fbpx
สารคดี ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย : ตอนที่ 1 เส้นทางสู่กิโลเมตรที่ศูนย์ (เปล่า) ?

สารคดี ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย : ตอนที่ 1 เส้นทางสู่กิโลเมตรที่ศูนย์ (เปล่า) ?

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

 

หลังพายุไซโคลนนาร์กิสพัดจากอ่าวเบงกอลในอินเดีย ถาโถมเข้าสู่เมียนมาร์อย่างบ้าคลั่ง ความเร็วลมกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดเอาบ้านเรือนมหาศาลหายวับไปกับตา ผู้คนในเมียนมาร์เสียชีวิตกว่าแสนคน และมีกว่า 2-3 ล้านคนที่กลายเป็นคนไร้บ้าน มูลค่าเสียหายประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงินปี 2551) นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับเมียนมาร์

ยังไม่ทันจะได้ฟื้นฟูบ้านเมืองให้เรียบร้อย รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์ก็ทำข้อตกลงพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในเดือนพฤษภาคม 2551 พายุดอลลาร์โถมเข้าสู่ทวาย เมืองหลวงของเขตตะนาวศรีอย่างไม่ทันตั้งตัว พื้นที่กว้างกว่า 200 ตารางกิโลเมตร ถูกคาดหวังว่าจะกลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พื้นที่ชายทะเลจะถูกเปลี่ยนให้เป็นท่าเรือน้ำลึกและอู่ต่อเรือ โรงกลั่นน้ำมันครบวงจร โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานแปรรูปกระดาษ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและเบา และโรงไฟฟ้าหนึ่งโรงหรือมากกว่านั้น โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานให้ดูแลโครงการนี้เป็นระยะเวลา 60 ปี

หากสร้างสำเร็จ ทวายจะกลายเป็นเส้นทางการขนส่งเรือที่มีการจราจรคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะเรือขนส่งสินค้าจากอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป จะล่องผ่านมาทางนี้เพื่อเชื่อมต่อกับอินโดจีน

ผ่านไป 11 ปี เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายยังไม่เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ แต่ดูเหมือนว่าพายุยังตั้งเค้ารอจะถล่มลงไปได้ทุกเมื่อ

1

Road Link สู่ทวาย

Road Link สู่ทวาย

โบโบ สารถีหนุ่มพยายามจะวิ่งรถในระดับความเร็วของพายุ แต่ในความจริงเราเป็นได้เพียงรถตู้โคลงเคลงบนถนนหลานรัง (หลุมบ่อถี่จนเกินคำว่า ‘ลูก’ ไปมาก) ทันทีที่หลุดออกจากด่านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี เข้าสู่ Road Link หรือ ทิคี ในชื่อที่ชาวบ้านเรียก จากถนนลาดยางก็กลายเป็นทางดินยาว 138 กิโลเมตร ตัดผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงเข้าสู่กิโลเมตรที่ศูนย์ จุดเริ่มต้นเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

หลังจากเราผ่านแคมป์ของอิตาเลียนไทย ตรงช่วงใกล้ชายแดนไปไม่นาน ก็เข้าสู่ถนนร้างไร้ผู้คน นานๆ ครั้งจะมีรถกระบะขับสวนมาสักคัน ฝุ่นควันคลุ้งตลอดทาง ซ้ายมือคือแม่น้ำตะนาวศรี ขวามือเป็นเนินเขาสูง หมู่บ้านกะเหรี่ยงซ่อนตัวอยู่ด้านหลังเขาสูงนั้น ตลอดทางไม่มีช่วงไหนที่นั่งได้นิ่งๆ โดยตัวไม่เด้งออกจากเบาะ

“คิดไม่ออกเลยว่าเมื่อก่อนเขาเดินทัพไปรบกันยังไง” น้องนักข่าวที่มาด้วยกันเปิดประเด็น

“นั่นสิ นี่ขนาดเรานั่งรถนะ” ฉันตอบเสียงดังแข่งกับเสียงเครื่องยนต์

ไม่มีอะไรยืนยันความโหดของถนนเส้นนี้ได้เท่ากับตอนที่เราผ่านเนินช้างร้อง หรือในชื่อภาษาอังกฤษสุดคูลว่า Elephants Cry Hill ที่สูงชันในระดับเกือบ 90 องศา หากช้างยังร้องไห้ นับประสาอะไรกับใจคน

