fbpx
Culture after Crisis: อนาคตของความบันเทิงและสุนทรียะในปี 2021

Culture after Crisis: อนาคตของความบันเทิงและสุนทรียะในปี 2021

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

“ศิลปะ ดนตรี และกีฬา เป็นเครื่องเยียวยาจิตใจ” คำกล่าวนี้คงไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะวันใดที่รู้สึกจิตใจเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าจากภาระงานในแต่ละวัน การเดินชมแกลอรีภาพในพิพิธภัณฑ์ หาเวลาฟังดนตรีสด หรือชมกีฬาในสนามและร่วมโห่ร้องไปกับแฟนกีฬาคนอื่นๆ ก็ดูจะเป็นความคิดที่ดีไม่หยอก

แต่เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ เมื่อโควิด-19 เริ่มต้นแพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี 2020 และดูจะมีแนวโน้มแพร่ระบาดต่อไปอีก โลกของศิลปะ ดนตรี และกีฬา ก็ดูจะหยุดชะงักงันไปด้วย – เสียงโห่ร้องจากผู้ชมจริงๆ ในสนามกลับถูกแทนที่ด้วยความเงียบหรือเสียงที่บันทึกไว้ พิพิธภัณฑ์หลายที่ต้องปิดตัวลง (ทั้งชั่วคราวและถาวร) หรือโรงภาพยนตร์ที่เคยครึกครื้นก็พลอยเงียบเหงาไปถนัดตา

ถ้ากล่าวให้ย่นย่อที่สุด จิตวิญญาณของการรวมตัวกันเพื่อเสพสุนทรียะและมีอารมณ์ร่วมในเรื่องเดียวกันถูกจำกัดด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้โควิดแพร่ระบาด คำถามสำคัญที่ตามมาคือ แล้วอนาคตของโลกศิลปะ ดนตรี กีฬา หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมโดยรวมจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้

นิตยสาร Foreign Policy ชวนนักคิด 8 คนในแวดวงดนตรี กีฬา และศิลปะ ร่วมคาดการณ์และตอบคำถามข้างต้น และแม้หลายๆ อย่างจะถูกพูดถึงในบริบทของต่างประเทศเป็นหลัก แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีหลายประเด็นที่ชวนให้เรามองย้อนและขบคิดในบริบทของประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ในปี 2021 อนาคตของความบันเทิงและสุนทรียะของมนุษย์น่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ชวนหาคำตอบได้ด้านล่างนี้

 

วันของดนตรีสิ้นสุดลงแล้ว – Mark C. Hanson

 

“ในตอนบ่ายของวันที่ 6 มีนาคม ผมนั่งอยู่ตรงที่นั่งประจำที่ Davies Symphony Hall ฟังเพลงซิมโฟนีหมายเลข 6 ของ Mahler และรู้ดีว่า ในช่วงระยะเวลาอันยาวนานที่จะมาถึงนี้ นี่จะเป็นการแสดงครั้งสุดท้าย วันต่อมา ซาน ฟรานซิสโก ซิมโฟนี กลายเป็นวงออร์เคสตราแรกในสหรัฐฯ ที่ประกาศยกเลิกการแสดงสดตามกฎหมายด้านสุขภาพท้องถิ่น และยังไม่มีการกลับมาแสดงสดในฮอลล์อีกเลย”

ข้างต้นคือบอกเล่าจาก Mark C. Hanson CEO ของซาน ฟรานซิสโก ซิมโฟนี โดย Hanson ชี้ให้เราเห็นว่า โควิด-19 สร้างผลกระทบอันหนักหน่วงต่อการแสดงศิลปะ เพราะสำหรับเขา โรคระบาดโจมตีเข้าที่หัวใจการดำรงอยู่ของออร์เคสตรา คือ “การนำคนมาอยู่ร่วมกัน และสร้างความเป็นชุมชนผ่านทางพลังงานและอารมณ์ของดนตรีสด” และสำหรับคนส่วนมาก สิ่งที่พวกเขาต้องสูญเสียไปคือประสบการณ์ที่สัมผัสได้จริง (existential experience)

