ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง
เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
1
ชื่อของเธอแปลว่า เย็นเหมือนน้ำ
ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ ทีดาวิน สาวทวายวัย 28 ปี จะไม่ได้นั่งอยู่ตรงนี้ แต่ตั้งแต่มีโควิด ช่วงเวลาเย็นย่ำที่เธอควรจะขายของอยู่ในเจเจมอลล์ ก็กลายเป็นเวลาว่างเหลือเฟือ – เวลาว่างที่ยาวนานกว่า 2 เดือน ตั้งแต่รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เธอขาดรายได้ตั้งแต่ตอนนั้น
หลังวัดไผ่ตัน มีทางเดินเล็กแคบเลียบคลองบางซื่อ ระยะเดินเหงื่อยังไม่ทันออก เราจะพบชุมชนชาวทวายตั้งอยู่ตรงข้ามตลาด อตก. พอดิบพอดี ตลาดที่เคยเป็นแหล่งรับนักท่องเที่ยว สมบูรณ์ไปด้วยผลไม้ อาหาร และต้นไม้หลากชนิด มาวันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ – เงียบเหงา เหมือนทุกที่ที่โรคระบาดย่างกรายไปถึง
ร้านอาหารทวายตรงท่าเรือเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน พอแดดร่มลมตก ผู้คนก็เริ่มมานั่งริมคลอง เสียงผัดกระทะของแม่ครัวชาวทวาย ผู้ปะแป้งทานาคาบนใบหน้า ทำให้บรรยากาศโดยรอบมีชีวิตชีวา
ทีดาวิน มีชื่อไทยว่า โอ๋ ชื่อที่ได้จากนายจ้างคนแรก ตอนที่ทำงานแม่บ้าน โอ๋อยู่เมืองไทยมา 13 ปี แทบจะเรียกได้ว่าครึ่ง-ครึ่งกับชีวิตที่ทวาย เก็บกระเป๋าเดินทางข้ามประเทศมากับแม่ตั้งแต่วัยยังไม่ 15 ขวบดี โดยมีเหตุผลเรียบง่ายว่า “ที่ต้องมาเมืองไทย เพราะที่บ้านลำบากมาก”
มหาชัย คือปลายทางแรกของโอ๋ในเมืองไทย เพราะมีพี่ชายทำงานที่นั่นอยู่ก่อนแล้ว ก่อนแม่จะแยกไปทำงานที่ภูเก็ต แล้วฝากโอ๋ให้อยู่กับพี่ชายและครอบครัว จนกระทั่งโอ๋ตัดสินใจออกมาอยู่ด้วยตัวเอง เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาอยู่กับเพื่อน เพื่อหางานทำเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากงานแม่บ้าน ก่อนจะย้ายมาทำงานที่เจเจมอลล์ และพักอยู่กับชาวทวายในชุมชนแห่งนี้
“อยู่ที่นี่ เราได้ความรู้ เวลาเราคุยกับใครสักคน ไม่ใช่คุยเฉยๆ แต่ต้องเอาความรู้จากเขา ความรู้จากคนที่เก่งกว่าเรามีเยอะ เขาอยู่นานกว่า เราก็จำไว้สิ่งที่เราไม่รู้” โอ๋พูดถึงการทำงานเป็นพนักงานขายของ และการใช้ชีวิตกับชุมชนชาวทวาย
จากเด็กสาวที่เดินตามแม่มาจากต่างถิ่น จนวันที่แม่กลับไปอยู่ทวายหลายปี โอ๋กำลังอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว ชีวิตดูเหมือนจะไปได้ดี จนกระทั่งการเข้ามาของโควิด ร้านที่โอ๋ทำงานด้วยต้องปิดชั่วคราว และจนถึงตอนนี้ที่ร้านค้าเริ่มกลับมาเปิดแล้ว เธอก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางร้านให้กลับไปทำงาน
“ชีวิตช่วงที่ไม่มีงานลำบากมาก กลับบ้านก็ไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง เครียดมากเลย แม่ก็บอกว่ากลับมาเถอะ เราก็บอกว่าตรงชายแดนปิดแล้ว ออกไปไม่ได้ เราก็ไม่อยากกลับด้วย เพราะกลับไปแล้วก็ต้องกักตัวอยู่ดี แล้วครอบครัวเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ เหมือนไปทำให้ครอบครัวลำบาก” โอ๋เล่า
