fbpx
ในคะนึงของเบญจมาศซีดเซียว

ในคะนึงของเบญจมาศซีดเซียว

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

Dear Friend Yiyun Li

 

13/04/2018

ซื้อ Dear Friend, From My Life I Write to You in Your Life ของ Yiyun Li ที่ Books Actually

 

13/04/2019

ยังอ่าน Dear Friend, From My Life I Write to You in Your Life ไม่จบเลย ละเอียดอ่อนเกินไป เจ็บปวดเกินไป

 

5/04/2020

ในที่สุดก็อ่าน Dear Friend, From My Life I Write to You in Your Life จนจบ จะได้อ่าน Where Reasons End ต่ออย่างไม่รู้สึกติดค้างเสียที

 

(ข้อความจากบันทึกส่วนตัวของผู้เขียน)

 

ในปี 2012 หลี่อี้หยุน (Yiyun Li) ประสบกับภาวะจิตใจแหลกสลายที่แม้แต่การเขียนและการอ่านนวนิยายซึ่งเป็นเกราะกำบังของเธอเสมอก็ไม่อาจต้านทาน เธอพยายามฆ่าตัวตายสองครั้งแต่ไม่สำเร็จ และได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อบำบัดอาการป่วยไข้ทางจิตใจ หลังจากออกมาจากโรงพยาบาล เธอได้หวนกลับสู่วงการวรรณกรรมเพื่อเยียวยาจิตใจอีกครั้ง หากแต่ครั้งนี้ไม่ใช่นวนิยาย กลับเป็นบันทึกความทรงจำและจดหมายของนักประพันธ์ผู้ล่วงลับ

 

หลี่อี้หยุนเกิดที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1972 พ่อของเธอเป็นนักฟิสิกส์นิวเคลียร์และแม่เป็นคุณครู หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เธอย้ายมาอยู่ที่รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโทด้านภูมิคุ้มกันวิทยาที่มหาวิทยาลัยไอโอวา

ต่อมาเธอเริ่มสนใจในการเขียนและเข้าเรียนหลักสูตรการเขียนจาก Iowa Writer’s Workshop ผลงานการเขียนอันโดดเด่นของเธอได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังเช่น The New Yorker, Granta และ The Paris Review และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เธอหันหลังให้กับโลกของวิทยาศาสตร์และอาชีพนักภูมิคุ้มกันวิทยาในที่สุด

 

Dear Friend, From My Life I Write to You in Your Life (2017) เป็นผลงานที่เกิดขึ้นหลังจากหลี่อี้หยุนกลับสู่การเขียนอีกครั้ง แต่เนื่องจากสภาพจิตใจของเธอยังไม่ลงรอยกับเรื่องสั้นและนวนิยาย ผลลัพธ์ของการเดินทางจึงอยู่ในรูปแบบของงานเขียน non-fiction เป็นครั้งแรก

 

เธอนำเราไปสู่ความทึมเทาของชีวิตและสภาพจิตใจผ่านบันทึกความทรงจำ (memoir)

 

หลี่อี้หยุนไม่เคยมีงานเขียนในภาษาจีน ผลงานทั้งหมดถูกเขียนขึ้นในภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่สองของเธอ และเป็นภาษาที่เธอเลือกให้เป็นภาษาส่วนตัว เธอละทิ้งภาษาจีน  ทำให้ตัวเองเป็นกำพร้าจากแผ่นดินแม่ด้วยการใช้ภาษาอื่นในทุกมิติของการสื่อสาร ซึ่งเป็นผลให้เธอถูกวิจารณ์เชิงลบอย่างรุนแรง ทั้งในแง่วรรณศิลป์และแง่ของชาตินิยมจากชาวจีนทั้งในและนอกประเทศ

 

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการเขียนในภาษาที่สอง คือความคิดของเธอหลุดรอดจากสายตาที่ควบคุมความคิดของแม่ เพราะแม่ของเธออ่านภาษาอังกฤษไม่ออก และรอดพ้นจากการควบคุมความคิดของทางการจีน เธอสามารถเขียนถึงสิ่งที่ยังคงค้างอยู่ในใจจากแผ่นดินแม่ได้อย่างอิสรเสรี

 

นี่คือปมหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในอัตลักษณ์ของผู้อพยพย้ายถิ่น

 

