fbpx

ถึงเวลาทบทวนฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์

สมัยเป็นนักศึกษา ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มาตลอดสี่ปี ในฐานะสมาชิกฝ่ายโค้ดแปรอักษร ของชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังคงติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของการแข่งฟุตบอลที่มีอายุเก่าแก่นี้มาตลอด

ประวัติฟุตบอลประเพณีเริ่มครั้งแรกในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 แต่ละมหาวิทยาลัยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทุกปี ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพจะได้รับเกียรติให้ขึ้นต้นชื่องานฟุตบอลประเพณีในปีนั้น

ในสมัยนั้นมีมหาวิทยาลัยเพียงสองแห่ง และเส้นทางการก่อตั้งของมหาวิทยาลัยสองแห่งก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อเดิม) ถือเป็นตลาดวิชา ก่อตั้งจากฝ่ายคณะราษฎร คนที่เข้ามาเรียนไม่จำเป็นต้องจบมัธยมศึกษา ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งจากฝ่ายเจ้า ผู้เข้าเรียนต้องจบมัธยมศึกษา เวลาพบปะกัน นักศึกษาทั้งสองฝ่ายจึงมีความขัดแย้ง พูดจาเขม่นกันเป็นประจำ

ผู้ใหญ่ในเวลานั้นจึงริเริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสองมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาจากทั้งสองแห่ง โดยมีแบบอย่างจากการแข่งขันเรือประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร

ต่อมาจึงมีพัฒนาการเพิ่มสีสันและกิจกรรมมากขึ้น จากการแข่งขันฟุตบอลอย่างเดียว เริ่มมีกองเชียร์ แปรอักษร มีการอัญเชิญพระเกี้ยวและธรรมจักรเข้าสู่สนาม และไฮไลท์สำคัญของงานคือขบวนพาเหรดล้อการเมือง ที่หลายคนรอดูว่าแต่ละปีนักศึกษาทั้งสองสถาบันจะสะท้อนปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ผ่านความคิดสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เผด็จการครองเมือง สื่อมวลชนถูกปิดหูปิดตา การเสนอข่าวถูกเซนเซอร์ การแสดงออกที่สะท้อนปัญหาต่างๆ ในงานฟุตบอลประเพณีของนักศึกษา จึงถูกจับตาเป็นพิเศษว่าจะสร้างความฮือฮาได้อย่างไร ผ่านขบวนพาเหรดล้อการเมือง และการแปรอักษรบนอัฒจันทร์

อาทิ เมื่อปี พ.ศ. 2526 มีการแปรอักษรภาพอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมข้อความว่า ‘พ่อนำชาติ ด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ’ เป็นครั้งแรกที่ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามมานานหลายสิบปี ได้เปิดออกสู่พื้นที่สาธารณะ จนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ เป็นตำนานของการแปรอักษร

สมัยก่อนงานฟุตบอลประเพณีถือเป็นงานใหญ่ประจำปี ทั้งศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันต่างตั้งตารอคอย ตื่นเต้นที่จะได้ไปร่วมงานที่สนามศุภชลาศัย เพราะสมัยก่อนแต่ละปีไม่ค่อยมีกิจกรรม การแข่งขันกีฬาหรืองานสำคัญระดับชาติเกิดขึ้นบ่อย และเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่มีการถ่ายทอดสดด้วย

มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นไม่กี่แห่ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ จึงยังเป็นศูนย์รวมแห่งความโดดเด่นในหลายๆ ด้านทั้งการศึกษา งานวิจัย กีฬา ที่ผู้คนในสังคมจับตาดูเสมอ รวมถึงงานฟุตบอลประเพณี

แต่ปัจจุบันจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ไม่ได้โดดเด่นและมีความสำคัญเหมือนเดิมอีกต่อไป มหาวิทยาลัยอื่นๆ เริ่มมีชื่อเสียง และบางด้านอาจจะโดดเด่นกว่า ดังนั้นความสนใจของผู้คนต่อสถาบันเก่าแก่สองแห่งนี้ก็เริ่มลดลง รวมถึงงานฟุตบอลประเพณีด้วย

