fbpx
David Streckfuss : การเมืองผิดเพี้ยน ในประเทศผุพัง

David Streckfuss : การเมืองผิดเพี้ยน ในประเทศผุพัง

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

เป็นเวลาใกล้ 4 ปีแล้วที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ให้คำสัญญากับประชาชนว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพื่อคืนความสุขให้กับประเทศไทย

ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะยิ่งเวลาผ่านไป การใช้อำนาจของ คสช. ยิ่งดูเหมือนไร้ขอบเขต บ้านเมืองสงบราบคาบด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จัดการกับคนที่ออกมาต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ยังไม่นับเรื่องทุจริตที่คนทั่วไปไม่มีสิทธิตรวจสอบ รวมไปถึงละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ

“ตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics ด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics” คือข้อสังเกตของ เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน ผู้มาปักหลักอยู่ภาคอีสาน

ประเด็นที่เขาสนใจและได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการระดับโลก คือการเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยมีผลงานวิจัยที่ชื่อว่า Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste (2011) เป็นหมุดหมายสำคัญ

ในวันเวลาที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เรานัดหมายกับเดวิดเพื่อชวนคุยถึงอนาคตของสังคมไทย ภายใต้เงื่อนไขที่เขาบอกว่าเต็มไปด้วยความ ‘absurd’

David Streckfuss

นับตั้งแต่การยึดอำนาจของ คสช.ในปี 2557 คุณเห็นอะไรจากการบังคับใช้กฎหมายรูปแบบต่างๆ ของ คสช.

สิ่งที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ คือการพยายามเข้ามารื้อและล้มล้างระบบกฎหมายเดิม แล้วเขียนกฎหมายของตัวเองขึ้นมาใหม่ กระบวนการนี้ทำให้คำว่ากฎหมายไม่มีความหมาย ซึ่งเป็นสภาวะที่น่ากลัว

ในช่วงรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นก็มีผลกระทบจริง และเป็นการทำลายความชอบธรรมของกฎหมายจริง แต่คณะรัฐประหารในสมัยนั้น ก็ยังเปิดโอกาสให้คนอื่นขึ้นมาปกครองต่อ เหมือนทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วเริ่มต้นใหม่ เปิดโอกาสให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สุดท้ายคณะรัฐประหารก็ออกจากอำนาจไป ถ้าเปรียบเทียบต้องบอกว่าคณะรัฐประหารยุคนั้นทำตัวน่ารักกว่า รักษามารยาทมากกว่า

ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิใดๆ เลย เพราะอำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว กระทั่งคนๆ เดียวด้วยซ้ำ คือนายกรัฐมนตรี แต่การใช้คำว่านายกรัฐมนตรี ก็อาจไม่ถูกนัก เพราะคำว่านายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี คือคำที่มาจากโลกปกติ โลกประชาธิปไตย ใช้กับคนที่เข้าสู่ตำแหน่งผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่คณะรัฐประหารที่เข้ามายึดอำนาจแล้วแต่งตั้งคนนั้นคนนี้เข้ามาบริหาร

คุณบอกว่าการที่ คสช. เขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ ทำให้กฎหมายไม่มีความหมาย แล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้อยู่ตอนนี้ มีความหมายอะไรไหม

ผมไม่นับ (หัวเราะ) เขาทำประชามติก็จริง แต่ทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง โดยควบคุมเงื่อนไขต่างๆ ไว้หมดแล้ว ห้ามไม่ให้คนต่อต้าน ไม่ให้คนวิจารณ์ ถ้าต่อต้านหรือวิจารณ์ก็โดนจับ ดังนั้นผมไม่นับ

ถามว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วช่วยให้อะไรดีขึ้นไหม ผมว่าไม่ ในทางกลับกัน มันจะยิ่งอำนวยให้สิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแผ่ขยายไปมากขึ้น การที่เขายอมให้มีรัฐธรรมนูญ ก็เพราะเขารู้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่มีความหมาย เช่นเดียวกัน เขาจะยอมให้มีการเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อเขามั่นใจว่าการเลือกตั้งนั้นไม่มีความหมาย

