fbpx
ยิ่งตรวจยิ่งดี ยิ่งมียิ่งคุ้ม? เหรียญสองด้านของเทคโนโลยีสแกนโรค

ยิ่งตรวจยิ่งดี ยิ่งมียิ่งคุ้ม? เหรียญสองด้านของเทคโนโลยีสแกนโรค

[et_pb_section admin_label=”section”][et_pb_row admin_label=”row”][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”Text” background_layout=”light” text_orientation=”left” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid”]

ภัทชา ด้วงกลัด เรื่อง

“ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับการแพทย์ล้วนต้องเผชิญการแลกได้แลกเสียอยู่เสมอ”

ดร.รีเบคกา สมิธ-ไบนด์แมน (Rebecca Smith-Bindman)

ผู้อำนวยการ Radiology Outcomes Research Lab แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย[1]

มะเร็งคือโรคร้ายอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ความกลัวมะเร็งทำให้หลายคนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ หลายคนพยายามหาทางตรวจหามะเร็งให้เจอตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อจะได้รักษาให้ทันท่วงทีก่อนสายเกินไป

ทุกวันนี้การตรวจหาโรคร้ายเช่นมะเร็งทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีการ ‘สแกนโรค’ ที่ก้าวหน้าอย่าง ซีทีสแกน (CT Scan) และ เพททีซีสแกน (PET/CT Scan) ซึ่งช่วยตรวจหามะเร็งได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยหมอไม่ต้องผ่าตัดเปิดร่างกายให้ผู้ป่วยต้องเจ็บตัวเหมือนในอดีต

และไม่ใช่แค่มะเร็งเท่านั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ยังสามารถตรวจหาโรคร้ายอื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่น โรคอัลไซเมอร์ ภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ ฯลฯ และช่วยให้หมอติดตามการรักษาได้ดียิ่งขึ้น ทำให้รักษาตรงจุด ผู้ป่วยหายจากโรคได้เร็วขึ้น ลดการเจ็บตัวและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่จำเป็นลงได้มาก

นวัตกรรมการ ‘สแกนโรค’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำซีทีสแกน นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่พลิกโฉมวงการแพทย์และมีส่วนช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากในช่วงเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา การทำซีทีสแกนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซีทีสแกนกลายเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ ที่ทั้งหมอและคนไข้ต่างถามหาเพื่อสร้างความมั่นใจในการรักษาและดูแลสุขภาพ

สำหรับประเทศไทย การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องซีทีสแกนกลายเป็นเรื่องปกติในหลายโรงพยาบาล แม้แต่แพ็คเกจตรวจสุขภาพบางโปรแกรมยังมีการบรรจุการตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนไว้ด้วยซ้ำ ในขณะที่การทำเพทซีทีสแกน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีน้องใหม่ที่ถูกพัฒนาต่อจากซีทีสแกน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตรวจหามะเร็งได้ไวตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กมาก แม้จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่ปัจจุบันยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากนัก ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงและค่าบริการที่สูงกว่ามาก

ทุกเทคโนโลยีย่อมมีข้อดีและข้อเสีย คำถามคือ มีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้นวัตกรรมการ ‘สแกนโรค’ ที่เหมือนจะเป็นคำตอบในการหยุดยั้งโรคร้ายต่างๆ และเนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้มีต้นทุนสูง เราควรจะใช้มันอย่างไรให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุดทั้งต่อตัวเราเอง และในภาพรวมของระบบการดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศ

ซีทีแสกน และ เพทซีทีสแกน ยิ่งตรวจยิ่งดี ยิ่งมียิ่งคุ้ม จริงหรือไม่

 

นวัตกรรมการ ‘สแกนโรค’ : ทำความรู้จัก CT Scan และ PET/CT Scan

แทบทุกคนคงพอรู้จักและคุ้นเคยกับการทำ ‘เอ็กซเรย์’ เป็นอย่างดี การเอ็กซเรย์เป็นการถ่ายภาพทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยการฉายรังสีเอ็กซ์ผ่านร่างกาย ถือเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์มากและถูกนำมาใช้อย่างกว้างขว้างจนเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจฟันและกระดูก แต่การเอ็กซเรย์ธรรมดามีข้อจำกัดในการถ่ายภาพเนื้อเยื่อที่มีความหนาแน่นน้อย เช่น กล้ามเนื้อ หรือไขมัน ได้อย่างชัดเจนแม่นยำและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อยอดจากการทำเอ็กซเรย์ เช่น ซีทีสแกน และ เพทซีทีสแกนในเวลาต่อมา ทำให้การสแกนโรคทำได้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด

