ที่ แดนไท สุขกำเนิด ในชั้นประถม 6 แสดงเจตจำนงต่อพ่อแม่ว่าการเรียนในระบบไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเขา และต้องการเรียนด้วยตัวเอง จากนั้นครอบครัวของเขาก็ได้ทำความรู้จักโลกของ ‘โฮมสคูล’

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพ่อแม่คนใด เมื่อลูกจะเดินเข้ามาบอกว่าจะไม่เรียนที่โรงเรียนแล้ว ขณะที่สังคมไทยเคยชินกับการส่งลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่เล็ก โดยไม่ตั้งคำถามว่าการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นจะเหมาะกับลูกตัวเองหรือไม่

ต่อให้คิดถึงทางเลือกอื่นๆ ในการศึกษา แต่คำถามจำนวนมากที่ตามมา เช่น มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ มีคุณภาพไหม ต้องทุ่มเทเวลาให้ลูกแค่ไหน ฯลฯ ก็ทำให้พ่อแม่หลายคนถอดใจ

สำหรับ เดชรัต สุขกำเนิด ในฐานะพ่อของแดนไทก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้ แม้ว่าอีกบทบาทหนึ่งเขาจะเป็นนักวิชาการอิสระและอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคุ้นเคยกับโลกการศึกษาเป็นอย่างดี แต่ในฐานะพ่อ ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เขาค้นพบความหลากหลายในโลกของการเรียนรู้ หลังเดินผ่านประตูที่ชื่อว่า ‘โฮมสคูล’

ปัจจุบันแดนไทเรียนชั้นมัธยมปลายที่สถาบันการศึกษาทางไกล และเป็นนักออกแบบบอร์ดเกมในกลุ่มเถื่อนเกม หรือ Deschooling Game

101 คุยกับ เดชรัต ถึงการเตรียมตัวสู่โลกโฮมสคูล การทำความเข้าใจการศึกษาผ่านความเป็นไปได้อื่นๆ นอกห้องเรียน และบทบาทของครอบครัวบนพื้นที่ระหว่าง ‘โลกของผู้ใหญ่’ และ ‘โลกของเด็ก’

 

 

ลูกชายเริ่มโฮมสคูลได้อย่างไร และลักษณะการเรียนเป็นแบบไหน

เราคุยกันตั้งแต่เขาอยู่ ป.6 ว่าจะเข้าโรงเรียนทั่วไปหรือโรงเรียนทางเลือกที่เรียนอยู่เดิม แต่เขารู้สึกอึดอัดกับการเรียนแบบห้องเรียนซึ่งปรับความยืดหยุ่นตามความต้องการไม่ได้ ตอนป.6 แดนไทพยายามสื่อสารกับคุณครูว่าควรจะปรับวิธีการเรียนอย่างไร เขามาถามว่าพ่อทำวิจัยอย่างไร เขาทำแบบสอบถามผ่าน Google Forms ให้เพื่อนเข้ามาตอบว่าชอบการเรียนแบบไหนแล้วประมวลผลข้อมูลไปบอกครู

แม้เขาจะพยายามปรับตัวแต่สุดท้ายก็เจอข้อจำกัดว่าห้องเรียนถูกออกแบบให้คล้ายกันเพื่อให้เด็กเรียนไปด้วยกัน เขาจึงลองหาการศึกษาที่ไม่ใช่ห้องเรียน สามารถเลือกวิธีการของตัวเองได้ ช่วงแรกเราก็ยังไม่มั่นใจในความชัดเจนของเขา แต่แดนไทได้รับเชิญไปพูดที่ ‘มหาลัยเถื่อน’ เขาเตรียมตัวดีมากเพื่อบอกว่าทำไมต้องเรียนด้วยตัวเอง วันนั้นคุณแม่ไม่ได้ไป แต่ก็อัดเทปเอาไว้ให้ดูว่าเขาตั้งใจมาก เราเห็นความตั้งใจเต็มที่ของเขาเลยมาลองกัน

เราเริ่มต้นดูว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง คิดไว้ 3 ทาง 1. กศน. 2. เขียนหลักสูตรโฮมสคูลเองแล้วไปขออนุมัติจากเขตพื้นที่การศึกษา หลังจากนั้นเขตจะมาประเมินรายปี 3. สถาบันการศึกษาทางไกล

ช่วงแรกรู้จักแค่สองแบบแรก จึงสมัคร กศน. แต่พบว่าไม่ค่อยเหมาะกับแดนไท ถ้าให้ลูกมาเรียนคงไม่สนุก เพราะผู้เรียน กศน. จะโตหน่อยและมีลักษณะภูมิหลังที่ต่างกัน เช่น เป็นคนทำงานแล้ว

ทางเลือกที่สองก็กังวลว่าการประเมินจะเป็นอย่างไร จนเจอทางเลือกที่สามคือสถาบันการศึกษาทางไกล ซึ่งเราไม่ได้เขียนหลักสูตรเอง แต่เลือกวิธีการเรียนได้เอง เช่น เขากำหนดเนื้อหาแต่ละวิชามา เราก็เลือกเองว่าจะเรียนเมื่อไหร่หรือเรียนให้ลึกกว่านี้ได้ไหม แล้วไปสอบตามที่เขากำหนด

