fbpx
เปิดโลกความรู้เด็กออทิสติกในสังคมไทย ผ่านสายตาของ รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ

เปิดโลกความรู้เด็กออทิสติกในสังคมไทย ผ่านสายตาของ รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

ปัจจุบัน เรามักได้ยินคำว่า “เด็กพิเศษ” บ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กออทิสติก ซึ่งพบจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สังคมไทยยังมีความเข้าใจในเรื่องเด็กออทิสติกไม่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะกระบวนการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งไม่มียารักษาใดสามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ เพราะกระบวนการรักษาที่ดีที่สุด คือ การใช้ “ยาใจ” หรือการเปิดโอกาสให้เด็กได้คืนกลับสู่สังคมด้วยการยอมรับและเข้าใจ

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำหลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นอาจารย์คนแรกที่ลุกขึ้นมาเปิดโอกาสให้กับเด็กออทิสติกเรียนร่วมกับเด็กปกติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา

แม้ว่าปัจจุบันอาจารย์ดารณีจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังคงมีบทบาทช่วยดูแลเด็กออทิสติกในหลายด้านด้วยความรักและความเข้าใจ จนทำให้เด็กหลายคนสามารถเรียนจบ ได้รับใบปริญญาจากรั้วมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข

ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ อาจารย์ดารณีได้นำประสบการณ์ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา มาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กออทิสติกอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนเปิดโอกาสให้กับเด็กกลุ่มนี้คืนกลับสู่สังคมไทยมากขึ้น

ไม่มีสังคมไหนที่มีคนสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ การยอมรับความแตกต่างเท่านั้นจึงจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ

อยากให้ช่วยอธิบายความหมายของคำว่า “ภาวะออทิสซึม (Autism)” ว่าหมายถึงอะไร

นักจิตวิทยาทั่วโลกอธิบายว่า บุคคลออทิสติก คือ บุคคลทั่วไปที่มีพฤติกรรมบางอย่างมากเกินไป หรือพฤติกรรมบางอย่างน้อยเกินไป ในภาษาอังกฤษจะใช้คำอธิบายว่า “A person with Autism” หมายถึง คนๆ หนึ่งที่มีภาวะออทิสซึมอยู่ในตัว ซึ่งภาวะนี้จะอยู่กับคนนั้นไปตลอดชีพ ถ้าได้รับการบำบัดตั้งแต่เล็ก โอกาสจะพัฒนาไปสู่ภาวะใกล้เคียงกับคนปกติจะมากขึ้น แต่อาจไม่ได้หายไปร้อยเปอร์เซ็นต์

ลักษณะพฤติกรรมที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะออทิสซึมมีอะไรบ้าง

ปัจจุบันเราใช้การวินิจฉัยที่เรียกว่า “Autism Spectrum Disorder” หรือ ASD เหมือนปริซึมที่ฉายแสงเป็นสเปคตรัมออกมา ซึ่งมีช่วงกว้างของภาวะออทิสซึมครอบคลุมตั้งแต่เด็กปัญญาอ่อน (low functioning) ไปจนถึงเด็กอัจฉริยะ (high functioning) โดยทุกคนจะมีคุณสมบัติหลักร่วมกัน 3 ข้อ แต่ระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป

ข้อแรก คือ ความบกพร่องของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เราเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า Autism มาจากคำว่า Auto หมายถึงตัวเองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเวลาทำงานกลุ่ม เพราะเขาจะยึดมั่นในความคิดตนเอง ไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นคิดไม่เหมือนตัวเขา การรับฟังมุมมองของคนอื่นยากมาก ทุกคนจะมีปัญหาเรื่องสังคมในลักษณะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่ปฏิสัมพันธ์กันคนอื่น อยู่ในโลกส่วนตัวของตนเอง จนถึงปฏิสัมพันธ์แบบแปลกๆ สมมติว่าเพื่อนกำลังเล่นกันอยู่ อยากเข้าไปเล่นด้วย เขาก็เดินพุ่งเข้าไปเลย มักพูดจาไม่เข้าหูใคร ไม่รู้กาลเทศะ อยากพูดก็พูด เพราะเขาจะไม่เข้าใจบริบททางสังคมและไม่สามารถคิดวิเคราะห์จากมุมมองของคนอื่นได้

ข้อสอง คือ พัฒนาการทางภาษา พบได้ตั้งแต่เด็กที่มีความบกพร่องทางภาษาไปจนถึงมีอัจฉริยภาพทางภาษา เด็กที่มีอัจฉริยภาพทางภาษาจะสามารถเรียนรู้ภาษาต่างๆ ได้รวดเร็วกว่าเด็กทั่วไป เพราะคุณสมบัติเด่นของเด็กออทิสติก คือ มีความจำเป็นเลิศ แต่จะแตกต่างจากเด็กทั่วไป คือ มีวิธีการสื่อสารแปลกๆ ที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ เนื่องมาจากมีความบกพร่องในด้านการเข้าสังคมร่วมด้วย

