fbpx
Deaf President Now! การปฏิวัติของคนหูหนวก

Deaf President Now! การปฏิวัติของคนหูหนวก

อติเทพ ไชยสิทธิ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“พระเจ้าใช้เวลา 7 วันในการสร้างโลก, เราก็เปลี่ยนแปลงโลกในเวลา 7 วันเช่นกัน”

– ป้ายประท้วงของนักศึกษาคนหนึ่ง

 

ผู้เขียนไม่เคยนึกมาก่อนว่าการชุมนุมประท้วงของผู้บกพร่องทางการได้ยินจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จนกระทั่งได้อ่านหนังสือเรื่อง “มองเห็นเสียง” (Seeing Voices) ของโอลิเวอร์ แซกส์ (Oliver Sacks) นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือให้คนทั่วไปได้เข้าถึงความมหัศจรรย์ของสมองและประสาทการรับรู้ เช่นการมองเห็น และการได้ยิน

ในหนังสือเล่มนี้ เขาเล่าเรื่องการประท้วงในช่วงปี 80s ที่มหาวิทยาลัยแกลเลอเดต (Gallaudet University) หรือเหตุการณ์ ‘Deaf President Now!’ (เราต้องการอธิการบดีคนหูหนวกเดี๋ยวนี้!) ไว้ในบทที่ชื่อว่า ‘การปฏิวัติของคนหูหนวก’ (The Revolution of the Deaf)

มหาวิทยาลัย​แกลเลอเดตเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในโลกที่ทำการเรียนการสอนสำหรับคนหูหนวกและคนมีปัญหาทางการได้ยิน​ (deaf and hard hearing) ก่อตั้งโดยเอ็ดเวิร์ด แกลเลอเดต (Edward Gallaudet) บุตรชายของโธมัส แกลเลอเดต​ (Thomas Gallaudet)​ ผู้เชิญชวนโลร็องต์ เคลร์ค (Laurent Clerc) ครูผู้สอนภาษามือชาวฝรั่งเศส​มาช่วยเผยแพร่และบุกเบิก​ระบบการเรียนการสอน​ ‘ภาษามือ’ (manual communication) เป็นครั้งแรกในอเมริกา

โลร็องต์ เคลร์คเป็นคนหูหนวก​ เป็นอดีตนักเรียน และเป็นครู​อยู่ที่สถาบันแห่งชาติสำหรับคนหูหนวก-เป็นใบ้ (Institution Nationale des Sourds-Muets) ในกรุงปารีส​ ที่นี่คือสถาบันสอนคนหูหนวกแห่งแรกในโลก ก่อตั้งในศตวรรษ​ที่ 18 โดยสมภารชาร์ลส์-มิเชล เดอ เลเป (Charles-Michel de l’Épée) นักการศาสนาผู้เชื่อว่าภาษามือของคนหูหนวกคือ ‘ภาษาสากล’ (universal language) ที่แท้จริง

ในปี​ 80s มหาวิทยาลัยแกลเลอเดตเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนหูหนวก แต่อธิการบดีกลับไม่ใช่คนหูหนวก กระทั่งประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่คนหูหนวก

จนในปลายปี 1987 เมื่ออธิการบดีเจอร์รี ลี (Jerry Lee) ลาออกจากตำแหน่ง ชุมชนคนหูหนวกและนักศึกษาของแกลเลอเดตจึงได้เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเลือกอธิการบดีคนใหม่ที่เป็นคนหูหนวกขึ้นมาแทน พวกเขาต้องการเห็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแกลเลอเดต – อัตลักษณ์ของชุมชนคนหูหนวก

วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1988 คนราวสามพันคนมาชุมนุมที่มหาวิทยาลัยแกลเลอเดต ประกาศความต้องการของพวกเขาอย่างชัดเจน

Deaf President Now!” เราต้องการอธิการบดีคนหูหนวกเดี๋ยวนี้!

กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยคัดเลือกผู้สมัครตำแหน่งอธิการบดีจนเหลือผู้สมัครสุดท้าย 3 คน โดย 2 คนเป็นคนหูหนวก และ 1 คนเป็นคนได้ยินปกติ ทั้งสามคนมีคุณสมบัติและประสบการณ์ในการบริหารมหาวิทยาลัยแทบไม่แตกต่างกัน แต่ในวันที่ 6 มีนาคม กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยได้คัดเลือก อลิซาเบธ ซินเซอร์ (Elisabeth Zinser) ผู้ได้ยินปกติและไม่รู้ภาษามือขึ้นเป็นอธิการบดี​ การตัดสินใจนี้สร้างความไม่พอใจต่อชุมชนผู้บกพร่องทางการได้ยินและนักศึกษาอย่างมาก

ประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เจน บาสเซ็ตต์ สปีลแมน (Jane Bassett Spilman) ผู้เป็นประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยแกลเลอเดตมาเป็นเวลาถึง 7 ปี แต่ไม่รู้ภาษามือสัก ‘คำ’ เดียวได้พยายามเจรจากับผู้ชุมนุม เธอใช้ถ้อยคำเรียกผู้ชุมนุมว่า ‘เด็กๆ (children)’ รวมทั้งยังพูดในทำนองว่า “คนหูหนวกยังไม่พร้อมที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกของการได้ยิน” (the deaf are not yet ready to function in the hearing world) ซึ่งแน่นอนว่า การตอบสนองเช่นนี้เหมือนกับการสุมเชื้อไฟ

