fbpx
นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ (1) : นโยบายสาธารณะกับวิกฤตสุขภาพอันแปรปรวน

นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ (1) : นโยบายสาธารณะกับวิกฤตสุขภาพอันแปรปรวน

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังคลี่คลายลง รัฐบาลเริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการสั่งห้ามต่างๆ สัญญาณของโลกหลังโควิดเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ดูพร่าเลือนและไม่ชัดเจนนับแต่วิกฤตสุขภาพปรากฏขึ้น

คำถามสำคัญในแวดวงการศึกษานโยบายสาธารณะคือ “เราจะพอจินตนาการนโยบายสาธารณะในช่วงวิกฤตและหลังจากนั้นได้อย่างไร” บทความชิ้นนี้พยายามชวนคิดถึงคำถามดังกล่าวผ่านมุมมองนโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ (critical policy studies)

ทำไมเราต้องสนใจมุมมองเชิงวิพากษ์ในนโยบายสาธารณะ

การมีมุมมองใหม่ๆ ก็เหมือนกับการที่เราเปลี่ยนแว่น แน่นอนว่าเลนส์ที่ไม่เหมือนเดิมนี้ทำให้เรามองสิ่งรอบตัวแตกต่างออกไป เราใช้เลนส์ใหม่ก็เพื่อช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น สิ่งที่อาจเคยพร่าเลือนและไม่ชัดเจน เราก็จะเห็นมากขึ้น นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์พยายามนำเสนอมุมมองแบบใหม่นี้

นโยบายสาธารณะไม่ควรเป็นเพียงเรื่องราวของภาครัฐเท่านั้น นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน องค์ความรู้หรือข้อเสนอแนะทางนโยบายจึงไม่ควรถูกผูกขาดและสร้างประโยชน์ให้กับผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น แต่นโยบายสาธารณะควรเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน เป็นสิ่งที่พวกเราควรร่วมถกแถลงและตัดสินใจ นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์เชื่อในจุดนี้

น่าเสียดายว่าความรู้เชิงนโยบายส่วนใหญ่มักเป็นในเชิงของเทคนิควิธีการ บ่อยครั้งนโยบายสาธารณะสำหรับรัฐเป็นเรื่องของการคำนวณตัวเลือกที่จะให้ประโยชน์สูงสุด โดยมักจะเชื่อกันว่าหากนโยบายนั้นคำนวณออกมาดี การเอานโยบายไปปฏิบัติก็จะดีโดยอัตโนมัติ

ปัญหาคือ ในโลกความเป็นจริง นโยบายสาธารณะนั้นมีพลวัตรและความซับซ้อน ท่ามกลางวิกฤตสุขภาพที่เรากำลังเผชิญ เรามั่นใจได้อย่างไรว่าสามารถคำนวณและคาดการณ์สถานการณ์ของปัญหาได้อย่างแม่นยำ เราเชื่อได้อย่างไรว่าจะมีตัวเลือกที่ ‘ดีที่สุด’ รอให้เราไปค้นเจออยู่เสมอ คำตอบคือ ‘ไม่ได้’ นโยบายสาธารณะนั้นฝังอยู่ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและวิธีคิดของผู้กำหนดนโยบายที่เรามองไม่เห็น การตีความนโยบายและการปรึกษาหารือจะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้นนอกเหนือไปจากการคำนวณ นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ยังชวนให้เราเห็นข้อจำกัดของวิธีการเดิมๆ ด้วย

ท่ามกลางวิกฤตสุขภาพ ความรู้ทางการแพทย์แบบมุ่งเน้นรักษาและวิธีคิดทางการปกครองดั้งเดิมที่พึ่งพาวัฒนธรรมระบบราชการและการสั่งการนั้น ไม่ ‘เพียงพอ’ ต่อการรับมือวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่โดยไม่กีดกันหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีงานศึกษานโยบายการจัดการโควิด-19 ของจีนและตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินใจของรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพในระยะแรกของการแพร่ระบาดเป็นสาเหตุให้โควิด-19 ระบาดลุกลามในวงกว้างอย่างควบคุมไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าผู้เชี่ยวชาญคิดและตัดสินใจแบบอนุรักษนิยมบนฐานของความเคยชินกับความรู้เชิงเทคนิคเดิมๆ ที่พวกตนมี งานชิ้นนี้สรุปว่าการตัดสินใจบนวิธีคิดแบบทางเลือกที่สมเหตุสมผล (rational choice) ที่ผู้เชี่ยวชาญมักนิยมใช้ มีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เราตัดสินใจแบบอนุรักษนิยมอย่างที่พวกผู้เชี่ยวชาญทำ