ส่วนเด็กที่มีความบกพร่องทางภาษามีตั้งแต่เริ่มพูดช้ากว่าเกณฑ์เด็กทั่วไป เช่น อายุ 2 ขวบแล้วยังไม่พูด ไปจนถึงไม่มีภาษาพูดเลยตลอดชีวิต เพราะสมองส่วนที่ใช้ในการสื่อสารบกพร่อง ไม่สามารถรักษาได้ เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถเรียบเรียงออกมาเป็นภาษาพูดได้ แต่สามารถฟังคนอื่นเข้าใจ เพียงแต่เขาเรียบเรียงประโยคของตนเองออกมาเพื่อสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น หลานของอาจารย์เองตอนนี้อายุจะสามสิบแล้ว ยังพูดออกมาไม่เป็นคำที่มีความหมาย ขนาดเราพามาหาหมอตั้งแต่เด็ก กระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบก็ยังสื่อสารไม่ได้ เขาจะไปไหนมาไหนคนเดียวลำบาก แต่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ว่ายน้ำเก่งเพราะบ้านอยู่ริมแม่น้ำ และใช้ชีวิตในชุมชนที่บ้านต่างจังหวัดได้

ข้อสาม คือ มีพฤติกรรมบางอย่างแปลกกว่าคนทั่วไป แต่พฤติกรรมร่วมที่พบบ่อยสำหรับเด็กกลุ่มนี้ คือ การทำอะไรซ้ำๆ มีแบบแผนการดำรงชีวิตเดิมๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เพราะเขาจะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ มีความสนใจดิ่งเดี่ยวในบางเรื่องแบบลงลึกเฉพาะ จนเด็กบางคนมีอัจฉริยภาพด้านนั้นไปเลย

เด็กกลุ่มนี้จะเป็น visual learner คือ เรียนรู้ได้ดีจากการมองเห็นมากกว่าการได้ยิน (auditory learner) เวลามองเห็นภาพอะไรก็จะจำได้แม่น แต่จะไม่มองภาพรวม มีความสนใจเฉพาะจุด เช่น ถ้ามองแจกัน เขาจะไม่ดูแจกันทั้งอัน เขาอาจจะมองไปที่โบว์ผูกแจกัน หรือดอกไม้ดอกหนึ่งในแจกัน บางคนอาจมีความผิดปกติของระบบประสาทสัมผัสไวหรือต่ำกว่าคนปกติ เช่น บางคนได้ยินเสียงระบบเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายตัวเอง หรือบางคนระบบการฟังล้มเหลวไม่ได้ยินอะไรเลยก็มี

ความเหมือนและความแตกต่างทางด้านอารมณ์ระหว่างเด็กออทิสติกกับคนทั่วไปเป็นอย่างไร

ตามปกติ คนทั่วไปและบุคคลออทิสติกจะมีความเหมือนกันในเรื่องนิสัยชอบทำอะไรซ้ำๆ อย่างเช่น เราชอบทานอาหารร้านนี้ ไปทีไรเราก็ชอบสั่งอาหารเมนูนี้ หรือเวลาชอบนั่งเก้าอี้ตัวไหน คนทั่วไปก็มีแนวโน้มว่าจะชอบนั่งเก้าอี้ตัวเดิม บุคคลออทิสติกก็เหมือนกัน แต่ว่าเขาจะเป็นมากกว่าคนทั่วไป ถ้าเขาไม่ได้นั่งตรงที่ประจำจะยอมรับไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด เด็กบางคนไม่ยอมกินข้าวจนกว่าจะได้นั่งเก้าอี้ตัวเดิม บางคนรอไม่ไหวถึงขนาดไปเชิญคนที่นั่งอยู่ก่อนให้ลุกออกไปก็มี

วิธีสื่อสารกับเด็กกลุ่มนี้ คือ บอกให้เด็กรับรู้ล่วงหน้าว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเด็กควรทำตัวอย่างไร เช่น ก่อนออกจากบ้านต้องบอกเด็กว่า ถ้าไปถึงมีคนนั่งโต๊ะประจำอยู่แล้ว เราจะไปนั่งโต๊ะอื่นกันนะ เด็กก็จะยอมรับได้ ถ้าครอบครัวเข้าใจและมีวิธีการจัดการกับพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้ เด็กก็จะอยู่ร่วมในสังคมได้ตามปกติ เพราะจริงๆ เขาคือเด็กคนหนึ่งที่อาจมีอะไรมากหรือน้อยเกินกว่าเด็กทั่วไป

พ่อแม่จะสังเกตอาการออทิสติกได้ตั้งแต่ลูกอายุเท่าไหร่

ตอนนี้อายุห้าหกเดือนก็วินิจฉัยเจอแล้ว ถ้าพ่อแม่สังเกตพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิดก็จะทำให้วินิจฉัยเจอได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นเด็กเล็กต่ำกว่าหนึ่งขวบ สามารถสังเกตจากพฤติกรรมตอบสนองทางสังคม เช่น เวลายิ้มให้ไม่ยิ้มตอบ เล่นจ๊ะเอ๋แล้วเด็กไม่ตอบสนอง ปรบมือเรียกก็ไม่หันตาม อยู่ในโลกส่วนตัว เหมือนคนรอบข้างไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น หรือเด็กบางคนเลี้ยงง่ายมาก ขนาดนั่งจมกองฉี่ยังไม่ร้องไห้เลย ถ้าเป็นแบบนี้เรียกว่าไม่ปกติแล้ว

