fbpx
งานฟุตบอลประเพณีฯ ให้อะไรเรา

งานฟุตบอลประเพณีฯ ให้อะไรเรา

เมื่อใกล้เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ทั้งศิษย์ปัจจุบันและเก่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กระจายตัวอยู่ตามกลุ่มองค์กรต่างๆ ในสังคมจะเริ่มออกมาพูดถึงงานฟุตบอลประเพณีกันมากขึ้น บางคนถึงขั้นใส่เสื้อเชียร์ของสถาบันของตนเองเพื่อโปรโมตงาน ทำให้กระแสของงานบอลในช่วงเดือนมกราคมของทุกปีเป็นที่คึกคัก และน่าจับตามองสำหรับสื่อมวลชนและสังคมโดยทั่วไป

เช่นเดียวกันกับในปีนี้ที่กระแสของงานบอลกำลังค่อยๆ กลับมาอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานเกือบสองปี

เมื่อพูดถึงงานฟุตบอลประเพณีฯ หลายคนที่ไม่ได้เคยสังกัดอยู่ในสถาบันทั้งสองอาจจะงงว่า งานนี้คืออะไร และจัดขึ้นมาเพื่ออะไรกันแน่ และทำไมหลายคนถึงให้ความสนใจกัน

ถ้าอธิบายง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดิน งานฟุตบอลประเพณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือ งานเตะบอลของสมาชิกจากสองมหาวิทยาลัยนั่นแหละครับ

คำถามต่อมาคือ ทำไมต้องจัดงานบอลกันด้วยล่ะ ไม่ไปจัดงานอย่างอื่นกัน

เรื่องมันมีอยู่ว่า ในสมัยก่อนโน้น ตั้งแต่ที่มีมหาวิทยาลัยเพียงแค่สองแห่งในประเทศ (คือ จุฬาฯ นี่เกิดก่อน ส่วนธรรมศาสตร์นี่ค่อยเกิดตามมา โดยเจตนารมณ์ในการสร้างมหาวิทยาลัยทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก จุฬาฯ นี่จะเข้าไปในทางจรรโลงชนชั้นนำ ส่วนธรรมศาสตร์นี่จะค่อนไปทางรับใช้ประชาชน หรือเพื่อรักษาประชาธิปไตย) ในยุคนั้น ใครที่สามารถสอบเข้า หรือเป็นนิสิตและนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้ได้ ถือว่าต้อง ‘โก้’ แล ‘มีฐานะ’ ระดับหนึ่งเลยแหละ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ในระยะแรกๆ เด็กที่ๆ จะเข้าไปเรียนในสองมหาวิทยาลัยนี้ จะเป็นแต่พวกนักเรียนโรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งเด็กจากหลายๆ โรงเรียนก็มักจะเป็นเพื่อนกันด้วย

ทีนี้ พอเด็กจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ สามารถเข้าไปในมหาวิทยาลัยทั้งสองได้ ก็เกิดมีไอเดียร่วมกันว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างสองสถาบัน สุดท้ายผลเลยปรากฎว่า จัดงานฟุตบอลขึ้นแล้วกัน ทั้งนี้ เพราะว่าคนร่วมคิดร่วมทำในตอนแรกส่วนมากก็เป็นนิสิตนักศึกษาผู้ชายกันทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่ากีฬาหรือกิจกรรมที่ทำได้ง่ายและคุ้นเคยมากที่สุดก็คงไม่พ้น ‘ฟุตบอล’

ในการจัดงานฟุตบอลของสองสถาบันครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2488 วันที่ 4 ธันวาคม ซึ่งจัดที่ท้องสนามหลวง ในครั้งนั้นยังไม่ใช้คำว่า ‘งานฟุตบอลประเพณีฯ’ นะครับ จำได้ว่ามาเปลี่ยนในภายหลังปี 2520 สำหรับกิจกรรมหรือ feature หลักๆ ที่มีในงานฟุตบอลครั้งแรกมีอยู่ไม่กี่อย่างด้วยกันครับ หลักๆ ก็คือ การเล่นฟุตบอล และการเชียร์ ส่วนผู้ดำเนินการจัดงานก็เป็นองค์การนิสิตและนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย การจัดงานในครั้งแรกๆ จึงดูเหมือนเป็นงานกิจกรรมของ ‘student for student’ ล้วนๆ

ผลลัพธ์จากการจัดงานครั้งแรกเป็นที่น่าพอใจ จึงนำมาสู่การจัดงานในครั้งถัดมาทุกๆ ปี โดยจะสลับการเป็นเจ้าภาพระหว่างสองมหาวิทยาลัย โดยในระหว่างนั้น นิสิตนักศึกษาก็เพิ่ม feature ต่างๆ เข้ามาในงานมากขึ้น นั่นคือ ได้มีการเพิ่มการสวนสนามหรือขบวนก่อนพิธีเปิดการแข่งขัน ซึ่งในการเดินขบวน นิสิตนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัยจะได้มีโอกาสในการแสดงออกอย่างไรก็ได้ ในแง่การเชียร์ ในภายหลังก็เริ่มมีการเพิ่ม ‘คณะผู้นำเชียร์’ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘cheerleader’ เข้ามาเป็นสีสันของงานเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ คณะผู้จัดงานยังได้ย้ายสถานที่จัดงานจากสนามหลวงมาเป็นสนามศุภชลาศัยที่อยู่ใจกลางเมือง ส่งผลให้ทุกครั้งที่มีการจัดงานบอล ก็แทบจะปิดเมืองกันเลยทีเดียว เพราะชาวบ้านตามรายทางต่างจะให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ เมื่อทั้งสองสถาบันมีศิษย์เก่ามากขึ้นเรื่อยๆ การจัดงานบอลจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ศิษย์เก่าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ความรับผิดชอบของการจัดงานฟุตบอลจึงย้ายไปให้สมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยทั้งสองในที่สุด