จริงๆ ต้องดูที่เด็กแต่ละคน แดนไทมีความสามารถในการทำข้อสอบ ไม่ว่าเรียนอย่างไรแต่เขาจะทำข้อสอบตามหลักสูตรได้ เพียงแต่เขาอยากจะเรียนในแบบของเขาเอง ซึ่งเด็กบางคนอาจไม่ถนัดหากเรียนแบบหนึ่งแล้วออกข้อสอบอีกแบบหนึ่ง

 

การเรียนกับสถาบันการศึกษาทางไกลเป็นอย่างไร ผู้เรียนออกแบบการเรียนได้มากน้อยแค่ไหน

สถาบันการศึกษาทางไกลจะมีหนังสือมาให้เป็นหลัก มีวิดีโอบ้างแต่อาจเป็นรูปแบบเก่า ผู้เรียนออกแบบเวลาของตัวเองได้ แต่ออกแบบการสอบไม่ได้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์เรียนเรื่องแคลคูลัส การเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ก็อาจเอาแคลคูลัสมาดูอัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ติดเชื้อตามเกณฑ์กราฟปกติว่าจะเห็นอัตราการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิมหรือเปล่า แล้วถ้าเราใส่แบบลอการิทึมจะแตกต่างกันอย่างไร แกน X และ Y ควรจะเป็นอะไร เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เราเลือกเรียนเอง แต่ไม่อยู่ในข้อสอบซึ่งอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในหนึ่งปีแดนไทจะเตรียมสอบเป็นเวลา 3 เดือน และอีก 9 เดือนจะมีอิสระได้เต็มที่ เขาจะเรียนรู้คู่ขนานกับวิชาที่ลงเรียนในเทอมนั้น เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา ภาษาไทย เขาจะลองเอาเนื้อหาที่มีมาเรียนคู่ขนานกับสิ่งที่ไม่มีในหนังสือของสถาบัน โดยคำถามเริ่มต้นอาจเกิดจากประเด็นเล็กๆ แล้วก็ศึกษาให้ลึกขึ้น

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

ก่อนแดนไทเรียนโฮมสคูล อาจารย์และภรรยามีความคิดเรื่องนี้มาก่อนไหม พอได้ยินว่าลูกอยากเรียนแล้วกังวลแค่ไหน

เราติดตามเรื่องโฮมสคูล แต่ไม่ได้คิดเรื่องลูกตัวเอง เพราะเชื่อว่าตัวผมและภรรยาไม่มีเวลาสอน ยิ่งระดับมัธยมบางวิชาก็สอนยาก พอลูกเรียนจริงๆ ความคิดนี้เปลี่ยนหมดเลย ถ้าเด็กมีความสามารถบริหารจัดการการเรียนรู้ตัวเอง (self-directed learning) ได้ดีพอสมควร พ่อแม่จะไม่ใช้เวลาเยอะ เพียงแค่ชวนคุยว่าสิ่งที่ได้รู้มาคืออะไร สิ่งที่ควรจะรู้เพิ่มคืออะไร

ตอนนี้โลกการเรียนรู้กว้างขวางมาก ผมไม่เก่งแคลคูลัส แต่เราหาหนังสือหรือคลิปวิดีโอที่อธิบายการนำแคลคูลัสไปประยุกต์ใช้ได้ ทำให้ลูกเห็นภาพและค้นคว้าต่อได้ ขณะตอนที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยจะนึกภาพไม่ค่อยออกว่าแคลคูลัสจะไปประยุกต์อย่างไร อาจนึกออกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์

ถ้าเด็กมีความตั้งใจในการเรียนรู้แบบ self-directed learning จะทำได้เลย เพราะตอนนี้ทรัพยากรมีพอสมควรโดยเฉพาะถ้าถนัดภาษาอังกฤษ ซึ่งในเชิงนโยบายหากต้องการทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ ต้องมีคนช่วยย่อยกระบวนการเรียนรู้ให้เข้าถึงได้มากขึ้น ก็จะเปิดโลกของการเรียนรู้ได้

คะแนนสอบของแดนไทในสถาบันการศึกษาทางไกลอยู่ในระดับที่เราไม่ต้องห่วงเลย บางครั้งคะแนนได้เต็ม เพราะการเรียนรู้มากกว่าหลักสูตรที่มี ไม่ใช่หลักสูตรไม่ดีหรือไม่มีประโยชน์ แต่พอมีหลักสูตรเป็นกรอบและมีโลกแห่งการเรียนรู้ที่กว้างกว่านั้น และเลือกเองได้ เขาจะเลือกและมา match กันได้มากกว่าที่หลักสูตรต้องการเยอะเลย

ถ้าเราเรียนในห้องเรียนปกติ หลักสูตรจะถูกคิดว่าควรต้องออกแบบการเรียนรู้แบบไหนจึงจะตอบโจทย์หลักสูตรได้ดีที่สุด ผมคิดว่าไม่จริง การออกแบบแบบนี้อาจเหมาะกับเด็กบางคนเท่านั้น แต่เด็กอีกหลายคนจะมีวิธีการออกแบบการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งอย่างกรณีของแดนไท

ความจำเป็นที่ต้องออกแบบการเรียนรู้จนซอยย่อยเป็นแต่ละชั่วโมง แต่ละนาที หรือแต่ละแบบฝึกหัดอาจจะไม่ใช่วิธีเดียวของการเรียนรู้อีกต่อไปในอนาคต

