fbpx

Cyberspace: ภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจใหม่ และความขัดแย้งในอนาคต

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politics) ที่มีประเด็นด้านเศรษฐกิจ การแย่งชิงทรัพยากร การแข่งกันขยายอิทธิพลผ่านการขยายกัลยานุภาพ (soft-power) กลายเป็นประเด็นหลักที่สร้างทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือระหว่างประเทศ นักวิชาการจำนวนมากเริ่มใช้คำว่า ‘ภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ’ (geo-political economy หรือ ภูมิเศรษฐกิจการเมือง) กันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการสร้างภาพอนาคต (strategic future foresight) ที่พิจารณารัฐบางรัฐเป็นภัยคุกคามและความท้าทายในอนาคตที่ต้องเร่งบริหารจัดการตั้งแต่ปัจจุบัน กลายเป็นกระแสที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในมิติเศรษฐกิจและการเมือง ดังจะเห็นการดำเนินมหายุทธศาสตร์ที่ทั้งแข่งขัน ร่วมมือ และขัดแย้งระหว่างกัน ของสองมหาอำนาจของโลกในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ‘อินโด-แปซิฟิก’ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์กายภาพจริงบนโลก

หากแต่เมื่อพิจารณาไปยังอนาคต พื้นที่ภูมิศาสตร์ใหม่ที่อาจจะกำลังก่อตัว และมีแนวโน้มลุกลามกลายเป็นพื้นที่ใหม่ของการแข่งขัน ช่วงชิงความได้เปรียบ ขยายอิทธิพล หรือแม้แต่การสร้างความขัดแย้งใหม่ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเฝ้าระวังจับตาด้วยเช่นกัน อาทิ cyberspace, อวกาศ, เส้นทางการค้าผ่านขั้วโลกเหนือ, พื้นที่ห่างไกลชายฝั่งนอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (200 ไมล์ทะเล) ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสูงที่เรียกว่า international seabed หรือพื้นที่ห่างไกลชายขอบที่ในอดีตอำนาจรัฐไม่สามารถเข้าถึง แต่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง อาทิ พื้นที่ Zomia หรือเขตพื้นที่สูงชันของเทือกเขาสลับซับซ้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต่อเนื่องถึงเทือกเขาหิมาลัย ชายแดนจีนและอินเดีย ฯลฯ

บทความตอนนี้ขอเริ่มต้นกล่าวถึงพื้นที่ cyberspace เป็นอันดับแรก

Cyberspace คือพรมแดนใหม่ที่ในอดีตเข้าถึงได้เฉพาะคนบางกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบออนไลน์ หากแต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเหล่านี้มีเงื่อนไขการเข้าถึงซึ่งลดความซับซ้อนลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตที่เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) และเทคโนโลยีเหนือจริง (Augmented Reality: AR) จะมีอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กลง เช่นเดียวกับที่จะมีราคาถูกลงจนทุกคนเข้าถึงได้ นั่นหมายความว่า พรมแดนใหม่ที่ในปัจจุบันนี้เริ่มมีการสร้างเทคโนโลยีในการประมวลผลที่ต้นทุนลดลงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นอย่าง blockchain เมื่อผสมผสานกับระบบกรรมสิทธิ์ อาทิ non-fungible token (NFT) และระบบการชำระเงินที่เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Central Bank Digital Currency และ/หรือ crypto currency เทคโนโลยีเหล่านี้จะยิ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของโลกใช้เวลาและทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ได้ทั้งในปริมาณและระยะเวลาที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น

คำถามสำคัญคือ แล้วบทบาทของภาครัฐในการสร้างกฎหมาย กฎระเบียบ อำนวยความสะดวก ควบคุมให้เกิดความเป็นธรรม รับรองสิทธิ นิติรัฐ-นิติธรรม รวมทั้งควบคุมในมิติทางด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทั้งในมิติความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงของมนุษย์ (เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น) ทั้งที่เกิดขึ้นบน cyberspace และที่เชื่อมโยงมายังโลกกายภาพ

