fbpx

‘อัฟกานิสถานในความเปลี่ยนแปลง’ กับ ดวงยิหวา อุตรสินธุ์

15 สิงหาคมที่ผ่านมา อัฟกานิสถานเผชิญจุดหักเหครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อกลุ่มตาลีบันยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้สำเร็จ ปิดฉาก 2 ทศวรรษภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา

การหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งของตาลีบันจะเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของอัฟกานิสถานไปอย่างไร และส่งผลสะเทือนถึงภูมิรัฐศาสตร์โลกอย่างไร 101 ชวน ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก วิทยาเขตอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาพูดคุยในเรื่องนี้

:: การกลับมาของกลุ่มตาลีบัน ::

หากมองตามหลักภูมิรัฐศาสตร์ การบุกอัฟกานิสถานของโซเวียตน่าจะยึดตามหลักการของ Heartland เพราะอัฟกานิสถานเป็นเหมือนข้อต่อที่เชื่อมทั้งยุโรปและเอเชียกลางเข้าด้วยกัน เป็นจุดที่มีผลประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์  

ในช่วงที่โซเวียตบุกอัฟกานิสถาน กลุ่มชาติพันธุ์และชาวมุสลิมกลุ่มอื่นได้เข้ามาร่วมกันก่อตั้ง ‘กลุ่มมูจาฮีดีน’ เพราะพวกเขาต่างมองว่านี่เป็นสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ในการต่อต้านโซเวียต เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีภูเขาเยอะมาก กลุ่มมูจาฮีดีนจึงใช้วิธีการรบแบบกองโจร ซ่อนตัวตามช่องเขาต่างๆ ด้านโซเวียตเองก็รู้ว่าการสู้ในลักษณะนี้ยากที่จะเอาชนะ จึงใช้วิธีตอบโต้แบบลดประชากร (de-population) โดยทำการทิ้งระเบิดในจุดเกษตรกรรมที่สำคัญ

การทิ้งระเบิดของโซเวียตในครั้งนั้นทำให้กลุ่มคนเหล่านี้โยกย้ายไปในหลายแห่ง เช่น อิหร่าน ปากีสถาน และในช่วงนี้นี่เองที่ มูลเลาะห์ โอมาร์ (Mullah Omar) ได้ก่อตั้ง ‘กลุ่มตาลีบัน’ ขึ้นมาผ่านโรงเรียนสอนศาสนาและเผยแพร่ชุดความคิดเพื่อทำให้ประชาชนเกลียดชังประเทศมหาอำนาจ

ในเรื่องของอุดมการณ์ กลุ่มตาลีบันอิงทุกอย่างตามกฎชารีอะห์ (Shariah) ตอนที่ตาลีบันเข้ามายึดอัฟกานิสถานในช่วงแรกเมื่อปี 1996 ได้รับการตอบรับจากประชาชนชาวอัฟกานิสถาน เพราะประชาชนเบื่อหน่ายสงคราม กระทั่งต่างประเทศก็เข้าใจว่า ถ้าตาลีบันคุมได้ทุกอย่างก็อาจจะสงบ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปได้ 1 ปี กลุ่มตาลีบันใช้กฎหมายชารีอะห์ในการปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายอิสลามอันเข้มงวด ด้วยเหตุนี้เมื่อมองย้อนกลับมาที่ปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยว่าทำไมชาวอัฟกันถึงกลัวมาก เพราะพวกเขาต่างกลัวว่าจะต้องกลับไปเจอเหตุการณ์เหมือนเมื่อครั้งอดีต

ถ้าถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ตาลีบันสามารถกลับมาได้ สาเหตุเป็นเพราะกองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ปกครองมาตลอด 20 ปีไม่สามารถควบคุมกองกำลังที่อยู่นอกเขตกรุงคาบูลได้ เนื่องจากภูมิศาสตร์ที่เป็นลักษณะภูเขาของอัฟกานิสถานส่งผลให้การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานี ก็ยังมีปัญหาการทุจริตที่เพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวอัฟกันเองก็เบื่อกับสิ่งนี้ ขณะที่ประเทศสหรัฐฯ เองก็ไม่มีใจอยากจะอยู่ที่นี่ต่อแล้ว ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ตาลีบันกลับสู่อัฟกานิสถานอีกครั้ง