 

ก่อนจะเริ่มโฮมสคูลต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างสำหรับความเปลี่ยนแปลง

พอดีตอนแรกเราเตรียมจะให้แดนไทเรียน ม.1 ที่โรงเรียน พอเขาปฏิเสธก็เปิดเทอมแล้วต้องเริ่มเรียนแบบโฮมสคูลเลย แทบไม่ได้เตรียมตัว ตอนนั้นผมเป็นผู้บริหารและไม่มีเวลา จึงตั้งหลักไว้ 4 ข้อเพื่อให้แดนไทบริหารการเรียนรู้เอง

1. เขาต้องออกแบบการเรียนรู้เอง 2. เขาต้องเชื่อมโยงการออกแบบการเรียนรู้นั้นสู่วิธีการทำงานอื่นๆ เพราะเขาจะทำงานออกแบบเกมไปด้วย และการออกแบบเกมต้องมีลักษณะของ ‘การประกอบการ’ คือเขาต้องบริหารจัดการเองได้ด้วย 3. เขาต้องมีเพื่อนใหม่ เพราะเรากังวลว่าเรียนโฮมสคูลจะมีสังคมที่จำกัด 4. ต้องทำสิ่งที่ไม่ใช่ตัวฉันด้วย คือการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตที่เขาเลือกกับชีวิตที่เขาไม่ได้เลือก

ข้อที่สี่สำคัญเพราะหากเขายกข้อแรกขึ้นมาบอกว่าเขาจะเลือกเอง เราต้องยกข้อสี่ขึ้นมาว่าให้ลองเปิดรับเรื่องที่เขาไม่คุ้นเคยก่อน เพราะเรากังวลว่าบางครั้งการเลือกจากตัวเลือกที่มีมันอาจจะแคบไปหรือเปล่า เราไม่ก้าวก่ายว่า ‘ตัวฉัน’ ของเขาคืออะไร แม้สุดท้ายเขาอาจจะบอกว่าไม่โอเคอยู่ดี แต่เราอยากให้เปิดรับโอกาสใหม่ๆ ด้วย

พอเข้าสถาบันการศึกษาทางไกล เขามีขั้นตอนด้านระเบียบการนิดหน่อย แล้วเขาจะส่งหนังสือมา ช่วงแรกเราต้องถามแดนไทว่าวิธีการเรียนรู้สำหรับวิชานี้คืออะไร แต่ตอนนี้ไม่ต้องถามแล้ว จะถามแค่ว่ามีอะไรที่อยากจะเรียนรู้เพิ่มเติม

มีคนเตือนว่าถ้าโฮมสคูลในระดับม.1 โดยไม่ได้ทำมาตั้งแต่วัยเด็กจะเกิดภาวะช็อกชั่วคราว คล้ายกับการล่องลอย ใช้ชีวิตโดยยังโฟกัสไม่ได้ เพราะไม่ถูกกำหนดว่าเวลานี้ต้องทำอะไร เราก็ทำใจไว้เหมือนกัน โชคดีที่เขากำหนดว่าสำหรับเด็กเทอมนี้เรียนได้ไม่เกิน 4 วิชา ภาระจึงยังไม่ได้เยอะ

จริงๆ ช่วงเปลี่ยนผ่านลูกก็มีภาวะนอนทั้งวันเหมือนกัน แต่การนอนก็มีเหตุผลของมัน ไม่ได้หมายความว่าลูกไม่ใส่ใจการเรียน เขาอาจใส่ใจในเวลาที่เราไม่เห็นก็ได้ เราจึงไม่ได้รู้สึกว่า “เฮ้ย นอนอีกแล้วเหรอ เล่นเกมอีกแล้วเหรอ ฯลฯ” เราไม่ได้มองรายชั่วโมง แต่มองว่าสัปดาห์นี้ได้อะไรใหม่ๆ จากการถามก็เปลี่ยนเป็นการพูดคุยประเด็นที่เกี่ยวข้องในชีวิต ทำไมเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นในสังคม

เทอมแรกผมกับภรรยากังวลใจนิดหน่อย พอผ่านไปก็ปรับตัวได้แล้ว แต่แดนไทจะมีคำถามบ้าง เช่น ทำไมข้อสอบถามแบบนี้ ถึงจุดหนึ่งเขาจะแยกออกว่านี่ก็คือวิธีการวัดผล เป็นโลกแบบหนึ่ง ซึ่งที่เหลือคือโลกของเขาที่ออกแบบเอง

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

ทำไมจึงต้องกำหนดให้ลูกทำงานในลักษณะประกอบการ

ผมคิดว่าการทำงานสำหรับเด็กโฮมสคูลวัยมัธยมต้องมีการประกอบการบางอย่าง ซึ่งผมหมายถึงการนำปัจจัยการผลิตมาผลิตเป็นสินค้าและบริการ ในฐานะสิ่งที่มีคุณค่าต่อคนอื่น เอาไปใช้ประโยชน์ได้ จับต้องได้

สำหรับผม เด็กมัธยมไม่ว่าจะโฮมสคูลหรืออยู่ในระบบก็ควรเป็นผู้ประกอบการได้แล้ว และการประกอบการไม่ใช่หมายถึงผลิตแล้วเลิกไป แต่ต้องมีความต่อเนื่องระดับหนึ่ง สิ่งนี้จะทำให้เกิดความสามารถในการบริหารจัดการ ไม่ใช่เฉพาะกิจการของเขา แต่รวมถึงการบริหารจัดการตัวเขาเองด้วย