พอถึงหนึ่งขวบ เด็กบางคนจะเริ่มพูดอ้อแอ้ และพัฒนาเป็นคำพูดทีละคำ ถ้ารอถึงสองขวบยังไม่พูดแสดงว่าเริ่มมีปัญหา นอกจากนี้ ลองสังเกตพฤติกรรมชอบทำอะไรซ้ำๆ ในรูปแบบเดิม ถ้าไม่ได้ทำจะอาละวาดจนคนรอบข้างควบคุมไม่อยู่ เช่น ถ้าก่อนนอนเคยทำแบบนี้แล้ววันไหนไม่ได้ทำ ก็จะอาละวาดไม่ยอมนอน ถ้าเด็กมีคนเลี้ยงหลายคน การส่งต่อข้อมูลการเลี้ยงดูสำหรับเด็กออทิสติกต้องเป๊ะมาก

หลังจากทราบว่าลูกเป็นออทิสติกต้องทำยังไงบ้าง

หัวใจสำคัญของการรักษาเด็กกลุ่มนี้ คือ early detection และ early intervention ถ้าเริ่มพบเร็วเท่าไหร่ และให้การบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่แรกพบ เด็กจะมีโอกาสพัฒนาได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก high functioning ซึ่งมีโอกาสพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้บางด้านไปได้ไกลกว่าเด็ก low functioning

กระบวนการรักษาต้องทานยาไหม

ไม่มียารักษาภาวะออทิสติกโดยตรง แต่เด็กบางคนจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อควบคุมอารมณ์ไม่ให้เกิดความวิตกกังวลจนนอนไม่หลับหรืออาละวาดจนคนอื่นไม่ได้หลับไม่ได้นอน เช่น เด็กบางคนในช่วงก่อนสอบต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรับยาคลายเครียด เด็กบางคนเคยชักตกเก้าอี้กลางห้องสอบเพราะเครียดที่สอบติดต่อกันหลายวิชา หรือเด็กบางคนอาละวาดจนคนในครอบครัวเอาไม่อยู่ต้องเรียกรถโรงพยาบาลมารับตัวไปก็มี

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ
ดร. ดารณี ถ่ายภาพหน้าห้องนวัตกรรมการเรียนรู้การศึกษาพิเศษ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษ “คุณพุ่ม”

การดูแลเด็กออทิสติกต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้กลับสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ

ปัญหาหลักของเด็กออทิสติก คือ การควบคุมอารมณ์ ดังนั้น พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจลักษณะของภาวะออทิสติกว่าเป็นอย่างไร และเมื่อเกิดปัญหาต้องมีวิธีการสื่อสารอย่างไร เพราะเขาเป็นเด็กตรงไปตรงมา เป็นเด็กใสซื่อและจริงใจมาก เด็กออทิสติกจะคิดว่า ถ้าเขาดีกับใคร ทุกคนก็ต้องดีตอบ เขาจึงตกเป็นเหยื่อคนอื่นได้ง่ายและถูกเพื่อนแกล้ง เพราะไม่ชอบการพูดจาตรงไปตรงมาของเด็กกลุ่มนี้

ในอีกด้านหนึ่ง เวลาเพื่อนแกล้งเขามากๆ ถ้าเป็นเด็กโต เขาก็เอาคืนเหมือนกัน แต่กระบวนการคิดของเขาจะแปลกๆ เพราะเขายึดตัวเองเป็นหลัก ไม่มีมุมมองที่กว้าง คิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราไม่ได้ ตรงนี้จะเป็นอันตรายหลายอย่างเพราะเราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ ดังนั้น ถ้าใครดีกับเขา เขาจะดีตอบ ใครร้ายกับเขา เขาก็จะเอาคืนในวิธีของเขา ถ้าเราเข้าใจเขา เราจะรักเขา

เท่าที่ฟังมาข้างต้น ภาวะออทิสติกดูเหมือนเป็นดาบสองคม ถ้าคนรอบข้างไม่เข้าใจก็อาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมาได้

ใช่ค่ะ ข้อเด่นของเด็กกลุ่มนี้คือมีอัจฉริยภาพด้านความจำเป็นเลิศ และชอบทำอะไรซ้ำๆ กัน ถ้าเราส่งเสริมเขาในทางที่ดี ก็จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดี แต่ถ้าเขาถูกชักจูงไปในทางไม่ดี ก็จะคิดเรื่องไม่ดีซ้ำๆ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นเรื่องไม่ดี เพราะเขาจะคิดจากมุมมองตนเองเท่านั้น และไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ ตรงนี้จะเป็นเรื่องอันตรายมาก ดังนั้น พ่อแม่ต้องระมัดระวังสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามาสู่ตัวเขา เพราะถ้าฝังใจอะไรแล้วจะอยู่กับเรื่องนั้นแบบจำไม่ลืมเลย

สิ่งที่ต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาต่อเด็กออทิสติกในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

