fbpx

เข้าใจอาชญากรรมข้ามชาติในสังคมสมัยใหม่ เมื่ออันตรายไม่ได้จบที่โลกออฟไลน์เหมือนอย่างเคย

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างไม่มีวันหวนกลับ ทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน การเสพความบันเทิง และการติดต่อสื่อสาร เมื่อตัวตนของเราได้เข้าไปใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น การก่ออาชญากรรมจึงไม่ได้มาในรูปแบบ ‘ลัก-จี้-ชิง-ปล้น’ สร้างความเสียหายในเชิงกายภาพอย่างที่ผ่านมา แต่ตามติดชีวิตของผู้คนไปสู่การสร้างความเสียหายในโลกเสมือน

อาชญากรรมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นจึงมีตั้งแต่การหลอกลวงผ่านการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่มักตกอยู่ในเนื้อข่าว การหลอกลวงผ่านสกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency) หรือการลงทุน Forex ที่หลายคนมักได้ยินคำเหล่านี้ในฐานะการลงทุนสมัยใหม่ การก่อการร้ายทางไซเบอร์ ปฏิบัติการจิตวิทยาบนสื่ออินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการสอดแนมบนโลกออนไลน์ (Cyber Stalker) ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

จากความสำคัญดังกล่าว ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ อาชญากรรมข้ามชาติในสังคมสมัยใหม่ เพื่อพาไปทำความเข้าใจรูปแบบอาชญากรรมที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาที่มาสะท้อนมิติต่างๆ ของอาชญากรรมสมัยใหม่ ได้แก่ รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.วิสูต กัจฉมาภรณ์ ศิษย์เก่าหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วนัสนันท์ กันทะวงศ์ นิสิตหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ ศิษย์เก่าหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาชญาวิทยาและปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในสังคมสมัยใหม่

‘อาชญาวิทยา’ เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องของกับปัญหา สาเหตุ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม เมื่อรูปแบบของอาชญากรรมแปรเปลี่ยนไป อาชญาวิทยาจึงต้องตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้เพื่อนำไปสู่กระบวนการในการป้องกันและแก้ไข โดยรศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ช่วยฉายภาพรวมให้เห็นถึงพัฒนาการของอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลมาจากสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเธอมองว่าอาชญากรรมข้ามชาติในสังคมสมัยใหม่มีตั้งแต่อาชญากรรมไซเบอร์ อาชญากรรมเศรษฐกิจ อาชญากรรมองค์กรข้ามชาติ และอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม

สุมนทิพย์พบว่าลักษณะของอาชญากรรมข้ามชาติในสังคมสมัยใหม่นั้น อาชญากรจะไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่มีลักษณะรวมกลุ่มข้ามชาติ สามารถกระทำผิดได้ทุกที่และทุกเวลา และมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มทำงานร่วมกันระหว่างอาชญากรแบบดั้งเดิม เช่น มาเฟีย ผู้ทรงอิทธิพล เป็นต้น กับอาชญากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อกระทำความผิด โดยมีรูปแบบตั้งแต่การฟอกเงิน (Money laundering)  การยักยอกทรัพย์สิน (Asset misappropriation) การปลอมแปลงและสินค้าต้องห้าม (Counterfeiting and Contraband) การฉ้อโกงและการกรรโชก (Fraud and Extortion) การค้ามนุษย์ (Human trafficking) และอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งสร้างมูลค่าความเสียหายมหาศาล ขณะที่ด้านเหยื่อเองก็มีส่วนทำให้อาชญากรรมมีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากเหยื่อบางส่วนเข้าไปสู่การกระทำผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำผิดเสียเอง

