fbpx
เพศ อำนาจ และการเมือง: วิกฤตบนหนทางสู่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ

เพศ อำนาจ และการเมือง: วิกฤตบนหนทางสู่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

กว่าสองชั่วโมงที่นั่งดูการถ่ายทอดสดการให้ปากคำของ ศาสตราจารย์คริสตีน บลาซีย์ ฟอร์ด ต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาฝ่ายยุติธรรม ต่อข้อกล่าวหาของเธอที่มีต่อผู้พิพากษาเบร็ตต์ คาวานอห์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด สืบต่อจากผู้พิพากษาแอนโธนี สกาเลีย ซึ่งลาออกไปเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ให้ความรู้สึกสะเทือนใจไม่น้อยกว่าการดูหนังหรือละครชั้นดีที่ผู้แสดงตีบทแตกและบทประพันธ์ก็ร้อยเรียงออกมาอย่างงดงาม แม้เรื่องไม่สวยสดและจบอย่างที่ทุกคนก็ได้รับความสุขถ้วนหน้านับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ตาม

อนุกาพย์เรื่องนี้ต้องเรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่เรื่องจริงยังไม่ยุติ หากแต่ได้เดินทางผ่านกาลเวลามากว่าสามทศวรรษแล้ว

เรื่องนี้ถูกรื้อฟื้นและเปิดโปงเมื่อถึงวันสุกดิบของการที่คณะกรรมาธิการยุติธรรม จะให้ความเห็นชอบและเสนอเข้าไปในวุฒิสภาเพื่อลงมติสุดท้าย ถ้าไม่มีการร้องเรียนอย่างแรงจากอาจารย์หญิงผู้นี้ เรื่องการการแต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ในโควตาของพรรครีพับลิกันก็จะจบลงอย่างเรียบร้อยและรวดเร็ว แม้พรรคเดโมแครตและฝ่ายตรงข้ามผู้ไม่เห็นด้วยจะพยายามอย่างไร ก็ไม่มีหนทางในการหยุดยั้งมติประวัติศาสตร์นี้ได้

ดร.ฟอร์ด อาสาขึ้นมาเป็นเหยื่อต่อหน้าผู้ทรงอำนาจทั้งหลาย ในการต่อสู้ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่ายากที่จะชนะ ด้วยแรงกดดันและปัจจัยทางการเมืองและทางเพศที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ทำให้การนั่งฟังการเสนอเรื่องราวของเธอ เหมือนการร่วมประสบการณ์กับเธอในสนามกรีฑาที่เต็มไปด้วยเสือสิงห์กระทิงแรด หลายครั้งเมื่อการพรรณนาของเธอให้ภาพของการใช้กำลังเพื่อจะข่มขืนให้ได้ ความสงสารเห็นใจและความแค้นวิ่งมาจุกในอก ใครที่ฟัง บลาซีย์ ฟอร์ด พูดในวันนั้นแล้วไม่มีความรู้สึกถึงความอยุติธรรม ต้องนับว่าประหลาดคนแท้

ทำไมเรื่องการออกมาให้ปากคำในข้อเท็จจริงเรื่องการลวนลามทางเพศครั้งนี้ ถึงเป็นเรื่องใหญ่โตและฟาดฟันกันราวกับการทำรัฐประหารในบางประเทศ คำตอบที่สั้นๆ คือ นี่คือการต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐและสถาปนาความเป็นเจ้า ผ่านสถาบันกฎหมายสูงสุด คือศาลสูง เรียกว่านับแต่วาระแรกของการตั้งรัฐบาลสหพันธ์ขึ้น พร้อมกับการให้มีอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจของมลรัฐ ฐานะและบทบาทของศาลสูงสุดก็โดดเด่นและไม่ได้เป็นเพียงผู้ตัดสินคดีที่ขัดกันระหว่างสถาบันการเมืองอื่นๆ กับรัฐธรรมนูญ