สำหรับความแตกต่างของการกลับมาของตาลีบันระหว่างปี 1996 กับ ปี 2021 ส่วนตัวคิดว่าต่างกันในหลายมิติ อย่างแรกตอนที่ตาลีบันเข้าไปยึดอัฟกานิสถานในปี 1996 ตอนนั้นประเทศกำลังอยู่ในภาวะเพิ่งฟื้นจากสงคราม หลายๆ ประเทศจึงยังไม่ได้ให้ความสนใจมากพอ แต่สำหรับปี 2021 อัฟกานิสถานมีการวางรากฐานเรื่องระบบการเงิน ระบบราชการการดำเนินประเทศ ประเด็นนี้ก็น่าจะทำให้หลายประเทศสนใจและเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นอกจากนี้เราก็จะเห็นว่าตาลีบันพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเอง มีตัวแทนของตาลีบันออกสื่อเยอะมาก พร้อมทั้งออกมาให้คำเชื่อมั่นว่าจะนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำงานร่วมกับทหารอเมริกัน และจะให้สิทธิผู้หญิงในการเรียนหนังสือ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลามที่เข้มงวด

ในเรื่องของการปกครอง ตาลีบันไม่ได้อยากให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ตั้งใจให้เป็นการปกครองภายใต้กฎหมายชารีอะห์และมีการจัดตั้งสภาซูรอเพื่อเป็นคณะทำงาน ล่าสุดมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาทั้งหมด 12 คน โดยหนึ่งในนั้นมี ‘บาราดาห์’ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในการติดต่อพูดคุยที่โดฮา อีกคนคือ ‘ฮักกานี’ ซึ่งเป็นคนสำคัญในการดูแลเครือข่ายฮักกานีและสนิทกับกลุ่ม al-Qaeda นอกจากนี้ฮักกานียังเป็นคนควบคุมกองกำลังตาลีบันอีกด้วย คนสุดท้ายคือ ‘ยาคูป’ สามคนนี้คือหัวเรือหลักของตาลีบันในตอนนี้

เรื่องที่คนส่วนใหญ่กังวลกันมากอย่างเรื่องการก่อการร้าย เพราะตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา ที่นี่ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของกลุ่มก่อการร้าย ทางตาลีบันเองก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำแบบนั้นอีกต่อไป แต่ก็น่าสนใจที่ตาลีบันกลับตั้งฮักกานี ซึ่งสนิทกับกลุ่ม al-Qaeda ขึ้นมาอยู่ในคณะทำงานด้วย

ส่วนตาลีบันจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา เพราะปี 1996 ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตาลีบันมีการเปลี่ยนแปลงไวมาก ฉะนั้นก็คงต้องติดตามกันต่อไป

:: ขาลงของสหรัฐฯ หรือ การรักษาผลประโยชน์ชาติครั้งใหญ่ ::

อเมริกาอยากถอนทหารตั้งแต่หลังการสังหารบิน ลาเดน แต่ที่ยังไม่กล้าถอนเป็นเพราะปัจจัยเรื่องยุทธศาสตร์ เพราะถ้าหากสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน จีนกับรัสเซียอาจเข้ามามีบทบาท และในส่วนของกลุ่มก่อการร้ายนั้น ถึงแม้ว่ากองกำลัง al-Qaeda จะอ่อนตัวลง แต่กลุ่ม ISIS ยังเข้มแข็ง สหรัฐฯ จึงไม่กล้าถอนทหารออก

เมื่อมาถึงยุคของประธานาธิบดีไบเดน ต้องเข้าใจว่าไบเดนไม่ได้เห็นด้วยกับการให้สหรัฐฯ ส่งกองกำลังไปยังอัฟกานิสถานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในปี 2009 เขาเป็นต้นเสียงสำคัญที่สนับสนุนให้สหรัฐฯ ถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน ด้วยเหตุนี้เมื่อไบเดนได้ตำแหน่งเขาก็ดำเนินตามแผนที่วางไว้ และเอาเข้าจริงจะโทษไบเดนอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะต้องดูไปถึงประธานาธิบดีคนก่อนหน้าด้วย ก่อนหน้านี้ทรัมป์เองก็ติดต่อเจรจากับตาลีบัน แต่ลักษณะที่ทรัมป์ไปเจรจากับตาลีบันกลับไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยทรัมป์ให้สัญญาว่าจะถอนกองกำลังทั้งหมดภายใน 14 เดือน โดยที่ไม่ได้ดูว่าจะสามารถทำได้ตามความเป็นจริงหรือไม่ จนกระทั่งตอนนี้ก็ต้องบอกว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้ถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานเสียทั้งหมด