นักศึกษาตัดสินใจยกระดับการชุมนุม ยึดมหาวิทยาลัยและเอารถเมล์มาขวางประตูทางเข้า พวกเขาสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยภาษามือ และเมื่อผู้ปราศรัยบนเวที ‘พูด’ ได้อย่างออกรสถูกใจผู้ชุมนุมด้านล่าง พวกเขาต่างส่งเสียงตอบรับอย่างกึกก้อง พร้อมกับชูมือขึ้นสูงแล้วหมุนข้อมือไปมา เป็นการปรบมือด้วยความยินดีในแบบของภาษามือระบบอเมริกัน (American Sign Language – ASL)

ในที่สุดผู้ชุมนุมราวสามพันคนร่วมกันยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ

  • อลิซาเบธ ซินเซอร์ต้องลาออกทันที และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยต้องเลือกอธิการบดีคนใหม่ที่เป็นคนหูหนวก
  • ประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เจน บาสเซ็ตต์ สปีลแมน ต้องลาออกทันที
  • กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยต้องมีคนหูหนวก 51% (ในขณะนั้นมีแค่ 4 คนจาก 17 คน)
  • ห้ามมีการลงโทษทางวินัยนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุม

เมื่อดูเหมือนคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยจะไม่สนใจต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา ผู้ชุมนุมพากันเดินขบวนไปยังสภาคองเกรสที่เดอะแคปปิตอล ฮิลล์ (The Capitol Hill) เพื่อเข้าพบวุฒิสมาชิกและสมาชิกผู้แทนราษฎร การชุมนุมของนักศึกษากลายเป็นข่าวลงหน้าหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องกันหลายวัน สื่อโทรทัศน์ระดับชาติเชิญแกนนำนักศึกษาไปสัมภาษณ์ กระแสสนับสนุนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลมายังการชุมนุมที่แกลเลอเดต สมาชิกชุมชนผู้บกพร่องทางการได้ยินจากต่างรัฐ ผู้นำสหภาพแรงงาน นักการเมืองท้องถิ่น วุฒิสมาชิก ผู้สมัครท้าชิงประธานาธิบดี ฯลฯ

การชุมนุมที่เริ่มต้นในมหาวิทยาลัยเล็กๆ กำลังกลายเป็นการต่อสู้ในระดับชาติ

แรงกดดันมหาศาลนี้ทำให้วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1988 อลิซาเบธ ซินเซอร์ตัดสินใจลาออก และในอีก 3 วันถัดมา หรือ 1 สัปดาห์พอดีนับจากวันที่มีการแต่งตั้งอลิซาเบธ ซินเซอร์เป็นอธิการบดี เจน บาสเซ็ตต์ สปีลแมน ประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยลาออก มีการแต่งตั้งฟิลลิป บราวิน (Phillip Bravin) กรรมการที่เป็นคนหูหนวกขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยแทน จากนั้นคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยชุดใหม่ได้ประกาศว่าพวกเขาคัดเลือก เออร์วิน คิง จอร์แดน (Irving King Jordan) หนึ่งในแคนดิเดตที่เป็นคนหูหนวกขึ้นป็นอธิการบดี เขาเป็นคนที่นักศึกษาแกลเลอเดตรู้จักดี เพราะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลาหลายปี

แต่ที่สำคัญที่สุด เออร์วิน คิง จอร์แดน คืออธิการบดีคนหูหนวกคนแรกในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัย 125 ปี

ชัยชนะของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแกลเลอเดตไม่ใช่แค่เพียงชัยชนะในการเรียกร้องสิทธิของผู้บกพร่องทางการได้ยิน (บกพร่อง, จากมุมมองทางการแพทย์) แต่ยังเป็นชัยชนะที่พวกเขาสามารถยืนยันตัวตนในฐานะชุมชนหนึ่งที่มีอัตลักษณ์ ภาษาและวัฒนธรรมของตัวเอง และที่สำคัญที่สุด ศักดิ์ศรีในดูแลตนเอง  ไม่ใช่ ‘เด็กๆ’ แบบที่อดีตประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเคยเรียกพวกเขา

นักศึกษาแกลเลอเดตคนหนึ่งบรรยายความรู้สึกของเธอว่า

“ฉันมาจากครอบครัวของคนที่ได้ยินเป็นปกติ…ตลอดชั่วชีวิตของฉัน ฉันรู้สึกได้ถึงแรงกดดัน แรงกดดันของ ‘การได้ยินที่เป็นปกติ’ ….แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกได้ว่าแรงกดดันนั้นถูกยกออกไปแล้ว ทันใดนั้นเองฉันรู้สึกเป็นอิสระและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง จากที่คุณเคยได้ยินแต่ว่า ‘เธอทำไม่ได้ เธอทำไม่ได้’ …ตอนนี้ฉันทำได้แล้ว”

จากวันนั้น มหาวิทยาลัยแกลเลอเดตยังคงมีอธิการบดีเป็นคนหูหนวกมาจนถึงปัจจุบัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save