fbpx
Crossroads Melayu กับกวีหนุ่ม ‘ซะการีย์ยา อมตยา’

Crossroads Melayu กับกวีหนุ่ม ‘ซะการีย์ยา อมตยา’

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

“ศัตรูยิ่งใหญ่ที่สุดของนักเขียนคือหน้ากระดาษเปล่า”

หนุ่มจากเทือกเขาบูโด อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เคยบอกไว้เมื่อช่วงที่ก้าวเข้ามาในบรรณพิภพแถวๆ ปี 2010

เป็นปีที่ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของเขาได้รางวัลซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์

เป็นไปได้ว่าเขาผ่านสงครามกับหน้ากระดาษมาก่อนหน้านั้น เมื่อคั้นให้อยู่มือ บทกวีของเขาจึงเข้าไปฝังอยู่ในใจผู้อ่าน

ซะการีย์ยา อมตยา ออกจากบ้านตั้งแต่ราวๆ 25 ปีก่อน เพื่อไปเรียนหนังสือ ไปไกลถึงอินเดีย และได้ภาษาอาหรับติดตัวกลับมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาชื่นชอบหลงใหลการอ่านและแปลบทกวีของกวีแถบตะวันออกกลางเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายวรรณกรรม นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เมื่อหลายปีก่อน

นานวันเข้า พอภาวะกวีคุกรุ่นมากๆ อยากระบาย เขาก็เปิดเว็บไซต์ thaipoetsociety เป็นพื้นที่ของคนหนุ่มสาวให้เข้ามาระเบิดฟอร์มขีดเขียน-แลกเปลี่ยนทางความคิดเกี่ยวกับบทกวี แต่มันก็มีอายุเพียง 2-3 ปีต่อมาเท่านั้น เมื่อเฟซบุ๊กเปิดตัวและได้รับความนิยมมากกว่า

หากภายในเราลึกราวมหาสมุทร รวมบทกวีเล่มที่สอง ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2013 เขากลั่นออกมาส่วนหนึ่งขณะอยู่ที่ฮาวายร่วมเดือน หลังจากโครงการ Artist in Residence ของมูลนิธิ Doris Duke Foundation For Islamic Art เชิญเขาไปทำงานที่นั่น

แต่นั่นเป็นเพียงการเดินทางพาร์ทหนึ่งของซะการีย์ยาที่โลดแล่นในฐานะกวีหนุ่ม หน้ากระดาษเปล่ายังคงเป็นศัตรูชั่วนิรันดร์ ทว่าความเป็นมลายู ในความหมายตั้งแต่บ้านที่เกิด-เลือดเนื้อเชื้อไข เรียกร้องให้เขาตัดสินใจกลับบ้านที่บาเจาะ และปลุกปั้นวารสาร The Melayu Review ออกมาเมื่อปี 2017

เขาอาจวางพักภาวะกวีหนุ่มนักเดินทางไว้ในกล้องยาสูบที่ติดตัวเป็นประจำ และสวมหมวกใบใหม่ในฐานะบรรณาธิการ ซึ่งทำให้เขาคล้ายกับยืนอยู่กลางสี่แยกของโลกภาษา-ศิลปวัฒนธรรม

การเดินทางพาร์ทใหม่ของซะการีย์ยากำลังเริ่มต้น…

 

The Melayu Review ริเริ่มมาจากไหน

ตอนกลับไปอยู่ที่บ้าน ได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ เห็นการทำงานในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่มีการทำงานหลากหลายแบบ โดยเฉพาะกลุ่มภาคประชาสังคม เราก็เลยชวนกันทำโครงการเกี่ยวกับหนังสือ มี workshop กับนักศึกษามหาวิทยาลัยให้พวกเขาได้ฝึกเขียนกัน

พอผ่าน workshopไปก็คิดว่าควรมีโครงการต่อเนื่อง เลยคิดว่าถ้ามีวารสารก็จะทำให้คนสามารถเผยแพร่งานเขียนของตัวเองได้ The Melayu Review ก็เกิดจากไอเดียนี้ เราอยากให้คนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นผ่านการเขียน แม้ว่าโลกของการเขียนในปัจจุบันจะมีโซเชียลมีเดียอยู่ แต่การทำหนังสือมันเป็นการ back to the old school คนที่เขียนหนังสือก็จะรู้สึกดีที่งานเขียนได้ถูกตีพิมพ์ ฟีลลิ่งมันคนละอย่างกับที่ลงออนไลน์