“ผมทำนายอนาคตไม่ได้” Hanson ว่า “แต่ผมรู้ว่า เมื่อคนดูกลับมา มรดกจากโรคระบาดจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของงานศิลปะในการเชื่อมต่อคนเข้าด้วยกันโดยเทคโนโลยี” พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์กำลังลงทุนและสร้างสรรค์วิธีใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนและขยายเครือข่ายในช่องทางดิจิทัลออกไปมากกว่าเมื่อก่อน ไม่ว่าจะผ่านทางสตรีมมิง การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (virtual reality) หรือการเล่าเรื่องแบบต่างๆ

“ผมไม่สงสัยเลยว่า พวกเราจะมองย้อนกลับมาและตระหนักว่า ช่วงเวลานี้เป็นเสมือนแรงผลักดันของพวกเราในยุคโลกหลังโควิด”

หนึ่งในคำถามสำคัญคือ โลกของการแสดงสดจะเป็นอย่างไรต่อไป Hanson มองว่า เมื่อเราเปิดการแสดงขึ้นอีกครั้ง จะยังต้องมีการนั่งแบบเว้นระยะห่าง รวมถึงมีมาตรการตรวจสอบเพื่อทำให้คนดู นักดนตรี และเจ้าหน้าที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ดี Hanson มองว่า ประสบการณ์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ จะไม่ได้มาแทนที่การแสดงสดเสียทีเดียว ด้วยเหตุผลด้านองคาพยพภายในและพลังด้านอารมณ์ที่จะเชื่อมต่อผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า

“ผมคิดว่า ผมคงไม่ใช่คนเดียวที่โหยหาช่วงเวลาที่ผมจะสามารถนั่งดูคอนเสิร์ตในฮอลล์ และล้อมรอบด้วยผู้คนที่รักในดนตรีเหมือนกัน”

 

เชียร์ให้ดังขึ้นอีก แต่อย่าเพิ่งไฮไฟฟ์กันนะ – Rick Cordella

 

ในทัศนะของ Rick Cordella รองประธานกรรมการบริหาร และผู้บริหารด้านรายได้ของ Peacock ซี่งให้บริการด้านสตรีมมิง โรคระบาดก่อให้ผลกระทบกับกีฬาแบบ ‘ทันทีทันใด’ เกิดขึ้นทุกระดับ และเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะการแข่งขันกีฬาทุกชนิดต้องหยุดลง

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การยกเลิกการแข่งขันหรือเลื่อนฤดูกาลออกไปเท่านั้น เพราะเมื่อเหล่าแฟนๆ ไม่ได้ใช้เงินที่บาร์ และไม่มีคนเดินทางเพื่อไปชมการแข่งขัน ชุมชนก็จะไม่ได้เงินแบบที่เขาเคยได้”

หลังจากความมืดมิดผ่านพ้นไป แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ย่อมเกิดขึ้นกับวงการกีฬา เราอาจจะเห็นภาพของสเตเดียมที่ว่างเปล่า การทำทีม บับเบิล (team bubble) เพื่อช่วยให้ผู้เล่นปลอดภัย ผู้ประกาศหรือโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ก็ต้องทำงานจากที่อื่น ส่วนแฟนๆ ทางบ้านก็สามารถรับชมกีฬาได้มากเท่าที่พวกเขาต้องการ

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่า พวกเราเห็นกีฬาประเภทฮอกกี กอล์ฟ ฟุตบอล เบสบอล หรือบาสเกตบอล ทำเรตติ้งได้สูงมานานหลายปีแล้ว “นี่อาจจะแสดงถึงความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรมที่เกิดจากความโหยหากีฬาของพวกเรา”

