fbpx
เศษซากของความโศกเศร้า : Days of being Wild

เศษซากของความโศกเศร้า : Days of being Wild

‘นรา’ เรื่อง

Days of being Wild

หว่องกาไว (หรือหว่องก๊าไหว่ ถ้าจะเรียกอย่างเคร่งครัดตรงเป๊ะตามสำเนียงกวางตุ้ง แต่ผมคิดว่าเขียนสะกดเรียกขาน ตามที่คุ้นตาและสะดวกปากดีกว่านะครับ) กำกับหนังเรื่องแรก As Tears Go By เมื่อปี 1988 งานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จพอประมาณ คุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษผิดแผกแตกต่างจากหนังฮ่องกงส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้น เป็นเพียงหนังแอ็คชั่นดรามาในท่วงทำนองใกล้เคียงกับหนังมหาฮิตที่สร้างทีหลังอย่าง A Moment of Romance (ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ)

เป็นผลงานลำดับถัดมาในปี 1990 อย่าง Days of being Wild ต่างหาก ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อลีลาอันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของหว่องกาไว เริ่มปรากฏสู่สายตาผู้ชมเป็นครั้งแรก

นับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน หนังทุกเรื่องของเขา ก็ตอกย้ำสร้างความคุ้นเคย จนกระทั่งส่งผลให้หว่องกาไว กลายเป็นคนทำหนังจากฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก มีมิตรรักแฟนภาพยนตร์ติดตามอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ที่สำคัญคือ สไตล์แบบหว่อง กลายเป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อคนทำหนังรุ่นหลังจำนวนมาก

ผมจำได้ว่า ครั้งหนึ่งในอดีต เมื่อหนังของหว่องกาไวเริ่มแพร่หลายเป็นที่รู้จักในบ้านเราได้สักพัก มีหนังสั้น หนังของนักศึกษาสาขาภาพยนตร์ หนังโฆษณา มิวสิควิดีโอ มากมายนับไม่ถ้วน ที่พยายามจะ ‘กระทำความหว่อง’ ด้วยความชื่นชอบหลงใหลต่อผลงานอันเป็นต้นแบบ

จนถึงปัจจุบัน หว่องกาไวทำหนังออกมาเพียงแค่ราวๆ 10 เรื่อง (ไม่นับหนังสั้นและหนังโฆษณา) ส่วนหนึ่งอาจสืบเนื่องมาจากความยากลำบากในการหาเงินทุนมาทำหนัง แม้ว่าชื่อของเขาจะขายได้ แต่หนังแบบหว่องกาไวก็ยังคงมีที่ทางหรือโอกาสทางการตลาดค่อนข้างจำกัด ไม่ได้เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างทั่วไป

ถัดมาคือ วิธีการทำงานในลักษณะ ‘ด้นสด’ ไม่ได้มีบทหนังที่กำหนดรายละเอียดแน่ชัดตายตัว แต่ปล่อยไหลไปเรื่อยๆ ขณะถ่ายทำ พร้อมที่จะเกิดความคิดใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกชั่วขณะ จนบ่อยครั้งหนังที่สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ กลายเป็นคนละเรื่องกับที่ตั้งใจไว้ในเบื้องต้น

นี่ยังไม่นับรวมถึงการใช้เวลาค่อนข้างล่าช้าเนิ่นนานเกินกว่าปกติไปเยอะมากขณะถ่ายทำ จนบรรดานักแสดงที่ร่วมงานกับเขาเป็นประจำพากันโอดครวญเข็ดขยาด (แต่เมื่อได้ดูหนัง ทุกคนมักจะพึงพอใจ จนอดไม่ได้ที่จะกลับมาร่วมงานกันอีก)