การถอนทหารของสหรัฐฯ กลายมาเป็นจุดที่ประเทศขั้วตรงข้ามใช้โจมตีว่าสหรัฐฯ กำลังตกต่ำลงหรือพ่ายแพ้ แต่หากมองอีกแง่นี่อาจเป็นข้อดีต่อการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง เพราะสหรัฐฯ ต้องเสียเงินไปถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ในการเข้ามาคุมประเทศอัฟกานิสถาน อีกอย่างคือสหรัฐฯ เชื่อว่าตนเป็นพระเอกในเรื่องของการสร้างชาติ (nation building) แต่ในความเป็นจริงกลับประสบความสำเร็จแค่ในญี่ปุ่นและเยอรมนี สาเหตุอยู่ที่ทั้งสองประเทศต่างมีสถาบันที่มั่นคงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐฯ อยากเข้าไปสร้างชาติกลับไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เช่นในกรณีของประเทศโซมาเลีย

ฉะนั้น การที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปอาจเป็นข้อดีต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ไม่ว่าจะทั้งด้านทรัพยากรบุคคลหรืองบประมาณ ทำให้สหรัฐฯ สามารถนำทรัพยากรดังกล่าวไปลงทุนกับเรื่องอื่นที่อาจมีความสำคัญมากกว่าและมีโอกาสที่จะจัดการได้ง่ายกว่าปัญหาในอัฟกานิสถาน เช่น การไปโฟกัสกับประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก เป็นต้น

:: ขั้วอำนาจอื่นหลังสหรัฐฯ ถอนทัพ ::

ประเทศจีนให้ความสนใจอัฟกานิสถานมาแล้วระยะหนึ่ง และมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานี เพราะมีโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ร่วมกัน แต่สิ่งที่จีนต้องคำนึงคือ จีนอาจต้องไปดีลกับตาลีบัน เพราะก่อนหน้านี้คนจีนในปากีสถานก็ตายจากระเบิด นอกจากนี้คงต้องไปดูที่องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างจีนกับเอเชียกลางที่ต้องการจัดการกับกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มคนที่อยากแยกประเทศ

เอาเข้าจริงๆ จีนค่อนข้างกังวลเรื่องการก่อการร้าย เพราะจีนมีความร่วมมือกับปากีสถานผ่านระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China Pakistan Economic Corridor) จีนจึงต้องการกดดันตาลีบันในประเด็นนี้ อย่างเช่นกรณีซินเจียง ตาลีบันเองก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ให้สนับสนุนกลุ่ม East Turkestan Islamic Movement (ETIM) แลกกับความร่วมมือของจีน แต่ปัญหาก็อยู่ที่ตาลีบันจะคุมกองกำลังอื่นในอัฟกานิสถานได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนรัสเซียไม่ได้มีท่าทีสนใจอัฟกานิสถานมากเท่าไร ถ้าเทียบกับตอนที่เป็นโซเวียต เพราะรัสเซียค่อนข้างกังวลเรื่องกลุ่มก่อการร้ายและการค้ายาเสพติด เนื่องจากรัสเซียเองก็มีผลประโยชน์ในโครงการก่อสร้างท่อส่งแก๊สและร่วมมือในองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ด้วยเช่นกัน

อีกประเทศที่น่าจะเกี่ยวข้องกับตาลีบันคือปากีสถาน อย่างที่ทราบกันว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานกล่าวหาว่าปากีสถานเป็นฝ่ายที่คอยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนตาลีบัน ปากีสถานก็โต้ว่าปากีสถานมีแต่เสียกับเสียในการเข้าร่วมสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เพราะไม่สามารถควบคุมแนวภูเขาได้หมด แต่ก็มีนักวิเคราะห์มองว่าปากีสถานอาจเปิดให้มีการฝึกรบในปากีสถานเพื่อคานอำนาจกับอินเดีย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องแคชเมียร์   

สำหรับประเทศอินเดีย  นักวิเคราะห์ต่างมองว่ายังไม่ควรรีบตอบรับหรือสนับสนุนรัฐบาลตาลีบันในทันที ควรใช้ระยะเวลาสักสามเดือนในการดูว่าตาลีบันน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนตะวันออกกลาง ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ Belt and Road Initiative ในช่วงที่มีการอพยพ ชาวอัฟกันจำนวนมากอพยพไปอาศัยที่อิหร่าน และในตอนนี้อิหร่านก็มีการค้าขายส่งแก๊สธรรมชาติให้ตาลีบัน แต่ในเรื่องของการก่อการร้าย อิหร่านอาจกดดันตาลีบันเพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นปฏิปักษ์กับตัวเอง นอกจากนี้หลายประเทศในตะวันออกกลางกล้าที่จะสนับสนุนกลุ่มตาลีบัน แต่บางประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ซาอุดิอาระเบีย ก็ยังไม่กล้าสนับสนุนกลุ่มตาลีบัน