สำหรับ Cordella คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวและผลกระทบทางจิตวิทยา กล่าวคือ กีฬาบางประเภทอาจมีข้อควรระวังมากกว่าอย่างอื่น ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลองนึกถึงกอล์ฟหรือการแข่งรถที่แค่นั่งดูเอาก็ได้ แต่กับเนชันแนลฟุตบอลลีก (NFL) อาจจะต้องเพิ่มเสียงเชียร์จากฝูงชนเข้าไปในโทรทัศน์ แม้กระทั่งหลังจากที่เรามีวัคซีนแล้ว แฟนๆ กีฬาหลายคนก็อาจจะยังไม่อยากรอคิวยาวๆ หรือต้องนั่งใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าอีกกว่า 60,000 คน ทำให้ Cordella มองว่า องค์ประกอบบางอย่างในกีฬาอาจจะหายไปตลอดกาล เช่น การที่ผู้เล่นทำไฮไฟฟ์กับแฟนกีฬาหลังจบการแข่งขัน หรือเหล่านักข่าวที่แห่กันไปสัมภาษณ์ทีมกีฬาในห้องล็อกเกอร์

“อุตสาหกรรมกีฬาก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน” Cordella กล่าว “ในมุมของสื่อ การหยุดหรือเลื่อนการแข่งกีฬายิ่งทำให้คนย้ายจากช่องเคเบิลไปสู่บริการสตรีมมิงมากขึ้น” พร้อมทั้งสรุปว่า ตราบใดที่แฟนๆ กีฬายังตื่นเต้นที่จะเห็นนักเตะและทีมโปรดของพวกเขา รวมทั้งยังส่งเสียงเชียร์มาจากทางบ้าน ธุรกิจกีฬาก็จะยังดำเนินต่อไปอย่างแข็งแรงและรุ่งเรือง

 

โควิด-19 ทำให้ฮอลลีวูดต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ – Jonathan Kuntz

 

“โควิด-19 ฆ่าโมเดลธุรกิจทุกแบบของฮอลลีวูด และไม่มีอะไรจะช่วยฟื้นคืนมันให้กลับขึ้นมาได้ อันที่จริง โมเดลพวกนี้เริ่มถูกล้อมมาตั้งแต่ก่อนหายนะในทศวรรษ 2020 แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็รังแต่จะเร่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากบริการสตรีมมิงเท่านั้น”

สำหรับ Jonathan Kuntz นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ University of California เหยื่อของไวรัสที่ชัดเจนที่สุดคือ ‘โรงภาพยนตร์’ ที่เสียหายชนิดแทบจะแก้ไขไม่ได้ Kuntz อธิบายว่า เป็นเพราะโรงภาพยนตร์ถูกออกแบบให้นำคนเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อจะได้รับประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ โรงภาพยนตร์จึงอาจจะอยู่ไม่รอด อีกทั้งไวรัสยังช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น – บริการสตรีมมิงภาพยนตร์เข้ามาแทนที่โรงภาพยนตร์เป็นสิบปีแล้ว เท่ากับว่ายังไงการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าไวรัสจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เพราะตั้งแต่ทศวรรษที่ 1910 กำไรหลักของธุรกิจภาพยนตร์มาจากการแบ่งส่วนกับโรงภาพยนตร์ แต่สตรีมมิงเป็นอะไรที่เข้าหาผู้บริโภคโดยตรง

“แม้แต่ตลาดเสริม (ancillary market) ขนาดใหญ่ของฮอลลีวูดอย่างพวกดีวีดีหรือบูลเรย์ก็ยังถูกสตรีมมิงกำจัดไป และการที่ไวรัสสิ้นสุดลงก็ไม่ได้ทำให้วิดีโอกลับมาอยู่ดี”