“ถ้าจะทำ Road Link จริงๆ เนินนี้ก็ต้องทำความชันให้ได้มาตรฐานที่รถวิ่งได้” นักวิจัยหนุ่มที่ทำงานกับชาวบ้านในทวายมานานเล่าถึงถนนเส้นนี้ให้ฟัง

เดิมที ถนนเส้นนี้เป็นทางชาวบ้าน ในอดีตผู้คนเดินกันเป็นวันๆ เพื่อย้ายถิ่นฐาน หรือออกไปทำมาหากินที่อื่น แต่เมื่อมีการเสนอสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทิคี ก็ถูกขีดเส้นวางแผนให้กลายเป็นถนน 8 เลน เชื่อมไทยเข้าสู่ทวาย — ที่จริงหมายถึง ทางออกสู่ทะเลอันดามันที่เรียบเนียนไม่สะดุด หมายมั่นให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมและน้ำมันที่ผลิตในทวายเข้าสู่ประเทศไทย

เมื่อขยับมองภาพให้ใหญ่ขึ้น ถนนเส้นนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมตะวันตก – ตะวันออก (East-West Economic Corridor) ซึ่งเป็นนโยบายแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) เชื่อมเมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา ให้มีเส้นทางการค้าที่แนบแน่นและรุ่งโรจน์

การลากเส้นต่อจุดที่มองผลประโยชน์เป็นสำคัญ กวาดเอาหลายชีวิตออกไปจากแผนที่ แน่นอนว่าอภิมหาโปรเจ็กต์ระดับนี้ ย่อมต้องกระเทือนผู้คนจำนวนมาก Road Link ที่ถูกวาดหวังไว้อย่างสวยงามต้องหยุดชะงักในปี 2556 เพราะอิตาเลียนไทยหมดสัญญาดำเนินโครงการ และไม่สามารถหาผู้ร่วมลงทุนได้

ถึงแม้จะเกิดปัญหา แต่ความพยายามของทางการก็ยังไม่สิ้นสุด ในปี 2558 กรมพัฒนาการค้าระหว่างประเทศแห่งรัฐบาลพม่า และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย (สพพ.) เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานโครงการและเป็นที่ปรึกษาให้คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภายใต้บริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ในชื่อบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (Dawei SEZ Development Co., Ltd.)

โครงการรุกคืบในปี 2561 สพพ. ได้อนุมัติวงเงินกู้จำนวน 4.5 พันล้านบาทให้รัฐบาลเมียนมาร์ เพื่อเติมชีวิตให้ถนนเส้นนี้ต่อ

แคมป์ของอิตาเลียนไทย ตั้งอยู่ใกล้บริเวณชายแดน ไทย-พม่า ต้นทาง Road Link
แคมป์ของอิตาเลียนไทย ตั้งอยู่ใกล้บริเวณชายแดน ไทย-พม่า ต้นทาง Road Link

“เขาเอาเงินที่ไหนเยอะแยะมาให้กู้” ฉันถามนักวิจัยหนุ่ม

“ก็เงินภาษีเรานี่แหละครับ” คำตอบสั้นกระชับ ตามด้วยรอยยิ้มแบบเข้าใจกัน

เงินภาษีจากกระเป๋าคนไทย ถูกเปลี่ยนไปเป็นถนนที่ตัดผ่านสวนหมาก ทะลุทะลวงเข้าไปในชุมชนหลายพื้นที่ในทวาย พื้นที่กว่า 80% ของ Road Link ตัดผ่านหมู่บ้านของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งมีผู้นำแยกกับรัฐบาลเมียนมาร์ ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น

“ผลประโยชน์ในการสร้างถนนควรตกเป็นของเคเอ็นยู” พะโด เอ หน่า เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง พูดอย่างหนักแน่นมั่นคง ในการสัมภาษณ์ที่สำนักงานในเมืองทวาย

กลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงสู้รบกับทหารเมียนมาร์มานานกว่า 60 ปี แม้จะเพิ่งมีการเซ็นสัญญาหยุดยิงไป แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่คาราคาซังอยู่หลายจุด ความซับซ้อนนี้เห็นได้ชัดตั้งแต่การตั้งด่านตรวจหลายจุดตั้งแต่ชายแดนไทย ที่มีตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านของรัฐบาลเมียนมาร์ และด่านของรัฐกะเหรี่ยง แยกกันดูแลพื้นที่ของตัวเอง

ทุกวันนี้มีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 12-13 หมู่บ้าน ถูกยึดที่ดินเพื่อนำไปสร้างถนนทางเข้าออกชั่วคราว คาดการณ์ว่าประชากรกว่า 9,000 คนจะได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนนี้ หมู่บ้านเหล่านี้ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สูง มีแหล่งรายได้และอาหารจากการทำเกษตรและหาของป่า การตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ชาวบ้านจึงกระทบทั้งแหล่งน้ำและสวนของชาวบ้าน ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตของพวกเขา

“เราไม่ได้ปฏิเสธการสร้างถนน แต่ต้องมีการคุยกันก่อนว่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแค่ไหน ข้อดีของถนนคือช่วยเพิ่มความสะดวกในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร แต่ก็ต้องมาดูกันที่รายละเอียด” พะโด เอ หน่าให้ความเห็น ทั้งยังเสนอว่า อาจจะให้สิทธิสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในการเก็บค่าผ่านทาง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของเคเอ็นยูและชาวบ้าน

พะโด เอ หน่า เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง
พะโด เอ หน่า เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

หากมองในสายตาแบบทัวร์ริสต์ การมีถนนไว้เดินทางย่อมสะดวกสบายกว่าไม่มี แต่ปัญหาคือตอนนี้การพัฒนาที่ถั่งโถมยังไม่เข้าใกล้คำว่าสมดุล เพราะนอกจากพื้นถนนแล้ว ยังมีแผนการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันคู่ขนานไปตามแนวถนนเชื่อมต่อนี้ด้วย

Road Link เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมต่อไปยังหัวใจในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ดูเหมือนว่าร่างกายของเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจเป็นคนละร่างกายของชาวบ้านและธรรมชาติที่มีอยู่เดิม

2

ร่มเงาของสวนหมาก

 “ป่าเมืองไทยที่ว่าแน่ก็เป็นได้แค่สวนหย่อมของเมียนมาร์เท่านั้นเอง”

มีพี่ชายคนหนึ่งเคยเขียนไว้อย่างเฉียบขาดว่า “ป่าเมืองไทยที่ว่าแน่ก็เป็นได้แค่สวนหย่อมของเมียนมาร์เท่านั้นเอง”

ประโยคนี้ไม่ได้เกินเลยความจริงแต่อย่างใด คนพม่าหลายคนมักบอกว่า ธรรมชาติของพวกเขาเหลือน้อย ต้นไม้หายไปเยอะมาก ตอนนี้พวกเขาจึงควรรักษาเอาไว้

“นี่ขนาดหายไปเยอะแล้วนะ” ฉันพูดประโยคนี้หลายต่อหลายครั้ง

ทุกครั้งที่เลาะผ่านภูเขา ฉันรู้สึกเหมือนเห็นบันไดสู่ดวงอาทิตย์ ต้นหมากแทงยอดขึ้นมาจากหุบเขาด้านล่างจนสูงเทียมถนน สีเขียวเข้มทาบทาภูเขาแนบสนิทไร้รอยต่อ แม่น้ำกว้างใหญ่ต้องแสงระยิบระยับ เป็นธรรมชาติที่ดูเหมือนไม่เคยมีใครเอื้อมมือไปแตะต้อง

ทวาย เป็นเมืองท่าที่มีทั้งทะเล แม่น้ำ และภูเขา หนึ่งในอารยธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์พม่า เราจะมองเห็นต้นตาล ต้นหมาก มะม่วงหิมพานต์ อยู่รายทางจนชินตา

ว่ากันว่าโลกเดินทางมาถึงวันที่ทุกเมืองจะมีชีวิตคล้ายกัน มีบ้านเรียงตามตรอกซอย มีร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า ผู้คนทานข้าวที่ร้านอาหาร แต่งตัวตามแบบวัฒนธรรมตะวันตก และเข้า-ออกที่ทำงานเวลาเดียวกัน ฯลฯ แต่ที่ตะบิวชอง หนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนไม่ได้เป็นเช่นนั้น