การประกอบการและการจัดระบบตัวเองต้องไปคู่กัน ชีวิตของพวกเราที่ผ่านระบบการศึกษาเป็นชีวิตที่เรียนอย่างเดียว ต่อไปค่อยทำงาน แต่ชีวิตคนไม่ใช่อย่างนั้น เราทำงานแล้วต้องเรียนรู้ด้วย

กรณีแดนไท เขาต้องไปเป็นวิทยากร คิดเกม ส่งเกมในวันและเวลาที่กำหนด จะทำให้เขาจัดระบบตัวเองไปพร้อมกับการเรียนรู้ พอเห็นแดนไท ทำให้ผมเห็นว่านี่ไงคือชีวิตที่เราอยากเป็น นี่คือชีวิตที่สมดุล เราทำงานและเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ อาจเป็นแรงบันดาลใจทางอ้อมให้ผมลาออกจากการเป็นอาจารย์

ผมเห็นใจเด็กในระบบการศึกษา เขาถูกกำกับละเอียดและถี่เกินไป เช่น การถามว่าพรุ่งนี้ส่งงานหรือยัง ทำให้การประกอบการของคนที่อยู่ในระบบยากขึ้น แต่แดนไทจัดการตัวเองในระยะเวลา 3 เดือนก่อนสอบ ถ้าไม่ได้ทำการประกอบการจะเหมือนเสียโอกาสไป จากการที่เรามีเวลาและได้เติมศักยภาพของเรา

 

คนส่วนมากเข้าใจว่าผู้ปกครองต้องทุ่มเทเวลาของตัวเองให้กับการโฮมสคูลลูก อาจารย์ต้องจัดการเวลาของตัวเองเพื่อรองรับระบบนี้แค่ไหน

กรณีแดนไทเป็นระดับมัธยม การจัดการเวลาไม่เยอะ แต่จะเน้นการจัดการความรู้ เช่น พ่อแม่มักเข้าใจผิดว่าเราต้องรู้เรื่องที่เขาเรียน แต่ที่จริงเราจำเป็นต้องบอกเขาว่า ถ้าสนใจเรื่องนี้ให้ลองไปดูเรื่องนี้ต่อ ให้ลองคุยกับคนนี้ แล้วเราจัดการให้เขามีโอกาสได้ดู

มีช่วงหนึ่งแดนไทสนใจว่าทำไมสะพานมีหลายแบบทั้งโค้งข้างล่าง โค้งข้างบน และสะพานที่ไม่โค้ง มันต่างกันยังไง ผมไม่มีทางตอบคำถามพวกนี้ได้เลย แต่เรามีเพื่อนที่เรียนวิศวะ เวลามากินข้าวกันเพื่อนก็ช่วยอธิบายและทำให้แดนไทได้คุยต่อไปประเด็นอื่น หลายคนอาจถามว่า ถ้าไม่มีเพื่อนเป็นวิศวะจะทำอย่างไร ก็โลกออนไลน์นี่แหละที่จะสลายอุปสรรคนี้

พอเรียนเสร็จเราก็มาชวนคุย ซึ่งไม่ได้ต้องการเวลาเยอะแต่ต้องการคุณภาพของเวลาและมุมมอง เพราะวิธีการใช้ประโยชน์ความรู้ชุดนั้นของเรากับของลูกไม่เหมือนกัน คนรุ่นเราอาจถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยี แต่รุ่นลูกเขามีวิธีการใช้ประโยชน์มากไปกว่าคนรุ่นเรา เวลาฟังก็ต้องทำใจร่มๆ ลองคิดตามเขา พ่อแม่บางส่วนกังวลว่าเราต้องเป็นคนตอบคำถาม แต่ลูกอาจไปค้นเจอข้อมูลแล้วมาเล่าให้เราฟังแทนก็ได้

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

พ่อแม่ทั่วไปคิดว่าตัวเองไม่มีทางจะโฮมสคูลได้ เพราะเขาคิดว่าที่บ้านต้องมีฐานะในการสนับสนุนลูกด้านต่างๆ และต้องมีเวลา อาจารย์อธิบายเรื่องนี้อย่างไร

สถาบันการศึกษาทางไกลไม่ต้องใช้เงิน แต่ถ้าลงเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มก็ใช้เงิน คล้ายส่งลูกเรียนโรงเรียนปกติแล้วส่งไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มด้วย ฉะนั้นประเด็นเรื่องเงินไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง

เรื่องเวลา สำหรับผมไม่ได้มีผลโดยตรง แต่การใช้เวลาของลูกมีผล ก็ต้องดูลูกหน่อยว่าเขาบริหารจัดการเวลาแบบไหน จะเรียนแบบไหน

ถ้าถามว่าพ่อแม่ต้องมีความรู้ไหม คำตอบสำหรับผมคือไม่จำเป็นต้องมีความรู้เยอะ แต่เราต้องรักการเรียนรู้ไม่แพ้ลูกเลย ทุกเรื่องที่ลูกพูด เราต้องอยากรู้ ต้องค้นเพิ่ม ไม่ได้หมายความว่าเราต้องหาคำตอบให้ได้ แต่อยู่ที่ความรู้สึกของลูกว่าพ่อก็สนใจในสิ่งที่เขาพูดและพยายามหาอะไรมาตอบ ซึ่งในยูทูบก็มีสารพัดคำตอบและไม่ใช่เป็นคำตอบเดียวที่สุด ลูกก็จะมีคำถามแล้วค้นต่อไปเรื่อยๆ

