fbpx

จดหมายจากสุดขอบโลก: เมื่อเครก เจ. เรย์โนลด์ส คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน

เมื่อนักวิชาการระดับอาจารย์เครก เจ. เรย์โนลด์ส (Professor Dr. Craig J. Reynolds) ‘คิดคำนึงถึงอดีต’ ย่อมมองเห็นถึงความซับซ้อนของความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติและหลายระดับที่คนอื่นๆ อาจไม่ได้นึกถึง หรือนึกไปไม่ถึง

จดหมายจากสุดขอบโลก คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน[1] เป็นหนังสือรวมบทความในพากย์ไทยเล่มใหม่ของอาจารย์เครก ที่เพิ่งออกมาสู่บรรณพิภพเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ปรีดี หงษ์สต้น เขียน ‘คำนำบรรณาธิการ’  แนะนำบทความต่างๆ และคณะผู้แปลหนังสือด้วยภาษาไทยที่ไพเราะงดงาม และนักวิชาการรุ่นน้องและรุ่นลูกศิษย์ของอาจารย์เครกหลายคนร่วมกันเขียน ‘คำนิยม’ ที่บ่งบอกถึงจุดเด่นสำคัญๆ ในผลงานของอาจารย์เครกตามทัศนะของแต่ละคน บทปริทัศน์สั้นๆ นี้จึงเพียงแต่แนะนำหนังสือของอาจารย์เครกเพิ่มเติมในบางแง่เท่านั้น

ถึงแม้ว่าอาจารย์เครกจะพำนักอยู่ ณ ‘สุดขอบโลก’ และเดินทางมาพำนักอยู่เมืองไทยช่วงสั้นๆ ในบางปี แต่อาจารย์กลับมีความเป็น ‘คนใน’ ของสังคมไทยอย่างแท้จริง เมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มซึ่งตรงกับยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร อาจารย์เครกเป็นอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนไทยที่จังหวัดกระบี่ ในเวลาต่อมาเมื่อกลายเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติแล้ว ปีใดที่อาจารย์มีโอกาสมาเมืองไทยก็จะสละเวลาอันมีค่าเข้าร่วมในชั้นเรียนสัมมนากับนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และ/หรือบรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาอาจารย์เครกได้อ่านงานเขียนในภาษาไทยจำนวนมหาศาล ทั้งงานเขียนในยุคจารีตและงานเขียนในสังคมไทยสมัยใหม่ อาจารย์เครกให้ความสำคัญแก่การวิเคราะห์ความหมายของคำและการใช้ภาษาไทยในงานเขียนต่างๆ จึงมีความรู้ภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง ความรู้ภาษาไทยเช่นนี้ทำให้อาจารย์เครกเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาจารย์ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานในการอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางหลากหลายประเภท ทำให้สามารถสังเคราะห์ออกมาเป็นแนวคิดใหม่ และสร้างองค์ความรู้ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทยที่ซับซ้อนลุ่มลึก ครอบคลุมเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต ความคิด และความสัมพันธ์ทางสังคมของคนทุกชั้นและทุกเพศในสังคมไทย

ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการต่อสู้ทางการเมืองโดยใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ดำเนินไปอย่างเข้มข้นยิ่งกว่าในยุคใดๆ ที่ผ่านมา ฝ่ายหนึ่งใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อจรรโลงโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นและระบบการปกครองแบบอำนาจนิยมโดยชนชั้นนำ อีกฝ่ายหนึ่งต้องการผลักดันสังคมไทยให้มีความเสมอภาคในระบอบเสรีประชาธิปไตย และยังมีอีกหลายฝ่ายที่อยู่ ‘กึ่งๆ’ ระหว่างสองฝ่ายนี้ โดยผู้ที่มีลักษณะ ‘กึ่งๆ’ เหล่านี้อาจมีความโน้มเอียงทางอุดมการณ์ไปในทางใดทางหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้าง และอาจมีพลวัตหรือความผันแปรทางอุดมการณ์อยู่ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับภูมิหลังและบริบทของพวกเขา

