fbpx

สนามฟุตบอลกับการกระจายอำนาจ

สำหรับผู้อ่านที่ติดตามบอลไทยน่าจะคุ้นชินข่าวคราวความไม่พร้อมของสนามแข่งขัน ที่มักมีขึ้นเสมอในช่วงพักระหว่างฤดูกาล โดยเฉพาะกับทีมที่เพิ่งได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรก เช่น ลำพูนและลำปาง สองสโมสรแดนล้านนา จนปรากฏข่าวว่าลำพูนต้องไปขอใช้สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี[1] ส่วนลำปางอาจโยกไปใช้พิชญสเตเดี้ยม (จ.หนองบัวลำภู) เป็นการชั่วคราว[2] ซึ่งย่อมสร้างขุ่นเคืองต่อแฟนบอลในพื้นที่ และเรียกร้องให้ปรับปรุงสนามภายในจังหวัดให้พร้อมสำหรับฤดูกาลใหม่ แทนที่จะคิดไปเตะจังหวัดอื่น

ย้อนกลับไปหนึ่งปีก่อนจะมีการก่อตั้งไทยลีก เมื่อปี 2552 ตอนนั้นจาก 16 ทีม มีเพียง 5 ทีมเท่านั้นที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทีมกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ มากถึง 7 ทีม หรือเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งลีก ส่วนทีมต่างจังหวัด 5 ทีมก็ล้วนแล้วแต่อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี (2 ทีม) สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม สโมสรส่วนใหญ่ในยุคนั้นตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายรับใช้การประชาสัมพันธ์องค์กรหรือหน่วยงานเป็นหลัก ทว่าในยุคใหม่ของลีกฟุตบอลไทยมีทีมจากต่างจังหวัดขยับขึ้นไปเล่นในลีกระดับบนมากขึ้นเรื่อยๆ ปฏิเสธมิได้ว่าความตื่นตัวในบอลไทยได้สร้างกระแสท้องถิ่นนิยมขึ้นหลายมิติ กลายเป็นกิจกรรมนันทนาการที่คอยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ฤดูกาลที่เพิ่งผ่านพ้นไป (ปี 2564-65) สถานการณ์กลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับสิบกว่าปีก่อน นั่นคือเหลือทีมจากกรุงเทพฯ รวมปริมณฑลเพียง 5 ทีม โดยมีทีมในกรุงเทพฯ เหลือ 2 ทีมคือ การท่าเรือเอฟซีกับโปลิศเทโรเอฟซีแค่นั้น ขณะที่ทีมจากต่างจังหวัดมีถึง 11 ทีม กระจายออกไปแทบทุกภาค ขาดเพียงภาคใต้

อย่างไรก็ดี สนามฟุตบอลถือเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สโมสรฟุตบอลต้องมี เปรียบได้กับที่ดินในฐานะปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจทั่วไป แต่ปัญหาของสโมสรฟุตบอลไทยโดยรวมคือการที่ไม่มีสนามเป็นของตัวเอง สนามที่ใช้แข่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐทั้งสิ้น

ผมเคยสำรวจไว้เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน (ฤดูกาล 2013) ในบรรดาทีมบนลีกสูงสุด 18 ทีมในยุคนั้น มีเพียง 4 ทีมเท่านั้นที่มีสนามเป็นของตัวเอง ได้แก่ เชียงรายยูไนเต็ด บางกอกกล๊าสเอฟซี บุรีรัมย์ยูไนเต็ด และเอสซีจีเมืองทองยูไนเต็ด ขณะที่ลีกลำดับรองๆ ลงมายิ่งแทบไม่มีเลย

ฤดูกาลหน้าที่จะถึง (ปี 2022-23) สถานการณ์เริ่มดีขึ้นคือมีเพิ่มเป็น 6 ทีมจากทั้งหมด 16 ทีม จากการสร้างสนามใหม่ของราชบุรีมิตรผลเอฟซีกับหนองบัวพิชญเอฟซี ซึ่งทั้ง 2 ทีมก่อนหน้านี้ก็เคยต้องใช้สนามกีฬากลางจังหวัดที่เป็นของทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เป็นราชการส่วนท้องถิ่น ตามลำดับ

จากที่ว่ามา สโมสรฟุตบอลไทยจึงต้องพึ่งพาอาศัยภาครัฐสูง โดยเฉพาะองค์การปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดอย่าง อบจ. ปัจจุบันมีถึง 5 ทีมที่ใช้สนามของ อบจ. เป็นรังเหย้า ได้แก่ ลำพูนวอริเออร์ สุโขทัยเอฟซี พีทีประจวบเอฟซี ขอนแก่นยูไนเต็ด และชลบุรีเอฟซี (ดูตารางข้างท้าย)