ผมคิดว่าความสามารถของสังคมในการคุยกับเด็กๆ เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะเด็กโฮมสคูล เพียงแต่คำถามของเด็กจะมาหลายแนวมาก เวลาอยู่ในห้องเรียนคุณครูก็จะกังวลว่าคำตอบควรจะเป็นแพตเทิร์นไหน พอเป็นพ่อแม่ที่รับมือกับลูกเพียงคนเดียว แล้วเราสลายแพตเทิร์นของคำถามนั้นได้ก็จะสะดวกขึ้น

 

อาจารย์มองว่าระบบโฮมสคูลมีข้อเสียอย่างไรบ้าง

หนังสือเรียนจากสถาบันการศึกษาทางไกลจะบอกแค่เรื่องและอาจเสริมวิธีการเรียนรู้นิดหน่อย ซึ่งจะลำบากถ้าเด็กไม่มีคนช่วยแปลงวิธีการหรือค้นคว้าข้อมูลไม่เก่ง ถ้าอยู่ในโรงเรียนครูจะช่วยแปลงสิ่งนี้มาเป็นวิธีการให้เรา โรงเรียนช่วยเติมวิธีการเรียนรู้ แต่ปัญหาคือเติมอยู่วิธีเดียว และเด็กจะต้องผ่านวิธีการเติมแบบนี้เท่านั้น

เด็กโฮมสคูลจะไม่มีคนที่เติมวิธีการเรียนรู้ให้ เลยกลายเป็นข้อกังวลว่าพ่อแม่จะเติมสิ่งเหล่านี้ให้หรือเปล่า ทั้งด้านเวลาและความรู้ กรณีแดนไทเขาสามารถเติมได้เองจากการค้นคว้า ซึ่งถ้าใช้ภาษาอังกฤษได้โลกการค้นคว้าของเขาจะกว้างกว่าคนที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นเท่าตัวเลย ซึ่งถ้ามีคนที่มาช่วยแปลความรู้เหล่านี้ เด็กก็จะได้ประโยชน์ขึ้นมาก

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

เรื่องเพื่อนและสังคมที่เด็กจะได้เจอในโรงเรียน มีวิธีการทดแทนอย่างไร

เราก็กังวล จึงตั้งกฎว่าลูกต้องมีเพื่อนใหม่ แล้วเขาก็มีเพื่อนใหม่เยอะแยะ เราพบข้อสรุปว่า สิ่งที่เห็นในโรงเรียนอาจเป็นการจำลองภาพที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในสังคม (misrepresentation)

สังคมในโรงเรียนคือคนวัยเดียวกัน การจัดห้องเรียนก็อาจเป็นไปตามความรู้ที่ใกล้เคียงกัน แล้วในสังคมจริงเราเป็นแบบนั้นหรือไม่ ในที่ทำงานเราเป็นคนวัยเดียวกันหรือเปล่า บางโรงเรียนสร้างลำดับชั้น รุ่นพี่จะดูแลรุ่นน้อง แล้วในสังคมจริงคุณต้องแก่ถึงจะได้เป็นหัวหน้างานหรือ ไม่ใช่เลย

แดนไทได้เจอสังคมที่หลากหลาย ต้องบริหารทีมงานที่มีคนจบปริญญาตรีในทีม มีความรู้สึก ทัศนคติ ความสนใจแตกต่างจากแดนไท มันคือสังคมจริงๆ ที่ไม่ได้มีเฉพาะคนวัยเดียวกันแบบในโรงเรียน

ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้โดยเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขว่าต้องประกอบการ ถ้าเป็นโฮมสคูลที่เรียนไปเรื่อยๆ พอจบมหาวิทยาลัยค่อยไปทำงานก็อาจไม่ได้เจอแบบนี้ รวมถึงหลักข้อสี่ที่ให้เขาต้องเจอกับสิ่งที่ ‘ไม่ใช่ตัวฉัน’ บางงานก็ต้องคะยั้นคะยอว่าไปเถอะ จะได้ไปเจอเพื่อน

สังคมในโรงเรียนที่คนวัยเดียวกัน 50 คนอยู่ด้วยกันก็จะสร้างซับคัลเจอร์แบบหนึ่ง เช่น การกรี๊ดศิลปินเกาหลี เขาอาจเสียโอกาสแบบนี้ แต่เขาจะซึมซับการทำงานโดยไม่แยกรุ่นไปโดยปริยาย ซึ่งสังคมในโรงเรียนเป็นการสร้างภาพจำลองที่ไม่ตรงกับสังคมจริงที่มีคนหลากหลายวัยคละกัน

 

