fbpx
ค่ำคืนที่ปารีส ก่อนความเงียบเข้าคุกคาม

ค่ำคืนที่ปารีส ก่อนความเงียบเข้าคุกคาม

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

 

กลางเดือนมีนาคมอากาศที่ปารีสเริ่มอุ่นขึ้น ยอดอ่อนใบหญ้าเริ่มเสียดแทงผืนดินขึ้นมารับแสงแดด ดอกไม้กลีบน้อยทยอยอวดสีสันสดใสแข่งกับต้นไม้ใหญ่ที่เร่งผลิดอกให้ทันอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผู้คนเริ่มมีชีวิตชีวา หลังผ่านอากาศหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ แสงแดดอุ่นท่ามกลางอากาศเย็นก็เข้ามาเติมความสดชื่นให้ทั้งเมือง

หากไม่มีการรุกคืบของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มย้ายศูนย์กลางความรุนแรงจากประเทศจีนไปยังทวีปยุโรปตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ช่วงเวลานี้คงมีผู้คนออกมารับแดดเต็มหน้าคาเฟ่สองข้างถนนในปารีส รถไฟใต้ดินที่เคยคลาคล่ำด้วยผู้คน ปะปนกับคนไร้บ้านนานาชาติที่เที่ยวเดินขอเงิน และวณิพกที่ถือเครื่องดนตรีบรรเลงแลกค่าตอบแทน ในเวลานี้กลับมีผู้คนบางตา คนสูงอายุหายไปจากที่สาธารณะ ต่างเก็บตัวอยู่ในบ้านเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรค เหลือแต่คนหนุ่มสาวที่ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ

ยามค่ำ รอบสถานีรถไฟชัตเลต์ เลส์ ซาลส์ ย่านใจกลางปารีส แม้มีประกาศขอความร่วมมือจากรัฐบาลว่าให้งดการพบปะในที่ชุมชนเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคระบาด แต่ผู้คนยังคงหนาแน่นเช่นเคย ขณะนั้นยังพบเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยได้น้อยมาก สายตาจากสาธารณะยังคงมองคนใส่หน้ากากด้วยความเข้าใจว่าเป็นผู้ป่วย อีกทั้งเป็นสิ่งหายากเพราะถูกควบคุมให้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ กระนั้นก็ยังมีร้านขายยาที่แอบขายหน้ากากให้คนทั่วไปและถูกจับปรับ

“ถ้ารัฐบาลบอก เราจะไม่ฟัง” เพื่อนชาวฝรั่งเศสบอก ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก ท่ามกลางแรงต่อต้านรัฐบาลและการประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองที่ยืดยาวในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะมีคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 100 คนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ในวันต่อมาหลังมีคำสั่งห้ามก็ยังมีการรวมตัวประท้วงกันหลายร้อยคน

ขณะนั้นแม้สถานการณ์ไวรัสโคโรนาจะน่ากังวลแล้ว แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสในฝรั่งเศสยังไม่ถึงหลักร้อย คนฝรั่งเศสบางส่วนยังมองว่า เมื่อเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากรทั้งประเทศแล้วยังอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มาก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตตามปกติ เพราะรู้ว่าโอกาสที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการหนักหรือเสียชีวิตมีน้อยมาก

เช่นเดียวกับคนทั่วโลก ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าในเวลาเพียงไม่กี่วันโรคระบาดครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของทุกคนให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

รอบย่าน เลอ มาเรส์ ยังคงเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวนัดพบปะกันช่วงสุดสัปดาห์อย่างคึกคัก ช่วงค่ำคืนอากาศหนาวบวกลมเย็นทำให้ก้าวขาไม่ออก แต่ผู้คนก็ยังรักการนั่งนอกคาเฟ่ไม่ต่างจากช่วงหน้าร้อน แม้ภายในร้านจะเปิดฮีตเตอร์แสนอบอุ่นเชื้อเชิญให้เข้าไปซุกร่างหนีความหนาว

ระหว่างยกแก้วเบียร์เติมบทสนทนา พนักงานเริ่มจับกลุ่มคุยกันถึงข่าวใหม่ เมื่อมีประกาศจากรัฐบาลว่าให้ปิดร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ โรงหนัง เหลือไว้เพียงร้านที่ขายอาหารกลับบ้าน

