fbpx
ขบถ สร้างสรรค์ ฝัน บ้า และอัจฉริยภาพ

ขบถ สร้างสรรค์ ฝัน บ้า และอัจฉริยภาพ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

“มีเส้นบางๆ คั่นกลางระหว่างความเป็นอัจฉริยะกับความบ้า” – นี่คือคำพูดที่เราได้ยินบ่อยครั้ง

นักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง แนนซี แอนเดรียเซน (Nancy Andreasen) เป็นอีกคนหนึ่งที่สงสัยว่า คำพูดที่ว่าข้างต้นนี้เป็นจริงหรือเปล่า

ผมได้ยินชื่อของเธอบ่อยครั้ง เพราะชอบอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับสมองๆ ทั้งหลาย และเล่มหนึ่งที่ถือกันว่าเป็นงานคลาสสิก ก็คือหนังสือชื่อ ‘The Creating Brain: The Neuroscience of Genius’ ซึ่งเขียนโดยแนนซี แอนเดรียเซนนี่เอง

ตัวแอนเดรียเซนเองนั้น เคยเข้ารับการทดสอบไอคิวมาตั้งแต่เรียนอยู่อนุบาล แล้วเธอก็ได้รับการประกาศว่าเป็น ‘อัจฉริยะ’ มาตั้งแต่ตอนนั้นเลย เธอเขียนไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ว่า ที่จริงแล้วเธอไม่ควรจะรับรู้เรื่องนี้ แต่พ่อแม่ก็บอกเธอมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเธอเป็นอัจฉริยะ นั่นทำให้เธออยู่ในโลกแห่ง ‘หยิน’ และ ‘หยาง’ ของการเป็นอัจฉริยะ กับการเป็นคนที่ ‘หลุด’ ไปจากเด็กทั่วไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เธอไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นอัจฉริยะหรือเป็นคนบ้า (ในความหมายของเด็กที่ไม่เหมือนเด็กอื่นๆ น่ะนะครับ)

เมื่อโตขึ้น ความเก่งกาจทำให้เธอศึกษาสองศาสตร์ไปแทบจะพร้อมๆ กัน นั่นคือวรรณกรรมและจิตวิทยา ซึ่งดูเผินๆ เหมือนไม่น่าไปด้วยกันได้ แต่มันกลับสร้างคุณูปการให้กับเธอและโลกอย่างสูงยิ่ง ต้องบอกก่อนว่า แอนเดรียเซนนั้นเกิดในปี 1938 ซึ่งโลกยุคของเธอนั้น ผู้หญิงคือคนชายขอบที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษามากเหมือนทุกวันนี้ การเป็นอัจฉริยะด้วย เป็นผู้หญิงด้วย จึงเป็นเรื่องที่เธอต้องต่อสู้ฟันฝ่าอย่างยิ่ง

แต่ความที่เธอสนใจวรรณกรรมด้วย ตัวอย่างที่เธอชอบหยิบยกมาใช้ จึงมักเป็นคนในแวดวงวรรณกรรม คนหนึ่งที่เธอพูดถึงบ่อยๆ ก็คือนักเขียนอย่าง เคิร์ท วอนเนอกัต (Kurt Vonnegut) ซึ่งล่วงลับไปแล้ว งานเขียนของเขาทั้งสนุกสนาน แสบสัน และบางคราวก็แปลกประหลาด เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนที่เป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริง

คำถามก็คือ – แล้วเขาเป็น ‘บ้า’ ด้วยหรือเปล่า

แอนเดรียเซนศึกษาคนดังๆ ทำนองนี้มากมายหลายคนด้วยหลากหลายวิธีการ เธอดูว่า คนที่เข้าข่ายเป็นอัจฉริยะนั้น มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับอาการป่วยทางจิตบ้างไหม อย่างเคิร์ท วอนเนอกัต เธอพบว่าเขามีอาการซึมเศร้าเป็นระยะๆ แต่ว่าเป็นเพียงอาการขั้นต้นเท่านั้น ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นเรียกได้ว่า ‘บ้า’ แต่อย่างใด ทว่าเมื่อสืบสาวไปถึงญาติคนอื่นๆ เธอพบว่าแม่ของวอนเนอกัตเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง และสุดท้ายก็ฆ่าตัวตายตอนที่เคิร์ทอายุแค่ 21 ปี เท่านั้นเอง นอกจากนี้ ลูกของเคิร์ทก็ยังมีอาการของโรคจิตเภทหรือไบโพลาร์อีกด้วย

