fbpx
หลักนิติธรรมในโลกยุคใหม่ ในทัศนะของ David Kennedy

หลักนิติธรรมในโลกยุคใหม่ ในทัศนะของ David Kennedy

อาร์ม ตั้งนิรันดร์ เรื่อง

กานต์ สิทธิเกรียงไกร ถอดความ

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดโครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และโครงการเวิร์คชอปนักวิชาการรุ่นใหม่ ร่วมกับ Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยได้รับเกียรติจาก Professor David Kennedy ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศและด้านนิติปรัชญาที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็น Manley O. Hudson Professor of Law และเป็นผู้อำนวยการ IGLP มาร่วมทำเวิร์คชอป และอภิปรายถึงปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ในแวดวงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในระดับโลก

มุมมองของเขานอกจากจะช่วยเปิดภูมิทัศน์ใหม่ๆ ในทางกฎหมายแล้ว ยังช่วยให้เราเห็นภาพของกระบวนการยุติธรรมของไทยในมิติที่หลากหลายขึ้นด้วย

“หากนักเรียนได้มาเห็นวิธีที่คนคิดเกี่ยวกับกฎหมายที่แตกต่างกันไป เขาจะได้เปรียบเทียบวิธีคิดในอดีตกับปัจจุบัน และจะตระหนักว่าเราสามารถคิดถึงกฎหมายในอนาคตแตกต่างจากเดิมได้เหมือนกัน สามารถมองภาพสังคมโลกในอนาคตที่เปิดกว้าง รวมถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้”

หลักนิติธรรมในโลกยุคใหม่เหมือนหรือต่างจากอดีตอย่างไร อะไรคือข้อถกเถียงใหญ่ๆ ที่นักกฎหมายระดับโลกกำลังให้ความสำคัญ อะไรคือปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในประเทศโลกที่สาม รวมถึงประเทศไทย

หาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้

David Kennedy

นักวิชาการในวงการกฎหมายจำนวนมาก ต่างเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนกฎหมายแบบดั้งเดิม อยากให้คุณช่วยอธิบายเกี่ยวกับ หลักสูตร IGLP ว่าหลักสูตรดังกล่าวเป็นนวัตกรรมใหม่ในการเรียนการสอนกฎหมาย และการฝึกฝนบุคลากรทางกฎหมาย ที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมๆ อย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกว่า เป็นเรื่องปกติที่นักวิชาการไม่ว่าจะในศาสตร์ใด จะพยายามนำเสนอความคิดและมุมมองใหม่ ๆ รวมถึงตั้งคำถามต่อเนื้อหาวิชาที่สอนกันมาแต่เดิม นี่เป็นธรรมชาติของนักวิชาการ ไม่ว่าจะในสาขาใด ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงสังคมศาสตร์

สำหรับสถาบัน IGLP ตอนนี้กำลังเข้าสู่ปีที่สิบ เราสร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ดเอง เหตุผลที่เกิดโครงการนี้คือวิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ.2008 ในตอนนั้นพวกเรารู้ว่ามีสิ่งหนึ่งในวงวิชาการที่ควรจะมีคนทำ แต่ยังไม่มีคนริเริ่มทำ นั่นก็คือ ยังไม่มีใครช่วยกันมองปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นในระดับโลกว่า แต่ละส่วนของปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน กฎหมาย ในแต่ละที่ในโลกนั้นเชื่อมโยงเป็นภาพใหญ่อย่างไร นักวิชาการแต่ละคน แต่ละศาสตร์ แต่ละพื้นที่ ต่างมองอยากแยกส่วน ไม่มีใครมองอย่างเชื่อมโยงเป็นภาพใหญ่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเราอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกันมาก

เราพบกับวิกฤติการเงินที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ล้มครืน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจโลก แต่ในวงวิชาการ เรายังคิดกันแบบแยกส่วน เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ยุโรป ไปจนถึงไทย หากแต่ละคนต่างวิจัยเฉพาะกฎหมายของตัวเองหรือมองเฉพาะปัญหาของประเทศตัวเอง ยังไม่มีใครริเริ่มเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อเห็นภาพใหญ่

ความท้าทายคือเราจะทำอย่างไรที่จะสร้างกลไกและกติกาของโลก ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างมันขึ้นมา เราไม่สามารถทำได้โดยลำพัง เรายังไม่รู้วิธี แต่เราจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนักวิชาการจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก เพื่อจะได้เรียนรู้ว่ากลไกทางกฎหมายของพวกเขาเป็นอย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากกันและกันได้บ้าง

ผมไม่เคยเห็นความพยายามดึงเอาองค์ความรู้ทั่วโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน มันแตกต่างไปจากการที่เราสร้างสถาบันและองค์กรต่างๆ ขึ้นมาทั่วโลก ตอนนี้เรายังไม่มีคำตอบต่อความท้าทายในระดับโลกหลายอย่าง แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์ในการสร้างพื้นที่ทางวิชาการให้คนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและช่วยกันต่อชิ้นส่วนให้เห็นภาพปัญหาในระดับโลกที่ใหญ่และชัดขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เราพบในช่วงปี ค.ศ.2008-2009 คือหากเรามองไปยังนโยบายระดับโลกต่างๆ ไปจนถึงนโยบายในแต่ละภูมิภาค เราจะพบว่าเสียงส่วนใหญ่ที่ให้กำเนิดนโยบายเหล่านั้น มักมาจากตะวันตก แต่เสียงของพื้นที่อื่นๆ ในโลกยังไม่ดังพอที่จะมีบทบาทหรือสร้างอิทธิพลในวงสนทนาทางวิชาการในระดับโลก นี่เป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะในวงวิชาการหรือการวางนโยบาย ที่เสียงจากตลาดที่กำลังขยายตัวและประเทศกำลังพัฒนานั้นเบาเกินกว่าจะได้ยิน

