fbpx
ฆ่าตัวตาย, COVID-19

คนเห็นศพ แต่ไม่เห็นคนฆ่าตัวตาย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เรื่องราวของผู้คนที่ได้ทำการฆ่าตัวตายได้กลายเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนจนกลายเป็น ‘ข่าวประจำวัน’ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม มาจนกระทั่งถึงเดือนเมษายน 2563 การรวบรวมข้อมูลของโครงการวิจัย ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลง’ พบว่ามีรายงานเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายโดยมีเหตุเกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 เผยแพร่ในสื่อมวลชนระหว่างวันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563 จำนวน 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 ราย

การฆ่าตัวตายในลักษณะดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นผลจากการตกงานเพราะการประกาศปิดห้างสรรพสินค้า การไร้งานทำเนื่องจากการจำกัดการเดินทาง การตกงานเพราะร้านค้า-กิจการต่างๆ ถูกปิด การประสบภาวะขาดทุนเพราะไม่มีลูกค้าเหมือนเดิม เป็นต้น

บุคคลที่ฆ่าตัวตายแทบทั้งหมดเป็นคนจนหรือคนเกือบจนที่ไม่มีต้นทุนมากเพียงพอในการเดินตามนโยบาย ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ได้อย่างยาวนานเฉกเช่นเดียวกับบรรดานายพล ผู้พิพากษา สมาชิกวุฒิสภา ปลัดกระทรวง อธิบดี ที่มีอาชีพการงานมั่นคง หรือดารา นักร้องนักแสดงที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีความมั่งคั่งสะสมไว้ อีกทั้งบุคคลเหล่านี้ก็มักเป็นผู้แบกรับภาระของครอบครัว เมื่อต้องประสบกับสถานการณ์ดังกล่าว ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ปราศจากทางเลือกเหล่านี้ได้เลือกใช้การฆ่าตัวตายเป็นทางออกของปัญหาที่ตัวเองต้องเผชิญ

จำนวนคนที่ฆ่าตัวตายในห้วงระยะเวลาดังกล่าวใกล้เคียงกับผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งพอจะสะท้อนได้ว่าความเป็นความตายของผู้คนจากโรคระบาดในคราวนี้ไม่ได้จำกัดไว้เพียงผู้ที่ติดเชื้อโดยตรงเท่านั้น หากยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากมาตรการของรัฐและเป็นปัญหาในระดับที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจและความมั่งคงทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ

แต่ดูราวกับว่าการตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของผู้คนในสายตาของรัฐกลับมีความหมายเบาบาง ดังจะพบว่าการเยียวยาและการให้ความช่วยเหลือกลับเป็นไปอย่างล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ เฉพาะนโยบายการแจกเงิน 5 พันบาท ก็นับเป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความล้มเหลวนี้ได้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่เริ่มต้น ตรงกันข้ามกับการประกาศใช้กฎหมาย นโยบาย และมาตรการต่างๆ ในการจัดการโรค ได้มีการระดมทรัพยากรอย่างกว้างขวาง รวมถึงความช่วยเหลือกับระบบธุรกิจขนาดใหญ่หรือภาคเศรษฐกิจทางการที่ดำเนินไปอย่างฉับไว กว้างขวาง และรอบด้านเป็นอย่างมาก

คำถามสำคัญก็คือว่า ด้วยเหตุผลใดการเสียชีวิตของคนที่ฆ่าตัวตายมีความหมายน้อยกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง

คำตอบที่พอจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนก็คือ หากมีการให้ความสำคัญต่อการฆ่าตัวตายในลักษณะดังกล่าว ก็อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่าการรับมือของรัฐมีความล้มเหลวในด้านที่ไม่อาจให้ความช่วยเหลือกับผู้คนได้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งได้รับผลจากมาตรการของรัฐ

จึงไม่ต้องแปลกใจที่หลายฝ่ายซึ่งเป็นผู้สนับสนุนต่อรัฐบาลอำนาจนิยมจะพยายามปฏิเสธและลดทอนความหมายของการฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะให้คำอธิบายว่าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หรือการชี้แจงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ก็ไม่ได้มากไปกว่าสถิติการฆ่าตัวตายที่เคยเป็นมา เนื่องจากการยอมรับว่ามีการฆ่าตัวตายเพราะความล้มเหลวของรัฐ ย่อมเป็นสิ่งที่บรรดาผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ไม่อาจปล่อยให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ต่อให้มีคนฆ่าตัวตายมากขึ้นอีกจำนวนมากเท่าไร พวกเขาก็พยายามทำให้กลายเป็นเรื่องที่มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่นทั้งสิ้น