อาจารย์เครกเคยแสดงให้เห็นในผลงานทางวิชาการในอดีตว่าระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น[2] ในหนังสือเล่มใหม่นี้ มีบทความที่สะท้อนการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในยุคนั้นและยุคต่อมา คือ ‘ลัทธิมาร์กซ์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย’ และ ‘ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้วิพากษ์ของท่าน และการวิพากษ์ใหม่’ การต่อสู้ทางอุดมการณ์ในสังคมไทยปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตมาก เพราะท่ามกลางการต่อสู้ใน ‘พื้นที่ความทรงจำ’ นี้ เทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้การตอบโต้/ท้าทายจากความรู้ชุดอื่นๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและง่ายดาย การใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีพลังอยู่ได้ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องเชื่อถือได้ หรือเป็นความรู้ที่เหนือกว่าความรู้ชุดอื่น ดังนั้นก่อนที่จะนำความรู้ทางประวัติศาสตร์มาใช้ประโยชน์ทางการเมือง จึงจำเป็นต้อง ‘จับให้ได้-ไล่ให้ทัน’ เสียก่อน ว่าการถกเถียงทางวิชาการได้ก้าวไกลไปถึงไหนแล้ว

จดหมายจากสุดขอบโลก คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน ของอาจารย์เครก จึงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้หากต้องการ ‘จับได้-ไล่ทัน’ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้ทางการเมือง

ในฐานะ ‘คนใน’ ที่ตัดความรักใคร่ห่วงใยสังคมไทยไม่ขาด แต่อยู่ไกลจน ‘สุดขอบโลก’ อาจารย์เครกอาจมี ‘ระยะห่าง’ จากสังคมไทยมากพอที่จะทบทวนอารมณ์ความรู้สึกและ ‘อคติทางวิชาการ’ ของตนเอง จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าอาจารย์มองสังคมไทยในแง่ใดบ้าง และเราจะเรียนรู้อะไรบ้างจากผลงานของอาจารย์เล่มนี้

ในหนังสือพากย์ไทยของอาจารย์เครกที่เคยได้รับการเผยแพร่มาแล้วในอดีต อาจารย์เครกมองสังคมและวัฒนธรรมของ ‘คน’ หลากหลายกลุ่มในสังคมไทย ได้แก่ เจ้าสัว ขุนศึก ศักดินา ปัญญาชน และ คนสามัญ[3] ถือเป็นงานเขียนบุกเบิกประวัติศาสตร์สังคมที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นทั้งชีวิต ความคิด อุดมการณ์ และความสัมพันธ์ทางสังคมของคนหลากหลายกลุ่มและหลากหลายสถานภาพที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในสังคมไทยในช่วงหนึ่งร้อยปีเศษที่ผ่านมา ซึ่งยังทิ้งมรดกด้านต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการก่อรูปลักษณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน

งานเขียนส่วนหนึ่งของอาจารย์เครกในหนังสือ จดหมายจากสุดขอบโลก คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน เล่มนี้ แตกต่างจากหนังสือเล่มก่อนมากทีเดียว แต่บางบทความก็ยังคงมองสังคมผ่าน ‘คน’ กับชีวิตและความคิดของ ‘คน’ เช่น ‘คน’ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ประวัติศาสตร์ คือ ศาสตราจารย์ ดร.โอ ดับเบิลยู วอลเตอร์ส และ ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา  และบทความเรื่อง ‘ศาสน์และศาสตร์เพื่อรักษ์สงบ’ อาจารย์เครกก็ได้วิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรมไทยผ่านการพิจารณามิติต่างๆ ของ ‘คน’ ที่เป็นตำรวจชื่อดังในอดีตที่ได้ผลิตความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยจำนวนมากนับถือ คือ ‘จตุคามรามเทพ’ โดยหลักฐานหลักที่อาจารย์ใช้ในการศึกษาเรื่องนี้คือหลักฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่อาจารย์ดั้นด้นไปค้นหาด้วยตัวเอง[4] 