หลังการมาถึงของข่าวใหม่บรรยากาศก็เปลี่ยนไป ผู้คนเมามาย สั่งเบียร์ไม่อั้นเหมือนดื่มเป็นวันสุดท้ายของชีวิต รอยยิ้มที่เป็นสิ่งหาได้ยากในเวลาปกติ กลับถูกแจกจ่ายให้คนแปลกหน้าอย่างง่ายดาย เสียงหัวเราะดังขึ้นเรื่อยๆ แข่งกับเสียงชนแก้ว คล้ายเป็นความสุขสุดท้ายที่ต้องบีบอัดเพื่อกอบโกย ก่อนถึงเวลาเที่ยงคืนที่จะไม่มีคาเฟ่ให้ออกมานั่งรับลมหนาวอีกต่อไป

พนักงานยกของหวานมาวางบนโต๊ะทั้งที่ไม่มีใครสั่ง พูดเรียบๆ ว่าให้ฟรี เพราะวันรุ่งขึ้นก็คงขายไม่ได้ ออเดอร์เครื่องดื่มจากโต๊ะนอกร้านหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ แต่พนักงานเสิร์ฟไม่มีจิตใจจะบริการ ชายร่างใหญ่ที่คอยต้อนรับลูกค้าเดินดิ่งไปที่บาร์ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด พนักงานเสิร์ฟคนอื่นๆ ตามมาสมทบเพื่อคุยกับผู้จัดการเรื่องค่าจ้างช่วงปิดร้าน พวกเขาโต้เถียงกันเสียงดังก่อนจบด้วยรอยยิ้ม เมื่อผู้จัดการร้านยืนยันว่าจะยังจ่ายค่าจ้างดังเดิม

“เ-ี้ยโคโรนา” ชายร่างใหญ่สบถก่อนกลับไปสนใจลูกค้าที่ยังสั่งเบียร์ไม่หยุด

ลูกค้าหนุ่มในเสื้อโค้ทตัวใหญ่เดินตรงมาที่บาร์เพื่อขอเจรจาซื้ออาหารสดที่ร้านสต๊อกไว้ พร้อมกดตัวเลขในโทรศัพท์มือถือยื่นให้ผู้จัดการสาวหลังบาร์ดู การเจรจาล้มเหลวด้วยเหตุผลว่า แม้ทางร้านจะปิดบาร์แต่พรุ่งนี้ยังสามารถขายอาหารแบบห่อกลับบ้านได้อยู่

 

ค่ำคืนที่ปารีส ก่อนความเงียบเข้าคุกคาม

 

ฉันออกจากร้านกลับไปปะทะลมหนาว ตึกรามโดยรอบยืนทะมึนเงียบสงบกว่าที่เคย ความเคลื่อนไหวเดียวของถนนเส้นนี้คือแสงไฟสว่างและเสียงพูดคุยจากบาร์และคาเฟ่ที่กระจายอยู่แต่ละหัวมุมถนน และดูเหมือนจะเป็นกิจการประเภทเดียวที่ยังคงให้บริการในห้วงเวลานี้ ทั้งที่ยังไม่ดึกนัก

เสียงตะโกนของคนเมาในบาร์กรีดความเงียบโดยรอบอย่างแปลกแยก นั่นเป็นเสียงสุดท้ายของค่ำคืนนั้น ก่อนปารีสที่เคยพลุกพล่านยามค่ำคืนจะเข้าสู่ภาวะจำศีลและไม่รู้ว่าจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งเมื่อไร

วันถัดมาเป็นวันอาทิตย์ โชคไม่ดีที่วันนั้นอากาศดีมาก แสงแดดสดใสเรียกผู้คนให้ออกมานอกบ้าน การเดินเล่นในปารีสท่ามกลางแดดอุ่นๆ หลังพ้นหน้าหนาวเป็นของขวัญที่วิเศษ ริมแม่น้ำแซนหนาแน่นด้วยผู้คนที่ออกมาปิกนิก

ภาพที่เห็นทำให้แทบจะลืมว่ากำลังเกิดโรคระบาด แสงแดดมอบชีวิต แต่ก็ล่อคนให้ออกมาเสี่ยงชีวิตได้เช่นกัน

วันถัดมารัฐบาลก็ประกาศล็อกดาวน์ คนที่ออกนอกบ้านด้วยความจำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร ไปทำงาน หรือหาหมอกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ออกกำลังกาย และพาหมาไปเดินเล่น ต้องเขียนใบรับรองออกจากที่พักตามแบบฟอร์มของรัฐพกติดตัวไว้