แม้กระทั่งการผลิตภาพยนตร์ก็ต้องหยุดชะงักลงเพราะไวรัส Kuntz ฉายภาพว่า แม้จะมีข้อปฏิบัติมากมายเพื่อให้ทำกองถ่ายสามารถกลับมาถ่ายทำได้ แต่ไวรัสก็ยิ่งเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงในการผลิตภาพยนตร์ให้มากขึ้น โดยใช้คอมพิวเตอร์ทดแทนนักแสดงจริงๆ ส่วนฉากหรืออุปกรณ์ที่เคยถูกประกอบสร้างด้วยคนนับพันจะถูกแทนที่ด้วยฉากสีเขียว (green screen) แทน

“อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่อาการร่อแร่อยู่แล้วจากการเข้ามาของบริการสตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในศตวรรษที่ 21 กลับถูกซ้ำเติมด้วยไวรัสจนกลายเป็นผู้ป่วยวาระสุดท้าย” Kuntz เปรียบเทียบ พร้อมทั้งยกตัวอย่างอุตสาหกรรมใหญ่ในฮอลลีวูดที่ยังหลงเหลืออยู่อย่าง Disney Universal หรือ Warner Bros. ที่ก็ต้องหาวิธีปรับตัว กล่าวคือไม่หวนกลับไปหาวิถีเดิมๆ ที่ต้องมีโปรดักชันอลังการและผู้ชมจำนวนมากในโรงภาพยนตร์ แต่ต้องนำรูปแบบสตรีมมิงเข้ามาใช้ สร้างเนื้อหาที่หลากหลายและเปิดให้คนติดตาม เพื่อดูว่าวิธีเหล่านี้จะยังอยู่รอดในโลกใบใหม่ ที่เป็นโลกของคอมพิวเตอร์และการดูหนังที่บ้านหรือไม่

 

วิกฤตนี้ทำให้เราเห็นพลังของเทคโนโลยีในการเชื่อมคนดูเข้าด้วยกัน – Audrey Azoulay

 

“โรคระบาดเป็นหายนะสำหรับวัฒนธรรมหรือศิลปะ ในหลายๆ ประเทศ สถาบันด้านวัฒนธรรมต้องปิดตัวลง ทั้งแบบถาวรหรือชั่วคราว หลายที่ยังปิดตัวอยู่จนถึงวันนี้ และอาจไม่เปิดอีกเลย” Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กล่าวนำ อย่างไรก็ดี เธอมองว่า ประเด็นที่เร่งด่วนที่สุดตอนนี้คือ ศิลปินจำนวนมากจากทั่วโลกไม่มีรายได้ เช่นเดียวกับคนนับล้านที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยว

ถ้าให้กล่าวโดยสรุป “วิกฤตครั้งนี้เปิดเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอและความเปราะบางลึกๆ ของระบบนิเวศทางวัฒนธรรม (cultural ecosystem)”

อย่างไรก็ดี Azoulay มองว่า วิกฤตยังแสดงให้เราเห็นว่า วัฒนธรรมมีความสำคัญกับชีวิตและอัตลักษณ์ของพวกเราขนาดไหน เพราะวัฒนธรรมเป็นเสมือน “เครื่องยึดเหนี่ยวเราไว้กับปัจจุบัน และอนุญาตให้เราใฝ่ฝันถึงอนาคต” อีกทั้งโรคระบาดยังทำให้เห็นโอกาสจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเชื่อมต่อวัฒนธรรมกับผู้ชมทั่วโลก ซึ่งน่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ใหญ่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาในอนาคตอย่างแน่นอน

“โลกต้องร่วมมือกันในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของเรา โดยการสนับสนุนเงินทุนที่ยั่งยืนให้สถาบันทางวัฒนธรรม รับรองกับศิลปินว่าพวกเขาจะมีชีวิตและเงื่อนไขการทำงานที่มั่นคง และอนุญาตให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเต็มรูปแบบ”

“วัฒนธรรมจะเป็นตัวจุดประกายจินตนาการและปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า” Azoulay ทิ้งท้าย