หากแต่ที่มีผลสะเทือนและมีพลังต่อประชาสังคมอย่างมหาศาล คือการที่ศาลสูงสุดเป็นผู้เดียวที่ให้นิยามสุดท้ายว่าการกระทำนั้นๆ หรือนโยบายหนึ่งๆ ของรัฐบาลมีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ คำตัดสินนั้นเป็นอันเด็ดขาด ไม่อาจอุทธรณ์หรือร้องเรียนต่อใครอีกต่อไปได้ รอจนกว่าวันหน้าเมื่อศาลสูงสุดพิจารณาใหม่ อาจกลับใจตัดสินในทางตรงข้ามจากเมื่อก่อนก็ได้ เช่น ในกรณีการแบ่งแยกผิวสีว่าทำให้เท่าเทียมกัน ก็ถูกตัดสินใหม่ว่าไม่ถูกต้องต่อไปแล้ว

ดังนั้นการจะให้ใครเข้าไปเป็นผู้พิพากษาในศาลสูงสุดสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญอย่างยิ่ง เป็นภารกิจอันดับแรกๆ ที่ประธานาธิบดีอเมริกันทุกคนต้องการทำให้ได้ในสมัยของตน เพราะเท่ากับเป็นการวางรากฐานทางการเมืองให้แก่พรรคและพวกของตนอย่างมั่นคงและยาวนาน เพราะผู้พิพากษาศาลสูงสุดอยู่ในตำแหน่งจนวันตาย ไม่มีวาระและการหมดอายุ ไม่มีใครถอดถอนหรือแทรกแซงเพื่อปลดผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้ เพราะถือว่าเป็นผู้รักษาความเที่ยงธรรม ความยุติธรรมของแผ่นดิน จึงต้องปลอดจากอิทธิพลทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อความคาดหวังสูง การคัดเลือกและผ่านเข้าไปได้ก็ต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติสูงสุด และผ่านการคัดเลือกอย่างละเอียดมาแล้วจากรัฐบาลและคองเกรส หลายปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข้อครหานินทาถึงคุณสมบัติทั้งก่อนและหลังของบรรดาผู้พิพากษาศาลสูงสุดทั้งหลาย กระทั่งในปี 1991 เมื่อมีการเสนอชื่อผู้พิพากษา คลาเรนซ์ โทมัส เข้าสืบต่อจากการลาออกของผู้พิพากษาเธอร์กูด มาร์แชล ซึ่งเป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด ประธานาธิบดีจอร์จ บุช เสนอ คลาเรนซ์​ โทมัส อาจด้วยว่าเขาก็เป็นคนแอฟริกันอเมริกันด้วย

โดยไม่คาดคิด การเสนอ คลาเรนซ์ โทมัส ขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด ถูกท้าทายโดยอาจารย์สาวแอนิต้า ฮิลล์ ซึ่งเคยทำงานในสำนักงานกฎหมายภายใต้โทมัส ข้อกล่าวหาการล่วงเกินทางเพศของโทมัสกลายเป็นข่าวใหญ่ และในที่สุดนำไปสู่การให้ปากคำในคณะกรรมาธิการวุฒิสภาฝ่ายยุติธรรม การให้ปากคำและปรากฏตัวต่อสาธารณะของแอนิต้า ฮิลล์ ในข้อกล่าวหาเรื่องละเมิดทางเพศ อันเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์ที่ชายกระทำต่อหญิงมานับแต่พระเจ้าสร้างโลกก็ว่าได้ และฝ่ายชายไม่เคยถูกลงโทษว่าผิดเลยนั้น ถือว่าเป็นความกล้าหาญและสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีเท่ากัน

เห็นได้เลยว่า กว่าสตรีจะสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมถูกต้องระหว่างเพศได้นั้น ต้องใช้เวลาและรอให้สังคมตื่นตัวและสุกงอมในทางความคิดในระบบประชาธิปไตยไม่น้อย ขบวนการสตรีในอเมริกาดำเนินการเคลื่อนไหวและต่อสู้เพื่อสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนได้สิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกับชายในปี 1920  เมื่อคองเกรสและรัฐบาลผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ออกมาเพื่อให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรี แต่ผลจากการได้รับสิทธิการเมืองครั้งนั้น ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนภูมิทัศน์หรือบรรยากาศของการเมืองในวอชิงตัน ที่เป็นเวทีและพื้นที่แห่งชายเป็นใหญ่ลงไปได้สักเท่าไร

ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องมาจากกลุ่มสตรีที่เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งส่วนมากเป็นคนผิวขาวและคนชั้นกลาง ไม่ใช่มาจากคนผิวดำและจากชนชั้นกรรมกร ข้ออ้างในการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งครั้งนั้นคือการที่สตรีชั้นกลางจำนวนมากออกมาหนุนช่วยนโยบายการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ของรัฐบาลวูดโร วิลสัน เพื่อยืนยันว่าสตรียึดถือค่านิยมและปฏิบัติตนในขนบธรรมเนียมของคนอเมริกันเป็นอย่างดี เป็นผู้หญิงอเมริกันที่ดี ว่านอนสอนง่าย และรักษาความเป็นสตรีที่มีหน้าที่ในบ้านเป็นหลักไว้

กลุ่มสตรีเฟมินิสม์เล็กๆ พยายามต่อสู้เพื่อยกระดับฐานะและบทบาทของสตรีจากเดิม แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิงทั่วไป กลายเป็นพวกหัวรุนแรงที่ถูกกีดกันให้ออกไปจากระบบการเมือง การก้าวออกมาและประกาศอย่างตรงไปตรงมาในปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศของแอนิตา ฮิลล์ เป็นการบังคับให้นักการเมืองชายชะงักและงุนงงว่าผู้หญิงต้องการอะไร

ทว่าพวกเขาไม่เสียเวลาค้นหาคำตอบให้นานเกินไปนัก เมื่อการให้ปากคำของฮิลล์ผ่านไปไม่นาน ก็ประจักษ์ชัดว่าคณะกรรมาธิการวุฒิสภาฝ่ายยุติธรรมในปี 1991 ซึ่งมีนายโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครตเป็นประธาน ทั้งหมดเป็นชายล้วนพากันรุมถล่มซักฟอกแอนิตา ฮิลล์ ราวกับเธอเป็นจำเลยในคดีอันร้ายแรง หลักๆ คือพยายามบีบให้เธอพูดออกมาให้ชัดๆ ว่าคลาเรนซ์ โทมัส จะขอร่วมเพศกับเธอหรือเปล่า ซึ่งในการให้ปากคำ เธอก็บอกแต่ต้นแล้วว่า หลายครั้งโทมัสใช้กิริยาท่าทางและคำพูดที่ลวนลามส่อไปในทางให้เธอสนใจในเรื่องเหล่านั้น แต่มันไม่ได้โต้งๆ ออกมาอย่างที่สมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งคาดคั้นให้เธอตอบให้ได้ว่าเขาทำอะไรกับเธอขนาดนั้นหรือ

ไม่เหนือความคาดหมายเมื่อการลงคะแนนมาถึง เสียงส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งคณะเทให้กับโทมัสว่าเขาไม่ผิด และไม่ได้กระทำอะไรตามที่ฮิลล์ได้กล่าวหาเขา

ฉากสุดท้ายคือเมื่อผู้พิพากษา คลาเรนซ์ โทมัส กล่าวแก้ต่างให้กับตัวเองต่อคณะกรรมาธิการ เขาใช้วิธีการของความเป็นชาย แสดงความโกรธแค้นฉุนเฉียวต่อคำกล่าวหาเรื่องเพศทั้งหมด และสรุปว่าการให้ปากคำครั้งนี้เป็นการกระทำที่อัปยศอดสูยิ่ง เป็นการทำลายเกียรติยศและตำแหน่งอันทรงเกียรติของเขาที่สังคมยอมรับ เมื่อคนภายนอกรู้มติและรายละเอียดของการดำเนินการไต่สวนครั้งนี้ โดยเฉพาะบรรดาสตรีจำนวนไม่น้อย ต่างพากันแสดงความไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำอันไร้ความเป็นธรรมและไร้ศักดิ์ศรีของวุฒิสภาคณะนี้กันอย่างถ้วนหน้า