ในการนำเสนอครั้งนี้ สุมนทิพย์ได้ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยที่เธอศึกษามาช่วยฉายให้เห็นสถานการณ์ของอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้น โดยข้อมูลจากงานวิจัยการจัดการความรู้เกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติที่ก่อเหตุคดีเกี่ยวกับทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานคร สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของอาชญากรข้ามชาติ โดยมีตั้งแต่อาชญากรรมชั้นสูง อย่างการปลอมบัตรเครดิต ปลอมบัตรเงินสด ซึ่งมักเป็นแก๊งอาชญากรสัญชาติเยอรมัน รัสเซีย ยูเครน โรมาเนีย อังกฤษ มาเลเซีย อาชญากรรมชั้นสูง – พื้นฐาน อย่างการเจาะตู้เซฟธนาคาร โจรกรรมตู้เอทีเอ็ม โจรกรรมเพชร และการหลอกลวงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยพบว่าเป็นแก๊งอาชญากรสัญชาติโคลอมเบีย เม็กซิกัน เปรู กัวเตมาลา อิหร่าน อิรัก และแอลจีเรีย และอาชญากรรมพื้นฐาน อย่างการล้วงกระเป๋า วิ่งราวทรัพย์ ขโมยทรัพย์สินชาวต่างชาติ ขโมยรถจักรยานยนต์ ลักทรัพย์ตามบ้านเรือน ปล้นทรัพย์หรือใช้กำลังทำร้ายเหยื่อ ทุบรถยนต์โจรกรรมทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแก๊งอาชญากรสัญชาติเวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ข้อมูลจากงานวิจัย อาชญากรรมข้ามชาติ : ภัยคุกคามประเทศไทยเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีเป้าหมายในการทำความเข้าใจพฤติกรรมการกระทำผิดหรืออัตลักษณ์ (Identity) ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นภัยคุกคามที่สำคัญของประเทศไทย พบว่าอาชญากรรมรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีต้นกำเนิดจากประเทศไต้หวัน อันเป็นผลมาจากการปราบปรามกลุ่มมาเฟียไต้หวันด้วยการจำคุก ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายและโรงเรียนสอนอาชญากรรม (crimes schools) สู่การร่วมมือระหว่างกลุ่มอาชญากรผู้เชี่ยวชาญการหลอกลวงทางโทรศัพท์และกลุ่มมาเฟีย

อาชญากรรมรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นการกระทำผิดที่มีการใช้เทคโนโลยี โดยการใช้โทรศัพท์ผ่านระบบวีโอไอพี (VoIP: Voice over Internet Protocol) อินเทอร์เน็ต และเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมขั้นสูง อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมไซเบอร์ และอาชญากรรมเศรษฐกิจ อาชญากรรมลักษณะนี้ได้รับผลตอบแทนสูง ในขณะที่มีบทลงโทษไม่รุนแรง รูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีลักษณะการกระทำผิดใกล้เคียงกับแฟรนไซส์ (Franchise) หากองค์กรอาชญากรรมใดสนใจ ก็จะชักชวนเข้าสู่การกระทำผิดและสอนการหลอกลวงเหยื่อ

การจัดองค์กรหรือเครือข่ายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประกอบด้วย (1) กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ (Call center) มีหน้าที่โทรศัพท์หรือใช้อินเทอร์เน็ตหลอกลวงเหยื่อ (2) กลุ่มจัดหาบัญชีธนาคารหรือบัตรเอทีเอ็ม มีหน้าที่รวบรวมบัญชีและบัตรเอทีเอ็มส่งให้กับกลุ่มม้าถอนเงิน (3) กลุ่มม้าถอนเงิน มีหน้าที่ถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมว่ามีเงินเข้าบัญชีธนาคาร (4) กลุ่มจัดการทางการเงิน (โพยก๊วน) มีหน้าที่ในการรวบรวมเงินสดจากม้าถอนเงิน ส่งเงินให้กับเจ้าของหรือระดับหัวหน้าต่อไป ทั้งนี้ ก่อนการก่ออาชญากรรม อาชญากรจะศึกษาบริบททางสังคม ระบบการเงินและกฎหมายของประเทศที่ต้องการหลอกลวง จัดตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์นอกประเทศเป้าหมายเพื่อให้ยากต่อการจับกุมและดำเนินคดี และมีการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ในการหลอกลวงให้แก่สมาชิกด้วย