ความเป็นหลวงประดิษฐ์หลวงวิจิตรบรรจงสร้างของหว่องกาไวนั้น ไปไกลถึงขั้นว่า (เรื่องนี้ผมได้ยินได้ฟังคำบอกเล่ามาหลายทอด ไม่ยืนยันนะครับว่าจริงหรือเท็จ) กระทั่งช่วงโพสต์โปรดักชัน (ขั้นตอนตัดต่อ มิกซ์เสียง และแก้สี ฯลฯ) เขาก็ยังแก้โน่นเปลี่ยนนี่ไปเรื่อยๆ จนถึงนาทีสุดท้าย ต้องถึงเส้นตายกำหนดเวลาบังคับไว้ว่าจะต้องส่งหนังไปฉายเปิดตัวในเทศกาล จึงค่อยยอมหยุดยอมจบงาน (แปลความได้ง่ายๆ ว่า หากยังมีเวลา เฮียเขาก็คงจะลองอะไรต่อมิอะไรไปได้อีกไม่รู้จบ)

แน่นอนว่า การที่หนังของหว่องกาไว เข้าฉายทันตามโปรแกรมอย่างหวุดหวิดฉิวเฉียด ถือเป็นเหตุการณ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม วิธีการทำงานแบบเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ และดูเผินๆ เหมือนว่าจะไร้ระเบียบแบบแผนเช่นนี้ เหมาะเจาะและไปด้วยกันได้ดีกับหนังที่มีความเด่นด้านการสร้างบรรยากาศและอารมณ์เฉพาะตัวแบบหว่องกาไว ด้วยเหตุนี้ผลงานของเขาจึงมีมาตรฐานที่แข็งแรงอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากเสมอมา

ความชอบความประทับใจของผู้ชม จึงอาจจะรักชอบหนังหว่องกาไวไม่ตรงกัน สุดแท้แต่ว่า เรื่องไหนจะมีแง่มุม มีจริต มีรสนิยมสอดคล้องกลมกลืนไปกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ชมแต่ละท่าน

โดยส่วนตัวผมเอง หนังที่ถือเป็นมาสเตอร์พีซของหว่องกาไว ประกอบไปด้วย Days of being Wild, Chungking Express และ In the Mood for Love

เทียบเคียงกันในระหว่างผลงานทั้งหมดของหว่องกาไว ผมมองว่า In the Mood for Love มีความสมบูรณ์ มีความลงตัวและเป็นเอกภาพมากสุด  Chungking Express นั้นโดดเด่นด้วยความมีเสน่ห์และความรื่นรมย์มากๆ ในแบบที่ตัวของหว่องกาไวเอง ก็ไม่เคยทำได้ถึงขั้นนี้อีกเลย ขณะที่ Days of Being Wild ฉายชัดถึงความคิดสร้างสรรค์ที่กล้าหาญมาก (ในการทำหนังรสชาติใหม่ที่ผู้ชมไม่เคยพบเจอมาก่อน) เต็มไปด้วยพลังและความสดของคนหนุ่มไฟแรง

เรื่องอื่นๆ ที่เหลือก็ชอบหมดนะครับ โปรดอย่าน้อยใจ

Days of being Wild เข้าฉายในไทย ล่าช้าไปถึง 9 ปี ตอนนั้นนักดูหนังบ้านเรา มีโอกาสผ่านตาผลงานอื่นของหว่องกาไวอย่าง Fallen Angel และ Chungking Express ไปเรียบร้อยแล้ว เป็นการเข้าฉายเรียงตามลำดับแบบนับถอยหลัง จากงานใหม่ไปสู่งานเก่า จนเกิดภูมิต้านทานอยู่พอสมควร ไม่ต้องตื่นตระหนกตกตะลึงเหมือนอย่างผู้ชมชาวฮ่องกง