สิ่งที่เป็นอันตรายมากที่สุด คือ การติดเกม เด็กกลุ่มนี้จะเก่งในเรื่องการมองด้วยภาพ ดังนั้น เขาสามารถเข้าไปโปรแกรมอะไรต่างๆ ในเกมได้ลึกกว่าเด็กทั่วไป และหลุดเข้าไปในโลกของเกมจนถอนตัวไม่ขึ้น นิสิตที่เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยทำท่าจะเรียนไม่จบ หรือต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลเลยก็มี เด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองถ้าไม่ได้ทำในสิ่งที่เคยทำ อีกเรื่องที่ต้องระมัดระวังเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น คือ เรื่องเพศ เด็กบางคนถูกเพื่อนชักจูงไปหมกมุ่นกับเรื่องนี้จนเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง

ผู้ปกครองที่มีเด็กออทิสติกอยู่ในบ้านควรระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง

พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการดูละครพร้อมกับเด็กออทิสติก เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากเด็กไม่เข้าใจว่าคำพูดไหนควรจะนำมาใช้เมื่อไหร่ให้ถูกกาลเทศะ และเด็กกลุ่มนี้มักจะมีความจำเป็นเลิศ คำพูดตัวละครเมื่อคืนเด็กยังจำมาใช้ที่โรงเรียน หรือบางทีนั่งเรียนอยู่ก็หัวเราะขึ้นมาเพราะคิดถึงคำพูดในละครโดยไม่สนใจครูที่อยู่ตรงหน้าว่ากำลังสอนเรื่องอะไร คนปกติดูแล้วก็จะลืมเรื่องเดิมไป แต่เด็กออทิสติกจะไม่ลืม เหมือนเราฝังข้อมูลมากมายเข้าไปในสมองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่บางคนบอกว่า ขนาดคำพูดเมื่อสามปีที่แล้วเด็กยังจำได้เลย

การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเด็กอย่างไร

บางทีเด็กออทิสติกที่เรียนเก่งจะไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกเด็กปกติ ไม่ยอมเรียนหนังสือ เขาก็ไปบอกเพื่อนว่า “พ่อแม่ส่งมาเรียนหนังสือ ทำไมไม่ตั้งใจเรียน โง่จัง” เพื่อนก็โกรธ เพราะเขาไม่รู้ว่าควรพูดยังไง ถ้าเป็นเด็กไอคิวดี เขาจะเสียใจเพราะไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนไม่เห็นตามเขา เด็กพวกนี้จะอ่อนไหวง่ายถ้าคนอื่นไม่เข้าใจเขา เพราะเขาไม่เข้าใจความคิดของคนอื่น หรือ เด็กกลุ่มนี้จะไม่เข้าใจเหตุผลของคนอื่นเพราะเขาจะคิดจากมุมมองตนเองเท่านั้น

ยกตัวอย่าง กรณีเด็ก ม. 2 คืนก่อนสอบคอมพิวเตอร์ไม่สบายเลยไม่อ่านหนังสือมา พอถึงเวลาสอบก็ไม่ยอมเข้าไปสอบ ครูเลยบอกว่า “ถ้าไม่สอบจะถือว่าสอบตกนะ” เด็กก็ถามว่า “ยังไม่ได้เข้าห้องสอบแล้วจะสอบตกได้ยังไง” หลังจากนั้นเด็กก็พูดประโยคคำถามนี้ซ้ำๆ จนถึงสามทุ่มก็ยังพูดประโยคเดิมจนแม่ต้องโทรมาปรึกษาและอาจารย์ไปช่วยคุยกับอาจารย์ประจำวิชาให้เด็กได้เข้าสอบอีกครั้ง

ปัญหาความวิตกกังวลของเด็กออทิสติกส่งผลอย่างไรบ้าง

ถ้าเด็กเกิดความวิตกกังวลจะนำไปสู่ความเครียด ถ้าเราไม่สามารถทำให้เด็กคลายความวิตกกังวลได้ เด็กก็จะเกิดความเครียดสูงจนควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ถ้าเขากังวลเรื่องอะไรก็จะอยู่กับเรื่องนั้น ไม่หลุดออกมาเลย เช่น เคยมีเด็กทำยาสีฟันของตนเองหาย ถ้ายังหาไม่เจอก็จะไม่ยอมเข้าห้องเรียน เขาไม่สามารถปล่อยวางความกังวลได้ด้วยตนเอง เราก็ต้องช่วยเขาด้วยการไปซื้อยาสีฟันหลอดใหม่แล้วบีบทิ้งไปบางส่วนให้เหลือเท่ากับหลอดที่หายไป เขาถึงจะเชื่อว่าเป็นของตนเอง

เด็กออทิสติกเหมาะกับการเรียนโฮมสคูลหรือเรียนในระบบมากกว่ากัน

เด็กกลุ่ม low functioning จะได้ประโยชน์น้อยมากจากการเรียนรวม เหมาะกับโฮมสคูลมากกว่าเพราะเด็กจะมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย ส่วนเด็กกลุ่ม high functioning ได้ประโยชน์มากจากการเรียนรวม ถ้าเราไม่พัฒนาเขาอย่างมีคุณภาพ ก็มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเด็ก low functioning

โครงการของสาธิตเกษตร คัดเลือกเด็กอย่างไร

เนื่องจากเราสามารถรับเด็กได้ปีละ 5 คนเท่านั้น ดังนั้น เด็กในโครงการเราจะเป็น high functioning ​ที่มีไอคิว 70-100 กว่าขึ้นไป เพราะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพได้มากกว่ากลุ่ม low functioning