แอนเดรียเซนเชื่อมโยงความเป็นอัจฉริยะเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ เธอพบว่าคนในครอบครัวของเคิร์ทนั้นมีหลายคนทำงานสร้างสรรค์ พ่อของเขาเป็นสถาปนิกที่มีพรสวรรค์ คนอื่นๆ ก็มีทั้งนักประดิษฐ์ นักเคมี นักเขียน ศิลปินทัศนศิลป์ เรียกว่าเป็นครอบครัวคนเก่งกันจริงๆ แต่แทบทุกคนมีอาการป่วยทางจิตบางอย่าง มีทั้งอ่อนทั้งแก่ ซึ่งตัวแอนเดรียเซนบอกว่า แพตเทิร์นนี้พบได้ในนักเขียนและศิลปินหลายคน เช่น เวอร์จิเนีย วูลฟ์, เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์, วินเซนต์ แวนโกะห์ และอีกหลายคน

ย้อนกลับไปในปี 1916 นักจิตวิทยาจากสแตนฟอร์ดคนหนึ่งชื่อ ลิวอิส เทอร์แมน (Lewis Terman) ได้คิดค้นการทดสอบ ‘ความฉลาด’ ที่เรียกว่าการทดสอบไอคิวเวอร์ชั่นอเมริกันขึ้นมา เขาพัฒนามาจากงานของนักจิตวิทยาฝรั่งเศส แล้วนำมาประยุกต์กันจนเกิดเป็นคะแนนความฉลาด

ไอคิวแบบของเทอร์แมนนั้น แรกเริ่มเดิมทีถือกำเนิดขึ้นเพื่อเอาไว้วัดความฉลาดของ ‘ทหาร’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพื่อประเมินว่าควรจะรับใครเข้ามาเป็นทหารบ้าง และแต่ละคนควรจะทำงานประเภทไหน อยู่ในตำแหน่งไหน กำเนิดของการทดสอบไอคิวแบบอเมริกันจึงเป็นเรื่องของการแยกแยะแบ่งชนชั้นฉลาดมากฉลาดน้อยในหมู่ทหารโดยตรง

แต่หลังจากนั้น เทอร์แมนก็คิดการใหญ่ ด้วยการศึกษาที่เรียกว่า Genetic Studies of Genius หรือในปัจจุบันเรียกว่า Terman Study of the Gifted คือเป็นการศึกษาเด็กที่มีพรสวรรค์ โดยเทอร์แมนเลือกเด็กที่มีไอคิวสูงเกือบสองพันคน เพื่อดูว่าคนเหล่านี้จะมีชีวิตเป็นอย่างไร เขาเลือกนักเรียนระดับประถมสามในแคลิฟอร์เนียที่ฉลาดที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์แรกของประชากร คือมีไอคิวสูงกว่า 135 แบ่งออกเป็นเด็กชาย 856 คน เด็กหญิง 672 คน แล้วก็ติดตามผลเด็กๆ เหล่านี้ไปจนโต ผลการศึกษาของเขาออกมาเป็นหนังสือเล่มโตถึงห้าเล่ม แล้วก็มีการค้นพบต่างๆ มากมายจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1921 แล้วก็ตามด้วยปี 1928 1936 1940 1945 1950 และ 1955