ในขณะที่เดี๋ยวนี้แต่ละวันมีอีเวนต์หรืองานสำคัญน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย แย่งความสนใจงานฟุตบอลประเพณี แค่เกมการแข่งขันฟุตบอลก็มีแมทช์อื่นๆ ให้สนใจมากมายทั้งปี ทั้งแข่งในประเทศหรือต่างประเทศ

ยิ่งสมาคมศิษย์เก่าของทั้งสองฝ่ายผู้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งกันตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเอาชนะการแข่งขันให้ได้ จึงมีกลวิธีการแย่งเอานักเตะทีมชาติ นักเตะชื่อดังมาแปะป้ายให้เป็นนักเตะของสถาบันตัวเอง แทนที่จะเป็นนักเตะที่เป็นนักศึกษาซึ่งกำลังเรียนอยู่ แต่ภาพที่คนคุ้นเคยคือนักเตะที่ลงแข่งขันไม่ใช่ศิษย์สองสถาบันจริงๆ การแข่งขันจึงดูแปร่งๆ เพราะมุ่งหวังเอาชนะกันอย่างเดียวจนละเลยเจตนารมณ์ของฟุตบอลประเพณีที่ต้องการนักเตะที่เป็นนิสิตนักศึกษาปัจจุบัน

เมื่อความนิยมฟุตบอลประเพณีลดลงไปเรื่อยๆ แรงจูงใจที่จะให้นักศึกษาปัจจุบันเป็นผู้รับผิดชอบทั้งการแปรอักษร ชุดเดินขบวนทั้งหลายในงาน ก็ลดลงไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

คงจะมีแต่บรรดาศิษย์เก่าจำนวนมากที่ยังภูมิใจและคึกคักกับภาพอดีตของงานฟุตบอลประเพณีผ่านทางสมาคมศิษย์เก่าทั้งสองแห่งที่เป็นเจ้าภาพจัดงานมาตลอด แม้จะมีภาระสำคัญคือค่าใช้จ่ายสำหรับงานฟุตบอลหลายสิบล้านบาท ขณะที่สปอนเซอร์ก็หาได้ยากเย็นมากขึ้น

แต่มดงานตัวจริงที่ขับเคลื่อนงานคือศิษย์ปัจจุบันของทั้งสองสถาบัน

คนรุ่นปัจจุบันจึงไม่ค่อยรู้สึกอินหรือดื่มด่ำกับงานฟุตบอลประเพณี เหมือนกับศิษย์เก่าหลายคนที่เฝ้ารองานทุกปี และการถ่ายทอดสดก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจเหมือนเดิม เพราะคนดูทีวีลดลงมาก

อาจจะมีบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเผด็จการครองเมืองมายาวนาน สื่อกระแสหลักไม่ค่อยกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาก ขบวนล้อการเมืองและภาพการแปรอักษรจึงอาจจะเป็นที่สนใจและดึงดูดคนทั่วไปได้บ้างว่า ปีนี้นักศึกษาจะกล้าล้อเลียนรัฐบาลอย่างไร

แต่ต้องยอมรับว่าในภาพรวมแล้ว ปัจจุบันภาพงานฟุตบอลประเพณีไม่ได้มีความน่าสนใจหรือศักดิ์สิทธิ์พอที่จะดึงดูดนักศึกษารุ่นปัจจุบันได้  แม้แต่การขอร้องเชิญชวนให้นักศึกษาขึ้นแสตนด์เชียร์เต็ม 2,500 คน เพื่อแปรอักษร นับวันก็ยากเย็นมากขึ้น

ไม่แปลกหรอก ที่ทางองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ซึ่งถูกแบกโดยนิสิตกว่า 50 คนในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ถึงจุดหนึ่งเมื่อหาคนแบกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยวไม่ได้ พวกเขาก็ขอยกเลิกการแบก เพราะเหนื่อยมากและหาอาสาสมัครยากขึ้น พวกเขาไม่รู้สึกประทับใจหรือสนุกในการแบกเสลี่ยงเหมือนคนรุ่นเก่าอีกต่อไป

อีกไม่นาน ปัญหาของการจัดงานฟุตบอลประเพณีอันเก่าแก่แห่งนี้คงจะยุ่งยากขึ้นเรื่อยๆ

ยอมรับเถิดว่า งานฟุตบอลประเพณีอาจจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save