แม้กระบวนการเลือกตั้งอาจทำให้เราเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น แต่คนที่ได้รับเลือกมา ก็อาจทำอะไรไม่ได้อยู่ดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อกีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ฉะนั้นจึงไม่มีความหมาย

ถ้าให้วิเคราะห์ ทำไม คสช. ถึงใช้วิธีการนี้ ทำไมถึงไม่น่ารักเหมือนคณะรัฐประหารปี 2549

ถ้าพูดกว้างๆ ก็อาจเพราะเขาเห็นว่าการเติบโตทางความคิดและจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนเริ่มมีมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ ของเขาเริ่มถูกคุกคาม ดังนั้นจึงต้องพยายามทำทุกทางเพื่อรักษามันไว้ แน่นอนว่าถ้าปล่อยให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย บทบาทและอำนาจของ คสช. จะยิ่งน้อยลง นี่คือการวิเคราะห์แบบกว้างๆ

แต่ถ้าให้วิเคราะห์ตามหลักการ จะวิเคราะห์ได้ยากมาก เพราะสิ่งที่ คสช. ทำอยู่ตอนนี้ มีแต่ความ ‘absurd’ เต็มไปหมด เป็นระบบที่คนทั่วไปเข้าถึงยาก อธิบายยาก และไม่เมคเซนส์ใดๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐตอนนี้ การขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของทรัมป์คือ absurd politics

David Streckfuss

ช่วยขยายความหน่อยว่า ‘absurd politics’ คืออะไร 

‘absurd politics’ แปลตรงตัวคือ ‘ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน’ ความผิดเพี้ยนของการเมืองไทยมีส่วนประกอบดังนี้

1. เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริง หมายถึงโครงสร้างเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นในสังคม ผิดเพี้ยน มั่วซั่วไปหมด และเส้นแบ่งที่ว่าก็ถูกลบหายไป ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริง

2. ถ้าเรานิยาม politics ว่าคือการใช้อำนาจสาธารณะ ก็หมายความว่าประเทศไทยตอนนี้ไม่มีการเมือง เพราะแนวคิดในการปกครองของ คสช. ได้ยึดความเป็นสาธารณะ (publicness) ในสังคมไทยไปแล้ว

3. เพราะไม่มีการเมืองและไม่มีอำนาจสาธารณะ จึงไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมได้ จะมีเพียงแค่ปรากฏการณ์บางอย่างที่ต่อเนื่องแต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ที่ คสช. ‘แสดง’ ให้ประชาชนรับรู้รับชมเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ พูดอีกแง่หนึ่งคือสังคมไทยถูกแช่แข็งแล้ว

4. การกระทำของ คสช. ไม่เพียงแต่เป็นการทำตามอำเภอใจ (act arbitrarily) อย่างเดียว แต่เป็นการกระทำแบบไร้จุดหมาย (act randomly) ด้วย

5. สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คสช. ไม่เคยโกหก เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งประหลาดๆ ที่เขาพูดและทำเป็นเรื่องจริง

โดยสรุปก็คือระบบการเมืองในสังคมไทยตอนนี้ผิดเพี้ยนไปหมด ฉะนั้น ถ้าถามว่าจะแก้ไขปัญหาการเมืองในประเทศไทยตอนนี้ยังไง ผมก็จะบอกว่าตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics ด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics

สิ่งที่ คสช. ทำตอนนี้ เปรียบเหมือนการแสดงละครเรื่องประชาธิปไตย โดยมีคณะละครตลกอันธพาลขึ้นมายึดเวที แล้วทำการแสดงเอง ปัญหาคือการแสดงละครของคณะนี้ไม่มีคุณภาพเลย ไม่ให้ความบันเทิงกับผู้ชมเลย ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังล็อคประตูโรงละคร แล้วบังคับให้ผู้ชมนั่งดูการแสดงอันน่าเบื่ออย่างทรมานต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าเรื่องจะจบตอนไหน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่ว่ากรณีของไทยหรือของสหรัฐอเมริกา ไม่มีอะไรเมคเซนส์เลย ผมไม่สามารถทำความเข้าใจได้เลยว่าคนบ้าๆ แบบนี้ยังสามารถรักษาตำแหน่งอยู่ได้ (หัวเราะ) เป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ยุคนี้อาจเป็นยุคของ ‘absurd politics’ ซึ่งประเทศไทยนำหน้าไปก่อนประเทศอื่นๆ อีกทั้งเป็นยุคที่เราต้องคิดทบทวนวิธีการสร้างขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบใหม่เพื่อตอบโต้กับ ‘absurd politics’ นี้ต่อไป ซึ่งผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าวิธีการนั้นคืออะไร

สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าเหนือความคาดหมาย ?

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ ยอมรับว่าผมเสียใจ ผิดหวัง และตกใจนิดหน่อยที่ประชาชนยังสามารถอดทนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันได้ขนาดนี้ คนไทยนี่อดทนจริงๆ นะ ผมพูดได้เลยว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมีเหตุการณ์ใดที่ absurd เท่านี้มาก่อน แต่คนไทยก็ยังอดทนกันได้

ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยคงอยู่ในภาวะคล้ายๆ ผม คือภาวะที่สิ้นหวังกับอนาคต ทุกวันนี้ผมดูข่าวไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่ใช่ข่าวด้วยซ้ำ มันเป็นเหมือนแค่ประกาศที่รัฐบาล คสช. สร้างขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรคืบหน้าเลย และเมื่อยิ่งรู้สึกสิ้นหวังหนักเข้าๆ ก็คิดว่าเอาเวลาไปทำเรื่องอื่นดีกว่า

ส่วนตัวผมเอง ตอนนี้ผมก็ไม่อยากเขียนอะไรเลย ไม่อยากคุยกับใครเลย (หัวเราะ) เพราะไม่รู้จะเขียนอะไร จะพูดอะไร นอกจาก it’s absurd. it’s ridiculous.

 David Streckfuss

ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ จุดนี้ถือเป็นจุดที่แย่ที่สุดหรือยัง

ผมคิดว่าตอนนี้ยังไม่ใช่จุดที่แย่ที่สุด มันจะแย่กว่านี้อีก ประเทศไทยตอนนี้เหมือนย้อนกลับไปสู่ยุคหนึ่งในอดีต คือเมื่อราวๆ สามทศวรรษก่อน แต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับยุคจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) เพราะ คสช. ไม่ได้ใช้ความรุนแรงแบบนั้น ไม่ได้จับคนเข้าคุกเยอะเท่าตอนนั้น แต่ถ้าเทียบกับยุคของพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) ก็ต้องบอกว่าแย่กว่า เหมือนเราอยู่ตรงกลางระหว่างสองยุคนี้  สถานการณ์ตอนนี้มันไม่มีอะไรให้ฉลอง ไม่มีอะไรให้รำลึก นอกจากไว้อาลัยให้กับประเทศไทยที่กำลังก้าวถอยหลังมากๆ

มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทุกประเทศจะมีวันแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ผมคิดว่าประเทศไทยยังไม่มีวันที่เป็นของประชาชนจริงๆ เพราะเพียงแค่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนถึงแก่ความตาย เช่น เหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 และเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประเทศไทยยังไม่เคยนำเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการรุนแรงต่อประชาชนมาลงโทษได้เลย

ถ้าเราดูกรณีของแคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือแอฟริกาใต้ อย่างน้อยเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายประชาชนก็มีการยอมรับว่าในอดีตเขาทำผิด แล้วก็มีกระบวนการเสาะหาความจริงในอดีตอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ถามว่าประเทศไทยเคยมีไหม ไม่เคยมี ไม่ว่ายุคสมัยไหน ผู้มีอำนาจทำให้คนตายไปเท่าไหร่ ความจริงนั้นก็จะตายไปพร้อมๆ กันด้วย

