fbpx

เก้าอี้เดนมาร์กที่เพิ่งสร้าง

สแกนดิเนเวียนดีไซน์ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักไปทั่วทุกหัวระแหง แผ่ขยายเคลื่อนตัวตามแนวนอนไปส่งเสริมอุดมคติของชนชั้นกลางที่แผ่ขยายอยู่ทั่วโลก 

ดังคอลัมน์หนังสือพิมพ์หัวสำคัญของชนชั้นกลางเสรีนิยมในภาษาอังกฤษที่ประกาศ ว่า เราจะเห็นสแกนดิเนเวียดีไซน์ผ่านลักษณะอันโดดเด่นที่ “…ทรงสมัย แต่ขณะเดียวกันก็สืบสานต่อประเพณีแบบสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประโยชน์ใช้สอย ความซื่อสัตย์ ผลิตด้วยฝีมือและคุณภาพสูง พร้อมๆ ไปกับค่านิยมของความเท่าเทียมและราคาที่เข้าถึงได้” 

นักประวัติศาสตร์ดีไซน์เดนมาร์กท่านหนึ่งจึงสงสัยอยู่ครามครันว่า ความโด่งดังของดีไซน์แบบสแกนดิเนเวียนั้น มันมีความเป็นมาอย่างไรกันหนอ 

และได้คำตอบว่า อันที่จริงแล้ว ดีไซน์สแกนดิเนเวียเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง สร้างโดยทั้งต่างชาติและโดยทั้งชาวเดนมาร์กเอง เป็นกระบวนการสร้างความแปลกแก่ตนเอง (self-exoticization) เพื่อให้เป็นที่ดึงดูด ให้มีความไม่เหมือนใคร ตามมาด้วยมูลค่าที่สูงนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องแก่นแกนของความเป็นช่งเป็นชาติอะไรหรอก

ผมขอเก็บความมาเล่าให้ฟังครับ 

เก้าอี้เดนมาร์กในยุคโมเดิร์น ที่มาภาพ: wikipedia.org

วาทกรรมดีไซน์เดนมาร์กอันย้อนแย้ง

ในทางประวัติศาสตร์ดีไซน์ของเดนมาร์ก มีข้อเท็จจริงที่ย้อนแย้งกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ บุคคลร่วมสมัยผู้เกี่ยวข้องในวงการดีไซน์ทั้งหลายในประเทศ เห็นไปทางเดียวกันอย่างแทบจะเป็นเอกฉันท์ว่า ดีไซน์ของเดนมาร์กมีความโด่ดเด่นในคุณสมบัติของอยู่เหนือกาลเวลา (timeless) ไม่ตกสมัย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากประเพณีแห่งชาติของชาวเดนมาร์กที่เน้นประโยชน์ใช้สอยและมาจากกลุ่มช่างฝีมืออันรวมกลุ่มเข้มแข็ง ไม่ว่าจะมีความเคลื่อนไหว หรือพัฒนาการทางภูมิปัญญาใดในประเทศยุโรป เดนมาร์กมักจะมีเส้นทางพัฒนาการทางปัญญาของตนเอง ดังนั้นโดยสรุปคือว่า ดีไซน์ของเดนมาร์กนั้นทนทานต่อผลกระทบของกระบวนการหลายเป็นอุตสาหกรรมที่ถาโถมเข้าทำลายการรวมกลุ่มของช่างฝีมือทั่วยุโรป 

คือไม่ทำของ ‘โหล’ ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่อีกวาทกรรมหนึ่งที่ดำเนินควบคู่กันไปคือ ประวัติศาสตร์ของประเทศยุโรปเหนือขนาดเล็กอย่างเดนมาร์ก มิได้เป็นข้อยกเว้นต่อการกลายเป็นอุตสาหกรรมแต่อย่างใด หนีไม่พ้นการต้องแลกเปลี่ยนทั้งสินค้า คน และความคิดกับบริเวณอื่นๆ อยู่เสมอ (นี่ไม่ต้องนับคริสต์ศาสนานิกายลูเธอรันนะครับ)