ภาวะ ‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง’ แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับโอ๋ แต่คนกว่าครึ่งหนึ่งจาก 200 ครัวเรือนในชุมชนทวายแห่งนี้ กลายเป็นคนตกงานที่ลอยคว้างกลางมหาสมุทร ไร้ที่ยึดเหนี่ยว ยังไม่นับว่ามีแรงงานต่างชาติอีกจำนวนมากในพื้นทื่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน และดูเหมือนว่าพวกเขาจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการเหลียวแลในเชิงนโยบาย
ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา แหล่งการค้าขนาดใหญ่อย่างจตุจักร เจเจมอลล์ และตลาด อตก. มีแรงงานต่างชาติเป็นหนึ่งในส่วนขับเคลื่อนสำคัญ รถขนของที่เราเห็น ลังสินค้าที่เคลื่อนย้ายไม่รู้จบ พนักงานขายที่อยู่ตามล็อกร้านค้า ความเลื่อนไหลในอาณาจักรเขาวงกตขนาดใหญ่ของจตุจักร ล้วนมีแรงงานต่างชาติเป็นผู้เคลื่อนความเป็นไป
แต่ในวันที่ทุกอย่างปิดสวิตช์ ความเป็นไปในชีวิตของพวกเขาก็ต้องหยุดลงด้วย ปัญหาสำคัญคือพวกเขามาที่นี่เพื่อทำงาน แต่เมื่อไม่มีงานให้ทำ ก็ไม่รู้จะยึดโยงตัวเองกับอะไร
“ตอนนี้บางร้านก็เปิดแล้ว แต่เราก็ต้องใช้เวลาหางานหน่อย บางร้านที่เราไปสมัคร ให้ค่าแรงน้อยกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง เราก็ต้องคิดว่าไหวมั้ย เพราะค่าใช้จ่ายก็มี” โอ๋ว่า “ตอนนี้เลยบอกแม่ว่า ช่วงนี้หนูส่งเงินไม่ไหวนะ แม่ก็บอกไม่เป็นไร หนูอยู่ไปให้ได้เถอะ ไม่ต้องห่วง”
ช่วงที่ผ่านมา คนในชุมชนได้รับความช่วยเหลือเป็นมาม่า ปลากระป๋อง และข้าวสาร
ข้าวสาร ถ้าได้มาเยอะ ก็แบ่งส่งต่อให้คนที่ยังไม่มีหรือนำไปทำบุญที่วัด เงินทอง ถ้าใครไม่มี ที่ชุมชนก็มีกองทุน ‘ครอบครัว อตก.’ สำหรับช่วยเหลือคนในชุมชน ตั้งแต่เจ็บไข้ได้ป่วย ไปจนถึงเงินทองไม่พอใช้ โดยรวบรวมเงินทีละเล็กละน้อยจากคนในชุมชน ใครมีมากให้มาก ใครมีน้อยให้น้อย กลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยโอบอุ้มกันในห้วงยามลำบากเช่นนี้
“ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว เหลือแต่หางานให้ดีกว่าเดิม เวลาไปสมัครงาน เราต้องทำให้เขาดูว่าเรามีความสามารถแค่ไหน ต้องตั้งใจทำ ไม่ใช่แค่พูดไทยได้ แต่ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้ เราเต็มใจทำ” โอ๋พูดถึงแผนในอนาคต เมื่อร้านค้าและธุรกิจจะกลับมาเปิดเหมือนเดิม
2
เมื่อถึงเวลาเวลาเลิกงาน เรือสีแดงลำเล็กเป็นพาหนะเนื้อหอมของที่นี่
ผู้คนบางส่วนที่ได้กลับไปทำงานที่ อตก. และจตุจักรแล้ว ทยอยกลับที่พักด้วยการนั่งเรือข้ามคลอง ชายหนุ่มร่างกำยำถือช่อดอกไม้นั่งมาบนเรือ แว่วว่าเอาไปไหว้พระที่ห้อง
