fbpx

Dangdut และการเมืองอินโดนีเซีย: เมื่อ pop culture ของชนชั้นรากหญ้าเป็นมากกว่าความบันเทิง

เพลงดังดุต (Dangdut) คืออะไร[1]

เพลงดังดุต หรือหากจะแปลเป็นไทยก็คงประมาณเพลงลูกทุ่ง เป็นแนวดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีอาหรับ อินเดีย และมลายู เป็นเพลงที่เป็นที่นิยมของชาวอินโดนีเซียจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตชนบทและชนชั้นล่างในเมือง เอกลักษณ์ของเพลงดังดุตคือจังหวะดนตรีและท่าเต้นของนักร้องที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกาย และเนื้อหาบทเพลงที่สะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิตของผู้คน ตลอดจนปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา ผู้ฟังไม่ต้องเสียเวลาตีความว่าบทเพลงต้องการสื่อความหมายอย่างไร เมื่อพูดถึงดังดุตชาวอินโดนีเซียจะคิดถึงความรื่นเริง การเต้น และการร้องตะโกน

มีสองทฤษฎีเกี่ยวกับกำเนิดของเพลงดังดุต ทฤษฎีแรกนักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าแนวเพลงดังดุตมีกำเนิดตั้งแต่ช่วงปี 635 โดยบรรดาพ่อค้าชาวอาหรับที่เข้าไปค้าขายยังหมู่เกาะอินโดนีเซียเป็นผู้นำมาเผยแพร่ ในขณะที่อีกทฤษฎีกล่าวว่าเพลงดังดุตปรากฏตัวรางช่วงทศวรรษ 1950 มีรากเหง้าจากเพลงมลายู      

เพลงดังดุตได้รับความนิยมและแพร่หลายในสังคมอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังเป็นเอกราช ยุคระเบียบใหม่ จวบจนกระทั่งปัจจุบัน โดยได้มีการผสมผสานกับดนตรีพื้นเมืองและประยุกต์ใช้กับเครื่องดนตรีตามสมัยนิยม การแพร่หลายของเพลงดังดุตสัมพันธ์กับยุคสมัยด้วยเช่นกัน ในยุคของประธานาธิบดีซูการ์โน (Sukarno, 1945-1966) เครื่องดนตรีของตะวันตกไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้เล่นเพลงดังดุตเนื่องจากยุคของซูการ์โนเป็นยุคแห่งการต่อต้านตะวันตก แต่ต่อมาในช่วงยุคระเบียบใหม่ดนตรีดังดุตใช้เครื่องดนตรีตะวันตกและผสมผสานแนวดนตรีจากตะวันตกเข้ากับดนตรีดังดุต

โรมา อีรามา (Rhoma Irama) ราชาเพลงดังดุตกับยุคระเบียบใหม่

เพลงดังดุตในรูปแบบปัจจุบันได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการในปี 1968 โดยมี โรมา อีรามา นักดนตรีดังดุตชื่อดังเป็นผู้บุกเบิก พร้อมๆ กับการเปิดรับเครื่องดนตรีตะวันตกเช่น กีตาร์ไฟฟ้า แซ็กโซโฟน และออร์แกนไฟฟ้า เป็นต้น ที่มาพร้อมกับยุคระเบียบใหม่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร

แต่ทว่าความนิยมในเพลงดังดุตที่เพิ่มมากขึ้นกลับทำให้คนชั้นกลางในเมืองที่เสพวัฒนธรรมและเพลงจากโลกตะวันตกมองเพลงดังดุตว่าเป็นเพลง ‘บ้านนอก’ เป็นเพลงของชนชั้นล่าง  ดังดุตเข้าถึงและจับใจผู้ฟังด้วยเนื้อเพลงที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวัน ความทุกข์ ความรัก ความผิดหวัง ใช้ภาษาเรียบง่าย และสะท้อนปัญหาสังคมแบบตรงไปตรงมา สำหรับชาวบ้านดังดุตไม่ได้เป็นแค่เพลง แต่ดังดุตพูดแทนสิ่งที่พวกเขาคิดและเป็น โดยเฉพาะคนระดับล่างที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายพัฒนาประเทศของยุคระเบียบใหม่