เพียงแค่วันแรกที่บังคับใช้ก็มีคนถูกจับปรับหลายร้อยคนเพราะออกนอกบ้านโดยไม่มีใบรับรอง ตัวเลขที่เห็นในเวลาเกือบหนึ่งเดือนให้หลังคือมีคนถูกปรับกว่าห้าแสนครั้ง สร้างรายได้มหาศาลให้รัฐ

 

รถเมล์ท้องถิ่นห้ามผู้โดยสารขึ้นรถจากประตูหน้า เพื่อลดความเสี่ยงของคนขับจากโรคระบาด ปารีส ฝรั่งเศส
รถเมล์ท้องถิ่นห้ามผู้โดยสารขึ้นรถจากประตูหน้า เพื่อลดความเสี่ยงของคนขับจากโรคระบาด

 

ก่อนการประกาศล็อกดาวน์ ฉันเดินทางออกจากปารีสไปยังเมืองในต่างจังหวัด และอยู่ในสภาพคล้ายถูกกักตัวในเมืองร้างที่มองหาผู้คนแทบไม่เจอ ภาพหนึ่งที่มองเห็นทุกวันจากหน้าต่างที่พัก คือ หมาสีดำตัวใหญ่ตัวหนึ่งในสนามเด็กเล่นที่ถูกเจ้าของพามาเดินเล่น วันละ 3-4 รอบ ฉันเจอเจ้าของและหมาคู่นี้แทบทุกครั้งที่มองออกไปนอกหน้าต่าง แม้อากาศจะหนาวขนาดไหน เจ้าของก็ยังพาหมาออกมาเดินเล่นนอกบ้านและเตร็ดเตร่อย่างไม่อยากกลับ

กลายเป็นว่าผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายห้ามออกนอกบ้าน คือเหล่าหมาๆ ที่เจ้าของขยันพาออกมาเดินเล่นบ่อยเป็นพิเศษ ฉันได้ยินว่าที่สเปนมีคนออกไอเดียให้คนเช่าหมาตัวเองเพื่อจะได้ออกไปนอกบ้าน และมีชายคนหนึ่งถูกตำรวจจับเพราะพาหมาของเล่นออกไปเดินเล่น

ฟังดูเป็นไอเดียน่าตลก แต่เป็นช่วงเวลาที่ฉันเองก็อยากได้หมาสักตัวเพื่อออกไปข้างนอก การอยู่แต่ในบ้านพร้อมความฟุ้งซ่านอาจทำให้เราเสียสติขึ้นมาได้ เราทำอาหารกันอย่างบ้าคลั่ง สรรหาเมนูพิสดารที่ใช้เวลานาน จบมื้อหนึ่งแล้วก็คิดถึงมื้อต่อไป แต่นั่นยังไม่พอบรรเทาความอยากออกนอกบ้านไปทำกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะวันที่อากาศอุ่น แสงแดดส่องประกายเย้ายวน

การไปซูเปอร์มาร์เก็ตจึงเป็นทางออกที่ลงตัว เมื่อต้องทำอาหารบ่อยขึ้น วัตถุดิบต่างๆ ก็หมดอย่างรวดเร็ว แต่การไปซูเปอร์มาร์เก็ตช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อมีการจัดการเพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพ โดยกำหนดให้เข้าไปเลือกซื้อของคราวละ 25-35 คนตามขนาดพื้นที่ และต้องใช้เวลายืนรอท่ามกลางอากาศเย็นมากกว่าครึ่งชั่วโมง

สินค้าจำเป็นขาดตลาดในวันก่อนล็อกดาวน์ แต่ไม่นานสต็อกก็ถูกเติมจนเต็ม เช่น ไข่ไก่ที่ถูกวางเรียงจนล้นชั้นในราคาถูกสุดคือแพ็ก 10 ฟอง 1 ยูโร ทำให้คิดถึงข่าวไข่ราคาแพงในไทย รวมถึงทิชชู่ที่ผู้คนพากันกักตุน (แน่นอนว่าเราไม่เกิดปัญหานี้เพราะมีสายฉีดชำระ) แต่ที่ยังขาดตลาดคืออาหารกระป๋องและเส้นพาสต้า ซึ่งเป็นเมนูกันตายเวลาคิดไม่ออกว่าจะกินอะไร