ในตรอกหลังร้านข้าวทวาย คือที่อยู่อาศัยของพวกเขา ซอยเล็กแคบที่แค่เดินสวนกันยังเกรงใจ มีร้านขายของชำ และศาลาขนาดเล็กให้คนมานั่งพูดคุย ช่วงใกล้ค่ำเป็นเวลาครอบครัว เสียงรายการข่าวจากโทรทัศน์ เสียงกริ่งจักรยาน เสียงตะหลิวกระทบกระทะ และเสียงเพลงจากลำโพงขนาดเล็ก ดังเป็นฉากหลังให้ชุมชนแห่งนี้มีชีพจร ทั้งคนไทยและพม่าอยู่กันเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียง
ก่อนจะถึงเวิ้งห้องเช่าที่ชาวพม่าอาศัยอยู่ ยินเสียงคนพูดกันว่า “ซื้อหวยให้ถูกสิบบาท เย็นนี้สั่งหมูกระทะมากินดีกว่า” น่าคิดว่าเขาจะได้เงินคืนมาเท่าไหร่ และหมูจะอร่อยรึเปล่า
แต่ยังไม่ต้องถึงมือหมูกระทะ เมื่อคนทวายประมาณ 4-5 คน มาช่วยกันทำกับข้าวในครัวกลางแจ้งตรงบริเวณเวิ้งห้องเช่า เสียงหั่นผักดังมีชีวิตชีวา น้ำในหม้อดังปุดๆ เครื่องในและเครื่องแกงที่อยู่ในนั้นกำลังส่งกลิ่นหอมได้ที่ นี่เป็นช่วงเวลาพักผ่อนของพวกเขา แม้ในแววตาและน้ำเสียงยังกังวลกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่มากก็ตาม
“ค่าห้องรวมค่าน้ำค่าไฟแล้ว ตกประมาณ 3,000 บาท แต่ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเจ้าของห้องเขาลดให้เหลือประมาณ 2,500 บาท ก็ยังโอเค พออยู่ได้” สุชาดา อายุ 37 ปี ชาวทวายที่มาอยู่ไทยแล้วกว่า 10 ปี เล่าให้ฟัง ตอนนี้อยู่กับลูกชายวัย 3 ขวบครึ่งที่ห้องเช่า ส่วนสามีไปทำงานที่แม่กลอง
สุชาดา เป็นชื่อไทยที่ลูกค้าตั้งให้ ก่อนหน้านี้ เธอทำงานขายของที่เจเจมอลล์ ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องจนคลอด หาเงินส่งให้ที่บ้านที่มีพี่สาวและลูกคนโตวัย 13 ขวบ จนกระทั่งต้องพักงานไปหลังจากร้านค้าปิด
ในห้องเช่าของสุชาดาเป็นพื้นกระเบื้องโล่ง มีที่นอนปูกับพื้น ลูกชายกำลังนอนหลับหน้าพัดลม บนผนังติดหิ้งพระและมีดอกไม้สดใหม่วางอยู่บนนั้น เสื้อผ้าพับเก็บและแขวนอย่างดีตรงผนังห้อง ตรงใกล้ประตู มีเครื่องครัวและเครื่องปรุงวางอยู่บนชั้นอย่างเป็นระเบียบ ในพื้นที่ไม่มากเช่นนี้ สุชาดารวบเอาทั้งห้องนอน ห้องพระ ห้องครัว และห้องแต่งตัวไว้ในห้องเดียว โดยใช้เงินเก็บที่มีอยู่ จ่ายค่าห้องพยุงชีวิตให้รอดไปได้ก่อน
“ตอนนี้หยุดงานยิ่งเปลืองค่าไฟ เพราะต้องเปิดพัดลม แต่ดีที่ยังมีแฟนช่วยจ่ายค่าห้องด้วย” สุชาดาเล่า
“เราอยากกลับบ้านนะ เพราะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ทำงาน แต่ถ้าได้ทำงาน ยังโอเค มีเงินส่งไปให้ที่บ้าน มีเงินจ่ายค่าห้อง ค่ากิน ค่าพาสปอร์ต แต่ตอนนี้งานไม่มี อยู่บ้านน่าจะดีกว่า เพราะเราไม่ต้องจ่ายค่าห้อง แต่ตอนนี้กลับไม่ได้ เขาปิดอยู่”
นอกจากปัญหาเรื่องงานที่หายไปแล้ว อีกหนึ่งข้อจำกัดของสุชาดาคือ ยังติดภาระผูกพันดูแลลูก ต้องคุยกับผู้จ้างงานว่า มีลูกที่ต้องเอาไปเลี้ยงด้วย เพราะมีเงินไม่พอจ่ายค่าฝากเลี้ยงเด็ก “เขาจะรับเรารึเปล่า ถ้าโอเค เราก็ทำได้” สุชาดาพูดหนักแน่น
ระหว่างที่พูดคุยกัน กับข้าวก็เพิ่มระดับกลิ่นหอมทุกชั่วขณะ