ส่วนประเทศตะวันตกที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ น่าจะหยั่งเชิงดูท่าทีของสหรัฐฯ ก่อน แต่จริงๆ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นข่าวว่าสหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะปรับความสัมพันธ์กับกลุ่มตาลีบันอีกครั้ง

:: ถอดบทเรียนจากอัฟกานิสถานสู่ไทย ::

กลุ่มก่อการร้ายจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ เคยไปฝึกที่อัฟกานิสถานมาหมดแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานว่ากลุ่มคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยมีคนเข้าไปร่วมรบหรือไม่ แต่ในระยะต่อไปแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอาจเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนที่มีความรู้สึกในแนวทางเดียวกันมารู้จักกัน

ในแง่ของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน หนึ่งเรื่องที่รัฐบาลไทยควรมองเพื่อเป็นตัวอย่างคือ ถ้าคุณใช้กฎเหล็กในการจัดการกับฝ่ายต่างๆ ย่อมไม่มีอะไรดี การใช้กฎเหล็กยังไงก็ไม่มีผล ควรใช้วิธีแบบ heart and mind เวลาที่รัฐบาลไทยเข้าไปดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องเข้าไปเรียนรู้และทำความเข้าใจ อีกเรื่องคือการให้เงิน อย่างประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานีโกงเงินไปร้อยล้าน ย้อนกลับมามองในไทย ถ้ามีการส่งเงินเข้าไปช่วยเหลือภาคใต้ ก็ต้องดูด้วยว่าเงินไปถึงประชาชนหรือไม่ ต้องทำให้กระบวนการนี้โปร่งใสมากที่สุด

เหตุที่คนไทยที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองไปทางขวาบางส่วนเห็นด้วยกับการเข้ามาของตาลีบัน เพราะมองว่า กองกำลังตาลีบันสามารถขับไล่มหาอำนาจได้ หรืออาจมองในเชิงศาสนาว่าสามารถขับไล่คนต่างศาสนาออกไปจากพื้นที่ได้ อยากชวนมองว่า จริงๆ แล้วตาลีบันไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวที่เป็นตัวแทนของมุสลิม ยังมีกลุ่มอื่นในอัฟกานิสถานที่เป็นมุสลิมและต่อสู้ด้วยเช่นกัน เช่น กลุ่มทาจิกิสถานที่รวมตัวกันเป็น Northern Alliance เขาเองก็เป็นมุสลิมเหมือนกัน และตอนนี้พวกเขาเองก็ยืนกรานว่าจะต่อสู้กับตาลีบัน

:: อนาคตของตาลีบันกับกลุ่ม Northern Alliance ::

ถ้าถามว่ากลุ่ม Northern Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในการต่อต้านตาลีบัน ณ ตอนนี้ และส่วนใหญ่เป็นชาวทาจิก จะเป็นความหวังของชาวอัฟกันได้หรือไม่ ขอตอบว่าไม่แน่ใจว่า Northern Alliance จะเป็นความหวัง หรือจะเป็นตัวกระตุ้นสงครามกลางเมืองกันแน่

หลังจากนี้มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น เพราะอาห์มัด มัสสุ ลูกชายของอาห์มัด ชาห์ ยืนยันว่าจะต่อต้านตาลีบันเต็มที่เพราะเคยลอบสังหารพ่อเขา นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 ที่สหรัฐฯ อัฟกานิสถาน และกลุ่มตาลีบันมีการเจรจาหยุดยิง ณ กรุงโดฮา กลุ่ม Northern Alliance เองก็ไม่ได้ถูกรับเชิญ ซึ่งเรื่องนี้ก็สร้างความไม่พอใจอย่างมาก

ฉะนั้นในระยะยาวคิดว่า Northern Alliance อาจจะไม่ได้เป็นความหวังที่จะนำพามาซึ่งสันติสุข แต่อาจเป็นความหวังให้แก่คนที่ต่อต้านตาลีบันมากกว่า

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save