สุขดาร์คจากยาเสพติด : ความสุขที่ต้องเสี่ยง

สุขดาร์คจากยาเสพติด : ความสุขที่ต้องเสี่ยง

นิยามคำว่า ‘ความสุข’ ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับ ‘ที่มา’ ของความสุข บางคนแค่อยู่บ้านก็มีความสุข บางคนช็อปปิ้งก็มีความสุข หรือบางคนแค่มี ‘สิ่งนั้น’ ก็พบกับความสุขได้… (ฮา)

แต่ความสุขสำหรับบางคน พวกเขาอาจต้องเอาร่างกายของตัวเองเข้าแลกเพื่อให้ได้มันมา

 

ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนๆ ‘สารเสพติด’ ก็เป็นเครื่องมือช่วยในการแสวงหาความสุขแบบต้องเอาตัวเข้าแลกอย่างที่ว่าได้ แต่ความเป็นจริงหนึ่งเรื่องที่เราจำเป็นต้องยอมรับ (แม้ว่าจะเป็นเรื่องในมุมมืดๆ ก็ตาม) คือความป๊อปปูล่าร์ของการใช้สารเสพติดในหมู่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะชาวเกย์ เลสเบี้ยน และไบเซ็กซ์ชวล

ผลสำรวจเมื่อปี 2010 จาก United Kingdom Drug Policy Commission (UKDPC) ในสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่าร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างชาว L G และ B เคยลองใช้สารเสพติดรูปแบบต่างๆ และเมื่อเทียบกันแล้ว ปริมาณการใช้ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในช่วงเวลาที่ทำการสำรวจคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าคนที่เป็นชายหญิงทั่วไปในสารแทบทุกชนิด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 33 สำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และร้อยละ 10 สำหรับกลุ่มชายหญิงทั่วไป

ไม่ใช่แค่ใช้มากกว่า แต่ผลสำรวจยังบอกอีกว่ากลุ่ม LGBTQ [ในสหราชอาณาจักร] เป็นเหมือน ‘เทรนด์เซ็ตเตอร์’ ที่พร้อมเปิดรับสารเสพติดชนิดใหม่ๆ เป็นกลุ่มแรก โดยเฉพาะสารเสพติดที่ใช้กันในไนต์คลับและงานปาร์ตี้ ก่อนที่ความฮิตจะก่อตัวและมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างต่อมายังสังคมกลางคืนของชายและหญิง หนึ่งในนั้นคือเคตามีน หรือยาเค ที่เหล่านักเที่ยวตามไนต์คลับของชาวเกย์ได้ลองใช้เป็นกลุ่มแรกๆ ในช่วงปลายยุค 90s และกลายมาเป็นคู่แข่งของโคเคนกับยาอีในหมู่ชายหญิงในปัจจุบัน

อะไรทำให้เป็นแบบนั้น? คำตอบที่ศาสตราจารย์ฟิโอน่า มีแชม (Fiona Measham) นักวิชาการด้านอาชญวิทยาจาก University of Durham บอกอาจฟังดูเหมารวมและเป็นความจริงที่ยากจะกลืนสักนิด แต่สิ่งที่ทำให้ชาวเกย์ (บางส่วน) เป็นกลุ่มคนที่รู้สึกว่าการเสพยาเป็นเรื่องท้าทายและธรรมดา ก็เพราะทัศนคติแบบ ‘Work hard, Play hard’ ไม่ปิดกั้นกับการลองอะไรใหม่ๆ ยิ่งเมื่อพาตัวเองเข้ามาอยู่ในเกย์คลับ สถานที่เที่ยวกลางคืนที่รวบรวมกลุ่มคนผู้ผ่านเหตุการณ์การถูกกดทับจากสังคมไว้ด้วยกัน ก็ยิ่งทำให้พวกเขากล้าเสี่ยงเพื่อความสุขมากขึ้น

ความเสี่ยงที่ว่า มาจากสารเสพติดและเซ็กส์

 

การมาถึงของแอปพลิเคชันหาคู่ (และคู่นอน) สำหรับชาวเกย์ อย่าง Grindr และแอปอื่นที่ใช้ประโยชน์ได้ใกล้เคียงกัน ทำให้ยุครุ่งเรืองของโลกแห่งเซ็กส์และสารเสพติดกลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายแบบไม่ต้องพึ่งพาไนต์คลับเหมือนยุคเก่าอีกต่อไป ในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2013 มีศัพท์ที่เรียกกันว่า ‘Chemsex’ หรือไพรเวทปาร์ตี้ที่ชาวเกย์นัดกันผ่านแอปเพื่อมาใช้สารเสพติดไปพร้อมๆ กับการมีเพศสัมพันธ์

สารที่ใช้กันในปาร์ตี้ลักษณะนี้มีลักษณะเด่นคือเป็นสารเสพติดที่ทำให้ผู้เสพย์เกิดความรู้สึก ‘ลอย’ และมีอารมณ์ทางเพศ มีเพศสัมพันธ์ได้นานโดยไม่ถึงจุดสุดยอดไปซะก่อน (บางปาร์ตี้ Chemsex ก็จัดกันเป็นวัน บางแห่งสามวันติดก็มี) มีตั้งแต่แบบแรง อย่าง GHB, ยาไอซ์ (Methamphetamine) หรือบางครั้งอาจจะไม่ได้ฮาร์ดคอร์และนานกันถึงขั้นนั้น แต่เป็นแค่การใช้สารเคมีในขวดเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘ป๊อปเปอร์’ ประกอบกับการมีเซ็กส์