เด็กทั้งหมดจะเป็นเด็กจาก รพ.ยุวประสาทฯ เพราะเป็นความร่วมมือระหว่างเรากับโรงพยาบาลมาตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2534 เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ส่งไปที่โรงเรียนไหนก็ถูกปฏิเสธ เราจึงลองเริ่มโครงการที่สาธิตเกษตรเป็นแห่งแรก และกลายเป็นนโยบายของโรงเรียนเรื่องจัดการเรียนรวมเพื่อให้โอกาสกับเด็กพิเศษกลุ่มนี้ได้พัฒนาศักยภาพมากขึ้น

ปัจจุบันมีเด็กออทิสติกรวมตั้งแต่เตรียม ป.1 ถึง ม.6 จำนวน 80 กว่าคน แล้วเรายังตามไปดูเด็กเราที่เข้ามหาวิทยาลัยจนรับปริญญาเลย

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ
งานฉลองเด็กออทิสติกในโครงการของสาธิตเกษตรที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การจัดการระบบเรียนรวมระหว่างเด็กออทิสติกและเด็กทั่วไปต้องทำอย่างไร

หนึ่ง นโยบายของโรงเรียนต้องชัดเจน

สอง ทำความเข้าใจและให้ความรู้กับครูทั้งโรงเรียน

สาม มีครูการศึกษาพิเศษเป็นหน่วยสนับสนุนครูประจำวิชาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเราไม่มีหน่วยสนับสนุนครู ครูจะไม่สามารถแบกรับภาระการเรียนรวมของเด็กพิเศษกับเด็กปกติได้เลย เพราะลำพังเด็กนักเรียนปกติห้องละ 30-40 คน ครูก็ลำบากอยู่แล้ว ถ้ามีเด็กออทิสติกหรือเด็กพิเศษประเภทอื่นเข้าไปเรียนร่วมด้วย ครูก็จะยิ่งมีภาระมากขึ้น เราจึงต้องมีหน่วยสนับสนุนครูอีกชั้นหนึ่ง เพราะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เยอะมากที่เราต้องช่วยดูแล

ขั้นตอนการปรับตัวของเด็กในการเรียนรวมต้องทำอย่างไร

เด็กปกติเราจะเปิดรับตอน ป.1 แต่เด็กออทิสติกเราจะรับตั้งแต่ระดับอนุบาล 3 เพียง 5 คนเท่านั้นเพื่อเตรียมความพร้อม โดยมีครูการศึกษาพิเศษดูแลอย่างน้อย 3 คน เพราะต้องให้เขาเริ่มปรับตัวกับกลุ่มเล็กๆ ก่อน พอขึ้น ป.1 และ ป.2 เราจะค่อยๆ ให้เด็กเริ่มปรับตัวในห้องเรียนที่มีเด็กรวมกัน 30-40 คนแค่บางวิชาที่ไม่เน้นวิชาการ คือ ศิลปะ พละ ดนตรี และเพิ่มทักษะทางสังคมให้เด็กได้ไปกินข้าวพร้อมกับเพื่อนๆ

พอถึง ป.3 เราก็จะให้เขาเรียนรวมห้องใหญ่ทุกวิชา เพื่อฝึกการปรับตัว อดทนเสียงจอแจได้ ส่วนวิชาการอาจได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร เราแค่ขอให้อยู่กับเพื่อนแล้วไม่หงุดหงิดทุบตีเพื่อน หรือโวยวายจนเพื่อนไม่เป็นอันเรียนก็พอแล้ว

เราไม่ได้ส่งเด็ก 5 คนไปเรียนห้องเดียวกัน แต่จะกระจายส่งไปห้องละ 2 คน กับ 3 คน แล้วส่งครูการศึกษาพิเศษตามไปด้วยอีกห้องละหนึ่งคน โดยครูการศึกษาพิเศษจะทำหน้าที่เป็นครูประจำชั้นแล้วสอนร่วมกับครูปกติ ทั้งด้านสังคม วิชาการ การปรับตัว รวมถึงการดูแลเด็กปกติให้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือ เป็นการฝึกให้เด็กสร้างสังคมของการอยู่ร่วมกัน

เพราะฉะนั้นเราใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก ในอัตราทั่วไปของเด็กออทิสติก คือ ครูหนึ่งคนต่อเด็ก 2-3 คน ครูการศึกษาพิเศษของเราในบางเรื่องจะสอนร่วมกับครูปกติเรียกว่า co-teaching ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับในต่างประเทศ เราไม่มีห้องพักครู ชั้น ป.3 บางห้องมีครูประจำชั้น 4 คน ทุกคนนั่งอยู่ในห้องหมดเลย เราใช้รูปแบบนี้จนถึง ม.6 เลย

เราไม่ได้รับครูที่มีการศึกษาพิเศษเท่านั้น แต่รับครูทุกสาขาที่ยินดีจะมาสอนเด็กออทิสติก โดยจัดการอบรมวิธีการดูแลและวิธีการปรับพฤติกรรมให้กับครู ครูส่วนใหญ่อยู่จนถึงวัยเกษียณอย่างมีความสุขเพราะเราให้เขามาด้วยความสมัครใจอยู่แล้ว