ในช่วงล็อกดาวน์ ร้านค้าสิ่งของจำเป็นหลายประเภทได้รับอนุญาตให้เปิดขายต่อ รวมถึงร้านขายเบเกอรี่ ชีส บุหรี่ และไวน์ ซึ่งเป็นของจำเป็นที่ประชาชนต้องเข้าถึงแม้ในสภาพวิกฤต ฉันเขียนถึงเรื่องนี้ในวันที่กรุงเทพฯ ห้ามขายเหล้าเบียร์และผู้คนพากันช่วงชิงเครื่องดื่มมึนเมาจนเกลี้ยงชั้นในห้างเพื่อกักตุน

ระหว่างถูกห้ามออกนอกบ้าน ต้องอยู่ในพื้นที่แคบๆ ตลอด 24 ชั่วโมง การดื่มเบียร์หรือไวน์นิดหน่อยหลังอาหารทำให้ชีวิตไม่หดหู่เกินไปนัก หรือหากจะดื่มจนเมาพับอยู่ในห้องคนเดียว (หรือกับคนที่คุณกักตัวอยู่ด้วย) ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่สังคมคนดีก็เข้ามายุ่มย่ามกับเรื่องนี้เสมอ

 

ปารีส ฝรั่งเศษ โรคระบาด COVID-19

 

ฉันตัดสินใจกลับปารีสก่อนจะหาทางกลับไม่ได้ เมื่อทราบข่าวว่ารถไฟความเร็วสูงถูกลดเที่ยวจนเหลือน้อยมาก รถบัสเอกชนยกเลิกไม่มีกำหนด ตั๋วรถไฟที่ซื้อล่วงหน้าถูกยกเลิก สถานีรถไฟย่อยปิดโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตอบคำถาม โชคดีที่ยังหาตั๋วใหม่ได้แบบกระชั้น และเป็นรถไฟ 1 ใน 2 เที่ยวของวันที่จะวิ่งเข้าปารีส จากเดิมที่มีรถวิ่งแทบทุกชั่วโมง

ในวันเดินทาง ฉันไปถึงสถานีรถไฟล่วงหน้าหลายชั่วโมง เพราะรถเมล์ท้องถิ่นลดเหลือเพียงสองชั่วโมงต่อเที่ยว เมืองปราศจากผู้คน รถเมล์บางสายวิ่งรถเปล่ารอบเมืองทั้งวันโดยไม่มีผู้ใช้บริการ ท่ามกลางลมกรรโชกแรง อุณหภูมิเลขตัวเดียว ฉันยืนรออยู่นอกสถานีครึ่งชั่วโมงเมื่อพบว่าสถานีจะไม่เปิดประตูจนกว่าจะมีรถไฟวิ่งเข้าชานชาลา

ครั้งล่าสุดที่มายังสถานีรถไฟแห่งนี้ ฉันจำได้ว่าวันนั้นอากาศทึมเทากว่าวันนี้มาก แต่ผู้คนที่เดินเข้าออกจอแจทำให้บรรยากาศไม่หดหู่ ชายคนหนึ่งบรรเลงเปียโนที่ตั้งไว้ให้คนเล่นฟรีกลางสถานี เพลงของเขาแช่มช้า แต่เพลิดเพลิน จนทำให้กาแฟร้อนในมือของฉันวันนั้นอร่อยขึ้นมาก แม้มันจะขมสนิทชนิดไม่มีรสอื่นเจือปน

วันนี้ฉันนั่งอยู่ในสถานีแห่งเดิม มือถือแก้วกาแฟกระดาษและวาฟเฟิลแห้งๆ จากตู้กดอัตโนมัติที่เป็นมื้อกลางวัน สถานีเงียบกริบจนได้ยินเสียงลมหายใจตัวเอง ตลอดเวลาราว 3 ชั่วโมงระหว่างรอรถไฟ ทั้งสถานีมีเพียงฉันกับพนักงานทำความสะอาดหนึ่งคนที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กัน

 

ปารีส ฝรั่งเศส โรคระบาด COVID-19

 

ฉันมาถึงปารีสช่วงเย็นโดยคาดหวังว่าต้องมีตำรวจคอยตรวจใบรับรองออกนอกบ้านอยู่ทั่วสถานี แต่เปล่าเลย รถไฟขบวนที่ฉันนั่งมาเป็นรถไฟขบวนเดียวใน การ์ เดอ ลียง ที่เคยคลาคล่ำด้วยรถไฟเข้าออกตลอดเวลา ไม่มีตำรวจสักคนเดียว คนบางตาจนใจหวิว มีแต่คนไร้บ้านที่มาหลบลมหนาว 4-5 คน