CT Scan

ซีทีสแกน – CT Scan (Computerized Tomography) หรือการสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ คือการถ่ายภาพโดยการฉายรังสีผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจในแนวขวาง ได้เป็นภาพถ่ายเอ็กซเรย์ตัดขวางในตำแหน่งที่แตกต่างกันหลายแผ่น ทำให้สามารถเห็นความลึกหนาของจุดที่ทำการสแกนในลักษณะ 3 มิติ แตกต่างจากการเอ็กซเรย์ปกติทั่วไปที่ให้ภาพ 2 มิติ ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องซีทีสแกนรุ่นใหม่ๆ ยังสามารถสร้างแบบจำลอง 3 มิติขึ้นมาได้อย่างสมจริงอีกด้วย

เครื่อง CT Scan
เครื่อง CT Scan
ฟิล์มเอ็กซเรย์จากเครื่องซีทีสแกน – CT Scan (Computerized Tomography)
ฟิล์มเอ็กซเรย์จากเครื่องซีทีสแกน – CT Scan (Computerized Tomography)

ปัจจุบันมีการใช้เครื่องซีทีสแกนในการตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ในร่างกาย เช่น เนื้องอก การไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติ ลิ่มเลือดในสมอง ก้อนนิ่ว และอีกมากมาย การทำซีทีสแกนนั้นค่อนข้างสะดวก ใช้ระยะเวลาในการตรวจสั้นๆ เพียงแค่ 10-30 นาทีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทและตำแหน่งในการตรวจ

ซีทีสแกนช่วยให้แพทย์อ่านความผิดปกติได้อย่างถูกต้องแม่นยำกว่าการทำเอ็กซเรย์ธรรมดา ภาพจากการทำซีทีสแกนสามารถแยกแยะความผิดปกติของเนื้อเยื่อได้ดีกว่าการทำเอ็กซเรย์ทั่วไปถึง 1 พันเท่า

PET/CT

เพทซีทีสแกน – PET/CT (Positron Emission Tomography/Computed Tomography) คือเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาขั้นสูง ที่รวมเอา 2 เทคโนโลยีไว้ด้วยกัน คือ การทำซีทีสแกน และ เพทสแกน – PET Scan (Positron Emission Tomography) ใช้ตรวจหาความผิดปกติในร่างกายจากการทำงานในระดับเซลล์ได้ โดยไม่ต้องนำเซลล์นั้นออกมาจากร่างกายใส่กล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจดูเหมือนในอดีต

การทำงานของเพทสแกนแตกต่างจากซีทีสแกนตรงที่เป็นการตรวจด้วยเทคนิคการถ่ายภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine) ทำให้ได้ภาพการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (Metabolism Image) ของเนื้อเยื่อในร่างกาย

ในการทำเพทสแกน คนไข้จะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสี ซึ่งเป็นน้ำตาลกลูโคสชั้นพิเศษที่มีกัมมันตภาพรังสีเข้าไปในร่างกาย เมื่อเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายได้รับสารเภสัชรังสีเข้าไปจะเปล่งรังสีหรืออนุภาคโพรสิตรอนออกมาได้ไม่เท่ากัน เนื้อเยื่อที่ใช้พลังงานมากหรือมีการแบ่งตัวมาก เช่น เซลล์มะเร็ง หรือ เนื้อเยื่อสมอง ดูดซึมน้ำตาลนี้ได้มากกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ จึงเปล่งรังสีออกมาในปริมาณที่สูงกว่า เมื่อตรวจจับรังสีออกมาเป็นภาพถ่ายด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน ที่ให้ภาพลักษณะสามมิติ จึงได้ภาพถ่ายทางการแพทย์สำหรับตรวจวินิจฉัยที่มีความแม่นยำถูกต้องและละเอียดมาก

ฟิล์มเอ็กซเรย์จากเครื่องเพทซีทีสแกน - PET/CT (Positron Emission Tomography/Computed Tomography) | ภาพจากเว็บไซต์ UPMC life changing medicine
ฟิล์มเอ็กซเรย์จากเครื่องเพทซีทีสแกน – PET/CT (Positron Emission Tomography/Computed Tomography) | ภาพจากเว็บไซต์ UPMC life changing medicine

เครื่องเพทซีทีสแกนได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพมาก มีความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ในการตรวจโรคสูง ใช้หาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นอย่างแม่นยำในแบบที่ไม่เคยมีเครื่องมือไหนทำได้มาก่อน การทำเพทซีทีสแกนเหมาะกับการตรวจวินิจฉัย 3 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่

  • มะเร็ง ใช้ตรวจหาตำแหน่งมะเร็ง ช่วยชี้ให้เห็นว่ามะเร็งลุกลามไปมากแค่ไหน และช่วยตรวจเช็กผลการรักษาว่าได้ผลหรือไม่ มักใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งสมอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งปอด
  • โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ใช้ประเมินประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจได้ดี
  • ความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง ใช้ในการตรวจหาและประเมินความผิดปกติของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ และอาการสมองเสื่อมประเภทต่างๆ

ซีทีสแกน และเพทซีทีสแกน นับเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อวงการการแพทย์อย่างมาก การตรวจที่แม่นยำขึ้นช่วยลดการผ่าตัดและการรักษาที่ไม่จำเป็นลง ช่วยเปลี่ยนแนวทางการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีประโยชน์ในการติดตามผลรักษาโรคต่างๆ ในภาพรวมจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายและภาระในการดูแลผู้ป่วยลงได้

 

ยิ่งตรวจยิ่งดี?