ส่วนชื่อวารสารนี้ก็พยายามจะสะท้อนความเป็นพื้นที่มลายูที่เราเรียกกันว่า “ปตานี” (ออกเสียงแบบมลายู) และเราคิดว่าหนังสือเล่มนี้ก็พยายามตอบโจทย์มลายูที่ไม่ใช่ในความหมายแคบๆ เพราะมลายูก็ไม่ใช่แค่พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ แต่มันกว้างกว่านั้น กว้างกว่าไทยอีก พื้นที่มลายูใหญ่มาก

 

รู้สึกอย่างไรที่ได้กลับบ้าน และเปลี่ยนบทบาทจากกวีมาเป็นบรรณาธิการ

เราคิดว่าตัวเองยังมีประโยชน์อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น สิ่งที่เราสั่งสมมาควรจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ต่อในพื้นที่ สิ่งที่เราถนัดที่สุดคือการเขียน แม้ไม่เคยเป็นบรรณาธิการมาก่อน ซึ่งก็เหมือนการเริ่มต้นใหม่ การทำหนังสือเพื่อรวบรวมความคิดของผู้คนให้เกิดเป็นกระบวนการเขียนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราไม่รู้ว่าในพื้นที่ใครเขียนได้หรือไม่ได้

ตอนเปิดตัวเล่มแรกนั้นเป็นการระดมคนให้มาเขียนกัน ส่วนหนึ่งมาจากค่าย workshop ที่เป็นนักศึกษา อีกส่วนหนึ่งมาจากการชักชวนคนที่รู้จักที่เรารู้ว่าเขียนได้ พอเล่มที่สองกระบวนการเปลี่ยนคือใช้วิธีเปิดให้คนส่งเรื่องเข้ามาแล้วก็ใช้กองบรรณาธิการคัดสรร

 

ทำไมรู้สึกว่ากระบวนการเขียนในพื้นที่ถึงสำคัญ

สมัยเด็กๆ เราไม่ค่อยเห็นงานเขียนร่วมสมัยในภาษามลายู เข้าใจว่าเพราะมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาด้วย มันลักลั่นระหว่างจะเขียนภาษามลายูหรือว่าจะเขียนภาษาไทย และสุดท้ายก็ต้องเลือกภาษาไทย เหมือนอย่าง The Melayu Review เล่มแรกเป็นภาษาไทยอย่างเดียว ก็มีคนมาคอมเมนต์ว่าทำไมไม่มีภาษามลายู พอเล่มที่สองเราเลยประกาศว่ารับงานเขียนทั้งภาษามลายู ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ปรากฎว่าไม่มีคนเขียนภาษามลายูส่งมาเลย ส่วนภาษาอังกฤษมีส่งมาบ้าง

 

มันกำลังสะท้อนอะไร

มันสะท้อนถึงความ weak ของภาษาที่นั่น คนสามจังหวัดภาคใต้รุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยได้ดีกว่าภาษามลายู โดยเฉพาะการเขียน

 

ส่วนตัวคุณอยากให้คนเขียนภาษาอะไร

ภาษาไทยมันเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ทำให้คนได้เห็น message ในใจของคนเขียน ถ้าต้องการสื่อสารให้คนวงกว้างในสังคมไทยอ่าน ผมคิดว่าก็จำเป็นต้องใช้ภาษาไทย

ตอนเปิดตัวเล่มแรก มีหลายคนมาคุยด้วยว่าอยากทำวารสารแบบนี้ในภาษามลายู เราก็แนะนำไปว่ายินดีช่วยเต็มที่ แต่มันจะยากกว่าการทำในภาษาไทยหลายเท่า เพราะคนปตานีเอง ส่วนใหญ่ก็ได้รับการศึกษาภาคภาษาไทยจนถึงมัธยม 6 มีความรู้ในภาษาไทยที่ใช้ได้ดีพอสมควร แล้วถ้าใครมีความสนใจการอ่านอยู่แล้วก็จะมีความรอบรู้สามารถเขียนได้