การตัดสินใจทางนโยบายในการรับมือวิกฤตสุขภาพครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่าความรู้แบบเทคนิคเดิมๆ เพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งขับเคลื่อนที่เหมาะสมต่อการตัดสินใจและการกำหนดนโยบาย แต่ยังมีมิติเชิงอารมณ์ เรื่องเล่า การให้ความหมาย และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ก็สำคัญไม่แพ้กัน มิติเหล่านี้มองเห็นได้ไม่ชัดเจนหากเราใช้เลนส์แบบเดิมๆ มอง (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมองเห็นไม่ได้) มิติเหล่านี้สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับวิธีคิดของผู้เชี่ยวชาญและการกำหนดนโยบาย นี่คือสิ่งที่นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ชวนให้เรามองเห็น

นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ชวนให้เรามองข้ามการพึ่งพาความรู้เชิงเทคนิควิธีการแบบเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไม่ระวังและตั้งคำถามกับนักวิเคราะห์และผู้กำหนดนโยบายที่วางตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์สนับสนุนมุมมองใหม่ๆ ที่ช่วยเปิดเผยการประกอบสร้างความหมายในนโยบาย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การเมืองของปัญหาทางนโยบาย ตลอดจนกลไกหรือโครงสร้างที่กำกับการจัดการทางนโยบาย ซึ่งบ่อยครั้งสิ่งเหล่านี้ดำเนินไปภายใต้ความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการและไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนเชิงประจักษ์

ด้วยความที่เป็นมุมมองเชิงวิพากษ์ การวิจารณ์และตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมอำนาจแบบราชการและเทคนิควิทยาแบบวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใส่ใจมิติทางสังคมในการกำหนดและวิเคราะห์นโยบายของรัฐอย่างตรงไปตรงมาคือจุดร่วมของมุมมองที่หลากหลายในขนบความคิดนโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ เพราะการวิพากษ์สถานะอำนาจนำของรัฐและผู้เชี่ยวชาญจะเปิดเผยให้เห็นถึงแง่มุมปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายที่ถูกปกปิดหรือหลบซ่อนไว้

ท้ายที่สุด นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์สนับสนุนความรู้ที่ขับเคลื่อนโลกได้ การเชื่อมโยงโลกทางทฤษฎีและโลกทางปฏิบัติคือหัวใจ มุมมองเชิงวิพากษ์ต้องช่วยให้เราพัฒนาแนวทางวิธีมองปัญหาเชิงนโยบายและข้อเสนอที่ตระหนักถึงมิติที่รอบด้านยิ่งขึ้นบนฐานคิดความเข้าใจเรื่องความซับซ้อนและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์พยายามช่วยให้เราไม่ลืมว่าเวลาเรามองไป ‘ข้างหลัง’ (เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา) เราไม่ควรลืมมองไป ‘ข้างหน้า’ เพื่อหาทางออกหรือพัฒนาแนวทางการรับมือกับปัญหาด้วย

วิกฤตสุขภาพ: ปัญหาเชิงนโยบายที่ไม่เพียงซับซ้อน แต่ยังแปรปรวนสับสนอลหม่าน

กล่าวได้ว่า ปัญหาคือจุดเริ่มต้นของนโยบายสาธารณะ การมองปัญหาอย่างเข้าใจจะช่วยให้เราตระหนักถึงความซับซ้อนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ

นักนโยบายศึกษามักเรียกปัญหาที่มีความซับซ้อนว่า ‘wicked problem’ ปัญหาแบบนี้นิยามให้แน่ชัดได้ยากหรือกระทั่งไม่สามารถหารากเง้าของปัญหาได้อย่างชัดเจน ปัญหาที่ซับซ้อนจะฝังตัวและสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้มันมีคุณสมบัติต้านทานการเปลี่ยนแปลงและมักส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึง หนำซ้ำบางครั้งยังนำไปสู่ความล้มเหลวเชิงนโยบายอีกด้วย