 

อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะขยับไปหาชนบทมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับโรคระบาด – Baltasar Kormakur

 

ในตอนที่การระบาดเกิดขึ้นในไอซ์แลนด์ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง Baltasar Kormakur กำลังกำกับโปรดักชันให้เน็ตฟลิกซ์อยู่ และหลังจากที่ไอซ์แลนด์ชัตดาวน์เป็นเวลาสองสัปดาห์ Kormakur เล่าว่า พวกเขาพยายามขอกลับมาทำงานอีกครั้ง โดยมีระบบและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเป็นของตนเอง โดยเขาเปรียบว่า พวกตนเป็น “หนูตะเภาที่ดูว่ามาตรการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่”

“ผลที่ได้คือ พวกเราเจอคนติดเชื้อโควิด 2 เคส แต่ไม่เกิดการแพร่ระบาดในกองถ่าย ผมจึงพยายามโน้มน้าวบริษัทที่ทำงานแบบเดียวกับพวกเราว่า การคัดกรองและส่งคนไปตรวจเชื้อก่อนจะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้”

ไม่ต่างจากคนอื่น Kormakur อธิบายว่า อุตสาหกรรมในทุกพื้นที่ต้องเจอกับความเสียหายอย่างหนัก ทุกคนทั้งที่ทำงานในส่วนการผลิตภาพยนตร์ไปจนถึงในโรงภาพยนตร์ต้องหยุดทำงาน อย่างไรก็ดี เขามองว่าความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศเป็นหลักด้วย

“ในไอซ์แลนด์ ผมมองว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะโตขึ้นเพราะโรคระบาด เรามียอดผู้ติดเชื้อน้อย ปัญหาหลักของเราจึงไม่ใช่เรื่องไวรัส แต่เป็นการที่เราไม่ได้คนแบบที่เราต้องการมากกว่า”

ไอซ์แลนด์ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถจัดการกับโรคระบาดได้ดี ใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวนำ รับมือแบบอดทนในระยะยาวและไม่แตกตื่น แต่ถ้าเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างสหรัฐฯ Kormakur มองว่า วิธีรับมือกับไวรัสของสหรัฐฯ เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง และทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์กลับมาเริ่มใหม่ได้ยากและวุ่นวายกว่าเดิม

“แต่ถ้าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐฯ รู้สึกปลอดภัยและกลับมาผลิตงานได้อีกครั้ง พวกเขาก็จะผลิตงานได้มากกว่าประเทศอื่น” Kormakur ทิ้งท้าย

 

ใครจะอยากเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในอนาคต? – David Clay Large

 

หนึ่งในผลกระทบจากโรคระบาดที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ การที่โอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งแต่เดิมจะจัดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2020 ต้องเลื่อนไปจัดในปี 2021 แทน

David Clay Large นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันยุโรปศึกษา University of California เท้าความว่า โอลิมปิกไม่เคยถูกเลื่อนมาก่อน แต่เคยถูกยกเลิกเพราะสงคราม เช่น การวางแผนจะจัดโอลิมปิกที่โตเกียว ปี 1940

“เรายังไม่เห็นความชัดเจนว่า โตเกียวโอลิมปิกที่ถูกเลื่อนไปในปี 2021 จะกลับมาจัดได้หรือไม่ เพราะโรคระบาดก็ไม่ได้ดูจะดีขึ้นเท่าไหร่นัก และถ้าเรายังอยู่ในสภาวะแบบนี้ โอลิมปิกก็อาจจะจัดไม่ได้ในฤดูร้อนปี 2021 แล้วเป็นไปได้ไหมล่ะที่โอลิมปิกจะถูกเลื่อนอีกครั้ง?”