การสอนให้เด็กปกติยอมรับเพื่อนที่เป็นออทิสติกต้องทำอย่างไร

จริงๆ การบอกเด็กให้ยอมรับเพื่อนง่ายมาก โดยเฉพาะเด็ก ป.3 ซึ่งเป็นวัยที่เด็กเริ่มรู้เรื่องแล้ว เราจะเตรียมความพร้อมเพื่อนในห้องก่อนพาเด็กออทิสติกเข้าห้องเรียนว่า “เดี๋ยวพวกหนูจะมีเพื่อนใหม่ที่ไม่เหมือนเพื่อนที่หนูเคยรู้จักตอน ป.1 และ ป.2 นะ” แล้วอธิบายด้วยการยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า “หนูดูดอกไม้นี่สิ แต่ละดอกเหมือนกันไหม เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน หนูจะมีเพื่อนที่อาจวาดรูปเก่งมากเลย แต่ถ้าเขาพูดกับหนู หนูอาจไม่เข้าใจเขา เขาอาจอยากเล่นกับหนู แต่เขาบอกไม่เป็น เขาอาจมาตีหนู แต่เขาไม่ได้มาแกล้งหนูนะ เขาแค่อยากมาขอหนูเล่น” เราจะค่อยๆ อธิบายภาพรวมให้เข้าใจเพื่อนก่อน พอเขาเข้าใจแล้วเขาจะอยากช่วยเรา เราก็จะบอกเด็กว่า “หนูช่วยดูแลเพื่อนด้วยนะ ถ้าเขาระบายสีนอกกรอบ ช่วยสอนเพื่อนด้วย” เด็กที่ช่วยเพื่อนก็จะเกิดความภาคภูมิใจ บางคนมาบอกว่า “หนูมีความสุขมาก วันนี้เพื่อนระบายสีในกรอบได้แล้ว”

การสร้างความเข้าใจในกลุ่มผู้ปกครองเด็กออทิสติกต้องทำอย่างไร

เราจะมีการประชุมและสร้างเครือข่ายของผู้ปกครองให้ช่วยเหลือกัน พ่อแม่ที่มีลูกเรียน ป.3 ก็จะช่วยให้ข้อมูลและคำปรึกษากับพ่อแม่ที่มีลูกเรียน ป.1

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติกต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติกมีหลายประเภท บางคนพอยอมรับว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ ลูกก็กลายเป็นเทวดา ไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ ต้องมองว่า ลูกเราก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ฝึกได้ บางทีเขาทำได้ดีเกินคาด ถ้าเริ่มบำบัดตั้งแต่เล็ก โอกาสที่ลูกจะเข้าสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติจะสูงมาก

ถ้าเราเข้าใจว่าแพทเทิร์นของเขาเป็นยังไง เราก็จะรู้วิธีจัดการ ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือปัญหาทางอารมณ์

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากเสริมคือ เด็กต้องมีความสุข ต้องรู้สึกปลอดภัย เด็กเราไม่มีใครไม่อยากมาโรงเรียน แม่บอกว่าเป็นไข้ก็ยังอยากมาโรงเรียน เพราะเด็กรู้สึกปลอดภัย และมีความสุข พยายามจัดโอกาสให้เขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ พ่อแม่ต้องเป็นฐานที่สำคัญ

คุณแม่หลายคนสุดยอดมาก บางคนบอกว่า เขาดีใจที่มีลูกเป็นออทิสติกเพราะน่ารักกว่าลูกคนอื่นๆ ลูกคนนี้จะถามแม่ทุกวัน แม่หิวไหม พี่น้องคนอื่นที่เป็นเด็กเรียนเก่ง ไม่เคยถามแม่เลย แม่คนนี้บอกว่า ไม่เคยอายว่ามีลูกเป็นออทิสติก พาไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด แม่ขออย่างเดียวให้ลูกมีความสุขและดูแลตนเองได้ เรียนเก่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ อยากให้ลูกมาโรงเรียน มีความสุข หุงข้าว เจียวไข่ได้ก็พอ

จุดเด่นและจุดด้อยของเด็กออทิสติกที่พ่อแม่ควรยอมรับและหาทางพัฒนาศักยภาพของลูกมีอะไรบ้าง

เด็กออทิสติกมีจุดเด่นเรื่องความจำเป็นเลิศ ถ้าพ่อแม่ชักจูงเขาไปในสิ่งที่เขาสนใจ เขาก็พัฒนาศักยภาพไปในทางนั้นได้ดีจนอาจกลายเป็นเด็กอัจฉริยะ หรือ autistic gifted แต่ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องระมัดระวังสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เพราะเด็กจะวิเคราะห์เองไม่ได้ เช่น การดูละครทีวีฉากตบตีกัน เด็กกลุ่มนี้จะแยกแยะไม่ได้ว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนจินตนาการ เพราะเด็กออทิสติกไม่มีจินตนาการ ระบบความคิดของเขาจะตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ การวางแผนกับลูกควรทำล่วงหน้า เช่น พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กออทิสติกเรียนรู้ด้วยวิธีไหนถึงจะเหมาะกับสมองของเขามากที่สุด เพราะเด็กแต่ละคนจะมีวิธีที่แตกต่างกัน