สมมตินะครับ ติ๊งต่างว่าผมไม่เคยดูหนังของหว่องกาไวมาก่อน และเพิ่งสัมผัสพบเจอ Days of being Wild เป็นครั้งแรก ผมน่าจะเหวอกับหลายสิ่งหลายอย่างในหนังตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็น การเล่าด้วยภาพเหตุการณ์ สถานที่ และตัวละครซ้ำๆ คล้ายๆ กันในหลายฉาก จนดูเหมือนหนังหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่คืบหน้าไปไหน, การเล่นกับรายละเอียดเรื่องตัวเลข, เสียงบรรยายความในใจของหลากหลายตัวละคร ที่มีลักษณะเป็นภาษาเขียนไพเราะ ก้ำกึ่งระคนปนกันระหว่างความคมคายกับความเลี่ยน, การดำเนินเรื่องที่ปราศจากโครงสร้างต้น กลาง ปลายตามขนบ แต่เหมือนเรื่องสั้นหลายเรื่อง ร้อยเรียงเกี่ยวโยงกันหลวมๆ, ท่วงทีลีลาและการแสดง ที่วางมาดเท่ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนนายแบบนางแบบโพสต์ท่าถ่ายภาพแฟชัน, การให้รายละเอียดพื้นเพความเป็นมาของตัวละครต่างๆ ที่มีอยู่เบาบาง และเจตนาละเว้นข้ามผ่านไม่ยอมเล่าในหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ชมอยากทราบ จนเกิดเป็นความคลุมเครือที่ชวนหลงใหล, งานกำกับภาพที่อุดมไปด้วยลูกเล่นปรุงแต่งสารพัดสารพัน ตั้งแต่ความจัดจ้านเข้มข้นของแสงเงา การเคลื่อนกล้องประสานสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของตัวละคร จนเหมือนกล้องกำลังเต้นรำกับนักแสดง, จังหวะการใส่เพลงและดนตรีประกอบ คล้ายๆ จะเป็นมิวสิควิดีโอ แต่ก็มีความพิเศษเฉพาะตัว (ซึ่งผมอธิบายไม่ถูกนะครับว่าคืออะไร) จนเกิดเป็นความแตกต่างที่น่าประทับใจรสแปลก, จังหวะการเล่าเรื่องในแต่ละฉากที่เนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป ตัดแย้งกับการเปลี่ยนผ่านจากฉากหนึ่งสู่อีกฉากหนึ่ง ซึ่งเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว, การเล่นกับอารมณ์คนดูแบบซึมลึกสะสมไปทีละน้อย และเร้าอารมณ์แบบเกิดขึ้นจบลงในฉับพลัน (ผมรู้สึกของผมเองนะครับว่า อารมณ์หม่นเศร้าเจ็บปวด โรแมนติก หรือความซาบซึ้งที่เกิดขึ้น คล้ายๆ กับโดนเข็มทิ่มในหัวใจ มันเสียวแปล๊บและจี๊ดในเสี้ยววินาที แล้วก็จบ แต่ชวนให้จดจำไม่รู้ลืม หนังของหว่องกาไว ไม่เคยมีการเร้าอารมณ์ชนิดเรียกน้ำตานะครับ) ฯลฯ

และสิ่งสำคัญที่น่าจะสร้างความงุนงงได้มากสุด คือ ฉากจบอภิมหาเท่ของหนัง  ซึ่งมีตัวละครลับ ‘พี่คนนั้น’ มาปรากฏโฉม แบบไม่ข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับเรื่องราวในหนังทั้งหมดที่เล่ามา และเกือบจะไม่มีการให้รายละเอียดข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับตัวละครนี้เลย

ฉากจบนี้ส่งผลให้ตอนที่ได้ดูเป็นครั้งแรก ผมพยายามตีความถอดรหัสไปสารพัดสารพัน ว่ามีความหมายอันใดซ่อนเร้นอยู่ แต่จากการดูครั้งล่าสุด ผมคิดว่าผมฉลาดและเข้าใจโลกมากขึ้น จนได้ข้อสรุปตรงไปตรงมาว่า ‘หนูไม่รู้’ และไม่ทราบนะครับ แต่เป็นฉากที่ผมชอบและประทับใจเหลือเกิน

อันที่จริงแล้ว ในเวลาต่อมา หนังเรื่อง In the Mood for Love และ 2046 ก็ช่วยทำให้ฉากจบปริศนานี้คลี่คลายมีคำตอบเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในฐานะหนังไตรภาคอย่างไม่เป็นทางการ ตัวละครที่ออกมาเพียงฉากเดียวโดยไม่บอกเล่าอะไร จึงมีคำอธิบายในหนังอีก 2 เรื่องต่อมา