ในขณะที่การเรียนภาษามลายูในสามจังหวัดภาคใต้ค่อนข้างจะอ่อนแอปวกเปียกมากๆ มันเป็นเพียงแค่การเรียนภาษา และดูเหมือนจะกลายเป็นแค่ภาษาต่างประเทศด้วยซ้ำไป ผมเองก็เรียนภาษาไทยเป็นหลัก ภาษามลายูส่วนใหญ่จะมีสอนตามโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนสอนศาสนา แต่ไม่ได้มีใครที่มีความกระตือรือร้นจะให้มันเป็นภาษาstandardได้

นี่ยังไม่รวมวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ วิชาสังคมและอื่นๆ ที่ใช้ภาษาไทยเรียนกันนะ เอาเฉพาะการเรียนภาษามลายูก็มีให้เรียนน้อยกว่าภาษาไทยแล้วตำราต่างๆ ก็มีน้อยกว่า ที่สำคัญคือมันไม่มีหนังสือหรือว่าสื่อที่เป็นภาษามลายูร่วมสมัยสำหรับการอ่าน หนังสือนอกเวลาเรียน รวมถึงวิทยุโทรทัศน์ที่ผมดูมาตั้งแต่เด็กก็เป็นภาษาไทย

ภาษามันถูก dominate เราได้ยินการใช้ภาษาไทยทุกวัน ปัจจุบันในหมู่บ้านก็จะได้ยินเด็กๆ พูดภาษาไทยกัน ถ้าสมัยผมเด็กๆ เรายังไม่ค่อยพูดภาษาไทยกัน

 

นอกจากการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ยังเหลือส่วนไหนที่ใช้ภาษามลายูในการอ่านการเขียนบ้างไหม

แทบจะไม่มี นอกจากว่าคนที่สนใจจริงๆ ก็จะไปซื้อหนังสือจากมาเลเซียมาอ่านบ้าง นอกจากนั้นก็เป็นคนที่เรียนมาสายปอเนาะ (สอนศาสนา) ซึ่งก็ไม่ใช่หนังสือร่วมสมัยอีก แต่เป็นตำราทางศาสนา แต่การที่เราจะเขียนวรรณกรรมหรือเขียนสารคดีมันต้องเป็นการเขียนงานแบบร่วมสมัย เพราะฉะนั้นในสภาวะปัจจุบันการใช้ภาษาไทยมันตอบโจทย์กว่า

 

ภาพจากเพจ FB : The Melayu Review

 

เพราะว่าตั้งแต่เกิดมาก็ถูก dominate ด้วยภาษาไทยอยู่แล้ว ?

ใช่ ถึงแม้ว่าจะใช้ภาษาไทยก็ตาม ก็ยังเห็นว่ามีผู้คนที่สามารถเขียนเรื่องของตัวเองได้อยู่ ทั้งเรื่องสั้นหรือบทกวี เขาก็เล่าถึงความเป็นมลายูออกมาได้

ถ้าไม่ทำ The Melayu Review เราจะมองไม่เห็นคนเขียนและมองไม่เห็นคนอ่าน พอเราประกาศเชิญชวนขึ้นมา มันมีคนที่สนใจด้านนี้อยู่ เพียงแต่ว่าเขาไม่เคยมีพื้นที่ ยังไม่ต้องพูดถึงพื้นที่ในระดับประเทศ

อย่างการทำเล่มนี้ แม้จะใช้ภาษาไทย แต่เราไม่เคยคิดว่าจะทำไปเพื่อซัพพอร์ทส่วนกลางของประเทศนี้ ยังไงมันก็ยังเป็นหนังสือชายขอบ เพียงแต่ว่าพิมพ์ที่กรุงเทพฯ เท่านั้นเอง (หัวเราะ)

เราพยายามที่จะใช้ทรัพยากรบุคคลจากสามจังหวัดภาคใต้ทั้งหมด แม้บางคนเพิ่งเริ่มต้นใหม่ แต่เราพยายามสร้างคนขึ้นมาด้วย ตั้งแต่คนปรู๊ฟหนังสือ คนจัดหน้า ออกแบบปก จริงๆ จะจ้างคนจากส่วนกลางก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพกว่า แต่เราเห็นว่าผู้คนรายรอบตัวเราในพื้นที่เขาสามารถมีวัฒนธรรมการทำหนังสือได้เหมือนกัน