รถไฟใต้ดินในปารีสคนน้อยจนน่าตกใจ บางช่วงเวลาฉันมองไม่เห็นผู้โดยสารสักคนเดียว จากปกติที่ต้องคอยระวังคนล้วงกระเป๋าเพราะความเบียดเสียด แต่ความว่างเปล่าในเวลานี้ทำให้หวั่นใจถึงอันตรายรูปแบบอื่น คนในปารีสใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้นชัดเจน ความหวาดระแวงเกิดขึ้นระหว่างกัน เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งเกินยับยั้ง และเรามองไม่เห็นว่าที่ราวจับ กำแพง ตู้หยอดเหรียญ เบาะนั่ง ตรงไหนจะมีไวรัสอยู่ หรือใครสักคนที่เดินสวนกันวันนี้น่าจะต้องมีผู้ติดเชื้ออยู่บ้างสักคน

 

 รถไฟใต้ดินในเมืองปารีส ฝรั่งเศส

 

อีกสิ่งหนึ่งที่พบในปารีส คือ เสียงปรบมือให้กำลังใจทีมแพทย์ยามสองทุ่ม ผู้คนออกมาที่ระเบียงอพาร์ตเมนต์ตะโกนให้กำลังใจกัน หลายวันเข้าเริ่มมีเครื่องดนตรี บ้านหนึ่งเคาะกลองเป็นจังหวะและร่วมกันร้องเพลงปลุกใจประสานเสียง โดยมองไม่เห็นหน้ากัน บางวันก็ได้ยินเสียงตะโกนถึงความคับข้องใจ เช่น “เพิ่มงบให้โรงพยาบาล!” ตะโกนอยู่อย่างนั้นหลายนาที แม้จะกักตัวอยู่ในบ้านแต่ผู้คนยังไม่ละทิ้งการประท้วงและแสดงออกถึงความไม่พอใจรัฐบาล บางบ้านแขวนเสื้อกั๊กเหลืองไว้นอกหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ เห็นเด่นชัดตั้งแต่หัวถนน อันเป็นสัญลักษณ์การประท้วงล่าสุดของฝรั่งเศสที่ยังมีคนออกมาชุมนุมยืดเยื้อก่อนที่จะมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ

ก่อนเดินทางกลับ รัฐบาลไทยออกมาตรการควบคุมผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศให้ต้องขอใบรับรองแพทย์ (fit to fly) และใบรับรองจากสถานทูต เสียงบ่นดังขรมโซเชียลมีเดีย ถึงความเสี่ยงของการต้องไปโรงพยาบาลช่วงโรคระบาด ขณะที่แต่ละประเทศขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้ไวรัสโคโรนา ข้อกำหนดนี้เพิ่มภาระโดยไม่จำเป็น เมื่อใบ fit to fly เป็นแค่เพียงการรับรองว่าสุขภาพแข็งแรงพอจะขึ้นเครื่องบิน ไม่ได้มีผลต่อการป้องกันไวรัสโคโรนา แต่เป็นเพียงแค่มาตรการที่ทำให้คนไทยกลับประเทศลำบากขึ้น

บางคนถูกหมอปฏิเสธนัดเพราะไม่ใช่เหตุผลทางสุขภาพที่ฉุกเฉิน ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ มีระบบการนัดแพทย์ที่ใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เกิดการรวมตัวของคนจำนวนมากโดยไม่จำเป็นที่สถานทูต นโยบายที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ออกประกาศกลับไปกลับมาทำให้หลายคนเสียค่าพบแพทย์ซ้ำซ้อน

ที่สุดแล้ว ฉันที่ไม่เคยรู้เรื่องระบบการพบแพทย์ของที่นี่ แต่ได้รับความช่วยเหลือจนนัดแพทย์ได้ และนั่นเป็นครั้งเดียวที่ได้ออกนอกที่พักในปารีสระหว่างมาตรการล็อกดาวน์ คลินิกใกล้ที่พักมีคนไข้ที่นัดหมายมาไม่ขาดสาย หมอถามเพียงว่าฉันป่วยหรือมีไข้ไหม เมื่อบอกว่า “ไม่” ก็เซ็นใบรับรองแพทย์ให้โดยไม่ได้ตรวจหรือวัดไข้เลย ฉันจ่าย 25 ยูโรและคิดว่าเป็นการซื้อใบอนุญาตกลับประเทศตัวเอง