จริงอยู่ที่กลางตัวเมืองทวาย ความเป็น ‘เมือง’ พัฒนารุกคืบเข้ามาจนเปลี่ยนแปลงไปเยอะ แต่ตามหมู่บ้านที่ห่างไกล พวกเขายังมีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ขณะเดียวกันพวกเขาก็ใช้แท็บเล็ตและใช้มอเตอร์ไซค์ของญี่ปุ่นเป็นยานพาหนะ ภาพความเป็นอยู่แบบผสมผสานในลักษณะของการยอมรับและต่อสู้ เลื่อนไหลอย่างเป็นธรรมชาติ

“ที่นี่ไม่มีอินเทอร์เน็ตหรอก” ลูกสาวผู้นำหมู่บ้านวัย 21 ปี เล่าให้ฉันฟัง ระหว่างการพบปะของนักข่าวกับชุมชน “ถ้าจะใช้ต้องขับรถไปใช้ที่วิทยาลัย”

วิทยาลัยที่ว่าคือ วิทยาลัยเทคนิคทวายอยู่ในตัวเมือง ห่างจากบ้านเธอกว่า 43 ไมล์ เธอและเพื่อนต้องขับมอเตอร์ไซค์ไปเรียนทุกวัน เลาะผ่านภูเขาสูงชันเป็นปรกติ

“ชินแล้ว” เธอว่า

(ซ้าย) ลูกสาวผู้นำหมู่บ้าน, (ขวา) เพื่อนในหมู่บ้านและวิทยาลัย
(ซ้าย) ลูกสาวผู้นำหมู่บ้าน, (ขวา) เพื่อนในหมู่บ้านและวิทยาลัย

บ้านของเธอเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ก่อนหน้านี้ก็มีการรวมตัวแต่ละชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนเพื่อต่อต้านโครงการพัฒนาที่เข้ามา ในชื่อ ‘กลุ่มพื้นที่กาโมต่วย’

บริเวณบ้านกว้างขวาง เป็นบ้านสองชั้น ก่อด้วยอิฐและไม้ มีลานดินไว้สำหรับพบปะสังสรรค์ ไม่จำเป็นต้องกางหลังคา เพราะสวนหมากทำหน้าที่กันแดดให้อย่างดีเยี่ยม

กลุ่มผู้ชายนั่งพูดคุยกับสื่อ ส่วนกลุ่มผู้หญิงทำกับข้าวอยู่หลังบ้าน เด็กเล็กสองคนนั่งเล่นดิน ส่วนกลุ่มวัยหนุ่มสาวนั่งอยู่ด้านหลัง แอบฟัง ‘ผู้ใหญ่คุยกัน’ อยู่เงียบๆ

ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านกะเลจี

ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านกะเลจี

อู เย อ่อง ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านกะเลจี
อู เย อ่อง ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านกะเลจี

ผู้นำหมู่บ้านหลายคน ต้องการรายละเอียดที่ ‘จริงใจ’ จากอิตาเลียนไทยมากกว่านี้ เพื่อให้กระจ่างว่าการตัดถนนจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาแค่ไหน และจะให้ค่าเยียวยาอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยได้รับแจ้งล่วงหน้าในการไถพื้นที่สวนของชุมชน การตัดถนนทำให้ดินทลายลงไปทำลายสวนหมากของชาวบ้าน ทั้งยังทำลายแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ดื่มกินและทำสวนอีกด้วย

สวนหมากเป็นรายได้หลักของคนที่นี่ ในบางครอบครัวต้องสูญเสียที่ดินไปเลยเพื่อสร้างเป็นถนน บางคนได้เงินชดเชยแล้ว บ้างได้แค่บางส่วน ตัวเลขก็ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นธรรม บางคนได้เงินชดเชยเพียง 2 หมื่นกว่าบาท เพื่อแลกกับพื้นที่เสียหาย 10 กว่าไร่

ชาวบ้านหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงจะได้เงินก้อนมา แต่ก็ไม่คุ้มกับการเสียที่ทำกินไปตลอดชีวิต แต่ขณะเดียวกัน หนุ่มสาวหลายคนก็มองว่า ที่นี่ต้องการการพัฒนา