การชำระประวัติศาสตร์ การเสาะหาความจริง สำคัญอย่างไรกับสังคมและคนในสังคมนั้นๆ

ความจริงเปรียบเสมือนออกซิเจนในสังคม เป็นเหมือนอากาศ เป็นพื้นฐานของชีวิตและสังคมนั้นๆ ถ้าสังคมใดไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงความจริงบ้าง มัวแต่ปิดไว้ตลอด ไม่นานสังคมนั้นก็จะตาย ถามว่าเรายังใช้ชีวิตตามปกติได้ไหม ก็ได้ ก็แค่ใช้ชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราไม่พูดถึงความจริง หรือการเสาะหาความจริง เราจะไม่มีทางได้รับรู้มันเลยแม้แต่เรื่องเดียว ตั้งแต่ 6 ตุลาฯ 2519 พฤษภาฯ 2535 มาจนถึงเมษายน-พฤษภาคม 2553 เราไม่เคยชำระสะสางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง

ตั้งแต่ผมย้ายมาอยู่เมืองไทย จนถึงวันนี้ก็ 25 ปี ผมเฝ้าติดตามและสังเกตการณ์กลุ่มที่สนใจเรื่องการเสาะหาความจริงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความจริงเรื่องไหนก็ตาม ตั้งแต่เรื่องเขื่อน เรื่องสมัชชาคนจน จนกระทั่งมาถึงเรื่องเสื้อแดง ที่เริ่มมีความจริงบางอย่างปรากฏออกมา ผมก็เริ่มมีความหวังขึ้นมาเล็กๆ ว่า ประเทศไทยกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่ดีแล้ว ซึ่งถ้าโชคดีก็อาจจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนในอดีตด้วยซ้ำ แต่พอมีรัฐประหารครั้งล่าสุด แล้วสถานการณ์ล่วงเลยมาถึงตอนนี้ ยอมรับว่าความหวังเล็กๆ ที่เคยมีนั้นหายไปแล้ว

คิดว่าการยึดอำนาจของคสช. มีนัยยะพิเศษอะไรไหม

ผมคิดว่า คสช.กำลังเล่นพนันอยู่ ว่าถ้าเขาบังคับใช้อำนาจอย่างไม่หนักเกินไป พร้อมกับใช้รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้น พวกเขาก็น่าจะอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ ได้ และอาจทำให้ประชาชนลืมๆ ไปว่า คสช. เป็นผู้ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ประชาชนจะรู้สึกเช่นนั้นจริงหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า คสช. เดิมพันถูกไหม

David Streckfuss

ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทหารกับสถาบันกษัตริย์ คุณมองว่ารูปแบบความสัมพันธ์ในยุคนี้ กับยุคก่อนๆ ต่างกันอย่างไร 

ถ้ามองกว้างๆ ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 อาจมีการปะทะหรือขัดแย้งกันบ้าง แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ถ้าใช้คำแบบอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ก็คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แผ่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็ศักดิ์สิทธิ์ในแง่ที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ เพราะถูกทำให้เหนือคนธรรมดา ซึ่งตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ที่บอกว่าทุกคนมีความเสมอภาค มีสิทธิมีเสียงเท่ากัน

อย่างการใช้ ม.112 ที่บอกว่าเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน คำถามของผมคือ กฎหมายนี้ทำหน้าที่นั้นได้จริงหรือเปล่า ถ้าย้อนไปในสมัยก่อน กฎหมายหมิ่นฯ มักถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ชนชั้นผู้ปกครองทำลายกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ เขามักใช้ม.112 มาแย่งอำนาจกัน ส่วนประชาชนก็อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ในระยะหลังมานี้ จะเห็นว่าชนชั้นปกครองเริ่มนำกฎหมายนี้มาใช้กับประชาชนทั่วไป เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนตระหนักรู้มากขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น การใช้กฎหมายมาตรานี้ควรจะลดลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม มันสะท้อนว่าชนชั้นปกครองกลัว เมื่อเขากลัวก็ยิ่งใช้กฎหมายนี้มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะย้อนมาทำลายสถาบันที่พวกเขาพยายามปกป้องมาตลอด

สถาบันกษัตริย์ของหลายประเทศในยุโรปที่ยังอยู่ได้จนถึงวันนี้ เพราะเขาไม่ใช้วิธีบังคับให้คนรักและคนนับถือ ไม่ได้ทำให้เป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ เขามีกฎหมายหมิ่นฯ ก็จริง แต่แทบไม่ได้ใช้เลย

