fbpx
เดวิด เกรเบอร์ นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย ผู้เชื่อมั่นในความเป็นไปได้แบบอื่นๆ

เดวิด เกรเบอร์ นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย ผู้เชื่อมั่นในความเป็นไปได้แบบอื่นๆ

ภัควดี วีระภาสพงษ์ เรื่อง

 

David Graeber, left, speaks at the Maagdenhuis occupation at the University of Amsterdam in March 2015. (Wikimedia Commons / Guido van Nispen)
David Graeber, left, speaks at the Maagdenhuis occupation at the University of Amsterdam in March 2015. (Wikimedia Commons / Guido van Nispen)

 

“อนาธิปไตยกับมานุษยวิทยาไปด้วยกันได้ดี เพราะนักมานุษยวิทยารู้ดีว่า สังคมที่ปราศจากรัฐเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เพราะมีสังคมแบบนั้นดำรงอยู่จำนวนมาก”

“หากว่านักมานุษยวิทยาจะยอมก้าวข้ามความลังเลใจ ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ก็มักมีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมอันน่ารังเกียจของตนเอง นักมานุษยวิทยาควรลืมตาและมองเห็นว่า ความรู้ที่พวกเขานั่งทับอยู่นั้นไม่ใช่ความลับที่พึงทำให้รู้สึกผิด (จริง ๆ แล้วก็เป็นความลับที่ทำให้นักมานุษยวิทยาเท่านั้นแหละรู้สึกผิด คนอื่นๆ เขาไม่รู้สึกด้วยหรอก) แต่เป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ”

David Graeber, Fragments of an Anarchist Anthropology

 

เดวิด เกรเบอร์ จากโลกใบนี้ไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2020 ท่ามกลางความเสียดายอาลัยของคนจำนวนมาก ทั้งที่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว รู้จักเขาในฐานะนักวิชาการ รู้จักเขาในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง มีนักวิชาการไม่กี่คนที่ประกาศตัวเป็นนักอนาธิปไตย มีนักอนาธิปไตยไม่กี่คนที่ผลิตผลงานทางวิชาการชั้นเลิศจนเป็นที่ยอมรับในวงการ หนังสือของเขามีผู้อ่านกว้างขวางทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เขาเป็นนักกิจกรรมต่อต้านทุนนิยมและรัฐอำนาจนิยม เขาสามารถทำให้การประท้วงและการต่อต้านขัดขืนต่อระบบกลายเป็น ‘กระแสนิยม’ ที่ไม่กลวงและหนักแน่นด้วยเนื้อหาสาระ

เดวิด เกรเบอร์ เป็นชาวนิวยอร์ก เกิดเมื่อปี 1961 ในครอบครัวชนชั้นแรงงาน พ่อทำงานในโรงพิมพ์ แม่เคยทำงานเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ถึงแม้ทั้งสองเป็นชนชั้นกรรมาชีพ แต่ก็ศึกษาหาความรู้เองจนมีความรู้ไม่ต่างจากปัญญาชน แม่ของเขามีพรสวรรค์ในการแสดง ภายหลังเป็นนักร้องนำในคณะละครเพลงของชนชั้นกรรมาชีพชื่อ Pins & Needles ทั้งสองเคยให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษ 1930 ก่อนที่จะแยกตัวออกมาภายหลัง เกรเบอร์ผู้พ่อเคยทำงานอาสาสมัครขับรถพยาบาลในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน และมีโอกาสสัมผัสกับช่วงเวลาของการปกครองตัวเองแบบอนาธิปไตยในบาร์เซโลนา พ่อของเขาเคยเขียนบทความวิชาการชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับระบบเงินกระดาษของฝ่ายอนาธิปไตยในสเปน กระนั้น ทั้งพ่อและแม่ของเกรเบอร์ก็ไม่ใช่นักอนาธิปไตย

