fbpx
สองทศวรรษแห่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น 'คิวบา-เวเนซุเอลา'

สองทศวรรษแห่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ‘คิวบา-เวเนซุเอลา’

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความเรื่อง ‘ความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับประเทศในเอเชียและโอเชียเนียในปัจจุบัน’ เพื่อเป็นการระลึกถึงการครบรอบ 60 ปีของการปฏิวัติคิวบา ในโอกาสนี้ผมจะขอเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคิวบาและเวเนซุเอลา สองประเทศที่มีนโยบายเอียงซ้ายที่ยังเหลืออยู่ไม่มากนักในลาตินอเมริกา เพื่อเป็นการฉลองความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศนี้ในช่วงระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา

นับเป็นเวลานานที่ ฟิเดล คาสโตร ผู้นำการปฏิวัติของคิวบาพยายามที่จะให้เกิดการปฏิวัติสังคมนิยมขึ้นในเวเนซุเอลา แต่ความพยายามของ ฟิเดล คาสโตร เพิ่งจะสัมฤทธิ์ผลโดยใช้เวลากว่า 40 ปี เมื่อ อูโก ชาเวซ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1999 และอูโก ชาเวซได้นำแนวทางสังคมนิยมแบบคิวบามาปรับใช้ในประเทศซึ่งสอดคล้องไปกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อให้ประเทศของตัวเองหลุดพ้นจากจากอิทธิพลของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา

ในช่วงเวลานั้นเกิดกระแสการต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่มีหัวหอกคือสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในหลายประเทศในลาตินอเมริกาจนกลายเป็นกระแสที่เรียกว่า ‘คลื่นสีชมพู’ (pink tide) กล่าวคือมีลักษณะโน้มเอียงไปในแนวทางสังคมนิยม ไม่ว่าจะเป็นในบราซิล อาร์เจนตินา โบลิเวีย นิคารากัว รวมถึงเวเนซุเอลา

ความสัมพันธ์ระหว่างเวเนซุเอลากับคิวบานับตั้งแต่ปี 1999 จนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ ในช่วงระยะเวลาแรกนับตั้งแต่อูโก ชาเวซได้รับการเลือกตั้งในปี 1999 จนถึงปี 2006 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นเป็นที่สุด ระยะที่สองได้แก่ปี 2006 จนถึงปี 2013 ที่อูโก ชาเวซถึงแก่อสัญกรรม และในช่วงเวลาสุดท้ายคือนับตั้งแต่นิโคลัส มาดูโรก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ของเวเนซุเอลาในปี 2013 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

เวเนซุเอลาให้ความสำคัญกับคิวบาอันเนื่องมาจากการมีผลประโยชน์ร่วมกัน คือ การต่อต้านสหรัฐอเมริกาทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับสากล ขณะเดียวกันคิวบาก็มองว่าการที่มีเวเนซุเอลาหนุนหลังจะช่วยคิวบาให้ฟื้นตัวจากการที่ถูกสหรัฐอเมริกาบอยคอตทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 1962 แต่ในขณะนั้นยังมีสหภาพโซเวียตคอยช่วยหนุนหลังคิวบา แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย เศรษฐกิจของคิวบาเกิดการชะงักงันและถดถอยเป็นอย่างมากระหว่างปี 1989-1997 ดังนั้นคิวบาจึงหวังว่าเวเนซุเอลาจะเข้ามาช่วยกอบกู้ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางด้านพลังงานน้ำมันที่เวเนซุเอลาถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญของลาตินอเมริกาในขณะนั้น นอกจากนั้นคิวบายังมองว่าการมีเวเนซุเอลาอยู่เคียงข้างจะเป็นการส่งเสริมการเคลื่อนไหวของอุดมการณ์สังคมนิยมให้เกิดขึ้นในระดับสากล

จากผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ได้นำไปสู่การลงนามร่วมกันในการเป็นมหามิตรในเดือนตุลาคม 2000 โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมการค้าและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ เวเนซุเอลาได้ตกลงที่จะส่งน้ำมันดิบให้กับคิวบาวันละ 53,000 บาร์เรล ในปี 2002 และเพิ่มขี้นเรื่อยๆ จนถึงวันละ 93,000 บาร์เรลนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา โดยเวเนซุเอลาคิดราคาเพียงแค่ 23 US$ ต่อบาร์เรลซึ่งถือว่าต่ำมาก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงเวลานั้นขึ้นไปสูงเกินกว่า 100 US$ ต่อบาร์เรล ในทางกลับกันคิวบาก็ส่งบุคลากรมากกว่า 13,000 คนไปช่วยเวเนซุเอลาในการพัฒนาทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านสาธารณสุขและกีฬา นอกจากนั้นทั้งสองประเทศยังมีการแลกเปลี่ยนการเดินทางของผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์ของกองทัพโดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา

ความพยายามที่ล้มเหลวในการรัฐประหารโค่นล้มอูโก ชาเวซในเดือนเมษายน 2002 ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง ผนวกกับการจัดตั้ง The Bolivarian Alternative for the Peoples of Our America – Treaty of Commerce between Peoples (ALBA-TCP) ในช่วงปลายปี 2004 ทำให้ทั้งสองประเทศกระชับความสัมพันธ์กันเพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมมือกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม ALBA ซึ่งประกอบไปด้วยคิวบา เวเนซุเอลา โบลิเวีย และนิคารากัว โดยมีการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกในกลุ่มประเทศสมาชิก และจะร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของประชาชนร่วมกัน

เวเนซุเอลาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของคิวบาในขณะนั้น นอกจากคิวบาจะนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาแล้ว ยังนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคจากเวเนซุเอลาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ก่อสร้าง เมล็ดพลาสติก รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมอีกหลายชนิด โดยเวเนซุเอลามีฐานะที่ได้ดุลการค้ากับคิวบามาโดยตลอด

ในทางกลับกันในปลายปี 2007 มีตัวเลขของบุคลากรคิวบาที่ทำงานอยู่ในเวเนซุเอลาถึง 39,000 คน โดย 31,000 คนอยู่ในภาคสาธารณสุข คิดเป็นร้อยละ 75 ของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขของคิวบาที่ทำงานอยู่ทั่วโลก ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันขึ้นในคิวบา รวมถึงการร่วมลงทุนระหว่างคิวบากับเวเนซุเอลาในกิจการทางด้านพลังงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นคิวบายังส่งที่ปรึกษาทางการทหารไปประจำการในกองทัพเวเนซุเอลาเป็นจำนวนไม่น้อย รวมถึงการลงนามในความร่วมมือทางการทหารระหว่างทั้งสองประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2007 อูโก ชาเวซได้เสนอให้มีการจัดตั้งภาคีทหารระหว่างประเทศสมาชิกของ ALBA อีกด้วย

การเลือกตั้งเวเนซุเอลา ในปี 2006 ชัยชนะที่ถล่มถลายได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของอูโก ชาเวซและผู้ที่สนับสนุนเขาซึ่งได้รณรงค์ภายใต้คำขวัญ ‘สังคมนิยมสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21’ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีกระแสของความไม่พอใจชาเวซในหมู่ชนชั้นนำเพิ่มมากขึ้น ในปี 2007 มีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การขยายเวลาการเป็นประธานาธิบดีโดยไม่จำกัดสมัย ซึ่ง อูโก ชาเวซ หวังว่าตัวเองจะได้รับฉันทามติจากประชาชนรับรอง แต่ผลปรากฏว่าเขาแพ้คะแนนเสียงที่คัดค้านไปแบบเฉียดฉิวคือเพียงร้อยละ 1.4 แต่ในประเด็นอื่นๆ เขาได้รับชัยชนะทำให้อำนาจของประธานาธิบดีของเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้นมาก โดยมีเป้าประสงค์หนี่งที่สำคัญตามนโยบาย ‘สังคมนิยมสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21’  คือการยึดกิจการของเอกชนมาให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ หรือไม่ก็บังคับให้ธุรกิจเอกชนต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐอย่างเข้มงวด อาทิ ภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร การค้า การก่อสร้าง เป็นต้น