Dear Friend, From My Life I Write to You in Your Life ค่อยๆ นำสายตาเราเข้าไปสำรวจภาพในใจของผู้ที่เคยเลือกการจบชีวิตตัวเองเป็นจุดสิ้นสุด บันทึกความทรงจำของหลี่อี้หยุนไม่ได้เขียนขึ้นแบบการเล่าเรื่องตามเส้นเวลา เธอเลือกใช้การเขียนความเรียงเป็นเครื่องมือการเล่าเรื่อง ความเรียงแปดชิ้นที่มีลักษณะของภาพปะติด ให้ความหมายในแต่ละส่วนเสี้ยวของความคิดก่อนกลับกลายเป็นภาพชีวิตในองค์รวม

 

การตัดสินใจฆ่าตัวตายที่เป็นเสมือนจุดตั้งต้นของบันทึกความทรงจำนี้ ถูกนำมาพิเคราะห์ผ่านลักษณะของ Argumentative Essay หลี่อี้หยุนพิจารณาการดำรงอยู่และการจบสิ้นลงที่อยู่ในตัวเลือกไปจนสุดทางอย่างถี่ถ้วน เธอค่อยๆ ชี้ให้เห็นอย่างละเอียดลออว่า การดำรงอยู่มีแง่ลบอย่างไร และการจากไปมีแง่บวกอย่างไรในสายตาของผู้เลือก

การพิจารณาโต้แย้งตรรกะโดยปราศจากท่าทีของการแสดงตนเป็นที่ปรึกษานำทางชีวิตที่มักพบได้ทั่วไปในหัวข้อเกี่ยวกับบาดแผลในจิตใจ ทำให้ข้อเขียนของเธอจริงใจและมีน้ำหนัก ทำให้เราครุ่นคิดมากกว่าโวหารของท่าทีลึกซึ้งแต่ว่างเปล่าในความหมาย

 

เมื่อเธอเปิดประตูทางเลือกออกให้เราเข้าไป ภาพของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในก็ค่อยๆ แสดงตัวออกมา การสร้างบทสนทนากับบันทึกหรือจดหมายของนักประพันธ์ผู้ล่วงลับที่เธอใช้เป็นแหล่งพึ่งพิง การมองหาคำตอบจากผู้อื่นที่ประสบปัญหาชีวิตคล้ายคลึงกัน หรือแง่มุมที่เขาเหล่านั้นมีต่อการเขียนทำให้เธอค่อยๆ เข้าใจตัวเองมากขึ้น

 

“For a while I read Katherine Mansfield’s notebooks to distract myself. “Dear friend, from my life I write to you in your life,” she wrote in an entry. I cried when I read the line. It reminds me of the boy from years ago who could not stop sending the designs of his dreams in his letters. It reminds me too why I do not want to stop writing. The books one writes —past and present and future—are they not trying to say the same thing: Dear friend, from my life I write to you in your life? What a long way it is from one life to another, yet why write if not for that distance, if things can be let go, every before replaced by an after.”

 

ผ่านการพูดคุยกับการความคิดของผู้ที่จากไป หลี่อี้หยุนพาเราไปสำรวจแรงจูงใจในการเลือกจากไปของนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเธอ ปราศจากการตัดสิน แต่เป็นการร่วมเสนอความเห็นจากมุมมองของความโดดเดี่ยว

 

“One’s wish to die can be as blind and intuitive as one’s wish to live, yet the latter is never questioned.”

 

แม้ว่าข้อเขียนส่วนใหญ่ในความเรียงจะเป็นการทบทวนเรื่องราวในรูปแบบของ Argumentative Essay แต่ท่วงทำนองของนวนิยายยังคงอยู่ในเงาของ Narrative Essay ซึ่งจะปรากฎชัดขึ้นในความเรียงเรื่องการละทิ้งภาษาแม่ และการระลึกถึงวิลเลียม เทรเวอร์ (William Trevor) นักเขียนไอริชที่มีอิทธิพลต่อชีวิตการเขียนของเธอ

 

หากถอยหลังออกมามองสักนิด ภาพปะติดภาพชีวิตของหลี่อี้หยุน คือการนำเสนอภาวะวิกฤตในตัวตนที่ตัวเธอเองเลือกใช้การเขียนเป็นหนึ่งในวิธีเยียวยา และจากการอ่านเพื่อเขียน การเขียนเพื่อวิเคราะห์ของเธอทำให้เราเห็นว่าตัวตนของแม่นั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตของเธอมากจนคล้ายจะเป็นการหลบหนีที่ไม่มีวันสิ้นสุด

 

“…Years ago, when I was defending a collection of essays as a thesis, a writer on the committee asked about my mother’s absence from the narrative. A mother is not always central to a story, I said; perhaps my mother is only a flat character. If that’s the case, he said, we would appreciate learning it. That she is a flat character? I said. No, that you think she is, he corrected me.