การแก้ปัญหาซับซ้อนนี้ไม่สามารถทำได้โดยใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือเชื่อมประสานการทำงานเป็นเครือข่าย

แน่นอนนอนว่าปัญหาทางสุขภาพและสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตสุขภาพครั้งนี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อน แต่การจะเข้าใจปัญหาให้ดียิ่งขึ้น เราอาจต้องมองด้วยว่า ‘ซับซ้อนอย่างไร’

การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้มีลักษณะเป็นแค่ wicked problem เท่านั้น จริงอยู่ที่วิกฤตสุขภาพนี้ได้ท้าทายโครงสร้างและศักยภาพการจัดการทางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของหน่วยงานต่างๆ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังผลักให้โครงสร้างและศักยภาพเหล่านี้จนมุม ถึงขีดจำกัด และเปิดเผยให้เห็นความเปราะบางของการทำงานในโครงข่ายของสถาบันเหล่านี้อีกด้วย

ดังนั้น นอกจากจะซับซ้อนแล้ว วิกฤตสุขภาพนี้ยังเป็นปัญหาทางนโยบายที่มีลักษณะแปรปรวนสร้างความสับสนอลหม่าน (turbulence) อีกด้วย

ในวงการนโยบายศึกษา ‘turbulence’ ถือเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจัง นักนโยบายศึกษาเคยอธิบายไว้ว่า turbulence เป็นปัญหาที่มาจากปฏิสัมพันธ์เชิงซ้อนของเหตุการณ์ต่างๆ ที่แปรปรวนสูง มีความไม่ลงรอยกัน และคาดการณ์ไม่ได้ ปัญหาแบบ turbulence นี้ไม่เหมือนกับวิกฤต (crisis) เสียทีเดียว เพราะวิกฤตนั้นมีลักษณะเป็นภัยคุกคามแบบปุบปับฉับพลันบนความเร่งรีบและคาดการณ์ได้ยาก แต่ปัญหาแบบ turbulence จะมีความแปรปรวนสร้างความสับสนอลหม่านด้วย เป็นภาวะเรื้อรัง (persistent) มากกว่า ที่สำคัญ ปัญหาแบบนี้ในบางครั้งก็กลายเป็น ‘ความปกติ’ (ใหม่?) ที่รับรู้กันในโลกนโยบายเสียด้วยซ้ำ ปัญหาแบบ turbulence ไม่จำเป็นต้องเป็นวิกฤตเสมอไป แต่มันสามารถส่งผลให้วิกฤตรุนแรงขึ้นและตอบสนองได้ยากขึ้น ในทางกลับกัน วิกฤตส่วนมากมักจะเป็นปัญหาที่แปรปรวนสร้างความสับสนอลหม่าน

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของโลกที่กำลังอยู่ร่วมกับวิกฤตที่มีทั้งความซับซ้อนและความแปรปรวนสร้างความสับสนอลหม่าน เพราะถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 (วิกฤต) อาจจะชะลอตัวหรือหมดไป ความซับซ้อนและความแปรปรวนสับสนอลหม่านยังคงอยู่และสร้างผลกระทบต่อสังคมและตัวเราไปเรื่อยๆ

โลกหลังวิกฤตโควิดที่เราต้องอยู่กับปัญหาเชิงนโยบายในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเรียกร้องมุมมองใหม่ๆ มาช่วยเราทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนของนโยบายสาธารณะ

