fbpx
ปิดโรงเรียน เปลี่ยนอนาคต : โลกการศึกษาหลังเผชิญไวรัส COVID-19

ปิดโรงเรียน เปลี่ยนอนาคต : โลกการศึกษาหลังเผชิญไวรัส COVID-19

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมจวบจนปัจจุบัน หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทวีความรุนแรงเกือบทุกหนแห่ง รัฐบาลกว่า 100 ประเทศทั่วโลกก็ได้ตัดสินใจประกาศปิดสถานศึกษาเป็นการชั่วคราว ด้วยหวังว่าอย่างน้อยจะสามารถลดพื้นที่เสี่ยงและจำนวนผู้ติดเชื้อลง

แต่ในเมื่อระบบการศึกษาส่วนมากยังคงขับเคลื่อนด้วยโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ด้วยการพบปะระหว่างครูและนักเรียนในห้องเรียน ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในระดับชั้นเดียวกัน ทำให้เมื่อขาดพื้นที่ตรงนี้ไป โลกการศึกษาจึงดูเหมือนจะ ‘หยุดชะงัก’ ตามไปด้วย

การหยุดชะงักเพราะอิทธิพลโรคระบาดในครั้งนี้ นำมาสู่ผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู ไปจนถึงรัฐ และแวดวงการศึกษาในอนาคต

 

:: นักเรียน ::

 

จากการประกาศปิดสถานศึกษา ทำให้เด็กจำนวนเกือบ 1,000 พันล้านคนทั่วโลกต้องหยุดเรียนอย่างกะทันหัน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาศึกษาด้วยตนเองจากบ้าน ซึ่งเด็กเหล่านั้นอาจจะย่อหย่อน ผ่อนคลายจากความตึงเครียดเรื่องการเรียนมากกว่าเดิม

หรือไม่.. ก็ถูกเข้มงวดกวดขันมากกว่าเดิม

เฉกเช่น ‘ริว’ เด็กชายวัย 9 ขวบชาวญี่ปุ่น ที่เปิดเผยเรื่องราวของตนในนิตยสาร The Economist ว่า หลังจากการปิดโรงเรียนในโตเกียว – เมืองที่เขาอาศัยอยู่ เมื่อ 2 มีนาคมเป็นต้นมา เด็กชายต้องเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่น วิทยาศาสตร์ และพลศึกษาอย่างเข้มข้นทุกวันตามคำสั่งของพ่อแม่ ทำโจทย์เลขทั้งที่ยังสวมชุดนอนทุกเช้า โดยมีเวลาพักผ่อนราวชั่วโมงครึ่งในสวนสาธารณะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น

นอกจากทำให้เด็กส่วนหนึ่งสูญเสียสมดุลระหว่างการเรียนและการพักผ่อน นักเรียนอีกหลายคนยังสูญเสียโอกาส และต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางชีวิต โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างชั้นมัธยมและอุดมศึกษา

การปิดสถานศึกษาส่งผลให้กระบวนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายแห่งล่าช้า หรืออาจต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เช่น การสอบ ‘เกาเข่า’ – การสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ในประเทศจีนที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้งช่วงเดือนมิถุนายน แม้ยังไม่มีประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่ข่าวคราวเกี่ยวกับโรคระบาดไม่อาจทำให้เหล่านักเรียนนิ่งนอนใจ

เพราะเป็นที่รู้กันว่าหากพลาดการสอบในปีนี้ พวกเขาจำเป็นต้องรออีกทีในปีหน้า และต้องฟาดฟันกับผู้เข้าสอบจำนวนมากกว่าเดิม แข่งขันสูงกว่าเดิม กดดันกว่าเดิม

เรื่องทำนองเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร หลังรัฐบาลประกาศยกเลิกการสอบ ‘A-Levels’ – การสอบวัดคุณสมบัติเข้าศึกษาต่อเฉพาะทางในระดับมหาวิทยาลัยช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ทำให้นักเรียนชาวอังกฤษกว่า 245,000 คน พลาดโอกาสศึกษาต่อตามแผนที่วางไว้ และต้องรอลุ้นการจัดสอบอีกครั้งตอนปลายปี