กว่า 40 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการใช้เครื่องซีทีสแกนในทางการแพทย์ มีการทำซีทีสแกนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนการทำซีทีสแกนเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านครั้งในปี 1980 เป็นมากกว่า 70 ล้านครั้งต่อปีในปัจจุบัน[2] คนไข้บางรายเคยได้รับการตรวจด้วยการทำซีทีสแกนมากกว่า 10 ครั้งในช่วงชีวิต

สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่มีการรวบรวมสถิติการทำซีทีสแกนอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันเครื่องซีทีสแกนกลายเป็นเครื่องมือการแพทย์พื้นฐาน ที่หลายโรงพยาบาลจัดหามาให้บริการ และดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

การถ่ายภาพทางการแพทย์ด้วยรังสี เช่น การทำซีทีสแกนและเพทซีทีสแกน เป็นการฉายรังสีเอ็กซ์เข้าสู่ร่างกายโดยตรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอนาคตได้ การสแกนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทุกวันนี้ทำให้หมอและคนไข้ทั่วโลกต่างเกิดความกังวล และเริ่มตั้งคำถามว่าจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน เราควรใช้เทคโนโลยีนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ?

 

สแกนเสี่ยงมะเร็ง?

เมื่อรังสีเอ็กซ์เคลื่อนผ่านไปในร่างกาย จะทำให้เกิดประจุไฟฟ้าหรือไอออนขึ้นในเนื้อเยื่อ กระบวนการนี้เรียกว่าการ ‘ไอออไนซ์ (ionizing)’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางชีววิทยาภายในเนื้อเยื่อ สามารถทำลายหรือสร้างความเสียหายให้กับ DNA ได้[3]  อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วหากได้รับรังสีในปริมาณต่ำ ร่างกายของเราจะสามารถซ่อมแซมความเสียหายได้เองเกือบทั้งหมด แต่หากมีส่วนที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เซลล์เสียหายนั้นอาจเกิดความผิดปกติและกลายพันธุ์เป็นมะเร็งได้ในภายหลัง[4] การได้รับรังสีจากการตรวจด้วยซีทีสแกนหรือเพทซีทีสแกนจึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในอนาคตได้

การศึกษาผลกระทบของรังสีต่อสุขภาพของมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเทียบเคียงจากผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 ซึ่งมีจำนวนผู้ได้รับรังสีโดยตรงเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลชี้ชัดว่า การได้รับรังสีในปริมาณสูงกว่า 100 mSv[5] สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในอนาคตได้[6] ในขณะที่การได้รับรังสีในปริมาณที่น้อยกว่านั้น แม้จะพบว่าไม่ได้เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งมากนัก แต่ก็มีนัยยะสำคัญต่อการเกิดมะเร็ง[7] โดยปริมาณรังสีระดับต่ำที่สุดที่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ทั้งสองได้รับอยู่ที่ประมาณ 5-20 mSv ซึ่งที่ระดับปริมาณดังกล่าว มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการรับรังสีสู่ร่างกายแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้[8]

เมื่อมาดูปริมาณรังสีที่ได้รับจากการถ่ายภาพทางการแพทย์ด้วยรังสีแบบต่างๆ จะพบว่า การเอ็กซเรย์ปกติหนึ่งครั้ง ผู้รับการตรวจจะได้รับรังสีเพียงประมาณ 0.7 mSV ในขณะที่การทำซีทีสแกนหนึ่งครั้งจะได้รับรังสีประมาณ 1-10 mSv ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะการสแกน ส่วนทำเพทซีทีสแกนหนึ่งครั้งจะได้รับรังสีสูงถึงประมาณ 25 mSv เลยทีเดียว[9] จะเห็นได้ว่าปริมาณรังสีที่ได้รับจากการทำซีทีสแกนและเพทสแกนหนึ่งครั้งนั้น ไม่น้อยกว่าปริมาณรังสีขั้นต่ำซึ่งมีสัญญาณของความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ในกรณีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดทั้งสองได้รับเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เกิดจากการทำซีทีสแกนหนึ่งครั้งถูกมองว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง The National Cancer Institute (NCI) ในสหรัฐอเมริกาประเมินว่า สำหรับคนอเมริกัน การทำซีทีสแกนหนึ่งครั้งทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงตลอดช่วงชีวิตเพิ่มขึ้นในอัตราเพียง 1 ใน 2,000 หรือคิดเป็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 เท่านั้น ในขณะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ ตลอดช่วงชีวิตที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งของคนอเมริกันอยู่ที่ 1 ใน 5[10] ทั้งนี้ การทำเพทสแกนก่อให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าเพราะทำให้ได้รับปริมาณรังสีที่มากกว่า

 

ควรสแกนหรือไม่ แค่ไหนถึงเสี่ยง?

ปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันว่าความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากการถ่ายภาพทางการแพทย์ด้วยรังสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำซีทีสแกนซึ่งได้รับความนิยมมากทุกวันนี้ มีนัยยะสำคัญต่อสุขภาพของคนไข้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการรักษาโรค

ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ความเสี่ยงจากการทำซีทีสแกนนับว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่ม เชื่อว่าการทำซีทีสแกนควรทำเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น การได้รับรังสีที่มากเกินไปหรือการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แม้ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจะน้อยมากก็ตาม[11]

ทั้งนี้เนื่องจากรังสีสามารถสะสมในร่างกายได้ ระยะเวลาและความถี่ในการได้รับรังสีจึงมีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในอนาคต การตัดสินใจเลือกรับการตรวจในแต่ละครั้งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ยิ่งเด็กยิ่งเสี่ยง

การเกิดมะเร็งต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีหรือเป็นสิบๆ ปี ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากการทำซีทีสแกนหรือเพทสแกนจึงมีความเด่นชัดในกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการตรวจตั้งแต่อายุน้อยมากกว่ากลุ่มคนไข้ในวัยผู้ใหญ่[12] มีการศึกษาในประเทศอังกฤษในปี 2012[13] และในประเทศออสเตรเลียในปี 2013[14] พบว่าในบรรดาคนไข้ที่เป็นเด็กหรือมีอายุน้อยซึ่งเคยได้รับการทำซีทีสแกน มีคนไข้ป่วยเป็นโรคลูคิเมียหรือพบเนื้องอกชนิดร้ายแรงในสมองภายหลังจำนวนเพิ่มมากขึ้น

การทำซีทีสแกนหรือเพทซีทีสแกนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่เป็นโรคร้ายแรงจึงถูกมองว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพมากกว่าไม่ทำ เมื่อพิจารณาโอกาสการเกิดมะเร็งในอนาคตที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการก่อตัว

ยิ่งถี่ยิ่งเสี่ยง

การศึกษาเทียบเคียงจากกรณีผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูอาจจะไม่สามารถให้ข้อสรุปต่อการทำซีทีสแกนและเพทซีทีสแกนได้อย่างสมบูรณ์ เพราะลักษณะการได้รับรังสีจากระเบิดปรมาณูเป็นการได้รับรังสีปริมาณมากในครั้งเดียว ในขณะที่การทำซีทีสแกนหรือเพทซีทีสแกนนั้นผู้รับการตรวจได้รับรังสีปริมาณน้อยและกระจายหลายครั้งหากต้องรับการตรวจต่อเนื่อง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาให้ความเห็นว่าการสะสมของรังสีจำนวนน้อยๆ หลายๆ ครั้ง มีอันตรายไม่ต่างจากการได้รับรังสีทั้งหมดนั้นในครั้งเดียว[15]

ดังนั้นยิ่งคุณได้รับรังสีจำนวนมากครั้งเท่าไหร่ในช่วงชีวิต ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าปริมาณที่ได้รับแต่ละครั้งจะน้อยแค่ไหนก็ตาม

ข้อสรุปนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน จากการศึกษาความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งจากการใช้เครื่องซีทีสแกนในปี 2009 โดย Brigham and Women’s Hospital ในบอสตัน สหรัฐอเมริกา ในกลุ่มผู้ป่วยอายุมากกว่า 22 ปี จำนวน 31,462 ราย พบว่า การทำซีทีสแกนเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งค่อนข้างน้อย เพียงประมาณร้อยละ 0.7 เท่านั้น แต่ผู้ที่ได้รับการตรวจด้วยซีทีสแกนหลายครั้ง ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.7-12 ตามจำนวนการทำซีทีสแกนที่เคยได้รับ (ในจำนวนนี้ ร้อยละ 33 เคยได้รับการทำซีทีสแกนมากกว่า 5 ครั้ง ร้อยละ 5 เคยทำมากกว่า 22 ครั้ง และร้อยละ 1 เคยทำมากกว่า 38 ครั้ง)[16]

ดังนั้น ต่อให้คุณอยู่ในวัยผู้ใหญ่หรือวัยสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งจากการตรวจด้วยซีทีสแกนหรือเพทซีทีสแกนน้อยกว่าคนอายุน้อย หากได้รับการตรวจจำนวนมากครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ตัวคุณเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ วาเรน แมนนิ่ง (Warren Manning) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นในบทความ  “Radiation from CT, other cardiac tests can be a problem” ไว้ว่า การได้รับการทำซีทีสแกน 1-2 ครั้งตลอดช่วงชีวิตเป็นระดับที่เหมาะสมและรับได้ แต่หากมากเกินกว่านั้นจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นได้[17]

 

ถ้าต้องสแกนควรทำอย่างไร?