ในฐานะสถาบันการศึกษา พวกเราอยากจะดูว่าเราสามารถช่วยตอบโจทย์เหล่านี้ได้หรือไม่ เริ่มแรกสุดเลยคือเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกกว้างข้างนอกบ้าง เพราะพวกเรามาจากตะวันตกกันหมด ดังนั้นเราต้องก้าวออกไปเรียนรู้โลกข้างนอกที่ไม่ใช่ตะวันตกด้วย

เราพบปะกับปัญญาชนรุ่นใหม่จากประเทศที่เคยถูกจัดว่าเป็นโลกที่สาม แต่คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยได้รับการศึกษาจากโลกที่หนึ่ง พวกเขามีมุมมองและสามารถแสดงความคิดได้ในระดับสากล และพวกเขาได้พบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนจากทั่วโลก ถ้าคุณไป Berkley หรือมหาวิทยาลัยใน London คุณจะพบกับนักศึกษาจากทุกสารทิศ แต่เมื่อพวกเขาแยกย้ายกลับบ้านไป พวกเขาจะไม่ได้พบใครที่ไม่ใช่คนในประเทศของพวกเขาอีก คนกลุ่มนี้เมื่อกลับบ้านจะเติบโตและเริ่มมีความซับซ้อนในความคิด แต่พวกเขาจะไม่มีโอกาสได้พบกลุ่มคนซึ่งเผชิญกับสภาวะเดียวกันในประเทศอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเหมือนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ และคนที่เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายในประเทศกำลังพัฒนา เราจึงคิดว่าเราอยากจะช่วยผลักดันให้นักวิชาการในตะวันตกได้ฟังเสียงของนักวิชาการจากที่อื่นๆ ขณะเดียวกันนักวิชาการรุ่นใหม่ในแต่ละประเทศ ก็จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมมุมมองแก่กันและกันมากขึ้น

ถามว่าทำไมเราต้องทำเช่นนั้น เราคิดว่าเราสามารถช่วยดึงคนที่น่าสนใจให้เข้ามาเจอกัน ให้คนได้เข้ามาในโครงการที่มีชื่อฮาร์วาร์ดอยู่บนนั้น แต่สิ่งสำคัญคือพวกเขาได้มาพบกัน แล้วสามารถสร้างสรรค์ความคิดหรือมุมมองใหม่อะไรบางอย่าง เราทำโครงการนอกภูมิภาคตะวันตก เราทำเวิร์คชอปของเราแล้วในแอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รวมถึงการร่วมมือกับ TIJ ที่กรุงเทพฯ

เราเชื่อว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสำหรับบ่มเพาะผู้นำในรุ่นต่อไปจะดีขึ้น หากว่านักวิชาการและอาจารย์รุ่นใหม่มีคุณภาพมากขึ้น พวกเขาจะเก่งขึ้นจากการได้พบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนนักวิชาการรุ่นใหม่จากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งมาจากระบบกฎหมายที่ต่างกัน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้โครงการของเราแตกต่างจากที่อื่นๆ ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีคนทำมาก่อน กฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาศึกษาบ่มเพาะให้เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในการเรียนกฎหมายก็คือ นักเรียนกฎหมายในไทยจะบ่มตัวเองเข้ากับระบบกฎหมายในไทย เช่นเดียวกับนักเรียนกฎหมายในจีนที่ต้องศึกษาระบบกฎหมายของจีน ในบางครั้งอาจมีการศึกษาเปรียบเทียบอยู่บ้าง แต่การเรียนกฎหมายมีความยึดโยงอย่างมากกับความเป็นชาติ และความโดดเดี่ยวและแยกส่วนเช่นนี้ก็แทรกซึมอยู่ในการก่อตัวทางความคิดของกฎหมายของนักศึกษา แต่ในความเป็นจริงของสังคม กฎหมายในแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีปฏิสัมพันธ์กับท้องถิ่นอื่น และอาจส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ด้วย ดังที่เราเห็นวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ก็สั่นสะเทือนทั้งโลก

ดังนั้น โจทย์คือเราจะทำให้การศึกษากฎหมายเริ่มมองภาพกว้างและมองภาพใหญ่ขึ้นได้อย่างไร การแก้ไขปัญหามากมายในสังคมโลกมันไม่มีคำตอบวิเศษลอยมาจากหนังสือเล่มไหนหรอก แต่ต้องทำโดยการดึงคนเข้ามาอยู่ด้วยกันและให้เขาได้เรียนรู้จากกันและกัน

เคยได้ยินด้วยว่า หลักสูตรของ IGLP เป็นหลักสูตรที่รวบรวมความรู้จากหลากหลายศาสตร์ และไม่ใช่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว

ถูกต้อง เพียงแต่เราเริ่มการเรียนรู้จากตัวกฎหมายก่อน ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับเรื่องอื่นๆ ในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ในบางประเทศกฎหมายอาจแปลกแยกจากความรู้สึกของผู้คนในสังคม ในบางประเทศกฎหมายก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ผมอยากเล่าให้ฟังว่าเราพยายามนำเรื่องราวอื่นๆ เข้ามาใน IGLP เราพยายามให้มีนักมานุษวิทยา นักประวัติศาสตร์ ไปจนถึงนักสังคมศาสตร์ ให้ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชากฎหมาย เพราะการที่จะเข้าใจกฎหมายได้ คุณจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของกฎหมายในประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย

David Kennedy

เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณสอนอะไรในรายวิชา Law and Economic Development และ Global Governance ที่ฮาร์วาร์ด

ตอนนี้ผมสอนวิชา Law and Economic Development ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจข้อถกเถียงเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ และเข้าใจบทบาทของกฎหมายในการพัฒนาประเทศ