เดวิด เกรเบอร์ เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมของหนังสือและแนวคิดฝ่ายซ้าย เขาภาคภูมิใจในความเป็นคนนิวยอร์กและกำพืดชนชั้นแรงงาน เริ่มสนใจแนวคิดแบบอนาธิปไตยมาตั้งแต่อายุ 16 เขาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิคาโก งานวิทยานิพนธ์ด้านมานุษยวิทยาของเขาเป็นการวิจัยภาคสนามในมาดากัสการ์ โดยเน้นที่ความสัมพันธ์และการแบ่งแยกทางสังคมระหว่างตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นผู้ดีกับตระกูลอดีตทาส นอกจากนี้ เขายังเขียนงานทางด้านมานุษยวิทยาอีกหลายชิ้นเกี่ยวกับทฤษฎีมูลค่า อาทิ Towards an Anthropological Theory of Value: The False Coin of Our Own Dreams (2001), Lost People: Magic and the Legacy of Slavery in Madagascar (2007)

การวิจัยในมาดากัสการ์มีอิทธิพลต่อความคิดของเกรเบอร์มาก การคลุกคลีกับชาวพื้นเมืองทำให้เขาเห็นกระบวนการตัดสินใจของชุมชน  ซึ่งใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติและการปกครองตนเองในภาวะไร้รัฐ เกรเบอร์มองว่ากระบวนการตัดสินใจแบบนี้แท้ที่จริงแล้วก็คือประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าประชาธิปไตยแบบผู้แทน แต่นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่กลับไม่ยอมเรียกมันว่าประชาธิปไตย เกรเบอร์เชื่อว่าหากไม่มีอคติบางอย่างบังตา นักมานุษยวิทยาควรเป็นกลุ่มนักวิชาการที่มองเห็นชัดเจนว่า แนวทางอนาธิปไตยและประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่แนบแน่นในชุมชนมนุษย์มาตั้งแต่ยุคบุพกาล หาใช่สิ่งพิเศษเฉพาะในประวัติศาสตร์หรือในภูมิภาคแห่งใดแห่งหนึ่ง

เกรเบอร์เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเยลตั้งแต่ปี 1998 ในสมัยนั้นเขายังเป็นแค่นักทฤษฎีที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ เกรเบอร์เล่าไว้ใน ‘บทนำ’ ของหนังสือ Possibilities: Essays on Hierarchy, Rebellion, and Desire (2007) ว่า ความเกี่ยวข้องที่เขามีกับชีวิตทางการเมืองอเมริกันก็แค่เป็นนักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมให้นิตยสารฝ่ายซ้าย In These Times โดยเฉพาะบทความที่เขียนเกี่ยวกับซีรีส์ทางโทรทัศน์ชุด Buffy the Vampire Slayer เหตุการณ์ที่ดึงดูดให้เกรเบอร์ก้าวออกไปสู่การเมืองบนท้องถนนก็คือ การประท้วงที่ซีแอตเทิลในปี 1999 เขาเล่าว่า เขาเสร็จจากการบรรยายในชั้นเรียน ออกไปเดินเล่นและถึงกับผงะเมื่อเห็นหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในเมืองซีแอตเทิล

เหตุการณ์นี้ทำให้เกรเบอร์หันมาสนใจขบวนการและค้นพบว่า ขณะที่เขาบรรยายเรื่องอนาธิปไตยอยู่ในชั้นเรียน ขบวนการอนาธิปไตยจริงๆ ก่อเกิดขึ้นแล้วข้างนอก หลังจากนั้น เขาเริ่มทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ เริ่มจากการประท้วงไอเอ็มเอฟที่วอชิงตันในปี 2000 และมีบทบาทในเครือข่าย Direct Action Network สาขานิวยอร์กซิตี ทำหน้าที่ในด้านการจัดตั้งและฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการแสวงหาฉันทามติ โดยอาศัยประสบการณ์ที่เขาเคยคลุกคลีกับชาวพื้นเมืองในมาดากัสการ์ ซึ่งใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติในการตัดสินใจมาไม่รู้กี่ชั่วรุ่น แต่นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวผิวขาวในสหรัฐอเมริกาเปรียบเสมือนเด็กที่กำลังหัดเดินเตาะแตะในการฝึกใช้กระบวนการนี้