แต่ผมยินดีและพึงพอใจที่จะมองหนัง 3 เรื่องนี้ แยกขาดจากกันเป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวข้องกัน เหตุผลนั้นค่อนข้างจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวอยู่บ้าง นั่นคือ เมื่อพิจารณาแยกกัน ผมคิดว่าทุกเรื่องมีความลงตัว มากกว่าการโยงให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน ซึ่งมีรอยต่อที่ไม่แนบสนิทอยู่เยอะแยะหลายแห่ง (เนื่องจากหว่องกาไวทำหนัง 3 เรื่องนี้ต่างกรรมต่างวาระ คิดไปทีละเรื่อง ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นไตรภาคตั้งแต่แรกเริ่ม จนเมื่อมาทำ 2046 จึงค่อยมีความพยายามโยงใยสร้างรายละเอียดให้เกี่ยวข้องกันอย่างหลวมๆ)

Days of being Wild

ขณะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ Days of being Wild กลับมาฉายในบ้านเราอีกครั้งได้สักพักแล้ว ในโปรแกรมหนังคลาสสิกของ House Samyan และยังยืนโรงต่อไปอีกระยะหนึ่ง

เท่าที่มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อน 2-3 ราย พวกเราได้ข้อสรุปตรงกันว่า การดูใหม่ครั้งนี้ ชอบและมองว่าหนังดีขึ้นกว่าที่เคยรู้สึกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ที่สำคัญคือ การดูในปัจจุบัน Days of being Wild ง่ายต่อการติดตามและมีความเป็นมิตรมากกว่าเมื่อครั้งอดีตเยอะเลย

ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคุ้นมือรู้ทางกับหนังของหว่องกาไวกันดีแล้ว อีกเหตุผลต่อมาคือ เรื่องราวและประเด็นใน Days of being Wild เป็นแง่มุมเนื้อหาที่ไม่ผูกติดกับกาลเวลา

พล็อตเรื่องย่อๆ นั้น ถ้าจะเล่าด้วยวิธีเดียวกับที่หว่องกาไวใช้ในหนังผ่านทางข้อเขียน น่าจะเป็นเรื่องยากเกินปัญญาผม แต่สรุปใจความในแบบของผมเอง หนังใช้ฉากหลังเป็นฮ่องกงในปี 1960 ศูนย์กลางของเรื่องเป็นชายหนุ่มชื่อยกไจ๋ เพลย์บอยรูปหล่อเจ้าเสน่ห์ที่พิชิตใจหญิงสาว และทำให้เธอ (หลายคน) จดจำเขาได้ไม่รู้ลืม แต่แล้วเมื่อความสัมพันธ์คืบหน้าถึงขั้นฝ่ายหญิงตกหลุมรักอย่างลึกซึ้งจริงจัง ยกไจ๋กลับเป็นฝ่ายปิดกั้นตนเอง ยุติความสัมพันธ์ เป็นฝ่ายตีจาก แสวงหาผู้หญิงคนใหม่ เป็นวงจรซ้ำๆ เช่นนี้อยู่ร่ำไป

เนื้อเรื่องรองลงมา เล่าถึงการเยียวยาอาการบาดเจ็บจากความรักของผู้หญิงสองคน คือ โซวไหล่เจิน และมีมี่

รายแรกยินยอมรับสภาพการถูกทอดทิ้ง พยายามผ่านพ้นค่ำคืนอันยากลำบาก ด้วยการมีใครสักคนซึ่งไม่จำเป็นต้องใช่คนรัก มารับฟังการปรับทุกข์ระบายความในใจ และปล่อยให้กาลเวลาบำบัดอาการเจ็บปวดรวดร้าวจนทุเลาลง และสามารถผ่านพ้นมันมาได้ (โดยที่ยังคงเจ็บลึกๆ และรักยกไจ๋อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง) แต่ก็ยืนไหวและเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนมีมี่เป็นผู้หญิงอีกบุคลิกนิสัยหนึ่ง เปิดเผย ไม่เคยเก็บงำอารมณ์ความรู้สึก และไม่ยอมจำนน เมื่อถูกสลัดรัก เธอดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทาง เพื่อเหนี่ยวรั้งความรักที่หลุดลอยให้กลับคืนมา เป็นการสู้และตื๊อจนถึงที่สุด โดยที่ไม่รู้ตัวว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว (แต่ผู้ชมนั้นรู้ผลลัพธ์ว่าจะลงเอยเช่นไร)