เด็กกลุ่มออทิสติกมักจะเรียนได้ดีในสาขาวิชาอะไร

สาขาที่เป็นความรู้แบบตรงไปตรงมา ใช้การท่องจำ ไม่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ เพราะเด็กกลุ่มนี้ความจำเป็นเลิศ อาทิ วิศวะ ภาษา ดนตรี ศิลปะ หรือประวัติศาสตร์ก็เรียนได้ อย่างเช่นดนตรีต้องอาศัยการฝึกฝนซ้ำๆ หรือ ศิลปะแนววาดภาพเหมือน บางคนมองภาพตัวอย่างปุ๊บ วาดเหมือนเป๊ะเลย แต่สาขาที่ต้องใช้ทักษะทางสังคมด้วยจะลำบาก เช่น แพทย์ เพราะต้องสื่อสารกับคนไข้ จิตวิทยา หรือพวกสาขาที่เกี่ยวกับการสื่อสาร

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ
ดร.ดารณีถ่ายภาพคู่กับนักศึกษาออทิสติกที่มีอัจฉริยภาพทางดนตรีที่เข้าเรียนที่สาธิตเกษตรตั้งแต่ ป.1 ปัจจุบันทำงานสอนดนตรีและเล่นดนตรี

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ

ข้อดีของระบบการเรียนรวม

เราทำมา 26 ปีแล้ว เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มหัศจรรย์มาก ถามว่ายากไหม ตอนที่เริ่มต้นปี 2534 เรื่องการเรียนรวมยังไม่ต้องพูดถึง เพราะขนาดออทิสติกยังไม่มีใครรู้จักเลย คุณหมอเพ็ญแข ลิ่มสิลา จาก รพ.ยุวประสาทฯ ขอให้เราช่วยหน่อยได้ไหม เพราะเด็กได้รับการบำบัดที่โรงพยาบาลแล้ว แต่พอส่งไปโรงเรียนไหน เขาก็ตีคืนหมดเลย

โดยกระบวนการพัฒนาเด็กออทิสติกที่ดีที่สุด คือการส่งเด็กคืนกลับสู่สังคมเพื่อให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กทั่วไป เพราะเด็กออทิสติกจะเลียนแบบได้ดี และเด็กปกติจะเป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้ที่ดีมาก ดังนั้น การเรียนรวมจะมีประโยชน์มากสำหรับเด็กออทิสติก

ทำไมจำนวนเด็กออทิสติกจึงเพิ่มมากขึ้น  

หนึ่ง เรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มขึ้นและกล้าเปิดเผยกันมากขึ้น ในเมืองไทยได้อานิสงส์จากคุณพุ่ม เจนเซ่น ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น พ่อแม่ยอมรับ เปิดเผยมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นสังคม เดี๋ยวนี้พ่อแม่รุ่นใหม่ตื่นตัวมาก บางคนสังเกตลูกตั้งแต่หนึ่งขวบก็พาไปหาหมอแล้ว

สอง เราค้นพบว่า การเปลี่ยนเแปลงของสิ่งแวดล้อมทำให้มีเด็กออทิสติกมากขึ้นจริง เพราะภาวะออทิสติกเกี่ยวข้องกับระบบสมองของเด็กตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น แถวรอบๆ ซิลิคอนวัลเล่ย์ แคลิฟอร์เนีย ศูนย์กลางเทคโนโลยีของอเมริกา ปัจจุบัน พบจำนวนเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะอยู่ในบริเวณที่ต้องผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้สารตะกั่ว นอกจากนี้สภาวะความเครียดของแม่ขณะตั้งครรภ์ก็มีผลกับภาวะออทิสติก โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ เพราะคุณแม่อายุน้อยที่มีลูกคนแรกก็ยังมีโอกาสเป็นเด็กออทิสติก

สาม เกณฑ์การวินิจฉัยเปลี่ยนไป สมัยก่อนต้องคุณสมบัติครบทุกแบบ  (full criteria) แต่ตอนนี้เราใช้ช่วงสเปคตรัมทำให้ช่วงกว้างขึ้น ล่าสุดอเมริกาประกาศว่า อัตราส่วนเด็กออทิสติกกับเด็กปกติ คือ 1 ใน 50 คน จากก่อนหน้านี้ 1 ใน 68 คน แสดงว่ามีเด็กออทิสติกเพิ่มมากขึ้น

พ่อแม่เด็กปกติมีฟีดแบคยังไง

มีทั้งเชิงลบ และเชิงบวก ตอนที่พ่อแม่พาลูกมาเข้า ป.1 เราจะประชุมพ่อแม่เด็กปกติว่า โรงเรียนเรามีนโยบายรับเด็กออทิสติกมาเรียนรวมกับเด็กปกติ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ทุกคนจะต้องร่วมมือกับเรา สอนลูกให้ดูแลเพื่อนที่แตกต่าง คุณพ่อคุณแม่โชคดีที่มีลูกเป็นเด็กปกติทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในสังคมของเรา ลูกเราต้องอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ถึงกระนั้นก็มีพ่อแม่ที่ไม่เปิดใจยอมรับ เราต้องต่อสู้ฟาดฟันกับเรื่องนี้มาตลอด