หัวใจสำคัญอยู่ที่การชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจและไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย เมื่อเทียบความคุ้มค่าในการรักษากับโอกาสการเกิดมะเร็งแล้ว การทำซีทีสแกนหรือเพทซีทีสแกนอาจถือว่าคุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากกว่าไม่ทำ

ดร.รีเบคกา สมิธ-ไบนด์แมน ผู้อำนวยการ Radiology Outcomes Research Lab แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย[18] ให้คำแนะนำผ่านบทความในนิตยสาร Times[19] ว่า

“คุณไม่ต้องปฏิเสธการใช้ซีทีสแกนหรือการตรวจทางการแพทย์ที่ใช้รังสี แต่สิ่งที่คุณควรทำคือแยกแยะให้แน่ชัดว่า อะไรคือการตรวจที่จำเป็นและอะไรคือการตรวจที่ไม่จำเป็น ด้วยการถามหมอให้มากขึ้น ถ้าเป็นการรักษานั้นเหมาะสมกับคุณจริงๆ คุณย่อมได้รับประโยชน์มากกว่าโทษ”

ทั้งนี้หากจำเป็นต้องได้รับการตรวจ คุณควรลดโอกาสในการได้รับรังสีให้ได้น้อยที่สุด โดยมีแนวทางที่ควรทำดังต่อไปนี้[20]

  • ถามหมอทุกครั้งเมื่อต้องรับการตรวจด้วยรังสีว่า การตรวจนี้มีความจำเป็นและมีประโยชน์ต่อการรักษาของคุณอย่างไร
  • ติดตามปริมาณการได้รับรังสีของคุณอยู่เสมอร่วมกับหมอ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการได้รับรังสีในการตรวจครั้งต่อๆ ไป
  • ปรึกษาหมอถึงทางเลือกในการตรวจแบบอื่นๆ ที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการได้รับรังสี หรือได้รับรังสีน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น การทำอัลตราซาวน์ หรือการทำ MRI เป็นต้น
  • ถ้าคุณจำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วยซีทีสแกนอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ควรปรึกษาหมอให้เว้นระยะเวลาในการตรวจแต่ละครั้งให้นานขึ้น ลดความถี่ในการตรวจลงเท่าที่เป็นไปได้ และขอคำแนะนำทางเลือกในการตรวจอื่นๆ ที่ทำให้คุณได้รับรังสีน้อยลง เช่น การทำซีทีสแกนด้วยเทคนิคหรือเครื่องรุ่นใหม่ที่ใช้ปริมาณรังสีน้อย เป็นต้น

ขณะนี้หลายโรงพยาบาล รวมทั้งองค์กรกำกับดูแล และหน่วยงานด้านสิทธิผู้บริโภค ในหลายประเทศ ต่างหันมาปรับเปลี่ยนมาตรการและเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อลดการทำซีทีสแกนที่ไม่จำเป็นลง เช่น โรงพยาบาล Vanderbilt ลดการทำซีทีสแกนในผู้ป่วยเด็กโดยไม่จำเป็นลงได้กว่าครึ่งหนึ่ง ด้วยการตรวจเอนไซน์ในตับเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นว่าตับได้รับอันตรายหรือไม่ เพื่อพิจารณาความจำเป็นในการทำซีทีสแกนในช่องท้อง[21]  นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเพื่อลดปริมาณรังสียังผล (Effective Dose) ในการตรวจให้น้อยที่สุด โดยยังให้ภาพจากการตรวจที่มีคุณภาพสูงอยู่

หยุดการตรวจจาก ‘ความกลัว’

แนวโน้มการทำซีทีสแกนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีปัจจัยเบื้องหลังสำคัญอย่างหนึ่งคือ ‘ความกลัว’ ต่อการเจ็บป่วยและความตาย  ความกลัวผลักดันให้ผู้ป่วยหรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บไข้อะไร อยากได้รับตรวจ ‘สแกนโรค’ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจมีอยู่ในร่างกายให้ได้เร็วที่สุด เพราะเชื่อมั่นว่า ‘กันไว้ ย่อมดีกว่าแก้’ และต้องการซื้อ ‘ความสบายใจ’ ให้กับตนเอง

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่ามีอาการอะไรที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย การตรวจซีทีสแกนแบบเหวี่ยงแหเพื่อหาความผิดปกติถือเป็นสิ่งไม่จำเป็นและไม่ควรทำอย่างยิ่ง

ข้อแนะนำจากบทความโดยนายแพทย์ เซเลส รอบ-นิโคสัน (Celeste Robb-Nicholson) ซึ่งเผยแพร่ทาง Harvard Health Publishing โดย Harvard Medical School คือ

“อย่าตรวจซีทีสแกน เพียงเพราะคุณต้องการตรวจเช็คร่างกายว่าไม่มีอะไรผิดปกติ การทำซีทีสแกนมีประโยชน์น้อยมากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ใดๆ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ที่คุณอาจต้องตรวจซ้ำเพิ่มเติมอีกจากผลการตรวจที่ได้ ทั้งที่อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตราย ทำให้คุณต้องรับรังสีเพิ่มมากขึ้นไปอีกโดยไม่จำเป็น”

ยิ่งมียิ่งคุ้ม?