นโยบายสาธารณะที่เปลี่ยนไป สังคมความเสี่ยง และการรวมศูนย์อำนาจที่มากขึ้น

ในทุกวิกฤตการณ์ คำอธิบายหลังวิกฤตนั้นสำคัญเสมอ วีระ หวังสัจจะโชค ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ให้เราเห็นว่าวิกฤตสำคัญในอดีต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สำคัญหลายประการในวงการนโยบายศึกษาและการบริหารจัดการภาครัฐ วิกฤตนั้นทำให้เราเริ่มหันมาสนใจเรื่อง governance (การจัดอำนาจทางการปกครองแบบใหม่เน้นการใช้อำนาจร่วมระหว่างรัฐและเอกชน) มากขึ้น ทั้งในฐานะที่เป็นคำอธิบายสภาพหลังวิกฤตและวิธีการในการรับมือกับวิกฤต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหานั้นหมดไป คำอธิบายใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ก็สร้างความสับสนอย่างมาก เพราะไม่รู้จะแปลความหมายและทำความเข้าใจ governance ให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันอย่างไร ธนาคารโลกก็นิยามอย่างหนึ่ง นักวิชาการรัฐศาสตร์ก็บอกอีกอย่างหนึ่ง การออกแบบวิธีการแก้ปัญหาจึงกระจัดกระจาย มีแบบแผนไม่ชัดเจน

อย่างไรเสีย คำอธิบายหลังวิกฤตครั้งนั้นก็นำมาสู่ความพยายามในการพัฒนาสิ่งที่อาจจะมาแทนที่ระบบราชการแบบเดิมที่ทำงานแบบบนลงล่างและไม่เหมาะสมกับการรับมือวิกฤตที่เปิดแผลให้เห็นว่ารัฐมีปัญหาอย่างไร ก่อนปี 2540 ไม่มีใครสนใจเรื่องการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจมากนัก แต่เรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็เพื่อมารับมือหรือตอบโต้กับวิกฤตและความเสี่ยงที่ตามมา

ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเป็นของคู่กัน เรากำลังเข้าสู่โลกแบบใหม่ที่ปัญหาเชิงนโยบายซับซ้อนขึ้น โลกแบบใหม่นี้เป็นโลกที่รายล้อมด้วยความเสี่ยง ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนเราทำความเข้าใจบริบทของนโยบายรัฐที่เปลี่ยนแปลงผ่านมุมมอง ‘สังคมความเสี่ยง’ (risk society) อันเป็นแนวคิดที่อธิบายถึงโลกยุคหลังสมัยใหม่ที่พลังในการอธิบายบนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ทรงพลังอย่างที่เคยเป็น

ความรู้วิทยาศาสตร์ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเมื่อกลายเป็นความรู้ที่ใช้แก้ปัญหาสังคม ที่ผ่านมาเราถูกทำให้เคยชินกับการใช้เครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายและแก้ไขวิกฤต แต่พอถึงยุคที่วิกฤตไปไกลกว่าคำอธิบายและวิธีการแก้ปัญหาที่มี เราจึงไม่มีแกนหลักเพื่อใช้ในการอธิบายและแก้ปัญหาได้ การพูดถึงวิกฤตอย่างโควิด-19 โดยใช้วิทยาศาสตร์อย่างเดียวอธิบายได้ลำบากมากขึ้น ดังจะเห็นจากข้อมูลที่เปลี่ยนไปมาในเรื่องของโรคนี้ การคาดการณ์ฉากทัศน์ของผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้แม่นตรงอย่างที่เราหวัง คำอธิบายของคนที่มีอำนาจ เช่น รัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนแครต ก็ดูจะหมดความน่าเชื่อถือลงไปทุกที การจัดขบวนทางนโยบายของรัฐเพื่อตอบโต้กับความเสี่ยงที่มาจากวิกฤตดูจะพึ่งพาวิทยาศาสตร์มากจนเกินไปโดยละเลยมิติทางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ทรงพลังไม่แพ้กัน

สาระสำคัญอีกประการหนึ่งของสังคมความเสี่ยงคือการช่วยให้เราคิดถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่มาจากวิกฤต อย่างวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมาในช่วงหลายทศวรรษก็ทำให้เราต้องมาคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ทรัพยากร รัฐเองก็เริ่มคิดถึงอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง อำนาจในการกำกับตัวเองค่อยๆ หายไปและถูกแทนที่ด้วยหน่วยงานอื่นๆ และองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบางรัฐก็ตกเป็นอาณานิคมทางการกำกับดูแลของรัฐอื่นที่มีอำนาจมากกว่าผ่านทางการเข้าไปกำกับกระบวนการดูแลระบบนิเวศแบบใหม่ภายใต้วาทกรรมเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งในนโยบายสาธารณะคือ การรวมศูนย์อำนาจใหม่ที่มีวิกฤตสุขภาพเป็นตัวเร่ง