และยิ่งโดยเฉพาะเจาะจงไปกว่านั้น ด้วยการที่เดนมาร์กมีพรมแดนติดกับมหาอำนาจอุตสาหกรรมอย่างเยอรมนี ภูมิศาสตร์ของการดีไซน์ (geography of designs) จึงเป็นเรื่องที่ว่า ด้วยความที่เดนมาร์กมุ่งเน้นแข่งขันด้านอุตสาหกรรมกับเยอรมนีไม่ได้ จึงจำต้องเปลี่ยนไปเน้นที่ความแตกต่างทางการดีไซน์แทน โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เมื่อดีไซน์เดนมาร์กโด่งดังในระดับนานาชาติ วงการดีไซน์เดนมาร์กจึงช่วยเขียนประวัติศาสตร์นี้ขึ้น แทบจะเป็นการ ‘ต่อสู้’ ทางวัฒนธรรมกับมหาอำนาจที่เข้ามารุกรานประเทศ และเพิ่งแพ้สงครามไป

คือไม่ใช่เรื่องของเลือกมุ่งไปในแนวการเป็นลิมิเต็ด อิดิชัน แต่เพราะทางเลือกอื่นเหลือน้อยต่างหาก 

ว่ากันไปตามลำดับ

สองวาทกรรมที่ย้อนแย้งนี้กำเนิดมาอย่างเร็วก็ปี 1900 ลงมาเท่านั้นเอง และมีผู้ร่วมกำหนดจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่แถวหน้าในวงการนี้ทั้งนั้น 

ในช่วงปี 1900 พิพิธภัณฑ์ดีไซน์ (Design Museum Denmark) ผลักดันคำอธิบายที่ว่า ความเคลื่อนไหวทางดีไซน์ใดๆ ที่ถูกผลักดันด้วยการผลิตอย่างเดียวนั้น เมื่อมาถึงเดนมาร์กแล้วความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะช้าลง เดนมาร์กจะไม่ตื่นเต้นรับกับกระแสที่มาแล้วก็ผ่านไป 

ในช่วงเวลานั้น กลุ่มเคลื่อนไหวอาร์ต นูโว ผลักดันข้อเสนอให้ไกลถึงกับว่า ดีไซน์ของเดนมาร์กนั้นคือการต่อต้าน style คือไม่มี style ใดๆ ทั้งนั้น เพื่อที่จะอยู่เหนือการเวลา

 ตัวอย่างอ้างอิงการใช้สรีระมนุษย์ในการออกแบบ ที่มาภาพ: buildinggarments.files.wordpress.com

Skønvirke

ปี 1907 เราจะได้ยินคำว่า skønvirke ซึ่งเป็นภาษาเดนมาร์กที่มีนัยของการต่อต้านกระแสนิยมที่มาจากต่างประเทศ (โดยนัยอาจจะเป็นเยอรมนีเสียส่วนใหญ่) และแปลได้ประมาณว่า ‘work of beauty’ ซึ่งจะใช้ในการให้คำจำกัดความดีไซน์ของเดนมาร์ก ความ skøn นี้เองจะเป็นสิ่งที่เหนือกาลเวลา ทำให้ดีไซน์เดนมาร์กสวยได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เรื่องของสไตล์ 

ในช่วงทศวรรษที่ 1920 บุคคลที่ส่งอิทธิพลสำคัญคือ คาเร คลินต์ (Kaare Klint, 1888-1954)  ผู้นำ ‘สำนักคลินต์’ (Klint School) กับบริษัททำตู้แห่งโคเปนเฮเกนซึ่งสัมพันธ์กับนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังทดลองการออกแบบกับไม้และงานฝีมือเป็นหลัก

คลินต์เป็นผู้ก่อตั้งสำนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ใน Royal Danish Academy ในปี 1924 และเขาเป็นผู้ที่ทำให้ความคิดของกลุ่มเคลื่อนไหวศิลปะที่สำคัญของโลกคือ Bauhaus เข้ามาอยู่ในงานของตน สลัดเอารายละเอียดเฟอร์นิเจอร์แบบดั้งเดิมทิ้งออกไป พร้อมๆ กับการเปลี่ยนไปวางอยู่บนหลักการสรีระของมนุษย์เพื่อประโยชน์ใช้สอย