ความคุ้มค่าของเทคโนโลยี

เทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ก้าวหน้าก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชนและประเทศ แต่เช่นเดียวกับการใช้เทคโนโลยีในระดับบุคคล หากเราลงทุนและใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม อาจเกิดความเสียหายและความไม่คุ้มค่ามากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ

ราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับในหลายประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าจริงหรือไม่?

ในปี 2010 องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั่วโลกกว่าร้อยละ 40 ถูกใช้ไปกับยาและการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ[22] เมื่องบประมาณมีจำกัด เราจึงต้องหาวิธีการจัดสรรงบประมาณให้มีสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับคนในประเทศมากที่สุด

แม้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์จะเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอาจไม่ได้อยู่ที่ความขาดแคลนเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเลือกลงทุนและตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างไรให้คุ้มค่าด้วย

 

การลงทุนที่ต้องเลือก กรณีความคุ้มค่าของเครื่องเพทซีทีสแกน

ตรงกันข้ามกับเครื่องซีทีสแกนที่โรงพยาบาลจำนวนมากมีให้บริการ เครื่องเพทซีทีสแกนในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมาก แม้ประเทศไทยจะมีการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเพทซีทีสแกนมากว่า 15 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันทั่วทั้งประเทศมีเครื่องเพทซีทีสแกนให้บริการทั้งสิ้น 10 เครื่อง โดยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ 1 เครื่อง จังหวัดขอนแก่น 1 เครื่อง และกรุงเทพมหานคร 8 เครื่อง โดย 2 ใน 8 เครื่องนั้นเป็นของเอกชน[23]

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาสำคัญก็คือการใช้ประโยชน์จากเครื่องเพทซีทีที่มีอยู่ถูกจำกัดด้วยการเข้าถึงที่ยากและค่าบริการที่มีราคาสูงมาก ค่าใช้จ่ายในการตรวจด้วยเครื่องเพทซีทีในโรงพยาบาลรัฐสูงถึงครั้งละ 40,000-50,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนสูงถึงครั้งละ 60,000-80,000 บาท[24] โดยปัจจุบันข้อบ่งชี้ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเบิกจ่ายสิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการในการใช้เครื่องเพทซีทีมีเพียงโรคมะเร็ง 2 ชนิด คือ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่เท่านั้น โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจำนวน 40,000 บาทต่อครั้ง หากผู้ป่วยโรคอื่นๆ ต้องการใช้บริการก็รับภาระค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำเพทซีทีสแกนมีราคาสูง คือต้นทุนค่าเครื่องที่สูงมาก ซึ่งนอกจากจะต้องลงทุนในการซื้อเครื่องแล้ว ยังต้องลงทุนในการผลิตสารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจและจ้างผู้ชำนาญการด้านเทคนิคดูแลอีกหลายตำแหน่ง

 

ลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่า?

ปัญหาข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ในมุมหนึ่ง การแก้ปัญหาด้วยการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และกระจายการบริการออกไปให้ทั่วถึงมากขึ้นอาจเป็นทางออก ในกรณีของเครื่องเพทซีทีสแกน ปัจจุบันสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำลังลงทุนซื้อและติดตั้งเครื่องเพทซีทีสแกนเพิ่มเติมในประเทศ และลงทุนในการผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อลดต้นทุนในการตรวจลง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ปัญหาสำคัญของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการการตรวจด้วยเพทซีทีสแกนอยู่ที่ ‘ความไม่คุ้มค่า’ ในการใช้งานในปัจจุบันด้วย ซึ่งปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดซื้อเครื่องเพิ่มเติม

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”box” background_layout=”light” text_orientation=”left” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#969696″ border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”10px|10px|10px|10px”]

รู้จักแนวคิดการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ

การพิจารณาว่าการลงทุนหรือการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นๆ คุ้มค่าหรือไม่ จำเป็นต้องมีการประเมินอย่างเป็นระบบ

การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือ Health Technology Assessment (HTA) คือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เช่น ยา หัตถการ วัคซีน เครื่องมือแพทย์ ขั้นตอนและระบบ รวมทั้งนโยบายด้านสุขภาพ ทั้งในแง่คุณสมบัติ ผลกระทบด้านการแพทย์ สังคม จริยธรรม และเศรษฐศาสตร์ เพื่อตัดสินใจว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นใช้งานได้ผลจริงหรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ มีผลกระทบต่องบประมาณแค่ไหน คุ้มค่าเงินลงทุนหรือไม่  ใช้แล้วเกิดปัญหาด้านจริยธรรมไหม และเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้เทคโนโลยีนั้นๆ