สุมนทิพย์ยังได้เสนองานวิจัย แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติผ่านการสร้างความตระหนักแก่ประชาชน การเพิ่มบทลงโทษ การให้เครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด การใช้เทคโนโลยีในการป้องกัน พร้อมกับทิ้งท้ายถึงการทำงานในลักษณะของหน่วยงานเดียวกันทั้งโลก (one team one world) เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนและปราบปรามผู้กระทำผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยประสบความสำเร็จในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในช่วงหนึ่ง

การฟอกเงินโดย Cryptocurrency เครื่องมือสำคัญของอาชญากร

วงเสวนาขยับมาที่ประเด็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการฟอกเงินโดยสกุลเงินเข้ารหัส (cryptocurrency) ดร.วิสูต กัจฉมาภรณ์ ศิษย์เก่าหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐานเรื่องวิวัฒนาการของเงินตราที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนสิ่งของมาเป็นทองคำ และระบบโลหะมีค่า ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้เปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า แต่เมื่อเริ่มมีการพัฒนาเงินกระดาษหรือธนบัตรจะเห็นได้ว่ามีวิวัฒนาการไปสู่เงินจากบัตรเอทีเอ็ม (plastic card) เงินอิเล็กทรอนิกส์ (electronic money) และสกุลเงินเข้ารหัส (cryptocurrency) ในระยะเวลาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น วิสูตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าองค์ประกอบของเงินตรามี 3 องค์ประกอบได้แก่  (1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange)  สามารถนำไปแลกเปลี่ยนและชำระสินค้าในขอบเขตที่ประเทศยอมรับได้ (2) มีหน่วยวัดมูลค่าที่ชัดเจน (unit of account) และ (3) เป็นตัวรักษามูลค่า (store of value) สามารถสะสมมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

สำหรับเงินเสมือน (Digital Currency/Virtual Currency) ชุดรหัสข้อมูลบนระบบอินเทอร์เน็ตหรือบนระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถโอนมูลค่าระหว่างบุคคล สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. เงินเสมือนที่มีลักษณะรวมศูนย์กลาง (Centralized Currency) มีหน่วยงานกลางในการกำกับการแลกเปลี่ยนมูลค่า ตัวอย่างเงินเสมือนในลักษณะนี้ เช่น เงิน true money, เหรียญไลน์ LINE Coin รวมไปถึง Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่า

2. เงินเสมือนที่มีลักษณะกระจายศูนย์ (Decentralized Currency/Cryptocurrency) เป็นเงินเสมือนที่ไม่มีหน่วยงานกลางกำกับ โดยวิสูตได้นำทฤษฎีสังคมวิทยามาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุการเกิดขึ้นของเงินเสมือนลักษณะนี้ พบว่าปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเคลื่อนย้าย (Mobility Paradigm) มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอย่างกว้างขวาง เกิดการเชื่อมโยงทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียว (Globalization) ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ เกิดพลเมืองโลกที่มีความรับรู้หรือเชื่อในสิ่งเดียวกัน (Cosmopolitan) เป็นเขตแดนความเชื่อของกลุ่มทั้งโลก และมีการใช้ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษ (Dialectical materialism) ทำให้เกิดกลุ่มคนที่ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมระบบการเงินต้องถูกควบคุมโดยรัฐ จึงทำให้พวกเขาคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อหาความน่าเชื่อถือในการโอนมูลค่าโดยไม่ผ่านระบบตัวกลาง หนึ่งในสกุลเงินที่ทั่วโลกรู้จักกันดีคือ บิทคอยน์ (Bitcoin) ที่เริ่มมีการใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

