fbpx
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในสภาวะไร้นักท่องเที่ยว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง?

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในสภาวะไร้นักท่องเที่ยว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง?

มณฑิรา อูนากูล[1]และ พรรษชล ขาวดี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เพียงไม่กี่เดือนที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แพร่ระบาด แหล่งมรดกโลกร้อยละ 90 ถูกปิด ขณะเดียวกันผลสำรวจจากทั่วโลกโดยยูเนสโกแสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ร้อยละ 90 ได้ปิดตัวลง และราวร้อยละ 10 อาจไม่ได้กลับมาเปิดอีกเลย สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกหลายแห่งก็ประสบปัญหานักท่องเที่ยวลดลงเป็นจำนวนมากเช่นกัน

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในภูมิภาคนี้สามารถรับมือกับวิกฤตได้จนถึงตอนนี้ก็ด้วยอาศัยงบประมาณหลักมาจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจท้องถิ่นรอบสถานที่เหล่านี้พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้น ธุรกิจและผู้ประกอบการท้องถิ่นจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการปิดเมือง ขณะที่ผลพวงจากวิกฤตการณ์โรคระบาดยังยืดเยื้อต่อไป ทั้งชุมชนท้องถิ่นและแหล่งมรดกคงต้องประสบกับการตัดงบประมาณ การตกงาน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นว่าจะถูกโจรกรรมหรืออาชญากรรมอื่นๆ

ในระหว่างการอภิปรายเรื่องความท้าทายและโอกาสสำหรับภาคมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทยที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานนี้โดยยูเนสโก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกรมศิลปากร ผู้ร่วมอภิปรายจากทั่วประเทศได้แสดงความกังวลถึงอนาคตของแหล่งมรดกและสถาบันทางวัฒนธรรม

ประเด็นหลักในตอนนี้คือการจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบกับผู้คนในภาคการท่องเที่ยวโดยตรง “ผมเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น” คุณกบ ณรงค์ชัย โตอินทร์ ประธานชมรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นแผ่นดินพระร่วงกล่าว “ผมยังหาเก็บหน่อไม้อะไรกินได้ แต่มัคคุเทศก์ที่เขาอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ ช่วง 3 เดือนนี้ ผมไม่รู้พวกเขากินอะไรกันด้วยซ้ำไป”

 

การท่องเที่ยวไทย: Too Big to Fail

 

ประเทศไทยมีสัดส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 21 ของ GDP และก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศประมาณ 4 ล้านคน ด้วยตัวเลขข้างต้น หลายคนจึงมองว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยถือได้ว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ ‘ใหญ่เกินกว่าจะล้มเหลว’

ในระยะสั้น ผู้ร่วมอภิปรายเสนอให้รัฐบาลเพิ่มการสนับสนุนแก่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม สถานประกอบการ และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่ากิจการสถานที่เหล่านี้จะผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้จนกว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว

ในขณะที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนการเยียวยาภาคอุตสาหกรรมหลักที่เป็นยุทธศาสตร์ของตน ดังนั้น หากรัฐบาลไทยมองภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และควรต้องเร่งเยียวยาด้วยเช่นกัน

สำหรับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเชิงนิเวศ แม้ความพยายามในช่วงปีหลังๆ ที่จะสร้างความหลากหลายให้การท่องเที่ยวจากเดิมที่เน้นการท่องเที่ยวทะเลและชายหาด ‘sun sand and sea’ ให้กลายเป็นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเชิงนิเวศจะประสบความสำเร็จและกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชนในพื้นที่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความสำเร็จนี้ได้เพิ่มความเปราะบางแก่ชุมชนและสถาบันทางวัฒนธรรมซึ่งถูกทำให้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกัน เพราะในหลายๆ ที่ อุตสาหกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นเดิมถูกแทนที่ด้วยการท่องเที่ยวซึ่งกลายเป็นธุรกิจหลักในการหารายได้ ดังนั้น ในระยะสั้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศจะเป็นทางออกชั่วคราวเพื่อนำรายได้ ซึ่งเป็นที่ต้องการยิ่งมาสู่พื้นที่เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสอาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาว การทำให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม สถานประกอบการ พิพิธภัณฑ์ ธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องสามารถปรับตัวได้มากยิ่งขึ้นจะเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว หากผลพวงจากโควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่คิดหรือหากมีวิกฤตอื่นๆ ในอนาคต

 

การปรับตัวและความเสี่ยงของวงการมรดกทางวัฒนธรรม

 