สำหรับประเทศไทย มีการนำการประเมินแบบ HTA มาใช้ในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า และนโยบายสุขภาพอื่นๆ โดยมี “โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)” เป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีด้านสุขภาพต่างๆ ของไทย

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”Text” background_layout=”light” text_orientation=”left” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid”]

จากงานศึกษาวิจัยของ HITAP[25] พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้เครื่องเพทซีที่อย่างไม่คุ้มค่า ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการจำกัดสิทธิประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายของระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิข้าราชการ ไว้เฉพาะกรณีมีข้อบ่งชี้ 2 โรค คือมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์ข้อบ่งชี้โรคอื่นๆ ที่เป็นมาตรฐานในการส่งต่อการตรวจที่ชัดเจน

การจำกัดสิทธิประโยชน์นี้ทำให้มีคนไข้เข้ารับบริการได้น้อยกว่าศักยภาพของเครื่องที่ลงทุนไป ส่งผลให้ค่าบริการต่อครั้งมีราคาสูง เป็นวงจรซ้ำเติมโอกาสในการเข้าถึงบริการนี้ งานวิจัยของ HITAP คาดการณ์ว่า หากมีการเพิ่มข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ให้ครอบคลุมการตรวจอื่นๆ มากขึ้น และเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจ 40-60 รายต่อสัปดาห์ทั่วประเทศ จะช่วยลดค่าบริการโดยเฉลี่ยต่อครั้งลงได้เกือบร้อยละ 50 เหลือประมาณ 25,000-28,000 บาท ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการนี้ได้กว้างขวางมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการใช้เพทซีทีสแกนจะเป็นประโยชน์กับการตรวจโรคทุกโรค โรคบางโรคอาจเหมาะสมกับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการอื่นมากกว่า ซึ่งบางครั้ง วิธีง่ายๆ เช่นการติดตามอาการหรือการซักประวัติ อาจมีประโยชน์และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการใช้เครื่องมือการแพทย์ที่ล้ำสมัยเสียด้วยซ้ำ การขยายสิทธิประโยชน์โดยไม่มีหลักเกณฑ์ข้อบ่งชี้ที่เป็นมาตรฐานอาจทำให้เกิดความสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อประชาชนโดยไม่จำเป็น

การทำ HTA จึงมีบทบาทสำคัญในการเสนอแนะหลักเกณฑ์และนโยบายในการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน งานวิจัยของ HITAP เสนอแนะว่า สำหรับประเทศไทย การตรวจด้วยเครื่องเพทซีทีสแกนมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค ดังต่อไปนี้

  • การกำหนดตำแหน่งจุดกำเนิดของการชักก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชัก
  • การวินิจฉัย Atypical Alzheimer disease
  • การวินิจฉัยการมีชีวิตของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ
  • การประเมินการกลับเป็นซ้ำและประเมินก่อนการผ่าตัดหลังพบการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • การวินิจฉัยก้อนในปอดรวมถึงกำหนดระยะของโรคและวางแผนเพื่อการรักษาด้วยการฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งปอด
  • การกำหนดระยะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin ก่อนการรักษาและประเมินการตอบสนองต่อการรักษา
  • การวางแผนการรักษามะเร็งหลอดอาหารด้วยรังสี

และพบกว่าโรคบางโรคเช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งรังไข่ หากใช้เครื่องเพทซีทีเข้ามาประกอบในการดูแลผู้ป่วยจะมีความคุ้มค่ามากกว่าไม่ใช้

ข้อบ่งชี้เหล่านี้ควรเพิ่มเติมในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ และทำให้เทคโนโลยีที่มีอยู่ถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ที่มา: ชนิสา โชติพานิช (รศ.ดร.), Policy Breif:  ใช้เครื่องเพทซีทีให้เต็มศักยภาพ เพื่อความคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำประกันสุขภาพ, โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ. ปีที่ 5 ฉบับที่ 43 เดือนพฤษภาคม 2560.

ที่มา: ชนิสา โชติพานิช (รศ.ดร.), Policy Breif:  ใช้เครื่องเพทซีทีให้เต็มศักยภาพ เพื่อความคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำประกันสุขภาพ, โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ. ปีที่ 5 ฉบับที่ 43 เดือนพฤษภาคม 2560.

เทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ก้าวหน้าจึงอาจไม่ใช่ ‘ยิ่งใช้ยิ่งดี’ และ ‘ยิ่งมียิ่งคุ้ม’ เสมอไป การลงทุนหรือใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสมเกินความจำเป็นอาจทำให้คุณต้องเสียทั้งสุขภาพ และทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินทองโดยเปล่าประโยชน์

คิดให้ดีก่อนเลือกใช้ ถามหมอให้แน่ใจเพื่อช่วยกันประเมิน และตั้งคำถามต่อการลงทุนในเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณเอง

 

อ้างอิง

ภาษาไทย

รายงานวิจัยการประเมินข้อบ่งชี้ทางคลินิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ของการตรวจด้วยเครื่องแพทซีที

เครื่องเพ็ต-ซีที สแกน : มีไม่พอ หรือใช้ไม่คุ้ม? จาก เว็บไซต์ HITAP

ข่าว PET-CT Scan เทคโนโลยี ตรวจมะเร็ง จาก เดลินิวส์

รายงานวิจัยการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการใช้เทคโนโลยีเพทซีทีในประเทศไทย โดย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

เบื้องลึกต้นทุนเครื่องมือแพทย์สุดแพง ‘ก้าว’ ต่อไปที่สังคมต้องรู้ จาก เว็บไซต์ HITAP

MRI, CT Scan, PET Scan แตกต่างกันอย่างไร จาก เว็บไซต์ thaibreastcance

โครงการเพิ่มการเข้าถึงบริการเพทซีที (PET/CT) จาก เว็บไซต์ ศูนย์เพทซีที คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภาษาอังกฤษ

Do CT scans cause cancer? จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

Positron Emission Tomography (PET Scan) จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

Radiation from CT, other cardiac tests can be a problem จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

A doctor talks about: Radiation risk from medical imaging จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

The Hidden Dangers of Medical Scans จาก Time

Should you worry about the radiation from CT scans? จาก เว็บไซต์ washingtonpost

How Much Do CT Scans Increase the Risk of Cancer? จาก เว็บไซต์ scientificamerican

Radiation Risk From Medical Imaging จาก National Center for Biotechnology Information (NCBI)

รังสีในชีวิตประจำวัน จาก เว็บไซต์สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

เชิงอรรถ

[1] Should you worry about the radiation from CT scans? จาก เว็บไซต์ washingtonpost

[2] Do CT scans cause cancer? จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

[3] รังสีในชีวิตประจำวัน จาก เว็บไซต์สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

[4] A doctor talks about: Radiation risk from medical imaging จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

[5] mSv หรือ millisievert คือหน่วยที่ใช้วัดปริมาณรังสีที่ถูกดูดกลืนไว้ ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ เราทุกคนต่างได้รับรังสีจากธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 2.4 mSv ต่อปี  จากชั้นบรรยากาศ ดิน หิน น้ำ อาหาร หรือแม้แต่อาคารบ้านเรือน ซึ่งมีปริมาณที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เช่นหากอยู่ในที่สูงก็มีโอกาสได้รับรังสีจากชั้นบรรยากาศมากขึ้น ดูที่นี่

[6] Radiation Risk From Medical Imaging จาก เว็บไซต์ National Center for Biotechnology Information (NCBI)

[7] Should you worry about the radiation from CT scans? จาก เว็บไซต์ washingtonpost

[8] What are the Radiation Risks from CT? จาก เว็บไซต์ Food and Drug Administration

[9] Understanding Radiation Risk from Imaging Tests จาก เว็บไซต์ American Cancer Society

[10] Computed Tomography (CT) Scans and Cancer จาก เว็บไซต์ National Cancer Institute

[11] Should you worry about the radiation from CT scans? จาก เว็บไซต์ washingtonpost

[12] Radiation Risk From Medical Imaging จาก เว็บไซต์ National Center for Biotechnology Information (NCBI)

[13] Radiation exposure from CT scans in childhood and subsequent risk of leukaemia and brain tumours: a retrospective cohort study จาก เว็บไซต์ National Center for Biotechnology Information (NCBI)

[14] Cancer risk in 680,000 people exposed to computed tomography scans in childhood or adolescence: data linkage study of 11 million Australians. จาก เว็บไซต์ National Center for Biotechnology Information (NCBI)

[15] A doctor talks about: Radiation risk from medical imaging จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

[16] A doctor talks about: Radiation risk from medical imaging จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

[17] Radiation from CT, other cardiac tests can be a problem จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

[18] Should you worry about the radiation from CT scans? จาก เว็บไซต์ washingtonpost

[19] The Hidden Dangers of Medical Scans จาก Time

[20] A doctor talks about: Radiation risk from medical imaging จาก เว็บไซต์ harvard health publishing

[21] Should you worry about the radiation from CT scans? จาก เว็บไซต์ washingtonpost

[22] รายงานวิจัยการประเมินข้อบ่งชี้ทางคลินิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ของการตรวจด้วยเครื่องแพทซีที

[23] ชนิสา โชติพานิช (รศ.ดร.), Policy Breif: ใช้เครื่องเพทซีทีให้เต็มศักยภาพ เพื่อความคุ้มค่า ลดความเหลือล้ำประกันสุขภาพ, โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ. ปีที่ 5 ฉบับที่ 43 เดือนพฤษภาคม 2560.

[24] ข้อมูลจาก ปี 2560

[25] ชนิสา โชติพานิช (รศ.พญ), และคณะ (2559) ,รายงานวิจัยการประเมินข้อบ่งชี้ทางคลีนิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที, โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save