ขณะเดียวกันบทบาทของเวเนซุเอลาในการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ในปลายปี 2008 มีการจัดตั้ง The Community of Latin American and Caribbean States (CELAC) ที่บราซิล ซึ่งทั้งเวเนซุเอลาและคิวบาต่างก็เข้าร่วมเป็นสมาชิก ขณะเดียวกันสมาชิกของกลุ่ม ALBA ทั้งหมดก็ประกาศที่จะไม่ร่วมลงนามในคำปฏิญญาของการประชุม The Fifth Summit of the Americas ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำสำคัญของการประชุม ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2009 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับหลักการนิยามประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ รวมถึงการที่ที่ประชุมดังกล่าวบอยคอตไม่ให้คิวบาได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย

ในเดือนเมษายน ปี 2010 ประธานาธิบดีราอูล คาสโตรของคิวบาได้เดินทางเยือนกรุงการากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลาอย่างเป็นทางการ เขาได้กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ากลับมาเยือนเวเนซุเอลาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพบปะและสานสัมพันธ์กับเวเนซุเอลา ที่เป็นเสมือนหนึ่งพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน” เมื่ออูโก ชาเวซพบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งในปี 2011 เขาก็ตัดสินใจที่จะไปเข้ารับการรักษาที่คิวบา และกลับไปรักษาตัวอีกหลายครั้งระหว่างปี 2011-2013  ฟิเดล คาสโตรซึ่งขณะนั้นได้ก็กำลังป่วยอยู่เช่นกัน ได้เขียนจดหมายถึงอูโก ชาเวซ ก่อนหน้าที่ชาเวซจะเสียชีวิตไม่กี่วันว่า “เมื่อโลกสังคมนิยมล่มสลาย สหภาพโซเวียตพังทลาย อำนาจจักวรรดินิยม (สหรัฐอเมริกา) กำลังทำลายประเทศของฉันอย่างโหดร้าย แต่ประเทศเล็กๆ ในลาตินอเมริกาอย่างเวเนซุเอลากลับยื่นไมตรีจิตต่อเรา”

หลังจากที่ชาเวซได้ถึงแก่อสัญกรรม ฟิเดล คาสโตร ได้เขียนคำระลึกถึงชาเวซไว้ว่า “ในบ่ายวันที่ 5 มีนาคมนี้ มหามิตรที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของคิวบาได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว” ขณะเดียวกันในวันนั้นเอง รัฐบาลคิวบาได้ออกแถลงการณ์ว่า “อูโก ชาเวซคือชาวคิวบาคนหนึ่ง เขาได้ช่วยเหลือในยามที่เราทุกข์ยากมาโดยตลอด เราจะไม่มีวันลืมเขาได้”