“ถ้ามีถนนดีๆ เราก็คงเดินทางไปเรียนง่ายขึ้น ขนของไปขายในเมืองง่ายขึ้น” ลูกสาวผู้นำหมู่บ้านพูดอย่างตรงไปตรงมา

“จริงๆ ก็อยากให้ฟังเสียงของพวกเราด้วย ไม่ใช่ฟังแค่ผู้ใหญ่” พี่ชายของเธอเสริม

โลกของคนหนุ่มสาวไม่ได้มีแค่สวนหมากอีกต่อไป แต่พวกเธอเห็นโลกผ่านอินเทอร์เน็ต ร่ำเรียนความรู้ทางสายอาชีพ ทั้งการทอผ้า การก่ออิฐ เชื่อมเหล็ก งานไม้ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และถ้าเป็นไปได้ พวกเธอก็อยากออกไปหางานทำที่อื่น

เสียงรถไอติมขับผ่านหน้าบ้าน ทำให้บทสนทนาของเราชะงักชั่วครู่ กลุ่มวัยรุ่นมองตามตาละห้อย พวกเธอไม่ได้ลุกออกไปซื้อ แต่สักพักก็เดินเข้าไปในบ้าน หยิบระกำมา 2-3 ลูก ตั้งใจแกะอย่างบรรจงแล้วยื่นให้ทาน เธอเองก็ทานด้วย เป็นของหวานทดแทนไอติมที่เลยผ่านไปแล้ว

ไม่นานพ่อของเธอก็เดินมาบอกว่าให้เตรียมมื้อเที่ยง ข้าวหุงใหม่ ผัดผัก หมูทอด 2-3 อย่าง วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ พร้อมด้วยชาร้อน 1 กาใหญ่ ไว้เติมได้เรื่อยๆ พอหมดมื้อ ต่างคนแยกย้ายจับกลุ่มพูดคุย ตะกร้าหมากตั้งอยู่กลางวง กลุ่มผู้ใหญ่นั่งมวนด้วยท่าทีผ่อนคลาย ปากคุยไป เคี้ยวหมากหยับๆ ไปด้วย บางคนก็สูบยาเส้นใบจาก กลิ่นฉุนแรง เห็นบางคนเดินสะดุดหลังจากสูบไปหมดมวน

คนที่นี่ส่วนมากยังนุ่งโสร่ง ไม่ว่าเป็นผู้เฒ่าผู้แก่หรือคนหนุ่มสาว กะหงอ ลูกชายคนโตของผู้นำหมู่บ้านตะบิวชอง แม้เขาจะอายุเพียง 23 ปี แต่เขาก็ยังเคี้ยวหมากและนุ่งโสร่ง หน้าตาและบุคลิกเหมือนพ่อจนไม่ต้องถามว่าเป็นอะไรกัน

ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านกะเลจี

กะหงอ (ลูกชาย) พะตี่ เคโดะ (พ่อ ตัวแทนหมู่บ้านตะบิวชอง และเจ้าของบ้าน)
กะหงอ (ลูกชาย) พะตี่ เคโดะ (พ่อ ตัวแทนหมู่บ้านตะบิวชอง และเจ้าของบ้าน)

กะหงอเล่าให้ฟังว่า ส่วนมากคนหนุ่มสาวในละแวกนี้มักจะเจอกันที่โบสถ์ในวันอาทิตย์ ชีวิตประจำวันก็เรียนหนังสือ ใครเรียนจบแล้ว บางทีก็ไปทำงานที่ย่างกุ้งหรือเมืองไทย ตัวเขาเองก็เข้าไปเรียนแบบอิสระที่ย่างกุ้ง พร้อมกับหนุ่มสาวอีกหลายคนที่จับกลุ่มเรียนกันเองในชื่อ Sky Age Free Mobile Education Group เขาเลือกเรียนเกี่ยวกับการเมืองและภาษาอังกฤษ

เขามองว่าการรวมศูนย์ความเจริญไว้ที่ตัวเมืองทวายอย่างเดียว ก็สร้างความลำบากให้ชาวบ้านไม่น้อย ไม่ว่าจะต้องเดินทางเข้าไปเรียนหนังสือหรือรักษาพยาบาล แต่เมื่อมีการสร้างถนนเข้ามา สวนหมากและแม่น้ำที่เขาเคยดื่มกินก็แห้งขอดลงไป