จริงอยู่ว่านโยบายเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ล้วนแต่ใช้ภาษาทางเศรษฐศาสตร์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านโยบายเหล่านั้นถูกผลักดันโดยนักเศรษฐศาสตร์ หรือใช้เศรษฐศาสตร์เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา หากแต่เป็นนักนโยบายที่รู้จักใช้ถ้อยคำทางเศรษฐศาสตร์ต่างหาก ที่ผลักดันสิ่งที่เขาต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้น ผมจึงต้องการสอนให้นักศึกษาเข้าใจศัพท์เศรษฐศาสตร์เหล่านี้ และข้อถกเถียงในวงการเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา

ผมพยายามทำให้คนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ได้เข้าใจความคิดพื้นฐาน และเข้าใจว่าคนกำลังใช้ศัพท์แสงเหล่านี้อย่างไรเพื่อสนับสนุนแนวคิดที่พวกเขาต้องการ การทำความเข้าใจการทำงานของศัพท์แสงในนโยบายต่างๆ ซึ่งหลายครั้งเป็นการใช้ที่ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์อย่างละเอียด แต่กลับแพร่หลายและมีอิทธิพลสูงมากในสังคม ผมพยายามเน้นไปที่แง่มุมของประวัติศาสตร์การพัฒนา และชวนทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงความหมายของแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาในแต่ละยุคสมัยด้วย

ตัวอย่างเช่น ในช่วงทศวรรษ 50-60 วงการนโยบายทั่วโลกเชื่อว่า การพัฒนาคือการทำอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution Industrialization) ต่อมาในทศวรรษที่ 70 เกิดวิกฤตหนี้ในลาตินอเมริกา ทำให้เกิดแนวความคิดที่ทรงอำนาจที่สุดที่เรียกว่า Neo-Liberalism ธุรกิจและเศรษฐกิจเติบโต แต่แล้วก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกอยู่ดี เราต้องการศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นในภาคนโยบาย เพราะเหตุใดทุกคนจึงมั่นใจในวิธีการหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ต่อมากลับพบว่าตนไม่ได้เข้าใจอะไรเลยจนเกิดเป็นวิกฤตขึ้น เราจะศึกษาแนวคิดการพัฒนาเหล่านี้ผ่านแนวคิดกฎหมายในแต่ละยุค เพื่อทำความเข้าใจว่าการพัฒนาและกฎหมายในแต่ละยุคสมัยนั้นเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ผมยังสอนวิชา Global Governance โดยเป็นการสอนจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ บนหลักคิดว่ากฎหมายมีความเกี่ยวข้องกับสังคมระดับโลก และไม่มีศาสตร์ใด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หรือเศรษฐศาสตร์ ที่สามารถเข้าใจความเป็นไปทั้งหมดของโลกได้ ศาสตร์ที่ยกมาจะเข้าใจเพียงเสี้ยวหนึ่ง แต่ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมดแน่นอน

ผมจึงจะตัดภาพกลับไปเมื่อ 150 ปีที่แล้ว และทำความเข้าใจว่าความเข้าใจของผู้คนต่อกฎหมายและสังคมโลก มีความแตกต่างจากความเข้าใจของคนยุคนี้อย่างไร สิ่งที่ผมพยายามแสดงให้นักศึกษาเห็นคือมุมมองที่คนเรามีต่อกฎหมายและสังคมโลกในตอนนี้ มันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 150 ปีที่แล้วอย่างไร และหากนักเรียนได้มาเห็นวิธีที่คนคิดเกี่ยวกับกฎหมายที่แตกต่างกันไป เขาจะได้เปรียบเทียบวิธีคิดในอดีตกับปัจจุบัน และจะตระหนักว่าเราสามารถคิดถึงกฎหมายในอนาคตแตกต่างจากเดิมได้เหมือนกัน สามารถมองภาพสังคมโลกในอนาคตที่เปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ต่างๆ ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้

ผมพยายามทำให้นักศึกษาได้เห็นว่าการพัฒนาที่คนเคยคิดว่าดี หรือมีความตั้งใจที่ดี บางครั้งมันนำมาสู่ปัญหาในตอนนี้อย่างไร เราไม่ปฏิเสธว่าที่ผ่านมาทุกคนพยายามจะแก้ไขปัญหา ประเด็นคือเราทุกคนก็ล้วนแต่ทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ นักศึกษาในยุคนี้ คิดเกี่ยวกับ ‘ภารกิจของยุคสมัย’ (project of the generation) ของพวกเขามากขึ้น ผมสอนวิชานี้มาค่อนข้างนาน ทุกๆ ปีในคาบสุดท้าย ผมจะถามคำถามว่าพวกเขามองโลกปัจจุบันอย่างไร? พวกเขาคิดว่าภารกิจของพวกเขาคือการออกไปปรับและเสริมโครงสร้างที่ดีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือพวกเขาคิดว่ากลไกระดับโลกที่เรามีอยู่นั้นไร้ประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างเก่าทิ้ง และคิดสร้างสรรค์กันใหม่อีกครั้ง?