ในวันที่ 14 เมษายน 2013 นิโคลัส มาดูโร สามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างเฉียดฉิวในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากการอสัญกรรมของอูโก ชาเวซ โดยมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยในช่วงเดือนมีนาคมปีเดียวกันระหว่างที่เขารักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ลงนามในสนธิสัญญาต่างๆ กับคิวบามากกว่า 50 ฉบับ หนึ่งในสาระสำคัญของสนธิสัญญาต่างๆ ที่เขาลงนามคือคิวบาจะสนับสนุนนโยบายสังคมนิยมของเวเนซุเอลาต่อไป ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในทุกมิติระหว่างปี 2013-2019 เมื่อมีการประชุมของประเทศสมาชิก CELAC ในเดือนมกราคม 2014 ที่กรุงฮาวานา เมืองหลวงของคิวบา มีการพบปะและร่วมลงนามในสนธิสัญญาเพิ่มเติมอีกหลายฉบับระหว่างนิโคลัส มาดูโรและราอูล คาสโตร ซึ่งครอบคลุมไปถึงการกีฬา การพัฒนาพลังงานไฟฟ้า การเกษตร การสาธารณสุข และการศึกษา ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนของบุคลากรคิวบาในเวเนซุเอลาถึง 60,000 คน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการตกลงกันในการจัดตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันดิบในคิวบาเพื่อกลั่นน้ำมันดิบที่มาจากเวเนซุเอลาก่อนที่จะส่งต่อไปขายที่จีนอีกต่อหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม จากจำนวนบุคลากรคิวบาที่มีอยู่มากในเวเนซุเอลา ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นในหมู่ชาวเวเนซุเอลาบางกลุ่มโดยเฉพาะพวกที่ต่อต้านนิโคลัส มาดูโร ซึ่งมาดูโรก็ตระหนักในกระแสดังกล่าว เขาได้แสดงความห่วงใยในประเด็นนี้ โดยได้กล่าวว่า “ผมมีความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่เกิดกระแสความเกลียดชังชาวคิวบาที่อยู่ในประเทศของเรา เรามีแพทย์ชาวคิวบาอยู่ถึง 25,000 คน ในแต่ละวันเราต้องพยายามที่จะปกป้องพวกเขาจากกระแสความเกลียดชังของคนบางกลุ่ม”

ขณะที่ราอูล คาสโตรก็ได้กล่าวถึงในประเด็นนี้เช่นเดียวกันว่า “เรารู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังกระแสการต่อต้านที่เลวร้ายครั้งนี้ พวกเขาพยายามทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่เป็นมหามิตรของเรา”

ผู้นำทั้งสองประเทศยังคงสนับสนุนซึ่งกันและกันทั้งในประเด็นการเมืองในประเทศและนโยบายการต่างประเทศ อาทิ ในการประชุมประเทศสมาชิก ALBA ในเดือนธันวาคม 2014 ราอูล คาสโตร ได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในการที่จะสนับสนุนเวเนซุเอลา และประณามการที่สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจต่อเวเนซุเอลา และเมื่อคิวบาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา นิโคลัส มาดูโรได้แสดงความยินดีกับคิวบาและยังคงยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเวเนซุเอลากับคิวบายังคงแน่นแฟ้นไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อสหรัฐอเมริกาเพิ่มมาตรการแทรกแซงทางเศรษฐกิจต่อเวเนซุเอลามากขึ้น ราอูล คาสโตร ได้ย้ำว่าการกระทำของสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ คิวบาได้ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้มาก่อนและหวังว่าเวเนซุเอลาจะยืนหยัดต่อสู้กับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ต่อไป โดยที่คิวบาจะไม่ยอมทอดทิ้งให้เวเนซุเอลาต้องเผชิญปัญหาแต่เพียงลำพัง คิวบาพร้อมทุกทางในการที่จะปกป้องพี่น้องชาวเวเนซุเอลา

ในช่วงปี 2015 มีการเดินทางเยือนกันและกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศอยู่บ่อยครั้ง เพื่อเป็นสัญญะทางการเมืองของการที่ทั้งสองประเทศนั้นคือมิตรแท้ซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตามมีสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ของคิวบาที่ถูกส่งไปประจำการในเวเนซุเอลามากกว่า 720 คน ได้ขอลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศโคลอมเบียและประเทศใกล้เคียง เพื่อหวังโอกาสในการที่จะได้เข้าไปทำงานและพำนักถาวรในสหรัฐอเมริกาต่อไป แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นแต่ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ความร่วมมือในการพัฒนายังคงมีอยู่ต่อไป ผลจากนโยบายการขายน้ำมันราคาถูกให้กับคิวบา เพื่อแลกกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการสาธารณสุขส่งผลให้มีการสร้างคลินิกชุมชนในเวเนซุเอลามากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันอัตราการอ่านออกเขียนได้ของชาวเวเนซุเอลาก็เพิ่มขึ้นอย่างเป็นที่น่าพอใจ