“อยากกลับบ้าน ช่วยหนูหน่อย” เสียงของ ปาปา วัย 32 ปี ดังเข้ามาในวงสนทนา หากสุชาดาต้องติดภาระเลี้ยงดูลูก ปาปาก็อยู่ฝั่งตรงข้าม คือไม่มีโอกาสได้ดูแลลูกเลย เธอเล่าว่า ลูกวัย 3 ขวบอยู่กับย่าที่บ้าน แต่ย่าเสียชีวิตกะทันหันในช่วงที่ผ่านมา ทุกวันนี้ต้องให้เพื่อนบ้านช่วยดูแลลูกให้
“ตอนนี้เรานอนไม่หลับกินไม่ลงเลย ตื่นมาก็ดูข่าวว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ คุยโทรศัพท์กัน ลูกบอกว่า แม่กลับมาหาหนูหน่อย เราอยากกลับไปหาลูกมาก ทางไหนก็ได้ ขอให้ถึงพม่าก็พอแล้ว” ปาปาขมวดคิ้ว พลางกำผ้าซิ่นที่สวมอยู่
ปาปาเพิ่งกลับไปทำงานได้ 2 วัน แม้จะยังไม่ใช่งานประจำระยะยาว แต่ก็มีรายรับรายวันเข้ามาพอประทังชีวิต รวมกับเงินที่แฟนหาได้จากการทำงาน แต่ถึงอย่างนั้น ใจของปาปาก็จดจ่ออยู่กับลูกที่ทวาย จนอยากทิ้งทุกอย่างที่ไทยเพื่อกลับไปหาลูก
แต่ในความโชคร้าย ยังมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง แฟนของปาปามีประกันสังคม เพราะนายจ้างจัดการยื่นเอกสารให้ ทั้งมีรายรับเป็นเงินเดือน เลยพอมีเงินพยุงในช่วงเดือดร้อนและส่งเงินให้ลูกได้
ในเชิงรูปแบบชีวิต พวกเขาอาจเจอปัญหาแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ส่งผลกับชีวิตพวกเขาคือนโยบายและเอกสารที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นลมหายใจสำคัญของชีวิตพลัดถิ่น
ปาปาเล่าว่า แต่เดิมเวิ้งห้องเช่านี้เคยเป็นบ้านไม้อยู่รวมกันหลายคน จนเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ทุกคนกระเตงลูกหลานออกมากันพัลวัน ข้าวของอย่างอื่นไม่หยิบติดมาสักชิ้น มีเพียงอย่างเดียวที่หยิบออกมาเหมือนกันคือพาสปอร์ต ที่มีใบอนุญาตทำงานพับเก็บอยู่ในนั้นอย่างดี
“สำคัญที่สุด” ปาปาบอก และกับข้าวมื้อเย็นใกล้เสร็จแล้ว
คนทวายอยู่กันเป็นครอบครัวมาอย่างยาวนาน บางคนอยู่ที่นี่นานกว่าที่ทวาย พูดไทยคล่องปร๋อ ทำงานเก็บเงินส่งที่บ้านตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนถึงวัยแต่งงาน
แดง หรือ มิน ไทค์ อายุ 36 ปี คือหนึ่งในตัวอย่างของคนทวายที่อยู่ในไทยมายาวนานเกินครึ่งชีวิต เขาทำงานขายของในจตุจักรมานาน จนเจ้านายรักและไว้ใจ “ทำแทบทุกอย่าง” เขาว่า ทำงานอาทิตย์ละ 3 วัน แต่ในหนึ่งวันนั้นกินชั่วโมงยาวนาน ตั้งแต่เช้าจนค่ำ รวมๆ แล้วหนึ่งเดือนมีรายรับประมาณหนึ่งหมื่นบาท
เขาเช่าห้องอยู่กับภรรยา แบ่งสัดส่วนที่นอน โทรทัศน์ และชั้นเสื้อผ้าไว้อย่างดี มองเห็นผ้าเช็ดตัวตราแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด วางไว้เป็นระเบียบ และติดรูปวันแต่งงานไว้ตรงผนัง
“ผมอยู่ไทยมาเกือบ 20 ปี ไปๆ มาๆ ตอนนั้นยังเด็กๆ อยู่เลย อายุประมาณ 14-15 ปี ตอนแรกมากับแม่ แต่แม่กลับทวายเป็นสิบกว่าปีแล้ว”