 

พูดได้ไหมว่าภาษาไทยก็ถือเป็นสะพานเชื่อมไป

ใช่ ให้มันเป็นแค่สะพาน หรือต่อไปถ้าสังคมมันเปิดกว่านี้แล้วจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษไปเลยก็ได้ มันจะได้ global กว่าแค่ภาษาไทย คนจะได้รู้เรื่องเกี่ยวกับคนมลายูว่าคิดอะไรกันยังไง

 

เวลาเลือกต้นฉบับกัน เลือกยังไง แบบไหนถึงคิดว่าใช่ ตีพิมพ์ได้

ปริ้นท์ออกมาอ่าน แล้วก็มีกองบรรณาธิการที่เราจะนัดกันคุย 3-4 วัน เราเช่ารีสอร์ทเพื่ออ่านต้นฉบับกัน จริงๆ อ่านกันมาก่อนรอบนึง แล้วก็มาอ่านด้วยกันอีกรอบ ถ้าชอบไม่ชอบยังไงก็ให้คะแนนและวิจารณ์กันไป ใครมีเหตุผลว่าทำไมไม่ดี หรือดีก็ค่อยมารวมคะแนน เราถกเถียงกันโดยยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก แต่โดยรวมแล้วจะมีมติเอกฉันท์

ที่ต้องเช่ารีสอร์ทเพราะต่างคนต่างอยู่กันคนละพื้นที่ เราไม่ได้มีออฟฟิศเหมือนในกรุงเทพฯ เลยจำเป็นต้องไปเปิดรีสอร์ท ทำงานกันทั้งวันทั้งคืน อย่างผมเองอาจจะชอบวรรณกรรมมากกว่างานวิชาการ ซึ่งจะมีคนที่ถนัดมาช่วยอ่านด้วย แต่เราก็ต้องอ่านงานวิชาการไปด้วยเพื่อเสริมมุมมองให้รอบด้าน

 

เพราะอะไรถึงใช้คำรองชื่อวารสารว่า critical thought and peace of mine

จริงๆ critical of thought ในภาษาไทยก็ใช้คำว่ามลายูปริทัศน์ ปริทัศน์มันแปลว่า critical อยู่แล้ว ก็เลยเป็น critical thought and peace of mindและปริทัศน์มันก็แปลเป็นการรีวิวก็ได้ หรือว่า critical ก็ได้ Peace of mind ก็คือความสงบในใจ ถ้าอธิบายรวมๆ ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความสงบและพึงพอใจ การวิพากษ์วิจารณ์คือส่วนหนึ่งของความร่วมสมัย เราอยากให้คนมลายูในพื้นที่สร้างวัฒนธรรม critical ให้มากขึ้น

ตอนนี้เรากำลังวางแผนจะเดินสายในประเทศ จะเปิดตัวที่ปัตตานีเร็วๆ นี้ แล้วก็จะไปอีสานด้วย เช่น มหาสารคาม หรือขึ้นเชียงใหม่ด้วย เป็นการขยายแนวร่วม เราออกไปเพื่อให้เขารู้ว่ามันมีวารสารเล่มนี้อยู่ ที่น่าสนใจคือการแจมกัน จะแจมยังไงเพื่อให้มีคอนเทนต์ใหม่ๆ

 

จะหาจุดร่วมกันยังไง ถ้าเดินสายออกนอกสามจังหวัดภาคใต้ไป

จริงๆ คนมันไม่ได้มีพรมแดน การตั้งชื่อวารสารนั้นเราก็เห็นหลายๆ ที่ เช่น Asia Literary Review, Bangkok Literary Review, Hayden’s Ferry Review แต่เนื้อหาก็กว้าง การใช้ชื่อบางทีอาจจะดูว่าแคบ แต่คำว่า The Melayu Review จริงๆ มันกว้างกว่าเมืองไทยอีกนะ แล้วถือว่าท้าทายพวกเราด้วยซ้ำไปว่าคนที่มหาสารคาม คนที่เชียงใหม่ คนที่กรุงเทพฯ เขาจะแจมกับหนังสือเล่มนี้ได้ยังไง เราอยากรู้ว่าเขาจะตีความยังไง ตรงนี้แหละท้าทาย