ถึงกระนั้นก็ตามกระแสความไม่พอใจในตัวนิโคลัส มาดูโรก็เพิ่มมากขึ้นในหมู่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางของประเทศ เพราะมองว่ามาดูโรเอาใจแต่พวกพ้องของตนเองโดนเฉพาะคนยากจน ขณะเดียวกันมาดูโรก็ไม่มีบารมีเทียบเท่ากับชาเวซทำให้ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปลายปี 2015 ฝ่ายต่อต้านมาดูโรสามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ อย่างไรก็ตามราอูล คาสโตรได้ส่งสารไปยังนิโคลัส มาดูโรว่า ประชาชนชาวคิวบายังเชื่อมั่นมาดูโรและพวกที่สนับสนุนเขาจะได้รับชัยชนะในครั้งหน้า คิวบาจะคอยอยู่เคียงข้างเขาต่อไป

ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาจะเดินทางเยือนคิวบาอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2016 นิโครัส มาดูโรได้เดินทางไปยังกรุงฮาวานา เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ที่มั่นคงของทั้งสองประเทศ เนื่องจากมีกระแสข่าวที่ว่าภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐอเมริกากับคิวบาแล้วจะทำให้เกิดการโดดเดี่ยวรัฐบาลของมาดูโร ในการเยือนครั้งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ของคิวบาและเวเนซุเอลา ราอูล คาสโตรได้รับมอบเหรียญตรา The José Martí Order ซึ่งเป็นเหรียญตราชั้นสูงสุดของเวเนซุเอลาให้กับมาดูโรอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อโอบามามาเยือนฮาวานา ราอูล คาสโตรได้แถลงในที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองประเทศว่า การแทรกแซงทางการเมืองในเวเนซุเอลาของสหรัฐอเมริกา เป็นการบ่อนเซาะทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของภูมิภาคลาตินอเมริกา

ต่อมาเมื่อเลขาธิการขององค์การรัฐอเมริกัน (The Organization of American States) หลุยส์ อัลมาโก ได้แสดงความคิดเห็นประณามรัฐบาลของนิโคลัส มาดูโร คิวบาได้แสดงท่าทีไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการกระทำของหลุยส์ อัลมาโก โดยชี้ให้เห็นว่าเขานั้นเลือกปฏิบัติ เพราะองค์การรัฐอเมริกันนั้นได้สงวนท่าทีเมื่อมีความพยายามรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีอูโก ชาเวซในปี 2002 และยิ่งไปกว่านั้นยังไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไรเลยเมื่อมีความพยายามรัฐประหารหลายครั้งในลาตินอเมริกาในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น

กล่าวโดยสรุปความสัมพันธ์ของทั้งคิวบาและเวเนซุเอลานั้น เป็นไปดังคำขวัญที่ว่า “คิวบาและเวเนซุเอลา สองชาติเอกราชแต่หนึ่งเดียวกันในอุดมการณ์การปฏิวัติ” และถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในเวเนซุเอลาในปัจจุบันจะเลวร้ายอย่างไรก็ตาม รัฐบาลของคิวบาภายใต้ผู้นำคนใหม่อย่าง มิเกล เดียซ คาเนล ก็ยังยืนหยัดที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาลของนิโคลัส มาดูโรอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีประเทศในลาตินอเมริกาจำนวนมากหันไปสนับสนุนผู้นำฝ่ายค้าน ฮวน กวยโดก็ตาม แต่คิวบาก็ยังคงยืนหยัดอย่างมั่นคงในการสนับสนุนการขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์, ชาวิสตา และมาดูโรต่อไป

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save