แล้วเรื่องกฎระเบียบและการถูกควบคุมในโรงเรียน เป็นสิ่งที่เด็กโฮมสคูลต้องเจอไหม

เรื่องกฎระเบียบก็เป็น misrepresentation ความเป็นสังคมเหมือนกัน จึงเกิดกฎระเบียบบางข้อที่ไม่มีคำอธิบาย และเราก็จะไม่ทำมันเลยตราบใดที่ไม่มีอำนาจควบคุม เช่น ทรงผม เวลาทำงานเราไม่กำหนดเรื่องทรงผม เพราะไม่ได้มีประโยชน์ต่อองค์กร แต่เรามีกฎระเบียบ เช่น เวลาประชุมต้องมาตรงเวลา เพราะวินัยข้อนี้มีเหตุผลและหน้าที่ของมัน แต่ในโรงเรียนเราบังคับใช้กฎโดยละประเด็นเรื่องหน้าที่ของกฎนั้นๆ ทิ้งไป

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

สิ่งที่พ่อแม่หลายคนลืมนึกถึงคือเรื่องการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในบ้าน สิ่งนี้อาจารย์เริ่มตั้งแต่เมื่อไร

เริ่มตั้งแต่เล็กๆ วิธีการที่ปฏิบัติได้จริงคือ 1. สนุก หมายถึงความรู้สึกที่ว่ามัน ‘ใช่เลย’ ที่มีคำถามนี้มา ส่วนจะตอบได้หรือไม่ได้ ค่อยว่ากัน 2. ให้ลูกเป็นคนให้ความรู้เรา ต้องเลิกคิดว่าเราจะเป็นคนให้ความรู้ลูก ขอให้เราต่างคนต่างให้และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีสองอย่างนี้ที่เหลือจบเลย

ถ้าเราเป็นคนไม่ค่อยชอบที่ลูกให้ความรู้ เราจะไม่อยากฟัง โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่ลูกพูดไม่ใช่สิ่งที่เราอยากรู้ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างบรรยากาศ กระตือรือร้นในการรับฟัง ถ้าจะให้ดีกว่านั้นเราต้องไปหาข้อมูลสักนิดหนึ่งก่อนจะย้อนกลับมาคุยกับเขา สำหรับลูกสาวผมที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้วจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เยอะมาก เราต้องรู้สึกดีใจที่ลูกรู้และยอมรับได้ที่ตัวเองไม่รู้เลย และจะดีที่สุดถ้าพ่อลองหาข้อมูลบ้างหรือเปิดโอกาสตัวเองให้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้

สำหรับผม ในสถานะพ่อและสถานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมตั้งเกณฑ์ไว้ว่าถ้าวันไหนเข้าห้องเรียนแล้วผมได้ความรู้เท่าเดิม แปลว่าผมจัดการห้องเรียนนั้นไม่ค่อยสำเร็จ ไม่ค่อยเป็น active learning แต่ถ้าวันไหนเข้าห้องเรียนแล้วผมได้ความรู้กลับมาด้วย แสดงว่าวันนั้นประสบความสำเร็จ

 

ความกังวลใหญ่ๆ ของพ่อแม่อาจเป็นเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอลูกโฮมสคูลแล้วต้องไปแข่งกับคนในระบบที่มีวิธีการเรียนรู้แบบหนึ่ง

พูดกันแบบตรงไปตรงมาคือต้องกังวลบ้าง แต่อย่ามองเป็นภาพรวม ให้ถามลูกเลยว่ามองอนาคตอย่างไร แล้วออกแบบว่าจะไปทางไหน พูดให้เป็นรูปธรรมชัดเจน

ถ้าลูกอยากเข้าหมอ รู้แล้วว่าจะต้องสอบอะไรก็เอาข้อสอบมาทำ แล้วลูกอาจทำข้อสอบเหล่านี้โดยเรียนโฮมสคูลก็ได้ ในทางกลับกันถ้าทำไม่ได้เราก็ต้องเปลี่ยนแผน ในความกังวลนั้นเราสามารถลองทดสอบและออกแบบรายละเอียดได้ อยู่ที่ว่าเราเน้นอะไร

กรณีแดนไท ผมถามแล้วเขาบอกว่าไม่ได้อยากเป็นหมอหรือวิศวะ ความกังวลใจก็ลดลงมา เพราะการแข่งขันไม่สูงขนาดนั้นแล้ว ชีวิตต้องอยู่บนข้อเท็จจริงว่าจะสอบแข่งขันในระดับไหน แล้วมหาวิทยาลัยมีการสอบเข้ากี่รอบ รอบแรกจะเป็นการยื่น portfolio ตอนนี้แดนไทอายุ 15 ปีตั้งบริษัทเรื่องเกมและการเรียนรู้ มีผลงานแบบนี้มหาวิทยาลัยสนใจไหม เราต้องหาช่องทางไปบนเงื่อนไขที่ว่าเขาต้องเรียนให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ของหลักสูตร

เรื่องนี้เราต้องช่วยกันออกแบบ นี่เป็นสิ่งที่ลูกอาจไม่เข้าใจนักว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ผมก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน แต่เราต้องบอกเขาว่าจะไปอย่างไร อัตราการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไปจากรุ่นผมเยอะ แต่ทุกอย่างวางแผนและออกแบบได้