ช่วงสองปีที่ผ่านมา ผมพบว่านักเรียนส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าตอนนี้กลไกต่างๆ เสื่อมสภาพ และการคิดสร้างสรรค์กันใหม่คือภารกิจของคนรุ่นใหม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขารู้วิธีแก้ปัญหา ตัวนักเรียนเองต่างก็รู้ว่าพวกเขามีข้อจำกัดในตัวเอง และมีความยากและความท้าทายมากมายรออยู่ข้างหน้า

ผมมองว่านี่เป็นความหวัง เพราะอย่างน้อยตอนนี้เรามีชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ขณะเดียวกันพวกเขาเองก็ตระหนักถึงความยากลำบากที่จะต้องเจอ แต่พวกเขารู้ว่าเขาไม่สามารถอาศัยวิธีการเดิมๆ ได้อีกต่อไป แต่ต้องเริ่มค้นหาวิธีใหม่ๆ ที่ต่างจากที่เคยลองกันมา

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เคยกล่าวไว้อย่างเฉียบคมว่า เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาของสังคม บางครั้งตัวนักกฎหมายเองนั่นแหละที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ใช่ทางออกของปัญหา คุณคิดอย่างไรกับคำพูดดังกล่าว จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับนักกฎหมายและผู้ทำงานเชิงนโยบายทั่วโลก

ในเบื้องต้น ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจว่า การบริหารราชการแผ่นดินในทุกประเทศทั่วโลกตอนนี้ ต่างขับเคลื่อนโดยใช้กลไกทางกฎหมาย คุณไม่สามารถมีระบบการเงินที่ดีได้ หากไม่มีระบบกฎหมายมารองรับ ดังนั้นทุกหนทุกแห่งจึงมีกฎหมายเป็นจำนวนมาก ปัญหาสังคมต่างๆ จึงมักมาในรูปของปัญหาการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางกฎหมายด้วย

เมื่อพูดถึงหลักนิติธรรม (rule of law) คนพูดมักจะแยกเรื่องกฎหมายออกจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ รวมทั้งเรื่องนโยบายสาธารณะต่างๆ และมักมองว่าเราต้องการกฎหมาย เพียงเพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยในสังคม ผมคิดว่านี่เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายและหลักนิติธรรม

กฎหมายมีบทบาทในฐานะที่เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ของโลก รวมไปถึงการวางโครงสร้างสังคมและครอบครัว คุณไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ถ้าคุณไม่ทำตามกฎหมาย มันมีกฎเกณฑ์และกลไกตามกฎหมายที่คุณต้องปฏิบัติตามในทุกมิติของชีวิต

เมื่อทุกสิ่งต่างถูกกฎหมายกำกับ จึงกลายเป็นว่าตัวกฎหมายเองก็มีส่วนเกี่ยวโยงกับทุกสิ่งที่เราไม่ชอบด้วยเช่นกัน นักกฎหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นทางออกของปัญหาด้วย คุณจะพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็มีรากฐานมาจากโครงสร้างกฎหมายด้วย ขณะเดียวกันวิธีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องอาศัยการปฏิรูปตัวกฎหมายต่างๆ ด้วยเช่นกัน นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสังคมในโลกปัจจุบันที่เราควรเข้าใจ

ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะไม่มีส่วนที่เลวทั้งหมดหรือดีทั้งหมด และจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวว่า กฎหมายควรเป็นอย่างไร ดังนั้นคำถามก็คือ ในทุกๆ การตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เราจะทำอย่างไรให้ผู้ที่มีอำนาจในมือและตัวละครอื่นๆ ในสังคม ตระหนักรู้ถึงความเป็นไปได้มากมายในการออกแบบกฎหมาย และตระหนักว่า กฎเกณฑ์ที่ต่างกันจะให้ผลที่เป็นคุณและโทษแตกต่างกันไป ยิ่งเราทำให้คนตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของกฎหมายในการออกแบบนโยบายสาธารณะ เราก็จะได้เริ่มแลกเปลี่ยนกันว่าเนื้อหาของกฎหมายที่ดีควรจะเป็นอย่างไร

 

David Kennedy

อะไรคือข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของกฎหมายในเวทีระดับโลกในตอนนี้ โดยเฉพาะบทบาทของกฎหมายในประเทศ ‘กำลังพัฒนา’

ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่เข้าใจในระดับโลก คือเรื่องพื้นฐานว่ากฎหมายนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อโลกในปัจจุบัน หากคุณเข้าใจและตระหนักว่ากฎหมายนี่แหละคือรากฐานของทุกๆ การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการเมือง และเข้าใจว่าในสภาวะโลกาภิวัฒน์เช่นนี้ กฎหมายจะมีลักษณะที่แตกต่างและหลากหลาย จะมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์มากกว่าหนึ่งข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องๆ หนึ่ง รวมถึงการที่กฎหมายของแต่ละสังคมจะเคลื่อนมามีปฏิสัมพันธ์และส่งอิทธิพลต่อกัน

สิ่งที่เราควรคุยกันมากขึ้นในระดับโลกก็คือ เราควรมองกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มากมายและหลากหลายในโลกอย่างไร ในฐานะที่กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการเมืองในปัจจุบัน รวมทั้งควรจะมองโครงสร้างอำนาจที่เกี่ยวข้องอย่างไร ใครหรือพื้นที่ใดเป็นแหล่งผลิตกฎเกณฑ์ที่เป็นหลักของโลก เช่น เราพบว่ากฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจจำนวนมากมีแหล่งกำเนิดมาจากเมืองไม่กี่เมือง เช่น ลอนดอน วอชิงตัน นิวยอร์ก ฮ่องกง และกลายเป็นว่าประเทศอื่นๆ ต่างได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ แต่เราไม่มีกลไกที่จะให้ผู้ออกกฎเกณฑ์ได้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ เลย

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่สอดคล้องระหว่างกลุ่มผู้ออกกฎหมายในที่หนึ่ง กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายในอีกที่หนึ่ง นี่คือสิ่งที่เรากำลังถกเถียงกันในระดับโลกว่าจะทำอย่างไรกับกลไกทางกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ และถูกมองว่าเป็นผลผลิตของชนชั้นนำจากพื้นที่ไม่กี่แห่ง ที่ไม่ได้เอาความรู้สึกนึกคิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆ หรือประชาชนทั่วไปมาไตร่ตรองเสียก่อน

นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศของผม (สหรัฐอเมริกา) ในวันนี้ ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าพวกเขาไม่ถูกรับฟัง หรือไม่ได้รับการปกป้องผลประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่กระทบต่อชีวิตพวกเขา และยิ่งเป็นเรื่องจริงขึ้นไปอีกเมื่อคุณพิจารณาความกังวลนี้ในระดับโลก

สำหรับคำถามเรื่องบทบาทของกฎหมายในประเทศ ‘กำลังพัฒนา’ เรื่องนี้เรามีหลายคำถามที่น่าสนใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางทีเรื่องที่ผมจะเล่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับบริบทของประเทศไทยอยู่บ้าง ก็คือกรณีของการอาศัยหลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ

ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง เริ่มก่อร่างสร้างองค์กรและสถาบันทางกฎหมายออกมามากขึ้น เรามีสถาบันยุติธรรมต่างๆ เช่น ศาลต่างๆ มากมาย เราพูดถึงการกำกับดูแลเศรษฐกิจผ่านกลไกของกฎหมาย มีการใช้อำนาจกฎหมายในการตรวจสอบผู้มีอำนาจและจัดการกับปัญหาการทุจริต กฎหมายกลายมาเป็นหัวใจของสังคมสมัยใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ ผู้มีอำนาจในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต่างก็ต้องการกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองหรือพวกพ้อง สถาบันทางกฎหมายต่างๆ ไม่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม หรือเพื่อประโยชน์แห่งการต่อต้านการทุจริตโดยแท้จริงอย่างที่เคยคาดหวังไว้ในแต่ละประเทศ  เราต่างพบว่าระบบกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันของเหล่าชนชั้นนำ

ความน่ากลัวอยู่ที่ว่า เมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย ประชาชนจะไม่เชื่อว่ากฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาประโยชน์ของแต่ละคนได้อย่างไร หรือไม่เชื่อว่ากฎหมายจะนำมาใช้บังคับได้อย่างที่เขียนไว้ เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่กฎหมายพูดเรื่องของการปราบปรามทุจริต ทุกคนก็จะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือฝ่ายที่หลุดจากอำนาจเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ถูกไล่ล่าจากกฎหมายโดยอีกฝ่าย

ดังนั้น ความท้าทายแรกของหลายๆ ประเทศ คือการพัฒนากลไกและค่านิยม ให้บรรดาองค์กรในประเทศสามารถทำงานตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายอย่างที่เขียนไว้จริงๆ ความท้าทายอย่างที่สองคือ การป้องกันไม่ให้เหล่าองค์กรที่กล่าวมา กลายมาเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำบางกลุ่มที่จะนำมาใช้ต่อสู้กับอีกฝ่าย ซึ่งอาจทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธาต่อระบบที่เป็นอยู่ทั้งหมดได้

ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังทำร่วมกับ TIJ คือพยายามทำให้คนเข้าใจว่าพลังของกฎหมายนั้นสามารถนำมาใช้ได้ในหลากหลายทาง เราไม่ได้ต้องการจะหาคำตอบที่ดีที่สุด แต่คำตอบใดๆ ที่ได้จากกฎหมายนั้นต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องสามารถทำความเข้าใจถึงที่มาของทางเลือกต่างๆ

ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า กฎหมายเป็นเรื่องของทางเลือกทางนโยบาย เราจำเป็นต้องเปิดทางเลือก รวมถึงการคิดและจินตนาการถึงทางเลือกทางนโยบายใหม่ๆ ซึ่งจะนำมาออกเป็นกฎหมายเพื่อตอบโจทย์ของประชาชน ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันในระยะยาว มันไม่มีคำตอบที่ง่ายในการตอบโจทย์ต่างๆ แต่ละสังคมต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง และผมไม่เชื่อว่ามีคำตอบที่ถูกต้องที่เราจะลอกมาจากประเทศอื่นๆ หรือประสบการณ์ในระดับโลกแล้วมาใช้ได้ทันที

แต่ในบางครั้ง หากเราพิจารณาตัวกฎหมายและระบบกฎหมายเอง เราจะพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะพบวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

นี่แหละคือความท้าทาย เพราะทุกโจทย์ของสังคมไม่มีคำตอบง่ายๆ หรอก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องการจะเน้นย้ำคือ มีทางเลือกมากมายอยู่ข้างหน้าเรา เพียงแต่เรามักขาดจินตนาการ หลายทางเลือกเราไม่รู้ว่ามี หรือไม่เคยคิดถึง

วิธีคิดที่ผิดแบบหนึ่งคือ เมื่อใดก็ตามที่สังคมเกิดปัญหาบางอย่าง เรามักจะคิดว่าเราต้องวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจ ให้คนจากระดับบนออกกฎหมายมาแก้ไขปัญหานั้นๆ บางครั้งวิธีคิดแบบนี้ก็ได้ผล แต่นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียวของการทำความเข้าใจความสำคัญของกฎหมายต่อสังคม สิ่งที่เรากำลังพยายามทำคือเสนอวิธีคิดแบบใหม่ โดยชวนให้ผู้คนถอยมาสักก้าวหนึ่งแล้วตั้งคำถาม

ก่อนจะไปคิดถึงว่าเราควรมีกฎหมายฉบับใดๆ ออกมา ควรต้องถามก่อนว่า อะไรเป็นรากของปัญหา อะไรทำให้ปัญหาต่าง ๆ มันเติบโตมาได้ถึงระดับนี้ ใครมีส่วนเกี่ยวข้องในปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่บ้าง และใครได้ประโยชน์จากการคงอยู่ของปัญหานี้ กฎหมายอยู่ตรงไหนในปัญหาเหล่านี้ กฎหมายเป็นตัวยึดโยงโครงสร้างที่อยุติธรรมจนเกิดเป็นปัญหาใช่หรือไม่

