fbpx
ภาระบนฟลอร์ความฝันของนักเต้นไทย ในสายตา 'ทราย D Maniac'

ภาระบนฟลอร์ความฝันของนักเต้นไทย ในสายตา ‘ทราย D Maniac’

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

นักเต้นหลายชีวิตกำลังเคลื่อนตัวไปมาในท่าที่พร้อมเพรียง เหมือนใช้ลมหายใจเดียวกันนับจังหวะ จากซ้ายไปขวา ขยับขึ้นและลง ทุกท่วงท่าในสไตล์ฮิปฮอปเกิดขึ้นบนร่างกายของกลุ่มนักเต้นจนละสายตาไม่ได้ แล้วในนาทีที่คนดูลืมหายใจ นักเต้นผู้หญิงคนหนึ่งถูกยกตัวขึ้น เธอสวมชฎาเหมือนที่คนไทยใส่ตอนร่ายรำ มือที่เคยขยับด้วยความเท่ กลับสะบัดไปมาคล้ายตั้งวง ดุดัน แข็งขัน พร้อมเพรียง แต่ดูอย่างไรก็รู้ว่าเป็นนักเต้นจากประเทศไทย

เหลือเชื่อ นั่นคือความรู้สึกของฉันหลังจากได้ดูคลิปวีดีโอของกลุ่มนักเต้นดังกล่าว ความรู้สึกนี้ไม่ใช่การดูถูกความสามารถคนไทย แต่หากเป็นความตะลึงที่ได้รับรู้ว่ามีการแข่งขันระดับโลกเช่นนี้อยู่ และทีมไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นได้อย่างภาคภูมิ เวทีนี้คือการแข่งขันเต้นฮิปฮอประดับโลก Hip Hop International (HHI) ที่ถูกจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา และการแสดงน่าทึ่งภายในคลิปด้านบนก็ได้รับอันดับที่ 5 ในการประกวดปี 2016

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฉันตามดูการแข่งขันนี้และวงการเต้นอย่างใกล้ชิด ใกล้พอจะพบว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีสตูดิโอสอนเต้นจำนวนไม่น้อย ศิลปะการเต้นกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากเด็กและเยาวชน ขณะที่ครูหรือนักออกแบบท่าเต้นในแวดวงเองก็พัฒนาทักษะอย่างแข็งขัน แม้แต่ในระดับการแข่งขัน ทีมไทยหลายทีมยังไขว่คว้า และดิ้นรน ฝึกซ้อมไปพร้อมๆ กับหาเงิน เพื่อพาตัวเองไปอยู่ในสายตาคนทั้งโลก ด้วยตัวเอง

การแข่งขันเต้นยิ่งใหญ่ราวกับดูพรีเมียร์ลีกที่เตะบนเวทีแทนสนามหญ้า กลับสร้างความลำบากไม่น้อยให้นักกีฬา หรือ ‘นักเต้น’ ในประเทศไทย

ด้วยนับถือความพยายามที่ไม่ลดละ และด้วยสงสัยว่าเบื้องหลังฝีเท้าพร้อมเพรียง การเรียงตัวอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยนั้น นักเต้นในประเทศไทยต้องเจออะไรอีกบ้าง ทราย – กิตติยา แก้วมณี หัวหน้าทีมเต้น D Maniac ทีมที่เคลื่อนไหวอย่างงดงามแบบที่ฉันไม่เคยลืม ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย และติดอันดับที่ 5 ของโลกในปี 2016 จะช่วยสะท้อนความเป็นไป และภาระของนักเต้นไทยในปัจจุบัน

ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าทีม เป็นครู เป็นแบบอย่างของนักเต้นหลายคนอย่างวันนี้ เส้นทางการเต้นเป็นมาอย่างไร

ในตอนนั้นเราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เริ่มต้นด้วยการเต้น Cover Dance วงญี่ปุ่น เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ตัวเองรู้จัก ในยุคนั้นวงเต้นที่พอเห็นได้ชัดมากคือกลุ่ม Cover J-Pop ที่ซ้อมกันตรงหน้าลาน MBK ในกลุ่มมีคนหลากหลายทั้งอาชีพและอายุ พอได้ไปซ้อมตรงนั้นก็เริ่มเจอกับนักเต้น Street Dance ที่เต้นแนว Break Dance หรือ B-boy & B-girl เรารู้สึกว่ามันเจ๋งดี เพื่อนที่เต้น B-boy ก็เลยชวนไปฝึก ทำให้รู้จักการเต้นกว้างขึ้นจากกลุ่ม Cover Dance

ตอนนั้นเราก็ยังงูๆ ปลาๆ ไม่คิดเหมือนกันว่าตัวเองจะหันมาเต้นจริงจังขนาดนี้ เต้นอยู่สักพักจนมีคุณครูสอนเต้นมาชวนเรากับเด็กคนอื่นๆ ไปเรียนเต้นที่สถาบัน เขาบอกว่า จะมาเต้นริมถนนทำไม ไปเรียนเลยสิ เราเลยไปเรียนที่โรงเรียนสอนเต้นของพี่วิทย์ AF1 ชื่อว่า Dance Vit Me จากริมถนนเข้ามาในสตูดิโอ ทำให้รู้จักครู รู้จักเพื่อนที่ชอบเต้นเหมือนกันมากขึ้น

หลังจากนั้นสถาบัน Dance Vit Me มันเปลี่ยน คือพี่วิทย์ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนแล้ว เจ้าของที่เขายังทำอยู่ เปลี่ยนชื่อเป็น Dance Mania เขาก็เริ่มหยิบยื่นโอกาสให้เรากับเพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ลองมาเป็นครู พอเป็นครู เจ้าของก็บอกอีกว่า ทำไมเราไม่ลองจับกลุ่มกันไปแข่งขันดูบ้าง เรียนทุกวัน ถ้าเราไม่ได้หยิบมาใช้ ศักยภาพของเราก็ไม่ได้ถูกใช้งาน ไม่ได้สำรวจว่าเลเวลที่เรามีมันมากพอ หรือมีคุณภาพพอไหม สุดท้ายตอนปี 2009 ก็เลยจับกลุ่มกันในสถาบัน Dance Mania เปลี่ยนชื่อเป็น D Maniac ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลา 3 ปี จากลานหน้า MBK