ในปี 2004 สำนักพิมพ์ Prickly Paradigm Press ออกหนังสือในลักษณะจุลสารชุดหนึ่งมีทั้งหมด 10 เล่ม แต่ละเล่มเป็นความเรียงที่เสนอข้อถกเถียงสำคัญในแวดวงมานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ หนึ่งในจำนวนนั้นคือผลงานของเดวิด เกรเบอร์ในชื่อ Fragments of an Anarchist Anthropology (2004) หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนเค้าโครงแนวคิดหลักๆ ของเดวิด เกรเบอร์ที่จะขยายกลายเป็นหนังสือเล่มใหญ่ของเขาอีกหลายเล่มในอนาคต เขาพูดถึงแนวทางอนาธิปไตย-ประชาธิปไตยของชาวพื้นเมืองมาดากัสการ์ พูดถึงประเด็นเรื่องหนี้ ชั่วโมงทำงานที่มากเกินไปและไร้แก่นสารในระบบทุนนิยม ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากที่มีรากฐานจากการใช้กำลังบังคับเสียงส่วนน้อย ซึ่งแตกต่างจากประชาธิปไตยแบบกระบวนการแสวงหาฉันทามติ ขบวนการอนาธิปไตยยุคใหม่ที่ใช้หลักการประชาธิปไตยทางตรง ตลอดจนการใช้วิธีชาติพันธุ์วรรณาไปศึกษานักกิจกรรม

ชื่อของเดวิด เกรเบอร์ กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่พักใหญ่ในปี 2005 สืบเนื่องจากกรณีที่เขาถูกคณะมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเยลไม่ยอมต่อสัญญาจ้างอย่างไม่เป็นธรรม นักวิชาการ นักกิจกรรมและนักศึกษาจำนวนมากไม่พอใจเรื่องนี้ มีการทำหนังสือล่ารายชื่อประท้วง ผลงานด้านวิชาการของเกรเบอร์เป็นที่ยอมรับในวงการ อีกทั้งชั้นเรียนของเขาก็เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา จึงไม่มีเหตุผลที่มหาวิทยาลัยเยลจะไม่ต่อสัญญาจ้าง คนส่วนใหญ่ รวมทั้งตัวเกรเบอร์เองเชื่อว่า สาเหตุที่มหาวิทยาลัยเยลเลิกจ้างเขา น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่เขาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่ก็เพราะเกรเบอร์เข้าข้างนักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกขู่ว่าจะไล่ออก เพราะเธอเป็นสมาชิกของสหภาพนักศึกษา GESO ซึ่งกำลังมีปัญหากับมหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนั้น

ก่อนอำลาจากมหาวิทยาลัยเยล เขาทิ้งทวนด้วยการเปิดสอนสองชั้นเรียน ชั้นเรียนแรกคือ วิชามานุษยวิทยาเชิงวัฒนธรรมระดับพื้นฐาน (มีนักศึกษาเข้าเรียนถึง 200 คน) กับอีกชั้นเรียนหนึ่งชื่อว่า ‘Direct Action and Radical Social Theory’ หลังจากนั้นเขาพยายามยื่นสมัครตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอเมริกันอีกกว่ายี่สิบแห่ง แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนยอมรับ ทว่าในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่งกลับยื่นข้อเสนอให้เขาไปสอน

ในปี 2006 เกรเบอร์ได้รับเชิญให้ไปปาฐกถา Malinowski Lecture ที่ London School of Economics ผู้ที่ได้รับเชิญให้ไปปาฐกถาในงานนี้มักเป็นนักมานุษยวิทยาดาวรุ่งและต้องมีคุณูปการที่โดดเด่นต่อทฤษฎีด้านมานุษยวิทยาด้วย