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

ลึกๆ แล้วอาจารย์มีความคาดหวังหรือมองอนาคตของลูกไว้อย่างไร

ลูกคนแรกเราก็คาดหวัง แต่สักพักเราก็รู้แล้วว่าคาดหวังไม่ได้ อนาคตเป็นของเขาโดยแท้จริง อย่าว่าแต่จะทำอาชีพอะไรเลย ตัวเขาจะเป็นอย่างไรก็คือการตัดสินใจของเขาโดยแท้จริง ถ้าใช้ภาษาผู้ใหญ่คือเขาดื้อมาก เลยต้องทำความเข้าใจในความเป็นเขา พอคลี่คลายเราก็ไม่ได้วางอนาคตเขาอีกแล้ว แต่เรามีกฎเกณฑ์ที่เป็นวิธีการทำงานกับอนาคตของเขา

ชีวิตมนุษย์คือ network of opportunities เราไม่รู้ว่าจะเจออะไรต่อไป เราใช้ความเชื่อมโยงทั้งหลายมาโยงและคุยกันจนต่อเป็นอนาคตของเรา แต่เราจะมองไปที่โอกาสอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราไม่เตรียมตัวโอกาสจะผ่านเลยไป ถ้ามีคนแนะนำอะไรให้ แต่ความสามารถเราทำไม่ได้ โอกาสนี้ก็ผ่านไป

กฎข้อ 2 ที่ว่าด้วยการประกอบการ คือการเตรียมให้เขาจัดระบบปัจจัยการผลิตกับโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามา เมื่อเขาจัดระบบเป็นแล้วจะประกอบการเรื่องอะไรผมก็ไม่สนใจ วันหนึ่งเขาอาจจะไปทำบริษัทอื่นก็ได้ แต่ประสบการณ์ตอนทำบริษัทเกมทำให้เขารู้วิธีการบริหารจัดการทั้งปัจจัยการผลิตและโอกาส

 

แม้อาจารย์จะบอกว่าการตัดสินใจเป็นของเขา แต่ในความเป็นพ่อแม่จะสามารถตัดความคาดหวังได้จริงไหม หรือเราก็มีมันอยู่ลึกๆ

เรื่องความคาดหวังแบบรูปธรรมว่าเขาจะต้องเป็นอะไรนั้นตัดได้ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ลึกที่สุดผมหวังแค่ว่าส่งเขาเข้ามหาวิทยาลัย ที่เหลือจากนั้นผมเชื่อว่าเขาไปของเขาเองได้

มันคงเป็นปัญหาที่โลกของผู้ใหญ่กับเด็กไม่สอดรับกัน โลกของผู้ใหญ่จะบอกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมี 4 รอบ แต่โลกของเด็กเขาไม่ได้คิดแบบนั้น เราก็ต้องแปลสิ่งที่โลกของผู้ใหญ่กำหนดให้เป็นสิ่งที่เขาทำ และชีวิตเขาจะไม่ถูกกีดกันออกจากโลกของผู้ใหญ่

อย่างเรื่องเกณฑ์ทหาร เขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเกณฑ์ทหาร ทำไมมีการเรียน รด. แล้วคนเรียนโฮมสคูลจะเรียน รด. อย่างไร ต้องไปเรียนกับโรงเรียนไหน หน้าที่ของพ่อแม่คือทำจุดนี้ ถ้าไม่มีโลกของผู้ใหญ่มาครอบไว้ ผมจะไม่กังวลกับอนาคตเลย เพราะโลกของผู้ใหญ่มันแคบ

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

พ่อแม่จำนวนมากมองว่าการประสบความสำเร็จด้านการศึกษาของลูก เป็นความสำเร็จในชีวิตพ่อแม่ด้วย วิธีคิดแบบนี้ส่งผลอย่างไร

อยากให้มองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติสำหรับคนช่วงวัยหนึ่งที่เคยมีโอกาสน้อยกว่า แล้วโอกาสนั้นได้ผ่านไปแล้ว เขาจึงอยากเห็นใครสักคนใช้โอกาสนั้นได้มากกว่าตัวเอง นี่เป็นเรื่องธรรมชาติแต่มีความกดดันและแรงกระทบไปยังคนที่เรารักด้วย

พ่อแม่อาจอยากให้ลูกเรียนหมอ เพราะตัวเองไม่ได้เรียน แต่พ่อแม่ก็ต้องคิดกลับกันด้วยว่า มันจะเป็นความทุกข์หรือเปล่า คุณเอาใครเป็นตัวตั้ง จุดสำคัญคือเมื่อคุณเสียโอกาสไปแล้ว ลูกก็อยากได้รับโอกาสจากคุณเช่นกัน ถ้าเข้าใจสองอย่างนี้จะเป็นธรรมชาติที่สวยงาม

คุณอาจฝันอยากเป็นหมอและไม่มีโอกาสนั้น แต่อยากให้ลองคลี่คลายแล้วให้ลูกได้ทำตามความฝันของเขา คุณอาจพบว่าลูกได้เจอโอกาสใหม่ๆ ที่คุณเองก็ไม่มีเช่นกัน เช่นที่ผมไม่มีโอกาสตั้งบริษัท แต่แดนไทได้ทำตั้งแต่อายุ 15 ปี เราแค่เปิดโอกาสความฝันของเราให้ใหญ่ขึ้น แล้วให้ลูกเป็นคนพาไปเท่านั้นเอง

 

การเรียนรู้ที่จะใจกว้างก็เป็นเรื่องยาก?