ฝ่ายนักเรียนอเมริกัน ที่แม้จะใช้คะแนนผลการเรียนในการสมัครมหาวิทยาลัยเป็นหลัก แต่ก็เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ทางหนึ่งคือ การยกเลิกสอบ ‘SAT’ – การสอบวัดความถนัดวิชาเลขและภาษาอังกฤษเพื่อยื่นมหาวิทยาลัยชั้นนำในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ทำให้นักเรียนบางส่วนอาจไม่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาปี 2021 เพราะไม่มีคะแนนสอบดังกล่าว

ส่วนอีกทางหนึ่ง เกิดขึ้นกับนักเรียนผู้ได้รับข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยแห่งต่างๆ โดยปกติแล้ว พวกเขามีสิทธิ์เยี่ยมชมการเรียนการสอนในสถานศึกษาแต่ละแห่ง ก่อนตัดสินใจเลือกตามต้องการภายในวันที่ 1 พฤษภาคม ทว่า เมื่อสถานการณ์ ‘ไม่ปกติ’ นักเรียนเหล่านี้จึงหมดโอกาสเยี่ยมชม และต้องทำการตัดสินใจครั้งสำคัญทั้งที่ปราศจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในบรรดานักเรียนทั้งหมด กลุ่มเด็กยากจนถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบหนักหนาที่สุด เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครันสำหรับการเรียนออนไลน์ (ขนาดประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยังมีเด็กนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอีกกว่า 7 ล้านคนด้วยซ้ำ)

ไม่ใช่เด็กทุกคนที่สามารถนั่งเรียนจากบ้านได้ โดยไม่ต้องพะวงคำนึงถึงเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินอยู่ต่างๆ

และไม่ใช่เด็กทุกคนที่มีทุนทรัพย์มากพอ สำหรับการรอโอกาสสอบเรียนต่อซึ่งไม่รู้จะจัดขึ้นอีกเมื่อไร

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังเสียโอกาสอิ่มท้องเล็กๆ น้อยๆ จากการไม่ได้รับอาหารกลางวันฟรี (หรือลดราคา) ที่หลายๆ โรงเรียนมักจัดหาให้ จนอาจมีสุขภาพย่ำแย่กว่าเดิม

การปิดสถานศึกษาในครั้งนี้ จึงแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนโลกทั้งใบของนักเรียนนับล้านชีวิตเลยทีเดียว

 

:: ผู้ปกครอง ::

 

เมื่อโรงเรียนปิด เด็กส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ภาระการดูแลบุตรหลานจึงตกอยู่กับผู้ปกครองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

แม้รัฐบาลในหลายประเทศจะเตรียมรับมือผลกระทบจากการปิดสถานศึกษา (และสถานที่อื่นๆ) ด้วยนโยบาย ‘Work From Home’ รวมถึงมอบเงินให้แก่ธุรกิจ บริษัทห้างร้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้พนักงานสามารถกักตัวหรือใช้สิทธิ์ลาหยุด แต่ใช่ว่าทุกประเทศหรือทุกสายงานจะสามารถใช้ทางออกเดียวกันเพื่อแก้วิกฤตโรคระบาด

ตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่น พ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมากยังไม่สามารถทำงานจากบ้าน และทางบริษัทไม่มีมาตรการจ่ายเงินให้พนักงานที่ลาป่วย ทำนองเดียวกันกับอิตาลี ที่มีแรงงาน 1 ใน 5 เป็นเจ้าของกิจการหรือแรงงานอิสระ (self employed) ทำให้การหยุดงาน เท่ากับ ไม่มีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว

พ่อแม่บางส่วนจึงตกที่นั่งลำบากหลังโรงเรียนประกาศปิด เพราะต้องเลือกระหว่างออกไปทำงาน แล้วปล่อยลูกเล็กอยู่ที่บ้าน หรือเลือกดูแลบุตรหลานอยู่ที่บ้าน แล้วสุ่มเสี่ยงต่อการเสียรายได้และตกงาน

การปิดโรงเรียนและการหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูบุตรหลานยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงระบบเศรษฐกิจและสาธารณสุขภายในประเทศ โดยงานวิจัยเรื่อง “Economic Cost and Health Care Workforce Effects of School Closures in the U.S.” ในปี 2009 พบว่า ถ้าโรงเรียนและศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วอเมริกาปิดตัวเป็นเวลา 1 เดือน จะทำให้สร้างต้นทุนแก่สังคมเป็นมูลค่ากว่า 0.1-0.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และอาจส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ราว 6-19 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดหยุดงาน เนื่องจากต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตรหลานที่บ้าน

การปิดสถานศึกษาในครั้งนี้ จึงแทบจะเรียกได้ว่าสร้างผลกระทบต่อเนื่องทั้งคนในครอบครัว ไปจนถึงคนในสังคมโดยรวม

 

:: ครู ::

 

การเรียนการสอนในยุค COVID-19 ถือเป็นความท้าทายเรื่องหนึ่งของครูที่ต้องขวนขวายหาวิธีการถ่ายทอดความรู้ผ่านช่องทางใหม่ๆ หลังการนั่งฟังคำบรรยายในห้องเรียนแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป

หนึ่งในนั้นคือการสร้างบทเรียนออนไลน์โดยอาศัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันต่างๆ ทว่า ปัญหาสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในบางประเทศยังไม่เอื้ออำนวยสำหรับการสอนของอาจารย์อย่างทั่วถึงทุกส่วน

ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจของแอปพลิเคชัน ‘Teacher Tapp’ ซึ่งสำรวจการสอนของครูจำนวนกว่า 6,000 คนในสหราชอาณาจักร และพบว่า ครูในโรงเรียนรัฐสามารถเผยแพร่บทเรียนออนไลน์ได้น้อยกว่าครูในโรงเรียนเอกชน คิดเป็นร้อยละ 40 ต่อ 69 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าความพร้อมด้านเครื่องมือในโรงเรียนรัฐนั้นพัฒนาไปช้ากว่าเอกชนอยู่หลายขุม

ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์ส่วนหนึ่งยังไม่มีความรู้หรือเชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเพียงพอ ไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือ เนื้อหาบางวิชาเช่นพลศึกษา ไม่เหมาะกับการสอนออนไลน์  ทำให้การปรับตัว ออกแบบวิธีการเรียนการสอนใหม่ให้ทันแก่เวลา เป็นไปอย่างยากลำบาก

ยังไม่นับรวมว่ามีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบทเรียนออนไลน์ทัดเทียมกับคนอื่นๆ ผู้ปกครองบางคนไม่ยินดีให้ลูกนั่งติดหน้าจอเพื่อเรียนวันละหลายชั่วโมง นอกจากนี้ ซูซานนา โลบ (Susanna Loeb) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) แสดงความเห็นว่า นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่มักแสดงศักยภาพได้แย่ลงเมื่อต้องทำงานผ่านระบบออนไลน์

ดังนั้น รูปแบบการเรียนออนไลน์จึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาระยะยาว เว้นเสียแต่ว่าจะมีการเตรียมความพร้อม ออกแบบหลักสูตรเพื่อการสอนประเภทนี้มาตั้งแต่ต้น

อนึ่ง อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผลพวงจากการยกเลิกการสอบวัดทักษะ อย่าง A-level หรือ SAT ทำให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนใหม่ หลายแห่งเลือกที่จะจัดสอบ SAT เองเพื่อให้ได้นักศึกษาที่มีคุณสมบัติตรงความต้องการ ทำให้น่าจับตามองว่าหลังจากนี้ ระบบการรับนักศึกษาที่มีมาแต่เดิมจะเปลี่ยนไปอย่างไร

การปิดสถานศึกษาในครั้งนี้ จึงแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีทำงานและเปิดมุมมองใหม่ด้านการศึกษาแก่อาจารย์ในคราวเดียวกัน

 

:: แวดวงการศึกษา ::

 