ปี 2008-2013 เกรเบอร์รับตำแหน่งอาจารย์ที่ Goldsmith’s College ของมหาวิทยาลัยลอนดอน ในปี 2013 เขารับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ London School of Economics

นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา เกรเบอร์มีผลงานหนังสือหลายเล่ม ทุกเล่มล้วนได้รับการขานรับจากแวดวงนักอ่านทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเป็นบางเล่ม อาทิ:

Possibilities: Essays on Hierarchy, Rebellion, and Desire (2007) มีประเด็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยแบบลงคะแนนเสียงกับประชาธิปไตยทางตรง การเปรียบเทียบแนวคิดระหว่างมาร์กซิสต์กับอนาธิปไตย เกรเบอร์สรุปว่า

1. ลัทธิมาร์กซ์เป็นวาทกรรมทางทฤษฎีหรือการวิเคราะห์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การปฏิวัติ

2. อนาธิปไตยเป็นวาทกรรมทางจริยธรรมเกี่ยวกับปฏิบัติการปฏิวัติ

ดังนั้น ลัทธิมาร์กซ์กับอนาธิปไตยจึงมีศักยภาพส่งเสริมซึ่งกันและกันมาก เปรียบเหมือนการแบ่งงานทำ มาร์กซิสต์ก็วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองไป โดยไม่ได้เกี่ยวข้องมากนักกับการจัดตั้ง ส่วนนักอนาธิปไตยก็จัดการกับการจัดตั้งในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยคำอธิบายด้านทฤษฎีของนักมาร์กซิสต์ การที่อนาธิปไตยเป็นเรื่องของจริยศาสตร์ในเชิงปฏิบัติ จึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมไม่ค่อยมีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นนักอนาธิปไตย

ในบทนำของหนังสือ เกรเบอร์อธิบายว่า เขาตั้งชื่อหนังสือรวมบทความนี้ว่า Possibilities เพราะคำๆ นี้คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขากลายเป็นนักมานุษยวิทยา เขาสนใจสาขาวิชานี้เพราะมันเปิดหน้าต่างให้มองเห็นรูปแบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่เป็นไปได้แบบอื่นๆ มันทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เราทึกทักในปัจจุบันว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เคยเป็นอย่างอื่น และถูกจัดการในแบบอื่นๆ มาก่อน ดังนั้น ความเป็นไปได้ของมนุษย์จึงมีมากกว่าที่เรามักทึกทักกันตามความเคยชิน

Direct Action: An Ethnography (2009) งานศึกษานักกิจกรรมใน ‘ขบวนการสังคมใหม่’ โดยใช้วิธีชาติพันธุ์วรรณา หนังสือเล่มนี้คือคำยืนยันคำบอกเล่าของผู้รู้จักเกรเบอร์หลายๆ คนที่พูดตรงกันว่า เขาเป็นนักฟังที่ดีมาก และสามารถคลุกคลีในหมู่นักกิจกรรมได้อย่างกลมกลืน โดยไม่เคยวางตัวเป็นผู้รู้หรือนักวิชาการใหญ่

Debt: The First 5,000 Years (2011) อาจกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกรเบอร์ ข้อเสนอสำคัญของเกรเบอร์ในหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงกันข้ามกับที่คนทั่วไปเข้าใจกันว่า เงินตราคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน แล้วหนี้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา เกรเบอร์ใช้การสำรวจสังคมบุพกาลมาแย้งว่า หนี้ต่างหากที่เกิดก่อน แล้วเงินตราจึงเกิดขึ้นตามมา

เกรเบอร์กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับหนี้และพื้นฐานทางจริยธรรมของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่มักนิยามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของชุมชนบุพกาลว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ ‘แลกเปลี่ยนต่างตอบแทน’ เพียงอย่างเดียว ส่วนเกรเบอร์ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนที่ผสมปนเปหลักการพื้นฐานหลายอย่าง หากแยกแยะออกมาแล้ว หลักจริยธรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมมนุษย์มีอยู่สามประการด้วยกัน กล่าวคือ หลักการคอมมิวนิสต์  หลักการแลกเปลี่ยน และหลักการลำดับชั้น