เนื้อเรื่องปลีกย่อยลงมาอีก เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวของชายหนุ่มสองคน รายแรกเป็นหนุ่มที่พบกับโซวไหล่เจินในค่ำคืนหนึ่ง แล้วต่อมาก็แอบรักเธอ อีกคนคือ แดนนีเพื่อนสนิทเพียงหนึ่งเดียวของยกไจ๋ ซึ่งตกหลุมรักมีมี่ตั้งแต่แรกพบ และเมื่อยกไจ๋เดินทางไปฟิลิปปินส์ เขาก็รับช่วงหลายสิ่งหลายอย่างจากเพื่อน ยกเว้นเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่อาจทำได้ คือ การเข้ามาแทนที่เป็นคนรักของมีมี่

หลากเรื่องราวกระจัดกระจายข้างต้น เชื่อมร้อยเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยยกไจ๋ ตัวละครที่น่าจะกล่าวได้ว่า หม่นเศร้าเจ็บปวดเป็นทุกข์เผชิญกับชีวิตโหดร้ายมากที่สุดในหนังทั้งหมดของหว่องกาไว

Days of being Wild

ยกไจ๋เติบโตมาโดยปราศจากความรัก ท่ามกลางการเลี้ยงดูของป้า (หรือแม่เลี้ยง) ที่เป็นอดีตโสเภณีชั้นสูง เธอบอกความจริงว่าเขาเป็นเด็กรับเลี้ยงที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ขณะเดียวกันป้าก็เก็บงำความลับไม่ยอมเปิดเผยให้เขารู้ว่าใครเป็นแม่ที่แท้จริง เพื่อให้ยกไจ๋ต้องผูกติดใช้ชีวิตอยู่กับเธอ ไม่หนีตีจากไปหาแม่ที่แท้จริง

พื้นฐานชีวิตเช่นนี้ส่งผลให้ยกไจ๋กลายเป็นคนที่ขาดแคลนและไม่รู้จักความรัก ทั้งในฐานะผู้รับและผู้ให้ เป็นชีวิตที่ขาดจิตวิญญาณ จากการตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ พร้อมๆ กันนั้นเขาก็ลงมือเป็นฝ่ายกระทำ สร้างความเจ็บปวดกับใครต่อใครไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มอบความรักให้กับเขา

ความเก่งกาจของหว่องกาไวก็คือ เขาสื่อสารประเด็นใจความต่างๆ ข้างต้น โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวละครยกไจ๋ ผ่านเสียงบรรยายความในใจของตัวละครอย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่เต็มไปด้วยประสอทธิภาพ ด้วยถ้อยคำเปรียบเปรยเกี่ยวกับ ‘นกไร้ขา’ ที่กลายเป็นวรรคทองอันโด่งดังมาจนถึงบัดนี้

แก่นเรื่องที่ลงรากฐานเริ่มต้นไว้ใน Days of being Wild ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่ถูกทอดทิ้ง เจ็บปวดกับความหลังฝังใจ จนไม่พร้อมที่จะรักใครอีก, ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัว จากสาเหตุผิดที่ผิดเวลา, ความขัดแย้งระหว่างการอยากจะลืมใครสักคน ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ตนเองเป็นที่จดจำจากคนๆ นั้น, ความโดดเดี่ยวแปลกแยก ไม่เป็นหนึ่งเดียวกับโลกรอบๆ ตัว, การสวมรอยเปลี่ยนแปลงและเข้าแทนที่เป็นอีกคนที่ไม่ใช่ตัวตนเดิม ฯลฯ แง่มุมต่างๆ เหล่านี้จะปรากฏในหนังของหว่องกาไวทุกเรื่อง ด้วยรายละเอียดและบรรยากาศฉากหลังห้อมล้อมที่แตกต่างออกไปหรืออาจจะคล้ายคลึงกัน