การมาเยือนของโรค COVID-19 การปิดโรงเรียน และการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของวิธีการเรียนการสอนทั่วโลก ทำให้ World Economic Forum คาดการณ์ว่าในภายภาคหน้า โลกการศึกษาจะแปรเปลี่ยนไปดังนี้

 

1.เราจะได้เห็นการพัฒนาด้านการศึกษาและความเปลี่ยนแปลงด้านไลฟ์สไตล์การเรียน

จากเดิมระบบการศึกษาเกือบทั่วโลกหยุดนิ่งอยู่กับที่ อยู่กับห้องเรียน และมีโรงเรียนเป็นหัวใจสำคัญ ในอนาคต สถาบันการศึกษาหลายแห่งจะเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่การเรียนการสอนในห้องเรียนมากขึ้น จะเกิดนวัตกรรมเพื่อการศึกษาหลากรูปแบบภายในระยะเวลาอันสั้น มีช่องทางเข้าถึงความรู้หลากหลาย ทำให้เกิดไลฟ์สไตล์การเรียนรู้นอกห้องเรียน ไม่ยึดติดกับแบบแผนชั่วโมงเรียนดังเดิม เรียกได้ว่าสามารถ ‘เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา’ เสมือนเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่ง

 

2.เราจะได้เห็นความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อพัฒนาเรื่องการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น

จากปรากฏการณ์โรคระบาด ทำให้เราได้เห็นความร่วมมือกันพัฒนาระบบการเรียนการสอนจากหลายฝ่าย นอกจากครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการศึกษา ยังมีรัฐ สื่อ นักวิชาการ ผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารต่างๆ ผู้พัฒนาเทคโนโลยี ฯลฯ ช่วยกันสร้างแพลตฟอร์ม ระบบฐานข้อมูล ช่องทางการเรียนรู้ดิจิทัลมากมาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคต ระบบการศึกษาจะสามารถก้าวหน้าไปได้ไกลจากการระดมความคิดและร่วมมือกันเช่นครั้งนี้

 

3.เราต้องลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม

ในอนาคตที่ห้องเรียนออนไลน์อาจมีบทบาทมากกว่าห้องเรียนในความเป็นจริง การวางโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่มั่นคง ครอบคลุม และการเพิ่มโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี – ไม่เพียงแค่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ยังหมายรวมถึงนวัตกรรมทุกรูปแบบที่ระบบการศึกษาใช้นับต่อจากนี้ เช่น 5G จะช่วยทำให้เด็กทุกกลุ่มได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เด็กส่วนใหญ่เข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม

 

ทั้งนี้ เทรนด์การศึกษาอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนอาจให้ความสำคัญกับการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น หลังจากบทความในเว็บไซต์ Project Syndicate ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่มีนักเรียนส่วนใหญ่ได้คะแนน PISA วิชาคณิตศาสตร์สูง อย่าง จีน ที่เป็นอันดับ 1 เมื่อปี 2019 ด้วยคะแนน 591 จากเต็ม 600 คะแนน อันดับที่ 6 อย่างญี่ปุ่น และอันดับที่ 7 เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่สามารถรับมือกับภัยไวรัส COVID-19 ได้ดี ด้วยการบริหารจัดการจากรัฐที่มีประสิทธิภาพและวัฒนธรรม ความร่วมมือจากภาคประชาชนที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับประเทศซึ่งมีคะแนน PISA วิชาคณิตศาสตร์ต่ำกว่า อย่างอันดับที่ 31 อิตาลี อันดับที่ 34 สเปน และอันดับที่ 37 สหรัฐอเมริกา

อนุมานได้ว่าความรู้ด้านคณิตศาสตร์ช่วยให้เข้าใจหลักการแพร่กระจายโรคแบบ ‘เอกซ์โพเนนเชียล’ (exponential growth) ทำนายจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด จนนำไปสู่การวางแผนรับมือที่มีประสิทธิภาพ

 

วิกฤตการณ์โรค COVID-19 ในครั้งนี้ จึงแทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวกระตุ้นให้โลกการศึกษาขับเคลื่อนไป  รวดเร็วกว่าครั้งใดที่เคยเป็นมา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save