สำหรับองค์กรในญี่ปุ่นและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล คำตอบของคำถามข้างต้นดูจะเป็นการ ‘ไม่เลื่อน’ เพราะโตเกียวได้ลงทุนลงแรงกับมหกรรมครั้งนี้ไปมาก จนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเมืองไหนเข้ามารับความเสี่ยงด้านการเงินนี้แทน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากโอลิมปิกแล้ว ก็ไม่มีการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ครั้งไหนที่จะพึ่งพาการเดินทางระหว่างประเทศมากเท่าโอลิมปิก

“บาสเกตบอลกับฟุตบอลอาจจะพอฉายทางโทรทัศน์ได้นะ ถึงมันจะสนุกน้อยลงก็เถอะ แต่โอลิมปิกเป็นเหมือนเทศกาลนานาชาติของผู้ตัดสินและนักกีฬามากกว่า”

ในมุมมองของ Large ผลกระทบระยะยาวที่โควิดมีต่อโอลิมปิกคือ จะมีเมืองที่อยากเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกน้อยลง และเมืองไหนที่ ‘ชนะ’ การเป็นเจ้าภาพก็มีแนวโน้มจะลงทุนในการสร้างสาธารณูปโภคใหม่ๆ โรงแรม และระบบขนส่งน้อยลงด้วย

“โตเกียวได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มา 2 ครั้งแล้ว ใครจะอยากเป็นโตเกียวหมายเลข 3 ล่ะ?”

 

ยุคทองของพิพิธภัณฑ์จบลงแล้ว (สำหรับตอนนี้) – James S. Synder

 

ในความคิดของ James S. Synder ผู้อำนวยการกิตติคุณของพิพิธภัณฑ์อิสราเอลในกรุงเยรูซาเลม และประธานบริหารมูลนิธิเยรูซาเลม นิยามว่า ช่วงเวลาก่อนจะเกิดโรคระบาดเป็น ‘ยุคทอง’ ของชุมชนพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ที่พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกสามารถนำเสนอคอลเลกชัน แบ่งปันผลงาน และแสดงวัฒนธรรมจากทั่วโลกในทางที่เรียกได้ว่า ‘เป็นประวัติการณ์’ และ “ผู้ชมทั่วโลกก็คุ้นเคยกับการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของพวกเขาด้วยผลงานเหล่านี้”

แต่เมื่อโควิดมาถึง ยุคแห่งแสงสว่างที่ว่าก็หยุดชะงักลง นักเดินทางถูกกักบริเวณ คนไม่สามารถรวมตัวกันได้ ชิ้นงานศิลปะและสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมในทุกๆ ที่ถูกแช่แข็ง โดย Synder อ้างผลการสำรวจล่าสุดของยูเนสโก (UNESCO) ที่บอกว่า พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกว่า 90% ต้องปิดตัวลง (อย่างน้อยก็ชั่วคราว) และด้วยความที่การเปิดพิพิธภัณฑ์อีกครั้งอาจกลายเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ ทำให้พิพิธภัณฑ์หลายที่ต้องปิดตัวต่อไป

อย่างไรก็ดี Synder ชี้ว่า พิพิธภัณฑ์ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางที่อาจจะถูกใช้เพื่อทดสอบการสร้าง ‘ประสบการณ์เยี่ยมชมแบบปลอดภัย’ โดยที่ไม่ขัดขวางความสนุกที่ผู้ชมเคยได้รับเมื่อครั้งยังเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แบบเดิมได้อยู่

“ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เราต้องจำกัดจำนวนผู้ชม กำหนดให้พวกเขาต้องจองก่อน ลงทะเบียนข้อมูลการติดต่อ และรับประกันว่าแกลลอรีหรือพื้นที่สาธารณะจะถูกฆ่าเชื้อ” Synder กล่าว “ในอนาคตข้างหน้า พิพิธภัณฑ์จะต้องมีกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อผลิตหรือนำเสนอโปรแกรมของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องอิงความสำเร็จของตนเองกับผู้ชมภายนอกอีกต่อไป”