วิสูตยังสะท้อนว่าคุณลักษณะเฉพาะของเงินสกุลเข้ารหัส มีตั้งแต่การถ่ายโอนคนต่อคนได้ (peer to peer) ไม่ต้องเปิดเผยชื่อ (Anonymous) ใช้ระบบบล็อกเชน (Blockchain) ที่สามารถจะติดตามตรวจสอบ และยืนยันการทำธุรกรรม โดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางรับรอง ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งข้อมูลเปิด (Open Source) บุคคลภายนอกติดตาม เข้าถึงข้อมูลได้ และข้อมูลหลังผ่านกระบวนการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Immutable) นอกจากนี้มีทีมของระบบเครือข่ายที่เข้ามาช่วยกันยืนยันรายการต่างๆ (Proof-of-Work) รวมถึงข้อมูลสามารถกระจายตัว ไม่มีการรวมศูนย์ (Distributed) ปัจจุบันมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัสยังเป็นที่ถกเถียงในหลายประเทศ

ในปัจจุบันสกุลเงินเข้ารหัสได้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั่วทุกมุมโลกจึงเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินเข้ารหัส ทั้งในรูปแบบที่ใช้สกุลเงินเข้ารหัสเป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยนชำระค่าตอบแทนการดำเนินการอาชญากรรมระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้ดำเนินการ การฉ้อโกงโดยอ้างการลงทุนใน Cryptocurrency และการเรียกค่าไถ่สกุลเงินเข้ารหัสจากการส่งไวรัสเข้าก่อกวน (Ransomware) ซึ่งจากข้อมูลของ Chainalysis ในช่วงปี พ.ศ.2562-2563 พบว่ามีการเติบโตของการใช้ Ransomware อย่างมีนัยยะสำคัญเนื่องจากอาชญากรอาศัยช่องโหว่ของสถานการณ์โควิดที่หลายหน่วยงานมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบ Cloud Platform ในการทำอาชญากรรม รวมไปถึงการฟอกเงินโดย Cryptocurrency  ซึ่งจากการวิเคราะห์สาเหตุของการฟอกเงินโดยเงินสกุลอ้างอิงกับทฤษฎีอาชญาวิทยาพบว่า อาชญากรเลือกใช้เงินสกุลเข้ารหัส เนื่องจากไร้การควบคุมจากหน่วยงานกลาง สามารถอำพรางตัวตนและยากต่อการสืบค้นเส้นทางธุรกรรม สะดวก รวดเร็ว และสามารถทำธุรกรรมข้ามประเทศได้ ทั้งยังมีการรักษามูลค่าทรัพย์สินด้วยต้นทุนการดูแลที่ต่ำ รวมไปถึงปัจจัยเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้เชิงปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม วิสูตได้เสนอมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัสในหลายมิติ ได้แก่การพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้งานก่อนเริ่มใช้บริการและการตรวจสอบธุรกรรม การเพิ่มศักยภาพของหน่วยบังคับใช้กฎหมายด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยีขั้นสูง การเฝ้าระวังการทำธุรกรรมแปรสภาพเงินสกุลเข้ารหัสสู่ระบบการเงินทั่วไป การสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ การประมวลองค์ความรู้และเผยแพร่ต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลผู้ใช้บริการธุรกรรมการเงินกลาง (KYC Bureau / KYC DATA ) เพื่อบูรณาการระบบจัดการฐานข้อมูลกลาง (Big data) การส่งเสริมการพัฒนาโปรแกรมการสืบค้นผู้ต้องสงสัยที่เชื่อมกับระบบปฏิบัติการบล็อกเชน (API) การส่งเสริมโครงการอินทนนท์เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (CBDC) การปรับปรุงกฎระเบียบด้านกระบวนการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส เช่น พยานหลักฐานดิจิทัล การยึดอายัดเงินสกุลเข้ารหัส การระงับธุรกรรมเร่งด่วนเป็นการชั่วคราว เป็นต้น และท้ายสุดคือการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความผิดมูลฐานอาชญากรรมไซเบอร์ในกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน เพิ่มลักษณะฐานความผิดต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัฐ เป็นต้น