ผมเคยคุยกับทูตของสวีเดน ถามว่าคดีหมิ่นฯ ล่าสุดของสวีเดนคดีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจำไม่ได้ เพราะมันนานมากแล้ว เกินร้อยปีแล้ว ขณะที่ประชากรราวๆ 60-70% ก็ยังอยากรักษาสถาบันนี้ให้คงไว้ สถาบันก็เลยยังอยู่มาได้เรื่อยๆ ผมคิดว่าวิธีการแบบสวีเดนเข้าใจง่าย จัดการได้ดี

David Streckfuss

ตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ที่สถาบันกษัตริย์ยังอยู่ได้อย่างมั่นคง เขามีวิธีการจัดการหรือปรับตัวเองอย่างไร

หลายประเทศในยุโรปมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอยู่บ่อยๆ ในทุกๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นสถาบันก็จะรับรู้อยู่ตลอดว่าประชาชนคิดอย่างไรกับตัวเอง นี่คือการตรวจสอบชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ถ้าเรามองว่าสถาบันใดๆ ก็ตามที่ได้รับเงินจากประชาชน ควรได้รับการตรวจสอบจากประชาชน เหตุผลนี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายมาก ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบ สถาบันนั้นจะมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะต้องพยายามปรับตัวเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของประชาชน ถ้าไม่ปรับ สุดท้ายจะอยู่ไม่ได้

ถ้าดูตัวอย่างในยุโรป เช่น สวีเดน ประชาชนราว  30% คิดว่าทำไมเขาต้องจ่ายให้สถาบันด้วย แต่เพียงแค่ 30% ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หรืออย่างในสเปน มีช่วงหนึ่งที่คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หนักมาก เพราะกษัตริย์ของเขาไปยิงสิงโตที่แอฟริกา พอเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักเข้า เขาก็รู้สึกว่าเดี๋ยวคนจะยิ่งต่อต้านมากไปกว่านี้ เขาก็เลยยอมเปิดงบประมาณการใช้จ่ายของราชสำนักให้คนทั่วไปได้ดู ได้ตรวจสอบ คิดง่ายๆ ว่าเวลาที่เราจ่ายเงินให้ใคร เราก็อยากให้เขาทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่ทำ สุดท้ายคนจะรู้สึกว่ากลายเป็นภาระเปล่าๆ

หรืออย่างกรณีอังกฤษ ช่วงก่อนที่เจ้าชายแฮร์รี่จะกลับมา คนก็วิพากษ์วิจารณ์กันว่าไม่เหมาะสม บัคกิ้งแฮมพาเลซก็ออกมาพูดเลยว่า รู้ไหมว่าการที่คุณจ่ายเงินเท่ากับการดาวน์โหลดเพลงๆ เดียวต่อปี เงินจำนวนนั้นของประชาชนทุกคนรวมกัน สามารถทำให้สถาบันนี้อยู่ได้ ไม่แพงเลย (หัวเราะ) อะไรทำนองนี้ พูดง่ายๆ ว่าเขาพยายามทำให้คนไม่รู้สึกว่าเป็นภาระกับการมีสถาบันนี้อยู่ ส่วนกรณีของญี่ปุ่น เขาไม่มีกฎหมายหมิ่นมา 60 กว่าปีแล้ว แต่สถาบันเขาก็ยังอยู่ คนที่ไม่ชอบมีไหม ก็มี และเขาก็สามารถพูดได้ว่าไม่ชอบ ส่วนคนที่ชอบ ก็สามารถพูดได้ว่าตัวเองชอบ ทุกคนพูดได้หมด แล้วทุกวันนี้สถาบันก็ยังอยู่ได้ดี

ถ้ามองในแง่นี้ มันก็มีหลายวิธี มีตัวอย่างของหลายประเทศ ที่เมื่อก่อนสถาบันพยายามจะปิดกั้น แต่หันมาเปิดมากขึ้น เปิดให้คนวิจารณ์ เปิดให้คนตรวจสอบ ซึ่งช่วยให้สถาบันคงอยู่ได้ เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนแตะต้องไม่ได้