ตาราง: ข้อมูลเกี่ยวกับทีมฟุตบอลในระดับไทยลีก (T1)

เราจึงมักได้เห็นนายก อบจ. หลายคนต้องแบกรับบทประธานสโมสรให้กับทีมฟุตบอลจังหวัดตัวเอง หรือไม่พ้นต้องเป็นเครือญาตินายก อบจ. นั่นเพราะ อบจ. เป็นเจ้าของสนามกีฬาประจำจังหวัด ซึ่งสำคัญมากๆ หากคิดจะทำฟุตบอล ขณะที่ ส.ส. ที่เข้ามาทำทีมพอมีบ้าง แต่น้อย

การที่นักการเมืองเข้าสู่แวดวงฟุตบอลกันอย่างคึกคักในห้วงตั้งต้นของไทยลีก เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารปี 2549 ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการที่นักการเมืองคนสำคัญจำเป็นต้องถูกตัดสินให้เว้นวรรคทางการเมืองจากการยุบพรรคจึงหันมาลงทุนทำสโมสรฟุตบอลเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ในทางสาธารณะ[3]

จากปี 2554 มี 7 ทีมที่นักการเมืองเป็นเจ้าของ รวมถึงคนในตระกูลการเมือง เพิ่มเป็น 9 ทีมในปี 2556 และขยับขึ้นเป็น 10 ทีมในปี 2560 ทว่าในระยะหลังมีแนวโน้มลดลง ปี 2565 (ฤดูกาลที่เพิ่งผ่านพ้นไป) เหลืออยู่ 8 ทีม พวกที่ตัดสินใจวางมือก็มีทั้งที่บรรลุเป้าหมายทางการเมืองแล้วหรือประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 หรือในการเลือกตั้ง อบจ. ปลายปี 2563 จนต้องปล่อยให้นักธุรกิจเข้ามารับไม้ต่อ

เรื่อง อบจ. กับสนามกีฬามีที่มาที่ไปต้องขอขยายความ สามารถใช้สะท้อนถึงช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของการกระจายอำนาจในสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2540 ได้อย่างดี เป็นผลลูกโซ่ที่ตามมาจากการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งกำหนดให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ออกมาในปี 2542 และกฎหมายนี้ก็ได้ตั้งคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้น หนึ่งในหน้าที่คือจัดทำแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแผนฉบับหลังนี้แหละที่ลงรายละเอียดชัดเจนเป็นรูปธรรม ระบุภารกิจ ส่วนราชการ และปีที่จะต้องถ่ายโอน รวมถึงหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่จะรับถ่ายโอน

ตามแผนปฏิบัติฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2545) กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจรวมแล้วมากถึง 245 เรื่องใน 6 ด้านจาก 57 กรมใน 15 กระทรวง กับอีก 1 ส่วนราชการคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้การกีฬาแห่งประเทศไทยและสำนักงานการพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาถ่ายโอนภารกิจด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต งานส่งเสริมการกีฬาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะต้องถ่ายโอนสนามกีฬาระดับจังหวัดให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ยกเว้นสนามกีฬาจังหวัดที่มีวิทยาลัยพลศึกษาตั้งอยู่ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติวิทยาเขตต่างๆ) จึงเกิดการถ่ายโอนภารกิจความรับผิดชอบดูแลสนามกีฬาระดับจังหวัดให้แก่ท้องถิ่นจำนวนมากในปี 2547 โดยมีสองขั้นตอน ตัวอย่างของสมุทรสาครคือ ทาง กกท. ต้องส่งมอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ในฐานะประธานกรรมการบริหารการถ่ายโอนภารกิจ บุคลากร งบประมาณระดับจังหวัด จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจึงนำไปส่งมอบให้แก่ อบจ. อีกทอดหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขว่าหากดูแลไม่ดี จังหวัดสามารถพิจารณาให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดูแลแทนได้เสมอ[4]

ที่มา: แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2545)

แผนปฏิบัติฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551) ในภาพรวมกำหนดภารกิจที่จะถ่ายโอนลดลง เหลือ 44 ภารกิจ 114 งาน ซึ่งเป็นของ 37 กรมใน 15 กระทรวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีรัฐวิสาหกิจอยู่ด้วย 1 หน่วยคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขยายหน่วยรับถ่ายโอนสนามกีฬาระดับจังหวัดให้กว้างขึ้น รวมไปถึงเทศบาลกับเมืองพัทยาด้วย จากเดิมที่มีเฉพาะ อบจ. กับ กทม. ขณะที่แผนปฏิบัติฯ ฉบับที่ 3 ยังคงไม่ถูกประกาศใช้ ทั้งๆ ที่มีร่างเผยแพร่ออกมานานมากแล้ว[5]

