fbpx
อุตสาหกรรม ‘ไอโอ’: ภัยคุกคามประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21

อุตสาหกรรม ‘ไอโอ’: ภัยคุกคามประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21

ในปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธว่า โลกของเรากำลังถูก ‘ดิสรัปต์’ ด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกแง่มุมของชีวิต ทำให้ข้อมูลต่างๆ ไหลเวียนอยู่เพียงปลายนิ้ว

การต่อสู้ทางการเมืองในโลกออนไลน์ทวีความสำคัญและทรงพลังมากขึ้น ภาครัฐ พรรคการเมือง นักกิจกรรม กระทั่งบริษัทเอกชนต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ เทคโนโลยีทำให้เครื่องมือทางการเมืองอย่างการทำโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) รวมไปถึงความพยายามในการควบคุมและสอดส่องพฤติกรรม บงการและหล่อหลอมความคิดบางอย่างของประชาชนเปลี่ยนรูปแบบไป ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร (Information Operation) และกองกำลังไซเบอร์คืออาวุธใหม่ที่สั่นสะเทือนการเมืองวิถีเดิม

เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักกลยุทธ์ทางการเมืองว่า การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการ ‘เป่าหู’ (manipulate) สาธารณะชน ถือเป็น ‘ศาสตร์มืด’ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่า ควรนำมาใช้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างข้อมูลเท็จ (disinformation) เพื่อชักนำทัศนคติของสาธารณชนส่วนใหญ่ให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ

สถาบันอินเทอร์เนตศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้จัดตั้งโครงการศึกษาการทำโฆษณาชวนเชื่อเชิงคำนวณ (computational propaganda) หรือการแพร่กระจายข้อมูลคุณภาพต่ำและข้อมูลเท็จผ่านอัลกอริทึมและระบบคอมพิวเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งเผยแพร่รายงาน Industrialised Disinformation: 2020 Global Inventory of Organised Social Media Manipulation ที่ศึกษาปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของ ‘กองกำลังไซเบอร์’ เพื่อหวังผลทางการเมืองใน 81 ประเทศทั่วโลกในปี 2020

สถานการณ์ของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในโลกเป็นอย่างไร หน้าตาของกองกำลังไซเบอร์เป็นแบบไหน มีการใช้เครื่องมือ ยุทธศาสตร์ และทรัพยากรอย่างไร และอะไรคือความน่ากังวลของอุตสาหกรรมไอโอที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือรายงานที่ฉายให้เห็นภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมไอโอระดับโลกในปัจจุบัน


‘กองกำลังไซเบอร์’: หน่วยรบยุคใหม่ในโลกไร้พรมแดน


หนึ่งในตัวแสดงสำคัญของการทำโฆษณาชวนเชื่อคือ ‘กองกำลังไซเบอร์’ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่:

กลุ่มแรกคือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งถือเป็นแบบที่พบเห็นกันได้ทั่วไป อาจเป็นไปได้ตั้งแต่กระทรวงที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับดิจิทัลหรือการสื่อสาร กลุ่มแคมเปญทางการทหาร กลุ่มกิจกรรมทางการเมือง หรือสื่อที่ทำงานใต้ร่มหน่วยงานภาครัฐ มีข้อมูลว่า หน่วยงานภาครัฐใน 62 ประเทศใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหล่อหลอม (shape) ความเห็นของสาธารณชนให้เป็นไปในแบบที่พวกเขาต้องการ เช่น กลุ่มตำรวจฟิลิปปินส์ที่ใช้ Facebook สนับสนุนกิจกรรมทางการทหารเพื่อต้านการก่อการร้าย หรือความขัดแย้งทางไซเบอร์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพลิเบียในการนำเสนอภาพเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองที่ดำเนินอยู่

กลุ่มที่สองคือพรรคการเมือง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง โซเชียลมีเดียกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ถูกใช้เพื่อปราบปรามการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือมีไว้เพื่อบ่อนเซาะทำลายพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม เช่น ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberge) แคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งขั้นต้น (primary) จากพรรคเดโมแครต ใช้บัญชีทวิตเตอร์ปลอมในแคมเปญของเขา และจ้างโอเปอเรเตอร์จำนวนมากเพื่อสร้างเสียงสนับสนุนขึ้นมา

ใช่ว่าจะมีแต่ฝั่งภาครัฐหรือพรรคการเมืองเท่านั้นที่เป็นกองกำลังไซเบอร์ แต่ฝั่งบริษัทเอกชนก็กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแสดงสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการทำโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น หลายบริษัททำงานร่วมกับรัฐหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านกลยุทธ์การสื่อสารและให้บริการด้านโฆษณาชวนเชื่อ และแน่นอน พวกเขาทำเงินได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