อกหัก รักคุด โรคซึมเศร้า ปัญหาครอบครัวและอีกนานัปการ ก็อาจกลายมาเป็นสาเหตุที่จะได้ยินจากปากคำของผู้สนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยม

นอกจากการพิจารณาคำตอบจากจุดยืนทางการเมืองแล้ว ในอีกด้านหนึ่งการรับมือของรัฐบาลในแง่มุมที่ ‘มุ่งรักษาโรค แต่ไม่เยียวยาผู้คน’ ก็สะท้อนให้เห็นมุมมองของการไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตประชาชนอย่างเท่าเทียมพร้อมกันไป

แม้ว่าท่าทีการมองข้ามหัวคนที่ฆ่าตัวตายพอจะเป็นที่เข้าใจสำหรับบุคคลที่เป็นนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลในปัจจุบันหรือคาดหวังว่าจะได้ในอนาคต แต่อาจเป็นที่เข้าใจได้ยากสำหรับหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งควรมีความละเอียดอ่อนต่อชีวิตของมนุษย์ในการพิจารณาปัญหานี้ รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและสวัสดิการของประชาชน

การล้มหายตายจากของผู้คนในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน หรือเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างชัดเจนก็ควรต้องได้รับความใส่ใจอย่างจริงจัง เพราะการสูญเสียในลักษณะเช่นนี้อาจสืบค้นให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญบางประการที่มีผลเกี่ยวข้อง รวมถึงการแสวงหาทางเยียวยาหรือการบรรเทาปัญหาในระยะเฉพาะหน้าให้เกิดขึ้นได้ และการวางแผนสำหรับการรับมือในระยะยาว

แต่เมื่อปฏิเสธว่าการฆ่าตัวตายไม่สัมพันธ์กับมาตรการของรัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 จึงทำให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐไม่ต้องมีภาระหน้าที่ใดเพิ่มเติมขึ้น ในเมื่อการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องของการรับจ้างเพื่อมาดิสเครดิตรัฐบาล จะปรับปรุงนโยบายหรือมาตรการใดก็ย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาได้

มุมมองเช่นนี้คือการตรึงให้คนยากจนแปรสภาพเป็นเพียงผู้ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายต่างๆ แม้กระทั่งยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อแลกกับการจ้างวานด้วยเงินไม่กี่บาท พวกเขาเหล่านั้นไม่มีวันที่จะมาประท้วงที่หน้ากระทรวงการคลังหรือแม้ฆ่าตัวตายด้วยเจตจำนงของตนเอง

การรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการปกป้องผู้คนจากการติดเชื้อมีความสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่ามาตรการของรัฐก็ได้สร้างความยากลำบากกับผู้คนจำนวนมากเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทั้งสองกลุ่มล้วนแล้วแต่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต้องไม่ใช่เพียงการมองเห็นผู้เสียชีวิตจากไวรัสแต่ไม่ได้มีการเหลียวแลถึงการฆ่าตัวตายของผู้คนดังเช่นที่เป็นอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน

การประกาศว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” หรือ “เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน” จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทุกคนได้รับการตระหนักถึงในฐานะของการเป็นมนุษย์ที่เสมอภาค การเสียชีวิตของผู้คนต้องได้รับความใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นเหตุมาจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐในห้วงสถานการณ์นี้

พึงต้องตระหนักว่าชีวิตของทุกผู้คนล้วนมีความหมาย มันไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูลชุดหนึ่งที่ทำให้ตัวเลข เส้นกราฟ สถิติ ขึ้นสูงหรือลดลงในแต่ละวันเท่านั้น แต่หากยังหมายความถึงชีวิตที่มีลมหายใจ มีคนอันเป็นที่รัก มีคนที่ต้องรับผิดชอบและต้องดูแลไม่มากก็น้อย เฉกเช่นเดียวกับที่พวกเราทุกคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save