ปัจจุบันประเทศไทยมีสตูดิโอสอนเต้นจำนวนมาก มีห้องล้อมกระจก มีพื้นสำหรับการเต้นโดยเฉพาะ มีคลาสสำหรับคนต่างอายุ ต่างทักษะ และต่างแนวเต้น แต่ถ้าย้อนกลับไปสมัยลานหน้า MBK บรรยากาศการเต้นเป็นอย่างไร

ตอนนั้นเราอยู่ในยุคที่การเต้นไม่ถูกยอมรับ เราไม่คิดเลยว่า สถาบันหรือสตูดิโอเต้นมันจะเกิดขึ้นได้แพร่หลายอย่างในยุคนี้ แม้กระทั่งกิจกรรมที่เขาจัดขึ้นมาให้เด็กแข่งขันกันก็ยังน้อยมาก ไม่มีอะไรที่เป็นสัญญาณให้แน่ใจว่าการเต้นจะสามารถทำมาหากินได้ หรือศิลปะในด้านนี้จะได้รับการสนับสนุน หรือแม้แต่ได้รับการมองเห็นจากผู้คน เพราะว่ามันเป็นกลุ่มที่เล็กเกินกว่าที่จะกลายเป็นคอมมูนิตี้ ต่อให้เป็นได้ก็เล็กจนคนที่อยู่ไกลออกไปมองไม่เห็น ไม่น่าจะแมส ไม่น่าจะมีภาพลักษณ์ในฐานะนักเต้นขึ้นมาได้

ตอนนั้นกลายเป็นว่าภาพลักษณ์นักเต้นที่เห็นได้ชัดคือแดนเซอร์วงลูกทุ่ง ที่เขาทำมาหากินได้จริงๆ แต่การเป็นนักเต้นแนวสากล เต้นกับเพลงสากล มันยากมาก สมัยก่อนคนไทยเราไม่ยอมรับเพลงสากลด้วย ผู้ใหญ่บางคนไม่ฟังเพลงแร๊ป เพลงฮิปฮอป เขาอาจจะมองว่าฟังไม่เห็นรู้เรื่อง ไม่น่าสนุก กลับกันมันดูดุดัน ดูไม่น่ารักเอาซะเลย เราเลยรู้สึกว่าการเต้นคงเป็นได้แค่กิจกรรมที่ทำให้มีความสุข แค่นั้น

ความสำเร็จของนักเต้นสมัยก่อนคือจุดไหน

ตรงๆ เลยคือการเป็นแดนเซอร์ของแกรมมี่ สมัยมีช่อง MTV คนจะได้เห็นศิลปินอย่าง China Dolls อย่างแคทรียา อิงลิช มีแดนเซอร์เต้นอยู่ในเอ็มวีหรือในคอนเสิร์ต มันเป็นภาพเดียวที่นักเต้น Street Dance รู้สึกว่าคือจุดสูงสุด ถ้าจะประสบความสำเร็จ ต้องเป็น Backup Dancer ให้นักร้อง

ถึงอย่างนั้นก็มีน้อยคนมากที่จะรู้ว่า จะเป็นแบบนั้นได้ต้องทำยังไง จะไปโชว์ตัวได้ที่ไหน ใครจะมาเห็น สื่ออินเทอร์เน็ตยังมีไม่เยอะด้วย การเป็นแดนเซอร์เลยค่อนข้างยากกว่าปัจจุบันมาก

หากเป้าหมายสมัยก่อนคือการเป็นนักเต้นค่ายแกรมมี่ ปัจจุบันเป้าหมายสำคัญของการเต้นอาจเรียกได้ว่าขยับไปไกลถึงระดับโลก ส่วนหนึ่งที่ทำให้เส้นทางของการเต้นขยับขยาย คือการที่ D Maniac ได้เข้าร่วมการแข่งขันเต้นฮิปฮอประดับโลก บนเวที HIP HOP INTERNATIONAL (HHI) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประตูนี้ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเห็นช่องทางได้ยังไง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

เรามีกลุ่มเพื่อน มีครอบครัวที่เต้นด้วยกัน แล้วเราทั้งหมดตั้งคำถามว่า เฮ้ย เราจะทำอย่างไรให้คนข้างนอกรู้ว่าเรามีอยู่ และการที่เราจะมีอยู่ เรายืนอยู่เฉยๆ โบกมือไปมาก็ไม่ได้ เราเริ่มรู้จักการแข่งขัน Hip-Hop International เห็นว่าหลายประเทศไปอยู่บนเวทีนั้น เลยเริ่มต้นด้วยการเสิร์ชถามทางอินเทอร์เน็ต จนได้รู้จักเพื่อนที่เป็นลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ ที่ไปเป็นตัวแทนของประเทศนอร์เวย์บนเวทีนี้ เลยแลกเปลี่ยนกันว่า ทำยังไงถึงได้ไป

เราตื่นเต้นมากจนคิดว่า เราสมัครไปเลยได้ไหม แต่เขาตอบว่าไม่ได้ การแข่งขันนี้ quality สูงมาก สิ่งที่คุณจะต้องทำคือ ต้องส่งเมลไปให้เขาดู และทำให้เขารู้ว่า คุณมีคุณสมบัติพอที่จะยืนบนเวทีนั้น

พอได้ยิน เราก็มาคิดว่า แล้วอะไรล่ะที่จะบอกว่าเรามีคุณสมบัติพอ มันไม่มีใครคอยบอกเราเลย เพราะว่าในไทยไม่เคยมีใครไปเวทีนี้ แต่ถึงไม่รู้ทุกคนก็ตัดสินใจว่าจะลอง ก็เลยเริ่มต้นส่งคลิปวิดีโอตัวเอง คลิปทีมเต้นของตัวเองไป แล้วบังเอิญว่าทีมเพิ่งได้รางวัลจากประเทศสิงคโปร์มา ก็เลยเหน็บรางวัลไปด้วย โดยไม่รู้เลยว่าจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน

เราแค่อยากบอกเขาว่า เรามีแพสชันนะ เราเป็นทีมที่พยายาม มุ่งมั่น อยากให้คุณมองเห็นและตัดสินใจว่ามันเพียงพอไหม หลังจากส่งไป เรารออยู่สองเดือน โดยไม่มีความเคลื่อนไหวตอบมา ทุกอย่างเงียบมาก แต่ทีมเราก็ซ้อมอยู่ทุกวัน โดยมีความหวังว่าจะมีการตอบรับ

