fbpx
‘วัฒนธรรมการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์’ โจทย์ใหม่ความยุติธรรมของอาเซียน

‘วัฒนธรรมการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์’ โจทย์ใหม่ความยุติธรรมของอาเซียน

ณัฐชลภัณ หอมแก้ว เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์พุ่งสูงขึ้นมาก หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้มากขึ้น และยิ่งคนเข้าถึงได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความไม่ปลอดภัยและโอกาสที่จะเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น 

เมื่อพูดถึงอาชญากรรมไซเบอร์ เราอาจจะนึกถึงการโจรกรรมข้อมูลเป็นหลัก แต่อันที่จริงแล้ว อาชญากรรมชนิดนี้ยังครอบคลุมถึงเรื่องการค้ามนุษย์ เพศ ยาเสพติด หรือการใช้ถ้อยคำรุนแรงตามอินเทอร์เน็ต ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องพบเจอ และด้วยลักษณะ ‘ไร้พรมแดน’ ทำให้ต้องอาศัยการระดมความคิดจากนานาประเทศเพื่อป้องกันอาชญากรรมดังกล่าว

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกภูมิภาคที่ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งบางประเทศในอาเซียน เช่น เมียนมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจัยเหล่านี้ มองมุมหนึ่งคือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อีกมุมหนึ่ง การเติบโตของดิจิทัลก็เป็นเหมือนการเปิดช่องให้อาชญากรเข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้มากขึ้นเช่นกัน

ด้วยความที่อาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน จึงเป็นประเด็นสำคัญที่พวกเราทุกคนจะต้องตื่นตัวเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์มากขึ้น และจำเป็นต้องร่วมกันส่งเสริมการตระหนักรู้ กลั่นกรอง และมีส่วนร่วมในการคิดค้นหาวิธีและแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะองค์กรประสานการจัดการการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 2 (ACCPCJ) ได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น โดยมุ่งประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ ภายใต้ธีม “การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมทางยุติธรรมเพื่อทุกคน” (Promoting the ASEAN Culture of Prevention for a Collaborative and Innovative Justice for All)

หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการพูดถึงคือ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (Culture of Prevention) ในอาเซียนให้เกิดขึ้นจริง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ และจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่มาพร้อมกับภัยคุกคามทางไซเบอร์

101 เก็บความบางส่วนจากเสวนาดังกล่าว ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น และการนำเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันปัญหาเรื่องยาเสพติดและสิทธิมนุษยชน

 

 

เมื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอาจกลายเป็นดาบสองคม: กรณีศึกษาจากเมียนมา

 

Ms. Khine Myat Chit ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการและตรวจการแผ่นดิน องค์การระหว่างประเทศเยอรมนี (GIZ) ประจำประเทศเมียนมา เล่าว่า ปัจจุบัน เมียนมามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 39% ของประชากร เท่ากับว่าประชากรเกินกว่าหนึ่งในสามของประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก 

“การที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทในสังคมมากขึ้นย่อมก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ได้เช่นเดียวกัน เราเห็นรายงานคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่องฉ้อโกงเป็นส่วนใหญ่”

“ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการขาดทักษะ และขาดการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ ยิ่งเราใช้เวลาอยู่กับโลกอินเทอร์เน็ตมากเท่าไหร่ อันตรายและความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น” 

Ms. Khine Myat Chit ฉายภาพสถิติว่า ในปี 2013-2018 มีตัวเลขของอาชญากรรมทางไซเบอร์น้อยกว่า 100 คดี แต่ในปี 2019 กลับมีมากกว่า 1,000 คดี ซึ่งยังไม่รวมคดีที่ไม่ได้รับแจ้ง คดีส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหลอกลวงและฉ้อโกง โดยผู้กระทำผิดมักจะอ้างว่าตนเองเป็นพนักงานจากธนาคาร เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง 

“จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงปี 2014 ที่มีหลายบริษัทในเมียนมาพยายามเพิ่มฐานลูกค้าของตนเอง ทำให้มีการทำตลาดอินเทอร์เน็ต จนทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยคือซิมการ์ดโทรศัพท์ ในปี 2013 คนพม่าสามารถเข้าถึงซิมการ์ดโทรศัพท์ได้ 10-12% ปี 2016 เพิ่มเป็น 86.2% จนมาในปี 2019 มีประชากร 105% ที่สามารถเข้าถึงซิมการ์ดโทรศัพท์ได้ เมื่อก่อนคนที่ใช้ซิมการ์ดได้จะต้องเป็นคนมีฐานะเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ประชาชนทุกคนเข้าถึงซิมการ์ดโทรศัพท์ได้”

“ตัวเลขที่ก้าวกระโดดพวกนี้ทำให้เราเห็นว่า ตลาดเทคโนโลยีในเมียนมาเริ่มขยายตัว และประชาชนสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ด้วยตนเอง”