ที่มา: แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551)

จากข้อมูลสนามกีฬาที่ถ่ายโอนให้แก่ อปท. ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นถึงช่วงต้นปี 2564 พบว่าได้มีการถ่ายโอนสนามกีฬาให้กับ อปท. ไปแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 60 จังหวัด 62 อปท. แบ่งเป็นสนามกีฬาระดับจังหวัดที่ถ่ายโอนให้ อบจ. 49 แห่ง และสนามกีฬาระดับรองที่ถ่ายโอนให้เทศบาล 12 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเทศบาลนคร 7 แห่ง เทศบาลเมือง 4 แห่ง และเทศบาลตำบลมีเพียง 1 แห่ง เช่นเดียวกับ อบต. ที่ได้รับถ่ายโอนซึ่งก็มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น[6]

ไม่มีการถ่ายโอนสนามกีฬาให้ กทม. แต่อย่างใด ทั้งราชมังคลากีฬาสถาน (ที่ถูกปิดปรับปรุงยาวเพื่อเตรียมรับศึกแดงเดือดหรือ The Match) และสนามศุภชลาศัย (ซึ่งมีประเด็นถูกทวงพื้นที่คืนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

โดยพบว่ามีอยู่ 22 จังหวัดที่ไม่มีสนามกีฬากลางเป็นของ อบจ. ได้แก่ เชียงใหม่ บึงกาฬ เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ยะลา ราชบุรี ลำปาง สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุดรธานี กระบี่ กาฬสินธุ์ ชุมพร นครปฐม นครราชสีมา นครสวรรค์ ปทุมธานี แม่ฮ่องสอน สกลนคร

มาจากหลายสาเหตุ 1) จังหวัดนั้นมีวิทยาลัยพลศึกษาตั้งอยู่ทำให้ไม่ต้องถ่ายโอนสนามกีฬาให้กับ อบจ. เช่น ลำปาง สุพรรณบุรี มหาสารคาม 2) มีสนามกีฬาขนาดใหญ่ของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่เป็นศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ 5 ภาค ได้แก่ ชลบุรี สระบุรี นครราชสีมา สงขลา เชียงใหม่ จึงไม่ถูกถ่ายโอน 3) สนามกีฬาถูกถ่ายโอนไปให้เทศบาลดูแลแทน เช่น ชุมพร นครปฐม นครสวรรค์ 4) บางจังหวัด กกท. ยังไม่ได้ถ่ายโอนให้ตามแผน เช่น สุรินทร์ ราชบุรี สุราษฎร์ธานี สมุทรปราการ 5) เป็นจังหวัดตั้งใหม่ เช่น อำนาจเจริญ บึงกาฬ จึงยังไม่มีสนามกีฬา (และไม่มีทีมฟุตบอลอาชีพอีกด้วย)

อย่างไรก็ดี มีบ้างในบางจังหวัดที่มีสนามกีฬาเป็นของ อบจ. อยู่ก่อนเก่าแล้ว อย่างนครพนม ภูเก็ต

สบช่องให้ กกท. ได้จัดสร้างสนามกีฬาระดับจังหวัดใหม่ในหลายแห่ง เมื่อสร้างเสร็จก็ตั้งใจจะยกให้ อบจ. ดูแลต่อไป แต่กลับกลายเป็นมหากาพย์โครงการก่อสร้างสนามกีฬานานนับทศวรรษ เช่นที่สกลนคร ลำปาง อำนาจเจริญ มหาสารคาม ที่แปลกประหลาดคือ กกท. มอบหมายให้ศูนย์สร้างทางในสังกัดกรมทางหลวงหลายแห่งรับงานก่อสร้างสนามกีฬาหลายจังหวัด แทนที่จะอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นดำเนินการ คงเป็นแบบที่หลายคนชอบพูดไม่มีผิด “ส่วนกลางหวงอำนาจ”

ขณะเดียวกัน อบจ. หลายแห่งไม่อยู่ในเป้าหมายระยะใกล้ของ กกท. และไม่อยากทนรอ จึงตัดสินใจใช้งบประมาณของท้องถิ่นในการก่อสร้างสนามกีฬาของตัวเองไปก่อนเลยก็มี เช่น ชลบุรี ตรัง อ่างทอง

เรื่องของการถ่ายโอนในทางปฏิบัติจึงซับซ้อน ค่อนข้างยุ่งยาก และทำไม่ง่ายเหมือนที่ถูกเขียนไว้

ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยประเด็นการเมืองแฝงเร้น เป็นต้นว่า 1) ในบางจังหวัดที่คนทำทีมฟุตบอลอยู่คนละขั้วหรือมีความขัดแย้งกับฝ่ายที่กุมอำนาจในการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด อาจส่งผลให้ทีมไม่สามารถใช้สนามกีฬากลางของจังหวัดเป็นสนามเหย้าได้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของ อบจ. หากนายก อบจ. ไม่อนุญาตให้ใช้สนาม หรือกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ด้วยอัตราที่สูงเกินไป สโมสรก็จำต้องหาสนามอื่นทดแทน ดังที่เคยเกิดปัญหามาแล้วกับหลายทีม เช่น เชียงรายยูไนเต็ด ภูเก็ตเอฟซี โอสถสภาเอ็ม-150 สระบุรี 2) ผู้กุมอำนาจในขั้วรัฐบาลมีศักยภาพที่จะดึงงบประมาณลงมาสนับสนุนการปรับปรุงขยายสนามที่ทีมของตนใช้อยู่ได้ ทั้งที่อันที่จริงควรเป็นภาระค่าใช้จ่ายของทางสโมสรซึ่งได้รับประโยชน์จากการนี้ด้วย เช่นสนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรีที่ทีมสุพรรณบุรีเอฟซีใช้อยู่นั้นก็มีโครงการต่างๆ เข้ามาพัฒนาปรับปรุงสนามอย่างต่อเนื่อง ด้วยสนามแห่งนี้ขึ้นอยู่กับทาง กกท. เหมือนกับสนามทุ่งทะเลหลวงของ อบจ. สุโขทัยที่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลในการก่อสร้าง เป็นสนามฟุตบอลแท้ๆ ไม่มีลู่วิ่งมาคั่นกลาง สองสนามของแพร่ยูไนเต็ด ตั้งแต่สนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้งที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างมาจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จนมาถึงสนามกีฬา อบต.ห้วยม้าที่กรมพลศึกษาเป็นหน่วยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ

ในสังคมไทย ฟุตบอลจึงยังคงไม่ใช่ธุรกิจเต็มตัว การทำทีมโดยปราศจากอำนาจทางการเมืองย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก


[1] “ลำพูนฯ ขอใช้สนาม 700 ปี เป็นรังเหย้า,” เชียงใหม่นิวส์ (9 พฤษภาคม 2565), จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/2017005/

[2] “‘รถม้ามรกต’ อาจใช้พิญชสเตเดี้ยมชั่วคราว,” แนวหน้า (2 มิถุนายน 2565), จาก https://www.naewna.com/sport/657883

[3] ถ้าสนใจประเด็นนี้ แนะนำให้อ่าน ณัฐกร วิทิตานนท์, “การเมืองกับฟุตบอลไทย,” ใน วสันต์ ปัญญาแก้ว, พงศกร สงวนศักดิ์ และจุติพร ทรัพย์ปัญญาญาณ, ฟุตบอลไทย ประวัติศาสตร์ อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย, (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557), 103-151, จาก http://www.gamblingstudy-th.org/imgadmins/book_file/Wasan%20et%20al%202014%20Football%20thai.pdf

[4] ดูบันทึกการส่งมอบและเอกสารที่เกี่ยวข้องจากกรณีการถ่ายโอนสนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาครได้ที่ http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER20/DRAWER057/GENERAL/DATA0006/00006670.PDF?fbclid=IwAR11_KDIs3q-u8fVzUSNQ45mXC8oMI6S9J8XcC6zl3mRtx1sau0dC7TkS1k

[5] อ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563-2565 จาก https://drive.google.com/file/d/1hlMAn1o7IBrKAOLzo44h-LcXPqcl6-m7/view?fbclid=IwAR2d-yky2aD7WgOBnZ_xzfxQzTMXQFfoRZsd8t-hx2K9uCzIdIsDV59nrQA

[6] การจำแนกสนามกีฬาระดับจังหวัดกับสนามกีฬาระดับรองค่อนข้างมีความสับสน ข้อมูลเท่าที่มีการเผยแพร่ออกมาโดยมากมักไม่แยกให้เห็นสนามกีฬาระดับรอง แตกต่างกับเอกสารซึ่งปรากฏตามลิงค์นี้ https://drive.google.com/file/d/1iy7xWsiqKo_phB4WjjOAuDZcbp8etYqJ/view?fbclid=IwAR3HkDD3ho4n3e_5h7cEc5Wf8Y38CS-wwOYdwW7Do14lFoMbERxN6mwir5c

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save