ท่ามกลางความมืดมิดจากโรคระบาด Synder ทิ้งท้ายว่า ในตอนนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการระลึกถึงความรุ่มรวยที่พิพิธภัณฑ์มอบให้ และบทบาทสำคัญที่พิพิธภัณฑ์จะมีต่อไปในอนาคต

 

คริกเก็ตก็จะเป็นอย่างที่เคยเป็นนั่นแหละ แต่พวกมหาอำนาจก็จะแข็งแกร่งขึ้น – Rahul Bhatia

 

คริกเก็ตกลับมาดำเนินการแข่งขันได้อีกครั้งในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม แม้จะเปลี่ยนรูปแบบไปเล็กน้อยก็ตาม ทั้งสนามที่ว่างเปล่าและการงดการเฉลิมฉลอง – ใช้การชนกำปั้นกันแทนการทำไฮไฟฟ์ และไม่มีการถ่มน้ำลายแบบที่เคยทำอีกต่อไป อีกทั้งในระหว่างการเดินทางแข่งขัน ผู้เล่นจากอังกฤษ ปากีสถาน และหมู่เกาะเวสต์อินดีส (West Indies) ต้องอยู่ในไบโอ-บับเบิล (bio-bubbles) ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเมื่อโรคระบาดสิ้นสุดลง ฝูงชนและเสียงเชียร์จะกลับสู่สนามแข่ง และคริกเก็ตก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ข้างต้นคือคำกล่าวของ Rahul Bhatia นักข่าวและบรรณาธิการจากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย โดยในมุมมองของเขา สิ่งที่โควิด-19 ทิ้งไว้ในวงการกีฬาคือการเร่งความเหลื่อมล้ำให้เกิดมากขึ้น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างทีมนานาชาติในการแข่งขันระดับโลก

“คริกเก็ตมีการแข่งขันหลายระดับ แต่การแข่งขันในระดับนานาชาติเป็นการแข่งขันที่สำคัญที่สุด ชาติมหาอำนาจในการแข่งขันคริกเก็ต ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อังกฤษ หรือออสเตรเลีย จะยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้น และเปลี่ยนคริกเก็ตให้เป็นมากกว่าการแข่งขัน ส่วนทีมคริกเก็ตที่เล็กกว่าก็จะได้รายได้จากโทรทัศน์น้อยกว่า เช่น ทีมจากหมู่เกาะเวสต์อินดีส ที่อาจจะต้องยืมเงินเพื่อเอาตัวรอดในช่วงโรคระบาด” Bhatia อธิบาย

เมื่อเริ่มมีการแข่งขันในประเทศ ผู้เล่นจำนวนมากจะเลือกอยู่กับสโมสรคริกเก็ตที่เล็กกว่า แต่มีวันจ่ายเงินที่แน่นอนกว่า แทนที่จะเลือกอยู่กับสโมสรระดับชาติที่อาจจะมีชื่อเสียงกว่า แต่เครียดและมีความไม่มั่นคงมากกว่า และในสภาวะที่มีการต่อรองเรื่องการออกอากาศและตารางการแข่งขัน หรือที่ Bhatia ใช้คำว่า เป็นสภาวะ ‘สงครามถาวร’ เช่นนี้ “มันก็เป็นเรื่องง่ายที่จะเราจะมองว่า ชาติมหาอำนาจจะชนะได้อย่างง่ายดาย และสโมสรเล็กๆ ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

แม้โควิด-19 จะดูเป็นหายนะสำหรับวงการคริกเก็ตไม่ใช่น้อย แต่ Bhatia ได้ทิ้งท้ายถึงโอกาสที่อยู่ในการระบาดครั้งนี้ว่า อาจจะนำไปสู่การทบทวนการปกป้องผู้เล่นในกีฬาที่ไม่เคยมีการควบคุมมาก่อน รวมถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และสวัสดิการในรูปแบบอื่นๆ ด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save