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้เกิดการรวมเศรษฐกิจและการเงินเข้าด้วยกัน โดยการใช้เทคโนโลยีผ่านโทรศัพท์มือถือจะช่วยให้มีการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น และทำให้หลายบริษัท โดยเฉพาะกลุ่ม Startup เพิ่มฐานลูกค้าของตนเองได้ด้วย

อย่างไรก็ดี Ms. Khine Myat Chit กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ประชาชนบางส่วนยังขาดเรื่องทักษะและการตระหนักรู้ หลายคนนึกไม่ถึงว่าการใช้อินเทอร์เน็ตอาจกลายเป็นการเปิดโลกทั้งใบของเราให้ผู้อื่นรับรู้ ทำให้ผู้ใช้เสี่ยงตกเป็นเหยื่อในการถูกแสวงหาผลประโยชน์

เพื่อรับมือกับเรื่องดังกล่าว เมียนมามีการออกกฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์เพื่อใช้รับมืออาชญากรรมกรรมทางไซเบอร์ โดยกฎหมายนี้จะเป็น ‘กฎหมายเพื่อทุกคน’ เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและการจัดการชุมชนที่ดี

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งเว็บไซต์ ‘Cyber Bay Kin’ ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018  เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกันในหลายองค์กร ได้แก่ บริษัท Kerlellix จากประเทศเมียนมา มหาวิทยาลัย Monash จากประเทศออสเตรเลีย และกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร (MoTC) 

“ในเว็บไซต์ Cyber Bay Kin จะมีการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เพื่อจะได้รู้เท่าทันภัยจากโลกออนไลน์ รวมทั้งใช้ช่องทาง Facebook และ Twitter เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ และยังมีการทำการ์ตูนให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจด้วย” Ms. Khine Myat Chit ปิดท้าย

 

ใช้ ‘เทคโนโลยี’ เป็นสื่อเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน

 

ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน รองผู้อำนวยการองค์การรัฐมนตรีการศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าถึงความพยายามสร้างวัฒนธรรมแห่งการป้องกันในภาคการศึกษาว่า เมื่อปี 2019 มีการประชุมในกลุ่มชุมชนทางการศึกษาของอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อพูดคุยถึงวิธีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์สำหรับเยาวชน และยังได้ร่วมจัดทำอินโฟกราฟิกเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้กับบุคลากรทางการศึกษา เพื่อนำไปเป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับนักเรียน โดยมุ่งให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถต่อกรกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ 

“เราน่าจะลองถอดมาตรการต่อสู้กับโรคระบาดมาสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ดูบ้าง ประชาชนจะได้ตระหนักถึงอันตรายของโลกไซเบอร์ และสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่ผ่านมาได้”

กฤษฎ์ชัยมองว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และภัยอันตรายจากไซเบอร์จะทำลายอะไรได้บ้าง นอกจากภัยนั้นจะเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วเราถึงมาหาทางแก้ไขทีหลัง ซึ่งเขามองว่านั่นไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

ปัจจุบัน มีชุมชนทางการศึกษาของอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั้งหมด 27 ศูนย์ และมีเครือข่ายอยู่ทั่วอาเซียน ซึ่งศูนย์เหล่านี้กำลังทำงานวิจัยสร้างแอปพลิเคชันและอุปกรณ์ความปลอดภัย โดยกฤษฎ์ชัยมองว่า อาชญากรรมส่งผลกระทบและมีความสำคัญกับประชาชนทุกคนในอาเซียน ซึ่งเขาเห็นว่า “อาชญากรรมไซเบอร์สามารถเปรียบได้กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม”

“การปฏิวัติครั้งแรก เสมือนว่าคุณมีขาขึ้นมาและสามารถเดินทางไปไหนมาได้อย่างเสรี ครั้งที่สอง เสมือนว่าคุณมีมือที่สามารถหยิบจับหรือสร้างอะไรก็ได้ ครั้งที่สาม เสมือนว่าคุณมีปากที่สามารถพูด มีหูที่สามารถได้ยิน สามารถมองเห็นภาพได้กว้างขึ้น และครั้งที่สี่ เสมือนว่าเรามีสมอง เราฉลาดขึ้น  สามารถคิดและจินตนาการได้”

กฤษฎ์ชัยทิ้งท้ายว่า “ประเด็นหลักในเรื่องวัฒนธรรมการป้องกันคือ อย่าเชื่อในสิ่งที่เราได้ยินมากเกินไป แต่ให้ลองสงสัย ตั้งข้อสังเกต และตั้งคำถามดูว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ รวมถึงลองวิเคราะห์ก่อนด้วย”

 

 

อาชญากรรมทางไซเบอร์กับแผนงานด้านสิทธิมนุษยชน

 