หากเราถามคำถามเหล่านี้ เราก็มีโอกาสไปถึงกฎเกณฑ์พื้นฐาน และสุดท้ายจึงจะสามารถปรับกฎเกณฑ์พื้นฐานที่เป็นตัวพยุงโครงสร้างเหล่านั้น เพื่อนำมาซึ่งความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ มากกว่าที่จะถามหากฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมาโดยผู้มีอำนาจ ซึ่งอาจไม่ถูกตราขึ้นเสียที หรือไม่สามารถบังคับให้เป็นไปได้ในความเป็นจริง

นี่คือสิ่งที่เราพยายามส่งเสริมให้ผู้นำรุ่นใหม่ที่มาอบรมในหลักสูตร TIJ-IGLP Workshops on the Rule of Law and Policy ได้ฝึกคิดและตั้งคำถามเหล่านี้ ให้เขาได้เข้าใจว่าทุกวันนี้กฎหมายมีบทบาทสำคัญในปัญหาเหล่านี้อย่างไร ที่กฎหมายเป็นแบบนี้อาจเพราะกลุ่มผลประโยชน์บางอย่างต้องการให้กฎหมายเป็นเช่นนี้ แต่กฎหมายไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้ก็ได้ กฎหมายอาจเขียนอีกแบบที่ให้ประโยชน์กับคนชนบท กับแรงงาน หรือกับผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้

หากมองในแง่นี้ จะเห็นว่ากฎหมายที่เป็นอยู่คือเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราไม่จำเป็นต้องหาเครื่องมือที่ว่านี้จากที่ที่เราไม่รู้จัก ไม่ต้องคิดแต่จะหาหรือออกกฎหมายใหม่ มีทางเลือกมากมายที่เราอาจไม่ได้คิดตอนออกกฎหมายเดิมครั้งแรก เป็นไปได้ไหมที่เราอาจหวนกลับมาทบทวนทางเลือกเหล่านั้น เราต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลถึงเหตุผลที่เลือกทางหนึ่ง แต่ไม่เลือกอีกทางหนึ่ง และเราต้องคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเลือกทางใหม่ที่ตอบโจทย์ของสังคมมากขึ้น

คุณคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายและนโยบายต่างๆ อะไรที่จะเป็นตัวกำหนดว่านโยบายใดดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุดต่อสังคม

เมื่อผู้คนนึกถึงกฎหมาย เรามักจะคิดกันว่า เบื้องหลังกฎหมายคืออำนาจ แน่นอนว่าวิธีคิดเช่นนี้มีประโยชน์ในตัวมันเอง แต่หากคุณมองลงไปให้ลึก คุณจะพบว่าเบื้องล่างของอำนาจก็มีกฎหมายเป็นฐานเช่นกัน กฎหมายเป็นสิ่งที่จำแนกระหว่างอำนาจกับสิ่งที่ไม่มีอำนาจ กฎหมายทำให้บางอย่างเข้มแข็งและบางอย่างอ่อนแอ ดังนั้น กฎหมายเป็นตัวสร้างและประกอบสังคมขึ้นมา

ผมพยายามหลีกเลี่ยงความคิดที่ว่ากฎหมายเป็นเปลือกที่ครอบคลุมอำนาจ เพราะว่ากฎหมายนั้นปรากฏตัวอยู่ในทุกที่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มันไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนมุมมองของคน กระทั่งนำเสนอมุมมองอื่นๆ แต่สิ่งแรกที่สามารถทำได้คือชี้ให้เห็นความสำคัญของสถาบันทางกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไปในทุกสังคม และสถาบันเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างสังคมแบบหนึ่ง แทนที่จะเป็นอีกแบบ

ผมต้องการย้ำเน้นว่า กฎหมายที่เป็นอยู่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแบบที่ดีที่สุด วลีที่ว่า ‘สิ่งที่ดีที่สุด (best practice)’ เป็นสิ่งที่พึงระวัง เพราะใครก็ตามที่เป็นผู้ชนะในการก่อร่างสร้างสังคม ย่อมเชื่อว่าสิ่งที่เขาสร้างขึ้นคือ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ ส่วนฝ่ายที่แพ้ก็จะมองว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้

เราจำเป็นต้องตระหนักว่ามันมี ‘ทางเลือก’ และไม่ใช่ทางเลือกระหว่างสิ่งที่ดีที่สุดกับแย่ที่สุด ทางเลือกมันมีเยอะและหลากหลายมาก แต่ละทางเลือกมีผู้ชนะและผู้แพ้แตกต่างกัน แต่ละทางเลือกจินตนาการถึงผลลัพธ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน เช่น สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นมิตรกับเมือง หรือเป็นมิตรกับชนบท เหล่านี้เป็นเรื่องของทางเลือกทั้งสิ้น

คำว่า ‘ทางเลือก’ หมายความว่าไม่มีคำตอบที่ถูกต้องหรือคำตอบที่ดีที่สุด มันอยู่ที่คุณเลือกอะไร คุณต้องการอะไร ดังนั้น คุณต้องคุยกันก่อนว่าผลลัพธ์ที่คุณต้องการคืออะไร และคุณจะสร้างมันผ่านกฎหมายได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเวลาคิดถึงหลักนิติธรรม ก็คือทำให้คนตระหนักว่ามีทางเลือกอะไรในกฎหมายบ้าง กฎหมายเป็นตัวสะท้อนทางเลือกของคนที่มีอำนาจในตอนนั้นว่าเขาเลือกอะไรมา ถ้าคุณชอบทางเลือกที่เขาเลือกไว้ ก็บังคับให้ผู้มีอำนาจต้องทำตามนั้น ถ้าคุณไม่ชอบ คุณก็ต้องเริ่มจินตนาการกฎหมายที่ควรจะเป็นกันใหม่ แต่คุณจะเริ่มจินตนาการได้ ก็ต่อเมื่อคุณทิ้งความคิดว่า มีคำตอบที่ถูกต้องหรือดีที่สุด หรือมีคำตอบจากต่างประเทศหรือในระดับโลกที่คุณไปลอกมาได้ทันที