หลักการคอมมิวนิสต์ตั้งอยู่บนความคาดหวังและความรับผิดชอบร่วมกันของสมาชิกชุมชน อาจกล่าวได้ว่าหลักการนี้เป็นหลักการพื้นฐานที่สุดของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม แม้แต่ระบบทุนนิยมก็ดำรงอยู่ไม่ได้หากปราศจากหลักการคอมมิวนิสต์ เพราะมันเป็นจริยธรรมที่ทำให้เกิดการร่วมมือกันโดยไม่เรียกร้องตอบแทน

หลักการแลกเปลี่ยนตั้งอยู่บนความพยายามแสวงหา ‘ความเท่ากัน’ ระหว่างสองฝ่ายที่ทำการแลกเปลี่ยนกัน มันเป็นกระบวนการที่แต่ละฝ่ายให้ออกไปเท่ากับที่ได้มา ความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะในสังคมการค้า จุดสำคัญของมันคือ ‘การไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวต่อกัน’ การแสวงหา ‘ความเท่ากัน’ สามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมี ‘ความเท่าเทียม’ เมื่อเราบรรลุ ‘ความเท่ากัน’ ของสิ่งที่แลกเปลี่ยน หรือหนี้ที่เกิดขึ้นได้รับการชำระหมดสิ้น ภาระผูกพันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เป็นอันยุติลง

หลักการลำดับชั้น มนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน สิ่งที่แลกเปลี่ยนก็ไม่ ‘เท่ากัน’ และฝ่ายที่อยู่ในฐานชั้นล่างของปิรามิดมักไม่มีอิสระที่จะเดินจากไป บ่อยครั้งมีเพียง ‘ความตาย’ เท่านั้นที่ปลดปล่อยผู้อยู่เบื้องล่างให้เป็นอิสระ

สังคมที่ตั้งอยู่บนหลักการลำดับชั้นอย่างเห็นชัดที่สุดก็คือ ระบอบราชาธิปไตย ในระบอบนี้ มีแต่กษัตริย์ด้วยกันเองเท่านั้นที่แลกเปลี่ยนกันได้ ส่วนคนธรรมดาที่คิดจะต่อรองแลกเปลี่ยนกับกษัตริย์ ย่อมมีอันเป็นไป ฝ่ายกษัตริย์เองนั้นต้องการครอบครองทุกสิ่ง รวมทั้งชีวิตมนุษย์ที่อยู่ใต้อาณัติ ดังนั้น แนวคิดของการชดใช้หนี้แล้วเดินจากกันไปอย่างอิสระ จึงเป็นสิ่งที่กษัตริย์ชิงชัง แม้กระทั่งการถวายบรรณาการแก่กษัตริย์ก็ยังเป็นเรื่องที่อาจนำภัยมาสู่ตัวเอง ความสัมพันธ์ของคนชั้นสูงกับคนชั้นต่ำในสังคมลำดับชั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนแต่อย่างใด แม้จะมีการพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้คนส่วนใหญ่คิดเช่นนั้นก็ตาม

The Utopia of Rules: On Technology, Stupidity, and the Secret Joys of Bureaucracy (2015) เกรเบอร์ได้แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้จากการพาแม่ไปรักษาในโรงพยาบาลและต้องเดินเรื่องทำเอกสารเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ เขาวิจารณ์ระบบราชการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (เช่น ธนาคาร บริษัทประกัน) ว่ามีบทบาทในการลดทอนความเป็นอิสระของมนุษย์และกดให้เราเป็นแค่พลเมืองที่เชื่องเชื่อ