ผลที่ได้มีตั้งแต่ข้อค้นพบง่ายๆ ว่า เด็กที่ฉลาดหรือมีไอคิวสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่อายุเยอะๆ ในชั้นเรียนเสมอไป เพราะเทอร์แมนพบว่า เด็กไอคิวสูงจำนวนมาก เป็นเด็กที่อายุน้อยกว่าเพื่อนๆ ในชั้นเรียนเดียวกัน (ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อในยุคนั้นที่พ่อแม่ไม่ค่อยอยากให้ลูกเข้าเรียนเร็วนัก เพราะกลัวลูกอายุน้อยกว่าเพื่อนแล้วจะถูกรังแก) ไปจนถึงเรื่องอื่นๆ

โดยผลที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เด็กไอคิวสูงเหล่านี้ แม้ส่วนใหญ่จะเติบโตมามีหน้าที่การงานที่โอเค มีชีวิตที่ดีพอสมควร แต่กลับมีน้อยมากที่ประสบความสำเร็จในด้านความคิดสร้างสรรค์ มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำงานให้สังคมท้องถิ่น ส่วนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องความคิดสร้างสรรค์จนได้รับรางวัลใหญ่ๆ ต่างๆ ไม่มีเลย แถมยังพบอีกว่า ผู้ชาย 30% และผู้หญิง 33% เรียนไม่จบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีเด็กคนหนึ่งที่ครูส่งมาเป็นตัวแทนเข้าร่วมโครงการนี้ แต่ไม่ได้รับเลือกเพราะไอคิวไม่ถึง คือวิลเลียม ช็อคลีย์ (William Shockley) กลับเติบโตขึ้นมาแล้วสุดท้ายก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เพราะมีส่วนร่วมในการคิดค้นทรานซิสเตอร์

ข้อสรุปอย่างหนึ่งในการศึกษาของเทอร์แมน จึงคือการค้นไม่พบว่าการมีไอคิวสูงนั้นสัมพันธ์หรือเทียบเท่ากับการเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ที่ว่านี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องศิลปะเท่านั้นนะครับ แต่รวมไปถึงทุกแขนง แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์

การศึกษาของเทอร์แมนคลับคล้ายการศึกษาของ แคเรน อาร์โนลด์ (Karen Arnold) จากบอสตันคอลเลจ (Boston College) แต่อาร์โนลด์ศึกษานักเรียนที่เป็น ‘ที่หนึ่งของชั้น’ จำนวน 81 คน พบว่าพอโตขึ้นแล้ว คนเหล่านี้ได้ทำงานในตำแหน่งดีๆ ถึง 90% ทั้งยังเป็นคนที่ไว้วางใจได้ มีความเสมอต้นเสมอปลาย และปรับตัวให้เข้ากับองค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ได้ดี มีวินัยในชีวิต ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่มี ‘ชีวิตที่ดี’ นั่นเอง แต่คนเหล่านี้ ไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวม หรือเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการคิดค้นที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

ประเด็นที่อาร์โนลด์เสนอไว้ก็คือ เด็กเรียนเก่ง (ซึ่งถ้านำไปเทียบกับการศึกษาของเทอร์แมน ก็น่าจะเป็นเด็กที่มีไอคิวสูง) มีแนวโน้มที่จะ ‘settle into the system’ หรือพูดง่ายๆ ก็คือปรับตัวให้เข้ากับระบบ มากกว่าจะลุกขึ้นมาสั่นคลอนเปลี่ยนแปลงระบบหรือระเบียบโลกเก่าที่เป็นอยู่

และเราก็รู้กันดีอยู่ว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้น โดยเนื้อแท้ก็คือการ ‘ขบถ’ อย่างหนึ่งนั่นเอง คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมองเห็นว่า โลกแบบเก่ามีข้อเสียข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง เราจึงต้องใช้พลังงานทุกหยดเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน

และการจะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงโลกได้ ก็ต้องใช้ ‘ความบ้า’ บางอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นแค่คำพูดเปรียบเปรยเฉยๆ เท่านั้น

แอนเดรียเซนศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เธอลุกขึ้นมาศึกษาคนที่เป็นอัจฉริยะที่ไม่ได้เป็นแค่ Genius แต่เป็น Creative Genius โดยคัดเลือกมา 13 คน (ทว่าไม่ได้เปิดเผยชื่อ) และมีกลุ่มควบคุมอีก 13 คน รวมถึงศึกษากลุ่มอื่นๆ และใช้หลากหลายวิธีในการศึกษา ทั้งวิธีทางจิตวิทยาแบบเดิม และวิธีทางประสาทศาสตร์ อย่างการสแกนสมองเพื่อดูการทำงานของส่วนต่างๆ ของสมอง และพบสิ่งที่เธอสงสัยมาตลอดชีวิต (อาจรวมถึงข้อสงสัยในตัวเองด้วย) หลายอย่าง เช่น

คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จำนวนมากเป็นพวกเรียนรู้ด้วยตัวเอง (หรือ Autodidacts) ชอบสอนตัวเอง ไม่ชอบเข้าไปเรียนตามระบบเพื่อให้ครู ‘ป้อน’ ข้อมูลต่างๆ ให้ (ซึ่งแตกต่างจากคนไอคิวสูงเฉยๆ หรือคนประเภท ‘ที่หนึ่งของชั้น’) นั่นทำให้คนเหล่านี้มีความคิดแบบขบถและ ‘คิดต่าง’ มาตั้งแต่พื้นฐานตัวตนเลย

คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จำนวนมากจะเป็นพวกอยากรู้หลายๆ เรื่อง คือเป็นพวก Polymath แบบเดียวกับลีโอนาร์โด ดาวินชี ที่รอบรู้หลายเรื่อง เพราะการรู้หลายสาขาวิชานั้น จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงได้ดี และความเชื่อมโยงนี้เองที่คือหัวใจสำคัญของความคิดสร้างสรรค์

คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จำนวนมากมักจะเป็นคนมุ่งมั่นฟันฝ่า หรือเป็นคน persistent ต่อให้เจอกับปัญหา ข้อสงสัย หรือถูกปฏิเสธ ก็จะต่อสู้ต่อไป อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนหัวดื้อก็ได้ แต่ความหัวดื้อนี้เองที่พาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

ทั้งสามลักษณะนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องพื้นฐานของตัวตน ทั้งการ ‘คิดต่าง’ ‘ความคิดเชื่อมโยง’ และ ‘ความหัวดื้อ’ ล้วนไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูที่ไลฟ์โคชเอามาสอนอย่างฉาบฉวย แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของการทำงานของสมองและพันธุกรรมมาตั้งแต่เกิด รวมทั้งต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถบ่มเพาะฟูมฟักลักษณะเหล่านี้ให้ยั่งยืนงอกงามด้วย

อย่างไรก็ตาม แอนเดรียเซนพบด้วยว่า คนที่เป็นอัจฉริยะนักสร้างสรรค์ รวมไปถึงญาติๆ ของพวกเขานั้น มักมีอัตราการป่วยทางจิตสูงกว่ากลุ่มควบคุม ไม่ว่าอัจฉริยะเหล่านี้ทำงานในด้านศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ก็ตามที โดยอาการที่พบบ่อยคือไบโพลาร์ ซึมเศร้า หวาดระแวง และเสพติดแอลกอฮอล์ ซึ่งแพตเทิร์นที่เธอพบนี้ เป็นรูปแบบเดียวกับชีวิตของเคิร์ท วอนเนอกัต ที่ว่าไว้ข้างต้น

สิ่งที่แอนเดรียเซนค้นพบ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดเก่าแก่ที่ว่า ถ้าคน 99 คนเป็นบ้า คนอีก 1 คนเป็นคนปกติ ก็ต้องเป็น 99 คนนั่นแหละ ที่คิดว่า 1 คนเป็นบ้า

ขบถ สร้างสรรค์ ฝัน บ้า และอัจฉริยภาพ จึงอาจมีเนื้อหาเดียวกันด้วยเหตุนี้นี่เอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save