หากเรามองว่ากฎหมายมีบทบาทในทุกที่ทาง เช่นนี้แล้วนักกฎหมายควรจะมีบทบาทมากขึ้นในสังคม หรือควรจะเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่ใช่นักกฎหมายเข้ามาจัดการออกกฎหมาย

ต้องเข้าใจว่าการที่กฎหมายมีบทบาทในทุกที่ทางของสังคม ไม่ใช่เพราะตัวนักกฎหมายเอง กลไกที่ทำให้ทุกอย่างถูกครอบงำโดยเครื่องมือทางกฎหมาย เกิดจากผู้คนในรัฐบาล ในภาคธุรกิจ และในสังคมทั่วไป นักกฎหมายไม่ใช่คนที่นำกฎหมายเข้ามาในสังคม กฎหมายมันถูกใช้โดยผู้คนทั่วไปในทางปฏิบัติอยู่แล้วหลายครั้ง ในลักษณะที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่ตัวบทกฎหมายเขียนไว้ด้วยซ้ำ

คนที่มีส่วนในการสร้างความสำคัญของกฎหมายต่อเศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่คือผู้คนต่างๆ ในสังคมที่ต้องการกฎเกณฑ์พื้นฐานเพื่อจะมีชีวิตที่สงบสุข คาดเดาได้ และวางแผนได้ หากคุณลองไปศึกษากลไกของตลาดมืด (informal economy) คุณจะพบว่ามันมีธรรมเนียมปฏิบัติและกฎเกณฑ์ในตัวของมันเอง ตลาดมืดไม่ใช่ความโกลาหล ผู้คนรู้ว่าในมุมใดหรือจังหวะใดที่พวกเขาจะได้ของที่ต้องการ สังคมมันมีการจัดการตัวเองผ่านกลไกและกฎเกณฑ์ของมัน

ผมอยากชี้ให้เห็นชัดๆ ว่า แนวคิดว่าด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม ไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดโดยนักกฎหมายเท่านั้น นักกฎหมายไม่ใช่ผู้ที่เข้าใจการใช้กฎหมายแต่เพียงผู้เดียว บางครั้งนักกฎหมายกลับแคบและเคร่งเกินไป มุ่งไปที่กฎหมายที่เขียนไว้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีการคิดในการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง คนทั่วไปหลายครั้งอาจมีความคิดสร้างสรรค์ในการรังสรรค์และจินตนาการทางเลือกใหม่ในกฎหมายมากกว่านักกฎหมายเสียอีก

คิดว่ามุมมองที่คุณว่ามา แปลกใหม่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักกฎหมายหรือไม่

ผมเองก็ไม่ทราบ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเจอ การที่ผู้คนที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพนักกฎหมาย แต่เป็นคนที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในสังคม มักประเมินความสำคัญของกฎหมายต่อปัญหาที่ตนแก้ไขอยู่ต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น ในการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม น้อยมากที่จะมีใครสักคนในขบวนการเคลื่อนไหว จะเข้าใจว่ากฎหมายหลายอย่าง (ไม่เฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อม) มีส่วนในการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นการให้ความรู้พลเมือง จึงควรมุ่งไปที่การพยายามสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมาย ว่ากฎหมายเป็นทางส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ใช่แค่ทางแก้ปัญหา กฎหมายเป็นตัวประกอบโครงสร้างของสังคมขึ้นมา ส่วนตัวผมคิดว่าการสร้างความตระหนักนี้ต้องใช้เวลา มีคนจำนวนมากที่เคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรม แต่กลับไม่เข้าใจว่าตัวกฎหมายที่เป็นอยู่ มีส่วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่พวกเขาไม่ต้องการอย่างไร

ตอนนี้คุณได้ทำงานร่วมกับ TIJ มาสามปีแล้ว อะไรคือสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการร่วมงานที่นี่

สำหรับการร่วมงานกับ TIJ สิ่งที่เราสนใจคือสิ่งที่นักวิชาการรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ มีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับหลักนิติธรรม และความหมายของหลักการดังกล่าวต่อพวกเขาคืออะไร ทุกคนมีความคิดที่ต่างกันไป และเราเริ่มมีบทสนทนาที่ต่อยอดออกไปว่า สิ่งที่เราเรียนรู้ร่วมกันช่วยเปิดมุมมองของเรา อย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรกับภารกิจของ TIJ ผมคิดว่าหลาย ๆ คนมีความสงสัยในการทำความเข้าใจหลักนิติธรรม และเราได้พยายามพัฒนาคำตอบที่ครอบคลุมและมีรายละเอียดมากพอให้เขาได้เห็นว่าเพราะเหตุใดต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับหลักนิติธรรม และแนวคิดว่ากฎหมายเป็นเรื่องของทางเลือก และกฎหมายเป็นพื้นฐานของสังคมในทุกมิติ