มันคือการเรียนรู้ที่จะมีความสุขและเป็นความสนุกที่กว้างขึ้น ทุกอย่างอยู่บนคาถาว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบ และเราสามารถชื่นชมคำถามของลูกได้ พ่อแม่บางส่วนอาจรู้สึกว่าลูกชอบถามอะไรที่ตอบไม่ได้ มันคล้ายกัน เช่นเรามีความสุขมากเลยที่เราได้เห็นโอกาสที่ไม่เคยเห็นเลย

วิธีซ้อมง่ายๆ คืออย่ามองเฉพาะลูกเรา ลองมองน้องๆ คนอื่นๆ แล้วจะยิ่งเห็นโอกาสแบบนี้เยอะขึ้น ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสเยอะแยะ มีคำถามที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ถ้าเรามีความสุขกับคำถามเหล่านี้ก็รู้สึกได้แล้วว่าโอกาสในชีวิตมีเยอะมาก

สำหรับพ่อแม่ที่กำลังคิดเรื่องโฮมสคูล หากไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาก่อนย่อมกังวลเป็นธรรมดา สิ่งที่เราต้องคุยกันคือเรื่องระบบและปรัชญา ตอนนี้ระบบมีความลงตัวมากขึ้น พ่อแม่ที่มีเวลาเยอะหน่อยก็อาจเลือกเขียนหลักสูตรที่เข้ากับเขตการศึกษาได้ พ่อแม่ที่มีเวลาน้อยก็ลองดูว่าลูกคุ้นเคยกับการสอบไหม ถ้าคุ้นเคยกับการสอบก็ไปสถาบันการศึกษาทางไกลได้

ส่วนการเข้ามหาวิทยาลัยก็มีหลายวิธีการ มีหลายช่องทาง ตอนนี้ไม่มีข้อจำกัดแล้ว ระบบดีขึ้นกว่าสมัยรุ่นเรา นี่คือเรื่องของระบบ ส่วนในเรื่องปรัชญาหรือความรู้สึกก็เอาไว้หลังๆ ก็ได้ แต่สุดท้ายจะเป็นคำตอบและทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

โฮมสคูลแสดงให้เห็นภาพจำลองของสังคมอย่างไร

สะท้อนโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น สมัยผมเป็นนักเรียนเราไม่มีสิทธิ์ทำอะไรแบบนี้ ไม่มีสิทธิ์เป็นอย่างแดนไท แต่ตอนนี้เขามีโอกาส

ขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนข้อจำกัดของการเรียนรู้อย่างมาก โอกาสที่คุณพ่อคุณแม่คนอื่นๆ กับผมจะได้คุยกันก็มีน้อย พ่อแม่ที่มีลูกเรียนอยู่ในระบบ เวลาพูดเรื่องโฮมสคูล คำถามแรกก็มักจะเป็นเรื่องการเลือกระบบ ซึ่งเราอาจจะไม่ต้องถามตอนนี้ก็ได้ เราอาจจะอยู่ในโรงเรียนแต่ค่อยๆ คลายระบบก็ได้

วิธีคิดของเราเป็นชุด ‘เลือก’ มากกว่าชุด ‘สร้าง’ คำถามอย่าง “เราจะสร้างระบบอย่างไรให้ยืดหยุ่นมากขึ้น?” หรือ “เราจะเป็นพ่อแม่อย่างไรที่ลูกไม่ต้องสอบเข้าเหมือนเดิม” มีน้อยมาก เราไม่ได้คิดคำถามเชิงปฏิบัติอย่างนี้ เราคิดคำถามที่เป็นการเลือก เช่นถ้าเราเลือกในระบบก็ไม่ต้องฟังแล้วโฮมสคูลเป็นอย่างไร หรือฉันเลือกโฮมสคูลก็ไม่ฟังแล้วว่าในระบบเจออะไรกันอยู่ บังเอิญชีวิตผมเป็นปลาสองน้ำที่อยู่ในวงการศึกษาในระบบ มีลูกคนหนึ่งอยู่ในระบบ อีกคนหนึ่งอยู่นอกระบบ ผมเห็นได้ชัดว่าคำถามที่ข้ามกันระหว่างสองน้ำนี้มีน้อยมากเลย ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ของเมืองไทยจำกัดมากๆ

เราขาดแร้งของการเรียนรู้ อย่างเด็กพูดเรื่องเกม ถ้าเราไม่คิดอย่างเชื่อมโยงกับตัวเอง เราก็จบ มีคุณพ่อคุณแม่ถามผมทางอีเมลว่าลูกติดเกมนี้มากเลย อยากจะขอให้ช่วยแก้ปัญหาให้หน่อย ผมตอบกลับไปว่าไม่ทราบคุณพ่อคุณแม่ลองเล่นเกมนี้แล้วหรือยัง แล้วเขาถามกลับมาว่าต้องลองด้วยหรือ ผมก็บอกว่าถ้าไม่ลองแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเกมนี้คืออะไร สิ่งที่น่ากลัวและมีคุณค่าอยู่ตรงไหน แป๊บหนึ่งเขาก็ตอบกลับมาว่าไปลองดูแล้ว เป็นเกมที่มีประโยชน์จริงๆ โดยที่ผมยังไม่ได้ตอบอะไรเลย

ลูกก็คงมีความรู้ในแบบของเขา แต่คุณแลกเปลี่ยนได้ ไม่ได้มีอะไรตายตัว อาจจะเสนอเกมใหม่ แต่อย่าปิดกั้นการเรียนรู้จากสิ่งที่ลูกเป็น

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save