รายงานดังกล่าวระบุว่า ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา มีการจ่ายเงินมากกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้บริษัทเอกชนที่ทำเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ และเราต้องไม่ลืมว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นแค่ตัวเลขที่ได้รับการยืนยันแล้วเท่านั้น นี่จึงเป็นประเด็นที่ชวนขบคิดต่อไปว่า ยังมีบริษัทเอกชนอีกมากขนาดไหนที่ทำกำไรมหาศาลจากธุรกิจนี้ ส่งต่อโฆษณาชวนเชื่อให้เราทุกวันโดยที่ไม่ทันรู้ตัว

นอกจากกลุ่มทางการเมืองและบริษัทเอกชนแล้ว พลเมืองที่มีอิทธิพล หรือ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ และภาคประชาสังคมก็เข้ามามีบทบาทในการทำโฆษณาชวนเชื่อเช่นกัน อันที่จริงแล้ว กองกำลังไซเบอร์มักจะทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มวัฒนธรรมย่อยในอินเทอร์เนต (internet subculture) กลุ่มเยาวชน กลุ่มแฮกเกอร์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มย่อยๆ (fringe movement) ผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งอาสาสมัครที่ทำงานเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์บางอย่าง แต่ข้อควรพิจารณาคือ เส้นแบ่งระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ว่ามานี้ค่อนข้างเลือนราง ทำให้ยากที่จะแยกแต่ละกลุ่มออกจากกันได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ว่า มีไม่กี่ประเทศที่มีกองกำลังไซเบอร์ครบทุกรูปแบบ เช่น อิสราเอล คูเวต ลิเบีย รวมไปถึงสองมหาอำนาจรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ส่วนจีนไม่มีกองกำลังไซเบอร์ที่เป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ขณะที่ฝั่งประเทศไทย กองกำลังไซเบอร์หลักได้แก่ หน่วยงานภาครัฐและพลเมืองที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์


บอต มนุษย์ หรือบัญชีที่ถูกขโมย: 3 อาวุธหลักกองกำลังไซเบอร์


ภาพบัญชีโซเชียลมีเดียที่ไม่มีรูปโปรไฟล์ หรือบัญชีที่ตั้งชื่อแปลกๆ ผสมกับตัวเลข กลายเป็นเหมือนภาพจำของเหล่ากองกำลังไซเบอร์สำหรับใครหลายคน แต่จริงๆ แล้ว ‘อาวุธ’ หรือ ‘บัญชีผู้ใช้’ ของเหล่ากองกำลังไซเบอร์มีหลายชนิด และมีประเด็นให้เราพิจารณามากกว่านั้น

ประการแรก กลุ่มที่ทำโฆษณาชวนเชื่อสามารถใช้ได้ทั้งบัญชีผู้ใช้ที่ ‘จริง’ และ ‘ปลอม’ ในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อออกไป และเป็นได้ทั้งบัญชีอัตโนมัติ (automated accounts หรือบางครั้งเรียกว่า political bots) หรือบัญชีที่ใช้มนุษย์จริงๆ ควบคุม (human curated) ซึ่งตัวอย่างของบัญชีประเภทหลังคือ กลุ่มวัยรุ่นอเมริกันในกลุ่ม Turning Point Action ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ หน้าที่ของพวกเขาคือการเผยแพร่ข้อความการสนับสนุนทรัมป์ออกไป พร้อมๆ กับให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ (mail-in ballots) หรือผลกระทบของโควิด-19

ทั้งนี้ในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ กองกำลังไซเบอร์มักจะใช้บัญชีที่มีมนุษย์จริงๆ เข้ามาร่วมควบคุมด้วยมากกว่า และแม้จะมีการใช้ระบบอัตโนมัติบ้าง แต่ก็ใช้ในระดับต่ำ อีกทั้งยังมีการร่วมแสดงความคิดเห็น ทวีตข้อความ หรือแม้กระทั่งส่งข้อความส่วนตัวหาผู้อื่นผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า บัญชีที่ใช้มนุษย์จริงๆ ควบคุมก็สามารถเป็นได้ทั้งบัญชีจริงและปลอมเช่นกัน

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ บัญชีที่ถูกแฮก (hacked) ถูกขโมย (stolen) หรือถูกแอบอ้างตัวตน (impersonate) เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยท่ีสุดเมื่อเทียบกับสองกลุ่มแรก และมีไม่กี่ประเทศที่ใช้วิธีนี้ เช่น บัญชีอินสตราแกรม (instagram) ปลอม ที่ถูกสร้างเพื่อแอบอ้างว่าเป็น Ali Karimli ผู้นำกลุ่ม Popular Front Party ในประเทศอาเซอร์ไบจาน