ก็เหมือนที่ผมชื่อซะการีย์ยาเนี่ย คนเข้าใจว่าเป็นกวีที่ใช้ภาษาไทย คนเชียงใหม่อ่านรู้เรื่องไหม รู้เรื่อง แล้วดูชื่อซะการีย์ยา ใช่ชื่อไทยไหม ไม่ใช่ชื่อไทยแน่นอน (หัวเราะ) The Melayu Review ก็เหมือนกัน

ผมมีหลวงน้อง (พระ) ที่เป็นแฟนคลับหนังสือผม เวลาเจอกันที่เชียงใหม่หลวงน้องก็ขอถ่ายรูปด้วย เขาอ่านบทกวีแล้วเขาชอบ ผมเป็นกวี เป็นมุสลิม เขาเป็นพระ เป็นพุทธ แต่มันไม่มีพรมแดน critical thought ของเราไม่มีพรมแดนอยู่แล้ว

แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาเราเกิดที่ไหน เราจะติดแบรนด์ของที่นั่น เราเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ เราเป็นมลายู ชาติพันธุ์ของเรา เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ มันเป็นเรื่องของ DNA แต่ว่าภาษาและความคิดมันเคลื่อนที่ได้ คนมันไม่ได้อยู่กับที่เหมือนต้นไม้ คนเดินทางตลอดเวลา

 

ตั้งแต่ทำ The Melayu Review มา คนในพื้นที่เขียนวรรณกรรมกันมากน้อยแค่ไหน

มีบ้าง แต่ถือว่าน้อย มีรุ่นน้องๆ รุ่นพี่ๆ ที่เขียนบทกวีและเรื่องสั้นเป็นภาษามลายูใช้ฟอนต์romanส่งไปตีพิมพ์ในมาเลเซีย บางคนพิมพ์เองก็มี แต่รวมๆ เห็นไม่ถึง10คน ยังเป็น movement เล็กๆ มีบางคนอาจจะเขียนถึงความเป็นชาตินิยมมลายูปตานี เป็นภาวะที่ถูกกดทับ เขาก็แสดงผ่านบทกวีออกมาเพื่อที่จะสำนึกในเรื่องของชาติพันธุ์ตัวเอง

 

ที่ว่าคนเขียนวรรณกรรมมีน้อยนี่สะท้อนอะไร

สะท้อนว่าคนที่จริงจังในการเขียนหนังสือยังมีน้อย

ที่มีเป็นเล่มออกมาตอนนี้ก็มีของ ‘มูบารัด สาและ’ อยู่นราธิวาส ‘อานนท์ นานมาแล้ว’ อยู่ยะลา ‘อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด’ อยู่ปัตตานี นอกจากนั้นยังมีงานเขียนด้วยภาษามลายูตีพิมพ์ในมาเลเซีย เช่น ‘Abdul Razak Panaemalae’ จากนราธิวาส มีรวมเรื่องสั้นและบทกวีหนึ่งเล่ม ‘Mahroso Doloh’ จากปัตตานี มีรวมบทกวีหนึ่งเล่ม ‘Isma Ae Mohamad’ และ ‘Zulfikri Ibrahim’ จากปัตตานี เขียนนิยายร่วมกันหนึ่งเล่ม พอมีเป็นเล่ม ผ่านการคัดสรรมันก็แสดงถึงความเอาจริงเอาจัง

จริงๆ กระบวนการทางวรรณกรรมที่เป็นทางวารสารน่ะ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 40 ปีก่อน ยุคเดียวกับคนรุ่น 14 ตุลาฯ ซึ่งใช้ภาษามลายู อักษรยาวี ชื่อวารสาร ‘อาซาน’ เป็นกลุ่มของ ‘อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา’ เขามีความพยายามที่จะเป็นวารสารมลายูร่วมสมัย มีบทกวี มีเรื่องสั้น มีงานแปลเป็นภาษามลายู แต่มันก็หยุดชะงักไป

 

 