 

ร้อนรนไหมกับการรอคอยครั้งนี้

ตอนนั้นคือท้อแท้เลย คิดว่าสงสัยคุณสมบัติเราอาจจะไม่ถึง คิดไปแล้วว่าถ้าเขาไม่รับ เขาจะเงียบไปเลยหรือเปล่า แต่ทีมเราก็เช็คเมลกันอยู่อย่างนั้นทุกวัน

จนวันนึง เพื่อนผู้ชายในทีมก็บอกว่า เฮ้ยทุกคน มีเมลเขียนว่า Hip-Hop International ส่งมา ตอนนั้นเราไม่กล้าเปิดเมลกันเลย กลัวมาก พอเปิดปุ๊บ คำแรกที่เห็นคือคำว่า Congratulation! คุณสามารถมา represent ประเทศของคุณได้

วินาทีนั้นเหมือนปาฏิหาริย์เลย เพราะมันเงียบไปแล้วตั้งสองเดือน อารมณ์ระหว่างสองเดือนนั้นมีทั้งอยากจะได้รับโอกาส อยากได้ยินข่าวดี แต่บางทีก็กลัว บางวันก็เสียใจ คิดว่าเราไม่ดีพอ พอเห็นอีเมลนั้นมันเลยตื้นตันมาก มากจนไม่ได้คิดว่าที่จะไปครั้งนี้ จะไปเพื่อชนะ หรือเพื่ออะไร เราแค่ภูมิใจที่จะได้ไปยืนตรงนั้น

ทุกครั้งที่ดูการแข่งขันนี้ มันจะมีการโบกธงชาติของแต่ละประเทศ แต่เรายังไม่เคยเห็นธงชาติไทยในนั้นเลย เพราะฉะนั้น โมเมนต์แรกที่เขาตอบตกลง สิ่งที่ทีมคิดคือ บนเวทีนั้นจะมีธงชาติเราแล้วนะ

ภายใต้ความดีใจตอนนั้น มีความรู้สึกกังวลไหมกับการต้องพาทีมไปต่างประเทศ

มาก เราไม่รู้เลยว่าจะไปแข่งที่อเมริกาต้องทำยังไง ตอนจะขอวีซ่าเราส่งข้อความไปสถานทูตอเมริกาด้วยตัวเอง เล่าตรงไปตรงมา บอกเขาว่าเราเป็นกลุ่มแบบนี้นะคะ มีโอกาสได้ไปแบบนี้ ส่งอีเมลที่ HHI ตอบมาแนบไปให้เขา แล้วถามเขาซื่อๆ เลยว่าต้องทำอะไรบ้างคะ ไปปรึกษาเขาอีก (หัวเราะ)

เรื่องเงินก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเวลาเดินทางครั้งนึง ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับต่ำที่สุดอยู่ที่ประมาณ 38,000 ถึง 40,000 ไปกลับก็ครึ่งแสน การแข่งขันเขายังบังคับว่าจะต้องพักในโรงแรมที่จัดการแข่งขันเท่านั้น ซึ่งค่าห้องตกคืนละประมาณ 6,000 บาทต่อคืน กำหนดให้นอนได้แค่ 3 คน ซึ่งเราก็จะขี้โกงเสมอ นักแข่งทุกประเทศก็ขี้โกงเสมอ แม้จะเข้าไปนอนกัน 4 คน ยังไงก็ต้องเช่า 2 ห้องอยู่ดี จำได้ว่าค่าที่พักประมาณ 25,000 ต่อคน ค่าวีซ่าอีก 6,000 บาท ต่อคน เบ็ดเสร็จ ตกคนละ 130,000 บวกค่ากินค่าใช้ทั้งหมด

สำหรับปีนั้นเราไปกันแค่ 7 คน ทีมเล็ก เราที่มีอาชีพเป็นครู พอทำมาหากินได้ อาจถือว่าโชคดีก็ได้โอกาสไป แต่ในปีถัดๆ มามันยากขึ้น เพราะเราพาทีมไปแข่งในรายการใหญ่ Mega Crew ทีมละประมาณ 40 คน

หลังจากได้ไปครั้งแรกแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการเต้นบ้าง

เราแข่งด้วยตัวเอง Qualify ด้วยตัวเอง ขวนขวายไปเองเป็นเวลาสองปีเต็ม จนปีที่สาม มีพี่คนไทยคนนึงติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ และนำ HHI เข้ามาในประเทศไทยได้สำเร็จ กลายเป็นองค์กร HHI ประเทศไทย ที่คัดเลือกตัวแทนไปแข่งระดับโลก หมายความว่าการจะไปยืนบนเวทีใหญ่ได้ต้องผ่านการแข่งขันในประเทศก่อน

พอมีองค์กรปุ๊บ ภาพลักษณ์ของการเต้นฮิปฮอปมันก็เหมือนกีฬาแล้ว แต่ยังเป็นกีฬาที่ไม่มีใครสนใจ นักเต้นที่ต้องการไปแข่งมันมีเยอะมาก ในทีมหนึ่งก็แบ่งเป็นหลายกลุ่ม หลายรุ่นแข่งขัน แต่พอมันได้รับความสนใจในจำนวนนักเต้นที่เยอะเท่านี้ องค์กร HHI ก็ไม่สามารถซัพพอร์ตได้ทั้งหมด

แปลว่าแม้จะมีองค์กรประสานงานแล้ว แข่งชนะระดับประเทศแล้ว ก็ยังไม่ได้การันตีว่าจะได้ไป

เพราะมันต้องมีการพาคนข้ามทวีป มันใช้เงินเยอะมาก องค์กรไม่สามารถซัพพอร์ตแต่ละทีมได้เต็มที่ สิ่งเดียวที่เขาให้ได้แน่ๆ คือสิทธิ์ เราได้สิทธิ์แล้ว นักแข่งก็ต้องคิดว่า จะไปไม่ไป ถ้าจะไปก็ต้องหาเงิน การหาเงินมันค่อนข้างหนักและยากสำหรับนักเต้นหลายๆ คน อย่างเรากับทีม D Maniac ที่มีโอกาสไป represent หลายๆ ปี ก็ผ่านจุดที่ไม่เคยได้รับสปอนเซอร์​ หรือได้รับเงินก้อนพิเศษจากใคร