ภารกิจหลักของกองกำลังไซเบอร์


คงไม่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด เมื่อรายงานดังกล่าวระบุว่า กองกำลังไซเบอร์จะทำการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสนับสนุนรัฐบาลหรือพรรคการเมือง รวมไปถึงการเพิ่มข้อความสนับสนุน (ปลอมๆ) ให้กับพวกของตนเอง เช่น ในประเทศเลบานอน มีการใช้บัญชีอัตโนมัติหรือบอตในการเพิ่มแฮชแท็กสนับสนุนเลขาธิการใหญ่ของพรรคฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah)

พร้อมกันนี้ กองกำลังไซเบอร์ยังมีหน้าที่โจมตีหรือใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม (smear campaign) ด้วย เช่น กองกำลังไซเบอร์ของจีนที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการใส่ร้ายผู้ประท้วงชาวฮ่องกง และกันไม่ให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยใช้วิธีตามราวีหรือตามก่อกวน (troll) เพื่อปิดปากผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง และลิดรอนเสรีภาพสื่อ

วิธีสุดท้าย ซึ่งเป็นวิธีที่พบได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสองประเภทข้างต้นคือ ในบางประเทศ เราอาจเห็นกลุ่มพรรคการเมืองแบบประชานิยมใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแบ่งแยกพลเมืองออกจากกัน เช่น troll farm ในประเทศไนจีเรีย ซึ่งถูกสงสัยว่าเกี่ยวพันกับ Internet Research Agency ในรัสเซีย กลุ่มนี้จะคอยเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือเรื่องสมคบคิดเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม เพื่อก่อให้เกิดวาทกรรมการแบ่งแยกในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นทั้งการกระทำที่มุ่งประโยชน์ในไนจีเรีย และเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสร้างอิทธิพลจากต่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

เมื่อขยับมาดูกลยุทธ์การสื่อสารที่คนกลุ่มนี้จะใช้ อย่างแรก เราจะเห็นการสร้างข้อมูลผิดๆ หรือการควบคุมบงการสื่อ ซึ่งรวมถึงสิ่งที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อข่าวปลอม มีม (meme) ภาพ หรือวิดีโอ วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่โดดเด่นและถูกใช้มากที่สุด รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี ‘deep fake’ ซึ่งปลอมแปลงเนื้อหาได้อย่างแนบเนียน จนกระทั่งอาจไปถึงขั้นการปลอมอัตลักษณ์ของตัวบุคคล

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้กองกำลังไซเบอร์สามารถทำการสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ดียิ่งขึ้น พวกเขาอาจใช้กลยุทธ์ ‘การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล’ (data-driven strategies) เข้ามาช่วยด้วย ตรงนี้เองที่กลุ่มบริษัทเอกชนมักจะเข้ามามีบทบาท โดยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศ เช่น Estraterra บริษัทในประเทศแคนาดาที่ทำงานให้คำปรึกษาด้านการเมืองให้เอกวาดอร์ ใช้เงินไปกว่า 1.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับการโฆษณาบน Facebook เพื่อเจาะจงไปที่กลุ่มเป้าหมายในเอกวาดอร์และกลุ่มเป้าหมายในประเทศลาตินอเมริกาโดยเฉพาะ

การตามราวี ก่อกวน หรือคุกคามความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์ (doxing) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นิยมใช้เพื่อโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักกิจกรรม หรือสื่อบนโซเชียลมีเดีย โดยจะมุ่งไปที่การกระทำกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ขณะที่อีกหนึ่งวิธีที่นิยมใช้กันคือ การรายงานเนื้อหาหรือบัญชีผู้ใช้ของนักกิจกรรม คนเห็นต่างทางการเมือง หรือสื่อที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ว่าเป็นสแปม เพื่อให้ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเจ้านั้นๆ บล็อกประเด็นดังกล่าวไม่ให้ขึ้นเทรนด์

เมื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นแพลตฟอร์มที่กองกำลังไซเบอร์ใช้เช่นนี้ ผู้บริการโซเชียลมีเดียจึงออกมาแสดงความกังวลและตอบโต้การกระทำเหล่านี้ เช่น Facebook และ Twitter ออกมาประกาศว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2019 – พฤศจิกายน 2020 มีบัญชีและเพจมากกว่า 317,000 บัญชี/เพจ ถูกถอนออกจากแพลตฟอร์มของตนเอง