อันที่จริงแล้ว การเขียนถึงหนังของหว่องกาไวให้ได้น้ำได้เนื้อ สมควรต้องพูดถึงหนังหลายๆ เรื่อง เพื่อแจกแจงความเหมือนความคล้ายในรายละเอียดสารพัดสารพันจากเรื่องต่างๆ เพื่อหาจุดร่วมเชื่อมโยงกัน และนำไปสู่คำอธิบายขยายความอย่างเป็นระบบ

ลักษณะเช่นนี้ เหมาะกับคนทำหนังที่มีความเป็น auteur คำนี้บัญญัติขึ้นโดยกลุ่มคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 1960 โดยมีแนวคิดใจความสำคัญว่า ในหนังแต่ละเรื่อง คนที่ควรจะเข้าข่ายเป็น ‘เจ้าของผลงาน’ ที่แท้จริง และมีบทบาทต่อหนังเรื่องนั้นๆ มากสุด ควรจะเป็นผู้กำกับ ดังนั้นหลักการเกี่ยวกับ auteur หรือทฤษฎีผู้กำกับเป็นใหญ่ จึงมุ่งเน้นที่จะค้นหาตัวตน (หรือที่ระยะหลังๆ นิยมพูดกันว่า ลายเซ็น) ของคนทำหนังที่อยู่ในผลงาน

ระยะหลังๆ การเขียนถึงหนังหรือคนทำหนังในแบบ auteur ค่อนข้างจะมีให้เห็นกันน่อยนะครับ ส่วนหนึ่งคือ เป็นงานใหญ่ที่เปลืองแรงเปลืองเวลา และต้องการพื้นที่ปริมาณในการเขียนถึงค่อนข้างยืดยาว ถัดมาคือ ในปัจจุบันคนทำหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเด่นชัดเข้าข่าย auteur ค่อนข้างจะหายาก เนื่องจากหนังเป็นธุรกิจที่เกิดจากเงินทุนก้อนใหญ่ คนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับหนังจึงมีหลายฝักหลายฝ่าย กระทั่งทำให้ผู้กำกับมีสิทธิมีเสียงจำกัด ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่หว่องกาไวนั้นเป็นคนทำหนังที่มีความเป็น auteur แน่ชัด และเป็นคนหนึ่งในจำนวนน้อย ระดับที่โดดเด่นมาก ๆ ของวงการหนังทั่วโลกตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ความเป็น auteur ของหว่องกาไวนั้น คุณสุทธากร สันติธวัช นักวิจารณ์รุ่นพี่ ได้เคยสรุปไว้อย่างกระชับสั้นและได้ใจความดียิ่งว่า ‘เดียวดายอย่างโรแมนติก’

สิ่งที่ผมจะขยายความเพิ่มเติม (ภาษาแถวบ้านผมนิยมเรียกว่า เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน) ก็คือ หนังของหว่องกาไว เด่นมากๆ ใน 2 ด้าน คือ การสร้างบรรยากาศแบบกระทำความหว่อง และอารมณ์โดนใจผู้ชมซึ่งผมอยากจะเรียกว่า ‘อารมณ์อันวิเศษ’

ทั้ง 2 ส่วนนี้ เกิดขึ้นจากการประดิดประดอยปรุงแต่งที่เต็มไปด้วย ‘จริต’ แต่ที่น่าทึ่งก็คือ เป็นจริตที่ทำถึง กระทั่งกลายเป็นความเริงใจ

เหนือสิ่งอื่นใดคือ สรรพคุณต่างๆ ทั้งปวงที่กล่าวมา นำเสนอออกมาได้ ‘งาม’ มากนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save