เราเข้าใจนักเต้น นักแข่งในยุคนี้ทุกคน น้องๆ รุ่นใหม่ ที่มีโอกาสได้เดินตามเส้นทางที่เราเคยเดิน ต้องหาเงินด้วยกำลังของตัวเองล้วนๆ มันหนักมาก แล้วใช่ว่าจะหาได้หมดทุกคน บางคนก็ต้องเป็นหนี้ บางคนก็ต้องหยิบยืม เกิดภาระที่ตามมาทีหลัง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเสียใจที่บางคนก็ทำไม่สำเร็จ ไม่สามารถที่พาทีมไปแข่งในพื้นที่ที่ตัวเองอยากทำ

ในสถานการณ์แบบนี้นักเต้นต้องดิ้นรนยังไง

ยกตัวอย่างทีมเรา ตอนไปแข่ง 38 คน ต้องใช้เงินเบ็ดเสร็จสามล้าน การจะเดินไปขอให้ใครสปอนเซอร์สามล้าน กับทีมแข่ง 1 ทีม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างแรกที่ทีมคุยกันคือถามว่า ทุกคนยินดีที่จะจ่ายเงินไหม พูดกันตรงๆ ว่าเราไม่สามารถเลี้ยงหรือหาเงินให้ทุกคน

จากที่เคยไปแข่ง 7 คน มันยังพอดูแลกันได้ แต่วันนึงทีมกลายเป็น 38 คน มีเด็กอายุ 15 ที่พ่อแม่ต้องจ่ายให้ เด็กที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ยังไม่รู้เลยว่าชีวิตจะไปหาเงินมาจากไหน อยู่ๆ จะไปบอกแม่ว่า หนูขอเงินแสนนึง ก็ใช่ว่าทุกบ้านจะให้ได้ เราหัวระเบิดเลย ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ไหม

ไอเดียที่คิดขึ้นมาเพื่อหาเงินสนับสนุนตอนนั้นคือ เราจะทำบางอย่างขาย เพื่อแลกแพสชันของเรากับคนดู ก็เลยเริ่มโปรเจ็กต์ขายเสื้อที่สกรีนคำว่า “Never Give Up”

คนอาจจะคิดว่า ขาดไปคนสองคนไม่เป็นไรหรอกมั้ง จริงๆ แล้วถ้าคนหายไปจะเป็นอย่างไร

โชว์หนึ่งโชว์เหมือนผ้าทอชิ้นนึง ถ้าด้ายซักเส้นมันหาย ผ้าทั้งผืนก็ลุ่ย ชิ้นงานก็ไม่ใช่ชิ้นเดิมที่คนชื่นชม เพราะฉะนั้นช้อยส์แรกที่เราเลือกคือ ทุกคนต้องได้ไป เพราะทุกคนมีบทบาทที่สำคัญ

เวลาเรายืนบนเรือ ยืนแค่ฝั่งนึงไม่ได้ มันล่ม มันต้องมีคนบาลานซ์อีกฝั่ง มีคนตรงกลางอย่างเดียวไม่ได้ รอบๆ อย่างเดียวไม่ได้ ซ้ายขวาอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องบาลานซ์กันและกัน ทุกตำแหน่งคือหน้าที่ ศักยภาพ คือสกิล ไม่ใช่การทำให้เกิดภาพขึ้นมาเฉยๆ

ด้วยจำนวนเงินและความลำบาก มีใครขอถอนตัวไหม

น้องหลายคนพอรู้ยอดที่ตัวเองต้องจ่าย ก็เดินมาบอกว่า “พี่ หนูไปไม่ได้นะ ไปไม่ไหว” สิ่งเดียวที่เราตอบน้องคือ ฉันไม่ได้ให้แกจ่ายคนเดียว แต่เราจะช่วยกัน พี่ต้องการความสามารถของแก ถ้าไม่มีแก พี่ทำโชว์ไม่ได้ เราลองลุยด้วยกันก่อนไหม คือเราจะไม่ทิ้งให้คนที่ประสบปัญหา รู้สึกว่าเขาต้องจัดการตัวเองแค่คนเดียว นั่นคือสิ่งที่ทำให้ทีมเราไม่หมดไฟ

หลายคนบอกว่าที่ผ่านมา D Maniac สามารถไปได้เสมอเลย เราอยากจะบอกว่า เราเจอปัญหาเดียวกับที่ทุกคนเจอ เวลาถูกถามว่าเป็นไปได้เหรอที่เอา 38 คนไป เราจะตอบว่า ยูทำได้ ยูแค่ต้องทำ

ขายเสื้อแล้วเป็นยังไงบ้าง คนเข้าใจไหมว่าทำอะไรกันอยู่

กับบางคนที่ถามว่าคืออะไร? ซื้อแล้วได้อะไร? มันก็มี แต่เราจะไม่มีคำถามกับคนที่มีคำถามกับเรา

เรากลับเข้าใจเขา ลองมองในมุมเขาว่า ถ้าเขาไม่เคยรู้จักเรื่องเต้น แล้วอยู่ๆ มีเด็กเดินมาขอให้ช่วยจะเป็นยังไง

เราบอกกับน้องๆ ทุกคนที่เราช่วยกันขายเสื้อว่า ถ้าเจอคนที่มีคำถาม ก็แค่อธิบาย แค่ตอบ ถ้าเขาไม่ได้สะดวก ก็ไม่ได้ต้องไปยัดเยียดหรือบังคับ มันไม่ใช่แค่การหาเงิน มันคือคุณค่าทางจิตใจด้วย คนที่ซื้อไปแล้วเราก็อยากให้เขามองเห็นเรา อยากให้ดูเราเต้นต่อ ให้เขาเป็น supporter ของเราด้วยความสบายใจ