ปีรุ่งขึ้น (1992) จึงเป็นปีที่มีผู้หญิงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเข้าสู่เวทีการเมืองในระดับต่างๆ มากมายเป็นประวัติการณ์ และจำนวนมากก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา รวมทั้งการได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสตรีที่เพิ่มมากขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

มาครั้งนี้ ทุกฝ่ายต่างศึกษาบทเรียนและประวัติศาสตร์ของเรื่องการกล่าวหาทางเพศกันแล้ว เมื่อ บลาซีย์ ฟอร์ด ตอบตกลงมาให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการวุฒิสภายุติธรรม ที่แปลกคือมีแต่สมาชิกจากพรรคเดโมแครตทั้งชายและหญิงเท่านั้นที่ซักและถามหลังจากเธอให้ปากคำเรียบร้อย ไม่มีสมาชิกที่เป็นรีพับลิกันซึ่งเป็นชายล้วน และบางคนเคยอยู่ในคณะกรรมาธิการนี้สมัยที่ซักฟอกแอนนิตา ฮิลล์ และกลายเป็นรอยด่างในประวัติของกรรมาธิการชุดนี้

คราวนี้เพื่อไม่ให้พลาดอีก จึงจ้างอัยการจากข้างนอกซึ่งเป็นผู้หญิงและทำงานไต่สวนคดีการทำร้ายสตรีมาทำหน้าที่ในการซักฟอก ดร.ฟอร์ดแทน โดยรูปแบบดูดีและทำท่าจะเป็นธรรมมาก แต่เมื่อฟังคำถามและกลวิธีในการซักฟอกของเรเชล มิตเชล อัยการรับจ้างแล้ว ก็รู้ทันทีว่านี่เป็นแผนลึกที่จะเล่นงาน บลาซีย์ ฟอร์ด ด้วยการอาศัยมือผู้หญิงด้วยกันเอง แต่เธอก็ใช้ความจริงใจ ความซื่อตรงในการตอบคำถามที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม เอาตัวผ่านไปได้แต่ละคำถามอย่างระทึกใจ กลยุทธ์อันแรกนี้จึงใช้ไม่ได้ผลในการหักล้างข้อกล่าวหาทั้งหลายลงไป

การซักถามจากสมาชิกวุฒิสภาพรรคเดโมแครตพุ่งตรงไปยังประเด็นที่ทุกคนคาใจ ว่าดร.ฟอร์ด รู้ได้ไงว่าคนที่พยายามจะข่มขืนเธอคือเบร็ตต์ คาวานอห์ ก่อนหน้านี้มีหลายคนออกมาให้ความเห็นว่าเธอจำคนผิด เหตุการณ์อาจเกิดจริง แต่คนที่กระทำไม่ใช่เบร็ตต์

ต่อคำถามสำคัญนี้ ดร.ฟอร์ด ซึ่งสอนวิชาจิตวิทยา ให้คำตอบที่ทำให้ทุกคนในห้องและนอกห้องพากันอ้าปากค้าง เธออ้างทฤษฎีว่าด้วยการกระทำอันรุนแรง มีผลต่อการสร้างภาพประทับความทรงจำในสมองได้ “มันเป็นหน้าที่พื้นฐานของสมองในการจดจำ และปริมาณของสาร norepinephrine and epinephrine ในสมองที่ทำให้ความจำถูกบันทึกไว้ ในส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส อันเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการเก็บและจัดการสิ่งที่จำไว้ โดยเฉพาะเรื่องที่สร้างความบอบช้ำทางจิตจะถูกล็อกไว้ในนั้นเลย ในขณะที่รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ จะหายไป ทำให้เราจำไม่ได้”

คำตอบนี้ได้รับการยืนยันจากนักจิตวิทยาอื่นๆ ว่าถูกต้อง เธออาจจำวันเวลาและสถานที่ของการพยายามข่มขืนไม่ได้แน่นอน แต่เธอจำคนที่กระทำกับเธอได้  ภาคเช้าจบด้วยบรรยากาศที่ฝ่ายสนับสนุน ดร.ฟอร์ด คิดว่าเธอทำคะแนนได้ดีกว่าที่คาดคิดไว้ หลายคนเริ่มมีความหวังว่าเรื่องนี้น่าจะจบได้อย่างที่เป็นคุณต่อผู้ถูกกระทำ และจะเป็นครั้งแรกที่สตรีซึ่งกล้าลุกขึ้นมาพูดความจริงในเรื่องอันเป็นดาบสองคมจะประสบความสำเร็จได้