ในทางกลับกัน สถาบันใดที่ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้การบังคับ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ถือว่าอันตรายมาก เพราะมันปิดโอกาสที่จะให้คนได้แสดงความรู้สึกจริงๆ ออกมาได้ ลองนึกถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตเรา ถ้าเราต้องพยายามเก็บความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ เพราะไม่สามารถพูดได้ ไม่สามารถแสดงออกได้ เมื่อสะสมไว้เยอะ สุดท้ายมันจะระเบิด ในทำนองเดียวกัน สังคมก็เป็นแบบนั้น ถ้าคุณเอาแต่บังคับ หรือปิดกั้น สุดท้ายมันก็จะมีผลบางอย่างออกมา

คุณมองสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยในอนาคตอย่างไร

ผมคิดว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ อย่างน้อยๆ ทุกคนย่อมรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือบางเรื่องเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ ซึ่งมองไม่เห็น วัดไม่ได้ การวัดที่เป็นรูปธรรมคือการเปิดโอกาสให้คนพูดสิ่งที่อยู่ในใจ แต่ประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้คนพูด คนอาจคิดอยู่ในใจ แต่พูดออกมาไม่ได้ นี่คือประเด็น

ในสังคมไทย มีคนบางกลุ่มที่รู้ความจริง รู้สถานการณ์มากพอ และก็พยายามทำอะไรสักอย่าง แต่ก็มีบางกลุ่มที่รู้แล้ว แต่ยังนิ่งอยู่ได้ คำถามคือถ้าคุณรู้แล้วคุณนิ่งได้ยังไง ผมเห็นหลายคนที่บอกว่าเป็นห่วงอนาคตประเทศไทย แต่ออกมาพูดทีไรก็บอกอยู่คำเดียวว่า นิ่งก่อน นิ่งก่อน ถึงตอนนี้ไม่แน่ใจว่าเขานิ่งจนตายไปแล้วหรือยัง (หัวเราะ)

อีกกลุ่มก็คือ พวกที่ไม่รู้ และไม่สนใจด้วย ผมคิดว่าคนพวกนี้ก็คล้ายๆ กับคนที่เลือกทรัมป์ ซึ่งผมไม่สามารถเข้าถึงโลกแบบนั้นได้ ผมไม่สามารถเข้าใจได้จริงๆ เคยพยายามคุยกับหลายคนที่อยู่ในกลุ่มนี้ พอได้ฟังคำตอบที่เขาพูดมา ผมก็ไม่รู้จะไปยังไงต่อเหมือนกัน และไม่รู้จะเถียงยังไงด้วย เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องถูกหรือผิด แต่มันเหมือนอยู่คนละโลกกัน เป็นโลกที่มีชุดตรรกะ ค่านิยม ความเชื่อ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

มีเพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นนักกิจกรรมที่อยู่กรุงเทพฯ เคยเป็นเสื้อเหลืองและเห็นด้วยกับการรัฐประหารปี 2549 แต่ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 เขาก็ออกมาต่อต้าน คสช. พอผ่านไปสักพัก เขาก็บอกผมว่าเขาพร้อมจะย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว เพราะทนไม่ได้แล้ว เขามองไม่เห็นความหวังจริงๆ ว่าประเทศนี้จะดีขึ้นได้ยังไง

ถ้ามองแง่นี้ก็น่าหดหู่เหมือนกัน เพราะขนาดคนที่จะเป็นความหวังในอนาคต ก็ยังรู้สึกว่าไม่มีหวังในประเทศนี้แล้ว แล้วถ้าคนส่วนใหญ่รู้สึกแบบนี้กันหมด ก็หมายความว่าเราจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพไปอีกมากมาย คล้ายกับถูกดูดวิญญาณไปเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายคงไม่มีใครอยากอยู่ในประเทศซอมบี้แบบนี้ เพราะมันไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีความก้าวหน้าทางศิลปะ ปรัชญา หรือเรื่องใดๆ เลย

David Streckfuss

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save