ปรากฏว่าขายเสื้อเสร็จแล้ว จำนวนเงินจากที่จะต้องออกคนละแสน เหลือคนละ 20,000 บาท

แต่บางคนก็ยังจ่ายไม่ได้อยู่ดี พวกพี่ๆ ที่เป็นหัวหน้าทีม หรือคนที่มีรายได้ก็จะไม่เอาเงินขายเสื้อมารวมกับค่าใช้จ่ายของตัวเอง โยกไปโปะให้น้องที่จ่ายไม่ได้ โดยที่ไม่ได้มองว่าคือการเสียสละเลยนะ มองแค่ว่าเรารับได้ เราไม่เดือดร้อน แต่ถ้าน้องเดือดร้อน ก็ต้องเอาส่วนนี้ไปให้น้อง

นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราสามารถไปแข่งทีมใหญ่แบบ Mega Crew ทุกคนกอดคอร้องไห้เลย เหมือนเราไปขอความช่วยเหลือจากคนในประเทศไทย กระโดดออกมาโบกมือให้ช่วยเราหน่อย เรากำลังจะไปทำแบบนี้นะ อยากช่วยเราไหม ถ้าคุณช่วยเรา เรามีแค่เสื้อแลกให้นะ พอคนช่วยเราเยอะ มันกลายเป็นว่าเรามีแรงผลักดันกับตัวเองมากขึ้น และการที่คนในทีมช่วยเหลือกันเอง ก็ทำให้ทีม make it happen ได้ไปอเมริกาด้วยจำนวน 38 คน และได้ที่ 5 ของโลกในปี 2016 ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ของการไปแข่งขันบนเวทีนี้

เรื่องเล่าของ D Maniac สะท้อนให้เห็นความดิ้นรนของนักเต้นที่สูงมาก แม้จะผ่านมาพักใหญ่จนทุกวันนี้ D Maniac ไม่ได้ร่วมแข่งขันบนเวทีนี้แล้ว แต่ถ้ามองทีมอื่นๆ ในปัจจุบันที่กำลังพยายามพาทีมไปแข่ง เขาก็ยังต้องดิ้นรนกันอยู่

ใช่ ไม่ว่า 5 ปีที่แล้วหรือปัจจุบัน น้องๆ ในยุคนี้ก็ต้องหาเงินหาทางกันอยู่ สิ่งที่จะแก้การดิ้นรนนี้ได้คือต้องมีสปอนเซอร์ที่มากพอ จากประสบการณ์ที่ไปแข่งมา เราได้เห็นประเทศที่เจอความลำบากไม่แพ้เรา คือฟิลิปปินส์ เขาเป็นประเทศที่ passion สูง แต่การเงินไม่ได้ดี คุณภาพชีวิตเขาค่อนข้างลำบากเหมือนเรา ในปีหลังๆ กลายเป็นว่าทีมฟิลิปปินส์ค่อยๆ น้อยลง เพราะเจอปัญหาเดียวกับที่เราเป็น มีหลายทีมที่ไม่ไหวแล้ว ไม่อยากสู้ต่อ เพราะมันเกินที่เขาจะ handle ได้

แต่ประเทศที่ดูแล้วรู้สึกว่าคุณภาพดี มีสปอนเซอร์ คือแคนาดา ยังส่งทีมส่งคนมาได้เต็มแม็กซ์ตลอด เพราะเขามีสปอนเซอร์ที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้จริงๆ ประเทศใหญ่ๆ อย่าง บราซิล อิตาลี ฝรั่งเศส ก็เช่นกัน ซึ่งทีมพวกนี้จะแข็งแรงมาก ได้รับการสนับสนุนจนทีมไม่ลำบาก

สุดท้ายเงินกลายเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ บางครั้งมันทำให้คนหมด passion ได้เลย เห็นแล้วรู้ว่าประเทศเรายังต้องดิ้นรนอีกเยอะมาก ก็พยายามส่งใจให้น้องๆ รุ่นใหม่ อย่าเพิ่งหมดไฟ

แข่งมาหลายปีแล้ว การสนับสนุนไม่เพิ่มขึ้นเลยหรือ

จริงๆ แล้วเราแอบมีความหวังนะ เพราะปีที่แล้วในเวที HHI การแข่งรุ่นเด็ก (junior) ของไทยได้แชมป์โลก คือทีม Awesome Junior จากบุรีรัมย์ เราก็มีความหวังว่า เฮ้ย…สปอนเซอร์ต้องเห็นแล้ว คนไทยแม่งได้แชมป์แล้วนะ ได้แขวนเหรียญ ได้ร้องเพลงชาติบนเวทีโลกเหมือนกีฬาทีมชาติเลย ต้องมีสปอนเซอร์เข้ามาสิ

แต่พอไปถามพี่ที่ดูแลองค์กรว่ามีคนติดต่อมาบ้างไหม ก็ไม่มี เงียบมาก ผู้ใหญ่ยังเหมือนเดิม จนเราเดาไม่ถูกแล้วว่าเพราะอะไร หรือกีฬานี้มันไม่ตอบโจทย์กับสปอนเซอร์ หรือเขาอยากจะช่วยเหลือภาพลักษณ์แบบอื่น

ความคาดหวังนี้ เคยนึกคิดไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือหน่วยงานทางวัฒนธรรมบ้างหรือเปล่า

นึกค่ะ นึกมาก เราพูดตลอดเลยว่า รัฐบาลเรามองไม่เห็นเรื่องแบบนี้เลย ทั้งที่มันมีคุณค่าและมีศักยภาพสูง คือการพัฒนาสังคมให้เท่าเทียมต่างชาติ อย่างประเทศเกาหลี เป็นประเทศที่เจริญมากในเรื่องของการเต้น เพราะรัฐบาลจ่ายเงินให้กับการแข่งขันทุกประเภท ประเทศเขาจึงอยู่ในระดับท็อปของโลกเสมอ เขาไม่ต้องวิ่งหาเงิน เขาแค่ฝึกซ้อม ทุ่มเท ใช้สกิลที่เขามี เหมือนนักกีฬาที่ได้รับการอัดฉีด

เราคิดว่าทำไมไม่มีหน่วยงานรัฐมองเห็นเรื่องนี้บ้าง เคยถามพี่ที่เคยดูแลองค์กร เขาก็บอกว่าเคยเข้าไปยื่นเรื่องนะ แต่ถูกเขี่ยทิ้ง เรื่องไม่ถึงใคร อาจจะค้างอยู่ตรงนั้น หรืออาจจะหายไปเลย ถามว่าเรารู้สึกอะไรไหม รู้สึกมากๆ เลยล่ะ ผิดหวังอยู่ตลอดที่เขามองไม่เห็น