ในแวดวงวิชาการมีการถกเถียงกันมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศต่างๆ บน cyberspace มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศความย้อนแย้ง 3 มิติของอำนาจอธิปไตยบนโลกไซเบอร์หรือที่เรียกว่า ‘Sovereign Trilemma’

ความย้อนแย้งในรูปแบบที่ 1 เรียกว่า ‘Hyper Sovereignty’ เนื่องจากบน cyberspace ไม่ได้มีเส้นเขตแดนของรัฐที่ชัดเจนเหมือนในภูมิศาสตร์กายภาพ (ซึ่งในความเป็นจริงชายแดนและเขตแดนของหลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเช่นกัน) คำถามที่สำคัญคือการออกกฎหมาย กฎระเบียบ หรือแม้แต่การปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศที่มีอยู่แล้วบนโลกไซเบอร์ ถือเป็นการยกเขตอำนาจอธิปไตยภายในประเทศของตนให้มีอำนาจนอกเขตประเทศ (extraterritorial jurisdiction หรือ universal jurisdiction) หรือไม่ แล้วถ้าเป็นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศ หรือ รัฐอื่นๆ หรือไม่

กฎหมายไทยห้ามกระทำการบางอย่างในประเทศไทย แต่ถ้ามีผู้ละเมิดดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นในประเทศไทย แต่ใช้ระบบ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network: VPN) ทำให้เสมือนว่าเขาดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นมาจากต่างประเทศ และหากกิจกรรมเหล่านั้นเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทย เจ้าหน้าที่ไทยจะบังคับใช้กฎหมายไทยได้หรือไม่ และปัญหาจะยิ่งซับซ้อน หากเป็นกรณีของบางประเทศที่มีกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ที่เข้มข้น และมีเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพสูง และต้องการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นในประเทศไทย คนไทยและกฎหมายไทยจะอนุญาตหรือไม่

หรือในทางกลับกัน พวกเราจะอยู่กันเช่นไร หากในที่สุด กิจกรรมอะไรที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ก็ถือเป็นอิสระและเสรีภาพโดยไร้การควบคุม หรือพื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่ปราศจากหลักนิติรัฐ-นิติธรรม

ความย้อนแย้งที่ 2 นักวิชาการหลายๆ ท่านใช้คำเรียกฉากทัศน์นี้ว่า ‘Internet Balkanization’ ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่หมายถึงการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ บนโลกอินเทอร์เนตให้กลายเป็นเสมือนรัฐต่างๆ ที่มีพรมแดนที่ขีดเส้นชัดเจนลงไปเลย มีอำนาจอธิปไตยที่บังคับใช้บนพื้นที่ดังกล่าวเฉพาะในพื้นที่ๆ ตนถูกจำกัดอยู่เท่านั้น โดยใช้คำที่สอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโลกกายภาพของการเกิดขึ้นของรัฐต่างๆ บนคาบสมุทรบอลข่าน (Balkanization) ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมหมายถึง ความแตกแยก ความขัดแย้ง การเจรจา การที่มีบางมหาอำนาจเล่นบทบาทผู้บงการอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้เกิดรัฐสมัยใหม่บนคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งปัจจุบันคาบสมุทรบอลข่านคือพื้นที่แบ่งเขตอำนาจอธิปไตยกันระหว่าง 13 รัฐ ได้แก่ กลุ่มแรกที่มีพื้นที่ทั้งประเทศอยู่ในคาบสมุทร: Albania, Bosnia and Herzegovina, Bulgaria, Kosovo, Montenegro, และ North Macedonia กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีพื้นที่ของประเทศส่วนใหญ่ (เกินครึ่ง) อยู่บนคาบสมุทร: Greece และ Serbia กลุ่มที่ 3 ประเทศที่มีพื้นที่บางส่วนอยู่บนคาบสมุทร: Croatia และ Slovenia และกลุ่มที่ 4 ประเทศที่มีพื้นที่ส่วนน้อย (ไม่ถึง 5% ของพื้นที่ทั้งหมด) อยู่บนคาบสมุทร: Romania, Turkey และ Italy ซึ่งแน่นอนว่า กว่าจะเกิดสันติภาพและการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ นั่นหมายความว่าความขัดแย้งและสงครามที่ยืดเยื้อเรื้อรังยาวนานนับร้อยๆ ปี ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