อีกหนึ่งปัญหาที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคือ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ ยิ่งคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการค้ามนุษย์รูปแบบใหม่ๆ ตามมาง่ายขึ้นเช่นกัน เรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรถูกมองข้ามเมื่อเราพูดถึงการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) เล่าถึงความพยายามในการจัดการกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนว่า ที่ผ่านมามีการจัดประชุมกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่ประเทศเวียดนาม และได้มีการจัดการแข่งขันโต้วาทีให้กับเยาวชน และพูดถึงอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กำลังเป็นประเด็นในตอนนี้ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสตรีด้วย

ในมุมของประเทศไทย ดร.อมราเล่าว่า ตอนนี้ไทยกำลังร่างแผนในอีก 5 ปีข้างหน้าเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผลกระทบจากอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ และเครื่องมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ 

“เทคโนโลยีทำให้โลกไร้พรมแดนมากขึ้น และนั่นทำให้ปัญหาอาชญากรรมสามารถข้ามพรมแดนตามไปด้วย เราจึงต้องกำกับ ดูแล และควบคุมทั้งในระดับประชาชนและท้องถิ่น ระดับรัฐ ไปจนถึงระดับสากล ทั้งนี้ การบริหารจัดการของภาครัฐก็ต้องมีความโปร่งใสและเปิดกว้างเช่นกัน”

ดร.อมราเห็นว่า อาเซียนจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมการป้องกันขึ้น เพื่อเป็นธรรมาภิบาลขั้นพื้นฐานในการส่งเสริมความเป็นพลเมือง และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้

“สิ่งที่เราต้องทำมีอยู่หลักๆ สองข้อ ข้อแรกคือ ภาคประชาชนและสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดความตระหนักถึงภัยคุกคามในโลกออนไลน์โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องผ่านการอบรมและกิจกรรมต่างๆ รวมถึงให้คำปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์และเว็บไซต์” 

“ประการที่สอง เราต้องพัฒนานโยบายการป้องกัน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการร้องเรียนได้ง่ายขึ้น เพื่อที่จะมีช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นด้วย” ดร.อมราทิ้งท้าย 

 

สู้ภัยยาเสพติดด้วยไซเบอร์: ประสบการณ์จากประเทศกัมพูชา

 

นอกจากปัญหาด้านการค้ามนุษย์และการฉ้อโกงที่เป็นปัญหาใหญ่ของอาชญากรรมไซเบอร์ ปัญหายาเสพติดถือเป็นอีกปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้และการป้องกันให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่อาจถูกล่อลวงเข้าสู่วังวนของการใช้ยาเสพติดได้โดยง่าย

พลตำรวจเอก Meas Vyrith เลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และผู้แทนเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านยาเสพติดอาเซียน (ASOD) อธิบายว่า ASOD เป็นตัวแทนหลักในอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องปัญหายาเสพติด มีแผนการทำงานคือ ศึกษากลุ่มคนทำงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าของกิจกรรมต่างๆ ที่ริเริ่มขึ้นจากองค์กรปราบปรามยาเสพติด 

“เรามีการประชุมเชิงปฏิบัติการในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การป้องกันปราบปรามยาเสพติด กระตุ้นให้เยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และยังให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากยาเสพติดด้วย นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านกิจกรรมต่างๆ เวทีสาธารณะ และแพลตฟอร์มออนไลน์เช่นกัน”

Vyrith กล่าวว่า สมาชิกอาเซียนบางประเทศเริ่มให้ความรู้เรื่องยาเสพติดผ่านทางหลักสูตรการศึกษาในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อแสดงให้เห็นการป้องกันการใช้ยาเสพติด รวมถึงมีการให้คำปรึกษาแก่สาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องของยาเสพติดด้วย โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ทำอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ขณะที่ผู้เข้าร่วมก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และยังมีการจัดเวทีกิจกรรมต่างๆ ให้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

นอกจากนั้น Vyrith ได้เล่าประสบการณ์การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกันจากกัมพูชาว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดจะเข้าไปส่งเสริมความตระหนักคิด และให้ความรู้เรื่องผลกระทบของยาเสพติดตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ผ่านการรณรงค์ จัดกิจกรรม และเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดผ่านช่องทางสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ 

“เราจะเน้นไปที่การป้องกันการค้ายาเสพติดในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันในการใช้ยาในทางที่ผิด และยังร่วมเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มเยาวชนเพื่อให้กล้าปฏิเสธ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการใช้และอันตรายของสารเสพติด”

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและดำเนินโครงการในระดับท้องถิ่น สถาบันการศึกษา กลุ่มเยาวชน และกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีการนำเสนอกิจกรรมที่ร่วมกับหน่วยงานระดับชาติ และการจัดระเบียบทางสังคมในการพัฒนาโครงการสำหรับสถาบันการศึกษา กลุ่มเยาวชน รวมไปถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 

“เรากำหนดและดำเนินการโดยเริ่มจากรากฐานของสถาบันต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องและใกล้ตัวมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน ชุมชนท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการพัฒนานโยบายทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมเศรษฐกิจทางอาเซียน และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนฝึกอบรมในระดับอาเซียน” Vyrith ปิดท้าย

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save