สถานทูตไทยที่ปารีสทำงานรวดเร็วดีมาก แต่หลังจากส่งเอกสารทั้งหมดเพื่อขอใบรับรอง สถานทูตตอบกลับมาว่าวันนี้รัฐบาลเพิ่งออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ระเบียบเปลี่ยนและใบรับรองแพทย์ต้องมีอายุ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง นั่นหมายความว่าใบรับรองแพทย์ของฉันไร้ความหมาย

ไม่ใช่เรื่องตลก เมื่อคิดว่าต้อง ‘ซื้อ’ ใบรับรองแพทย์อีกครั้ง หลังเพิ่งซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่เพื่อกลับไทย เพราะเที่ยวบินเดิมถูกประเทศกลางทางสั่งห้ามชาวต่างชาติเปลี่ยนเครื่องเพื่อป้องกันไวรัส สุดท้ายฉันก็นัดแพทย์ได้อีกครั้งในช่วงเวลาจำกัดก่อนคลินิกจะปิดเสาร์อาทิตย์ และวันต่อมาหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยก็ออกมาแก้ไขประกาศว่าไม่กำหนดอายุใบรับรองแพทย์สำหรับคนไทย ฉันจึงโทรไปยกเลิกนัดแพทย์

ฉันไม่ได้ปฏิเสธมาตรการควบคุมผู้เดินทางจากต่างประเทศเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ และพร้อมปฏิบัติตาม เช่น การวัดไข้ก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองคนเข้าเมืองที่สนามบิน หรือการกักตัว 14 วัน ซึ่งการกักตัวจะไม่กลายเป็นความขัดแย้งแบบที่เกิดขึ้น หากมีการสื่อสารที่ชัดเจนและปฏิบัติต่อกันอย่างมนุษย์

ที่สำคัญ การกักตัวต้องทำเพื่อควบคุมโรค ไม่ใช่ทำเพื่อให้พูดได้ว่าทำแล้ว เช่น การเอาผู้ถูกกักตัวมาอยู่รวมกันหรือตั้งเต็นท์ให้นอนกลางถนน

นโยบายที่ไร้ประสิทธิภาพจะกลายเป็นภาระของทุกฝ่ายโดยไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีคนไทยจำนวนมากตกเครื่องและตกค้างที่สนามบินเพราะใบรับรอง fit to fly ท่ามกลางข่าวว่าหลายประเทศพยายามส่งเครื่องบินไปรับคนของตัวเองที่ตกค้างกลับ แต่รัฐบาลไทยกลับตั้งเงื่อนไขกีดกันคนกลับประเทศ และต่อมามีประกาศระงับเที่ยวบินเข้าไทยทุกเที่ยวบินโดยบอกล่วงหน้าแค่ 1 วัน แม้มีคนไทยในต่างประเทศพยายามยื่นฟ้องเรื่องใบรับรอง fit to fly ต่อศาลปกครองและศาลแพ่งแล้ว แต่ศาลไม่รับฟ้อง

 

สนามบินชาร์ล เดอ โกล COVID-19

 

ในที่สุดฉันก็มาถึงสนามบินชาร์ล เดอ โกล และขึ้นเครื่องไปเฮลซิงกิเพื่อต่อเครื่องกลับกรุงเทพฯ หลังผู้โดยสารขึ้นเครื่องทั้งหมดแล้ว จึงพบว่าบนเที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารเพียงสองคน ชายฟินแลนด์ที่เป็นผู้โดยสารอีกคนถ่ายวิดีโอตลอดทางเดินบนเครื่องบิน คงเป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้พบบ่อยนัก แอร์โฮสเตสยิ้มแย้มเป็นพิเศษ แจ้งว่าจะเปลี่ยนไปนั่งตรงไหนก็ได้ การรักษาระยะห่างจากคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลเลยเมื่อเครื่องบินโล่งทั้งลำ

 

บนเครื่องบินจากฝรั่งเศส

 