แต่เมื่อผ่านไปในภาคบ่าย เมื่อผู้พิพากษาเบร็ตต์ คาวานอห์ เริ่มให้ปากคำ ภาพและเสียงที่คนได้ยินและเห็น คือการฉายหนังเก่าอีกครั้งเหมือนเมื่อสมัย คลาเรนซ์ โทมัส แสดง นั่นคือ คาวานอห์ เปลี่ยนท่าทีและวิธีการพูด จากอาทิตย์ก่อนนี้ที่รักษาความนุ่มนวล มารยาท และมีคุณลักษณะของท่านผู้พิพากษาศาลสูงที่ไม่ฝักใฝ่และเป็นฝ่ายการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น คราวนี้เขาเริ่มด้วยการถล่มโจมตีและตอบโต้ฝ่ายกล่าวหาเขาว่าเป็นการวางแผนอันล้ำลึกของพวกเดโมแครตและฝ่ายซ้ายทั้งหลาย ซึ่งเจ็บใจที่แพ้การเลือกตั้ง รวมถึงคลินตันสองคนด้วย เขาโจมตีว่างานนี้มีการใช้เงินมากมหาศาลเพื่อทำลายตัวเขาและครอบครัว สีหน้าเขาแสดงออกซึ่งความโกรธแค้นชิงชังและพร้อมจะขยี้คู่ต่อสู้อย่างไม่ไว้หน้า

หลายคนให้ข้อสังเกตว่า นี่คงเป็นการวางแผนและกลยุทธ์ในการตอบโต้ที่ คาวานอห์ ได้จากทำเนียบขาว นั่นคือใช้วิธีการเดียวกับทรัมป์ คือเมื่อเขาถูกวิจารณ์ในการกระทำต่างๆ แทนที่จะยอมรับหรือแก้ต่างให้กับการกระทำซึ่งผิดจริงๆ ทรัมป์แก้ด้วยการด่าประณามและสาดเสียพวกที่วิจารณ์เขาก่อน ใช้วิธีตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่หลีกเลี่ยงไม่เถียงในเรื่องเหตุผลและความถูกต้องทั้งหลาย นี่คือกลยุทธ์ที่ คาวานอห์ นำมาใช้ในการตอบคำถามของคณะกรรมาธิการ

เมื่อถูกถามว่าเขาเคยเมาถึงหลับไปเลยไหม แทนที่จะตอบว่าเคยหรือไม่เคย เขาตอกผู้ถามกลับไปว่า “แล้วคุณเคยเมาบ้างไหม” สรุปคือการซักถามของฝ่ายเดโมแครตไม่ได้มรรคผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมา ในที่สุด สว.ลินซีย์ แกรม ของรีพับลิกัน ก็ปิดท้ายการซักถามด้วยการให้คำสดุดี คาวานอห์ ว่ายืนหยัดในความจริงของเขาที่ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แล้วพูดเลยออกไปถึงการประณามพรรคเดโมแครตที่ทำให้การพิจารณานี้เป็นการเมือง เป็นการเอาชนะอย่างเลวทรามที่เขาไม่เคยเจอมาประวัติศาสตร์ ไม่น่าเชื่อที่ สว. รีพับลิกันเหล่านี้ พร้อมใจกันสนับสนุนเบร็ตต์ คาวานอห์ ต่อไป ทุกอย่างที่ได้ยินได้เห็นในตอนเช้าเหมือนกับเป็นฝันร้าย