พบสุข ช่ำชอง สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาสังคมเราเห็นภาพสถานการณ์ผ่านสื่อที่ให้ความสำคัญกับการรับมือโควิด-19 ผ่านการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือการให้ภาพของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีความเข้มแข็งในการปกป้องจังหวัด สิ่งเหล่านี้โน้มน้าวให้เราทึกทักไปว่าการควบคุมโดยรัฐส่วนกลางมันดี แต่สิ่งที่ถูกทำให้ไม่เห็นคือ การที่รัฐรวมศูนย์อำนาจสามารถทำงานได้ดีนั้นก็เพราะมีกลไกและทรัพยากรในระดับท้องที่ที่ดีด้วย คือ มีการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือในระดับพื้นที่อยู่แล้ว พื้นที่มีตัวแสดงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) วิสาหกิจเพื่อสังคมและชุมชนต่างๆ ภาพตัวแสดงเหล่านี้ไม่ค่อยได้ถูกฉายให้เห็นเด่นชัดเพื่ออธิบายการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพของรัฐรวมศูนย์อำนาจ ในขณะเดียวกันสื่อก็ให้ภาพข่าวที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราจึงเริ่มเห็นได้ถึงความพยายามในการรวมศูนย์อำนาจใหม่ การเรียกคืนเงินที่ผ่านมาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยส่วนกลางก็สะท้อนได้ดีถึงความเป็นไปได้ในการรวมศูนย์อำนาจหรือดึงอำนาจกลับเข้าสู่ส่วนกลางเพิ่มมากขึ้น

แล้วท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ แนวโน้มของนโยบายสาธารณะหลังวิกฤตสุขภาพจะมีลักษณะอย่างไร

นับแต่รัฐไทยเริ่มตอบโต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมกราคม และเข้มข้นขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม เราพอจะเริ่มเห็นลักษณะของกระบวนนโยบายที่รัฐไทยใช้ในการรับมือวิกฤตชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นลักษณะของกระบวนนโยบายที่ ‘กระชับมากขึ้น’ หรือพูดอีกอย่างก็คือ การมีส่วนร่วมในนโยบายโดยเฉพาะจากประชาชนนั้นลดน้อยลง สวนทางกับการกำกับของกลไกรัฐที่เพิ่มมากขึ้น สภาพการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมิตินโยบายทางด้านสุขภาพอย่างเดียว แต่จะเกิดขึ้นในทุกมิติของนโยบายสาธารณะ

สู่ข้อเสนอการจัดสรรทรัพยากรใหม่ในนโยบายสาธารณะ

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นับเป็นภาพสะท้อนของ ‘การหวนคืนของรัฐบาลที่ยิ่งใหญ่’ (a big government) ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าสนใจอย่างมากในการศึกษานโยบายสาธารณะ กระบวนนโยบายสาธารณะที่อาจจะไม่ได้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในทศวรรษที่ผ่านมาและได้รับการตอกย้ำอีกครั้งท่ามกลางท่าทีของรัฐในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หากรัฐรับฟัง เราจะพอมีข้อเสนออะไรได้บ้าง

อย่างที่เกริ่นไปในช่วงต้น มุมมองนโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์สามารถนำมาพัฒนาข้อเสนอทางนโยบายได้ นอกเหนือไปจากชี้ชวนให้เราเห็น ‘ความไม่ชัดเจน’ ให้ ‘ชัดเจน’ ยิ่งขึ้น ข้อเสนอในเบื้องต้นคือรัฐควรกำหนดกรอบคิดทางนโยบายในการบริหารจัดการใหม่ที่ก้าวข้ามกับดักทางนโยบายต่างๆ เช่น วิธีคิดคู่ตรงข้ามของการกระจายอำนาจ-ไม่กระจายอำนาจ และความรู้แบบวิทยาศาสตร์-ไม่วิทยาศาสตร์ ไปสู่การคิดเรื่องการจัดสรรทรัพยากรแบบใหม่ภายใต้การจัดการปกครองผ่านแนวคิดสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง การกำหนดนโยบายที่มีหลายศูนย์อำนาจ (multi-centric policy making) คือ รัฐต้องกำหนดโครงสร้างและวิธีการเพื่อรองรับความพร้อมต่อการมีศูนย์อำนาจทางนโยบายที่หลากหลายซึ่งอาจซ้อนทับกันในบางครั้ง เพื่อในท้ายที่สุด อำนาจจะได้ถูกแบ่งปันเพื่อใช้งาน ไม่ใช่แย่งชิงเพื่อครอบครอง