ภาพที่ผู้ใหญ่มองเห็นมันยังเท่าเดิม แต่ความสามารถของเด็กไม่เคยเท่าเดิม คุณภาพที่เด็กๆ สร้างมันไปถึง world class แล้ว แต่เราเป็น world class ที่ไม่มีคนเห็น world class ที่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองเอง

สำหรับคนที่ทุ่มเท มันเฮิร์ต เพราะเรารู้สึกว่าเราทำขนาดนี้ เราพัฒนาขนาดนี้เชียวนะ

ในความเห็นของเรา สุดท้ายถ้าคุณสามารถซัพพอร์ตศิลปะนี้ได้ สิ่งที่ตามมาน่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจในอนาคต เมื่อวันนึงคนไทยอยู่ในระดับท็อปของเอเชีย ได้รับการซัพพอร์ต ใครจะรู้ ทุกคนอาจวิ่งเข้าประเทศเราก็ได้ มันคือเรื่องของการไปต่อ เราไม่ควรจะจมอยู่ตรงนี้

คิดว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้คนไทยไม่สนับสนุนการเต้น

อย่างหนึ่งเพราะวัฒนธรรมตะวันตกมันถูกแอนตี้เยอะ ด้วยการมองว่าอะไรที่ไม่ใช่ของเราเอง มันไม่ดี เหล่านี้เป็นความเชื่อที่เก่ามากๆ ในความคิดเรา ศิลปะชิ้นนี้ มันแพร่หลายในระดับโลกมาเป็นเวลานาน อาจจะใช้เวลาในการปลูกฝังเมล็ดในบ้านเราช้าหน่อย ด้วยวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ เราไม่ได้ว่าของเดิมมันแย่นะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นแบบนั้นตลอดไป เราอยากให้คนเริ่มเปิดใจ พัฒนาตัวเองให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ โลกใบนี้มันเดินหน้า เรายืนอยู่ที่เดิมไม่ได้

พูดตรงๆ เลยว่านักเต้นอย่างเราหาเงินได้เยอะมาก แต่รู้ไหมเราหาเงินที่ไหน ไม่ได้หาในบ้านตัวเอง คนต่างชาติมาจ้างให้เราไป workshop ข้างนอก และเราก็ตั้งคำถามตลอดว่า ทำไมจะต้องเป็นแบบนั้น

ทั้งที่จริงๆ ศักยภาพตรงนี้มันเป็นของคนไทย ความสามารถของเราควรจะต้องขายให้คนไทยได้ ต้องทำคอนเสิร์ตให้คนไทย คิดให้ศิลปินไทย ไม่ใช่ไปคิดให้ศิลปินต่างประเทศ ทำไมคนต่างชาติเห็น แต่คนไทยไม่เคยเห็นหรือเชื่อว่าคนในบ้านตัวเองทำได้ดี

หลายคนมองว่าซัพพอร์ตไปก็สู้เขาไม่ได้ จะซัพพอร์ตไปทำไม คนไทยบางกลุ่มไม่เคยคิดว่าคนในประเทศตัวเองดีพอ เราเชื่อว่าคนต่างชาติเก่งกว่าเราเสมอในทุกศาสตร์ ไม่ว่าในอาชีพอะไร ถ้ามีฝรั่งมาสมัคร เขาเลือกฝรั่ง เพราะเชื่อว่าเก่งกว่า ทำไมล่ะ เพราะเราไม่มีตาสีฟ้าเหรอ เรื่องแบบนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับสีผิวหรือชนชาติเลย แต่มันเกี่ยวกับความรัก ความทุ่มเท สกิล ซึ่งฝึกฝนและพัฒนาได้

แล้วการเป็นนักเต้นที่ไปรับวัฒนธรรมทางสากลด้วย ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะวัฒนธรรมมันเป็นของต่างชาติ มันไม่ใช่ของเรา บางคนจะยิ่งเชื่อปักใจเลยว่า ไม่มีทาง มันเป็นของเขา เขาต้องเก่งกว่าเราสิ แต่มันไม่ได้เกี่ยวว่าที่ไหนเป็นคนเริ่มหรอก ดูมวยไทยสิ มันเริ่มที่บ้านเรา แต่ทุกวันนี้ทั่วโลกเขาก็เล่นกีฬามวยไทย นักมวยฝรั่งที่เก่งมากก็มีใช่ไหม

ดูเหมือนว่าโอกาสของนักเต้นไทยต้องไปคว้าที่ต่างประเทศ​ ต้องไปสำเร็จเอาที่อื่น

มันคือเรื่องจริง เราจะต้องบอกคนไทย ด้วยการไปยืนบนพื้นที่คนอื่น รู้ไหมว่าทั้งหมดที่นักเต้นไทยทำ ที่ทุกคนออกไปคว้ารางวัลข้างนอก ส่วนหนึ่งเราอยากให้โลกเห็น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เราอยากให้คนไทยเห็น คำพูดที่ยังติดอยู่ในใจของทีมเราทุกคนคือ สิ่งเดียวที่อยากได้ คือการที่คนไทยยอมรับและเปิดโอกาสให้เรา

และถ้าวันนี้เราได้รับโอกาส ก็อยากให้คนรุ่นหลังมีโอกาส มีอิสระที่จะทำสิ่งนี้โดยที่เขาไม่ต้องมาสู้แบบที่พวกเราในวันนี้ต้องสู้แล้ว มันควรจะหมดไปในยุคของเรา ถ้าเราสู้เพื่อแหวกทาง อยากให้ทางนี้มันโล่ง และโปร่งตลอดไป เพื่อที่คนยุคใหม่จะได้เดินอย่างสบาย ไม่ต้องมาเสียเวลา

เวลาได้เห็นนักออกแบบท่าเต้นชื่อดังสอนอยู่ใน Dance Camp เป็นคนอเมริกันบ้าง เกาหลีบ้าง ฟิลิปปินส์บ้าง วันนึงเราก็อยากเห็นเด็กไทยสักคนสอนอยู่ตรงนั้น ได้มีคนเป็นหมื่นเรียนกับเขา ได้แรงบันดาลใจจากเขาบ้าง