ข้อต่อมา ผมคิดว่าโครงการนี้เป็นผลดีต่ออาจารย์รุ่นใหม่ ๆ ที่เข้าร่วมเวิร์คชอปกับเราด้วย แต่ภารกิจของเราไม่ใช่แค่การรอคอยนิสิตของอาจารย์เหล่านี้ที่จะเติบโตเป็นผู้นำรุ่นใหม่ แต่เราต้องเริ่มทำงานกับผู้นำในปัจจุบันด้วย รวมถึงผู้นำรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีบทบาทในแวดวงของเขาด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทาง TIJ ขอให้จัดหลักสูตรสำหรับผู้นำรุ่นใหม่แยกอีกหนึ่งหลักสูตร ผมยอมรับว่าผมไม่แน่ใจกับแนวคิดนี้ในตอนแรก ผมนึกภาพไม่ออกว่านักวิชาการจะได้ประสบการณ์ที่ดีอย่างไรจากการร่วมวงสนทนากับผู้คนจากภาครัฐหรือเอกชน และคิดว่าคนเหล่านั้นเองก็จะมีอคติว่า คนในวงวิชาการคือคนที่ไม่เคยเผชิญโลกที่แท้จริง และสุดท้ายจะทำให้เป็นการสนทนาที่เหือดแห้ง

แต่ปรากฏว่าผมคิดผิด เราได้ข้อสรุปกันว่า เป็นสิ่งที่ดีที่คนที่ทำงานในภาคปฏิบัติ ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน ได้มานั่งคุยกับอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งปกติคนทั้งสามกลุ่มนี้จะไม่มีทางได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดต่อประเด็นใดๆ ด้วยกัน ได้มาดูงานวิจัยเพื่อเข้าใจวิธีการที่ปัญหามันก่อตัวขึ้นในที่อื่นๆ เพราะกลุ่มคนที่ทำงานในภาครัฐหรือเอกชน ก็ต้องอ้างอิงการวางนโยบายจากงานวิจัยต่างๆ การทำความเข้าใจและรู้จักงานใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมันทำให้ทุกคนมองเห็นทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และทำให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์ สุดท้ายช่วยเพิ่มพูนมุมมองทางวิชาการให้กับคนในภาคปฏิบัติด้วย นี่เป็นสิ่งที่คนในภาคปฏิบัติจะมีโอกาสได้สัมผัสได้น้อยมากในชีวิตการทำงานของเขา ขณะเดียวกันการเข้าร่วมหลักสูตรของเรายังทำให้พวกเขาได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิชาการและผู้นำรุ่นใหม่จากชาติอื่น ๆ ด้วย

ดังนั้นบรรดาผู้ร่วมโครงการที่ไม่ใช่นักวิชาการจึงสนุกกับมัน ในส่วนของฝ่ายวิชาการ แน่นอนว่าหลายคนอยากจะทำงานวิจัยที่มีประโยชน์และมีผลกระทบในวงกว้าง สิ่งที่พวกเขาอยากทำคือการเปลี่ยนโลกโดยการเปลี่ยนความคิดของผู้คน  ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์กับพวกเขาที่ได้พูดคุยกับคนในระดับปฏิบัติการและกำลังแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้พวกเขาได้มานั่งทบทวนตนเองว่างานวิชาการแบบไหนจะเปลี่ยนโลกได้ และคำถามแบบไหนคือสิ่งที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

จริงๆ แล้วทั้งสองโครงการ (เวิร์คชอปสำหรับนักวิชาการ และสำหรับผู้นำรุ่นใหม่) ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ผมคิดว่าตัวผมและคณาจารย์เองได้เรียนรู้วิธีการคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของงานวิจัย และงานภาคปฏิบัติของรัฐบาลมากขึ้นด้วย จากการที่ได้เห็นผู้คนทั้งสองภาคส่วนนี้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อกัน เราได้เห็นฝ่ายปฏิบัติถามคำถาม ทำให้คนในภาควิจัยได้ประโยชน์ และนโยบายเองก็ได้รับการปรับปรุงเมื่อนักวิชาการมีคำถามต่อไปเรื่อยๆ

การตั้งคำถามเป็นกลไกที่สำคัญ ?

ใช่ มันคือเรื่องของการตั้งคำถามและทำความเข้าใจทางเลือกที่มี เราสนับสนุนให้นักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ได้รับรู้ว่างานของคุณไม่ใช่การตอบคำถาม แต่เป็นการทำความเข้าใจปัญหาด้วยมุมมองใหม่ๆ และทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าเรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร พร้อมๆ กับหาทางเลือกใหม่ที่เป็นไปได้ นักวิชาการไม่ได้มีหน้าที่มาตอบทุกปัญหาของโลก แต่เรามีหน้าที่ในการพยายามทำความเข้าใจโลก รวมถึงทำความเข้าใจว่าคนอื่นๆ เข้าใจโลกอย่างไร

เราพยายามที่จะเข้าหาคนที่ทำงานในภาคปฏิบัติ และบอกพวกเขาว่าเราไม่เชื่อว่ามีคำตอบที่ดีที่สุด แต่เราต้องการจะทำให้พวกเขามีทักษะในการระบุทางเลือกต่างๆ ได้ และบางทีงานวิจัยต่างๆ จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเขา นักวิชาการจะมาช่วยคุณระดมความคิด ซึ่งปกติแล้วคุณอาจมองข้ามทางเลือกบางอย่างไป ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นเตือนให้ฝ่ายปฏิบัติได้มุมมองจากผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นๆ เพิ่มขึ้น

จุดประสงค์ของโครงการจึงมีเพื่อเสริมศักยภาพของคนทั้งสองกลุ่ม ให้รู้จักสร้างสรรค์และมองเห็นทางเลือกอื่น ๆ ในงานประจำของพวกเขา และอาจเป็นไปได้ที่พวกเขาต่อไปจะผลักดันให้สังคมเลือกทางเลือกอื่น ๆนั้ นก็ได้ เราไม่ได้จะเปลี่ยนโลกในลักษณะของการปฏิวัติ ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปโดยสิ่งที่ผู้คนทำและเลือกในทุกๆ วันอยู่แล้ว แต่เราจะช่วยคนอื่น ๆ ให้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปในทางที่มันยุติธรรมขึ้นได้อย่างไรต่างหากที่สำคัญ

David Kennedy


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) กับ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save