ภาพนักร้องดังดุตหญิงในชุดรัดรูปโชว์เนื้อหนังมังสาพร้อมท่าเต้นยั่วยวนเป็นมากกว่าการโชว์วาบหวิวราคาถูกสำหรับชนชั้นล่าง หากแต่เป็นภาพของนักร้องที่เป็นผู้กุมอำนาจเหนือผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายผ่านท่าเต้นที่แข็งแกร่ง, เต็มไปด้วยพลัง และบางครั้งก็ดูก้าวร้าว ซึ่งเป็นภาพที่ขัดกับภาพผู้หญิงในอุดมคติที่ถูกสร้างโดยยุคระเบียบใหม่อย่างยิ่ง นอกจากนี้ภาษาที่ใช้ในเพลงดังดุตก็สวนทางกับภาษาการเมืองในยุคระเบียบใหม่อย่างสิ้นเชิง ในขณะที่เวลาซูฮาร์โตกล่าวปราศรัย เขาแทบจะไม่ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งแทนตัวเอง และไม่เคยแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านคำพูด เขาพูดในฐานะที่เขาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่ยึดกุมความถูกต้องชอบธรรมทั้งหมดทั้งมวลเพื่อการพัฒนาแห่งชาติที่เขากล่าวอ้างอยู่เสมอ และไม่เคยระบุว่าใครคือผู้ฟังอย่างตรงไปตรงมา แต่ภาษาดังดุตนั้นเป็นภาษาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก การใช้คำสรรพนามแทนตัวเอง ‘aku’ (ฉัน) และแทนตัวคนฟัง ‘kamu’ (เธอ) ซึ่งเป็นสรรพนามที่พูดกับคนที่เสมอกันเท่ากันถูกใช้เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก ในเพลงดังดุตหลายๆ เพลงเนื้อหาเต็มไปด้วยความแตกร้าว พูดถึงความหวังที่พังทลาย มากกว่าจะเน้นเรื่องการพัฒนาหรือความก้าวหน้า และเต็มไปด้วยความไร้พลังและอำนาจ การเป็นชายขอบของสังคม

โรมา อีรามา (ADEK BERRY/AFP)

ความโด่งดังของโรมา อีรามาจากบทเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่น ‘Rupiah’ (รูเปียห์) ปี 1975, ‘Hak Asasi’ (สิทธิมนุษยชน) ปี 1978, ‘Udang di Balik Batu’ (กุ้งที่หลังหิน – เป็นสำนวนอินโดนีเซียมีความหมายว่า หากใครสักคนดูเหมือนว่าเป็นคนดี ยังไม่แน่เสมอไปว่าจะดีจริง อาจจะมีอะไรแอบแฝงอยู่ก็เป็นได้) ปี 1978 โรมา อีรามากล่าวว่าเนื้อเพลง Hak Asasi เขาต้องการเสียดสี กอลคาร์ (Golkar) กลุ่มการเมืองที่เป็นฐานเสียงของรัฐบาลซูฮาร์โตเนื่องจากว่าในขณะนั้นมีการคุกคามประชาชนอย่างมาก

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 แนวเพลงดังดุตของโรมา อีรามาเปลี่ยนมามีแนวทางทางศาสนาอิสลามมากขึ้นหลังจากเขาได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปี 975 จนพรรคสหพัฒนา (Partai Persatuan Pembangunan) หรือ PPP พรรคอิสลามหนึ่งเดียวในยุคระเบียบใหม่ใช้โรมา อีรามาในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 1997 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรค PPP ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมากกว่าการเลือกตั้งในปี 1971 ราว 2.17% ไม่มีหลักฐานว่าเป็นผลจากโรมา อีรามาและดังดุตของเขาหรือไม่

อย่างไรก็ตามรัฐบาลสั่งห้ามเผยแพร่บทเพลงของโรมา อีรามาทั้งในโทรทัศน์และวิทยุของรัฐตั้งแต่ปี 1977 และตัวเขาเองก็ถูกห้ามออกรายการต่างๆ ทางโทรทัศน์ด้วย เขาสามารถปรากฏตัวทางโทรทัศน์ได้อีกครั้งในปี 1988 เมื่อยุคระเบียบใหม่หันมาใช้ยุทธวิธีใกล้ชิดและหาฐานเสียงจากกลุ่มผู้เคร่งครัดศาสนาอิสลามตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 ต่อมาในปี 1992 โรมา อีรามาเลิกหาเสียงให้พรรค PPP และเป็นหัวคะแนนให้กับกลุ่มการเมืองกอลคาร์แทน

ปรากฏการณ์ ‘อีนุล’ (Inul) กับอดีตประธานาธิบดี

อับดูร์ระห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid)

ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ในประเทศอินโดนีเซีย คงแทบจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ อีนุล ดาราติสตา (Inul Daratista) นักร้องเพลงดังดุตผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นซุปเปอร์สตาร์จากลีลาท่าทางการเต้นยักย้ายส่ายสะโพกแบบควงสว่าน (ในภาษาอินโดนีเซียใช้คำว่า ngebor ซึ่งแปลว่า “การเจาะด้วยสว่าน”) ของเธอ เธอออกอัลบั้มชื่อ “Goyang Inul” (เต้นส่ายอีนุล) ในปี 2003 การแสดงของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาอูลามา (ผู้นำและผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม) และผู้เคร่งครัดศาสนา ถึงความไม่เหมาะสมของท่าเต้นเธอว่าส่อไปในทางยั่วยวนทางเพศจนถึงขั้นอนาจาร ยิ่งไปกว่านั้นคือกล่าวว่าการเต้นของอีนุลเป็นการทำลายศีลธรรมอันดีงามของชาติ และโรมา อีรามาได้ออกมาเรียงร้องให้บอยคอตอีนุล จนอับดูร์ระห์มาน วาฮิด อดีตประธานาธิบดีและอดีตผู้นำองค์กรนาห์ ดาตุล อูลามา (Nahdlatul Ulama)องค์กรศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียได้ออกมาปกป้องเธอด้วยการกล่าวว่า “ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของพวกเรา มนุษย์มีเสรีภาพในการกระทำการใดๆ ก็ตามตามประสงค์ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” และ “การเรียกร้องให้บอยคอตอีนุลโดยโรมา อีรามาต่างหากที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ”

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ความนิยมในตัวและการแสดงของอีนุลไม่ได้ลดลง กลับยิ่งปรากฏนักร้องดังดุตเลียนแบบสไตล์การเต้นของอีนุลมากขึ้น ในขณะที่ความนิยมของฝ่ายที่โจมตีอีนุลกลับเสื่อมลง ปรากฏการณ์อีนุลได้ทำให้ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากใช้โอกาสนี้ในการยืนยันเสรีภาพในการพูดและแสดงออกซึ่งถูกกดทับมานานในช่วงยุคเผด็จการทหารของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต นอกจากนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดของชาวมุสลิมทั่วไปในอินโดนีเซียที่ให้การสนับสนุนอีนุลด้วยเหตุผลที่ว่าอีนุลได้สืบสานจารีตของดังดุตซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยนิยมของชาติ และเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอีนุลโดยพวกเคร่งศาสนานั้นเป็นแค่การตีสองหน้าและมือถือสากปากถือศีลเท่านั้น[2] 

หลังจากยุคระเบียบใหม่เพลงดังดุตก็ยังเป็นที่นิยมและไม่ได้มีภาพของความเป็นเพลง ‘บ้านนอก’ อีกต่อไป มีการแสดงดังดุตตามรายการในสถานีโทรทัศน์และในงานแสดงสำคัญต่างๆ ปรากฏการณ์อีนุลเน้นย้ำถึงความสำคัญของดังดุตได้เป็นอย่างดี

ดังดุตกับการเลือกตั้ง

ความเป็นที่นิยมของนักดนตรีดังดุตทำให้หลายพรรคการเมืองใช้ดังดุตในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในสมัยยุคระเบียบใหม่พรรค PPP เคยใช้โรมา อีรามาในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งในปี 1977 และต่อมาคือกลุ่มการเมืองกอลคาร์ดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ในการเลือกตั้งหลังจากสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่เกิดปรากฏการณ์ที่นักดนตรีดังดุตสามารถไปหาเวทีหาเสียงให้พรรคการเมืองได้มากกว่าหนึ่งพรรค อย่างไรก็ตามนักวิชาการได้ศึกษาและวิเคราะห์การใช้นักดนตรีดังดุตในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งระดับจังหวัดในปี 2013 และระดับชาติปี 2014 พบว่าเกือบทุกพรรคการเมืองใช้นักดนตรีดังดุต แต่พรรคการเมืองที่ใช้นักดนตรีดังดุตที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับชาติกลับไม่ได้รับคะแนนโหวตติดอันดับหนึ่งในสามของพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุด แต่กระนั้นก็ตามดังดุตก็ยังคงถูกใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่เป็นเช่นนี้นักวิชาการวิเคราะห์จากกรอบเรื่องทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม พรรคการเมืองใช้ทุนทางเศรษฐกิจเพื่อได้รับทุนทางสังคมโดยใช้นักดนตรีดังดุตซึ่งมีทุนทางสังคมเป็นที่รู้จักและนิยมชมชอบจากมวลชน เพื่อเปลี่ยนทุนทางสังคมไปสู่ทุนทางวัฒนธรรม และมวลชนที่ชื่นชมการแสดงของนักดนตรีดังดุตจะมอบทุนทางสังคมกลับคืนสู่พรรคการเมืองในรูปแบบของความเชื่อมั่น