ปัจจุบัน งานฟุตบอลเป็นที่สนใจจากสังคม ไม่ใช่เพราะเป็นการแข่งฟุตบอลของทั้งสองมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากต้องการล่วงรู้อีกด้วยว่านิสิตนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัยนั้นต้องการแสดงออกอะไรกันบ้าง ซึ่งกิจกรรมที่สื่อมวลชนด้านสังคมการเมืองสนใจกันทุกปีก็คือ พาเหรดล้อการเมือง และการแปรอักษรบน stand นอกจากนี้ ในวงการบันเทิง นิสิตนักศึกษาที่ได้เป็น cheerleader ของทั้งสองมหาวิทยาลัยก็ได้มีโอกาสฉายแววความงามจนแมวมองหลายคนอาจมาทาบทามให้เข้าวงการในภายหลังอีกด้วย

ภาพบรรยากาศงานฟุตบอลประเพณี | ภาพจาก มติชน
ภาพบรรยากาศงานฟุตบอลประเพณี | ภาพจาก มติชน

พอมาถึงจุดนี้ คำถามสำคัญคือ แล้วงานฟุตบอลประเพณีนี่สำคัญอย่างไรกับพวกเราและสังคมทั่วไปอย่างไร

ในแง่ของสมาชิกทั้งเก่าใหม่ของสองมหาวิทยาลัย การจัดงานฟุตบอลประเพณีอย่างยิ่งใหญ่อลังการกลางกรุง เป็นการตอกย้ำสถานะพิเศษของสถาบันทั้งสอง ที่สื่อและสังคมควรให้ความสนใจ ในแง่นี้ ยิ่งงานแต่ละปีทำออกมาดีและปัง ชาวจุฬาธรรมศาสตร์ก็จะพลอยยินดีและภูมิใจ และที่สำคัญก็ช่วยตอกย้ำการมีตัวตนของตนเองได้มากขึ้น

ด้านนี้อาจจะไม่ค่อยตอบโจทย์สังคมสักเท่าไหร่ เพราะยิ่งจัดงานก็เหมือนตอกย้ำความโดดเด่นของตนเองเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้ตัวเองดูสูง และมีค่ากว่าคนอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม งานฟุตบอลก็ยังให้คุณค่าอะไรกับสังคมการเมืองและประชาชนอยู่บ้างนะครับ

อย่างที่บอกไปว่า ในปัจจุบัน feature ในงานฟุตบอลนั้นมีมากขึ้น ซึ่ง feature สำคัญที่สื่อต่างให้ความสำคัญทุกปีก็คือ พาเหรดล้อการเมือง และการแปรอักษร กิจกรรมทั้งสองเป็นกิจกรรมที่จะสะท้อนความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาต่อสังคมการเมืองเป็นหลัก โดยกิจกรรมเหล่านี้ยังสามารถสะท้อนความเห็นของประชาชนต่อรัฐหรือสภาวะการเมืองในปัจจุบันได้อีกด้วย

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า การแสดงออกของนิสิตนักศึกษาเป็นไปในทางเดียวกันกับประชาชน ดูง่ายๆ เลยครับ คือ ดูจาก feedback ของประชาชนผ่าน social media หลังจากที่กิจกรรมเกิดขึ้นไปแล้ว ถ้าหากประชาชนโดยทั่วไปชอบก็แสดงว่าการแสดงออกของนิสิตนักศึกษาเป็นไปในทางเดียวกัน แต่ถ้าหากเป็นอีกทางก็ยุ่งครับ แสดงว่านิสิตนักศึกษาทำการบ้านมาไม่ดี

ภาพบรรยากาศงานฟุตบอลประเพณี | ภาพจาก คมชัดลึก
ภาพบรรยากาศงานฟุตบอลประเพณี | ภาพจาก คมชัดลึก

การแสดงออกของนิสิตนักศึกษายิ่งมีความจำเป็นอย่างมากในยุคบ้านเมืองที่มีระบอบการเมืองแบบปิด เพราะประชาชนโดยทั่วไป ตาสีตาสา ที่ไม่มีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกระบาลจะประสบความลำบากอย่างมากในการแสดงออก พูดง่ายๆ คือ ต้นทุนเขาเยอะกว่านักศึกษานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ การแสดงออกทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาซึ่งอาศัยต้นทุนน้อยกว่าประชาชนทั่วไปจึงช่วยเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่ส่งเสียงของสังคมไปยังผู้มีอำนาจรัฐได้

มองในแง่นี้ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ และธรรมศาสตร์จึง function กับสังคมไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละปี นิสิตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทั้งพาเหรดล้อการเมือง และแปรอักษรจะทำการบ้านมาเพียงพอแล้วหรือไม่ และที่สำคัญ คือจะสามารถแสดงออกได้ตามที่หวังหรือไม่

พวกเราคอยมาจับตางานในปีนี้ให้ดีนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022