เพราะอะไร

เข้าใจว่าแต่ละคนไปเรียนต่างประเทศกัน พอกลับมาก็มีสิ่งใหม่ที่ต้องทำ มีภารกิจใหม่ จริงๆ ในยุคนั้นน่ะ น่าจะเสี่ยงกว่าสมัยนี้ เพราะการเฝ้าระวังจับตาของรัฐ และพอมันหยุดชะงักไปการจะรื้อฟื้นใหม่นั้นยาก ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ แต่ต้องพยายามหนักมาก ตอนนั้นบรรยากาศของการใช้ภาษามันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ภาษาไทยยังไม่ dominate คนมลายูได้เท่ากับทุกวันนี้

 

ที่ผ่านมาหลังจากออกมาแล้วสองเล่ม คุณมองเห็นอะไรในพื้นที่เปลี่ยนไปบ้าง

รู้สึกว่ามีสิ่งที่ต้องทำอีกเยอะ เวลาพูดเรื่องสามจังหวัดภาคใต้มันไม่ใช่แค่เรื่องสันติภาพหรือการเจรจาสันติภาพไง เรื่องนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่มันยังมีหลายๆ เรื่องที่ต้องทำ อย่างผมทำหนังสือนี้ขึ้นมา มันก็เป็นการรวบรวมผู้คนจำนวนหนึ่ง เป็นการสร้าง culture บางอย่างให้เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่มันยังมีสิ่งอื่นๆ ที่รอให้คนที่มีความถนัดเฉพาะทางได้ทำ มันต้องเฉพาะทางเพื่อที่จะลงลึกเข้าไป เป็นการทำในสิ่งที่เราถนัด แล้วมันก็จะดึงดูดคนอื่นๆ ที่สนใจด้านเดียวกัน

The Melayu Review เองมันก็เป็นภารกิจ serving สังคมอย่างหนึ่ง เราเห็นว่าในความเป็นมลายูมันมีของดี ทำไมเราไม่ทำ เราก็ทำมันขึ้นมา และการพูดถึงมลายูร่วมสมัยก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เรื่องในสามจังหวัดด้วย จริงๆ มันเปิดกว้างเพื่อให้คนนอกได้ joinและสามารถตีความสามจังหวัด ตีความเป็นมลายูได้

 

แล้วมลายูร่วมสมัยคืออะไร

มลายูร่วมสมัยก็คือการที่คนมลายูอยู่กับโลกปัจจุบันได้ ไม่ใช่แค่อยู่กับไทย คุณอยู่กับโลกได้ รู้ได้ว่ากระแสโลกเขาคิดอะไรกัน และโลกกำลังไปทางไหน แล้วคุณวางตัวเองแบบไหนในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

 

มีความท้าทายอะไรในการจะอยู่ร่วมกับกระแสโลกไหม

แน่นอนมันมีอยู่แล้ว แต่ว่าถึงที่สุดโลกมันก็จะเปลี่ยนให้เอง ต่อให้เราอยากขัดขืนแค่ไหนมันก็ไม่สามารถต้านทาน เพราะว่ากระแสของโลกมันแรงเกินกว่าที่พื้นที่เล็กๆ จะกอดตัวเองไว้ได้

เราเห็นคนหลายคนกำลังต่อตัวเองให้ติดกับกระแสโลกอยู่ มันเป็นภาวะที่กำลังเชื่อมอยู่ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้ได้กระตุ้นพวกเราในพื้นที่มาก คนร่วมสมัยเริ่มรู้สึกว่าถ้าเราอยากจะอยู่ได้ในโลกร่วมสมัยได้ มันต้อง join กับวัฒนธรรมต่างๆ ต้องเข้าร่วมไป จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ แต่มันไม่สามารถยึดส่วนของตัวเองไว้คนเดียวได้ ตอนนี้เราอาจกำลังเรียนรู้ว่าเราจะ join กับคนอื่นได้ยังไง เช่น การเลือกตั้งที่ผ่านมา เราเห็นกระแสบางอย่างเหมือนกันว่าคนมลายูในพื้นที่เลือกประชาธิปไตยมากกว่า

 

คนมลายูโดยเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้จะอยู่กับความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งนิรันดร์ ไม่มีสิ่งใดคงทนสถาพร ทุกความคิดทางปรัชญาและคำสอนทางศาสนาต่างตกผลึกในเรื่องนี้หมดแล้ว ใครไม่เปลี่ยนก็จะตกขบวนของความเปลี่ยนแปลงและความร่วมสมัยของโลก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save