ดังดุตเป็นได้ทั้งดนตรีของผู้ที่เคร่งครัดศาสนาอิสลาม เฉกเช่นโรมา อีรามาที่ใช้ดนตรีดังดุตวิพากษ์วิจารณ์สังคมพร้อมๆ กับเทศนาสั่งสอนผู้ฟัง และในขณะเดียวกันดังดุตก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขัดต่อหลักศาสนาเช่นกัน กฎหมายห้ามการกระทำลามกอนาจารถูกตีความว่าครอบคลุมถึงนักดนตรีดังดุตที่แต่งกายด้วยชุดเซ็กซี่ และท่าเต้นที่ส่อไปในทางปลุกเร้าความรู้สึกทางเพศ แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมในดนตรีดังดุตของชาวอินโดนีเซียเสื่อมคลายลง และการที่แทบทุกพรรคการเมืองใช้ดังดุตเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการหาเสียงย่อมการันตีความป๊อปปูลาร์ของดังดุตได้เป็นอย่างดี

ดังดุตไม่ได้เป็นแค่เพลงและการแสดงราคาถูกเพื่อความบันเทิงสำหรับมวลชนระดับล่างเท่านั้น เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงบรรดาผู้ชื่นชอบดังดุตขยับฐานะเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น แต่ก็ยังชื่นชอบดังดุตอยู่ ดังดุตยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและการดำรงอยู่ของผู้คนที่ยืนยันตัวตนและความคิดของพวกเขาผ่าน ‘ดังดุต’

เอกสารประกอบการเขียน

Barendregt, Bart (ed.). Sonic Modernities in the Malay World: A History of Popular Music, Social Distinction and Novel Lifestyles (1930s-2000s). Leiden and Boston: Brill, 2014.

Frederick, William H. “Rhoma Irama and the Dangdut Style: Aspects of Contemporary Indonesian Popular Culture.” Indonesia, No. 34 (Oct., 1982), pp. 102-130.

Gandhi, Grace. “Rhoma: Berjuang di Jalan Allah, Ada Saja Jalannya.” Tempo, https://nasional.tempo.co/read/441644/rhoma-berjuang-di-jalan-allah-ada-saja-jalannya

Rahadian, Arief. “Dangdut and Politics in Indonesia: The Use of Dangdut in Political Campaign?.” https://medium.com/@ariefism/dangdut-and-politics-in-indonesia-the-use-of-dangdut-in-political-campaign-f43fb60e0a7c

Wahid, Abdurrahman KH. “Inul, Rhoma, Dan Saya.” GusdurNet, https://gusdur.net/inul-rhoma-dan-saya/

Wallach, Jeremy and Clinton, Esther. “History, Modernity, and Music Genre in Indonesia: Popular Music Genres in the Dutch East Indies and Following Independence.” Asian Music, Volume 44, Number 2, Summer/Fall 2013, pp. 3-23.

Weintraub, Anrew Noah. “Dangdut Soul: Who are ‘the People’ in Indonesian Popular Music?.” Asian Journal of Communication, 16:4, Nov. 2006, pp. 411-431.

Weintraub, Anrew Noah. Dangdut Stories: A Social and Musical History of Indonesia’s Most Popular Music. New York; Oxford: Oxford University Press, 2010.


[1] บทความนี้ปรับปรุงจากบทความเรื่อง “Dangdut อิสลาม ปรากฏการณ์ “อีนุล” ส่ายสะโพกสะเทือนบ้านเมือง” ของผู้เขียน เผยแพร่ใน สารคดี ฉบับที่ 379 กันยายน 2559

[2] ในปี 2003 ในปีเดียวกับที่เกิดปรากฏการณ์เรียกร้องให้บอยคอตอีนุล มีเพื่อนบ้านและนักข่าวพบโรมา อีรามาอยู่ในอพาร์ทเมนต์ของนักแสดงหญิงคนหนึ่งในเวลาเที่ยงคืน ในตอนแรกทั้งคู่ให้การว่าพวกเขากำลังอภิปรายเรื่องศาสนากัน แต่เนื่องจากจำนนด้วยหลักฐาน ต่อมาฝ่ายหญิงออกมาสารภาพว่าได้มีการแต่งงานแบบ siri และได้หย่ากันในวันเดียวกันนั่นเอง – การแต่งงานแบบ siri เป็นการแต่งงานที่ไม่ใช่การจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ แต่ได้รับการรับรองตามหลักกฎหมายอิสลาม การแต่งงานแบบนี้มักถูกใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศในกรณีต่างๆ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save