คุณหัทยา สิริพัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ให้เห็นว่าวงการมรดกทางวัฒนธรรมมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแก่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ กลับไม่ได้รับการประมาณการหรือพูดถึงในนโยบายระดับประเทศในด้านมรดกทางวัฒนธรรมมากนัก

พิพิธภัณฑ์และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมหลายแห่งทั่วโลกปรับตัวด้วยการหันเข้าหารูปแบบดิจิทัลและออนไลน์เพื่อให้ผู้ชมและผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากวัตถุและสถานที่อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังเพิ่มรูปแบบการนำเสนอออนไลน์ผ่านการเข้าชมแบบเสมือนจริง

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าทางกรมมีความกระตือรือร้นในการจัดหาช่องทางออนไลน์ เช่น นิทรรศการเสมือนจริงหรือแบบสามมิติสำหรับอุทยานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ในไทย นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลโดยใช้ระบบดิจิทัลเป็นการทำลายอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้เชี่ยวชาญและบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีใหม่ในการเชื่อมต่อคนทั่วไปเข้ากับมรดกทางวัฒนธรรม

‘การให้ประสบการณ์ใหม่’ คือ กุญแจสำคัญประการหนึ่งในการเข้าถึงทางดิจิทัลประสบความสำเร็จ ยูเนสโกร่วมด้วยศูนย์ข้อมูลและเครือข่ายระหว่างประเทศสำหรับมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้จัดการประชุมขึ้นและได้แนะนำว่า ประสบการณ์ออนไลน์ควรเป็นช่องทางให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเรียนรู้และชื่นชมผลงานแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เช่น ต้นฉบับที่เปราะบางซึ่งสามารถนำมาจัดแสดงได้แต่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านเว็บไซต์เท่านั้น การสำรวจโบราณวัตถุ เช่น มัมมี่ ในแบบสามมิติ หรือการชมเบื้องหลังการทำงาน แต่วิธีใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ผ่านการเข้าถึงทางดิจิทัลยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่ารายได้เหล่านี้จะสามารถเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้สถาบันมรดกทางวัฒนธรรม ผู้ผลิตหัตถกรรม และชุมชนอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ได้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

 

วิถีใหม่ในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม: ต้องไปไกลกว่าการใส่หน้ากาก

 

นอกจากการทำให้มรดกทางวัฒนธรรมเป็นสินค้าบริโภคเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึงภาครัฐ ควรตระหนักถึงคุณค่าใหม่ของมรดกทางวัฒนธรรม มีสตาร์ทอัพในไทยที่เดิมนั้นจัดบริการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ได้หันมาช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นที่ขาดรายได้จากการท่องเที่ยว ให้สามารถขายอาหารและสินค้าท้องถิ่นไปทั่วประเทศแก่ผู้คนที่อยู่บ้านในช่วงเวลาปิดเมือง

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และคุณสุขุมาล ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม กล่าวเน้นย้ำถึงหัวใจสำคัญของการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ความสำคัญในการจัดการกับมรดกทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ให้เป็นเพียงต้นทุนทางเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นทั้งทรัพยากรทางความรู้และเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

ความท้าทายในระยะยาวของวิกฤตโควิด-19 ชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐต้องหันมาทบทวนรูปแบบการท่องเที่ยวที่เคยใช้อยู่ว่า จะสามารถเป็นทางเลือกเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการฝ่าวิกฤตได้หรือไม่? เพื่อฝ่าวิกฤตนี้

ความร่วมมือใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นให้ยืนด้วยขาของตนผ่านการสร้างกระแสรายได้ที่หลากหลายจากทรัพยากรทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงการเจาะตลาดภายนอกและการมีกิจกรรมที่เน้นรูปแบบเจาะตลาดท้องถิ่น (hyper-local) การเปลี่ยนแปลงโดยการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะทำให้ผู้ผลิตด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ชมและสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับผู้ชม (new value propositions) ทั้งในรูปแบบออนไลน์และแบบปกติ

เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น การสนับสนุนในด้านนโยบาย เงินทุน และความรู้เชิงปฏิบัติการเป็นสิ่งจำเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และคนในชุมชนต้องลงทุนกับนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่มรดกทางวัฒนธรรม เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมมานาน ปัจจุบัน ยูเนสโกกำลังร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในอนาคต

หากจะกลับไปจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมรูปแบบเก่า โดยแค่เพิ่มมาตรการในการใส่หน้ากากนั้น ก็ย่อมได้ แต่นั่นอาจหมายถึงการไม่ได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้เลย

 

 


[1] ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save