นี่เองทำให้สตรีสองคนที่มาติดตามการให้ปากคำของ ดร.ฟอร์ด แต่เช้า  เมื่อ สว.เจฟฟ์ เฟลค ของรีพับลิกันซึ่งเป็นคะแนนที่ไม่แน่นอน หลังจากจบการให้ปากคำก็ออกแถลงการณ์ว่าเขาตัดสินใจจะรับรองเบร็ตต์ คาวานอห์ ต่อไป เท่านั้นเองนักประท้วงสองคนก็เข้าไปต่อว่า สว.เฟลค ในลิฟต์ว่าการกระทำอย่างนี้แสดงว่าการทำร้ายสตรีนั้นไม่มีความหมายกระนั้นหรือ  เจฟฟ์ เฟลค มองพื้น เธอตะโกนใส่หน้าเขาว่าให้มองหน้าเธอ แล้วตอบว่าจะให้ลูกหลานของเราอยู่กับความรุนแรงอย่างนี้ต่อไปอีกหรือ

ในที่สุด เจฟฟ์ เฟลค ยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการว่าถ้าไม่ให้เอฟบีไอสอบสวนคำกล่าวหานี้ เขาจะไม่ลงชื่อรับรองเมื่อเรื่องนี้ถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของวุฒิสภา

ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังรอรายงานการสอบสวนของเอฟบีไอ ซึ่งมีเวลาทำงานเพียงอาทิตย์เดียว หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการจะนำเรื่องเข้าวุฒิสภาให้ทันอาทิตย์หน้า เพื่อจะผ่านมติการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดให้ได้ก่อนวันเลือกตั้งกลางเทอมในต้นพฤศจิกายนนี้  ไม่มีใครรู้ว่าผลการลงคะแนนจะเป็นอย่างไร แต่โอกาสที่รีพับลิกันจะแพ้มีค่อนข้างน้อยมาก ถ้ามีเพียงสองคนไม่รับรอง ผลก็จะไม่ผ่าน สองคนที่คนพูดถึงคือ สว.ซูซาน คอลลินส์ แห่งรัฐเมน และสว.ลิซ่า เมอร์โควสกี แห่งอลาสกา อยู่ที่ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร

เหตุผลที่ทำให้การตัดสินใจครั้งนี้ยากอย่างยิ่งสำหรับสมาชิกวุฒิสภาทั้งหลาย ก็คือการที่มีกลุ่มผลประโยชน์และสมาคมใหญ่หนุนหลังการแต่งตั้งผู้พิพากษาสายอนุรักษ์นิยมเอียงขวาให้ได้ เพราะถ้าชนะครั้งนี้ จะทำให้เสียงข้างมากของศาลสูงสุดตกอยู่ในกำมือของฝ่ายอนุรักษ์ไปไม่น้อยกว่ากึ่งศตวรรษ นานพอที่จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนประเทศได้

สมาคมเฟดเดอรัลลิสต์อันเป็นสมาคมของนักกฎหมายสายอนุรักษ์ ทำงานจัดตั้งและฟูมฟักผู้พิพากษาสายอนุรักษ์มานับทศวรรษแล้ว คราวนี้เป็นวาระเดียวที่ความฝันอันสูงสุดกำลังจะปรากฏเป็นจริงขึ้นมา ถ้าไม่ทำคราวนี้ก็จะไม่มีโอกาสในอนาคตอีกแล้ว นั่นคือหากสมาชิกวุฒิสภาคนใดไม่โหวตรับรอง ก็จะถูกบอยคอตและกีดกันไม่ให้ได้รับเงินสนับสนุนในการรณรงค์หาเสียงทำงานการเมืองอีกต่อไป เรียกได้ว่ายุติอาชีพนักการเมืองไปได้เลย นี่คือเหตุผลสุดท้ายที่ทำไมคนที่อยากมีตำแหน่งในคองเกรสต่อไป จำต้องยอมลงคะแนนเสียงให้แก่เบร็ตต์ คาวานอห์ ที่ภาพลักษณ์ของเขากำลังกลายเป็นศพเดินได้