เวลามีเคสพ่อแม่เด็กปกติไม่ยอมรับเด็กออทิสติก ทางโรงเรียนแก้ปัญหาอย่างไร

เคยมีกรณีเด็กออทิสติกไปทำให้เพื่อนรำคาญ เพราะถ้าเขาชอบเด็กคนไหน เขาก็จะเข้าไปหา แต่เขาเล่นกับเพื่อนไม่เป็น บางทีก็ไปดึงผม พอเพื่อนหันมาดุ ก็เข้าใจผิดว่าเพื่อนเล่นด้วย เลยยิ่งทำใหญ่ เด็กปกติจึงไปฟ้องแม่ซึ่งเป็นหมอ แม่ก็มากดดันครูประจำชั้นให้ย้ายเด็กออทิสติกไปอยู่ห้องอื่น หรือย้ายลูกเขาไปอยู่ห้องอื่น เราจึงเรียกแม่มาคุยด้วย วันนั้นพูดแรงมาก บอกว่า

“ลูกคุณแม่เรียนหนังสือเก่งมากนะ หาโรงเรียนดีๆ ให้ลูกง่ายมากเลย เด็กออทิสติกหาโรงเรียนยากกว่าลูกคุณแม่ แต่เรายินดีให้เขาอยู่ที่นี่ ถ้าเด็กคนนี้เป็นลูกของคุณแม่ คุณแม่ต้องการโอกาสนี้ไหม ตอนนี้มีทางเลือก คือ คุณแม่ต้องให้ลูกปรับตัวยอมรับหรือจะย้ายโรงเรียนให้ลูกตัวเอง สิ่งที่เสียใจมากที่สุดคือ คุณแม่เป็นหมอ ดิฉันไม่คิดเลยว่าคนเป็นหมอจะใจแคบขนาดนี้ คุณแม่รักแต่ลูกตนเอง ทำไมไม่รักลูกคนอื่นด้วย ลูกเราต้องอยู่ในสังคม คุณแม่ควรสอนลูกให้ดูแลเพื่อนแบบนี้ยังไง เขาก็จะมีเพื่อน”

หลังจากวันนั้น คุณแม่คนนั้นก็ไม่กล้ามาพูดอะไรอีกเลย

กรณีเด็กปกติแกล้งเพื่อนที่เป็นเด็กออทิสติกมีวิธีการจัดการอย่างไร

เราจะมี “เด็กปกติที่ไม่ปกติ” ที่ชอบแกล้งเด็กพิเศษ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยรุ่น ถามว่าทำไมชอบแกล้งเพื่อน ได้คำตอบว่าแกล้งแล้วสนุก ตอนเด็ก ม.4 จะไปเข้าค่าย เราเรียกพ่อแม่กลุ่มเด็กที่ชอบแกล้งเพื่อนมานั่งเซ็นสัญญาเลยว่า ถ้าคุณแกล้งเด็กออทิสติกที่ค่าย แล้วมีคนส่งเรื่องเข้าถึงครูเมื่อไหร่ จะถูกส่งคุณกลับกรุงเทพฯ ทันที พ่อแม่ต้องร่วมเซ็นรับทราบทุกคน เด็กเลยไม่มีใครกล้าแกล้งเพื่อนที่ค่ายเลย หรือเคยมีกรณีที่มีคลิปวิดีโอแกล้งเด็กออทิสติกถ่ายไว้ เราให้เด็กที่แกล้งเพื่อนกราบเท้าพ่อแม่เด็กออทิสติกต่อหน้าพ่อแม่ตนเองเลย

ความภูมิใจในฐานะอาจารย์ที่ดูแลเด็กออทิสติกให้เรียนรวมกับเด็กทั่วไปมาเกือบสามสิบปี

เราพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของเด็กปกติในการดูแลเพื่อนที่แตกต่างจากเขา จูงมือเพื่อนไปโรงอาหาร สอนเพื่อนว่าจะซื้ออาหารอย่างไร เล่นด้วย แล้วอดทนกับเพื่อน เวลาเล่น ช่วงแรกเราจะลงไปเล่นตามเขาก่อนนะ ช่วงหลังค่อยตามเพื่อนมาเล่นด้วย

ตอนหลังเด็กปกตินี่แหละที่เป็นกำลังสำคัญให้เรา เพราะเด็กจะเป็นตัวกระตุ้นเพื่อนได้ดีมาก ถ้าระบบการศึกษาของไทยสามารถรับเด็กกลุ่มนี้มาเรียนรวมกับเด็กปกติมากขึ้น พ่อแม่ก็จะได้ไปทำงาน ไม่ต้องกังวลเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ เลี้ยงลูกต่อไปได้ ลูกก็จะมีพัฒนาการที่ดี พึ่งพาตนเองได้ ไม่นำไปสู่ปัญหาโรคจิต เด็กก็จะมีความสุขมากขึ้น เราควรสร้างสังคมของเด็กที่มีความแตกต่างกันให้อยู่รวมกันอย่างมีความสุขเพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน

หมายเหตุ: ขอบคุณภาพจาก รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save