ท้องฟ้าเฮลซิงกิเป็นสีเทา หิมะตกเล็กน้อย แต่มากพอจะทำให้หดหู่ ฉันและชายฟินแลนด์ขึ้นรถบัสต่อไปอาคารสนามบิน ทันทีที่ลงรถ พนักงานสนามบินเข้ามาดูแลผู้โดยสารต่อเครื่อง และโวยวายเป็นภาษาฟินแลนด์ทันทีที่รู้ว่าฉันยังไม่ได้รับตั๋วสำหรับเที่ยวบินเฮลซิงกิ-กรุงเทพฯ (ระบบไม่เปิดให้เช็กอิน อาจเพราะต้องตรวจเอกสาร fit to fly) เธอไม่เข้าใจเรื่องเอกสารนี้และคิดเอาว่าเป็นความผิดพลาดของสายการบิน หลังโทรไปโวยวายกับเพื่อนร่วมงานทุกภาคส่วนเรียบร้อยแล้ว เธอแนะนำให้ฉันไปหาพนักงานสายการบินที่หน้าเกทแห่งหนึ่ง เพราะจำเป็นต้องมีตั๋วโดยสารสำหรับผ่าน ตม. เพื่อประทับตราออกจากยุโรป

ในอาคารผู้โดยสารฝั่งเที่ยวบินภายในยุโรปมองไม่เห็นผู้โดยสารสักคนเดียว ร้านค้าภายในสนามบินเปิดน้อยมาก ราว 1 ใน 10 และร้านที่เปิดอยู่ก็รีบปิดทันทีที่ไม่มีเที่ยวบินเข้า ฉันเดินไปจนสุดอาคาร และไม่พบใครสักคนหน้าเกทที่เจ้าหน้าที่ระบุ เคาท์เตอร์สายการบินไม่มีพนักงาน ตู้เช็กอินอัตโนมัติแจ้งว่าตั๋วของฉันมีปัญหา ฉันเริ่มเดินหาเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ และไม่พบใครเลย ที่แห่งนี้เงียบเหงาเกินกว่าจะคิดได้ว่าเป็นสนามบิน เหงื่อออกมือ เริ่มคิดถึงเรื่องการตกค้างอยู่ที่สนามบินเฮลซิงกิที่ไม่รู้จักใครเลย พลอยนึกโกรธเรื่องใบ fit to fly

หลังเดินเตร่อยู่หลายสิบนาทีพนักงานสายการบินก็ปรากฏตัวพร้อมความสงสัยว่าทำไมฉันไม่ได้ตั๋วตั้งแต่ต้นทาง เขาใช้เวลาอ่านระเบียบนานมาก ก่อนขอเอกสารของฉันไปตรวจ พร้อมปลอบใจว่าในช่วงนี้มีกฎระเบียบออกมามากมาย ฉันได้แต่ยิ้มและบอกว่าเข้าใจ

 

 

ตั๋วเครื่องบินใบสุดท้ายมาอยู่ในมือเรียบร้อย เหงื่อที่มือแห้งสนิทและเพิ่งได้สังเกตบรรยากาศรอบตัวอย่างชัดเจน นอกจากความโกลาหลนานาที่พบระหว่างการเดินทางครั้งนี้แล้ว การมาเยือนสนามบินเฮลซิงกิครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ยากจะจินตนาการ และหวังว่าจะไม่ได้เจออีก หากไม่มีภัยพิบัติครั้งต่อไป ฉันเดินอยู่ในสนามบินนานาชาติที่มองไปสุดทางเดินกลับไม่เจอคนเลย พนักงานขายของที่ผลุบโผล่ในร้านที่แง้มประตูมองอย่างไม่ไว้ใจ ไม่มีใครมาเสนอขายสินค้า ไม่มีผู้โดยสารลากกระเป๋าอย่างเร่งร้อน ไม่มีตำรวจเดินตรวจความเรียบร้อย ที่หน้าเกทสำหรับเที่ยวบินกรุงเทพฯ ผู้คนนั่งกระจายเป็นวงกว้าง ตัดขาดปฏิสัมพันธ์ บางคนสวมเสื้อกันฝน บางคนใส่เสื้อโค้ทและหมวกปิดหน้าตาตลอดการนั่งเครื่องกลับไทย

โลกถูกโจมตีด้วยความเงียบสงัด ผลที่เกิดขึ้นกลับไม่ใช่ความสงบ แต่เป็นความหวาดระแวงที่มองไม่เห็น ความเชื่อใจใช้ไม่ได้ เมื่อเราไว้วางใจไม่ได้แม้กับตัวเอง สิ่งที่เคยรู้จักจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในห้วงเวลานี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save