 

เวลาไปสอนหรือไปเรียนที่ Dance Camp ต่างประเทศ ภาพของนักเต้นไทยเป็นยังไง

คนไทยหลายคนทั้งรุ่นเราและรุ่นเด็ก ได้ selected (ท้ายคลาสเรียน ครูสอนเต้นมักจะเลือกคนที่โดดเด่น เก่ง หรือน่าจดจำจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เต้นกลุ่มย่อย หลายครั้งจะมีการอัดวีดีโอและเผยแพร่ในวงกว้าง : ผู้เขียน) เรามองว่าเป็นการยืนยัน quality ที่ค่อนข้างสูงของเรา อย่างที่บอกไปว่าในบ้านเรา เราทำงานกับมันได้ยาก ต้องไปทำงานกับข้างนอก การที่ได้ selected ใน dance camp คือการที่คนจะรู้จัก จะมี follower ซึ่งนักเต้นหลายๆ คนได้อาชีพจากการไปเรียน และได้รับการ selected

แล้วภาพของนักเต้นอาชีพในบ้านเราตอนนี้ เป็นยังไงบ้าง

พอการมองเห็นหรือความสนใจในด้านนี้มันค่อนข้างต่ำ หลายคนจะมองแค่ว่า คุณไปเต้นเปิดงานอีเวนต์ก็พอ ไม่ได้ต้องการสกิลที่มากกว่านั้น ลูกค้าหรือผู้ถือเงินในบ้านเราต้องการแค่ความสวยงาม ให้มีคนมายืน เรียกร้องความสนใจก็พอแล้ว บางทีก็ดันไปมองนักเต้นที่ภาพลักษณ์ ไม่ได้มอง movement จนทำให้เกิดปัญหาว่า นักเต้นที่มีฝีมือ กลับไร้อาชีพ ไม่มีงานทำ ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย หน้าสวยไม่ได้ทำให้กลายเป็นคนเต้นเก่ง ไม่ได้มีอะไรที่สอดคล้องกัน

บางทีลูกค้าเลือกทาร์เก็ตแบบเกาหลี หรือแนวฝรั่งจ๋า แต่เต้นไม่ได้เลย นักเต้นไทยที่เต้นเก่งแบบบ้าบอไปเลยกลับไม่ได้งาน ลูกค้าเคยส่งคลิปมาให้เราดูว่า เฮ้ย อยากได้นักเต้นแนวแอฟริกัน ในคลิปที่เขาส่งมา นักเต้นก็ไม่ได้สวยอะไรนะ แต่เขาเก่งจนคนดูแล้วชอบ ปรากฏว่าพอเราขายนักเต้นแนวเดียวกับที่ลูกค้าขอ ก็โดนถามกลับว่ามีหน้าสวยกว่านี้ไหมคะ เห็นไหมว่ายังมีความสับสนอยู่ สุดท้ายองค์กรที่จ้างหรือผู้มีกำลังทั้งหลาย เขาเลือกที่รูปลักษณ์ก่อน

ถ้ามีโอกาสดูสารคดีคอนเสิร์ต Homecoming ของ Beyonce จะรู้ว่าเราไม่มีสิทธิ์ตัดสินไทป์ของคนเลย ทุกคนแตกต่างและเจ๋งมาก หรือคอนเสิร์ตล่าสุดของพี่ตูน บอดี้แสลม ก็เอานักเต้นหลายแบบขึ้นไปเต้น มีหมดตั้งแต่ อ้วน ดำ เตี้ย สำหรับเรานี่คือประตูแรกที่ดีมาก

อีกเรื่องนึงที่ไม่เข้าใจเลยคือ ประเทศไทยจะแบ่งสายนักเต้นเป็นสาย Event กับสาย Street Dance คืออะไรก็ไม่รู้ งงมาก เขาพยายามจะเหมาว่า การเป็น Event Dancer จะต้องสวยมาก ต้องศัลยกรรมมาอย่างดูดีแล้ว ถึงจะเรียกว่าสาย Event หลายๆ คนที่รู้สึกว่าพวก Street Dancer แม่งเก่งมาก บ้ามาก แต่ทำไมในความชื่นชมเหล่านั้น Street Dancer กลับไม่มีงานเท่า Event Dancer

จริงๆ รูปลักษณ์มันไม่ควรเป็นบทบาทสำคัญเลย เพราะบทบาทสำคัญของการเต้น ก็คือการเต้น

มันกระทบมาถึงระดับเล็กๆ อย่างในคลาสเรียนไหม มีคนที่เลือกจะเต้นหลบมุมเพราะไม่มั่นใจในรูปลักษณ์หรือเปล่า

มีเยอะมาก ซึ่งเรามักจะพูดกับน้องๆ เสมอว่าการเป็น dancer เป็นการทำงานศิลปะ ถ้าคุณไม่รู้จักตัวเอง ไม่รักตัวเอง ก็จะสร้างงานขึ้นมาไม่ได้ เข้าใจความหมายไหมว่ามันเซนซิทีฟขนาดนั้น การสร้างงานทั้งหมดมันใช้ชิ้นส่วนทุกอย่างของตัวเรา แล้วถ้าเราไม่รักชิ้นส่วนนั้น เราจะสร้างงานได้ยังไง

พอเป็นนักเต้นผู้หญิง สรีระทางร่างกายที่มีกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย ทำให้เกิดความลำบากบ้างไหม

บางคนเขาไม่คิดว่าเราจะทำได้ในแบบที่ผู้ชายทำ เพราะการเต้นฮิปฮอปมันอาศัยกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ถามว่าเราทำได้แบบเขาเลยไหมในตอนแรก ไม่ได้ เพราะกล้ามเนื้อเราน้อยกว่า แต่สิ่งนึงที่เราพิสูจน์แล้วคือ เมื่อใช้เวลาและการฝึกซ้อม มันทำได้ เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบให้ใครมองว่าใครด้อยกว่าใคร เราเชื่อว่าทุกคนเท่ากัน แต่ความเท่ากันนั้น อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่เชื่อเถอะว่ามันจะเท่ากันในที่สุด