Not writing, like writing, can be disloyalty, too. If one turns away from the story telling of one’s mother, is it worse than turning from one motherland and mother tongue?”

 

ในช่วงปีที่ Dear friend, from my life I write to you in your life ออกวางจำหน่าย นักเขียนหญิงชาวเอเชียอีกสองคนที่มีความโดดเด่นทัดเทียมกันก็ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความทรงจำออกมาด้วยเช่นกัน นั่นคือ The White Book ของฮัน คัง (Han Kang) และ Once Upon a Time in the East: A Story of Growing Up ของกัวเฉี่ยวหลู (Xiaolu Guo) นักเขียนเพื่อนร่วมชาติที่เลือกเขียนนวนิยายในภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับหลี่อี้หยุน

 

พร้อมหน้าราวกับมาเพื่อประชัน

 

ในหัวข้อเดียวกัน ความงดงามของงานเขียนสื่อได้ออกมาคนละแบบ The White Book ให้ความโหยหาของบทกวี  Once Upon a Time in the East: A Story of Growing Up ให้ความแข็งแกร่งของหินผาไม่จำนน Dear friend, from my life I write to you in your life ให้ความรู้สึกแบบบางของดอกไม้

 

ที่ผ่านมางานเขียนเรื่องและนวนิยายของหลี่อี้หยุนสื่อให้เห็นถึงปัญหาทางสังคมของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ในจีน การโฆษณาชวนเชื่อที่มีผลต่อทัศนคติของตัวละคร การอพยพย้ายถิ่นและชีวิตความเป็นอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ในการเขียนของหลี่อี้หยุน ประเทศจีนอันเป็นมาตุภูมิขมวดปมเข้ากับแม่ในชีวิตจริงอย่างแยกกันไม่ขาด มุมมองของเธอและความหมองหม่นที่ถูกถ่ายทอดออกมา ให้ความรู้สึกบอบบางแต่กร้าวแกร่งในทีอยู่เสมอ

 

ดอกเบญจมาศเป็นดอกไม้ประจำเมืองของกรุงปักกิ่ง และเป็นสัญลักษณ์ของความอยู่รอด เพราะเป็นดอกไม้ที่เบ่งบานในหน้าหนาว ฤดูกาลที่เปลี่ยวเหงาและเยียบเย็น

 

ก่อนนี้เคยสดใสในลมหนาว ครานี้หมองหม่นเพราะผ่านการต่อสู้กับตัวเองอย่างสาหัส แต่ท้ายสุดแล้วเบญจมาศก็ยังคงเบ่งบาน แม้นซีดเซียวแต่ก็ยังงดงามอย่างเบญจมาศ

 

มีข้อความหนึ่ง หัวหน้าหน่วยในกองทัพที่หลี่อี้หยุนสังกัดอยู่ในช่วงวัยรุ่นได้ส่งถึงเธอ เป็นข้อความที่เขียนขึ้นอย่างจริงใจ แต่ทำให้เธอรู้สึกละอายต่อความยโสของตน ข้อความนี้เป็นการบรรยายความรู้สึกที่หัวหน้าหน่วยมีต่อตัวเธอ ซึ่งสามารถใช้แทนความรู้สึกที่หลงเหลือเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบได้เป็นอย่างดี

 

“Some people are commonplace, others are not. A day spent with the latter leaves enough memory, more than years spent with the former. As an ordinary person, I count it as my luck to have spent a year with you.”

 

หลังจาก Dear friend, from my life I write to you in your life ตีพิมพ์ไม่นาน หลี่อี้หยุนที่ยังต่อสู้กับความป่วยไข้ในจิตใจก็ต้องพบกับความวิปโยคครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อลูกชายคนหนึ่งของเธอฆ่าตัวตาย เรื่องราวในการต่อสู้กับความสูญเสียอันใหญ่หลวงของเธอได้ถูกถ่ายทอดไว้ในนวนิยายเล่มล่าสุดชื่อ Where Reasons End ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปีที่แล้ว เราจะพูดถึงเบญจมาศซีดเซียวดอกนี้กันอีกครั้งในโอกาสอันสมควร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save