อาจกล่าวได้ว่า เอกลักษณ์ที่โดดเด่นประการหนึ่งของอาจารย์เครก คือการมองประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ผ่านชีวิตของ ‘คน’ จนทำให้งานเขียนของอาจารย์มีลักษณะเป็น ‘จุลประวัติศาสตร์’ (micro-history) โดยที่อาจารย์เครกไม่เพียงแต่จะพยายามเข้าถึงภูมิหลัง ประสบการณ์ บุคลิกภาพ โลกทัศน์ บทบาท และบริบทต่างๆ ในชีวิตของ ‘คน’ ที่สะท้อนให้เห็นยุคสมัยของเขาเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การชี้ให้เห็นข้อถกเถียงที่สำคัญๆ ทางวิชาการ เช่น บทความเรื่อง ‘หลายชีวิตการทำงานของศาสตราจารย์โอ. ดับเบิลยู วอลเตอร์ส’ ไม่เพียงแต่จะวิเคราะห์ประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งของอาจารย์วอลเตอร์สในฐานะข้าราชการอังกฤษในระบอบอาณานิคมของมลายูเท่านั้น ยังกล่าวถึงมิติอื่นๆ ในชีวิตของอาจารย์วอลเตอร์ส ตลอดจนผู้คนในสถานภาพต่างๆ ในสังคมมลายายุคอาณานิคมที่สะท้อนหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตและการทำงานของอาจารย์วอลเตอร์สโดยตรงหรือโดยอ้อม รวมทั้งลักษณะเฉพาะทางสังคมและวัฒนธรรมของพวกเศรษฐีจีนในมลายาที่เชื่อมโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ตลอดจนสถานภาพทางสังคมของข้าราชการอังกฤษในอาณานิคม จน ‘ชนชั้นสูง’ เหล่านี้สามารถขูดรีดผลประโยชน์จากคนจีนระดับล่างได้มาก ซึ่งอาจารย์เครกได้พรรณนาให้เห็นภาพของคนกลุ่มนี้อย่างมีชีวิตชีวา ผ่านการเล่าเรื่องราวการพบกันในงานสมาคมของชนชั้นสูงและการแต่งงานกันระหว่างอาจารย์วอลเตอร์สกับธิดาของเศรษฐีจีน โดยอาจารย์มิได้ละเลยความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งระหว่างชนชั้นและระหว่างชาติพันธุ์ ในระบอบอาณานิคม

ส่วนการรู้ภาษาจีนของข้าราชการอังกฤษในมลายา อาจารย์เครกก็ได้แสดงให้เห็นการถกเถียงว่าความรู้นี้ส่งผลดีหรือผลร้ายต่อชีวิตและความก้าวหน้าในระบบราชการของอังกฤษในอาณานิคมกันแน่ และประเด็นเรื่องภาษานี้ก็อาจทำให้นึกถึงกรณีข้าราชการอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ที่รู้ภาษาพื้นเมืองอื่นๆ ในดินแดนอาณานิคม หรือการที่ข้าราชการเหล่านี้แต่งงานกับคนพื้นเมือง ซึ่งอาจมีทั้งผลดีและผลเสียต่อชีวิตและการงานปะปนกันไป งานเขียนของอาจารย์เครกจึงทำให้เข้าใจความซับซ้อนของสังคมและความซับซ้อนของชีวิตคนในสังคมนั้นๆ ไปพร้อมกัน

ส่วนที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่อง ‘สังคมและศาสนา’  ซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและศาสนานี้เองที่ทำให้เข้าใจอุดมการณ์ทั้งในเชิงความคิด ระบบคุณค่า และอารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองของคนไทยอันมีรากฐานมาจากพุทธศาสนาและไสยเวทประกอบกัน และเป็นไปได้ว่าบทความทั้งสองเรื่องในส่วนที่ 2  ของอาจารย์เครกในหนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อบทความเรื่อง ‘รากเหง้าของลัทธิอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในพุทธภูมิทางภาคใต้ของไทย’ ที่เขียนโดยรองศาสตราจารย์แพทริค โจรี และอาจารย์จิรวัฒน์ แสงทอง[5] ที่ได้วิเคราะห์ให้เห็นความซับซ้อนของความคิดความเชื่อของคนในภาคใต้อันเป็นผลมาจากบทบาทของคนหลายกลุ่ม เช่น นักวิชาการ นักเขียน ฯลฯ ซึ่งในที่สุดแล้วส่งผลทำให้คนส่วนใหญ่ในภาคใต้ที่ผูกพันตัวเองเข้ากับ ‘พุทธภูมิ’ และ ‘เทวดา’ กลายมาเป็น ‘คนเสื้อเหลือง’ ในปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