คำอธิบายจากสำนักคลินต์นี้เองจะเป็นคำอธิบายหลักของการเข้าใจดีไซน์ยุค Danish Modern ของทศวรรษที่ 1920 ทีเดียว

สิบปีต่อมา บุคคลสำคัญอีกหนึ่งคนที่จะเข้ามาร่วมกำหนดเรื่องเล่าคือ อาร์เน ยาคอบเซน (Arne Jacobsen, 1902-1971) โดยเฉพาะข้อเขียนของเขาในงานแสดงนิทรรศการในปี 1932 

ต่อมาด้วยบทบาทของ พอล เฮนนิงเซน (Poul Henningsen, 1894-1967) ผู้วิพากษ์วิจารณ์งานของสำนัก Bauhaus ว่าไปไกลเกินไป ละทิ้งประโยชน์ใช้สอยมากเกินไป สำหรับเขาแล้ว รูปแบบใหม่ๆ ต้องเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆ ของมนุษย์

เก้าอี้ของอาร์เน ยาคอบเซน ที่มาภาพ: wikipedia.org

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 นั้น ดีไซน์สแกนดิเนเวียสมัยใหม่จะถูกนำออกแสดงในงานนิทรรศการนานาชาติ และจะถูกมองว่าเป็นของแปลกจากโลกทางเหนือไกล โดยเฉพาะนักวิจารณ์ศิลปะจากสหรัฐอเมริกาที่จะมองว่าดีไซน์จากสแกนดิเนเวียมาจากดินแดนอันห่างไกล และยังคงรักษาความเป็นวัฒนธรรมอันมีลักษณะเฉพาะของตนเองได้อย่างเข้มแข็ง 

ประเด็นที่สำคัญคือ นักวิจารณ์เหล่านี้ยกสแกนดิเนเวียขึ้นมาเพื่อใช้เป็นการวิพากษ์สังคมบริโภคนิยมของสหรัฐฯ เอง พวกเขายกสแกนดิเนเวียขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นความสำเร็จของคุณค่าทางศีลธรรม (ทางคริสต์ศาสนา) และประชาธิปไตยของดินแดนเหล่านี้ และผู้จัดงานแสดงดีไซน์ของสแกนดิเนเวียก็ยินดีจะแสดงภาพของตนเองเช่นนั้น 

นี่คือการร่วมกันของทั้งชาวต่างชาติ และชาวสแกนดิเนเวียที่ทำให้การสร้างความแปลกแก่ตนเอง (self-exoticization) เกิดขึ้น นี่จึงเป็นการเปิดช่องให้ดีไซน์เดนมาร์ก หา ‘เรื่องเล่า’ อันมีลักษณะเฉพาะของตนเอง (โดยนัยว่าคนอื่นไม่มี) ทั้งๆ ที่เดนมาร์กก็เข้าร่วมกระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรมของโลกอย่างแข็งขัน 

ในทางบริบทแล้ว ก็อาจจะเข้าใจได้ มีการพยายามปฏิเสธอิทธิพลของสำนัก Bauhaus โดยเฉพาะจากบทบาทของ สตีน อีแลร์ ราซมุซเซน  (Steen Eiler Rasmussen, 1898-1990) ศาสตราจารย์ประจำ Royal Danish Academy of Fine Arts ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่ากระแส modernism นั้นไม่ได้เข้ามาแพร่หลายมากนักในเดนมาร์ก แต่เป็นวงการศิลปะในเดนมาร์กเองต่างหากที่สร้างความต่อเนื่องกับประเพณีดั้งเดิมของตนเอง ฯลฯ 

กว่าจะมาเป็นเก้าอี้ ‘เดนมาร์ก’ ก็ผ่านการสร้างกันมาเรื่อยละครับ 

Bethlehemskirke (Kaare Klint, 1937)
โบสถ์ Bethlehemskirken ออกแบบโดยคาเร คลินต์ปี 1937 ที่มาภาพ: flickr.com

Katie Treggiden, “Interiors: the new Scandi,”

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2015/apr/11/new-scandinavian-design-interiors

Anders V. Munch, “On the Outskirts: the Geography of Design and the Self-exoticization of Danish Design”, Journal of Design History, Vol. 30, 1, 1 February 2017, 50–67.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save