Bullshit Jobs: A Theory (2018) เป็นอีกเล่มที่โด่งดังและโดนใจคนจำนวนมาก หนังสือเล่มนี้ขยายความมาจากบทความชื่อ ‘On the Phenomenon of Bullshit Jobs’ ซึ่งเขาเขียนในปี 2013 และได้รับการแปลออกไปถึง 12 ภาษา เขาชี้ว่าการงานกว่าครึ่งหนึ่งในระบบทุนนิยมนั้นเป็นเรื่องไม่มีแก่นสาร การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่ควรสร้างปัญหาที่ทำให้คนตกงาน แต่ควรทำให้มนุษย์มีเวลาว่างมากขึ้นต่างหาก

นอกจากผลงานในฐานะนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะ เดวิด เกรเบอร์กลายเป็นจุดสนใจจากแสงสปอตไลต์ของสื่อมวลชนในปี 2011 เนื่องจากได้รับการประโคมว่าเขาเป็นแกนนำสำคัญของขบวนการ Occupy ที่เริ่มต้นจากขบวนการ Occupy Wall Street ในเดือนกันยายน 2011 แล้วขยายกลายเป็นขบวนการ Occupy ไปอีกหลายประเทศทั่วโลก สื่อระบุว่าเขาเป็นผู้สร้างคำขวัญของขบวนการว่า ‘We are the 99%’  ส่วนเกรเบอร์ยืนยันเสมอมาว่า คำขวัญนี้เป็น ‘การสร้างสรรค์โดยหมู่คณะ’ ที่ช่วยกันคิดหลายคน

น่าเสียดายที่เดวิด เกรเบอร์จากเราไปในวัยเพียง 59 ปี นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการมานุษยวิทยา วงการนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมแนวทางอนาธิปไตย แต่การจากไปของเขาไม่สูญเปล่า ปีหน้าเราจะมีหนังสือเล่มล่าสุดของเขาออกมาในชื่อ The Dawn of Everything: A New History of Humanity ซึ่งเขาเขียนร่วมกับ David Wengrow เราจะมีงานแปลหนังสือชื่อ What Are Kings ซึ่งเกรเบอร์เขียนร่วมกับ Nika Dubrovsky ภรรยาของเขาที่เพิ่งแต่งงานกันเมื่อปีที่แล้ว แปลโดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภและพนา กันธา

คงไม่มีใครกล่าวไว้อาลัยเดวิด เกรเบอร์ ดีไปกว่าชาวเคิร์ด เกรเบอร์เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของเขตปกครองตนเองโรยาวา (Rojava) ในประเทศซีเรีย ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองการปกครองตัวเองแบบอนาธิปไตยพร้อมๆ ไปกับการต่อสู้กับขบวนการ ISIS Hawzhin Azeez นักกิจกรรมชาวเคิร์ดกล่าวว่า

“เดวิดเป็นเพื่อนของชาวเคิร์ดในยามที่เราไม่มีใครเลย ในฐานะผู้ถูกกดขี่ เราต้องการปัญญาชนที่มีชื่อเสียงคอยยืนเคียงข้างและให้การสนับสนุนอย่างมั่นคงแก่เรา การแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราจะตอบแทนเดวิดได้ก็คือ การยึดมั่นในมรดกความคิดของเขา ด้วยการอ่านงานเขียนอันยิ่งใหญ่ของเขา รักษาจิตวิญญาณของเขาให้มีชีวิตชีวาและดำรงอยู่ตลอดไปในการงานและการต่อสู้ของเรา ทั้งในฐานะชาวเคิร์ด นักกิจกรรม ฝ่ายซ้าย ในฐานะนักอนาธิปไตยผู้รักเสรีภาพและความหวัง เดวิด เกรเบอร์ไม่ได้ลาลับไปจากเรา คุณค่าและความคิดที่เขาทิ้งไว้ให้ยังคงมีชีวิตอยู่ในสวนมะกอก ในคอมมูน และในสหกรณ์ของโรยาวา”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save