“ผมอยากกลับไปอยู่ทวายนะ แต่เรามานานแล้ว กลับไปเปล่าๆ ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราเก็บเงินสักก้อนหนึ่ง ไปทำอะไรของตัวเอง ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ได้ ก็อยากเป็นแบบนั้น ไม่ใช่กลับไปล่องแล่งๆ เหมือนเดิม ตอนนี้มีเงินเก็บหน่อย ก่อนหน้านี้ ผมมีเท่าไหร่ก็ให้แม่กับน้องหมด ผมอยู่คนเดียว กินอะไรก็ได้ อยู่ยังไงก็ได้ เมื่อก่อน ผมไม่ได้เก็บติดตัวด้วยซ้ำ แต่หลังๆ เพื่อนบอกว่าต้องมีเงินติดตัวไว้บ้างนะ ผมก็เริ่มเก็บ ถ้าเรารู้จักทำมาหากิน ไม่มีคำว่าสายหรอก” แดงพูดพลางปรับที่คาดผมให้เข้าที่ แล้วเดินนำหน้าพากลับมาที่ท่าเรือ
3
นอกจากมุมมองของคนทวายเองแล้ว ในสายตาของคนที่รู้จักทวาย และทำงานกับคนทวายทั้งในไทยและพม่า มองว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นเรื่องที่กระทบคนทวายครั้งสำคัญ
“คนที่นี่มาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แล้วชัดเจนว่าโควิดกระทบกับเศรษฐกิจสูงมาก และกระทบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์” วิชัย จันทวาโร เจ้าหน้าที่เสมสิกขาลัย (SEM – Spirit in Education Movement) กล่าว เขาเป็นเอ็นจีโอที่ติดตามโครงการกลุ่มทุนและรัฐบาลไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ และดูแลปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในทวายมาอย่างยาวนาน
วิชัยรู้จักชุมชนทวายหลังวัดไผ่ตันเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว จนได้ร่วมงานและให้ความช่วยเหลือกันเรื่อยมา เขาเล่าถึงชุมชนแห่งนี้ให้ฟังว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานทวายที่สุดคือความไม่แน่นอนของข้อมูลข่าวสาร
“พอทุกอย่างหยุด จุดหนึ่งที่ทำให้เขาเคว้งคว้างมากในแง่จิตใจคือ ข้อมูลข่าวสารเรื่องแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีความชัดเจนเลย ถ้าอยากจะกลับ ต้องจัดการอย่างไร ถ้ากลับไปแล้วอยากกลับมา มีกระบวนการอย่างไร
“ช่วงมกรา-กุมภา เขาต้องทำเรื่องวีซ่า ทำเรื่องใบอนุญาตทำงาน ทำพาสปอร์ตใหม่ สำนักงานก็เริ่มรับเรื่องไปแล้ว แต่ก็ชะงักกลางคัน คนจ่ายตังค์ไปเป็นหมื่นแล้ว ไม่มีความชัดเจน ไม่มีใครพูดถึงประเด็นเหล่านี้เลย ทุกคนพูดแต่เรื่องโควิด แต่โควิดก็มีสิ่งที่ต่อเนื่องสัมพันธ์ส่งผลกับคน”
“แล้วในแง่ของการเข้าถึงเรื่องชดเชยเยียวยาก็ไม่เท่ากับคนไทย กลุ่มที่จะได้ก็คือกลุ่มที่มีประกันสังคม ซึ่งก็ไม่ได้จะเข้าถึงได้ง่าย ต้องดำเนินการเรื่องเอกสาร เรื่องคำร้อง ซึ่งก็ไม่ง่ายสำหรับเขาอยู่แล้ว” วิชัยว่า
ที่ท่าเรือริมคลอง ผู้คนมานั่งกินข้าว พูดคุยกัน บางคนกลับมาจากที่ทำงานก็แวะเวียนมาสั่งข้าวที่ร้าน ข้าวเนื้อร่วนพูนจาน ราดด้วยแกงใส่หมูและปลาแห้ง เป็นมื้อเย็นที่ได้รับความนิยมที่สุด เสียงแมลงดังเซ็งแซ่ แม้คอนโดฯ ระฟ้าที่มองเห็นจะชี้ชัดว่าเราอยู่ในเมือง เสียงพูดคุยกันทั้งภาษาไทย พม่า ลอยอวลอยู่ในอากาศ ในแววตาของผู้คนมีทั้งเสียงหัวเราะและเสียงสะอื้นปรากฏทับซ้อนกัน
ถ้ามองภายนอก เราอาจแบ่งแยกกันด้วยเชื้อชาติ และเป็นอื่นกันได้ง่ายดายเพียงเพราะเราไม่รู้จักกัน แต่ฉับพลันที่เราได้ยินเสียงของผู้คนที่เจอปัญหาไม่ต่างกัน ก็ยิ่งชี้ชัดว่าเราไม่ต่าง — ไม่เคยต่าง