แม้กองกำลังไซเบอร์ดูจะถูกใช้ในกิจกรรมการเมืองเป็นหลัก แต่สิ่งที่ชวนให้กังวลต่อไปคือ กองกำลังไซเบอร์ยังสามารถถูกผสมรวมเข้ากับสื่อหรือพื้นที่การสื่อสารอื่นๆ โดยมีคนทำงานเต็มเวลาเพื่อควบคุม เซนเซอร์ รวมไปถึงชักนำการสนทนาและข้อมูลออนไลน์ให้เป็นไปตามแบบที่ตนเองต้องการ เช่น ในประเทศเวเนซุเอลา มีเอกสารที่รั่วไหลออกมาในปี 2018 ฉายภาพให้เราเห็นว่า กลุ่มคนที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จจะต้องรับหน้าที่ดูแลบัญชีผู้ใช้คนละ 23 บัญชี และมีการรวมทีมกันตั้งแต่ 10 คน ไปจนถึง 500 คน ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว คนกลุ่มนี้จะสามารถควบคุมบัญชีผู้ใช้ได้มากถึง 11,500 บัญชีเลยทีเดียว

จึงเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงไม่น้อย เมื่อลองคิดต่อไปว่า บัญชีผู้ใช้เรือนหมื่นนี้จะเข้าถึงผู้คนได้มากขนาดไหน และจะเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือโฆษณาชวนเชื่อออกไปได้มากเท่าไหร่


ภัยคุกคามใหม่ของประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21


การทำโฆษณาชวนเชื่อไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในโลกไร้พรมแดนที่ข้อมูลและการสื่อสารต่างๆ เชื่อมถึงกันแค่เพียงปลายนิ้ว ทำให้สิ่งเหล่านี้ยิ่งถูกขยายออกไปไวและอาจสร้างผลกระทบมากขึ้น และแม้วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างโควิด-19 และการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 จะทำให้เหล่าผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียหันมาให้ความสนใจกับการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ บัญชีผู้ใช้ปลอม หรือข่าวปลอมอย่างจริงจัง ทว่าคำถามสำคัญคือ ความพยายามเหล่านี้เพียงพอแล้วหรือไม่ ในยุคที่เหล่ากองกำลังไซเบอร์ทำงานกันอย่างแข็งขัน มาพร้อมกลยุทธ์ที่หลากหลาย และแนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้

อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ การโฆษณาชวนเชื่อไม่ได้เกิดขึ้นหรือถูกเผยแพร่ออกไปได้ด้วยตัวเอง แต่เกิดจากการออกแบบเทคโนโลยีที่ย่ำแย่ การกำกับดูแลนโยบายสาธารณะที่หละหลวม ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้มีภาวะผู้นำมากเท่าที่ควร หรือการทุ่มทุนจากรัฐบาลอำนาจนิยมและพรรคการเมือง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะบ่อนเซาะทำลายประชาธิปไตย ก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมือง รวมถึงทำให้สาธารณชนเสื่อมศรัทธาในสถาบันประชาธิปไตยด้วย

แม้โซเชียลมีเดียจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้โฆษณาชวนเชื่อแพร่กระจายออกไป แต่ในทางกลับกัน โซเชียลมีเดียก็สามารถถูกใช้เพื่อสนับสนุนสถาบันประชาธิปไตยได้เช่นกัน ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพ เพราะประชาธิปไตยที่แข็งแรงต้องมาจากการที่พลเมืองสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อจะนำข้อมูลที่ได้มาร่วมอภิปรายกัน อันจะนำไปสู่การสร้างฉันทามติโดยรวมได้ น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในประเทศต่างๆ เหมือนจะถูกใช้เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลเท็จมากกว่า

เมื่อข้อมูลที่เห็นอาจเกิดจากเบ้าหลอมของคนบางกลุ่ม เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง และถูกส่งผ่านทางโซเชียลมีเดียที่แทบจะเป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ใช้รับข่าวสารและสื่อสารกันเช่นนี้ จึงอาจจะถึงเวลาที่เราต้องเริ่มตั้งคำถามกับข้อมูลหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างจริงจังเสียที เพราะสิ่งที่น่ากลัวและอันตรายที่สุดในโลกดิจิทัลไร้พรมแดน อาจจะเป็นการที่เรา ‘เชื่อ’ แถมบางทียัง ‘ส่งต่อ’ ชุดข้อมูลผิดๆ โดยปราศจากการไตร่ตรองใดๆ ทั้งสิ้นก็เป็นได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save