สอง การกำหนดนโยบายแบบดังกล่าว สามารถทำผ่านนวัตกรรมทางการจัดการปกครอง เช่น การสร้างอำนาจหน้าที่ร่วม (combined authority) ผ่านการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมตัวกันเพื่อจัดการกับประเด็นสาธารณะร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง ความมั่นคงทางอาหาร หรือเรื่องสุขภาพ และการสร้างเครือข่ายเมือง (cities network) ที่เน้นการทำงานเชิงนโยบายร่วมกันของท้องถิ่นที่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ติดกัน แต่เป็นการร่วมกับบนฐานของประเด็นที่สนใจหรือเรื่องที่จะทำเหมือนกัน

สาม การจัดระบบการสื่อสารนโยบายสาธารณะที่ตระหนักถึงบทบาทของสื่อสารมวลชนในฐานะ ‘ตัวกลาง’ (broker) ทางนโยบาย สื่อคือผู้ที่ตีความนโยบายสาธารณะ เป็นส่วนเชื่อมนโยบายในระดับต่างๆ เมื่อรัฐมีนโยบายออกมาแล้ว สื่อสารมวลชนจะเป็นตัวเชื่อมตรงกลางไปสู่ภาคปฏิบัติในสังคม ดังนั้น สื่อจึงเป็นตัวกลางที่ทำให้นิยามของภัยอันตรายและปัญหาทั้งหลายไปปรากฏในสังคมจนกลายเป็นวาระร่วมกัน ตลอดจนสร้างการยอมรับบางอย่างให้เกิดขึ้น ในทางกลับกัน สื่อก็เป็นตัวกลางที่นำเอาปัญหาไปถ่ายทอดให้กับผู้มีอำนาจเพื่อจัดทำวาระนโยบาย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต กลไกการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในนโยบายสาธารณะ การจัดระบบการสื่อสารทางนโยบายที่เข้าใจมิติเหล่านี้จะเป็นการเตรียมพร้อมต่อการรับมือความเสี่ยงที่เกิดประโยชน์บนฐานการจัดการอำนาจในการอธิบายนโยบายที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่รัฐเพียงอย่างเดียว

เป็นไปได้สูงมากว่าสังคมความเสี่ยงที่อาจเป็นสภาวะหลังวิกฤตสุขภาพจะทำให้เรามีเสรีภาพลดลง วิถีการตัดสินใจของรัฐที่เบี่ยงเบนออกจากวิถีทางประชาธิปไตยที่ผ่านมาเริ่มกลายเป็นหนทางที่ดูเหมือนจะถาวรสำหรับกระบวนนโยบายสาธารณะไทย จะทำอย่างไรเมื่อเราทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่บอกไม่ได้แน่ชัดด้วยซ้ำว่าอะไรคือ ‘ความปรกติใหม่’ นโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ดูเหมือนจะมีมาช่วยเราต่อชิ้นส่วนความเข้าใจตรงนี้เอง


หมายเหตุ

เนื้อหาบางส่วนของบทความชิ้นนี้ สกัดและเรียบเรียงขึ้นจากการข้อคิดเห็นของนักวิชาการไทยที่เข้าร่วมเสวนาออนไลน์อย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะหลังวิกฤตสุขภาพโควิด-19 ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ของ ‘เครือข่ายนโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์’ (Thai Critical Policy Studies Network) ที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมด้วย การเสวนามีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับมุมมองเชิงวิพากษ์ต่างๆ ในการศึกษานโยบายสาธารณะและศักยภาพของมุมมองดังกล่าวที่มีต่อการทำความเข้าใจและนำเสนอคำอธิบายตลอดจนทางเลือกใหม่ๆ เกี่ยวกับนโยบายหลังโควิด-19 ในการนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์, ผศ.ดร.วัชรพล พุทธรักษา, ดร.พบสุข ช่ำชอง, ดร.ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ, ดร.วีระ หวังสัจจะโชค และ ดร.ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save