อาชญากรรมไซเบอร์สายพันธุ์ใหม่ในศตวรรษที่ 21

ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ ศิษย์เก่าหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ที่มีความหลากหลายและรุนแรงทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ ตามระเบียบทางด้านวิทยาศาสตร์จะแบ่งอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. สิ่งที่จับต้องได้ (Matter) เป็นการก่อการร้ายที่มีเป้าหมายทำลายชีวิต ทำลายทรัพย์สิน ทำลายระบบเศรษฐกิจ และ 2. ด้านจิตใจ (Mind) เป็นการก่อการร้ายที่มีเป้าหมายทำให้กลัว ทำให้หลงเชื่อหรือหลงผิดเพื่อทำลายกันเอง

ปัจจุบันการก่อการร้ายทางไซเบอร์ได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากใช้ต้นทุนต่ำ ไร้ตัวตนในการก่อการร้าย มีความหลากหลายในการสร้างความปั่นป่วน สามารถก่อการร้ายในระยะไกลและสร้างความเสียหายได้ร้ายแรงกว่าวิธีดั้งเดิม ปัจจุบันมีกลุ่มก่อการร้ายที่โดดเด่น 4 กลุ่ม ได้แก่ ตาลิบัน (Taliban), อัลกออิดะฮ์ (Al-Qaeda),  ฮามาส (Hamas) และไอซิส (ISIS) ที่มีการใช้เทคโนโลยีในการก่อการร้าย โดยเฉพาะไอซิสที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความหวาดกลัวผ่านสื่อออนไลน์ ปลุกระดมการก่อการร้าย ปฏิบัติการจิตวิทยาบนสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อให้เด็กที่เติบโตในประเทศเป้าหมาย แต่มีเชื้อชาติอื่นลุกขึ้นมาก่อการร้าย และโฆษณาชวนเชื่อล่อลวงเด็กสาวมาเป็นภรรยาทหารไอซิส รวมถึงการระดมทุนในการก่อการร้ายด้วยสกุลเงินเข้ารหัส

ด้านการสอดแนมบนโลกออนไลน์ (Cyber stalker) เป็นอีกหนึ่งอาชญากรรมไซเบอร์ที่อันตราย โดยปรเมศศวร์แบ่งเป้าหมายของแฮกเกอร์เป็น 2 ประการ ประการแรก ต้องการเป็นเจ้าของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ และประการที่สอง ต้องการเข้าถึงตัวเพื่อทำร้ายร่างกาย หนึ่งในกรณีศึกษาการสอดแนมบนโลกออนไลน์ที่นำไปสู่อาชญากรรม คือกรณีของ อินะ มัตสึโอกะ (Ena Mastuoka) ไอดอลชาวญี่ปุ่นที่ถูกแฟนคลับคนหนึ่งใช้เงาสะท้อนในดวงตาทำวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) เพื่อระบุที่อยู่จากภาพสะท้อนในดวงตาและสะกดรอยตามเพื่อทำร้ายร่างกาย โดยอาชญากรประเภทนี้จะสร้างเรื่องว่ามีความรักกับเหยื่อเป้าหมาย มีจิตผูกพัน แต่เกิดการปฏิเสธอย่างรุนแรงจนต้องล้างแค้น

ปรเมศวร์ได้ทิ้งท้ายถึงวิธีป้องกันการถูกทำร้ายจากการสอดแนมบนโลกออนไลน์ว่า ต้องลดความรุนแรงด้วยการห้ามต่อว่าหยาบคายหรือแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง ไม่บอกกล่าวตัดสัมพันธ์ขั้นเด็ดขาด และควรแจ้งตำรวจไซเบอร์ ดึงคนกลางเข้ามารับรู้เรื่องราว รวมทั้งไม่เปิดเผยกิจวัตรประจำวันและข้อมูลส่วนบุคคล

อาชญากรรมรูปแบบใหม่ : การหลอกลวงเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex)