ป๊อปเปอร์ยี่ห้อต่างๆ

ป๊อปเปอร์ หรือสารเอมิลไนไตรท์ (ปัจจุบันทำจากสารประกอบไนไตรท์ชนิดอื่นๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยลง) ในอดีตสมัยกลางศตวรรษที่ 19 เคยถูกใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดเค้นหัวใจ ต่อมาเมื่อมียาชนิดอื่นพัฒนามาใช้ทดแทน ผู้ผลิตจึงต้องหาตลาดใหม่ นั่นคือใช้เป็นยารักษาอาการพิษจากไซยาไนด์สำหรับทหารในสงครามเวียดนาม และเนื่องจากบรรจุภัณฑ์ของมันอยู่ในหลอดเล็กๆ ที่ต้องหักก่อนใช้ให้มีเสียงดัง ‘ป๊อป’ จากชื่อเคมีเรียกยากจึงถูกเรียกด้วยชื่อเล่นว่าป๊อปเปอร์เรื่อยมา

หลังหมดยุคสงคราม ป๊อปเปอร์เปลี่ยนร่างจากยารักษาโรคมาเป็นสารเคมีเพิ่มความสุขให้กับชาวเกย์ ด้วยการเนียนโฆษณาในนิตยสารเกย์ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรว่าเป็นน้ำหอมปรับอากาศ (เพื่อเลี่ยงข้อกฎหมาย) แต่ก็เป็นที่รู้กันว่านี่คือเครื่องมือที่ทำให้เซ็กส์ของกลุ่มเกย์มีความสุขและสนุกกว่าเดิม ด้วยสรรพคุณที่สูดดมแล้วทำให้เลือดสูบฉีดเป็นระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เกิดอาการลอย แถมยังทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดอาการเจ็บปวดจากการร่วมเพศทางทวารหนัก

(เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเกือบจัดให้ป๊อปเปอร์เป็นสารระเหยผิดกฎหมาย ความพยายามแบนครั้งนี้ทำให้ คริสปิน บลันท์ อดีตสมาชิกรัฐสภาจากพรรคอนุรักษนิยมถึงกับทนไม่ไหว ออกมายอมรับว่าตัวเองก็ใช้ และบอกว่าการจะแบนป๊อปเปอร์นี่มันช่าง ‘fantastically stupid’)

คุณูปการของป๊อปเปอร์ไม่ได้หยุดแค่ในสังคม LGBTQ ด้วยคุณสมบัติความเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ในการใช้สารเคมีเพื่อความสุขของกลุ่มเกย์ ทำให้วัฒนธรรมไนต์คลับและดิสโก้ในยุค 1970-1990 ของชายหญิงทั่วๆ ไปได้รู้จักกับป๊อปเปอร์ในฐานะเครื่องมือที่ทำให้ปาร์ตี้สนุกสุดเหวี่ยง หลายคลับใช้มันเป็นน้ำยาปรับอากาศให้คนเคลิ้ม บางคนพกขวดเล็กๆ ไปใช้และส่งต่อกันเป็นทอดๆ

โลกของป๊อปเปอร์จึงไม่ได้จบแค่บนเตียง แต่ยังข้ามเขตแดนมาสู่โลกภายนอก เป็นส่วนช่วยให้บรรยากาศของไนต์คลับให้เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

ถึงป๊อปเปอร์จะป๊อปแค่ไหน ตัวมันเองก็มีอันตรายหากกินเข้าไปหรือสูดดมสูตรที่มีไนไตรท์ในปริมาณสูง แถมยังมีงานวิจัยบอกด้วยว่าการสูดดมป๊อปเปอร์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานก็มีผลข้างเคียงกับการมองเห็นด้วยเช่นกัน ไม่ต้องพูดถึงกฎหมายไทย ที่จัดให้สารเคมีประเภท Volatile Alkyl Nitrite เป็นสารระเหยควบคุมตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 มีสภาพผิดกฎหมาย ห้ามซื้อขาย (แต่ก็ยังมีช่องทางทำกินตามสไตล์ไทยแลนด์)

เช่นเดียวกับสารเคมีที่ทำให้เสพติดชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นป๊อปเปอร์ที่สร้างความสุขบนเตียงเพียงชั่วคราว หรือยาชนิดอื่นที่แรงกว่าและทำให้เรื่องบนเตียงสนุกสนานแบบน็อนสต็อป จะแค่ใช้ยาเพื่อปล่อยตัวเองไปจากโลกแห่งความเป็นจริง หรือจะเป็นเพศไหนที่ทำให้ความสุขแบบนี้แพร่กระจาย

ไม่ว่าจะเป็นใคร สารเคมีชนิดไหน ความสุขที่ต้องเอาสุขภาพและชีวิตเข้าไปเสี่ยงก็มีราคาที่ต้องจ่ายไม่ต่างกัน

 

แต่สิ่งที่ได้กลับมาจะคุ้มค่าหรือเปล่า – ตัวเราเท่านั้นที่ตอบได้

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ How Gay Clubs Changed the Way We Take Drugs ของ Max Daly จาก Vice, December 1, 2015

-รายงาน NEW STUDY: DRUGS AND THE GAY COMMUNITY จาก eurad.net

-บทความ What is chemsex? And how worried should we be? ของ Barbara Speed จาก New Statesman, April 8, 2016

-บทความ Poppers: How gay culture bottled a formula that has broken down boundaries ของ Oscar Quine จาก Independent, January 22, 2016

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save