“ไม่มีอะไรพอดีเลย” เขาพูดติดตลก

ระหว่างนั้น เสียงเพลงจากน้องสาวของเขาก็ดังมาจากในบ้าน พร้อมเสียงกีตาร์นวลหูจากปลายนิ้วน้องชายคนเล็ก

“God song” เด็กหนุ่มคนหนึ่งบอกฉัน

เพลงจบไปแล้ว 2-3 เพลง เราจึงค่อยร่ำลากัน ฉันนั่งบนรถตู้แอร์เย็นฉ่ำ นั่งมองฝุ่นควันคลุ้งที่ตลบตามมาด้านหลัง

3

แค่ถนน

บริเวณหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ จุดเร่ิมต้นเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่ว่างด้านหลังคือบริเวณของเขตเศรษฐกิจทั้งหมด ก่อนหน้านี้บริเวณนี้เคยเป็นป่าชายเลน
บริเวณหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ จุดเร่ิมต้นเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่ว่างด้านหลังคือบริเวณของเขตเศรษฐกิจทั้งหมด ก่อนหน้านี้บริเวณนี้เคยเป็นป่าชายเลน

 

ทวายห่างจากกรุงเทพฯ มาทางตะวันตกประมาณ 350 กิโลเมตร ใกล้กว่าหลายๆ จังหวัดที่ถูกขีดเส้นผนวกรวมว่าเป็นไทย คนทวายหลายคนเคยเดินเท้าเข้าไปทางด่านกาญจนบุรี ทุกวันนี้วิถีชีวิตชายแดนผนวกรวมกันอย่างกลมกลืน คนไทยพูดพม่า ส่วนคนพม่าก็พูดไทยได้อย่างไม่เคอะเขิน

Road Link ที่ขีดเชื่อมนี้ ดูเหมือนจะเข้ามาทำให้การเชื่อมต่อเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เข้ามาทำลายแม่น้ำที่เปรียบเสมือนเลือดเนื้อของคนกะเหรี่ยงและทวาย

คำถามสำคัญคือ เราจะมองการพัฒนานี้ด้วยสายตาแบบไหน ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ควรจะได้รับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นจริง —  และหากจะต้องสูญเสีย พวกเขาก็ควรได้รับอะไรที่คู่ควรกับที่เสียไป

ระหว่างทางเราแวะซื้อน้ำอ้อยดื่มในตลาด ฉันแวะซื้อน้ำเปล่าที่ร้านขายของชำ แล้วบ่นว่า “ร้อนนะคะ” ป้าคนขายเคยไปทำงานเป็นแม่บ้านที่กรุงเทพฯ ตอบกลับมาเป็นภาษาไทยว่า “ร้อน ร้อนกว่าแต่ก่อนเยอะ”

“ทำไมถึงร้อนกว่าแต่ก่อน” ฉันถาม

“ไม่รู้นะ แต่เขาว่าเพราะจีนมาเอาต้นไม้ไปหมด”

ฉันยิ้ม แล้วดื่มน้ำอึกใหญ่ดับกระหาย

ผลกระทบทั้งหมดที่เล่ามายังอยู่แค่ในส่วนของการสร้างถนน แต่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายยังขยายตัว และดูเหมือนจะกวาดล้างผู้คนในพื้นที่ไปอย่างน่าหวั่นใจ

เส้นทางสู่กิโลเมตรที่ศูนย์ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ของจริงรออยู่ริมหาดในขนาดของเมืองใหญ่กว่าแสนไร่

YouTube video

อ่านน้ำเสียงของหนุ่มสาวเมืองทวายเพิ่มเติมได้ที่บทความ ‘หนุ่มสาว Gen ทวาย : ในม่านหมอกของเขตเศรษฐกิจพิเศษ’

และติดตามเรื่องราวของทวาย ในสารคดี ‘ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (ตอนจบ) : ทลายชาวเล – ทะเลทวาย’ ได้ที่นี่

[box] ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดย Earth Journalism Network ภายใต้ Internews และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย [/box]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save