คำถามคือ เราจะแบ่งเค้ก ครอบครองพื้นที่บนโลกไซเบอร์กันเช่นนั้นเลยหรือไม่ เพื่อให้ขอบเขตของอำนาจอธิปไตยเกิดขึ้นอย่างชัดเจน บังคับใช้กฎหมาย กฎเกณฑ์ กฎระเบียบต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ทุกประเทศสามารถมั่นใจในความมั่นคงของตนบนโลกออนไลน์ได้อย่างที่ตนเองต้องการ แต่แน่นอนว่า กว่าจะถึงจุดสมดุลนั้น ความขัดแย้งต่างๆ ก็คงจะเกิดขึ้นมากมาย ยืดเยื้อ และเรื้อรัง เผลอๆ อาจจะมากกว่าในกรณีของคาบสมุทรบอลข่านที่เป็นพื้นที่ๆ จับต้องได้ในทางภูมิศาสตร์กายภาพ เพราะต้องอย่าลืมว่า cyberspace คือพื้นที่ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ตั้งป้อมค่ายคูประตูหอรบไม่ได้

และหากสมมติสามารถสร้างเส้นเขตแดนแบ่งโลกอินเทอร์เนตกันได้จริงๆ นั่นก็นำมาซึ่งความย้อนแย้งที่เลวร้ายที่สุดอีกรูปแบบหนึ่งอยู่ดี นั่นคืออุดมคติที่ว่าอินเทอร์เนต หรือ cyberspace คือ ‘โลกไร้พรมแดน’ ได้สูญหายมลายสิ้นไปแล้วนั่นเอง global open internet/cyberspace ก็จะกลายเป็นเพียง utopia ที่ไม่ได้มีอยู่จริง

ความย้อนแย้งที่ 3 ‘Cyber-Anarchy’ อนาธิปไตยไซเบอร์ นี้ก็เป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่เลวร้าย ลองจินตนาการดูว่าหากทุกคนมีเสรีภาพได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่มีข้อจำกัดใดๆ แต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ในโลกมีธรรมของความเป็นมนุษย์ มีจริยธรรมที่เป็นสากล เกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย หรือแม้แต่หลักศาสนา แต่นั่นก็เกิดขึ้นเฉพาะกับคนส่วนใหญ่ ในโลกความเป็นจริงยังมีคนส่วนน้อยที่โลภ หลง โง่เขลา และบางครั้งเลวร้ายในสันดาน คำถามที่ต้องคิดคือ คนเหล่านี้จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากความไร้ข้อจำกัดของโลกไซเบอร์ได้โดยไม่นึกถึงผู้อื่น และหากเราไม่สามารถออกแบบโลกไซเบอร์ให้มีการบังคับกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร

แน่นอนว่าองค์การระหว่างประเทศที่ต้องเข้ามามีหน้าที่ในการลดทอน บรรเทาเบาบาง ปัญหาความย้อนแย้งทั้ง 3 ข้อนี้ ถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าองค์กรระหว่างประเทศเองก็มีความท้าทายและข้อจำกัดของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมาภิบาล การแทรกแซงของมหาอำนาจ ปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ทั้งกำลังคน องค์ความรู้ งบประมาณ รวมทั้งทรัพยากรที่สำคัญที่สุด นั่นคือเวลา เพราะต้องอย่าลืมว่าเทคโนโลยี ณ ปัจจุบัน พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนจนเกินไปนักที่เราจะสามารถคาดการณ์ได้ว่า cyberspace จะกลายเป็นความท้าทายใหม่ และอาจจะลุกลามจนกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในทางภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save