วนัสนันท์ กันทะวงศ์ นิสิตหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่างการหลอกลวงเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange: Forex) โดยปัจจุบันมีหลายประเทศที่อนุญาตให้ลงทุนใน Forex ได้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการออกใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางอินเทอร์เน็ต

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ซึ่งในมาตรา 4 วรรค 2 ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ประชาชนประกอบธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไร ไม่อนุญาตให้โฆษณา ประกาศ หรือชักชวนประชาชนให้ลงทุนหรือร่วมลงทุน แม้จะมีกฎหมายที่ใช้เพื่อกำกับและควบคุม แต่กลับพบว่าในสังคมมีการกระทำผิดหลอกลวงเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่อย่างแพร่หลาย

วนัสนันท์ให้ความเห็นเสริมว่า การกระทำผิดหลอกลวงเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนมี 2 ลักษณะ ได้แก่

1. บุคคลธรรมดาหลอกหลวงด้วยการขายคอร์สสัมมนา กล่าวคือขายคอร์สสอนประชาชนให้เก็งกำไรด้วยตนเองผ่านตัวแทนต่างประเทศ โดยผู้กระทำผิดจะสร้างภาพลักษณ์เป็นอาจารย์ เมื่อเกิดกำไร-ขาดทุนจะส่งผลให้เกิดวัฏจักรคอร์สสัมมนา การกระทำผิดลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วทุกภาคของประเทศไทย

2. นิติบุคคลหลอกลวงด้วยการระดมทุน กล่าวคือผู้กระทำผิดสร้างภาพลักษณ์เป็นเศรษฐี ผู้บริหาร และมีการจัดตั้งทีมงาน ทีมบริหาร และทีมงานชักชวน โดยจะให้ความสำคัญกับทีมงานชักชวนที่อาจเรียกว่า ‘แม่ข่าย’ หรือแม่ทีมที่ทำหน้าที่ชักชวน เสนอขายแพ็กเกจตามระดับการลงทุน มีการการันตีรายได้ 10-30% มีระยะเวลากำหนดการจ่ายเงิน เน้นชักชวนลักษณะแชร์ลูกโซ่ อ้างว่าเทรดโดย AI แต่ไม่มีการซื้อขายในตลาด Forex จริง ในช่วงแรกมักได้เงินก่อนจะสร้างสถานการณ์ ปิดบริษัท และหลบหนีออกจากประเทศ

นอกจากนี้ จากการศึกษาของวนัสนันท์พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรและถูกหลอกลวงการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนมี 8 ประการ ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ เหยื่อไม่ได้วางแผนทางการเงิน ทำให้ต้องแสวงหาการหาเงินรูปแบบใหม่ เมื่อเห็นการลงทุน forex ที่ลงทุนน้อย แต่ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น จึงตัดสินใจเข้าร่วมลงทุน 2) ความโลภ มองว่าการลงทุนจะได้มากกว่าสถาบันการเงินหรือธนาคาร 3) ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เทคโนโลยีอาจสนับสนุนการก่ออาชญากรรมและการตกเป็นเหยื่อ จากการศึกษาพบว่าผู้กระทำความผิดจะหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก ยูทูป และพูดคุยชักชวนผ่านไลน์ มีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์ และมีการจ้างโปรแกรมเมอร์มาทำแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เพื่อทำให้คนเชื่อ 4) ด้านการคบหาสมาคมที่แตกต่างกัน โดยพบว่าผู้ตกเป็นเหยื่อจะถูกชักชวนจากผู้คนใกล้ชิด 5) ด้านภาพลักษณ์ ผู้กระทำความผิดสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นโค้ช นักสร้างแรงบันดาลใจ เป็นอาจารย์ มีการเช่าสำนักงานทำเลดีเพื่อแสดงความทันสมัย ฟอกเงินด้วยการซื้อรถหรูหรืออสังหาริมทรัพย์ ทำให้คนหลงเชื่อ 6) ด้านความรู้ความเข้าใจ ผู้เสียหายไม่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน 7) ด้านกิจวัตรประจำวัน ผู้เสียหายที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำจะมีความเสี่ยงจากแผนการดำเนินชีวิต เช่น ผู้สูงอายุหรือพ่อแม่บ้านใช้ชีวิตอยู่บ้านที่มีสมาร์ทโฟน มีโอกาสตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพวกเขาพบเห็นโฆษณาในโลกออนไลน์ กระตุ้นให้เกิดความต้องการ หาเงินเพื่อแบ่งเบาภาระของลูกหลาน 8) ด้านการทำงานของภาครัฐ หน่วยงานรัฐบางหน่วยงานยังไม่มีความเข้าใจมากเท่าที่ควรและขาดองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปราม

สำหรับแนวทางป้องกัน วนัสนันท์กล่าวว่าหน้าที่และบทบาทของรัฐมีส่วนสำคัญในการสอดส่องการกระทำผิด คุ้มครองป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอก และดูแลเมื่อเหยื่อได้รับผลกระทบ โดยไม่ผลักภาระให้กับประชาชนในการดูแลตัวเอง ไม่เช่นนั้นเมื่อประชาชนไม่สามารถแก้ไข อาจผันตัวเป็นอาชญากรและเป็นวงจรแชร์ลูกโซ่อย่างไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันในฐานะประชาชนก็จะต้องตระหนักรู้ และเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มเสี่ยง

โจทย์ท้าทายของอาชญากรรมข้ามชาติในสังคมสมัยใหม่

หลังจากการนำเสนอ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้มีการพูดคุยในประเด็นต่อเนื่องที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือประเด็นเกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัสอย่างบิทคอยน์ที่ถือเป็นช่องให้กับอาชญากรใช้ในการเรียกค่าไถ่แบบ Ransomware โดย ปรเมศวร์ให้ความเห็นว่าบิทคอยน์เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจชัดเจน เนื่องจากไม่มีมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ไม่สามารถจับต้องได้ในเชิงสินทรัพย์ ทำให้อาจจะเกิดฟองสบู่แตก ผู้ซื้อตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่วิสูตรเห็นแย้งว่าบิทคอยน์ไม่ได้เป็นอาชญากรรมโดยตรง จุดเริ่มต้นของบิทคอยน์เกิดจากการรวมกลุ่มของคนที่ไม่เชื่อว่ารัฐจัดการระบบการเงินอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ในมุมนึง Cryptocurrency ก็ทำให้เกิดระบบความเป็นธรรมทางการเงินที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าระบบสถาบันการเงิน โดยเขามองว่าจะต้องพยายามรักษาสมดุล ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตัดโอกาสทางเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งประเด็นชวนคิดจากวงเสวนาคือการดำเนินคดีกับอาชญากรข้ามชาติ สุมนทิพย์ให้ความเห็นว่าในกระบวนการที่จะดำเนินการกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างประเทศ และต้องมีมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการคุ้มครองพยาน ด้านปรเมศวร์กล่าวว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมกับผู้ก่อการร้ายต้องพิจารณาเรื่องอำนาจอธิปไตยในดินแดน เจ้าของพื้นที่จะต้องดำเนินคดีกับผู้ก่อการร้าย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในแต่ละประเทศ ไม่สามารถใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ในปัจจุบันการดำเนินคดีกับอาชญากรข้ามชาติจึงเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน

ประเด็นสุดท้ายที่เป็นโจทย์ท้าทายของอาชญากรรมข้ามชาติจากวงเสวนาคือ การใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยจากอาชญากรรม วนัสนันท์ว่ากฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ควบคุม ดูแล กำกับหรือเอาผิดผู้กระทำความผิด และทำให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ในขณะที่วิสูตเห็นว่าควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นโดยเฉพาะการเรียนรู้ป้องกันตนเองจากภัยที่มากับเทคโนโลยี


ที่มาภาพ: Bermix Studio (https://unsplash.com/photos/F7DAQIDSk98)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save