เราเป็นคนนึงที่ตั้งหน้าตั้งตาซ้อมมาก ไม่ได้อยากเอาชนะ แค่อยากให้รู้ว่า สรีระแบบเราก็ทำได้ ถึงจะใช้เวลาก็ตาม

นักเต้นผู้หญิงบางคนบอกเราว่า หนูอยากเต้นท่าแบบ B-Boy ได้ ผู้ชายบางคนตลก หัวเราะใส่ เขาก็มาถามเราว่า “พี่ หรือหนูทำไม่ได้” เราก็จะคอยบอกว่า โน ทำเลย มันแค่ใช้เวลา เรากล้ายืนยันว่า นักเต้นผู้หญิงทุกคนจะต้องทำงานหนักกว่าผู้ชาย ซ้อมเยอะกว่าผู้ชาย และอดทนกว่าผู้ชาย อันนี้คือเรื่องจริง ด้วยความเสียเปรียบทาง physical ของเรา ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีคือความอดทนและความเชื่อมั่น

เด็กคนนึงจะฝันเป็นนักเต้นได้ไหม ในระดับการเปิดรับหรือสนับสนุนที่เรามีปัจจุบัน

ในอนาคต choreographer และ dancer เป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ มันจะกลายเป็นอาชีพที่ต้องใช้คนจริงๆ และจะกลายเป็นอาชีพที่น่าจับตามอง

ตอนนี้ dance studio ของเรามีเยอะมากพอ แต่ไม่แน่ใจว่าต่างจังหวัดจะมีมากพอหรือยัง ถ้าเป็นไปได้ อยากให้แต่ละจังหวัดสามารถมีพื้นที่การเต้นมากขึ้น มันเป็นไปได้ที่คนหนึ่งคนจะเติบโตขึ้นมาแล้วมีอาชีพเป็นนักเต้น โดยเลือกสายอาชีพนี้เลยตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่ยังติดคือสังคม การผลักดัน และการให้ความสำคัญในบทบาทอาชีพนี้

แม้จะมีช้อจำกัดอยู่มาก แต่วงการเต้นวันนี้มีอะไรที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีบ้าง

สิ่งที่เปลี่ยนไปมากๆ อย่างแรกเลยคือมุมมองต่อการเต้น เราดีใจที่คนไม่ได้มองแค่ว่าเป็นกิจกรรมยามว่างของเด็ก หรือเป็นความฝักใฝ่ของคนกลุ่มน้อย เมื่อก่อนคนจะเริ่มเต้นช่วงวัยรุ่น น้อยมากที่จะเริ่มตั้งแต่เด็ก อายุเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 15 -17 ปี คือเข้าม.ปลายแล้วถึงจะเลือกทำอะไรในแบบของตัวเอง เทียบกับตอนนี้เด็กไทยจะรู้ตัวเองตั้งแต่เด็กมากๆ 4-5 ขวบก็เรียนเต้นแล้ว

อีกอย่างที่เปลี่ยนไปคืออาชีพนี้ทำมาหากินได้ เลี้ยงดูตัวเองได้ ในยุคก่อนๆ อาชีพนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะได้งานหรือเปล่า ช่องทางที่คนจะเลือกใช้งานมันน้อย มันจะมีสักกี่แบรนด์เลือกหยิบใช้นักเต้น แต่ทุกวันนี้ ทุกแบรนด์ต้องการเปิดงานด้วยแดนเซอร์ ไม่ว่าจะจัดงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต หรือโฆษณาในทีวี ส่วนใหญ่จะมีแดนเซอร์เต้นเปิด เราเลยคิดว่าการเต้นกลายเป็นหนึ่งในเส้นทางบันเทิงที่คนไทยชอบ และเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย..มันดี สนุก สวยงาม มีคุณภาพ และต้องใช้สกิล

เรื่องต่อมาคือคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ขึ้นมาก เราเชื่อว่าในยุคที่เราเริ่มเต้น มันไม่ได้มีแค่เราหรอก แต่ด้วยความที่สื่อมันไม่ถึงกัน Youtube มันตามมาสักประมาณ 2-3 ปี ให้หลัง การรวมกลุ่มเลยไม่ค่อยเกิดขึ้น พอ YouTube บูมขึ้นมา โลกมันถึงเล็ก ขยับเข้าหากันมากขึ้น ก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าที่มุมไหนของประเทศมีใครเต้นอยู่บ้าง ไม่มีใครคิดว่า เราจะติดต่อคนที่เต้นอยู่อีกฟากของประเทศยังไง แต่ตอนนี้เราเชื่อมต่อกันมากขึ้น เริ่มมีผู้นำในแต่ละจุดมาจับกลุ่มกัน สร้างอะไรร่วมกัน

การเกิดเป็นคอมมูนิตี้ ทำให้เวลาเจอกันในงานหรือกิจกรรมใด แนวไอเดียการเต้นมันถูกแชร์ต่อไปด้วย ทำให้คนจากต่างพื้นที่ อยู่คนละจังหวัด มองเห็นว่าพื้นที่อื่นมีพัฒนาการเป็นแบบไหน เขาคิดอะไร ทำอะไร โลกเป็นอย่างไร พอเขากลับไปพื้นที่ของตัวเอง ก็ไปดูแล เทคแคร์ ไปสอนคนอื่นต่อ คอมมูนิตี้นักเต้นไทยตอนนี้เลยถือว่าใหญ่ แข็งแรง และพัฒนาไปรวดเร็วมากๆ

อีกเรื่องคือโอกาสของนักเต้นไทยมีมากขึ้น เมื่อก่อนนักเต้นไทยมีความสามารถ แต่ไม่มีโอกาสพาตัวเองไปในพื้นที่ที่มีความรู้ ไม่รู้ว่าแหล่งที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเต้นอยู่ที่ไหน แต่พอ Youtube เข้ามา อินเทอร์เน็ตแพร่หลาย คนก็เริ่มรู้ข้อมูลมากขึ้น ถ้าเราไปที่นี่ จะสามารถเรียนเต้นแนวนี้ได้นะ โอกาสที่ทำให้นักเต้นไทยเรียนรู้ มองเห็น เปิดโลก และเพิ่มเติมความชอบของตัวเองมันมีมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยเราก้าวกระโดด คนไทยมีโอกาสที่จะพาตัวเองออกไป explore มากขึ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save