สุดท้ายถ้าหากวุฒิสภาลงมติรับรองเบร็ตต์ คาวานอห์ คำถามคืออนาคตของเขาในศาลสูงสุดจะเป็นอย่างไร มองย้อนกลับไปกรณีของ คลาเรนซ์ โทมัส หลังจากชนะการรับรองของวุฒิสภา และได้เข้าไปเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดแล้ว นับจากนั้นมาไม่มีใครได้ยินได้ฟังความเห็นทางกฎหมายจากเขาอีกเลย ไม่มีใครไปสัมภาษณ์ ผมเดาด้วยว่ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็ไม่อยากเชิญเขามาแสดงปาฐกถา เรียกได้ว่าเขาแทบไม่มีชีวิตในการทำงานในฐานะผู้พิพากษาศาลอันทรงเกียรติเลย

ถ้าเช่นนั้น เบร็ตต์ คาวานอห์ ก็อาจเดินไปบนหนทางแบบเดียวกัน หรือเมื่อถึงเวลา เขาอาจมีอะไรที่ทำได้มากกว่าคิดก็ได้ แต่ศาสตราจารย์ลอเร็นซ์ ไทรบ์ แห่งสำนักกฎหมายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นว่า จากการให้ปากคำและแสดงทรรศนะทางการเมืองโจมตีใครต่อใครในวันนั้นแล้ว มันยากที่จะกล่าวได้ว่าเขามีจุดยืนอันเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองใดๆ บัดนี้เขาประกาศจุดยืนการเมืองของเขาออกมาว่าอยู่กับใครและพรรคใด

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากได้รับตำแหน่งจริงๆ เบร็ตต์ คาวานอห์ จะต้องปฏิบัติตามกติกามารยาทของเจ้าหน้าที่ยุติธรรม คือเมื่อเห็นชัดว่ามีความขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างตัวเขากับหน่วยงานเกิดขึ้น นั่นคือการประกาศวางมือ (recuse) จากการใช้อำนาจหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำให้เขาได้ประโยชน์ส่วนตัว หมายความว่าหากมีคดีขึ้นมาถึงศาลสูงสุด ถ้าคดีนั้นมีผลกระเทือนต่อสิทธิสตรี พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ประเด็นทั้งหลายที่เบร็ตต์ คาวานอห์ เคยแสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วย เขาจะต้องไม่ร่วมในการตัดสินคดีเหล่านั้น

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หมายความว่าคนอเมริกันจ่ายเงินเดือนให้เขาไปนั่งตบยุงในศาลสูงสุด เพราะไม่ว่าคดีอะไรที่มาถึงศาลสูง ก็มักเป็นเรื่องเกี่ยวพันถึงการเมืองที่ คาวานอห์ ไม่ชอบและไม่สนับสนุนทั้งนั้น  ผมเลยสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นแต่งตั้งเขาเข้าไปทำอะไร  คำตอบคือกลับไปอ่านย่อหน้าก่อนนี้อีกครั้ง

เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ค่อยๆ กลายเป็นก้อนเมฆหมอกใหญ่ที่ดำมืดมากขึ้น จากไม่มีวิกฤต กลายมาเป็นวิกฤตของระบบยุติธรรมและกระแทกวุฒิสภาอย่างแรง เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนอกประเทศที่ลดความเชื่อถือในวุฒิสภาอเมริกันดังไปทั่วโลก เราคงต้องติดตามดูกันต่อไป ว่านักการเมืองอเมริกันจะรักษาหน้า หรือรักษาสถาบันอันทรงเกียรติไว้ จะเดินตามจอร์จ วอชิงตัน หรือเดินตามผู้นำประเทศโลกที่สาม

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องไม่ลืมว่าคนที่สร้างวิกฤตให้แก่ระบบวุฒิสภาครั้งนี้คือสตรีสามัญชน หมดยุควีรบุรุษและวีรสตรีแล้ว เธอไม่ใช่แกนนำและผู้นำขบวนการอะไรทั้งสิ้น เธอคือกรวดเล็กๆ ที่สร้างความรำคาญให้แก่ผู้ชายที่ตีนโตทั้งหลาย เราจะรอดูว่าคลื่นลูกใหม่ของผู้หญิงอเมริกันจะกระหน่ำเข้าหาฝั่งอย่างไรในอีกไม่นาน.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save