ส่วนที่ 3 ในหนังสือจดหมายจากสุดขอบโลก คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน เป็นเรื่อง ‘เอกลักษณ์ไทย’ ซึ่งอาจารย์เครกมองความเป็นมาของเอกลักษณ์ไทยในเชิงวิพากษ์ แสดงให้เห็นบทบาทของความรู้ทางวิชาการที่หล่อหลอมอัตลักษณ์ไทยในบริบทการขยายอำนาจรัฐและระบบทุนนิยม จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสต่อต้านทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ที่เชื่อว่าจะทำลาย ‘ความเป็นไทย’ ซึ่งกระแสความคิดดังกล่าวนี้เองที่เป็นรากฐานส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ‘คนเสื้อเหลือง’ เช่นเดียวกับ ‘ลัทธิอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในพุทธภูมิทางภาคใต้ของไทย’

ในส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ มีชื่อว่า ‘วัฒนธรรมในการเมือง’ เป็นส่วนที่อาจารย์เครกมองการเมืองผ่าน ‘สังคมชายล้วน’ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งบทความนี้มีพื้นฐานมาจากการปริทัศน์หนังสือเรื่อง ‘นายใน’ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ของ ชานันท์ ยอดหงษ์ นอกจากจะวิเคราะห์วัฒนธรรมในการเมืองสมัยนั้นแล้ว อาจารย์เครกยังเสนอภาพ ‘การเมือง’ ในช่วงขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักใกล้จะเสด็จสวรรคตซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก 

ส่วนบทความ ‘รากฐานทางสังคมของการปกครองแบบอัตตาธิปไตยในย่านนี้’ อาจารย์เครกวิเคราะห์ ‘รากฐานของการปกครองแบบอัตตาธิปไตย’ ที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทยและในหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม โดยที่ประเทศเหล่านี้มิได้มีสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่กลับมี ‘ความไม่เป็นประชาธิปไตย’ ในทางการเมืองคล้ายคลึงกัน แม้แต่ในประเทศที่มีการเลือกตั้ง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ยังมีความไม่เป็นประชาธิปไตยในบางแง่ อาจารย์เครกได้วิเคราะห์ความคล้ายคลึงกันในมิติทางประวัติศาสตร์ที่เป็นรากฐานของ ‘การปกครองแบบอัตตาธิปไตย’ ในประเทศเหล่านี้ เช่น อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ‘ผู้นำแบบเผด็จการ’ และ ‘ผู้นำแบบวีรบุรุษ’ ได้รับความสนใจและความนิยมในหลายประเทศมานานแล้ว โดยคนในแถบนี้ “ให้คุณค่ากับผู้นำที่ใจกว้างและเหี้ยมโหดได้ในเวลาเดียวกัน” และอาจารย์เตือนว่า “เราไม่ควรประเมินความนิยมอันยืนยงที่มีต่อผู้นำในลักษณะข้างต้นในภูมิภาคนี้ต่ำเกินไป” (หน้า 433)                                         

หากดูจากชื่อหนังสือเพียงอย่างเดียว อาจเข้าใจผิดว่าหนังสือเล่มนี้ของอาจารย์เครกไม่ช่วยให้เข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบันมากนัก แต่ที่จริงแล้วชื่อรองของหนังสือก็บ่งชี้ว่าอาจารย์เครก ‘คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน’ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ระดับปรมาจารย์อย่างอาจารย์เครกย่อมจะมีจุดยืนที่ชัดเจนอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งในการเมืองปัจจุบันอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าอาจารย์เครกจะมีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์สังคม’ ก็ตาม

 ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าเมื่ออาจารย์เครกศึกษากลุ่มสังคมใดก็ตาม อาจารย์เครกให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่ ‘วัฒนธรรม’ รวมทั้งโลกทัศน์และความเชื่อทางศาสนาของคนกลุ่มนั้น การศึกษา ‘วัฒนธรรม’ นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยให้เข้าใจระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแล้ว มิติทางการเมืองอันมีอยู่ในวัฒนธรรมก็ได้รับความสนใจจากวงวิชาการเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ สื่อสารมวลชน ประวัติศาสตร์ศิลปะแขนงต่างๆ รวมทั้งสถาปัตยกรรม วรรณกรรม ละคร ภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งถ้าหากเรามองข้ามความซับซ้อนของ ‘วัฒนธรรม’ ก็ยากที่จะเข้าใจความซับซ้อนของการเมืองได้

ทุกฝ่ายที่กำลังใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในปัจจุบัน ถ้าหากมีความรักและความหวังดีต่อสังคมไทยเหมือนกับอาจารย์เครกแล้ว ก็สมควรอย่างมากที่จะนำความรู้ใหม่จากหนังสือของอาจารย์เครกเล่มนี้ไปวิพากษ์ความรู้เดิมที่ตนเองมีอยู่ ในขณะเดียวกันก็นำความรู้เดิมมาวิพากษ์ความรู้ใหม่จากหนังสือเล่มนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนความทรงจำเกี่ยวกับอดีตของตนเองและสังคม สามารถมองเห็นมิติอื่นๆ ของสังคมไทยที่อาจไม่เคยสนใจมองมาก่อน มีวิสัยทัศน์ที่กว้างและลึกขึ้นจนมองเห็นทางเลือกของไทยในปัจจุบันและอนาคตได้ชัดเจนกว่าเดิม และสามารถกำหนดยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีในการต่อสู้ทางการเมืองได้ดียิ่งขึ้น

จดหมายจากสุดขอบโลก คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน รอคอยเราอยู่แล้วเพื่อให้เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นและต่อยอดความรู้ของเราให้ลุ่มลึกขึ้น เพื่อบรรลุความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองที่จะนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นของคนไทยและสังคมไทย


[1] เครก เจ. เรย์โนลด์ส, จดหมายจากสุดขอบโลก คิดคำนึงถึงอดีตในปัจจุบัน ปรีดี หงษ์สต้น บรรณาธิการ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, 2565.

[2] โปรดดู เครก เจ. เรย์โนลด์ส เขียน, อัญชลี สุสายัณห์ แปล, นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ, ความคิดแหวกแนวของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2534. (พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2561)

[3] เครก เจ. เรย์โนลด์ส์, เจ้าสัว ขุนศึก ศักดินา ปัญญาชน และ คนสามัญ วารุณี โอสถารมย์ บรรณาธิการแปล  พิมพ์ครั้งแรกโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พ.ศ.2550 พิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ.2556 https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:26575

[4] หากสนใจเรื่อง ขุนพันธรักษ์ราชเดช โปรดดูเพิ่มเติมใน Craig J. Reynolds, Power, Protection and Magic in Thailand: The Cosmos of a Southern Policeman ANU Press, 2019.

[5] แพทริค โจรี และจิรวัฒน์ แสงทอง, “รากเหง้าของลัทธิอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในพุทธภูมิทางภาคใต้ของไทย” แปลโดย ปริญญา นวลเปียน วารสารรูสมิแล ปีที่ 41 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2563. น.23-46. แปลจาก Patrick Jory and Jirawat Saengthong (December 2019). The roots of conservative radicalism in southern Thailand’s Buddhist heartland, Critical Asian Studies, 52 (1), 1-22. (แพทริค โจรี เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์เครก มีผลงานด้านไทยศึกษาที่มีคุณภาพสูงเนื่องจากนำเสนอมโนทัศน์ทางประวัติศาสตร์ที่มาจากการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางและละเอียดรอบคอบ)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save